ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 29 มกราคม 2549


นึกย้อนกลับไปอาม่าเป็นบุคคลพิเศษที่สุดคนหนึ่ง สำหรับผมตอนเด็กๆ อาม่ามีขนมอร่อยๆเก็บเอาไว้ให้ผมเสมอๆ แถมที่สำคัญเป็นคนที่มีเวลามากที่สุดในโลกให้กับผม เวลาผมเล่าอะไรอาม่าก็ตั้งหน้าตั้งตารับฟังอย่างสนใจ อย่างไม่มีเงื่อนไข

สังคมไทยและโลกเปลี่ยนไปมาก แต่ก่อนเราอยู่กันเป็นครอบครัวขยาย ขนาดใหญ่ สมัยผมเรียนประถมที่บ้านอยู่ติดกันหลายหลัง มีคนที่อาศัยอยู่ด้วยกันแบบเต็มเวลาและบางเวลาสิบกว่าคน ตอนนี้เหลือน้อยลงมาก อยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

โครงเรื่องของหนังฝรั่งจำนวนมากได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงเทศกาลต่างๆ อาทิ คริสต์มาส วันขอบคุณพระเจ้าหรือเทศกาลอีสเตอร์ มักสะท้อนภาพของความอึดอัด ความลำบากใจของลูกหลานที่แยกไปเป็นครอบครัวเดี่ยว และปัญหานานาประการที่เกิดจากการกลับไปเยี่ยมครอบครัว มักจะเป็นทุกข์มาก

ชวนให้นึกว่าตรุษจีนในเมืองไทยก็เหมือนกัน บรรดาลูกหลานกลับมาเจอกัน แล้วมีปัญหาเหมือนในหนังฝรั่งไหม?

อีกคำถามคือ เดี๋ยวนี้สถานการณ์เหมือนแต่ก่อน ดีขึ้น หรือว่าแย่ลง? โดยส่วนตัวคิดว่าว่ามีทุกแบบ แต่สถานการณ์แย่ลงจะมากกว่า เพราะดูเหมือนคนรุ่นใหม่ “ฟัง” กันเป็นน้อยลง จะด้วยสภาพการณ์ที่เร่งรัดให้เราเร่งรีบทำงานให้ทันในเวลาจำกัด จนเหลือเวลาให้แก่กันน้อยลง หรือเป็นเพราะการเรียนในระบบสมัยใหม่แบบตะวันตกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ยึดถือและให้คุณค่ากับรายได้ก็ตาม

การทำงานหาเงิน สะสมเงินไว้เยอะแยะ เพื่อเราจะได้ให้ “อั่งเปา” ซองหนาๆ เสมือนหนึ่งการ redemption หรือไถ่บาป ชดเชยที่เราห่างเหินจากครอบครัวไป แม้เงินนั้นเราหาเพิ่มได้ สำหรับบางคนกล่าวได้ว่า “ไม่จำกัด” ทว่าสิ่งที่ทุกคนต่างมีจำกัดเช่นเดียวกัน คือ “เวลา” ถามตัวเองดูหน่อยดีไหม เราให้เวลากับอะไร?

จริงหรือเปล่าที่เราให้เวลากับคนที่เรารักมากที่สุด? สิ่งสำคัญและบุคคลสำคัญในชีวิตเรา เขาได้รับเวลาจากเราอย่างพอเพียงแล้วหรือยัง?

คำถามอาจจะไม่ได้อยู่ที่ให้หรือใช้เวลา “กับใคร” หรือ “เท่าไหร่” ... เท่ากับถามว่าเราใช้เวลาเหล่านั้น “อย่างไร” ต่างหาก

การ “ฟัง” และ “เวลา” มาเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันได้อย่างไร ... ผมเองเคยได้รับการอบรมและมีประสบการณ์เล็กน้อยในการให้คำปรึกษาในกระบวนการจิตบำบัด (Psychotherapy) ทั้งในฐานะผู้ให้และผู้รับ หัวใจของกระบวนการ คือ การยอมรับและรับฟังคนที่มาปรึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข ในสภาพการณ์ที่มีเวลาจำกัด การรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไขนี้ย่อมเป็นไปยากมาก

แต่ก่อนในสังคมบ้านเราก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่มาก แต่ปัจจุบันเห็นมีกันน้อยลงอย่างน่าใจหาย เรายอมรับ และรับ “ฟังกันเป็น” น้อยลงทุกที ... หรือเปล่า?

