ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2552

งานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๒ “ทางเลือก หรือ ทางรอดของสังคม?” โดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นงานที่ใช้กระบวนกร/วิทยากรมากที่สุดงานหนึ่ง นับรายชื่อศิลปิน นักปฏิบัติ นักคิด นักวิชาการที่ขึ้นเวทีสุนทรียสนทนา ปาฐกถา นำเสนอผลงาน จัดกระบวนการ ขับขานดนตรี อ่านบทกวี ในสองวัน ได้มากกว่า ๙๐ คน ต่างมาร่วมแบ่งปันเป้าหมาย ความหมาย รายละเอียด วิธีการ และรสชาติของกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาตามความเข้าใจ ตามการใช้ชีวิตของตนเอง

งานประติมากรรมทางสังคมที่เกิดจากการถักทอเชื่อมร้อยการเดินทางของคนเหล่านี้ มีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ คือ การช้าลง เข้าไปสัมผัสปัจจุบันขณะตรงๆ ผ่านงานผ่านการใช้ชีวิต ด้วยใจที่เปิดรับ และแบ่งปันประสบการณ์นั้นๆ ร่วมกัน

หัวใจ คือ การไปพ้นจากความคิด




อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ระยะหลัง นานๆ จะปรากฏตัวต่อสาธารณะสักที มองเรื่องจิตตปัญญาผ่านมุมมองของวิภาษวิธี (Dialectic) เทียบเคียงกับความเชื่อทางพุทธ ว่าไม่ใช่เอา anti -thesis ไปท้าสู้กับ thesis แต่ต้องใช้ synthesis ซึ่งในตัวมันมีลักษณะที่ทั้งใช่และไม่ใช่ thesis และ anti-thesis อยู่ด้วยแล้ว

ต้องข้ามพ้นเครื่องมือเก่า คือ ความคิด ไปเสีย ดังนั้น “วิธีจัดการความขัดแย้งภายใน ไม่ได้ทำโดยการเอาความคิดเรื่องการไม่มีตัวตนไปสู้กับความคิดเรื่องการมีตัวตน หากเอา ‘การไม่คิด’ เข้าไปแทนที่ ‘การคิด’ เสียมากกว่า”

งานนี้จึงอุดมไปด้วยผู้ที่มานำเวิร์คชอป จัดกระบวนการมากมาย แบ่งปันตัวอย่างช่องทางการเข้าถึงสภาวะดังกล่าว ผ่านงานอันหลากหลายของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม อาทิ การตระหนักรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตน (โดยกลุ่มจิตตปัญญาวิถี สถาบันขวัญแผ่นดิน) การภาวนา (เสถียรธรรมสถาน) การจัดดอกไม้และใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ (มูลนิธิเอ็มโอเอไทย) จิตอาสา (เครือข่ายพุทธิกา มูลนิธิพุทธฉือจี้) การรักษาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ (สถาบันปลูกรัก) และอื่นๆ อีกมาก

เวทีสุนทรียสนทนา หัวข้อ “กล้าที่จะเลือก” มีตัวอย่างของคนที่อยู่ทั้งในและนอกระบบ แต่ก็กล้าที่จะ “ขบถ” เลือกวิธีการเดินทางของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อมันแตกต่างแปลกแยกจากมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานองค์กร มาตรฐานสังคม หรือแม้กระทั่งมาตรฐาน “สากล” ที่สถาบันต่างๆ มักวิ่งตามกันอยู่

“ยิ่งมีรายละเอียดในความคิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความขัดแย้งในใจมากขึ้นเท่านั้น เมื่อผมออกจากความคิด ... มาอยู่กับตัวเองง่ายๆ ไม่มีความขัดแย้งในตัวเอง ไม่ขัดแย้งกับคนอื่น จึงไม่มีความขัดแย้งกับธรรมชาติ” อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เขียนหนังสือ เดินสู่อิสรภาพ สะท้อนประสบการณ์กล้าที่จะเลือก และกล้าที่จะหยุดเอาไว้ในวงสุนทรียสนทนานี้

แล้วชาวจิตตปัญญา กล้าที่จะเลือกหรือยัง?

ใน “ปัญญาสู่ทางรอด” เวทีสุนทรียสนทนาปิดงาน อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ อธิบายว่าปัญญาเพื่ออยู่รอดอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมายด้วย ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับฐานกาย (มวยจีน โยคะ ชี่กง) ฐานใจ (ความสัมพันธ์ อารมณ์ความรู้สึก) นอกเหนือไปจากฐานคิด

“คนเรามีสมอง ใจ กาย แต่ทุกวันนี้เราหมดเวลาไปกับการคิด การเรียน” อาจารย์ฟันธงเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา

อาจารย์เสกสรรค์ อาจารย์ประมวล และอาจารย์วรภัทร์ อาจารย์ทั้งสามได้มาดำรงอยู่ร่วมกันในเวทีแห่งนี้ ต่างคนก็ราวกับว่ามีวิถีของชีวิตที่แตกต่างกันมากเหลือเกิน ทว่าลึกลงไปแล้วทั้งสามล้วนมิได้ผิดแผกแตกต่างกัน มีการเดินทางด้านในร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นการเดินทางที่เฉพาะตนไม่เหมือนกัน

ทุกคนล้วนเดินทางบนเส้นทางจิตวิญญาณ และหนทางสายนี้ได้เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ (The path is the goal) อันมีหัวใจร่วมกัน

วันหน้าหากมีใครถามนิยามว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร ผมอาจจะตอบว่า “จิตตปัญญาเป็นวิชาสิ้นคิด” ไง :-)