ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 9 พฤษภาคม 2553

สันติภาพเริ่มจากภายในตนเอง ไม่อาจเรียกร้องจากผู้อื่นได้




ขณะที่สังคมส่วนใหญ่กำลังก่อกรรมร่วม คือ ตะโกนใส่กันมากขึ้น แต่ฟังกันน้อยลง เข้าใจกันน้อยลง เลือกรับรู้ เลือกพิจารณา และเลือกส่งต่อเฉพาะสิ่งที่สอดคล้องกับแนวทางทางการเมืองของตนเอง “ดูสิข้อมูลอะไรๆ ที่เราดูจากสื่อที่เราเลือกก็สนับสนุนความเชื่อเรา”

ขณะที่เราปล่อยให้ศัตรูที่แท้จริงลอยนวล คือ ความโกรธ ความเกลียดชังกัน เติบโต แผ่ขยายบั่นทอนสุขภาพองค์รวม คอยยุแยงให้เราปักใจว่าสิ่งที่เราเชื่อนี่แหละถูกที่สุดแล้ว อีกฝ่ายก็ดูมีความเป็นมนุษย์น้อยลงเรื่อยๆ “สมแล้วที่เราจะต้องจัดการให้สิ้นซากด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม”

ขณะที่สังคมตัดญาติ ตัดมิตร ตัดคนที่ไม่เห็นด้วยกับความคิดความเชื่อทางการเมืองของตนออก โดยลืมไปว่าการกลับมาคืนดีกันไม่ง่ายเหมือนกับการคลิกขอเป็นเพื่อนอีกครั้งใน facebook หลังจากได้คลิก unfriend หรือ defriend ไปแล้ว

ขณะที่สังคมบ้างก็ผลัก บ้างก็ถูกผลักไปยืนข้างใดข้างหนึ่งในการเมืองเลือกข้างมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่เป็นข้างนี้ แสดงว่าต้องเป็นอีกข้างหนึ่ง เหลือพื้นที่ตรงกลางน้อยลงไปทุกที

ในชั่วขณะเดียวกันนี้ ... คนกลุ่มหนึ่งมุ่งมั่น ตั้งใจสร้างพื้นที่ที่เป็นมิตรกับทุกคน ไม่ว่าจะอยู่ตรงไหนในวาทกรรมการเมืองเรื่องสี (แดง เหลือง เขียว น้ำเงิน ขาว ชมพู) ฐานะ (ไพร่ ชนชั้นกลาง อำมาตย์) หรือผักผลไม้ (มะเขือเทศ แตงโม สับปะรด) ไม่ใช่แค่พื้นที่ตรงกลางที่ต้อนรับคนไม่มีสี แต่ต้อนรับทุกคนทุกฝ่าย

คนกลุ่มนี้ชักชวนผู้คนมาภาวนาด้วยกัน

ด้วยเชื่อว่าการภาวนาเป็นส่วนสำคัญของทางออก เป็นเครื่องมือที่ช่วยให้สังคมเข้าสู่คำตอบที่ยั่งยืน ที่มีทุกคนอยู่ในนั้นได้

หัวใจของภาวนา คือ การแสดงออกอย่าง active สันติ สร้างสรรค์ ไม่ใช่การหนีโลก แบบ passive ลี้เร้นโลกวุ่นวายไปอยู่ในที่สงบ ใครเป็นอย่างไรก็ช่าง ขอสบายใจไว้ก่อน

หัวใจของการภาวนา คือ การช่วยให้เรามีช่วงเวลาที่ช้าลง มีสติ ตระหนักว่าเราจะนำพาตนและทุกๆ คน (ไม่เว้นแม้คนที่เราไม่เห็นด้วย) ไปสู่เป้าหมายร่วมกัน ด้วยความรัก ความเข้าใจได้อย่างไร เมื่อเราตระหนัก เราจะมีกำลัง ความมุ่งมั่น ทุ่มเทที่จะลงมือทำอย่างไม่น่าเชื่อ

หัวใจของการภาวนา คือ การช่วยให้เรามีทีท่าที่เหมาะสมว่าจะอยู่กับความทุกข์หรือปัญหาได้อย่างไร มีอะไรบ้างที่เราควรทำ/ไม่ควรทำ มีอะไรบ้างที่เราต้องทำ/ต้องไม่ทำ

