ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2548


"ได้เรียนรู้จากกระบวนการค่าย ของ จิตอาสา ว่า เรามีจิตปัจเจก กันอยู่เยอะ ที่ทำให้ทั้งตัวเราเองก็ทุกข์ คนอื่นก็ทุกข์ มันจะเห็นชัดขึ้น ในค่ายอาสาฯ และสิ่งที่จะเยียวยาเปลี่ยนแปลงมันได้ มีสิ่งเดียว ก็คือ 'ความรัก' ค่ะ มันทำให้เราก้าวพ้นตัวเองไปทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้อย่างมีความสุข"

ข้อความข้างต้นนี้ อาจารย์น้อย ผู้ประสานงานกิจกรรม ปลูกต้นไม้ต่อลมหายใจให้โลก เขียนเล่าจากพื้นที่ปลูกป่ากับดาบวิชัยและหลวงพี่ไพศาส วิสาโล ในเวบไซต์ของเครือข่ายจิตอาสา (VolunteerSpirit.org) ไว้อย่างน่าประทับใจ

ทำไมต้องเป็นงานอาสา ? งานอาสามีความน่าสนใจหลายอย่างครับ ทุกคนที่อาสามาทำงานร่วมกันแม้จะมีที่มา อาชีพหรือฐานะต่างกัน แต่เมื่อมาเป็นอาสาทุกคนก็เท่าเทียมเสมอกัน พร้อมกันนั้นงานที่ทำก็เพื่อคนอื่นเพื่อส่วนรวม ไม่มีตัวเงินเป็นผลตอบแทน

การเริ่มมีจิตอาสาและเข้าสู่การเป็นอาสาสมัครนั้น เริ่มตั้งแต่มีใจที่เห็นคุณค่าของส่วนรวม มีความเมตตาต่อคนอื่น ผนวกกับความมุ่งมั่นต้องการมีส่วนร่วมลงมือทำ ไปจนถึงการได้เรียนรู้ระหว่างคนทำงานด้วยกัน และการเห็นความสำคัญของผลที่เกิดทั้งตัวงานและผลในใจของอาสาสมัครเอง เหล่านี้แหละครับคือกระบวนการอาสาสมัคร

ไม่ใช่คนที่มาทำงานอาสาต้องเป็น "คนดี" ที่ "บรรลุ" แล้วนะครับ หลายคนมาแบบไม่ได้คิดอะไรมาก มาเพราะ อยากสนุก เพื่อนลากมา หรือแค่รู้สึก "อยากให้" เฉยๆ ก็เท่านั้น

แต่ความน่าทึ่งของกระบวนการอาสาสมัครก็คือ มันเป็นกระบวนการที่ทั้งสนุก น่ารัก เซ็กซี่ และมีเสน่ห์ ในตัวมันเอง คนที่ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว มักจะหลงรักมันไม่ลืม ราวกับ Love at first sight ปานนั้นเลย ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกิจกรรมที่จ๊าบๆ เกิดขึ้นมากมายสำหรับทุกเพศ ทุกวัยด้วย

การทำงานอาสาเป็นกระบวนการที่ทำให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (fundamental transformation) ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในครับ อาสาหลายคนบอกไว้ชัดเจนว่าการมาทำงานอาสาได้เปลี่ยนความคิดและการมองโลกของเขาและเธอ ดังเช่นที่เราได้อ่านความในใจของอาสาปลูกป่าว่า ความรักช่วยให้มองข้ามความเป็นตัวเราของเราไปสู่การร่วมทุกข์และทำอะไรเพื่อคนอื่น

ความรักและจิตอาสาเพื่อคนรอบข้างนี้ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรือเรื่องที่คิดไปเองนะครับ เพราะฮัมเบอร์โต มาทูรานา นักชีววิทยาและนักปรัชญาชาวชิลี ผู้โด่งดังจากแนวคิดเรื่อง ออโตพอยเอซิส (Autopoiesis) และ ทฤษฎีซานติอาโก (Santiago Theory) อันเป็นทฤษฎีแรกทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงจิตกับสสาร เข้าด้วยกัน ได้กล่าวว่า "ความรักเป็นอารมณ์ที่ขยายขอบเขตปัญญา" ของมนุษยชาติ เพราะความรักนั้นเชื่อมโยงเราเข้าด้วยกัน

