ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓

ช่วงหยุดยาววันพ่อ ผมนั่งละเลียดอ่านข้อเขียนที่ผู้เข้าร่วมสะท้อนการเรียนรู้ของตนเองในวันสุดท้ายของการอบรมหลักสูตร “พัฒนาจิตและเปลี่ยนแปลงชีวิต” ที่จัดให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)

ก่อนเริ่มการอบรม หลายท่านสงสัยว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรจริงหรือไม่ แม้ตัดสินใจมาแล้วก็ยังไม่แน่ใจ “เอ๊ะ! เราจะพัฒนาจิตได้หรือ อัตตาเราสูงนะ” บางท่านตั้งคำถามกึ่งท้าทายรอไว้ก่อนเลย “เราอยากรู้ว่าการอบรมที่สถาบัน [ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์] จัดครั้งนี้ จะเปลี่ยนแปลงชีวิตพัฒนาจิตได้จริงไหม”

พวกเราใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ๔ วัน ๓ คืน แม้ไม่ยาวนัก แต่ก็เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ของหลายๆ คน ต่างบอกเล่าการเดินทาง ค้นพบ และเปลี่ยนแปลงตนเองที่น่าทึ่งในวิถีของตนเอง



“ก่อนที่จะมาอบรมในครั้งนี้ ... ฉันก็คิดว่าคงจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้คิดว่าจะมากมายขนาดนี้ โดยเฉพาะตัวเอง ช่างแปลก เราก็ผ่านโลกนี้มานานสามสิบกว่าปีแล้ว แต่แทบจะน้อยนับครั้งได้ที่เราลุกขึ้นมาบอกกับตัวเองว่า เราต้อง ‘เปลี่ยน’ เปลี่ยนสิ่งเดิมๆ ที่เราเคยทำตัวแย่ๆ หรือทำร้ายความรู้สึกของคนรอบข้าง พอมาถึงที่เราได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีรู้จักตนเองและผู้อื่น เรารู้สึกว่าอยากจะ ‘เปลี่ยน’ จริงๆ และต้องทำให้ได้ มันอาจดูไม่ง่าย แต่คงไม่ยาก เพราะว่าเราอยากใช้เวลาตัวเองในชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่า มีคุณภาพ และมีความสุขสงบอย่างแท้จริง เอาล่ะ เราจะเริ่มนับแต่วันนี้ หลังจากกลับจากการอบรม ไปถึงบ้าน เราจะรับฟังน้องชายให้มากขึ้น ฟังความรู้สึกของเขา มองเขาในเหตุผลของเขา เราจะใส่ใจแม่มากขึ้น รับฟังเรื่องเดิมๆ ที่แม่เคยพูดซ้ำๆ แต่มันมีความหมายว่ารักและห่วงใยเราเหลือเกิน เราต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เรามั่นใจ”

เพียงสะท้อนตนเองมาสั้นๆ แต่บอกอะไรมามากมาย ผมมองผ่านตัวหนังสือเข้าไป เห็นหญิงสาวที่งดงามผู้หนึ่ง เธอก็เหมือนพวกเราที่พยายามจะมีชีวิตที่มีความสุข คุณค่า และความหมายที่แท้จริง ในโลกที่สับสน เร่งรีบ และวุ่นวายใบนี้

ผมดีใจที่ในการอบรมนี้เธอได้เปิดใจ เปิดสัมผัสรับรู้ต่างๆ อย่างเต็มที่ ใช้ตนเองเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ได้มีประสบการณ์กับชุดความรู้และกระบวนการที่หลากหลายของจิตตปัญญาศึกษา เช่น สุนทรียสนทนา จิตตศิลป์ การบริหารกายบริหารจิต การทำงานกับเงา (Shadow) หรือด้านมืดในตัวเราที่เรามองไม่เห็น เป็นต้น

ชอบที่เธอสรุปว่าสิ่งที่เธอได้เรียนคือ “วิธีคิด วิธีรู้จักตนเองและผู้อื่น” เพราะพื้นฐานความเข้าใจเช่นนี้จะช่วยทำให้เธอไปต่อยอดการเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ส่วนมุมมองที่ว่า “มันอาจดูไม่ง่าย แต่คงไม่ยาก” คงจะทำให้โจทย์ของเธอไม่ง่ายจนไม่ท้าทาย แต่ก็ไม่ยากจนน่าท้อใจจนเกินไป

อดดีใจกับน้องชายและคุณแม่ไม่ได้ ดีใจกับน้องชายที่จะมีพี่สาวที่น่ารัก ผู้มีความสามารถในการรับฟัง ในการเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ดีใจกับคุณแม่ที่จะมีลูกสาวที่อ่อนโยน ผู้มีคุณสมบัติพิเศษที่เหล่าบุพการีทั้งหลายต่างปรารถนาให้บุตรสาวบุตรชายของตนมี คุณสมบัติในการตระหนักรู้ถึงความรักอันไม่มีที่สิ้นสุดของพ่อแม่ที่มีให้กับลูก ผมเห็นบ้านที่ข้างในมีครอบครัวที่มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลัง เห็นที่ทำงานที่ข้างในมีเจ้าหน้าที่ที่มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง

ความจริงก็คือ ไม่มีใครไม่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใครไม่มีความทุกข์ ชีวิตเราออกห่างจากสมดุล จากความสุขและความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ

ในทางกลับกัน ผู้คนต่างโหยหาการเปลี่ยนแปลง เพราะเราทุกคนมีแรงจูงใจที่สำคัญมาก คือ ความสุขในชีวิต เราพร้อมจะเปลี่ยนเสมอ หากมันทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ขอให้เราพอจะเห็นทาง เห็นความเป็นไปได้เท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะได้เปิดโอกาสให้กับตนเองและคนรอบข้างเราอยู่เสมอ คือ การเข้าไปเรียนรู้และรู้จักตนเอง เมื่อมนุษย์ได้เห็นและรู้จักตนเองอย่างแท้จริง ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเองของมนุษย์ก็จะเผยออกมาเองอย่างน่ามหัศจรรย์

ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ ๑๑ ธันวาคม ๒๕๕๓

หากเราเชื่อเรื่อง “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” หรือแนวคิดที่ว่า สรรพสิ่งล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงถึงกัน ดังที่ ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ เคยเสนอไว้แล้ว ชีวิตเราทุกคนคงได้รับผลกระทบระดับสึนามิหลายพันระลอกจากเว็บไซต์ยอดนิยม: เฟซบุ๊ก (facebook)



เฟซบุ๊ก หรือที่คนไทยนิยมเรียกมันสั้นๆ ว่า เอฟบี (fb) เป็นเว็บสุดฮิต ผู้คนในทั่วโลกกว่า ๕๐๐ ล้านคน เมื่อเขาหายแว้บเข้าไปในโลกเสมือน ไซเบอร์สเปซ หรือ อินเทอร์เน็ต เขาก็มักจะไปชุมนุมอยู่ที่นี่กันมากและนานที่สุด ใช้เวลากับที่นี่มากยิ่งกว่าที่เว็บอื่นๆ

คนไทย ๖๖ ล้านคนที่มีอัตราการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตไม่สูงนักก็ยังเป็นมีบัญชีสมาชิกเฟซบุ๊กถึง ๔ ล้านกว่าราย ทั้งเด็กวัยรุ่น นักเรียน นิสิต นักศึกษา ผู้ใหญ่วัยทำงาน ครูอาจารย์ นักวิชาการ ดารานักร้อง แม้กระทั่งนักการเมือง รัฐมนตรีต่างๆ ก็เป็นสมาชิกเช่นกัน เพราะองค์กรเชื่อมโยงงาน ชั้นเรียนเชื่อมโยงบทเรียน การบ้านเข้ากับเฟซบุ๊กมากขึ้นเรื่อยๆ จะติดต่อกัน หรือส่งงาน ก็ดำเนินการกันผ่านเฟซบุ๊ก นักศึกษาจำนวนไม่น้อยรีบเปิดเว็บไซต์นี้เป็นเว็บแรกเมื่อตื่นนอน คอยเช็คเว็บไซต์นี้บ่อยๆ แม้ในระหว่างเรียน และเปิดเป็นเว็บสุดท้ายก่อนเข้านอน เรียกว่าติดงอมแงมเลยทีเดียว

ประเมินจากจำนวนผู้คนที่เข้ามาใช้งานจำนวนล้นหลามถึงระดับนี้แล้ว เราจะถือได้ว่าเฟซบุ๊กประสบความสำเร็จตามพันธกิจหรือความตั้งใจที่ได้ก่อตั้งขึ้นแล้ว ใช่หรือไม่?

ข้อมูลในหน้าเว็บระบุพันธกิจของเฟซบุ๊กไว้ว่า คือ การให้อำนาจในการแบ่งปันแก่ผู้คนและสร้างโลกที่เปิดกว้างและเชื่อมโยงกันมากขึ้น

ในเฟซบุ๊กเราเชื่อมโยงผ่านการเป็น “เพื่อน” โดยการขอเป็นเพื่อนกัน และอีกฝ่ายต้องตอบรับ เราสามารถเป็นเพื่อนกัน เลิกเป็นเพื่อน และกลับมาเป็นเพื่อนกันใหม่ ได้โดยผ่านการคลิกเมาส์ไม่กี่ครั้งเท่านั้น

รูปแบบวิธีการเชื่อมโยงอันแสนสะดวกง่ายดายนี้ ทำให้เฟซบุ๊กเป็นสินค้าบริการที่ขายดีมาก ติดตลาดอย่างรวดเร็ว คนซื้อแล้วติดใจ ซื้อแล้วกลับมาซื้ออีกบ่อยๆ มีขาประจำอย่างรวดเร็วและเหนียวแน่น แต่ละคนต่างไปชักชวนเพื่อนๆ ญาติๆ ให้มาใช้ร่วมกัน เหตุผลที่คนมักพูดถึงเฟซบุ๊กและชักชวนกันเข้าไปก็คือ ใครๆ เขาก็ย้ายไปนั่นหมดแล้ว เหมือนสถานบันเทิงที่คนมักย้ายไปใช้เวลาสังสรรค์กันในแห่งที่กำลังฮิตที่สุด กิจกรรมในเฟซบุ๊กก็แทบจะเทียบได้กับสถานที่จริง อย่างสถานบันเทิง แหล่งพักผ่อนหย่อนใจ ห้างสรรพสินค้า ไปจนถึงห้องแสดงงานศิลปะ ผู้คนพากันเข้าเฟซบุ๊กไปเล่นเกม ไปสนทนากัน พบปะเพื่อนใหม่ จับจ่ายใช้สอย แม้กระทั่งเข้าไปชมผลงานภาพถ่าย

เว็บไซต์นี้เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว เหมือนมันเป็นเหตุผลในตัวเสร็จสรรพว่าต้องขยายขึ้นเรื่อยๆ โตขึ้นเรื่อยๆ ดูไปก็คล้ายระบบเศรษฐกิจของโลกที่ดูเหมือนไม่ต้องการคำอธิบายว่าทำไมจึงต้องขยายขึ้น โตขึ้น

ในปัจจุบัน เราได้ยินคำโฆษณา ทั้งปากต่อปาก และผ่านสื่อต่างๆ ว่าสินค้าและบริการแต่ละอย่างดีอย่างไร มันทำอะไรได้บ้าง ทำไมคุณควรจะมีมัน และเสพมันมากๆ แต่ว่าเราแทบจะไม่รู้เลยว่า เราควรจะบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงเครือข่ายสังคมออนไลน์ เท่าใดจึงจะเหมาะสม

รูปธรรมของการเสพสินค้าบางอย่างมากเกินไปอาจเห็นได้ชัดเจน (เช่น รอบเอวที่เพิ่มขึ้น) แต่บางอย่างก็ไม่ชัดเจน หรือต้องใช้เวลานาน แล้วรูปธรรมของการเสพเครือข่ายสังคมออนไลน์มากเกินไปเล่า มีหรือไม่

แล้วจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในโลกเสมือนของเราแปรผกผันกับคุณภาพ ความแน่นแฟ้น ความลุ่มลึกของความสัมพันธ์ของเรากับคนรอบข้างในโลกความเป็นจริงเท่าใด ยิ่งมีเพื่อนในเฟซบุ๊กมาก เรายิ่งต้องใช้เวลาในการอ่านและเขียนข้อความ (post) เขียนแสดงความคิดเห็น (comment) อัพโหลดและดาวน์โหลดรูป รวมถึงกดปุ่ม “ถูกใจ” หรือ “ไลค์” (Like) มากขึ้นหรือไม่

สมาชิกเฟซบุ๊กหลายคนไปเพื่อเชื่อมโยง เพื่อหาเพื่อนออนไลน์ แต่ไม่แน่ใจว่าจะยิ่งทำให้เราห่างเหินกับเพื่อนออฟไลน์ของเรา ทำเพื่อนของเราหายหรือตกหล่นหรือไม่

ค่าใช้จ่ายในการซื้อบริการของเฟซบุ๊กอาจเป็นเวลาที่เราสามารถใช้ในการทำความรู้จักกับเพื่อนบ้านในชุมชน โอกาสในการทำนุบำรุงสายใยของครอบครัวขยาย ปู่ย่าตายาย พ่อแม่ลูก พี่น้อง ลุงป้าน้าอา ของเรา หรือความเป็นไปได้ในการฟื้นฟูดูแลความสัมพันธ์ของเรากับที่ทำงานที่บางครั้งเราใช้เวลามากกว่าครึ่งหนึ่งของวันเสียด้วยซ้ำ

มนุษย์เราล้วนต้องการความสุข เรามักจะคิดว่าจะได้มันผ่านการเสพ เมื่อเราเริ่มเสพไปเรื่อยๆ เราอาจกลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบสินค้าและบริการ เช่นเดียวกับที่ระบบสินค้าและบริการกลายเป็นส่วนหนึ่งของเรา นานๆ เข้าเราอาจลืมไป นึกไม่ออกว่าสาเหตุในการเริ่มต้นเสพของเราคืออะไร

เฟซบุ๊กก็เป็นเช่นนั้น เป็นรูปแบบและระบบใหม่ของการจัดการความสัมพันธ์ที่เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็วและกว้างขวาง เป็นส่วนหนึ่งที่กลมกลืนเข้ากับเทคโนโลยีสมัยใหม่ เป็นสินค้าและบริการยอดนิยมที่แพร่หลาย เป็นปรากฏการณ์ของความสำเร็จที่เราชื่นชม จนเราอาจละเลยไม่ได้เห็นว่าสาเหตุที่แท้ในการมีมันและการใช้มันนั้น คืออะไร?

