ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2553

(ฉบับตีพิมพ์ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็น "แฟชั่นเผาเมือง")

ผมรักวิทยาศาสตร์

เคยคิดถึงขนาดว่าถ้าตอนเด็กๆ มีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คงได้ไปเรียน เพราะเชื่อว่าเป็นโรงเรียนในฝันของผู้รักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหลาย

วันนี้ข่าวไฟไหม้โรงเรียนจึงมีความหมายพิเศษสำหรับผม

แม้จะไม่เคยเรียน ไม่เคยเป็นศิษย์เก่าก็ตาม แต่ครั้งหนึ่ง ผมได้รับเชิญไปบรรยายที่โรงเรียน จึงได้ไปแบ่งปันความเคลื่อนไหวในการเรียนรู้ของโลก ที่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอันมีอายุอานามราว ๔๐๐ ปี ตั้งอยู่บนงานนักคิดหลักๆ อย่าง กาลิเลโอ กาลิเลอี เรอเน เดส์การตส์ ไอแซค นิวตัน นั้น แม้จะสร้างความเจริญทางวัตถุทางเทคโนโลยีให้กับโลกเป็นอย่างมาก แต่ก็นำพามนุษยชาติมาถึงทางตันแล้ว ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ตัดขาดมิติด้านใน ทำให้โลกปัจจุบันเป็น “โรคขาดพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency)” มีรูปธรรมอาการของโรคเป็นวิกฤตที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ทางออกไม่ใช่การปฏิเสธวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการ ก) ปรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้ เรียนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ “คิดเป็น” ไม่ใช่เน้นการเรียนหรือท่อง “วิชา” วิทยาศาสตร์ เพื่อไปสอบแข่งขันกัน

และ ข) เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับอีกสองสิ่ง คือ การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม เพื่อให้ “ทำเป็น” ต้องให้ผู้เรียนผ่านการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ย้ายการศึกษาไปอยู่ในชุมชน ทำให้ผู้เรียนร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคม มีอุดมการณ์ร่วม คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ของสมาชิกทุกคนในสังคม

และ การเรียนรู้ด้วยจิตตปัญญาศึกษา เพื่อให้ “รู้แจ้ง” การเรียนให้คิดเป็นและทำเป็นนั้นยังไม่สามารถพามนุษย์ออกจากกิเลสตัณหาได้ โลกที่กำลังป่วยอย่างหนักจึงต้องการการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้คนรู้จักสติ รู้กายรู้ใจตนเอง รู้อยู่กับปัจจุบันให้เป็น

บรรยายจบ ได้คุยกับคุณครูหลายท่าน จึงได้รู้ว่าโรงเรียนคัดเลือกเด็กอันดับหนึ่งของแต่ละจังหวัดมาเรียน (ปัจจุบันคาดว่าเปลี่ยนเป็นระบบสอบทั่วประเทศแต่เพียงอย่างเดียว) โดยเรียนฟรีทุกคน (ทุนจากรัฐบาลคนละประมาณหนึ่งแสนบาท) ทุกคนต้องอยู่หอพัก เรียนหนัก เนื้อหา ม.๖ เรียนจบตั้งแต่ ม.๕ (หรือ ม.๖ เทอมต้น) คลินิกวิชาการเปิดถึงสองทุ่ม ห้องสมุดเปิดถึงเที่ยงคืน วันเสาร์มีกิจกรรม วันอาทิตย์เท่านั้นที่นักเรียนสามารถกลับบ้าน ซึ่งนักเรียนต่างจังหวัดไกลๆ ไม่สามารถกลับได้

ผมถามคุณครูแนะแนวว่าเด็กๆ จะไม่เครียดหรือ เอาที่หนึ่งจากแต่ละจังหวัดมาเรียน เหลือที่หนึ่งเพียงคนเดียว แล้วที่เหลือจะรู้สึกอย่างไร คุณครูตอบชัดถ้อยชัดคำ ไม่ลังเล “เครียดสิคะ เครียดมาก อย่าว่าแต่เด็กเลย ครูยังเครียดเลยค่ะ”

คุณครูบอกต่อว่า “วิทยาศาสตร์อย่างที่อาจารย์เล่ามาดีมากเลยค่ะ แต่โรงเรียนเขาคงไม่สนใจหรอกค่ะ” เพราะมันไม่ได้ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียงจากการที่นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่สูงๆ เธอยังเล่าถึงความพยายามของอาจารย์บางคนที่จะให้การเรียนรู้มีมิติอื่นๆ บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริหาร เพื่อนอาจารย์ และนักเรียน เธอเองก็กังวลแต่ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร

ผมออกจากโรงเรียนมาพร้อมกับความห่วงใย ห่วงทั้งคนที่โรงเรียนและผู้ปกครองที่บ้าน เหมือนเขากำลังนั่งอยู่บนระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลังอยู่

ข่าวนักเรียนเครียด ไม่อยากมาโรงเรียน จนเผาห้องสมุดเพื่อให้โรงเรียนปิด ย่อมเป็นเรื่องเศร้า แต่ก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้กลับมาตั้งคำถามตัวเองอย่างจริงจังเกี่ยวกับการเรียนรู้ การศึกษา เป้าหมายชีวิต และวิทยาศาสตร์เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม