............

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 10 มกราคม 2553

ในงานอบรมสิ่งแวดล้อมศึกษาแก่ครูชาวต่างชาติ เพื่อนสนิทของผมที่บุกเบิกงานด้านนิเวศแนวลึก (Deep Ecology) โคจรมาพบกับสาวนักนิเวศวิทยารุ่นพี่ ผู้มีชื่อเสียงและผลงานมายาวนานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เธอสารภาพว่ารู้สึกจี๊ดและไม่ชอบหน้าเขาตั้งแต่ยังไม่พบ เพราะรู้สึกทำนองว่าอะไรกันเนี่ย Deep Ecology แปลว่าคนอื่นเขา Shallow Ecology เป็นนักนิเวศตื้นๆ กันหรืออย่างไร จนต้องได้พูดคุย เรียนรู้ อยู่ทำงานด้วยกันสักพัก จึงได้เข้าใจ รู้สึกเคารพนับถือ เห็นคุณค่าในความสามารถและในงานของกันและกัน



เป็นธรรมดาสามัญที่นักคิด นักปฏิบัติ นักเปลี่ยนแปลง และนักอื่นๆ อีกนักต่อนัก มักจะคิดและขับเคลื่อนอะไรดีๆ ใหม่ๆ ด้วยการตั้งชื่อเพราะๆ เก๋ๆ ให้งานนั้น เรามักมองเห็นว่าของเรามันดีอย่างไร แตกต่างจากที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างไร เราอยากชูประเด็นนี้ และชอบที่มันสื่อความหมายและความเป็นตัวเรา คิดว่าคนอื่นฟังแล้วจะได้เข้าใจ เกิดความสงสัย เกิดแรงบันดาลใจ จนอยากมาร่วมขบวนรถไฟทำงานนี้ด้วยกัน ไม่ว่าจะ

จิตวิวัฒน์

สุขภาวะทางจิตวิญญาณ

จิตตปัญญาศึกษา ฯลฯ

พวกเขา (และหลายครั้งหมายรวมถึงพวกเราด้วย) มักต้องใช้เวลาไม่น้อยตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า อธิบายแล้วอธิบายอีกว่าจิตวิวัฒน์คืออะไร อะไรบ้างล่ะที่เป็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณ แล้วอะไรบ้างที่ไม่ใช่ มีคนร้องขอให้ช่วยนิยามจิตตปัญญาศึกษาในเกือบทุกการอบรมสัมมนา

หลายเวทีมีคนตั้งเป้าในใจเพื่อเข้ามาบอกว่าตนรู้สึก “ไม่โดน” อย่างแรง กับการใช้คำนั้นๆ อย่างไร ร่ำๆ จะทะเลาะกันก็มี บ้างก็บอกว่าไม่ควรใช้คำบางคำเพราะมันไม่เคยมีอยู่ในหลักความเชื่อหรือคำสอนเดิม เช่น คำว่าจิตวิญญาณไม่เคยมีในพุทธศาสนา เป็นต้น

แม้กระทั่งเรื่อง การแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) ก็มีผู้ติติงว่า “งั้นงานที่ฉันทำอยู่นี้ไม่มีหัวใจ หรือมีหัวใจที่ไม่ใช่มนุษย์หรือ”

เป็นศาสตร์และศิลป์ของการขับเคลื่อนอย่างยิ่งว่าทำอย่างไรจึงจะนำพาผู้คนจากหลากหลายความเชื่อ ให้ได้ร่วมกันทำงานดีๆ ที่ไม่ว่าเราจะตั้งชื่อสวยงามแค่ไหน ก็คงมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ดี

เป็นไปได้ไหมที่ชื่องานใหม่ของเราอาจทำให้ผู้คนที่ทำงานมาก่อนหน้ารู้สึกด้อยค่าหรือแปลกแยก เช่น วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ (“ของฉันมันเก่าตรงไหนหรือ?”)


หรือว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องตั้งชื่องานของเราให้กิ๊บเก๋ แม้อาจจะไม่สร้างแรงบันดาลใจนัก แต่ไม่ทำให้คนรู้สึกว่าไปต่อว่าต่อขานงานอะไรของใคร แค่เชิญชวนให้คนเข้าร่วม ค้นหา และสร้างความหมายร่วมกัน

โจแอนนา เมซี่ นักเขียนผู้บุกเบิกเรื่องนิเวศแนวลึก เธอใช้ชื่อการอบรมว่า The Work that Reconnects เธอว่ามันตรงดี เป็นพื้นที่ว่างๆ เปิดกว้างสำหรับทุกคน ว่าเป็นงานที่ทำให้หลายอย่างกลับมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอีกครั้ง

พาร์คเกอร์ เจ พาล์มเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ กล้าสอน (Courage to Teach) อันโด่งดัง จัดอบรมหลายร้อยครั้งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งให้กับนักบริหาร ผู้นำ ครู บุคลากรสาธารณสุข นักกฎหมาย จำนวนมาก ยังใช้ชื่อธรรมดาๆ ง่ายๆ ว่า ความกล้าหาญและความมีชีวิตชีวา (Courage and Renewal)

ท่ามกลางสังคมที่เร่งรีบ ความสนใจสั้น ผู้คนเลือกบริโภคจากรูปลักษณ์หีบห่อบรรจุภัณฑ์ การใช้คำกลางๆ พื้นๆ แต่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาสร้างเรื่องราวและความหมายสำหรับชีวิตของเขาเอง อย่างช้าๆ และร่วมกับเครือข่ายของเพื่อนแท้บนเส้นทางสายจิตวิญญาณ ก็อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการใช้คำใหญ่ที่ฟังดูเร้าใจ ฮิตติดตลาดเร็ว ก็เป็นได้