ตรุษจีนปีนี้มาช่วยกันทำให้เป็นตรุษจีนที่ได้พบกัน แล้วให้ได้ “อยู่ตรงนั้นร่วมกัน” จริงๆ เฉกเช่นเดียวกันกับชื่อของท่านทะไลลามะ อันมีความหมายว่า “ปัจจุบันขณะ” ไม่ใช่เป็นตรุษจีนที่เพียงกลับไปหาครอบครัวตามธรรมเนียมแค่ให้ได้ชื่อว่าพบกันพร้อมหน้าแล้ว

อาจใช้แนวคิดของ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ในเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังเพื่อฟัง ฟังโดยไม่ต้องหาข้อสรุป ฟัง “ทุกเม็ด” ฟังทั้งข้อความ น้ำเสียง สีหน้า แววตา อารมณ์ ความรู้สึกของคนที่เราอยู่ด้วย การฟังแบบนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะให้แก่คนที่เรารักและครอบครัวของเรา เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ได้ยินด้วยหู แต่ด้วยหัวใจของเรา

ภาพสะท้อนจากหนังฮอลลีวู้ดทำให้เราเห็นว่าฝรั่งเป็นทุกข์มาก เพราะใช้เวลาช่วงวันหยุดไม่เป็น ทั้งๆที่เป็น ฮอลิเดย์ ซึ่งมีรากศัพท์ มาจากคำว่า holy + day หมายถึงเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการ “ฟัง” กันและกัน

ตรุษจีนเป็นโอกาสทอง คนจีนเองก็ชอบอะไรทองๆอยู่แล้ว เป็นโอกาสที่ญาติผู้ใหญ่ได้พบเจอลูกๆหลานๆ และในทางกลับกัน สำหรับลูกหลานเองก็เป็นโอกาสที่จะได้มีพบเจอญาติผู้ใหญ่

Season’s greeting, Season’s healing! ใช้โอกาสทองนี้ในการเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ระหว่างสมาชิกต่างรุ่นต่างวัยในครอบครัว ... ใครจะไปรู้ตรุษจีนปีนี้ บางครอบครัวอาจได้เยียวยารักษาความสัมพันธ์ที่ห่างเหินให้กระชับแนบแน่นขึ้น หรือเราอาจได้พ่อ-แม่หรือลูกของเรากลับคืนมาก็ได้

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ “ฟังกันหน่อย” ดีมั๊ย ... ครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์ ฉบับประจำวันที่ 15 มกราคม 2549


ในขณะที่หลายคนไม่ได้คาดหวังจะมีฝน หรือลมหนาวอีกซักเท่าไหร่ ฟ้าก็สั่งฝนตกลงมาพาเราแปลกใจได้ ตามด้วยลมหนาวในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ เมืองที่หลายคนเชื่อกันว่าปีไหนไม่หนาวเลยก็ไม่แปลก ลมหนาวที่มาหลังคริสต์มาสและปีใหม่ดูเหมือนจะขาดมนต์เสน่ห์ของเทศกาลแห่งความรื่นเริงไป ลมหนาวในเดือนมกราคมเลยอาจทำให้คนรู้สึกเหงาๆ เศร้าๆ อยู่บ้าง

ตอนที่ผมไปอยู่ต่างประเทศใหม่ๆ รู้สึกถูก “ความเหงา” จู่โจมระยะประชิด อยู่อพาร์ทเมนต์กับชาวต่างชาติทั้งหมด บางวันแทบไม่ได้พูดอะไร ช่วงยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการอยู่คนเดียวก็หนีไปหลบอยู่กับ "ความยุ่ง" หางานทำเยอะๆ จะได้ไม่มีเวลาเหงา บางช่วงก็เผลอตัวเผลอใจไปนัวเนียกับความรู้สึก เข้าไปเสพอารมณ์เหงาโดยไม่รู้ตัว พอเริ่มรู้สึกเหงา แทนที่จะมีสติ แค่รู้แล้วถอน กลับถลำไถลไปลึก หยิบเพลงคิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) มาเปิด ยิ่งมีห้องที่บรรยากาศเป็นใจ หน้าต่างบานใหญ่ด้านทิศตะวันตก ฟ้าสีส้มแดง เมฆหลากหลายรูปแบบ พระอาทิตย์อัศดงลงมหาสมุทรแอตแลนติก ฉากหลังเป็นภูเขาสีแดง หน้าผาเกือบตั้งฉากกับพื้นโลก ฟังเพลงไปนั่งน้ำตาซึม

