ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๐ ตุลาคม ๒๕๕๓

“การแข่งขันทำให้เกิดผู้ชนะเพียงจำนวนน้อยนิด และทิ้งผู้แพ้ไว้เป็นจำนวนมาก”

นักศึกษาคนหนึ่งเขียนสะท้อนระหว่างเรียนวิชาชีววิทยาเบื้องต้น ของมหาวิทยาลัยมหิดล

นักศึกษาสองร้อยกว่าคนใช้เวลา ๑๒ ชั่วโมงร่วมกันในการเดินทางเรียนรู้ สัมผัสความน่าอัศจรรย์ใจในมหัศจรรย์ชีววิทยาและชีวิต ผ่านหัวข้อวิวัฒนาการ ความหลากหลายทางชีวภาพ พฤติกรรม นิเวศวิทยา และการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เราได้ดูทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังของความเป็นไปของโลก ตั้งแต่กำเนิดโลก ว่าสิ่งมีชีวิตกำเนิดมาได้อย่างไรเมื่อสามพันล้านปีก่อน กระบวนการคัดเลือกตามธรรมชาติทำให้เกิดความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไร สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดและทุกชนิดมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกันอย่างเป็นองค์รวมอย่างไร เห็นว่าสถานการณ์โลกข้างหน้านั้นวิกฤตแค่ไหน มนุษยชาติและสรรพชีวิตต้องการพวกเขาที่มีกระบวนทัศน์ใหม่อย่างไร เป็นภาคทฤษฎีที่มีตัวอย่างจริงเรื่องราวจริงประกอบ

“เมื่อผมได้ดูวิดีโอคลิปการแข่งกันเจริญเติบโตของต้นไม้แล้วลองมามองตัวเองดู สภาพของผมก็คงไม่ต่างอะไรกับต้นไม้ต้นหนึ่งในวิดีโอนี้ แต่ทว่ามันมีข้อต่างกันอยู่ที่การแข่งขันครั้งนี้ ผมมีเพื่อนๆ คอยช่วยเหลือ ช่วยกันติวอยู่ ทำให้ผมได้มีโอกาสมากขึ้น ... แต่ถ้าเป็นชีวิตนอกมหาวิทยาลัยหละ? การทำงานคือการแข่งขันกัน การเป็นหนึ่งเหนือคู่แข่งขัน ซึ่งไม่ใช่แนวของผม ผมควรทำอย่างไรดี”

นักศึกษาคนดังกล่าวเขียนสะท้อนความรู้สึกต่อแนวคิดเรื่อง การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุด (Survival of the Fittest) ซึ่งเป็นแนวคิดพื้นฐานทางชีววิทยาที่คนมักเข้าใจผิดมากที่สุดแนวคิดหนึ่ง เพราะฟังและพูดต่อกันผิดๆ ว่าเป็น การอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด (Survival of the Strongest)

เราอาจมองว่าชีวิตเป็นแค่การแข่งขัน เห็นแค่สิงโตล่ากวาง ต้นไม้แข่งกันโตเพื่อแย่งแสงอาทิตย์ หรือพยาธิอาศัยเป็นปรสิตอยู่ในคน แต่ชีวิตไม่ได้สัมพันธ์กันโดยต้องมีฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดเสียประโยชน์เท่านั้น

หากเราเห็นว่าสิงโตไม่เคยล่ากวางมากเกินกว่าจะกินหมด ไม่เคยล่ามาสะสม ล่าเพื่อความบันเทิง พืชหลายชนิดก็อาศัยต้นอื่นอยู่ ได้รับประโยชน์โดยไม่ได้ทำอันตราย เช่น กล้วยไม้ จุลินทรีย์ในลำไส้ปลวกก็ช่วยย่อยเศษไม้ที่ปลวกกิน ส่วนที่อยู่ในลำไส้คนก็ช่วยสร้างวิตามินที่เราขาดไม่ได้ ต้นไม้หลายชนิดอยู่ได้ก็เพราะมีแมลงช่วยผสมเกสร แม้แต่ค้างคาวยังช่วยผสมเกสรทุเรียนซึ่งดอกบานเฉพาะตอนกลางคืน

เราไม่พบว่ามีสิ่งมีชีวิตชนิดไหนที่ไม่เกี่ยวพันและไม่เกื้อกูลสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เลย หรือเราอาจพูดได้ว่าสิ่งมีชีวิตที่อยู่รอดได้ดีคือสิ่งมีชีวิตที่เกื้อกูลสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ก็เป็นได้

ประเด็นสำคัญของการเรียนรู้คงไม่ใช่แค่ให้นักศึกษาท่องได้ และทำข้อสอบถูก ว่ามันคือการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตที่เหมาะสมที่สุดนะ ไม่ใช่สิ่งมีชีวิตที่แข็งแรงที่สุด แต่น่าจะอยู่ที่การช่วยให้เขาได้สะท้อน มองย้อนเข้าไปตนเองด้วยว่าความจริงข้อนี้มันเป็นจริงสำหรับมนุษยชาติ โดยเฉพาะอย่างยิ่งแล้ว สำหรับตัวเขาเองที่กำลังเรียนและอีกไม่นานจะจบออกไปด้วย

เพราะหากว่าคนๆ หนึ่งใช้เวลาในสถาบันการศึกษาตั้งหน้าตั้งตาเรียนเพื่อที่จะ “อยู่รอด” เห็นว่าโลกนี้เป็นโลกของการแข่งขัน ชีวิตหลังการเรียนก็คงเป็นความต่อเนื่องของการต่อสู้อันเหน็ดเหนื่อยและยาวนานที่ไม่รู้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด

แต่หากมนุษย์คนหนึ่งได้เห็นว่าเขามีอะไรที่ต้องเรียนรู้มากกว่าการอยู่รอด ถ้าเขาได้มีโอกาสเห็นว่าโลกมีมิติของการ “อยู่ร่วม” ด้วยนั้น ชีวิตของเขาคงน่ารื่นรมย์ขึ้นมาก

และยิ่งถ้าเขาได้นำเอาศักยภาพในการเรียนรู้และตื่นรู้ที่มีอยู่ในเฉพาะสัตว์ที่เรียกตนเองว่า มนุษย์ผู้ฉลาด (Homo sapiens) มาพัฒนาและใช้อย่างเต็มที่ เขาก็จะค้นพบว่าตนเองจะ “อยู่อย่างมีความหมาย” ได้อย่างไร ชีวิตของเขาจะเป็นที่น่าอัศจรรย์ใจไม่น้อยเลยทีเดียว

เขาอาจได้พบว่าหลังเรียนจบ ทั้งชีวิตครอบครัว ชีวิตการงานของเขามันน่าอยู่ เกื้อกูล อุดม และรุ่มรวยได้ ไม่ว่าเขาจะเป็นที่หนึ่งหรือจะร่ำรวยหรือไม่ก็ตาม :-)