ความรักที่เชื่อมโยงเราทุกคนเข้าด้วยกันนี่แหละครับที่เป็นพื้นฐานของจิตอาสา ในช่วงต้นปีนี้ เราได้เห็นผู้คนจำนวนมากเดินทางลงใต้ไปทำงานอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมใจกันทำงานอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นที่วัดย่านยาว ที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ และที่อื่นๆ อีกมาก หลายคนได้เล่าว่า การเป็นอาสาสมัครทำให้ได้พบเห็นทุกข์ของคนอื่น ได้เข้าไปมีส่วนรับรู้อย่างเห็นใจและเข้าใจ เกิดความรักที่ไม่จำกัดแค่เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง แต่เป็นความรักที่มีให้แก่ผู้คนรอบข้าง ทำให้เกิดความสุขราคาถูก ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายๆ

งานอาสาจึงส่งเสริมให้ทุกคนได้มีจิตอาสา ในการทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม หากคุณสนใจลองมาร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร ... ตอนนี้เครือข่ายจิตอาสา ได้รวมตัวกัน "บอกบุญ" เนื่องในเทศกาลบุญใหญ่ของชาวไทย คือ เข้าพรรษา ในช่วงสามเดือนนี้ มีกิจกรรมให้ร่วมมากมาย อาทิ

๑) สืบสานคลื่นน้ำใจกู้ภัยสึนามิ งานฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัย จ.พังงา
๒) ผ้าป่าเพื่อการพัฒนาเด็ก ปรับปรุงพื้นที่ดูแลเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ กรุงเทพฯ
๓) แบ่งปันน้ำใจให้เพื่อนร่วมโลก ดูแลสุนัขและแมวร่วมกับป้าสำรวยผู้อาทร จ.นครนายก

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างบ้านดิน นวดเด็กบ้านปากเกร็ด และปลูกป่า ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสมัครได้เลยครับ ที่หมายเลข 02-866-2721-2 และ www.VolunteerSpirit.org ... ด่วนนะครับ เพราะบางกิจกรรมเริ่มเต็มแล้ว

จิตอาสา ยังเป็นกิจกรรมที่ทั้งครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมด้วยกันได้ อย่างในงานปฐมนิเทศอาสารุ่นแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา อาสาหลายคนบ้างก็พาแฟน พาครอบครัวมาด้วย ทั้งครอบครัวก็ได้เรียนรู้การทำงานเพื่อคนอื่นที่แตกต่างไปจากชีวิตการทำงานปกติ การมีความรักที่เผื่อแผ่ให้ผู้คนรอบข้าง แน่นอนว่าย่อมส่งถึงคนใกล้ตัวในครอบครัว และเสริมพลังรักให้กับคนที่บ้านได้มากขึ้น

ไม่เพียงแต่กิจกรรมจิตอาสานะครับ หากคุณมีเวลาจำกัดไม่สะดวกที่จะร่วมทางกับกิจกรรมต่างๆ ข้างต้น คุณอาจเริ่มพัฒนาความรักที่คุณมีให้กับคนรัก ความรักต่อพ่อแม่ ความรักกับเพื่อนฝูง ไปสู่การมีจิตอาสาทำสิ่งดีๆ เพื่อเขาเหล่านั้น โดยไม่ต้องรอโอกาส หรือเทศกาลพิเศษใดๆ แล้วจะพบว่า การก้าวพ้นตัวเองไปทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ดังที่อาจารย์น้อยกล่าวไว้ เป็น Happiness@Home ความสุขง่ายๆ ทำเองได้ที่บ้านทุกวันเช่นเดียวกัน