ลืมไปว่าพันธกิจที่แท้ของอำนาจในการแบ่งปัน การสร้างโลกที่เปิดกว้าง และการเชื่อมโยงกัน คืออะไร?

เมื่อเร็วๆ นี้มีหนังสือและภาพยนตร์ที่บอกเล่ากำเนิดของเฟซบุ๊ก และยิ่งไปกว่านั้น มันยังสะท้อนชวนให้ตั้งคำถามต่อพันธกิจของเฟซบุ๊กนี้ด้วย

หนังสือมีชื่อว่า The Accidental Billionaires: The Founding Of Facebook, A Tale of Sex, Money, Genius, and Betrayal และภาพยนตร์เรื่องนั้นคือ เดอะโซเชียลเน็ตเวิร์ก The Social Network สื่อทั้งสองบอกเล่าประวัติความเป็นมาอันน่าสนใจของเว็บไซต์ และประวัติของผู้ก่อตั้ง คือ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก (Mark Zuckerberg) ผู้กลายเป็นมหาเศรษฐีพันล้าน (คูณสามสิบเพราะเป็นพันล้านเหรียญสหรัฐ) ที่มีอายุน้อยที่สุดในโลก

เรื่องราวในหนังสือและภาพยนตร์บอกเราว่า มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เป็นคนเรียนเก่ง สอบข้อสอบที่เทียบเท่ากับข้อสอบโอเน็ต เอเน็ตของไทยได้คะแนนเต็ม แต่เขาเป็นคนขี้อาย ดูอึดอัดเมื่อต้องอยู่ร่วมกับคนอื่น จริงอยู่ที่สุดท้ายเขาก็ได้ประสบความสำเร็จ แต่บนความสำเร็จนั้นกลับไม่สามารถรักษาความสัมพันธ์กับเพื่อนที่ร่วมเดินทางชีวิตด้วยกันมาก่อน มหาเศรษฐีพันล้านผู้สร้างเฟซบุ๊กซึ่งมีพันธกิจเชื่อมโยงผู้คนเข้าด้วยกันกลับถูกเพื่อนเลิกคบ

ไม่แน่ใจว่าควรเรียกว่าน่าขัน ตลกร้าย หรืออย่างไร ที่คนล้มเหลวในเรื่องเพื่อน กลับเป็นสถาปนิกผู้ออกแบบการเป็นเพื่อนกันของคนร่วมห้าร้อยล้านคนบนโลก ที่มีผู้เปรียบว่าเหมือนกับการผลิต “ความใกล้ชิดสนิทสนม” ให้กับผู้คนผ่านการสร้างชีวิตที่สองในหมู่บ้านจัดสรรของโลกเสมือน

เราอาจตีความได้ว่าแรงผลักดันหนึ่งของการสร้างเฟซบุ๊กของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก เริ่มจากความอยากเป็นที่รักและได้รับการยอมรับ แต่เลือกที่จะเดินทางอ้อม ผ่านการมีชื่อเสียงโด่งดังและมีทรัพย์สมบัติ แต่เมื่อเฟซบุ๊กเกิดขึ้น เข้าไปอยู่ในระบบเศรษฐกิจทุนนิยม มันก็กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบ สุดท้ายไม่แน่ใจว่าจะได้สิ่งที่ตั้งใจไว้แต่แรกหรือไม่

ผู้คิดค้นและสร้างเฟซบุ๊กก็พยายามใช้มันเพื่อชดเชยช่องว่าง ทดแทนส่วนที่หายไปของชีวิต แต่ไม่แน่ใจว่าจะช่วยเติมเต็ม หรือจะยิ่งขยายทำให้ช่องว่างมันใหญ่ขึ้น

เฟซบุ๊กดูเหมือนจะเป็นเครื่องมือหรือบริการที่ช่วยเราในมีปฏิสัมพันธ์ มีการเชื่อมโยงกับเพื่อนได้ง่ายๆ แต่บางทีสิ่งที่มนุษยชาติต้องการจริงๆ ในเรื่องของความสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องของความง่าย แต่เป็นพันธกิจความสุนทรียภาพ ความประณีตบรรจงที่จะคิด พูด และทำ สิ่งที่เราต้องการคือการนำเอาความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติกลับเข้ามาอยู่ในทุกๆ ความสัมพันธ์ของเรา

พันธกิจที่แท้ของมวลมนุษยชาตินั้นคล้ายกับสิ่งที่เฟซบุ๊กทำมาก ทว่าก็แตกต่างมากเช่นกัน เพราะเป็นพันธกิจการให้อำนาจในการแบ่งปัน ที่ไม่ใช่เพียงแค่ข้อมูล รูปภาพ แต่แบ่งปันความรักความเมตตา ความเอาใจใส่ในความรู้สึกของกัน พันธกิจของการสร้างโลกที่เปิดกว้าง ไม่ใช่แค่การเข้าถึงคนจำนวนมาก แต่คือการเปิดใจเราให้กว้างขึ้น มีความรักอันไพศาล มีอิสรภาพไปพ้นจากอัตตาและความคิดอันคับแคบ พันธกิจของการเชื่อมโยงกัน ไม่ใช่เพียงแค่เชื่อมต่อกันผ่านเครือข่ายอิเลคทรอนิกส์หรืออุปกรณ์สื่อสาร แต่เป็นความรู้สึกผูกพันใกล้ชิดอย่างเป็นหนึ่งเดียวระหว่างเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน















ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๔ พฤศจิกายน ๒๕๕๓

กระบวนการอะไรเอ่ย ที่บรมศาสดาผู้ประกาศศาสนาซึ่งมีผู้นับถือหลายร้อยล้านคนอย่างพระพุทธเจ้า ปรมาจารย์ด้านองค์กรเรียนรู้จาก MIT สถาบันชั้นนำของโลก อย่างออตโต ชาร์มเมอร์ และ สุดยอดนักเขียนนักปรัชญาที่วางรากฐานของวิทยาศาสตร์ที่ใส่ใจมิติสุนทรียภาพและจริยธรรมอย่างโยฮันน์ วอล์ฟกัง ฟอน เกอเธ่ มีและใช้ร่วมกัน?

ใบ้ให้ว่าเป็นกระบวนการสำคัญที่จิตตปัญญาศึกษานำมาใช้เป็นพื้นฐานของการเรียนรู้ หากขาดหายไปก็ไม่สามารถเรียนรู้ได้ ถึงแม้จะมีแต่ถ้าคุณภาพไม่ดีก็ยากจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (transformation) ได้ เป็นกระบวนการแรกๆ ที่เราต้องฝึกในการอบรมยกระดับการเรียนรู้ของปัจเจก การอบรมพัฒนาองค์กร (Organization Development) หรือในชั้นเรียนจิตตปัญญา ซึ่งเป็นสถานที่ฝึกหัด ก่อนที่เราจะได้นำไปประยุกต์ใช้ในวิถีชีวิตประจำวัน

ก่อนที่จะเรียนแนวคิดทฤษฎี ก่อนที่จะเรียนเทคนิคขั้นสูง กระบวนการที่เราต้องฝึกก่อน คือ สังเกต สังเกต สังเกต

ที่เขียนสามคำ ไม่ใช่เพราะพิมพ์เกิน แต่เพื่อให้เห็นว่าการสังเกตที่ว่านี้แตกต่างจากการสังเกตอย่างที่เรามักจะคุ้นเคยกัน โดยเฉพาะในกระบวนการวิทยาศาสตร์ตะวันตกที่ตั้งอยู่บนแนวคิดเดการ์ต-นิวตัน

ปรมาจารย์ต่างๆ ข้างต้นล้วนให้ความสำคัญกับเรื่องการสังเกตและการรับรู้ รวมทั้งให้ความสำคัญอย่างยิ่งยวดกับผู้สังเกตด้วย

ในขณะที่นักวิทยาศาสตร์พยายามสร้างเครื่องมือที่ขยายผัสสะการรับรู้ของเรา ให้เห็นไกลๆ เช่น กล้องโทรทรรศน์อวกาศฮับเบิล (Hubble) หรือเห็นของอนุภาคขนาดเล็กที่วิ่งด้วยความเร็วสูงๆ เช่น เครื่องชนอนุภาคขนาดใหญ่ (Large Hadron Collider, LHC) คนกลุ่มนี้เชื่อว่าเครื่องมือสำคัญที่สุดในการสังเกตคือตัวเราเอง ดังที่เกอเธ่เคยกล่าวไว้ว่า

“มนุษย์นั้นรู้จักตนเองเพียงแค่เท่าที่เขารู้จักโลก เขารับรู้ตัวเขาเฉพาะในขอบเขตของโลก และรับรู้โลกเฉพาะในขอบเขตของตัวเขา สรรพสิ่งใหม่ใดๆ หากได้เพ่งพิจารณาด้วยใจที่ใคร่ครวญแล้ว จะเกิดอวัยวะแห่งการรับรู้ใหม่ในตัวเรา”

อวัยวะใหม่ที่ปรากฏไม่ใช่เรื่องแปลก เราสามารถจัดเงื่อนไขปัจจัยที่เอื้อให้เกิดขึ้นเองได้ ไม่ต้องใช้เทคนิคพันธุวิศวกรรม อวัยวะแห่งการรับรู้ใหม่นี้น่ามหัศจรรย์ เพราะทำให้เราเข้าไปสัมผัสกับปัจจุบันขณะ กับความเป็นไปได้อันไม่จำกัด

หากไม่เกิดอวัยวะใหม่ เราก็สร้างและปฏิสัมพันธ์กับโลกในรูปแบบเดิม แม้จะดีขึ้นสักเพียงใดก็ตาม แต่ก็เป็นแบบเดิม ไม้บรรทัดที่วัดได้แต่ความยาว แม้จะยาวขึ้น ละเอียดขึ้น ก็เป็นไม้บรรทัด ไม่สามารถมองเห็นมุมใหม่ของเทอร์โมมิเตอร์ที่วัดอุณหภูมิ ตาชั่งที่วัดน้ำหนักได้

กระทั่งเรื่องยากๆ ที่สุดในชีวิต เรื่องความทุกข์ เดือดเนื้อร้อนใจ เราก็สามารถแปรเปลี่ยน (transform) ได้ด้วยอวัยวะใหม่ ผ่านการสังเกตมองความทุกข์ด้วยใจที่ใคร่ครวญ และอย่างเนิ่นนาน ง่ายๆ อย่างนี้เอง

แต่มนุษย์ก็ไม่กล้า หรือไม่สามารถ สังเกตให้เป็นและนานพอ อาจเพราะมัน “อยู่ยาก” เพราะไม่รู้ทิศรู้ทางว่าจะดูจะสังเกตไปทำไม หรือเพราะเราไม่มีเครื่องมือ เราจึงมักวิ่งหนีไปหาไปดูอย่างอื่นที่ “อยู่ง่าย” กว่า อย่างไปดูหนัง ฟังเพลง ชอปปิ้ง เที่ยว เล่นเกม fb อินเทอร์เน็ต แม้กระทั่งออกกำลังกาย แต่พอทำเสร็จกลับมา (แอบ) ดู โดยหวังลึกๆ ว่ามันจะหาย (ทุกข์) แต่ก็มักไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แบบฝึกหัดง่ายๆ ของการฝึกสังเกต ฝึกขยายศักยภาพการรับรู้ ทางตา ทางหู ทางกาย ทางใจ โดยการปรับเรื่องมุมมอง ระยะทาง ระยะเวลา หรือทีท่าของใจที่ใส่ให้กับการสังเกต จึงมีผลต่อการรับรู้ ต่อการเรียนรู้ ต่อการอยู่ร่วมและดูแลความทุกข์ของเราอย่างไม่น่าเชื่อ

คนที่คิดว่าตนเองหรือคนอื่นเปลี่ยนแปลงไม่ได้ เปลี่ยนแปลงยาก อาจเพียงเพราะเขาเหล่านั้นยังไม่เคยฝึกฝน เพื่อการเฝ้ามองอย่างเนิ่นนานด้วยใจที่ใคร่ครวญ ยังไม่เกิดอวัยวะใหม่ เท่านั้นก็เป็นได้















ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

“การแข่งขันทำให้เกิดผู้ชนะเพียงจำนวนน้อยนิด และทิ้งผู้แพ้ไว้เป็นจำนวนมาก”

นักศึกษาคนหนึ่งเขียนสะท้อนระหว่างเรียนวิชาชีววิทยาเบื้องต้น ของมหาวิทยาลัยมหิดล

นักศึกษาสองร้อยกว่าคนใช้เวลา ๑๒ ชั่วโมงร่วมกันในการเดินทางเรียนรู้ สัมผัสความน่าอัศจรรย์ใจในมหัศจรรย์ชีววิทยาและชีวิต ผ่านหัวข้อวิวัฒนาการ ความหลากหลายทางชีวภาพ พฤติกรรม นิเวศวิทยา และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เราได้ดูทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของความเป็นไปของโลก ตั้งแต่กำเนิดโลก ว่าสิ่งมีชีวิตกำเนิดมาได้อย่างไรเมื่อสามพันล้านปีก่อน กระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดและทุกชนิดมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวมอย่างไร เห็นว่าสถานการณ์โลกข้างหน้านั้นวิกฤตแค่ไหน มนุษยชาติและสรรพชีวิตต้องการพวกเขาที่มีกระบวนทัศน์ใหม่อย่างไร เป็นภาคทฤษฎีที่มีตัวอย่างจริงเรื่องราวจริงประกอบ

“เมื่อผมได้ดูวิดีโอคลิปการแข่งกันเจริญเติบโตของต้นไม้แล้วลองมามองตัวเองดู สภาพของผมก็คงไม่ต่างอะไรกับต้นไม้ต้นหนึ่งในวิดีโอนี้ แต่ทว่ามันมีข้อต่างกันอยู่ที่การแข่งขันครั้งนี้ ผมมีเพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ ช่วยกันติวอยู่ ทำให้ผมได้มีโอกาสมากขึ้น ... แต่ถ้าเป็นชีวิตนอกมหาวิทยาลัยหละ? การทำงานคือการแข่งขันกัน การเป็นหนึ่งเหนือคู่แข่งขัน ซึ่งไม่ใช่แนวของผม ผมควรทำอย่างไรดี”