หัวใจของการภาวนา คือ การเข้าไปสร้างและสัมผัสสันติภาพภายในใจตนเองก่อน สันติภาพภายในที่เปิดกว้างสำหรับทุกคน ทุกที่ ทุกเวลา ขอเพียงเราตั้งใจที่จะรับรู้ รับฟัง ไม่ใช่การสร้างสันติภาพภายนอกผ่านการนั่งหลับตา แล้วขอ ขอ ขอ ขอปาฏิหาริย์ โดยไม่ทำอะไร

คนกลุ่มนี้เชื่อว่าการมาภาวนาด้วยกัน มาใช้เวลา สถานที่ มามีลมหายใจเดียวกัน นั้นเป็นพลังเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่และสร้างสรรค์สังคมได้ เพื่อนเป็นหัวใจของการภาวนา ดังปราชญ์ผู้รู้กล่าวไว้ว่า “เพื่อนที่ดีนั้นเป็นทั้งหมดของการปฏิบัติ”




กลุ่ม “เพื่อนภาวนา” จัดกิจกรรมสร้างสันติภาพจากภายใน ด้วยการภาวนาร่วมกัน โดยไม่จำกัดศาสนา/ความเชื่อ ไม่จำกัดสถานที่ ทุกวัน เวลา ๒๐.๐๐ - ๒๐.๓๐ น. ตรวจสอบข้อมูลล่าสุดได้ที่ siambhavana.jittapanya.com

คนช่างฝัน (ดี)



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน
ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2553

ได้อ่านบทความของคุณ ประวิตร โรจนพฤกษ์ ที่ตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์ เดอะ เนชั่น วันที่ 28 เมษายน 2553 เรื่อง “หยุดตอนนี้ ก่อนที่มันจะสายเกินไป” (Stop Now Before It’s Too Late) ก็ได้ลองคิดจินตนาการตามไปถึงสถานการณ์ที่เป็นไปได้อย่างแย่ที่สุด (worst case scenario) ที่ผู้เขียนได้ลองช่วยทำการบ้านมาให้ มันก็น่ากลัวไม่น้อยทีเดียวครับ

คุณประวิตร มองว่าอาจเกิดเหตุการณ์ “สงครามกลางเมืองที่ยาวนานถึงสามวันสามคืน โดยมีผู้บาดเจ็บล้มตายจากทั้งสองฝ่ายเป็นพันคน ห้างสรรพสินค้าและโรงแรมหรูย่านราชประสงค์ ที่ซึ่งคนเสื้อแดงปักหลักชุมนุมอยู่ ก็อาจจะกลายเป็นซากปรักหักพังดังที่เราเคยได้เห็นที่เมืองคาบูล

หลังสิ้นสุดวันและคืนอันยาวนานแห่งสงครามกลางเมือง คนเสื้อแดงก็คงจะแปลงสภาพไปเป็นขบวนการใต้ดิน ตามด้วยสงครามกลางเมืองหลายเดือนหรือไม่ก็เป็นปี เหล่าอนาธิปไตยทั้งหลายก็คงจะยึดพื้นที่ตามต่างจังหวัดเป็นฐานที่มั่นเพื่อ ต่อสู้กับรัฐต่อไป

ในขณะเดียวกัน เหล่าชายชุดดำลึกลับก็คงจะพยายามทำ ‘หน้าที่’ ของเขา ในการทำให้เกิดการสูญเสียมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยเฉพาะความสูญเสียในฝั่งรัฐบาล

ความเกลียดชังระหว่างคนเสื้อแดง ทหารและพันธมิตรฯ (หรือคนเสื้อชมพู หรือสีเสื้ออะไรก็ตามแต่ที่สนับสนุนรัฐบาล) อาจจะถึงจุดที่ทำให้เกิดการฆ่าแขวนคอ ดังที่เคยเกิดขึ้นแล้วในเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 และถึงแม้ว่าจะมีรัฐประหารเกิดขึ้นในช่วงนี้ มันก็ไม่น่าที่จะสามารถทำให้ประเทศกลับสู่ความสงบสุขได้