"วันนี้ คุณรักใครหรือยัง?" อาจารย์น้อยเขียนส่งท้ายบทความของเธอไว้ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2548


ผมได้พาคุณไปรู้จักกับหมี จอม detail กระทิง นัก action และหนู ผู้ compromise ไปแล้ว หากคุณยังไม่พบว่าหัวหน้า เพื่อนร่วมทีม หรือแม้แต่ตัวของคุณเอง มีลักษณะสไตล์เข้าข่ายทั้ง ๓ ดังว่านี้เลย ลองมาทำความรู้จักกับเพื่อนอีกคนในครั้งนี้กันครับ

ย้อนกลับไปสักเล็กน้อย เมื่อ ๓ ครั้งที่ผ่านมา เราได้รู้จักเพื่อนที่มีสไตล์พื้นฐานความคิดแตกต่างกัน ๓ แบบ เทียบเคียงกับแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกัน ได้แก่ หมี บุคคลที่ชอบลงรายละเอียด สนใจข้อมูล และการทำงานเป็นขั้นตอน กระทิง ขาลุยผู้มุ่งมั่นและชิงลงมือทำงานโดยไม่ให้เสียเวลา และให้ความสำคัญกับการได้ลงมือทำงาน หนู ผู้ให้ความสนใจกับเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีม ความร่วมมือและปรองดองของคณะทำงาน

สำหรับเพื่อนคนที่ ๔ ของเรา เขาคือ อินทรี ผู้มาจากทิศตะวันออก และมีธาตุลมครับ อินทรี โดยธรรมชาติแล้วจะบินสูงและเห็นภาพกว้าง เพื่อนร่วมงานชาวอินทรีของเราก็มีลักษณะเช่นนั้น กล่าวคือ เขาจะเป็นคนที่สนใจงานในภาพรวม เห็นกระบวนการทำงานทั้งหมด มองการณ์ไกล เฉียบคม มีญาณทัศนะ (intuition) และมีความสนใจในสิ่งใหม่ๆ และแตกต่างออกไปเสมอ

อินทรี จึงเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และนำเสนอไอเดีย เปิดหน้างานใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ สมฉายาว่า อินทรี เจ้า project นั่นแหละครับ แถมเวลาใครมาชวนทำอะไรก็มักจะปฏิเสธไม่ค่อยเป็น คือเห็นมันสนุกไปหมด ชอบเป็นขาแจมกับเขาไปทั่ว

ถ้าตัวคุณเองเป็นอินทรี คุณย่อมไม่อดทนต่อการทำงานแบบเดิมๆ ซ้ำกันทุกวัน คุณคอยคิดถึงงานอื่นที่แปลกแตกต่างออกไปเสมอ หรือมิเช่นนั้น คุณก็ชอบทดลองทำงานเดิมด้วยวิธีการใหม่ อินทรีอย่างคุณจะอึดอัดมากถ้ารู้สึกว่าถูกบังคับ ไม่มีทางเลือก หรือถ้าไม่รู้ว่างานที่ทำอยู่ไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับงานในกระบวนการทั้งหมด

ด้วยความที่สนใจในภาพรวมนี้เอง ทำให้อินทรีมองข้ามการทำงานในรายละเอียดไป เมื่ออินทรีนึกถึงงานชิ้นหนึ่ง เขาจะมองภาพงานที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายต่างๆ และผลของงานจะนำไปสู่อะไร แต่อินทรีจะไม่รู้ว่าบางขั้นตอนของงานนั้นอาจขัดกับระเบียบหรือวิธีการทำงานขององค์กร กรณีอย่างนี้จึงขัดกับความเชื่อและอุปนิสัยของหมีที่ทำงานตามขั้นตอนและระเบียบอย่างเคร่งครัด

รวมไปถึงการบินสูงของอินทรี ยังอาจละเลยไม่ทันเห็นว่าเพื่อนร่วมงาน หรือลูกทีมบางคนกำลังมีปัญหา หรือบอบช้ำจากการทำงาน ในขณะที่หนูสังเกตเห็นและเข้าไปดูแลเพื่อนคนนั้นแล้ว