นักศึกษาคนดังกล่าวเขียนสะท้อนความรู้สึกต่อแนวคิดเรื่อง การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the Fittest) ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานทางชีววิทยาที่คนมักเข้าใจผิดมากที่สุดแนวคิดหนึ่ง เพราะฟังและพูดต่อกันผิดๆ ว่าเป็น การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด (Survival of the Strongest)

เราอาจมองว่าชีวิตเป็นแค่การแข่งขัน เห็นแค่สิงโตล่ากวาง ต้นไม้แข่งกันโตเพื่อแย่งแสงอาทิตย์ หรือพยาธิอาศัยเป็นปรสิตอยู่ในคน แต่ชีวิตไม่ได้สัมพันธ์กันโดยต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียประโยชน์เท่านั้น

หากเราเห็นว่าสิงโตไม่เคยล่ากวางมากเกินกว่าจะกินหมด ไม่เคยล่ามาสะสม ล่าเพื่อความบันเทิง พืชหลายชนิดก็อาศัยต้นอื่นอยู่ ได้รับประโยชน์โดยไม่ได้ทำอันตราย เช่น กล้วยไม้ จุลินทรีย์ในลำไส้ปลวกก็ช่วยย่อยเศษไม้ที่ปลวกกิน ส่วนที่อยู่ในลำไส้คนก็ช่วยสร้างวิตามินที่เราขาดไม่ได้ ต้นไม้หลายชนิดอยู่ได้ก็เพราะมีแมลงช่วยผสมเกสร แม้แต่ค้างคาวยังช่วยผสมเกสรทุเรียนซึ่งดอกบานเฉพาะตอนกลางคืน

เราไม่พบว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนที่ไม่เกี่ยวพันและไม่เกื้อกูลสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เลย หรือเราอาจพูดได้ว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้ดีคือสิ่งมีชีวิตที่เกื้อกูลสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็เป็นได้

ประเด็นสำคัญของการเรียนรู้คงไม่ใช่แค่ให้นักศึกษาท่องได้ และทำข้อสอบถูก ว่ามันคือการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดนะ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด แต่น่าจะอยู่ที่การช่วยให้เขาได้สะท้อน มองย้อนเข้าไปตนเองด้วยว่าความจริงข้อนี้มันเป็นจริงสำหรับมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว สำหรับตัวเขาเองที่กำลังเรียนและอีกไม่นานจะจบออกไปด้วย

เพราะหากว่าคนๆ หนึ่งใช้เวลาในสถาบันการศึกษาตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อที่จะ “อยู่รอด” เห็นว่าโลกนี้เป็นโลกของการแข่งขัน ชีวิตหลังการเรียนก็คงเป็นความต่อเนื่องของการต่อสู้อันเหน็ดเหนื่อยและยาวนานที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

แต่หากมนุษย์คนหนึ่งได้เห็นว่าเขามีอะไรที่ต้องเรียนรู้มากกว่าการอยู่รอด ถ้าเขาได้มีโอกาสเห็นว่าโลกมีมิติของการ “อยู่ร่วม” ด้วยนั้น ชีวิตของเขาคงน่ารื่นรมย์ขึ้นมาก

และยิ่งถ้าเขาได้นำเอาศักยภาพในการเรียนรู้และตื่นรู้ที่มีอยู่ในเฉพาะสัตว์ที่เรียกตนเองว่า มนุษย์ผู้ฉลาด (Homo sapiens) มาพัฒนาและใช้อย่างเต็มที่ เขาก็จะค้นพบว่าตนเองจะ “อยู่อย่างมีความหมาย” ได้อย่างไร ชีวิตของเขาจะเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เขาอาจได้พบว่าหลังเรียนจบ ทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตการงานของเขามันน่าอยู่ เกื้อกูล อุดม และรุ่มรวยได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นที่หนึ่งหรือจะร่ำรวยหรือไม่ก็ตาม :-)

ตลาดเก่าแห่งใหม่



















ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๒ กันยายน ๒๕๕๓

หลังจากครอบครัวร่วมกันนั่งภาวนาเมื่อคืน แม้ว่าคุณแม่จะง่วงแล้ว แต่ก็ไม่ลืมเตือนให้รีบตื่นมาทานอาหารที่แม่เตรียมไว้แต่เช้านะ เพราะเรามีนัดไปจ่ายกับข้าวซื้อของที่ตลาดเก่าเยาวราชด้วยกัน

ถึงยามเช้า กลิ่นกับข้าวหอมกรุ่นเคล้ามากับเสียงตะหลิวคุยกับกระทะอย่างออกรสออกชาติ บนโต๊ะมีบวบผัดไข่ กุ้งแชบ๊วยอบ ไข่ตุ๋นเต้าหู้ วางเรียงราย ถัดจากข้าวกล้องหอมมะลิชั้นดีจากทุ่งกุลาร้องไห้ควันฉุย เหยาะด้วยเสียงหัวเราะพูดคุยของคนร่วมโต๊ะ เหมือนได้เริ่มวันใหม่แบบร้อยสิบเปอร์เซ็นต์

ระหว่างเดินทาง แม่บอกว่าไม่ได้มาตลาดเก่านี่หลายปีแล้วนะ ลูกๆ แย้งว่าไม่จริงหรอก รับรองครั้งสุดท้ายที่มาไม่เกินปีแน่นอน ผมนึกในใจว่าไม่ใช่ความจำของแม่ไม่ดีหรอก แต่เพราะความรู้สึกคิดถึงและชอบมาต่างหาก เลยรู้สึกว่านานจัง

ลงจากรถ หยิบถุงผ้าสามใบ แม่ดูสดใสมีพลังอย่างเห็นได้ชัด พวกเราแวะทำบุญทิ้งกระจาดวัดเล่งเน่ยยี่ แม่บริจาคทำบุญในนามครอบครัวแล้วยังฝากทำบุญให้ป้าที่อยู่แดนไกลด้วย ผมเสนอว่าจะอีเมลรูปใบอนุโมทนาบัตรไปให้ลูกชายคุณป้าที่มาเลเซีย คุณแม่ดีใจใหญ่

เริ่มเข้าตลาดเก่า แม่ยิ้มกว้าง เล่าเรื่องความประทับใจวัยสาว ตั้งแต่ลักษณะร้านรวง ยันลักษณะคนขายสองข้างทาง เดี๋ยวนี้อะไรๆ ก็เปลี่ยนไป คุณแม่บอก

แม่มักจะมีความสุขกับการได้เลือก ได้ต่อราคา ลูกๆ อธิบายให้กันฟังว่า “เป็นส่วนสำคัญของ transaction” หยิบผักมาพลิกไปพลิกมาเสียหน่อย ลูกพลับตากแห้งต้องเฟ้นอย่างดีจากถุงด้านใน ที่ลูกๆ ดูยังไงก็ไม่เห็นว่ามันจะต่างกัน

แม่ค้าหยิบถั่วงอกหัวโตใส่ถุง ผมน้ำลายสอ พรุ่งนี้สงสัยได้กินแกงจืดของโปรด แม่เดินถือถุงออกมา บอกว่าแม่ค้าคนที่มาเฝ้าแผงแทนเขาคิดราคาผิด ยืนยันว่า เห็นไหม ทำไมเราต้องต่อ ต้องเลือก ต้องใช้เวลาแต่ละที่นานหน่อย

รายการของที่ตั้งใจจะไปซื้อเริ่มสั้นลง (ธูป กระดาษเงินกระดาษทอง ใบชา วุ้นเส้น เกาลัด เห็ดหูหนู ฯลฯ) ส่วนรายการของที่ไม่ได้ตั้งใจซื้อ แต่ก็ได้มา เริ่มยาวขึ้น (ฟักเชื่อม ลูกพลับ ปลา ฯลฯ)

ผมนึกถึงตอนเด็กๆ การมาตลาดเก่าเป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่แม้จะไม่ได้แย่อะไร แต่ก็ไม่ได้น่ารื่นรมย์นัก เรียกว่าถ้าไม่มาได้ ก็ไม่มาดีกว่า ตลาดแคบๆ คนแน่นๆ เบียดกันไปมา ไหนจะหลบรถเข็น รถมอเตอร์ไซค์ แถมของกินเล่นแบบที่เราชอบก็ไม่ค่อยมี การมาตลาดเก่าคือการทำหน้าที่ช่วยหิ้วของ

วันนี้ได้กลับมาตลาดเก่าอีกครั้ง ก้าวไปตามตรอกเดิมๆ แคบๆ แต่อยู่บนเส้นทางที่ยังไม่เคยเดินมาก่อน หยิบความเข้าใจใหม่ๆ กับมุมมองที่เปิดกว้าง ใส่ถุงผ้าที่เตรียมมาจนเกือบเต็ม

วันนี้การไปตลาดคือการได้ดูแลแม่ ได้เห็นแม่ที่แม้สูงวัย แต่ยังสดใส พุ่งทะยานไปข้างหน้า เดินเป็นชั่วโมงโดยไม่รู้เหน็ดเหนื่อย

เริ่มตระหนักแล้วว่าวาระของแม่คือการได้ดูแลลูกๆ ผ่านการจับจ่ายสินค้าสะอาด คุณภาพดี ในราคาเหมาะสม มาเตรียมเป็นอาหารอย่างสุดฝีมือ (แม่เคยบอกว่าต้องช่วยประหยัดเงิน ลูกๆ จะได้ไม่ต้องทำงานหนัก) นี่แหละคือความภูมิใจของแม่

ไม่ต้องสงสัยเลยว่าแม่ชอบให้พวกเราไปเดินจ่ายกับข้าวด้วยกัน ชอบให้เรากินอาหารที่แม่เตรียมจนหมด มากกว่าให้เราพาไปกินอาหารอร่อยๆ (ตามความคิดของเรา) ในร้านอาหารหรูๆ แพงๆ (ตามความคิดของแม่)

ผมตั้งใจเดินตามหลังแม่เล็กน้อย คอยเก็บภาพความทรงจำอันงดงามนี้ไว้

ตลาดเก่าวันนี้ แม้ว่าจะเก่าสมชื่อ แต่เป็นตลาดแห่งความรักใหม่ๆ ความเป็นไปได้ใหม่ๆ ในความสัมพันธ์ของเรา

แม่หันมาฉีกยิ้ม “ไม่ได้ไปไหนใช่ไหม เดี๋ยวกลับบ้านจะไปทำก๋วยเตี๋ยวราดหน้าให้กินนะ” พร้อมชูถุงเส้นก๋วยเตี๋ยวเจ้าอร่อยที่สุดของเยาวราชให้ดู :-)



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

เมื่อไม่นานมานี้ ผมไปร่วมจัดการเรียนรู้เรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) ร่วมกับเพื่อนในกลุ่มจิตตปัญญาวิถีที่วิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่งในหัวเมืองใหญ่ ได้พบและสนทนาจนคุ้นเคยกับอาจารย์พยาบาล แพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคน เราใช้เวลาในช่วงพักทานกาแฟและขนม รวมทั้งช่วงอาหารกลางวัน แบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหลายเรื่อง

อาจเป็นเพราะทีมไปเป็นแขกรับเชิญในฐานะกระบวนกรผู้มีความรู้และความชำนาญในเรื่องสุนทรียสนทนาและจิตตปัญญาศึกษา ทำให้ลักษณะของการสนทนากันค่อนไปในทางถามตอบประเด็นปัญหาที่อาจารย์หลายท่านสงสัย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับชั้นเรียนที่มีจำนวนนักศึกษามากน้อยต่างกัน ไปจนถึงปัญหาการคุยกันในชั้นเรียนและวินัยของนักศึกษา

มีเรื่องหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจจากทุกคนบนโต๊ะกาแฟมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องการจัดการเรียนการสอนเลย คือคำถามของอาจารย์แพทย์คนหนึ่ง เธอเป็นคนที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ใช้แนวธรรมะและธรรมชาติบำบัดจนสามารถอยู่ร่วมกับมะเร็งในกายด้วยจิตแจ่มใส ใจไม่ป่วย

คุณหมอมาขอปรึกษาเรื่องลูกสาวของเธอเอง เธอว่าลูกเพิ่งเริ่มงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงมั่นคงในกรุงเทพฯ มาได้ระยะหนึ่ง ปรกติเธอกับลูกก็จะโทรศัพท์คุยกันและได้ฟังปัญหาเกี่ยวกับที่ทำงานของลูกสาว แต่ครั้งหลังสุดนี้ ลูกสาวบ่นให้เธอฟังว่าเพื่อนร่วมงานไม่ให้ความเชื่อถือ

“หนูบอกพี่เขาแล้วว่าเรื่องนี้ต้องจัดการแบบนี้ แต่เขาก็ไม่สนใจเลย แล้วพอเขาไปถามรุ่นพี่คนอื่นนะ คนอื่นก็บอกให้ทำตามแบบที่หนูบอกไปทีแรกอยู่ดี” ลูกสาวมีน้ำเสียงโมโหฉุนเฉียวมาก

เธอรู้สึกว่าลูกจะต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ อีกทั้งปัญหานี้ก็เป็นเรื่องเล็กน้อย จึงตอบไปว่า “หนูโมโหทำไมกับเรื่องแค่นี้ เราต้องอดทนได้นะ ทำงานยังจะต้องเจออะไรอีกมากมาย” แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือลูกสาวโมโหมากขึ้นไปอีก และโทษว่าแม่ไม่เข้าข้าง หลังจากนั้นทั้งคู่ก็โทรศัพท์คุยกันน้อยลง

คำถามต่อเรื่องนี้ของเธอคือ “พี่ควรจะสอนเค้ายังไงดี เค้าถึงจะเข้าใจและมีสติรู้ตัวว่ากำลังโกรธอยู่”

ก่อนจะตอบ ผมขอถามกลับบ้าง ถามเธอว่าด้วยความที่เราเป็นแม่ เป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ทำงานมามากกว่า เราจึงพอเข้าใจสถานการณ์และคาดเดาได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรใช่ไหม และสิ่งที่เราต้องการให้ลูกเรามีคือการมีสติและสามารถจัดการกับอารมณ์ใช่หรือไม่ เธอตอบว่าใช่

ผมยืนยันให้ความมั่นใจแก่เธอก่อนว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ได้มีอะไรที่ผิด หากแต่คำพูดที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีของแม่นั้นอาจไม่ได้ตรงกับความต้องการของลูก ในห้วงเวลาของความน้อยใจระคนโกรธ ลูกอาจอยากจะได้ระบายออกและต้องการการรับฟังจากคนที่เธอไว้ใจ ความปรารถนาดีที่เอ่ยไปจึงกลายเป็นคำสอนที่ผู้รับไม่ต้องการ เป็นยาขนานที่ผู้ป่วยไม่ยอมกิน