พม่าอาจจะกลายเป็นประเทศที่ปลอดภัยกว่าประเทศไทย และเหตุการณ์ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ที่รวันดาก็จะมีการถูกนำมาฉายซ้ำที่นี่ เศรษฐกิจจะพังทลาย เหล่าคนเสื้อแดงก็จะไม่เหลือความศรัทธาและวางใจในระบบการเมืองที่เหลืออยู่ อีกเลย และก็คงจะพยายามล้มล้างระบบการเมืองใดๆ ที่มีอยู่ด้วยการปฏิวัติประชาชน”





อ่านแล้วก็รู้สึกเห็นด้วยว่าคนส่วนใหญ่ของประเทศคงไม่อยากพบเจอกับสภาพเช่นนั้นแน่นอน ถึงแม้ไม่อยากเห็นสภาพรัฐที่ล้มเหลว (failed state) จัดการอะไรไม่ได้ แต่สภาพของประเทศชาติที่ถูกทำลายและเต็มไปด้วยความเกลียดชัง (destroyed and hate-filled nation) คงจะเป็นภาพที่ทุกคนไม่อยากเห็นยิ่งกว่า

เลยลองออกไป คิดนอกกล่อง คิดนอกกรอบ จินตนาการดูว่าสถานการณ์ที่เป็นไปได้อย่างดีที่สุด (best case scenario) สักเวอร์ชั่นหนึ่งเป็นอย่างไรได้บ้าง เช่น

ทุกคนมาร่วมกันสร้างทางออกของประเทศที่ทุกฝ่ายเป็นผู้ชนะร่วมกัน

ไม่สนับสนุน ไม่เลือกข้าง หรือแนวทางที่สร้างทางออกเร็วๆ ผ่านความรุนแรง แต่เลือกสนับสนุนเฉพาะการสร้างทางออกดีๆ ผ่านสันติวิธี แม้จะช้ากว่าก็ตาม


สิ่งงดงาม (ที่พอจะมี) ของการเดินทางอันเจ็บปวดร่วมกันของประเทศมาถึงทุกวันนี้ ก็คือ การที่คนส่วนใหญ่เริ่มยอมรับแล้วว่าสำหรับการชุมนุมนี้คงจะไม่มีการชนะหรือแพ้อย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดแน่ๆ ซึ่งทั้งดีและทั้งจำเป็นอย่างยิ่ง เพราะการแพ้ชนะแบบเดิมๆ ที่ผู้ชนะกินรวบ ชนะทั้งหมด ผู้ชนะลำพองใจ จะทำให้เราไม่ไปไหน ถอยหลังกลับไปอยู่ที่จุดเดิม คือ มองโลกแบบขาว-ดำ ดี-เลวแบบง่ายเกินไป มองเห็นว่าฝ่ายแพ้เลวหมด ไม่มีดีอะไรเลย ทำให้ไม่สามารถนำเอาสิ่งดีของอีกฝ่ายมาใช้ได้ อีกทั้งยังมองข้ามด้านไม่ดีของฝ่ายตนเองที่ต้องเอาออก อะไรที่เป็นโรคเป็นฝีของฝ่ายตน มีเสี้ยนมีหนองก็ไม่จัดการ ปล่อยให้ปวดระบมอยู่

ก้าวข้ามข้อจำกัดด้วยพลังของสัจจานุรักษ์ คือ ซื่อตรงต่อสัจจะ เปิดใจรับฟังผู้อื่นโดยไม่ด่วนตัดสิน ไม่เอาศรัทธาของตนเป็นเครื่องชี้ขาดว่าสิ่งที่เราเชื่อเท่านั้นที่เป็นความจริง สามารถชื่นชมความดีของอีกฝ่ายได้อย่างแท้จริง

เมื่อสังคมมีสิ่งนี้ร่วมกันก็จะสามารถสร้างทางออกที่มีลักษณะข้ามพ้นแต่ปนอยู่ (transcend and include) คือ ทางออกที่ไม่ใช่แค่แดง ไม่ใช่แค่เหลือง แต่ดีกว่าแดง ดีกว่าเหลือง มีทั้งแดงและเหลือง (และสีอื่นๆ ด้วย) รวมอยู่ในนั้น ทางออกเช่นนี้จะสามารถเป็นทางออกนำไปสู่สันติที่แท้จริง ไม่ใช่การซื้อเวลา ที่ยังต้องรอลุ้นระทึกกับการเผชิญหน้าครั้งถัดไปอยู่ดี