ความสำเร็จในทัศนะของอินทรีคือการได้คิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง หรือออกแบบสร้างงานใหม่ แต่อินทรีไม่ใช่นักปฏิบัติที่ชอบลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง ซ้ำๆ นานๆ แต่มีแนวโน้มจะคิดแล้วนำความคิดไปให้คนอื่นทำ ฉะนั้น เราจึงพบอินทรีได้ง่ายในหมู่อาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และการวางแผน เช่น ครีเอทีฟ ผู้บริหารโครงการ และนักวิจัยและพัฒนาครับ

ความแตกต่างของ หมี กระทิง หนู และอินทรี ทั้ง ๔ นี้ ล้วนหนุนเสริมพลังความสนใจและพรสวรรค์เฉพาะของแต่ละคนได้อย่างกลมกลืนและสร้างสรรค์ครับ แทนที่ต่างฝ่ายจะยกเอาความสนใจที่ต่างกันมาติติง กลับสามารถเสริมจุดด้อยที่แต่ละคนมีได้ เช่น อินทรีช่วยให้ทีมเห็นลู่ทางใหม่ คาดการณ์ทำนายผลลัพธ์การทำงาน ส่วนหมีช่วยจัดการในรายละเอียดให้ถูกต้องเป็นระเบียบ กระทิงช่วยขับเคลื่อนงานไปข้างหน้า ส่วนหนูก็ดูแลและยึดโยงทุกคนในกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน อย่างนี้จึงจะเป็น team work และทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข

งานที่สำเร็จลุล่วงในเวลาอันรวดเร็ว แต่ลูกทีมบางคนต้องเสียความรู้สึกดีๆ ต่อหัวหน้างานไป หรืองานราบรื่นเป็นระบบ แต่ทุกคนขาดความกระตือรือร้นค้นหาทดลองแนวทางใหม่ๆ อาจเรียกว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จได้ แต่ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการทำงานอย่างมีความสุขครับ งานนั้นไม่ใช่เพียงเนื้องาน เอกสาร หรือยอดขาย แต่งานยังหมายถึงพวกเราทุกคนที่เป็นคนขับเคลื่อนเฟืองจักรให้งานเดินไปสู่เป้าหมาย ความสุขจากการทำงานจึงควรเป็นความสุขของทุกคนที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานและตลอดเวลาที่ได้ทำงานร่วมกัน ไม่น่าจะใช่แค่ความสุขที่ได้เห็นงานเสร็จ

เคล็ดลับการทำความเข้าใจ และใช้ความแตกต่างเป็นพลังหนุนเสริมกันในทีมนี่แหละครับ คือที่มาของความสุขในการทำงาน

แนวคิดสัตว์ ๔ ทิศนี้จะไม่เกิดประโยชน์เลยครับ ถ้าเรานำความแตกต่างที่ว่านี้มาตอกย้ำ ตีตราให้กัน และกล่าวโทษการประสานงานที่มีปัญหาว่าเป็นเพราะเราต่างกัน ความแตกต่างไม่ได้เป็นข้อกำหนดมาจำกัดความสามารถและศักยภาพของแต่ละคนเลยครับ ตรงกันข้าม กลับเป็นเครื่องบ่งชี้และนำทางให้เราเห็นความหลากหลาย และความงดงามของทุกคน

ในโลกการทำงานเราล้วนอยู่ท่ามกลางเพื่อนผู้มีที่มาหลากหลาย เราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันได้ เช่นกันกับความแตกต่างหลากหลายบนโลกใบนี้ เมื่อเรามีความสุขได้ง่ายๆ จากการเรียนรู้เข้าใจกันในที่ทำงาน มันคงไม่ยากเกินไปที่เราจะเข้าใจโลกใบที่ใหญ่กว่า และนำพามาซึ่งความสุขและสันติภาพในทุกๆ คนครับ