หากเราวางใจและไม่เร่งรีบกันนัก ลึกลงไปกว่าความโกรธฉุนเฉียวในถ้อยคำ เราย่อมจะได้ยินน้ำเสียงของอีกฝ่าย เขาหวังจะให้เราฟัง เขาต้องการความเข้าใจ และเขาอยากได้ความเห็นใจจากเรา มากไปกว่าคำสั่งสอนที่อาจจะทำให้เขารู้สึกแย่ลงไปอีก

ผมถามเธออีกครั้งว่า ตอนที่ได้ยินลูกสาวเล่าเรื่องนั้น พี่รู้สึกอะไรบ้าง เธอว่าสงสารลูก และรู้สึกเป็นห่วงลูกมาก ผมแนะนำเธอว่า แทนที่จะช่วยลูกด้วยการสอน พี่ยังสามารถช่วยเขาได้ด้วยการบอกว่าพี่รู้สึกอย่างไร บอกอย่างที่พี่บอกเมื่อครู่นี้แหละ แล้วเขาก็จะรู้ว่าพี่อยู่ข้างเดียวกัน เมื่อใจอยู่ใกล้กันหากมีเรื่องอะไรอีกเราก็จะเป็นคนที่เขาอยากเล่าอยากปรึกษาด้วย เมื่อเขาวางใจและเย็นลงแล้วคำสอนไหนของเราเขาก็รับ

ฉับพลันนั้นผมเห็นนัยน์ตาคู่สวยของเธอเป็นประกาย “ใช่เลย แต่ก่อนพี่อยากจะสอน มากกว่าอยากจะฟัง ขอบใจนะ เดี๋ยวพี่จะกลับไปฝึกที่จะฟังลูกสาวพี่ดูนะ”

ดีใจกับลูกสาวที่จะได้คุณแม่ที่น่ารักที่มีความสามารถในการรับฟังเพิ่มขึ้น

ดีใจกับคุณแม่ที่ได้เครื่องมือไว้ดูแลคนที่เธอรักที่สุดในชีวิต

ดีใจที่ได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราวดีๆ เช่นนี้ครับ :-)



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ 7 สิงหาคม 2553

“ประเทศอะไรมีประชากรมากที่สุดเป็นอันดับที่สามของโลก?”

หากมีใครถาม อย่าเผลอตอบว่า “สหรัฐอเมริกา” (รองจากจีนและอินเดีย) เชียวนะครับ และก็อย่าได้ไปเปิดหาจากแผนที่เลย เพราะมันอยู่ในโลกเสมือน ในอินเทอร์เน็ต

ประเทศที่ว่านี้เป็นประเทศเกิดใหม่ที่ชื่อ “เฟซบุ๊ก” (facebook) ครับ คนไทยเรียกสั้นๆ ว่า เอฟบี (fb) เป็นเครือข่ายสังคมออนไลน์ (social network) แม้จะเพิ่งตั้งมา ๗ ปี แต่ก็โตไวมาก ในช่วง ๑๕ เดือนที่ผ่านมา มีประชากรเพิ่มขึ้น ๘ คน ทุกๆ วินาที และเมื่อไม่กี่วันมานี้ เฟซบุ๊กก็เพิ่งประกาศว่าประชากรหรือสมาชิกทะลุหลัก ๕๐๐ ล้านคนแล้ว (เป็นชาวไทย ๔.๒ ล้านคน)

จำนวนครึ่งหนึ่งในนั้นเข้าเว็บของเฟซบุ๊กทุกวัน เพื่อไปอ่าน ไปเขียนข้อความ ตอบจดหมาย รวมถึงเล่นเกมที่มีให้เลือกมากมาย บ้างก็ปลูกผัก (ฟาร์มวิลล์ – ๘๓ ล้านคน) เปิดร้านอาหาร (คาเฟ่เวิลด์ – ๓๐ ล้านคน) เล่นไพ่ (เทกซัสฯ – ๒๗ ล้านคน) เลี้ยงปลา (แฮปปี้อะควอเรียม – ๒๖ ล้านคน) ตั้งแก๊งมาเฟีย หาลูกน้อง สะสมอาวุธ (มาเฟียวอร์ – ๒๕ ล้านคน) ฯลฯ

รวมกันแล้วเดือนหนึ่งๆ มีผู้คนเข้าไปใช้เวลาในเว็บแห่งนี้ ๗๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ นาที (เจ็ดแสนล้านนาที) หรือราว ๑๒,๐๐๐ ล้านชั่วโมงทำงาน (man-hour) เลยทีเดียว

ข้อมูลหนึ่งซึ่งน่าสนใจก็คือค่าเฉลี่ยจำนวน “เพื่อน” ของสมาชิกในเฟซบุ๊กที่มีอยู่ราว ๑๓๐ คน เมื่อเทียบเคียงไปยังข้อสรุปการวิจัยของ โรบิน ดันบาร์ นักชีววิทยาวิวัฒนาการและนักมานุษยวิทยาชาวอังกฤษ ผู้เชี่ยวชาญด้านพฤติกรรมของสิ่งมีชีวิตกลุ่มไพรเมต (สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมกลุ่มลิงและมนุษย์) เขาศึกษาขนาดและความสามารถของสมองโดยเฉพาะส่วนนีโอคอร์เทกซ์ (สมองส่วนนอก ควบคุมการรับรู้ อารมณ์ ความคิด) และพบว่าศักยภาพของสมองนั้นมีผลต่อจำนวนตัว (ของสิ่งมีชีวิตชนิดเดียวกัน) ที่สิ่งมีชีวิตแต่ละตัวจะสามารถสร้างและดูแลความสัมพันธ์ทางสังคมที่มั่นคงด้วยได้ ในกรณีของมนุษย์แล้ว พบว่ามีค่าโดยประมาณที่ ๑๕๐ เผอิญใกล้เคียงกับค่าเฉลี่ยจำนวนเพื่อนในเฟซบุ๊กใช่ไหมครับ?

ตัวเลข ๑๕๐ นี้หมายความว่าในเชิงทฤษฎีแล้ว ตามข้อจำกัดของสมองของเรา ทำให้แต่ละคนจะมีความสามารถในการสร้างความสัมพันธ์กับคนอื่นๆ ได้ประมาณ ๑๕๐ คน โดยที่เรายังคงรู้จักแต่ละคน รู้ว่าแต่ละคนเชื่อมโยงกับคนอื่นๆ อย่างไร และยังรักษาความสัมพันธ์นั้นไว้ได้ (แต่ถ้าจำนวนมากขึ้นกว่านั้นก็ต้องการกฎหรือระเบียบที่มากขึ้น)

แต่ในยุคสมัยของเฟซบุ๊กที่การติดต่อสื่อสารระหว่างกันเป็นไปอย่างรวดเร็วและรวบรัดบนอินเทอร์เน็ตนี้ล่ะครับ? เรายังมีความแน่ใจแค่ไหนว่าจะยังคงสามารถดูแลรักษาความสัมพันธ์ให้มีคุณภาพได้ดีเท่าเดิม ศักยภาพของสมองให้เรามีความสัมพันธ์ในโลกความเป็นจริงได้กับ ๑๕๐ คน แต่ในความเป็นจริงเราดูแลได้สักเท่าใด

แม้ค่าเฉลี่ยของเพื่อนในเฟซบุ๊กอยู่ที่ ๑๓๐ คน แต่ในความเป็นจริงแล้วจำนวน “เพื่อน” ในเฟซบุ๊กของเรานั้นก็คงจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น สมาชิกจิตวิวัฒน์บางท่านมีเพื่อนเกิน ๕,๐๐๐ คนแล้ว (แม้ยังห่างไกลจากนักร้องอย่าง เลดี้กาก้า ที่มี “เพื่อน” ทั่วโลก ๑๔ ล้านคน) มันง่ายมากเลยที่จะมีเพื่อนใหม่ๆ มีเพื่อนมากๆ ในเฟซบุ๊ก ง่ายที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่

เพราะสิ่งที่เราต้องทำเพื่อสร้างความเป็น “เพื่อน” ในเฟซบุ๊ก ช่างสะดวกง่ายดายเพียงแค่กดคลิกเมาส์ขอ แล้วรอเขาตอบกลับ (ผู้ใช้เฟซบุ๊กบางคนพร้อมเป็นเพื่อนมาก กดขอปุ๊บ ได้เป็นปั๊บ ... แหม ช่างทันใจจริงๆ!) ถึงแม้เราไม่กระตือรือร้นค้นหาชื่อเพื่อขอเพิ่มจำนวนเพื่อน เฟซบุ๊กก็จะคอยแนะนำเราอยู่เสมอว่าผู้ใช้คนไหนน่าสนใจให้เราไปพิจารณาขอเป็นเพื่อนบ้าง ส่วนจะเลิกคบกันยิ่งง่าย คลิกยกเลิกไปเลย ไม่ต้องขอ

ศักยภาพของเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น เรามีเพื่อนในเฟซบุ๊ก ในโลกเสมือนเพิ่มขึ้น แต่ในโลกของความเป็นจริงที่เราต้องใช้ชีวิตและใช้เวลาอยู่จริงล่ะครับ? เรามีเพื่อนเพิ่มขึ้นหรือเปล่า? เพื่อนที่หมายถึงทุกคนซึ่งเรามีความสัมพันธ์ด้วยนะครับ ใช่ว่าเพียงคนคอเดียวกัน แต่รวมไปถึงคนในครอบครัว เพื่อนร่วมงาน เพื่อนบ้าน และทุกคนที่เราใช้ชีวิตอยู่ด้วยในโลกใบนี้

ที่สำคัญ คุณภาพของความสัมพันธ์ที่เรามีต่อเพื่อนร่วมโลกเหล่านี้เล่า เป็นอย่างไรกันบ้าง?

พ่อ แม่ สามี/ภรรยา ญาติผู้ใหญ่ ลูกหลาน คนในครอบครัวของเรา บุคคลสำคัญเหล่านี้ที่เป็นเพื่อนอันมีฐานะเป็นกัลยาณมิตรผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลเราบนเส้นทางจิตวิญญาณ เรากำลังมีความสัมพันธ์กับเขาอย่างไรบ้าง เป็นความสัมพันธ์ที่มีคุณภาพหรือไม่? เพื่อนเหล่านี้ถูกเราปล่อยทิ้งละเลยไว้ในขณะที่เราไปอัพโหลดรูป-อัพเดทสถานะ-ปลูกผัก-เลี้ยงปลา-ล่าสัตว์ในโลกเสมือนหรือเปล่า

หรือว่าเราใช้เฟซบุ๊ก (และอินเทอร์เน็ต) เป็นที่หลบจากความสัมพันธ์ยากๆ ในชีวิตจริง เราใช้เวลาในเฟซบุ๊กให้มากเพื่อหลีกเลี่ยงมาเผชิญหน้ากับความสัมพันธ์ที่ยากกว่าในชีวิตจริงหรือเปล่า?

โลกเรากำลังต้องการการปฏิรูป/ปฏิวัติที่ใหญ่ที่สุด คือ การปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution) ซึ่งเป็นทางออกเดียวของมนุษยชาติ และช่องทางหลักของการเปลี่ยนแปลงนี้ก็คือ การหวนกลับมาเยียวยา ฟื้นฟู และดูแลความสัมพันธ์กับคนใกล้ชิดของเราเอง

ไม่ว่าเราจะฝึกปฏิบัติเจริญสติหรือทำงานเสียสละแก่ส่วนรวมเพื่อลดละอัตตาอย่างไรก็ตาม ในชีวิตจริงๆ เราก็ยังจะอดหัวเสีย เครียดและจี๊ดได้ง่ายๆ และบ่อยๆ ก็เพราะคนใกล้ตัวนี่เอง ไม่ใช่คนอื่นคนไกลที่ไหน หลายครั้งโจทย์ที่ยากยิ่งในชีวิตของเราก็กลับเป็นคนที่เรารักหรือคนที่รักเราอย่างยิ่ง บ้างก็เป็นพ่อแม่ของเราเอง บ้างก็เป็นคู่ที่เราเลือกมาเอง หรือลูกที่เราเลี้ยงมาเองกับมือ แต่ถึงกระนั้นคนที่เราเลือก คนที่เราเลี้ยงมา ก็ยังไม่วายทำให้เราหัวเสียได้ทั้งวัน และนอกจากในบ้าน เราก็ยังพบว่ามันเกิดขึ้นง่ายและบ่อยครั้งมากกับคนที่ทำงานด้วย

เราอาจอดทนกับกริยาท่าทางของคนแปลกหน้าได้นาน แต่แค่คนในครอบครัวพูดอะไรไม่เข้าหูแค่คำเดียวก็อาจทำให้เราโมโหหรือเสียใจไปครึ่งค่อนวันได้

คำพูดสวยหรูที่ว่า “ดูแลคนใกล้ชิดดั่งอาคันตุกะ” จึงเป็นสิ่งที่ยากที่สุดสิ่งหนึ่งในชีวิต ในยามปรกติก็ว่าดูแลยากแล้ว ในยามที่เราเกิดอาการเซ็งกับสิ่งที่คนเหล่านี้ทำ พูด หรือเป็น การดูแลคนใกล้ชิดที่ว่านี้ยิ่งแทบเป็นไปไม่ได้เลย

แต่ความสัมพันธ์กับคนที่รักเรา กับคนที่เรารัก กับคนในครอบครัว ความสัมพันธ์ใกล้ตัวเราที่ว่ายากและถูกละเลยมองข้ามเหล่านี้เอง หากได้รับการเยียวยาและหล่อเลี้ยงจึงจะกลับกลายเป็นพลังและเป็นประตูที่พาเราไปสู่ชีวิตที่เต็มพร้อม ให้เราได้มีชีวิตที่ไม่เพียงแต่ “อยู่รอด” แต่ยัง “อยู่ร่วม” และ “อยู่อย่างมีความหมาย” ด้วย

สิ่งที่กลุ่มจิตวิวัฒน์คุยกันหลายครั้งก็ล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องขององค์ความรู้ที่ใช้ในการเยียวยาความสัมพันธ์ที่แตกหักเสียหาย หรือดูแลความสัมพันธ์ที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็นสุนทรียสนทนา (Dialogue) การสนทนากับเสียงภายใน (Voice Dialogue) การสื่อสารด้วยความกรุณา (Compassionate or Non-violent Communication) หรือ นิเวศภาวนา (Vision Quest – Eco Quest)