ผู้คนหันมามีจินตนาการแบบเด็กๆ ใสๆ ที่อะไรๆ ก็เป็นไปได้ เช่น

ทุกฝ่ายเอ่ยปวารณาระดับชาติกัน
ยอมรับความผิดจริงๆ อยากเอ่ยปากขอโทษกับทุกคน เสื้อแดงขอโทษเสื้อเหลือง เสื้อเหลืองขอโทษเสื้อแดง ขอโทษประชาชนทั้งหมด ขอโทษแผ่นดิน ขอโทษสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของบ้านนี้เมืองนี้ ขอโทษผู้เสียหาย ขอโทษตนเอง ขอโทษแม้กระทั่งลูกเล็กเด็กแดง ที่พวกเราเองทุกคนปล่อยให้เรื่องราวใหญ่โตบานปลายมาถึงขนาดนี้

สังคมยินดีที่จะนิรโทษกรรม ทั้งคดีต่างๆ ของพันธมิตร เสื้อเหลือง ปิดสนามบินและอื่นๆ คดีของรัฐบาลชุดก่อนๆ หน้า รวมทั้งรัฐบาลปัจจุบัน การสั่งสลายการชุมนุม ขอพื้นที่คืน และอื่นๆ รวมทั้ง นปช. เสื้อแดง ด้วย การปิดราชประสงค์ การบุกโรงพยาบาล

ลูกหลานของพวกเราได้เติบโตในวัฒนธรรมที่การ “กล้าทำ กล้ารับ กล้าขอโทษ กล้าให้อภัย” เป็นคุณธรรมหลักประจำใจ เพราะพวกเขาได้ยินได้ฟังเรื่องราวที่พวกเราเหล่าบรรพบุรุษได้เคยทำเป็นแบบอย่างในอดีต เขารู้ว่าถ้าเขาแสดงความกล้าหาญพอ กล่าวขอโทษจากใจ เพื่อนร่วมสังคมเดียวกับเขาจะกล้าหาญที่จะให้อภัยเช่นกัน

นักต่างๆ ไม่ติดกรอบตนเอง ทะลุกำแพงของความถูกต้องทางวิชาการ ของตัวบทกฎหมายที่อุตส่าห์ไปร่ำไปเรียนมาจากเมืองนอก สร้างทางออกโดยใช้ใจ ใช้ความรู้สึกเอาใจเขามาใส่ใจเรา ใช้สามัญสำนึก ร่วมด้วย

ลองนึกว่าหากต้องช่วยประนีประนอมพี่น้องในบ้านเดียวกันที่ทะเลาะกันอยู่ ทางออกที่ดีที่สุดสำหรับครอบครัวชายคาเดียวกัน ใช่ว่าจะเป็นตัดสินหาคนถูกแล้วไล่อีกคนออกจากบ้าน ทำให้พ่อแม่เสียใจ ทำให้บ้านแตกสาแหรกขาดเสมอไป เหมือนผู้ใหญ่เขาสอนว่าเวลาสามีภรรยาทะเลาะกันอย่าใช้แต่เหตุผล ชีวิตไม่ได้มีแต่ความถูกต้องอย่างเดียวที่สำคัญ ความสัมพันธ์ก็สำคัญ ดังนั้นให้ใช้ความรักกันเยอะๆ

ยกให้แกนนำ นปช. รัฐบาล พันธมิตร หลากสี เป็นผู้กล้าหาญ แม้แต่ละคนแต่ละฝ่ายจะเคยทำอะไรผิดมาบ้าง แม้จะมีใครไม่ชอบบ้าง แต่อย่างน้อยก็เป็นผู้มีบุญคุณ ที่ช่วยกันนำพาประเทศออกจากขอบเหวได้อย่างหวุดหวิด

สร้างความเป็นธรรมในสังคม แก้รัฐธรรมนูญเฉพาะมาตราที่เป็นประโยชน์กับชาวบ้านจริงๆ เท่านั้น เช่น กำหนดว่ารัฐต้องปฏิรูประบบภาษี ให้จัดเก็บภาษีอัตราก้าวหน้าและเป็นธรรม ปฏิรูปการถือครองที่ดิน ปฏิรูปการจัดการทรัพยากรท้องถิ่น ส่งเสริมความเป็นธรรมในการค้า ส่งเสริมผู้ค้ารายย่อย ป้องกันการผูกขาด การทุ่มตลาด ภายในระยะเวลาสั้นที่สุดที่เป็นไปได้