เวลาหิมะตกหนักๆ ไม่ออกจากบ้านหลายวัน ยกเว้นตอนไปสอนหนังสือ ต้องอยู่กับตัวเองอย่างยิ่ง บางครั้งความเหงามันแทรกเราเข้าไปเก่งกว่าความหนาวเย็นหลายเท่านัก ถึงขนาดเคยคุยติดตลกกับเพื่อนๆ ทางเมืองไทยว่า กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความเหงาแล้ว รับจ้างเหงาทั่วราชอาณาจักร

แต่ ... การอยู่คนเดียวก็ไม่ได้มีมิติแบนๆ ไม่ซับซ้อน เพียงด้านเดียวนะครับ หากเราเฝ้าดู "การอยู่คนเดียว" มันนานพอ เราก็จะรู้จัก คุ้นเคย และเป็นมิตรกับการอยู่คนเดียวได้มากขึ้น

ผมเห็นเหมือนพอล ทิลลิช ที่ว่าภาษามนุษย์นั้นงดงามเสียเหลือเกิน มันช่วยให้เราสัมผัสถึงสองมิติของการอยู่คนเดียว เรามีคำว่า "เหงา (loneliness)" เพื่อแสดงถึงความเจ็บปวดของการอยู่คนเดียว แต่ขณะเดียวกันมนุษย์สร้างสรรค์คำว่า "สันโดษ (solitude)" เพื่อแสดงความสง่างามและยิ่งใหญ่ของการอยู่คนเดียวเช่นกัน

ช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ข่าวรุ่นน้องที่รัก เคารพนับถือกันจะบวชถึงสองคน ก็รู้สึกพลอยยินดีกับเขาด้วย ยังจำความรู้สึกของการอยู่วิเวกของพระได้ดี ประสบการณ์ตรงกับตัวเองเลยว่าการเป็นพระทำให้อยู่กับตัวเองได้ดีขึ้น เป็นแบบฝึกหัดชีวิตที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อชีวิตทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

ไม่น่าแปลกใจว่าทุกศาสนาที่มุ่งเข้าสู่ความสุขที่ประณีตและแท้จริง ต้องมีการออกธุดงค์ อยู่วิเวก หรือเข้าเงียบ

ความยินดีในความวิเวก การอยู่คนเดียว เป็นความตื่นรู้ สงบ เมื่อใดที่เราอยู่คนเดียวแล้วสบายดีเราจะรู้สึกว่ามันเป็นแอททีฟว๊อยซ์ (active voice-กรรตุวาจก) เราเป็นประธานของประโยค เราได้เป็นผู้มีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกอย่างเป็นมิตร อย่างเป็นสุข อย่างเต็มพร้อม พอดี มีเหลือแบ่งปันให้โลกด้วย

ความสันโดษเป็นการตัดสินใจที่จะ "กระทำการ" take action, take active role ในชีวิต แบบอยู่คนเดียว

ต่างจากขณะที่เราอยู่คนเดียวแล้วถูกกัดกินด้วยความเหงา เศร้าสร้อย เป็นความซึมเซื่อง เราวนอยู่ในความทุกข์ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว คล้ายหลับๆ ฝันๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นแพสซีฟว๊อยซ์ (passive voice-กรรมวาจก) คือราวกับว่าเราเป็นกรรมของประโยค ถูกกระทำโดยโลก (ฮา)

ดังที่อลิซ โคลเลอร์ กล่าวไว้ว่า "การอยู่อย่างสันโดษ คือการอยู่คนเดียวอย่างงดงาม อบร่ำอยู่กับการตัดสินใจของตนเอง (ที่จะอยู่คนเดียว) ตระหนักรู้อยู่ในความเต็ม ความสมบูรณ์ของปัจจุบันขณะ แทนที่จะเป็นการตระหนักในความขาดหายหรือปราศจากคนอื่น"