เครื่องมือและความรู้เหล่านี้ทำให้การมีชีวิตอยู่นั้นมีความหมายมากขึ้น

การไปอบรมเรียนทักษะความรู้ใดๆ สำหรับใช้ชีวิตหรือในการทำงานก็ตาม ถ้าไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องความสัมพันธ์นี้ได้ก็ยากจะประสบผล จากประสบการณ์ของผู้เขียน ในการอบรมหลายครั้ง ผู้เข้าร่วมอบรมจะรู้สึกว่า ความรู้นี้เป็นสิ่งที่ใช่ และรู้สึกเชื่อมโยงกับเนื้อหา ก็ต่อเมื่อเขาพบหรือสัมผัสว่าสิ่งที่อบรมไปจะทำให้ความสัมพันธ์ที่เขาให้ความสำคัญนั้นมันดีขึ้นและกลับมามีความหมายต่อชีวิตเขาได้

เรื่องเล็กๆ ง่ายๆ อย่างความสัมพันธ์ในครอบครัวที่แข็งแรง ย่อมเป็นดั่งต้นทุนให้เราและครอบครัวสามารถรับมือกับวิกฤตที่อยู่เบื้องหน้าเราได้ดีขึ้น

ยุคของอินเทอร์เน็ตที่มีข่าวสารข้อมูลไหลบ่าเข้ามาอย่างรวดเร็วจึงไม่ได้มีแค่พื้นที่บันเทิงในเฟซบุ๊กเท่านั้น อินเทอร์เน็ตยังสร้างพื้นที่และให้โอกาสดีแก่มนุษยชาติอย่างมาก ที่เปิดให้เราได้เข้าถึงเครื่องมือความรู้ต่างๆ ที่เราสามารถเอามาใช้ในการดูแลความสัมพันธ์เหล่านี้ได้

ผู้เขียนไม่ได้บอกให้ไปยกเลิกสมาชิกของเฟซบุ๊ก หรือเลิกเล่น แต่เชิญชวนว่าอย่าปล่อยให้เฟซบุ๊กหรือเครือข่ายสังคมออนไลน์ต่างๆ มาครอบงำปิดกั้นเราจากความจริงที่ว่าโลกเรานี้ช่างซับซ้อน การดูแลความสัมพันธ์เป็นสิ่งที่ต้องใช้ใจ ใช้เวลา ใช้พลัง และทำให้เราต้องเลิกใช้ตัวเราเองเป็นศูนย์กลางในการมองและตัดสินโลก

ดูแลเพื่อนบนเฟซบุ๊กของเราก็ไม่เสียหายอะไร แต่อยากให้เราได้ดูแลความสัมพันธ์กับเพื่อนที่บ้านของเราด้วย

จิตตปัญญา ๑๐๑



ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2553

ด้วยความรู้จากงานวิจัยสำรวจรวบรวมองค์ความรู้จิตตปัญญาศึกษาทั่วโลก ที่สรุปได้เป็นองค์ความรู้ “โมเดลจิตตปัญญาพฤกษา” และงานวิจัยเชิงปฏิบัติการประยุกต์ใช้โมเดลกับชั้นเรียน ผนวกกับประสบการณ์การสร้างและทดลองใช้กระบวนการต่างๆ ในชั้นเรียนหลายแห่งและในชีวิตจริงร่วมสิบปี กลุ่มจิตตปัญญาวิถี (jittapanya.com) ได้ร่วมกันเปิดคอร์สอบรม แบบ in-house ให้กับสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาครัฐ บริษัทเอกชนจำนวนมาก

“จิตตปัญญา ๑๐๑” ที่เป็นคอร์สเปิดรับทั่วไปเป็นครั้งแรก คนสมัครมาเกินจำนวนที่ตั้งใจ เกินจำนวนที่ห้องจะรับได้ สามวันสบายๆ แม้จะสั้นและไม่ค้างคืน แต่ก็ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เห็นถึงศักยภาพการเรียนรู้อย่างยิ่งของมนุษย์ที่มีความใฝ่ใจ สนใจใคร่รู้ คอร์สเข้มข้นไปด้วยข้อมูลวิจัย เอกสารตัวอย่าง ประสบการณ์ เรื่องราว เรื่องเล่า อารมณ์ความรู้สึก คำถาม คำตอบของอาจารย์ที่เคยสอน นักศึกษาที่เคยผ่านกระบวนการ และผู้เข้าร่วมทั้งที่เคยและไม่เคยรู้จักจิตตปัญญามาก่อน

หลังจบคอร์ส ว่างเว้นจากการครุ่นคิดคำนึงถึงไปหลายวัน ผมใช้เวลาคุณภาพมาละเลียดอ่านสิ่งที่ผู้เข้าร่วมเขียนประเมินสะท้อน ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่อ่านผ่านตาไปรอบแรก ชื่นชมกับการเดินทางของเขา แม้ว่าบรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้

“ถ้าใครมาถามว่าได้อะไรบ้างจากคอร์สนี้ก็คงไม่สามารถบรรยายหรือถ่ายทอดออกมาได้หมด รู้เพียงแต่ว่ามันเกิดอาการถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล”

ผู้เข้าร่วมอยู่ในการเรียนรู้จนประจักษ์ด้วยตนเอง ไม่ใช่ด้วยการคิดนึกเอา แต่ด้วยการสัมผัสโดยตรงว่าจิตตปัญญาศึกษาเป็นเรื่องของการเรียนรู้ด้านใน เป็นเรื่องของการเรียนรู้ด้วยใจ

“การเรียนรู้ข้างในเพิ่งตื่น พร้อมที่จะก้าวเรียนต่อๆ ไป ... ช่วยส่งเสริมให้เรากล้ามากขึ้น ความกระจ่างมีความใสมากขึ้น กระจ่างในกรอบคิด กระจ่างในแนวปฏิบัติ กระจ่างในหนทางข้างหน้า ขอบคุณเหลือเกินที่ทุกๆ คนช่วยให้เกิดพลังนี้ขึ้นในตนเอง”

ไม่เพียงแต่คำตอบนั้นจะมาจากเรา แต่คำถามยังต้องมาจากเราด้วย การเรียนรู้จึงจะเป็นของเรา เป็นของผู้เรียนอย่างแท้จริง พร้อมกันนั้นก็ตระหนักถึงคุณค่าของชุมชนผู้ปฏิบัติ (Community of Practice) หรือกัลยาณมิตร และแนวคิดอื่นๆ ด้วย

“เป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่งที่ทำให้ตัวเองได้ตระหนักรู้ถึง ‘สิ่งมีค่า’ ที่มีอยู่ในตนเอง ครอบครัว และสังฆะที่ดี ซึ่งมีอยู่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย และทำให้ตนเองได้เติบโตและงอกงามในจิตใจขึ้นมา จะพยายามรักษาสภาวะเช่นนี้อย่างจิตใจที่เป็นกลาง ไม่คาดคั้น คาดหวัง ... ให้โอกาสตัวเองมีความกล้าหาญ ยืนหยัด ยืนยันในสิ่งที่จะทำอย่างเสมอต้น เสมอปลาย อย่างไม่เร่งรีบ ... แนวทางนี้น่าจะเหมาะกับตนเอง เพราะได้รู้ผ่านการปฏิบัติจริง ที่ไม่ต้องรอให้มีเวลาเข้าวัด มีเวลาเงียบจึงจะทำได้”

ก่อนเริ่มคอร์สผู้เข้าร่วมหลายคนสนใจมองหาเทคนิค อยากจะมาเรียน จะมาเห็น จะมาลอง จะมาจำเอาไปใช้ในชั้นเรียน ที่ทำงาน ที่บ้านของตน แต่กลับได้อะไรที่มากไปกว่าวิธีการ

“สร้างความมั่นใจมากขึ้น ได้แก้ไขข้อข้องใจหลายๆ อย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งที่ตัวเองเป็น มันเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง ทั้งชีวิตเราเอง งาน ครอบครัว จินตนาการ ความใฝ่ฝัน ความมุ่งหมาย ได้จริงๆ คิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน ๓ วันนี้ ได้เกินกว่าความคาดหมาย ... ได้มากกว่าคือได้ทบทวนสิ่งที่ค้างคาใจ สิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาของเราจริงๆ ในส่วนลึกจริงๆ และยังทำให้เกิดความอยากที่จะเผยแพร่สิ่งดีๆ แบบนี้ต่อๆ ไป ให้กับคนที่เรารัก คนที่ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่มีความสุขในที่ทำงาน”



ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 13 มิถุนายน 2553

(ฉบับตีพิมพ์ถูกเปลี่ยนชื่อให้เป็น "แฟชั่นเผาเมือง")

ผมรักวิทยาศาสตร์

เคยคิดถึงขนาดว่าถ้าตอนเด็กๆ มีโรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์คงได้ไปเรียน เพราะเชื่อว่าเป็นโรงเรียนในฝันของผู้รักวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งหลาย

วันนี้ข่าวไฟไหม้โรงเรียนจึงมีความหมายพิเศษสำหรับผม

แม้จะไม่เคยเรียน ไม่เคยเป็นศิษย์เก่าก็ตาม แต่ครั้งหนึ่ง ผมได้รับเชิญไปบรรยายที่โรงเรียน จึงได้ไปแบ่งปันความเคลื่อนไหวในการเรียนรู้ของโลก ที่เชื่อว่าวิทยาศาสตร์ปัจจุบันอันมีอายุอานามราว ๔๐๐ ปี ตั้งอยู่บนงานนักคิดหลักๆ อย่าง กาลิเลโอ กาลิเลอี เรอเน เดส์การตส์ ไอแซค นิวตัน นั้น แม้จะสร้างความเจริญทางวัตถุทางเทคโนโลยีให้กับโลกเป็นอย่างมาก แต่ก็นำพามนุษยชาติมาถึงทางตันแล้ว ความรู้วิทยาศาสตร์ที่ตัดขาดมิติด้านใน ทำให้โลกปัจจุบันเป็น “โรคขาดพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency)” มีรูปธรรมอาการของโรคเป็นวิกฤตที่เราเห็นไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ

ทางออกไม่ใช่การปฏิเสธวิทยาศาสตร์ แต่เป็นการ ก) ปรับการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ให้ เรียนกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ “คิดเป็น” ไม่ใช่เน้นการเรียนหรือท่อง “วิชา” วิทยาศาสตร์ เพื่อไปสอบแข่งขันกัน

และ ข) เชื่อมโยงวิทยาศาสตร์เข้ากับอีกสองสิ่ง คือ การเรียนรู้ในฐานวัฒนธรรม เพื่อให้ “ทำเป็น” ต้องให้ผู้เรียนผ่านการเรียนรู้ร่วมกันในการปฏิบัติ ย้ายการศึกษาไปอยู่ในชุมชน ทำให้ผู้เรียนร่วมทุกข์ร่วมสุขกับสังคม มีอุดมการณ์ร่วม คือ การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ของสมาชิกทุกคนในสังคม

และ การเรียนรู้ด้วยจิตตปัญญาศึกษา เพื่อให้ “รู้แจ้ง” การเรียนให้คิดเป็นและทำเป็นนั้นยังไม่สามารถพามนุษย์ออกจากกิเลสตัณหาได้ โลกที่กำลังป่วยอย่างหนักจึงต้องการการเรียนรู้ที่ส่งเสริมให้คนรู้จักสติ รู้กายรู้ใจตนเอง รู้อยู่กับปัจจุบันให้เป็น

บรรยายจบ ได้คุยกับคุณครูหลายท่าน จึงได้รู้ว่าโรงเรียนคัดเลือกเด็กอันดับหนึ่งของแต่ละจังหวัดมาเรียน (ปัจจุบันคาดว่าเปลี่ยนเป็นระบบสอบทั่วประเทศแต่เพียงอย่างเดียว) โดยเรียนฟรีทุกคน (ทุนจากรัฐบาลคนละประมาณหนึ่งแสนบาท) ทุกคนต้องอยู่หอพัก เรียนหนัก เนื้อหา ม.๖ เรียนจบตั้งแต่ ม.๕ (หรือ ม.๖ เทอมต้น) คลินิกวิชาการเปิดถึงสองทุ่ม ห้องสมุดเปิดถึงเที่ยงคืน วันเสาร์มีกิจกรรม วันอาทิตย์เท่านั้นที่นักเรียนสามารถกลับบ้าน ซึ่งนักเรียนต่างจังหวัดไกลๆ ไม่สามารถกลับได้

ผมถามคุณครูแนะแนวว่าเด็กๆ จะไม่เครียดหรือ เอาที่หนึ่งจากแต่ละจังหวัดมาเรียน เหลือที่หนึ่งเพียงคนเดียว แล้วที่เหลือจะรู้สึกอย่างไร คุณครูตอบชัดถ้อยชัดคำ ไม่ลังเล “เครียดสิคะ เครียดมาก อย่าว่าแต่เด็กเลย ครูยังเครียดเลยค่ะ”

คุณครูบอกต่อว่า “วิทยาศาสตร์อย่างที่อาจารย์เล่ามาดีมากเลยค่ะ แต่โรงเรียนเขาคงไม่สนใจหรอกค่ะ” เพราะมันไม่ได้ทำให้โรงเรียนมีชื่อเสียงจากการที่นักเรียนสอบเข้ามหาวิทยาลัยได้ที่สูงๆ เธอยังเล่าถึงความพยายามของอาจารย์บางคนที่จะให้การเรียนรู้มีมิติอื่นๆ บ้าง แต่ก็ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากทั้งผู้บริหาร เพื่อนอาจารย์ และนักเรียน เธอเองก็กังวลแต่ก็ไม่ทราบจะทำอย่างไร

ผมออกจากโรงเรียนมาพร้อมกับความห่วงใย ห่วงทั้งคนที่โรงเรียนและผู้ปกครองที่บ้าน เหมือนเขากำลังนั่งอยู่บนระเบิดเวลาที่กำลังนับถอยหลังอยู่

ข่าวนักเรียนเครียด ไม่อยากมาโรงเรียน จนเผาห้องสมุดเพื่อให้โรงเรียนปิด ย่อมเป็นเรื่องเศร้า แต่ก็น่าจะสร้างแรงบันดาลใจให้เราได้กลับมาตั้งคำถามตัวเองอย่างจริงจังเกี่ยวกับการเรียนรู้ การศึกษา เป้าหมายชีวิต และวิทยาศาสตร์เพื่อการอยู่ร่วมกันในสังคม



ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2553

สันติภาพเริ่มจากภายในตนเอง ไม่อาจเรียกร้องจากผู้อื่นได้




ขณะที่สังคมส่วนใหญ่กำลังก่อกรรมร่วม คือ ตะโกนใส่กันมากขึ้น แต่ฟังกันน้อยลง เข้าใจกันน้อยลง เลือกรับรู้ เลือกพิจารณา และเลือกส่งต่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางทางการเมืองของตนเอง “ดูสิข้อมูลอะไรๆ ที่เราดูจากสื่อที่เราเลือกก็สนับสนุนความเชื่อเรา”

ขณะที่เราปล่อยให้ศัตรูที่แท้จริงลอยนวล คือ ความโกรธ ความเกลียดชังกัน เติบโต แผ่ขยายบั่นทอนสุขภาพองค์รวม คอยยุแยงให้เราปักใจว่าสิ่งที่เราเชื่อนี่แหละถูกที่สุดแล้ว อีกฝ่ายก็ดูมีความเป็นมนุษย์น้อยลงเรื่อยๆ “สมแล้วที่เราจะต้องจัดการให้สิ้นซากด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม”

ขณะที่สังคมตัดญาติ ตัดมิตร ตัดคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดความเชื่อทางการเมืองของตนออก โดยลืมไปว่าการกลับมาคืนดีกันไม่ง่ายเหมือนกับการคลิกขอเป็นเพื่อนอีกครั้งใน facebook หลังจากได้คลิก unfriend หรือ defriend ไปแล้ว

ขณะที่สังคมบ้างก็ผลัก บ้างก็ถูกผลักไปยืนข้างใดข้างหนึ่งในการเมืองเลือกข้างมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เป็นข้างนี้ แสดงว่าต้องเป็นอีกข้างหนึ่ง เหลือพื้นที่ตรงกลางน้อยลงไปทุกที

ในชั่วขณะเดียวกันนี้ ... คนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่น ตั้งใจสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในวาทกรรมการเมืองเรื่องสี (แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน ขาว ชมพู) ฐานะ (ไพร่ ชนชั้นกลาง อำมาตย์) หรือผักผลไม้ (มะเขือเทศ แตงโม สับปะรด) ไม่ใช่แค่พื้นที่ตรงกลางที่ต้อนรับคนไม่มีสี แต่ต้อนรับทุกคนทุกฝ่าย

คนกลุ่มนี้ชักชวนผู้คนมาภาวนาด้วยกัน

ด้วยเชื่อว่าการภาวนาเป็นส่วนสำคัญของทางออก เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สังคมเข้าสู่คำตอบที่ยั่งยืน ที่มีทุกคนอยู่ในนั้นได้

หัวใจของภาวนา คือ การแสดงออกอย่าง active สันติ สร้างสรรค์ ไม่ใช่การหนีโลก แบบ passive ลี้เร้นโลกวุ่นวายไปอยู่ในที่สงบ ใครเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอสบายใจไว้ก่อน

หัวใจของการภาวนา คือ การช่วยให้เรามีช่วงเวลาที่ช้าลง มีสติ ตระหนักว่าเราจะนำพาตนและทุกๆ คน (ไม่เว้นแม้คนที่เราไม่เห็นด้วย) ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยความรัก ความเข้าใจได้อย่างไร เมื่อเราตระหนัก เราจะมีกำลัง ความมุ่งมั่น ทุ่มเทที่จะลงมือทำอย่างไม่น่าเชื่อ

หัวใจของการภาวนา คือ การช่วยให้เรามีทีท่าที่เหมาะสมว่าจะอยู่กับความทุกข์หรือปัญหาได้อย่างไร มีอะไรบ้างที่เราควรทำ/ไม่ควรทำ มีอะไรบ้างที่เราต้องทำ/ต้องไม่ทำ

หัวใจของการภาวนา คือ การเข้าไปสร้างและสัมผัสสันติภาพภายในใจตนเองก่อน สันติภาพภายในที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ขอเพียงเราตั้งใจที่จะรับรู้ รับฟัง ไม่ใช่การสร้างสันติภาพภายนอกผ่านการนั่งหลับตา แล้วขอ ขอ ขอ ขอปาฏิหาริย์ โดยไม่ทำอะไร

คนกลุ่มนี้เชื่อว่าการมาภาวนาด้วยกัน มาใช้เวลา สถานที่ มามีลมหายใจเดียวกัน นั้นเป็นพลังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่และสร้างสรรค์สังคมได้ เพื่อนเป็นหัวใจของการภาวนา ดังปราชญ์ผู้รู้กล่าวไว้ว่า “เพื่อนที่ดีนั้นเป็นทั้งหมดของการปฏิบัติ”




กลุ่ม “เพื่อนภาวนา” จัดกิจกรรมสร้างสันติภาพจากภายใน ด้วยการภาวนาร่วมกัน โดยไม่จำกัดศาสนา/ความเชื่อ ไม่จำกัดสถานที่ ทุกวัน เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดได้ที่ siambhavana.jittapanya.com

คนช่างฝัน (ดี)



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2553

ได้อ่านบทความของคุณ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น วันที่ 28 เมษายน 2553 เรื่อง “หยุดตอนนี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไป” (Stop Now Before It’s Too Late) ก็ได้ลองคิดจินตนาการตามไปถึงสถานการณ์ที่เป็นไปได้อย่างแย่ที่สุด (worst case scenario) ที่ผู้เขียนได้ลองช่วยทำการบ้านมาให้ มันก็น่ากลัวไม่น้อยทีเดียวครับ

คุณประวิตร มองว่าอาจเกิดเหตุการณ์ “สงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึงสามวันสามคืน โดยมีผู้บาดเจ็บล้มตายจากทั้งสองฝ่ายเป็นพันคน ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมหรูย่านราชประสงค์ ที่ซึ่งคนเสื้อแดงปักหลักชุมนุมอยู่ ก็อาจจะกลายเป็นซากปรักหักพังดังที่เราเคยได้เห็นที่เมืองคาบูล

หลังสิ้นสุดวันและคืนอันยาวนานแห่งสงครามกลางเมือง คนเสื้อแดงก็คงจะแปลงสภาพไปเป็นขบวนการใต้ดิน ตามด้วยสงครามกลางเมืองหลายเดือนหรือไม่ก็เป็นปี เหล่าอนาธิปไตยทั้งหลายก็คงจะยึดพื้นที่ตามต่างจังหวัดเป็นฐานที่มั่นเพื่อ ต่อสู้กับรัฐต่อไป

ในขณะเดียวกัน เหล่าชายชุดดำลึกลับก็คงจะพยายามทำ ‘หน้าที่’ ของเขา ในการทำให้เกิดการสูญเสียมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะความสูญเสียในฝั่งรัฐบาล

ความเกลียดชังระหว่างคนเสื้อแดง ทหารและพันธมิตรฯ (หรือคนเสื้อชมพู หรือสีเสื้ออะไรก็ตามแต่ที่สนับสนุนรัฐบาล) อาจจะถึงจุดที่ทำให้เกิดการฆ่าแขวนคอ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และถึงแม้ว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในช่วงนี้ มันก็ไม่น่าที่จะสามารถทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบสุขได้

พม่าอาจจะกลายเป็นประเทศที่ปลอดภัยกว่าประเทศไทย และเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาก็จะมีการถูกนำมาฉายซ้ำที่นี่ เศรษฐกิจจะพังทลาย เหล่าคนเสื้อแดงก็จะไม่เหลือความศรัทธาและวางใจในระบบการเมืองที่เหลืออยู่ อีกเลย และก็คงจะพยายามล้มล้างระบบการเมืองใดๆ ที่มีอยู่ด้วยการปฏิวัติประชาชน”





อ่านแล้วก็รู้สึกเห็นด้วยว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศคงไม่อยากพบเจอกับสภาพเช่นนั้นแน่นอน ถึงแม้ไม่อยากเห็นสภาพรัฐที่ล้มเหลว (failed state) จัดการอะไรไม่ได้ แต่สภาพของประเทศชาติที่ถูกทำลายและเต็มไปด้วยความเกลียดชัง (destroyed and hate-filled nation) คงจะเป็นภาพที่ทุกคนไม่อยากเห็นยิ่งกว่า

เลยลองออกไป คิดนอกกล่อง คิดนอกกรอบ จินตนาการดูว่าสถานการณ์ที่เป็นไปได้อย่างดีที่สุด (best case scenario) สักเวอร์ชั่นหนึ่งเป็นอย่างไรได้บ้าง เช่น

ทุกคนมาร่วมกันสร้างทางออกของประเทศที่ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะร่วมกัน

ไม่สนับสนุน ไม่เลือกข้าง หรือแนวทางที่สร้างทางออกเร็วๆ ผ่านความรุนแรง แต่เลือกสนับสนุนเฉพาะการสร้างทางออกดีๆ ผ่านสันติวิธี แม้จะช้ากว่าก็ตาม


สิ่งงดงาม (ที่พอจะมี) ของการเดินทางอันเจ็บปวดร่วมกันของประเทศมาถึงทุกวันนี้ ก็คือ การที่คนส่วนใหญ่เริ่มยอมรับแล้วว่าสำหรับการชุมนุมนี้คงจะไม่มีการชนะหรือแพ้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแน่ๆ ซึ่งทั้งดีและทั้งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการแพ้ชนะแบบเดิมๆ ที่ผู้ชนะกินรวบ ชนะทั้งหมด ผู้ชนะลำพองใจ จะทำให้เราไม่ไปไหน ถอยหลังกลับไปอยู่ที่จุดเดิม คือ มองโลกแบบขาว-ดำ ดี-เลวแบบง่ายเกินไป มองเห็นว่าฝ่ายแพ้เลวหมด ไม่มีดีอะไรเลย ทำให้ไม่สามารถนำเอาสิ่งดีของอีกฝ่ายมาใช้ได้ อีกทั้งยังมองข้ามด้านไม่ดีของฝ่ายตนเองที่ต้องเอาออก อะไรที่เป็นโรคเป็นฝีของฝ่ายตน มีเสี้ยนมีหนองก็ไม่จัดการ ปล่อยให้ปวดระบมอยู่

ก้าวข้ามข้อจำกัดด้วยพลังของสัจจานุรักษ์ คือ ซื่อตรงต่อสัจจะ เปิดใจรับฟังผู้อื่นโดยไม่ด่วนตัดสิน ไม่เอาศรัทธาของตนเป็นเครื่องชี้ขาดว่าสิ่งที่เราเชื่อเท่านั้นที่เป็นความจริง สามารถชื่นชมความดีของอีกฝ่ายได้อย่างแท้จริง

เมื่อสังคมมีสิ่งนี้ร่วมกันก็จะสามารถสร้างทางออกที่มีลักษณะข้ามพ้นแต่ปนอยู่ (transcend and include) คือ ทางออกที่ไม่ใช่แค่แดง ไม่ใช่แค่เหลือง แต่ดีกว่าแดง ดีกว่าเหลือง มีทั้งแดงและเหลือง (และสีอื่นๆ ด้วย) รวมอยู่ในนั้น ทางออกเช่นนี้จะสามารถเป็นทางออกนำไปสู่สันติที่แท้จริง ไม่ใช่การซื้อเวลา ที่ยังต้องรอลุ้นระทึกกับการเผชิญหน้าครั้งถัดไปอยู่ดี

ผู้คนหันมามีจินตนาการแบบเด็กๆ ใสๆ ที่อะไรๆ ก็เป็นไปได้ เช่น

ทุกฝ่ายเอ่ยปวารณาระดับชาติกัน
ยอมรับความผิดจริงๆ อยากเอ่ยปากขอโทษกับทุกคน เสื้อแดงขอโทษเสื้อเหลือง เสื้อเหลืองขอโทษเสื้อแดง ขอโทษประชาชนทั้งหมด ขอโทษแผ่นดิน ขอโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านนี้เมืองนี้ ขอโทษผู้เสียหาย ขอโทษตนเอง ขอโทษแม้กระทั่งลูกเล็กเด็กแดง ที่พวกเราเองทุกคนปล่อยให้เรื่องราวใหญ่โตบานปลายมาถึงขนาดนี้

สังคมยินดีที่จะนิรโทษกรรม ทั้งคดีต่างๆ ของพันธมิตร เสื้อเหลือง ปิดสนามบินและอื่นๆ คดีของรัฐบาลชุดก่อนๆ หน้า รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบัน การสั่งสลายการชุมนุม ขอพื้นที่คืน และอื่นๆ รวมทั้ง นปช. เสื้อแดง ด้วย การปิดราชประสงค์ การบุกโรงพยาบาล

ลูกหลานของพวกเราได้เติบโตในวัฒนธรรมที่การ “กล้าทำ กล้ารับ กล้าขอโทษ กล้าให้อภัย” เป็นคุณธรรมหลักประจำใจ เพราะพวกเขาได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่พวกเราเหล่าบรรพบุรุษได้เคยทำเป็นแบบอย่างในอดีต เขารู้ว่าถ้าเขาแสดงความกล้าหาญพอ กล่าวขอโทษจากใจ เพื่อนร่วมสังคมเดียวกับเขาจะกล้าหาญที่จะให้อภัยเช่นกัน

นักต่างๆ ไม่ติดกรอบตนเอง ทะลุกำแพงของความถูกต้องทางวิชาการ ของตัวบทกฎหมายที่อุตส่าห์ไปร่ำไปเรียนมาจากเมืองนอก สร้างทางออกโดยใช้ใจ ใช้ความรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ใช้สามัญสำนึก ร่วมด้วย

ลองนึกว่าหากต้องช่วยประนีประนอมพี่น้องในบ้านเดียวกันที่ทะเลาะกันอยู่ ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวชายคาเดียวกัน ใช่ว่าจะเป็นตัดสินหาคนถูกแล้วไล่อีกคนออกจากบ้าน ทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำให้บ้านแตกสาแหรกขาดเสมอไป เหมือนผู้ใหญ่เขาสอนว่าเวลาสามีภรรยาทะเลาะกันอย่าใช้แต่เหตุผล ชีวิตไม่ได้มีแต่ความถูกต้องอย่างเดียวที่สำคัญ ความสัมพันธ์ก็สำคัญ ดังนั้นให้ใช้ความรักกันเยอะๆ