กลุ่มผู้นำของสถาบันต่างๆ ที่กำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์ ท้าทาย ต่างก้าวออกมา แล้วถือโอกาสนี้เป็นเจ้าภาพร่วมในการสังคายนาประเทศ โดยเริ่มจากการบอกว่าตนเองและสถาบันของตนเองจะเสียสละอย่างไร ที่ควรลดขนาดก็ลดขนาดตนเอง ที่ควรโปร่งใสก็ทำให้ตนเองโปร่งใส ที่ควรได้น้อยลงก็จะประกาศขอลดรายได้ของตนเองลง

สถาบัน องค์กร บริษัท ห้างร้านใด พอมีทรัพย์ มีกำลังก็บริจาคเงินออกมาช่วยชาติอีกครั้ง (ครั้งที่แล้วลำพังโครงการช่วยชาติของ หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน ก็รวบรวมได้ทองคำถึง 967 แท่ง น้ำหนักมากกว่า 12 ตัน เงินสดอีก 10 กว่าล้านเหรียญสหรัฐ) นำเงินบริจาคช่วยชาติที่ร่วมกันนี้ไปช่วยดูแลคนที่ต้องการความช่วยเหลือ ผู้ได้รับผลกระทบ ล้มตาย พิการ บาดเจ็บ สูญเสียรายได้ จากการเผชิญหน้าหลายปีที่ผ่านมา

ทำให้ทุกภาคส่วนได้เป็นเจ้าภาพการทำสังคายนาและกอบกู้อารยธรรมของเราร่วมกัน

ท้าทายเยาวชนออกจากโลกไซเบอร์มาลงมือลงไม้ทำกิจกรรมจิตอาสา ร่วมสั่งสมทุนและตระเตรียมโครงสร้างทางสังคมไว้รอรับภัยธรรมชาติระดับโลกที่จะมาแน่ๆ ในเร็วๆ นี้

จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม สนับสนุนละคร ส่งเสริมดนตรี ศิลปะ เพื่อสร้างความรัก ความเข้าใจอันดี ตลอดปี หรือตลอดทศวรรษยิ่งดี สร้างอัตลักษณ์ใหม่จากทุนทางวัฒนธรรมเดิมของเรา นำความเป็นสยามเมืองยิ้มกลับมาอีกครั้ง

แกนนำทุกสี ทุกกลุ่ม ทั้งคุณทักษิณ คุณวีระ คุณณัฐวุฒิ คุณจตุพร คุณเหวง คุณสนธิ คุณสมศักดิ์ คุณสมเกียรติ คุณจำลอง คุณพิภพ คุณอภิสิทธิ์ คุณอนุพงษ์ ร่วมกันเล่นมิวสิกวิดีโอเพลง “เสียงในความเงียบ” (ดูตัวอย่างได้ที่ http://bit.ly/8may2553)

รัฐและประชาชนทุกคนร่วมกันจัดงานรื่นเริงฉลอง เหมือนตักบาตร ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ รับขวัญประเทศ ลด แลก แจก แถม เชิญชวนชาวต่างชาติเข้ามาเที่ยว มาใช้จ่าย มาดูว่าคนไทยใจกว้าง เป็นพี่เป็นน้อง ทะเลาะกันก็ยังกลับมาคืนดีกันได้




เสียงเพลงนุ่มๆ ของจอห์น เลนนอน ลอยมากับสายลม ชวนให้มี “จินตนาการ” เหมือนกับชื่อเพลง ในเพลงยังบอกอีกว่า “You may say I’m a dreamer, but I’m not the only one.” เธออาจจะบอกว่าฉันเป็นคนช่างฝัน แต่ฉันจะบอกเธอให้นะ ไม่ใช่ฉันคนเดียวหรอก แล้วฉันก็หวังไว้ว่าสักวันหนึ่งเธอจะก็จะมาร่วมฝันด้วยกัน

ใช่สิ ฉันอาจจะเป็นคนช่างฝัน แต่ เฮ้! ไหนๆ จะฝันกันแล้ว ฉันก็อยากจะฝันดีนะ!