หลายคนไม่คุ้นกับการอยู่คนเดียว พออยู่คนเดียวปุ๊บก็เหงาปั๊บ บางคนกลัวความเหงามาก โลกทุกวันนี้มีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามายึดครองพื้นที่การอยู่คนเดียวของเรา หลายคนกลับถึงบ้านก็ต้องเปิดทีวีวิทยุ แม้จะไม่ได้ดูไม่ได้ฟังก็ตาม ครั้นพอว่างก็ต้องโทรศัพท์หาเพื่อน ... เราเองอยู่กับตัวเอง อย่างสงบเย็น อย่างเบาสบายกันเป็นน้อยลงทุกที

การป้องกันอาการเหงาโดยหารีบหาเงินไว้ซื้อยาแก้ เช่น ไปดูหนัง โทรศัพท์คุยกับเพื่อน ชวนแฟนไปกินข้าวนอกบ้าน นั้นไม่ได้การันตีแต่อย่างใด อย่าประมาทคิดว่าเงินจะแก้ปัญหาได้ เพราะคนเรา "เสี่ยง" ต่อการต้องอยู่คนเดียวอยู่ตลอดเวลา คนสนิทใกล้ตัวเราอาจจากไปหมดเมื่อไรก็ไม่รู้ เราเองอาจเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ต้องนอนอยู่บนเตียงคนเดียวเป็นแรมปี ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ เงินทองที่มีอาจมลายหายไปในพริบตา ... วิธีที่ยั่งยืนที่สุดคือการสร้างความสามารถภายในตัวของเราเองให้สามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข

เวลาอยู่คนเดียวนั้นไม่มีคำว่า "ดี" หรือ "ไม่ดี" แต่เราสามารถดึงเอาสิ่งล้ำค่าออกมาได้ เพราะมันเป็นชั่วขณะที่ทำให้การดำรงอยู่ของตัวเราหรือจิตของเรานั้นชัดเจนยิ่งขึ้น เกิดความสงบในใจ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกใหม่และความตระหนักรู้ใหม่ ทำให้เราสัมผัสถึงการดำรงอยู่ของเราและถึงผู้อื่นในระดับที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง

ท่านทะไลลามะบอกว่า ทัศนคติของเรามีผลต่อ "การอยู่คนเดียว" ของเราเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราไม่ไว้ใจคนอื่น ถึงแม้เราอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายก็ยังรู้สึกเปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยว (นึกถึงเพลงที่ร้องว่า feeling lost in a crowd room รู้สึกโดดเดี่ยวในห้องที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน) แต่ถ้าทำจิตใจของเราให้มีความอบอุ่นต่อผู้อื่นและมีความจริงใจต่อกัน ถ้าเรายินดีในสุขของผู้อื่น มีความกรุณาเป็นห่วงเป็นใยต่อทุกข์ของคนอื่น และเราแบ่งปันมากที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ นั่นแหละถึงจะเป็นยาขนานแท้ต่อความโดดเดี่ยวและความเหงา

อยู่คนเดียวแบบสันโดษได้ ก็สำเร็จปริญญา MBA อีกหนึ่งใบ เป็น Master of Being Alone ไงครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 1 มกราคม 2549


เตียงไม้กระดานเรียบเย็น ช่วยให้ความรู้สึก รู้เนื้อรู้ตัวกลับมาแจ่มใสและไม่โอ้เอ้ เรื่อยเปื่อย ขี้เกียจ ขี้เซา แม้หลังจากผมขยับตัวครั้งแรก รู้สึกขอบคุณเตียงจัง หลายชั่วโมงกับการนอนหลับ การพักผ่อนที่สบาย ผ่อนคลาย ดิ่งลึก ไม่ฝันอะไรเลย ... เมื่อคืนไม่ได้ตั้งนาฬิกาปลุก ตั้งใจให้ร่างกายปลุกเราเองเมื่อพักผ่อนพอ นอนไม่มาก ไม่น้อยเกินไป มากไปก็อืดอาด เฉื่อยเนือย น้อยไปก็เพลีย