ยกให้แกนนำ นปช. รัฐบาล พันธมิตร หลากสี เป็นผู้กล้าหาญ แม้แต่ละคนแต่ละฝ่ายจะเคยทำอะไรผิดมาบ้าง แม้จะมีใครไม่ชอบบ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นผู้มีบุญคุณ ที่ช่วยกันนำพาประเทศออกจากขอบเหวได้อย่างหวุดหวิด

สร้างความเป็นธรรมในสังคม แก้รัฐธรรมนูญเฉพาะมาตราที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ เท่านั้น เช่น กำหนดว่ารัฐต้องปฏิรูประบบภาษี ให้จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและเป็นธรรม ปฏิรูปการถือครองที่ดิน ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ส่งเสริมความเป็นธรรมในการค้า ส่งเสริมผู้ค้ารายย่อย ป้องกันการผูกขาด การทุ่มตลาด ภายในระยะเวลาสั้นที่สุดที่เป็นไปได้

กลุ่มผู้นำของสถาบันต่างๆ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ท้าทาย ต่างก้าวออกมา แล้วถือโอกาสนี้เป็นเจ้าภาพร่วมในการสังคายนาประเทศ โดยเริ่มจากการบอกว่าตนเองและสถาบันของตนเองจะเสียสละอย่างไร ที่ควรลดขนาดก็ลดขนาดตนเอง ที่ควรโปร่งใสก็ทำให้ตนเองโปร่งใส ที่ควรได้น้อยลงก็จะประกาศขอลดรายได้ของตนเองลง

สถาบัน องค์กร บริษัท ห้างร้านใด พอมีทรัพย์ มีกำลังก็บริจาคเงินออกมาช่วยชาติอีกครั้ง (ครั้งที่แล้วลำพังโครงการช่วยชาติของ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ก็รวบรวมได้ทองคำถึง 967 แท่ง น้ำหนักมากกว่า 12 ตัน เงินสดอีก 10 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ) นำเงินบริจาคช่วยชาติที่ร่วมกันนี้ไปช่วยดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบ ล้มตาย พิการ บาดเจ็บ สูญเสียรายได้ จากการเผชิญหน้าหลายปีที่ผ่านมา

ทำให้ทุกภาคส่วนได้เป็นเจ้าภาพการทำสังคายนาและกอบกู้อารยธรรมของเราร่วมกัน

ท้าทายเยาวชนออกจากโลกไซเบอร์มาลงมือลงไม้ทำกิจกรรมจิตอาสา ร่วมสั่งสมทุนและตระเตรียมโครงสร้างทางสังคมไว้รอรับภัยธรรมชาติระดับโลกที่จะมาแน่ๆ ในเร็วๆ นี้

จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม สนับสนุนละคร ส่งเสริมดนตรี ศิลปะ เพื่อสร้างความรัก ความเข้าใจอันดี ตลอดปี หรือตลอดทศวรรษยิ่งดี สร้างอัตลักษณ์ใหม่จากทุนทางวัฒนธรรมเดิมของเรา นำความเป็นสยามเมืองยิ้มกลับมาอีกครั้ง

แกนนำทุกสี ทุกกลุ่ม ทั้งคุณทักษิณ คุณวีระ คุณณัฐวุฒิ คุณจตุพร คุณเหวง คุณสนธิ คุณสมศักดิ์ คุณสมเกียรติ คุณจำลอง คุณพิภพ คุณอภิสิทธิ์ คุณอนุพงษ์ ร่วมกันเล่นมิวสิกวิดีโอเพลง “เสียงในความเงียบ” (ดูตัวอย่างได้ที่ http://bit.ly/8may2553)

รัฐและประชาชนทุกคนร่วมกันจัดงานรื่นเริงฉลอง เหมือนตักบาตร ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ รับขวัญประเทศ ลด แลก แจก แถม เชิญชวนชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยว มาใช้จ่าย มาดูว่าคนไทยใจกว้าง เป็นพี่เป็นน้อง ทะเลาะกันก็ยังกลับมาคืนดีกันได้




เสียงเพลงนุ่มๆ ของจอห์น เลนนอน ลอยมากับสายลม ชวนให้มี “จินตนาการ” เหมือนกับชื่อเพลง ในเพลงยังบอกอีกว่า “You may say I’m a dreamer, but I’m not the only one.” เธออาจจะบอกว่าฉันเป็นคนช่างฝัน แต่ฉันจะบอกเธอให้นะ ไม่ใช่ฉันคนเดียวหรอก แล้วฉันก็หวังไว้ว่าสักวันหนึ่งเธอจะก็จะมาร่วมฝันด้วยกัน

ใช่สิ ฉันอาจจะเป็นคนช่างฝัน แต่ เฮ้! ไหนๆ จะฝันกันแล้ว ฉันก็อยากจะฝันดีนะ!

ยิ่งช้า ยิ่งง่าย



ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 11 เมษายน 2553

ในวิถีจิตตปัญญาที่การใช้ชีวิตอยู่กับโลกและการเดินทางทางจิตวิญญาณมิได้แยกออกจากกัน ความรู้และทักษะในการรู้จัก เข้าใจ และดูแลโลกภายนอก มีลักษณะหลายประการที่คล้ายคลึงกันกับความรู้และทักษะในการรู้จัก เข้าใจ และดูแลตนเอง หนึ่งในนั้นคือ ความสามารถที่เราจะช้าลง หยุด เฝ้ามอง เฝ้ามอง และเฝ้ามองจนกระทั่งเรากระจ่างแจ้งสิ่งที่ไม่อาจเห็นได้ง่ายด้วยสายตา

หาไม่แล้ว เราอาจไม่เข้าใจตนเอง ไม่เข้าใจระบบ ไม่เข้าใจโลกอย่างถูกต้อง การจัดการไปตามความเข้าใจอันจำกัด อันบิดเบี้ยวของเรา แม้เกิดจากความตั้งใจดี อาจก่อปัญหาให้มากขึ้น

ผมเพิ่งจัดกิจกรรมพัฒนาศักยภาพแก่ภาควิชาหนึ่งของคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล เราใช้เวลาสนทนาแบ่งปันกันมากว่า เราจะช่วยกันดูแลและส่งเสริมให้ทั้งเจ้าหน้าที่ อาจารย์รุ่นใหญ่ และอาจารย์ใหม่ มีชีวิตในภาคอย่างมีความสุขและทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างไร เราแบ่งกลุ่มเล็กๆ จัดบรรยากาศผ่อนคลาย ให้โอกาสทุกคนแบ่งปันและรับฟังมุมมองของกันและกันอย่างทั่วถึง ทั้งรู้สึกปลอดภัย ไม่กดดัน ผลออกมาดีมาก ทุกคนได้รับฟังและดูแลทุกคน รวมทั้งตนเองจริงๆ

ในกลุ่มหนึ่งมีเรื่องที่ผมคิดว่าน่าสนใจมาก มีผู้เสนอว่าเมื่อภาควิชารับอาจารย์ใหม่เข้ามา ควรมีคนพาไปแนะนำตัวกับทุกๆ คน เพื่อได้รู้จัก ช่วยเหลือ ดูแลกัน ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีมาก เพียงแต่ข้อเสนอระบุด้วยว่า หัวหน้าภาคควรทำหน้าที่นี้ อีกทั้งให้ออกเป็นระเบียบไว้เลย

ผมเห็นด้วยกับแนวคิด แต่ไม่แน่ใจเรื่องวิธีการ สงสัยว่าชีวิตเรายังมีกฎระเบียบไม่พออีกหรือ? เรื่องของความสัมพันธ์ไม่น่าจะแก้ไขกันด้วยการออกระเบียบ เพราะมันดูเหมือนสร้างง่าย แต่หากความสัมพันธ์ไม่ดีเสียแล้ว ข้อบังคับต่างๆ อาจตามมาหลอกหลอนภายหลังได้ อย่างเช่นถ้าคนในภาคไม่รักกัน หากหัวหน้าภาคไม่พาอาจารย์ใหม่ไปแนะนำ คงเกิดตามเช็คบิลไล่เฉ่งกัน จับผิดการทำงานกันไปมา เจตนาดีจึงกลายเป็นประสงค์ร้ายไป

หากมองย้อนกลับไปในชีวิตส่วนตัวและที่ทำงาน เราเคยจัดการปัญหาอะไรแบบไวๆ บ้างไหม ที่ทำให้เราต้องปวดหัว ตามล้างตามเช็ด หรือยังได้รับผลกระทบในแง่ลบอยู่อีก

เราเคยหักหาญน้ำใจใครเพียงเพราะกำลังอารมณ์ไม่จอย เราเคยไม่ได้พูดสิ่งที่เราควรได้พูดเพราะมันกระดากปาก หรือเราเคยเลิกคบกับบางคนเพียงเพราะคิดว่านิสัยเข้ากันไม่ได้หรือเขาพูดอะไรไม่เข้าหูหรือเปล่า

หากแก้ไขปัญหาด้วยวิธีรีบๆ ชีวิตและองค์กรของเราอาจพะรุงพะรังไปด้วยกฎระเบียบ จะทำอะไรสักทีก็ต้องตรวจต้องเช็คดูก่อนว่าทำได้ไหม

แต่ถ้าช่วยกันทำให้คนในภาครักกัน เมื่อมีอาจารย์ใหม่เข้ามา ใครๆ ก็เสนอหัวหน้าภาคด้วยวาจาให้พาไปแนะนำได้ หากหัวหน้าภาคไม่ว่าง เราก็ช่วยกันทำแทนไปเลย

“ถ้าเราอยากแก้ปัญหาให้เร็วขึ้น เราต้องยิ่งช้าลง ... การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ อาจนำไปสู่ผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่และสร้างสรรค์ได้ -- หากแต่พื้นที่หรือสิ่งที่จะเป็นจุดคานงัดอันทรง ประสิทธิภาพที่สุดนั้น ไม่อาจเห็นได้อย่างแจ้งชัดประจักษ์กับสายตา” ปีเตอร์ เซ็งเก้ นักวิทยาศาสตร์ด้านทฤษฎีระบบและองค์กรเรียนรู้ กล่าวไว้ในหนังสือ The Fifth Discipline

ทางออกของปัญหาผ่านการหล่อเลี้ยงความสัมพันธ์ให้ดี แม้ดูเหมือนจะช้า ต้องใช้ความตั้งใจ ใช้ความรู้และทักษะมากกว่า แต่แท้จริงแล้วง่ายกว่าตามไปแก้ไขกฎระเบียบก่อนหน้า ง่ายกว่าเยียวยาความสัมพันธ์ที่ถูกทำลายยับให้กลับมาคืนดีเหมือนเก่า ง่ายกว่าเป็นไหนๆ



ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 14 มีนาคม 2553

“เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีคิดแบบเดียวกับที่เราใช้สร้างมัน”

ไอน์สไตน์เคยพูดไว้ ซึ่งผมว่าจริงมากๆ เลย

แม้ช่วงนี้มีคนช่วยกันคิดว่าเราจะออกจากการเผชิญหน้าของบ้านเมืองนี้อย่างไร แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังมักมองหาเทคนิควิธีง่ายๆ มันทำไม่ได้หรอกครับ เพราะทางออกง่ายๆ เหล่านั้นอยู่ในระดับวิธีคิดแบบเดียวกับปัญหาที่เขากำลังพยายามแก้

ดังนั้นเราอย่าเพิ่งเบื่อนะครับ ที่ปัญหาความขัดแย้งแดง-เหลืองนี้ยังไม่จบเสียที นั่นเพราะสังคมโดยรวมยังไม่ร่วมกันสร้างวิธีคิดที่ไปพ้นจากระดับความขัดแย้งเดิมๆ ได้

สังคมต้องยกระดับของการมองและเข้าใจปัญหา ต้องมีจิตสำนึกใหม่ (New consciousness) จึงจะสามารถสร้างทางออกที่สร้างสรรค์ มีผู้เปรียบสังคมไทยเปรียบเสมือนลูกเจี๊ยบอยู่ในเปลือกไข่ ที่โตเต็มที่แล้ว ต้องเจาะเปลือกไข่ออกมาถึงจะรอด

กิจกรรมดีๆ หลายอย่างที่จะมีส่วนช่วยให้สังคมเติบโตข้ามผ่านวิกฤตนี้ กลับไม่เกิดขึ้นเพราะผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าธุระไม่ใช่ ไม่สนใจ หรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้

เราอาจจะไม่เห็นทางออกเพราะเราคิดถึงแต่โครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ คิดว่าความขัดแย้งนี้ขึ้นกับการต่อรองตกลงกันของผู้นำ ต้องเปิดโต๊ะเจรจาระดับชาติเท่านั้น นี่ก็คือความคิดแบบแยกส่วน ที่จะทำให้เราแก้ไขปัญหาไม่ได้นั่นเอง

หนึ่งในสิ่งที่จะช่วยได้คือ การคุยกันด้วยหัวใจ ซึ่งก็มีรูปธรรมหรือมิติที่หลากหลาย ในหลายชื่อ หลายจุดเน้น เช่น สุนทรียสนทนา ไดอะล็อก สานเสวนา การสื่อสารด้วยความกรุณา การสื่อสารอย่างสันติ เป็นต้น

การคุยกันด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ต้องการที่จะรับฟัง เข้าใจ และดูแลกันและกัน เป็นการแก้ไขปัญหาโดยใช้กระบวนทัศน์องค์รวม ไม่แยกส่วน เป็นระดับที่เหนือกว่าวิธีคิดที่สร้างปัญหาที่เราเผชิญอยู่ร่วมกัน เป็นการปฏิวัติจิตสำนึกที่เกิดได้ในการคุยกันของคนตัวเล็กๆ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในแผนก ในบริษัท ในหมู่บ้าน หรือแม้แต่ในครอบครัว

การคุยกันที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และนำไปสู่ทางออกของสังคมได้ ควรมีองค์ประกอบของคนที่หลากหลาย มาคุยกันโดยมีข้อตกลงร่วมกันชุดหนึ่ง (อาทิ ฟังกันอย่างลึกซึ้ง deep listening ห้อยแขวนการตัดสิน สด-เปลือย-เปราะบาง ชื่นชมวัฒนธรรมความเงียบ) ให้เวลาแต่ละครั้งอย่างเพียงพอ คุยกันอย่างสม่ำเสมอ โดยคนที่มาคุยกันนี้เป็นใครก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้นำแต่ละฝ่าย เพียงเป็นคนกลุ่มเดิมที่มาคุยกันอย่างต่อเนื่อง แต่ละกลุ่มอาจมีขนาด ๑๐-๓๐ กว่าคน และควรให้มีหลายๆ กลุ่ม

ถ้าได้คุยกันเช่นนี้สักระยะ ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน จะเห็นว่าทางออกของสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด กลุ่มจะมีลักษณะ transcend and include คือข้ามพ้นแต่ปนอยู่ คำตอบจะอยู่ในระดับที่มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่โจทย์และความต้องการของทุกฝ่ายจะได้รับการดูแล

กิจกรรมเช่นนี้ ไม่ต้องใช้เงินมากมาย เพียงอาศัยความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกฝ่ายที่จะเรียนรู้กัน และร่วมแสวงหาทางออกอย่างสันติ

สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มดำเนินไปได้ และเกิดทางออกได้ ก็คือ ความไม่คาดหวัง

เรื่องนี้เป็นสิ่งท้าทาย และเป็นความจริงคู่ขัดแย้ง (paradox) เหมือนกับการเดินทางและการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ

หากมีความคาดหวังเป็นที่ตั้ง บางคนอาจจะไม่มา เพราะคิดว่าคุยไปก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้นมา ระหว่างคุยก็จะมุ่งหาแต่ผลลัพธ์ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง แต่ถ้าบอกให้ไม่มีความคาดหวัง บางคนก็อาจจะบอกว่าแล้วจะมาคุยทำไมให้เสียเวลา

แต่วิกฤตสังคมครั้งนี้ ก็เป็นวิกฤตทางจิตวิญญาณจริงๆ

ผู้คนอาจจะไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมทำในสิ่งที่จะนำพาเขาออกจากความทุกข์ จนกระทั่งเขาเจอความทุกข์จริงๆ จังๆ จนทนไม่ไหวนั่นแหละ ความทุกข์นั้นเองที่จะนำพาให้เขามาลงมือปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้ความทุกข์นั้นจางคลายหรือหายไปในที่สุด



ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 14 กุมภาพันธ์ 2553

รู้สึกเขินจังที่ตนเองเพิ่งจะรู้จักเพลงตรุษจีน!

แม้ว่าได้ร่วมงานตรุษจีนทุกปี เชื่อว่าคงตั้งแต่ยังจำความไม่ได้เสียด้วยซ้ำ เพราะว่าที่บ้านถือเป็นตรุษใหญ่ ฉลองกันอย่างตั้งใจ แต่ผมเองรู้สึกไม่ “อิน” กับเทศกาลนี้สักเท่าใดนัก ไม่ค่อยได้ให้ความหมาย ก็เลยไม่ได้ให้ความสำคัญกับมันมาก ไม่ได้รอคอย ไม่ได้คิดถึง (ต่อให้มีแต๊ะเอียอั่งเปามาล่อก็ตาม) กระทั่งเพลงประจำตรุษจีนก็ยังไม่รู้จัก

ผิดกับเพลงประเภท Merry Xmas หรือ Silent Night ที่ร้องได้ตั้งแต่เด็ก ที่โรงเรียนก็มีเต้นรีวิวประกอบเพลงตั้งแต่ประถม ได้เรียนรู้วัฒนธรรมตะวันตกถึงการให้ความหมายของวันคริสต์มาสและวันปีใหม่ของฝรั่ง ชอบตรงที่รู้ว่าเขาตั้งใจให้ใกล้เคียงกับวัน winter solstice (วันที่กลางคืนยาวที่สุดในรอบปี หรือ วันเห-มายัน) ผ่านไปแต่ละวันตะวันก็จะฉายแสงให้ความอบอุ่นนานขึ้น ดั่งว่าเป็นหมุดหมายของการเดินทางของชีวิตและการเริ่มต้นใหม่ของหลายๆ คน หลายๆ ครอบครัว ผมชอบประเพณีการกลับมาเจอและร่วมฉลองกัน รู้สึกเห็นใจเวลาได้ข่าวคนเดินทางกลับไปหาครอบครัวลำบากเพราะเที่ยวบินเต็ม มิหนำซ้ำมักจะมีพายุหิมะช่วงนี้เสียด้วย ยิ่งตอนที่ตนเองอยู่ต่างประเทศก็ยิ่งอินเข้าไปใหญ่

แต่กับเทศกาลตรุษจีนที่ไม่ค่อยอินนัก ความรู้สึกมาเปลี่ยนตอนได้ยินเพลงตรุษจีน เพลงจังหวะเร็วๆ ที่มีท่อนฮุกว่า “กง...ซี กง...ซี กง...ซี นี่” ได้เข้าใจความหมายเรื่องราวที่ผู้คนบนท้องถนนต่างทักทายแสดงความยินดีแก่กัน ที่ฤดูหนาวอันยาวนานกำลังจะสิ้นสุด สายลมอันอบอุ่นแห่งฤดูใบไม้ผลิกำลังปลุกโลกให้ตื่นจากความหลับใหล หิมะหนาละลายไป ต้นพลัมกำลังผลิดอกเบ่งบาน ค่ำคืนอันแสนนานจะผ่านเลย หลังจากผ่านความยากลำบาก อาศัยความอุตสาหะไม่น้อย ผู้คนต่างรอคอยข่าวดีแห่งฤดูใบไม้ผลิ มาร่วมเฉลิมฉลองยินดีกันเถอะ

อันที่จริงตรุษจีนกับคริสต์มาสก็ไม่แตกต่างกันในแง่วัฒนธรรม ผู้คนรอคอยการกลับมาของคนรักในช่วงท้ายของเหมันตฤดู ผมตกใจกับอคติของตนเองที่ให้ความหมายตรุษฝรั่งยิ่งกว่าตรุษจีนนัก จำได้ว่าตนเองก็เคยได้ข่าวคนจีนทั่วโลกติดอยู่ตามสถานีรถประจำทาง สถานีรถไฟ สนามบิน ไม่สามารถกลับบ้านได้เพราะตั๋วหมดหรือพายุหิมะ แต่ไม่เคยเชื่อมโยงเลยว่าเขากำลังกลับบ้านไปฉลองปีใหม่

รู้สึก “อิน” ตรุษจีนขึ้นมาโดยพลัน พร้อมตั้งคำถามกับตนเองว่าแล้วปรกติเราให้คุณค่ากับสิ่งใกล้ตัวแค่ไหน

ใจหายว่าคุณย่า คุณพ่อ คุณแม่ คุณอาจะเสียใจมากไหมหนอที่ลูกหลานแสดงออกอย่างชัดเจนว่าไม่ได้ความสำคัญและรอคอยตรุษจีนอย่างผู้ใหญ่

“ดูแลคนใกล้ชิดดั่งอาคันตุกะ” ผุดขึ้นแจ่มชัดอยู่ในห้วงคำนึง

จริงสินะ บางครั้งมนุษย์เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับคนใกล้ชิด เพราะรู้จักกัน เห็นกัน อยู่ด้วยกัน หรือเป็นครอบครัวเดียวกันมานาน ทั้งๆ ที่คนเหล่านี้คอยดูแลเอาใจใส่ ไถ่ถามสารทุกข์สุขดิบเราทุกบ่อย หลายครั้งที่เรามองเห็นความห่วงใยเหล่านี้เป็นสิ่งน้อยค่า ด้อยค่า หรือกระทั่งไร้ค่า กระทั่งมีนิทานอีสปที่ทำให้เกิดสำนวนฝรั่งที่ว่า familiarity breeds contempt ด้วย หรือบางทีความใกล้ชิดทำให้เราละเลยคุณค่าของคนใกล้ตัว ทำให้เราไม่ใส่ใจดูแล ไม่ได้เป็นกัลยาณมิตร (อาทิ น่ารัก เป็นที่ปรึกษาที่ดี อดทนต่อถ้อยคำ) ทั้งที่เราก็รู้ว่ามันควร

เสียใจที่ความไม่รู้ของเราอาจทำให้ผู้ใหญ่ผิดหวัง

ซาบซึ้งในความรักยิ่งใหญ่ ดุจดังท้องทะเล ที่ท่านยังคงรักเราเสมอมาไม่เปลี่ยน

ไม่อยากจะโทษระบบการศึกษาที่ทำให้เราไม่รู้จัก ไม่รักรากของเรา ไม่รักครอบครัวของเรา ไม่รักวัฒนธรรมของเรา

แต่ตั้งใจไว้ว่าจะน้อมเอาวลี “ดูแลคนใกล้ชิดดุจดั่งอาคันตุกะ” มาสู่ใจและชีวิตให้มากขึ้น

............

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 10 มกราคม 2553

ในงานอบรมสิ่งแวดล้อมศึกษาแก่ครูชาวต่างชาติ เพื่อนสนิทของผมที่บุกเบิกงานด้านนิเวศแนวลึก (Deep Ecology) โคจรมาพบกับสาวนักนิเวศวิทยารุ่นพี่ ผู้มีชื่อเสียงและผลงานมายาวนานด้านการอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เธอสารภาพว่ารู้สึกจี๊ดและไม่ชอบหน้าเขาตั้งแต่ยังไม่พบ เพราะรู้สึกทำนองว่าอะไรกันเนี่ย Deep Ecology แปลว่าคนอื่นเขา Shallow Ecology เป็นนักนิเวศตื้นๆ กันหรืออย่างไร จนต้องได้พูดคุย เรียนรู้ อยู่ทำงานด้วยกันสักพัก จึงได้เข้าใจ รู้สึกเคารพนับถือ เห็นคุณค่าในความสามารถและในงานของกันและกัน



เป็นธรรมดาสามัญที่นักคิด นักปฏิบัติ นักเปลี่ยนแปลง และนักอื่นๆ อีกนักต่อนัก มักจะคิดและขับเคลื่อนอะไรดีๆ ใหม่ๆ ด้วยการตั้งชื่อเพราะๆ เก๋ๆ ให้งานนั้น เรามักมองเห็นว่าของเรามันดีอย่างไร แตกต่างจากที่มีอยู่ในปัจจุบันอย่างไร เราอยากชูประเด็นนี้ และชอบที่มันสื่อความหมายและความเป็นตัวเรา คิดว่าคนอื่นฟังแล้วจะได้เข้าใจ เกิดความสงสัย เกิดแรงบันดาลใจ จนอยากมาร่วมขบวนรถไฟทำงานนี้ด้วยกัน ไม่ว่าจะ

จิตวิวัฒน์

สุขภาวะทางจิตวิญญาณ

จิตตปัญญาศึกษา ฯลฯ

พวกเขา (และหลายครั้งหมายรวมถึงพวกเราด้วย) มักต้องใช้เวลาไม่น้อยตอบคำถามซ้ำแล้วซ้ำเล่า อธิบายแล้วอธิบายอีกว่าจิตวิวัฒน์คืออะไร อะไรบ้างล่ะที่เป็นสุขภาวะทางจิตวิญญาณ แล้วอะไรบ้างที่ไม่ใช่ มีคนร้องขอให้ช่วยนิยามจิตตปัญญาศึกษาในเกือบทุกการอบรมสัมมนา

หลายเวทีมีคนตั้งเป้าในใจเพื่อเข้ามาบอกว่าตนรู้สึก “ไม่โดน” อย่างแรง กับการใช้คำนั้นๆ อย่างไร ร่ำๆ จะทะเลาะกันก็มี บ้างก็บอกว่าไม่ควรใช้คำบางคำเพราะมันไม่เคยมีอยู่ในหลักความเชื่อหรือคำสอนเดิม เช่น คำว่าจิตวิญญาณไม่เคยมีในพุทธศาสนา เป็นต้น

แม้กระทั่งเรื่อง การแพทย์ที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ (Humanized Health Care) ก็มีผู้ติติงว่า “งั้นงานที่ฉันทำอยู่นี้ไม่มีหัวใจ หรือมีหัวใจที่ไม่ใช่มนุษย์หรือ”

เป็นศาสตร์และศิลป์ของการขับเคลื่อนอย่างยิ่งว่าทำอย่างไรจึงจะนำพาผู้คนจากหลากหลายความเชื่อ ให้ได้ร่วมกันทำงานดีๆ ที่ไม่ว่าเราจะตั้งชื่อสวยงามแค่ไหน ก็คงมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วยอยู่ดี

เป็นไปได้ไหมที่ชื่องานใหม่ของเราอาจทำให้ผู้คนที่ทำงานมาก่อนหน้ารู้สึกด้อยค่าหรือแปลกแยก เช่น วิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่ (“ของฉันมันเก่าตรงไหนหรือ?”)


หรือว่าเราอาจไม่จำเป็นต้องตั้งชื่องานของเราให้กิ๊บเก๋ แม้อาจจะไม่สร้างแรงบันดาลใจนัก แต่ไม่ทำให้คนรู้สึกว่าไปต่อว่าต่อขานงานอะไรของใคร แค่เชิญชวนให้คนเข้าร่วม ค้นหา และสร้างความหมายร่วมกัน

โจแอนนา เมซี่ นักเขียนผู้บุกเบิกเรื่องนิเวศแนวลึก เธอใช้ชื่อการอบรมว่า The Work that Reconnects เธอว่ามันตรงดี เป็นพื้นที่ว่างๆ เปิดกว้างสำหรับทุกคน ว่าเป็นงานที่ทำให้หลายอย่างกลับมาเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอีกครั้ง

พาร์คเกอร์ เจ พาล์มเมอร์ ผู้เขียนหนังสือ กล้าสอน (Courage to Teach) อันโด่งดัง จัดอบรมหลายร้อยครั้งที่สร้างความเปลี่ยนแปลงอย่างยิ่งให้กับนักบริหาร ผู้นำ ครู บุคลากรสาธารณสุข นักกฎหมาย จำนวนมาก ยังใช้ชื่อธรรมดาๆ ง่ายๆ ว่า ความกล้าหาญและความมีชีวิตชีวา (Courage and Renewal)

ท่ามกลางสังคมที่เร่งรีบ ความสนใจสั้น ผู้คนเลือกบริโภคจากรูปลักษณ์หีบห่อบรรจุภัณฑ์ การใช้คำกลางๆ พื้นๆ แต่เปิดพื้นที่ให้ผู้คนได้เข้ามาสร้างเรื่องราวและความหมายสำหรับชีวิตของเขาเอง อย่างช้าๆ และร่วมกับเครือข่ายของเพื่อนแท้บนเส้นทางสายจิตวิญญาณ ก็อาจเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ ควบคู่ไปกับการใช้คำใหญ่ที่ฟังดูเร้าใจ ฮิตติดตลาดเร็ว ก็เป็นได้