การหลับเป็นเหมือนของขวัญอันพิเศษของชีวิต เป็นส่วนสำคัญของการเดินทาง จำได้ว่าเมื่อคืนค่อยๆล้มตัวลงนอน บอกลาราตรีของกรุงเทพเมืองฟ้าอมรชั่วคราว ขณะบรรยากาศเย็นสบาย ค่อนไปทางหนาวนิดๆ พอได้รู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกถึงแต่ละส่วนของร่างกายที่สัมผัสแผ่นไม้และผ้าห่ม รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของชีวิต ขอบคุณที่ได้ให้เรา “นอนได้” รู้สึกขอบคุณครูบาอาจารย์และร่างกายของเราเองนี้ที่สอนให้เรารู้จัก “นอนเป็น” (มั๊ง) จนต้องแอบยิ้มให้ตัวเองเล็กๆ

ตื่นขึ้นมาก็พบกับรอยยิ้มของท่านดาไลลามะ จากปกหนังสือ The Art of Happiness (ศิลปะแห่งความสุข) รอยยิ้ม สีหน้า และแววตาท่านใสๆ เหมือนเด็กๆ ผมเองอดยกมุมปากขึ้นน้อยๆ ตามท่านไม่ได้ พอได้ยิ้มสักหน่อย รู้สึกเหมือนมีใครไปเปิดสวิทช์วงจรความสุข จินตนาการเห็นวงจรทางชีวเคมีถูกเปิด ปลดปล่อยสารเอ็นดอร์ฟินในสมอง รู้สึกความสุขแผ่ซ่านไปเต็มห้อง

ตั้งใจว่าวันนี้จะใช้ชีวิตอย่างมีสติและปัญญา อย่างมีประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ได้คิดอะไรลงไปในรายละเอียดมากไปกว่านั้น เฝ้าดูว่าวันนี้จะเป็นไปอย่างไรบ้าง

นึกถึงคุณอา ไม่ได้ไปเยี่ยมท่านหลายวันแล้ว เหมือนอย่างทุกๆครั้งที่โทรไปหา ท่านชวนให้ไปทานอาหารเช้าที่บ้าน วันนี้หิ้วนมถั่วเหลืองที่คนนำมาให้และผลไม้ที่พี่สาวและแม่ไปไหว้พระติดมือไปฝากท่าน พร้อมหนังสืองานศพโยมพ่อหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ฮีโร่ตัวจริงของผมให้ท่านยืมอ่าน เป็นหนังสือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและการตายอย่างสันติและสง่างาม

ผมละเลียดข้าวต้มข้าวใหม่ฤดูกาลนี้ มียางข้าวกำลังมัน เข้าคู่กันดีกับกับข้าวธรรมดาๆ แต่กลมกล่อมด้วยความรัก ความเอาใจใส่ กับฝีมือที่สั่งสมหลายสิบปี ทั้งผัดผักหลายสหาย ยำไข่เค็ม ไข่เจียว หมูผัดกระเทียมพริกไทย ขิงดอง ปิดท้ายด้วยผลไม้หลากชนิดที่ถูกบรรจงจัดเรียง หลังอาหารบทสนทนาสัมมาวาจา อิ่มเอมในถ้อยคำคิดถึงเป็นห่วงเป็นใย เป็นเหมือนน้ำเปล่า สะอาดชื่นใจ นับเป็นหนึ่งในกับข้าวมื้อที่เรียบง่ายและงดงามที่สุดในชีวิต

กลับบ้านมานั่งที่สวน ม้าหินยังสะสมความร้อนจากยามกลางวันไม่ได้มาก ยังเย็นยะเยือกยามนั่ง สายลมเหมันตฤดูพัดโบกมาพอให้ได้ขยับตัวไล่ความหนาวเย็น แสงแดดที่ลอดกอไผ่น้ำเต้าเป็นจุดๆ ดูอาร์ตๆดี รู้สึกวันนี้มีแมลงค่อนข้างน้อย แต่พวกนกกลับแอ็คทีฟมาก

รู้สึกถึงคลื่นพลังบวกในสวน ในชีวิต และในวันนี้มาก พาให้อ่านข่าว อ่านบทความ ตอบอีเมล์ด้วยความสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก สายๆเริ่มมี SMS และโทรศัพท์เข้ามาเป็นระยะๆ จากเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ และลูกศิษย์ ส่ง :-) และความคิดถึง และเรื่องราวชีวิตที่งดงามของแต่ละคนที่มีกับครอบครัว เพื่อน อาจารย์/ลูกศิษย์ ทั้งในงานและที่บ้าน พอให้ได้ยิ้ม ได้ฮา ได้จรรโลงใจ

แผลบเดียวเวลาเที่ยงแล้ว ผมเลือกที่จะเดินไปทานอาหารแถวบ้าน เพราะนั่งมาเกือบครึ่งวัน เป็นวันที่สนุกมาก เห็นเมนูตั้งแต่รายการแรกจนรายการสุดท้ายน่าทานไปหมด ทานไปขอบคุณคนเตรียม คนคิดสูตร คนปรุงอาหาร และคนที่เสิร์ฟไป ทานเสร็จรู้สึกดีที่มีสติ ไม่สั่งเกินพอ กินเสร็จแล้วไม่อึดอัด เหลือที่สำหรับของหวานกำลังดี

ซื้อขนมฝากที่บ้าน ไอศกรีม ๒ กระปุก และทาร์ตเอแคลร์ ๑ ชิ้น กินกัน ๔ คน กับ คุณแม่ พี่สาว และหลานสาว เป็นความสุขเล็กๆ ที่ได้ปันกันกิน ได้กินหลายๆ อย่างโดยไม่มากเกินไป นี่หละนะเป็นข้อดีของการอยู่ร่วมกัน

มีโอกาสเล่าให้พี่สาวฟังถึง โครงการ Hidden Connections (โยงใยที่ซ่อนเร้น) ที่ได้ไอเดียจากครูอั๋น อาศรมศิลป์ ฟริตจอฟ คาปรา และหนัง Six Degrees of Separation โดยให้คน ๑๐๐ คนใช้กล้องถ่ายรูปแบบใช้ครั้งเดียว ถ่ายรูป “ความสุข” แล้วส่งต่อให้คนที่รู้จักต่อไปเรื่อยๆ จนครบ ภาพที่ได้จากสายสัมพันธ์ต่างกันจะเรียงร้อยเป็นส่วนหนึ่งของงาน “มหกรรมความสุข” (Truly Happy Fest) ที่สวนเบญจศิริ วันที่ ๔-๕ มีนาคมปีหน้า ดีใจที่พี่สาวแสดงความสนใจ ชวนให้ผมตื่นเต้นที่จะได้รู้ถึงโยงใยของตัวเราเอง ที่เราเองยังไม่รู้ผ่านทางพี่สาว

วันนี้เป็นวันหยุด วันธรรมดา ที่แสนพิเศษ เป็นวันง่ายๆ สบายๆ ไม่มีกำหนดการที่เร่งรีบให้ต้องทำนู่น ทำนี่ ทำนั่น ได้ค่อยๆ บรรจงละเลียดแต่ละอณู ทีละอณูของวัน รู้สึกเหมือนได้ทบทวน ได้ทำ AAR (after action review) ปีทั้งปีจบแล้ว โดยที่ไม่ต้องคิดด้วย วันนี้ใช้วิธีตั้งใจบอกตนเองว่า อยากจะทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปี แล้วก็โยนมันเอาไว้ในสมอง ส่วนที่มันทำงานโดยเราไม่ต้อง “คิด”

สัมผัสได้ถึง ความศิโรราบ ความวางใจให้กับชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข ที่มาพร้อมกับ สติ ความแจ่มใส ความสนุก กระตือรือร้นกับโอกาสอย่างเต็มเปี่ยมที่ชีวิตมีให้ รู้สึกถึงสมบัติล้ำค่าของชีวิตที่ได้มาด้วยการปล่อยวางลงบ้าง

คิดถึงเพื่อนที่กำลังทำงานวันนี้ ขอให้ได้มีความสุขจากการทำงาน และได้มีความสุขจากประโยชน์ที่เกิดจากงานนั้น อันจะเป็นของแถมให้ได้มีความสุขเต็มที่ยามที่ได้พักผ่อน

คิดถึงเพื่อนที่ได้พักผ่อนในวันนี้ ขอให้ได้มีความสุขกับการพักผ่อน ให้ได้ผ่อนพักทั้งกาย ทั้งใจ เกิดสติ เกิดปัญญา เกิดกำลัง เพื่อทำงานที่มีประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นในยามที่โอกาสมาถึง

สคส. ส่งความสุขปีใหม่ให้ทุกคนครับ! ;-)