ฉบับวันที่ ๖ พฤษภาคม ๒๕๕๕
ช่วงที่มีข่าวดังเกิดขึ้นที่ภูเก็ต ผมอยู่ที่นั่นพอดี เพราะได้รับเชิญไปร่วมบรรยายในพิธีเปิดการอบรมนิเวศวิทยาทางทะเลภาคฤดูร้อน โดยมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทะเลและชายฝั่งภูเก็ต
เคยไปภูเก็ตหลายครั้ง บางคราวก็มีเรื่องตื่นเต้นเป็นพิเศษ ครั้งหนึ่งไปเที่ยวเกาะพีพีกับเพื่อน ขึ้นรถสองแถว รถแหกโค้งพลิกคว่ำหลายตลบ ดีที่ไม่ได้รับบาดเจ็บอะไรเลย แค่เสื้อเป็นรูเล็กน้อย ยังจำหน้าโชเฟอร์คนขับที่เมาและมีตาข้างเดียวได้อยู่เลย
ส่วนรอบนี้ จากสถิติรายงานแผ่นดินไหว โดยกรมอุตุนิยมวิทยา ในช่วงระยะเวลาห้าวัน เกิดแผ่นดินไหวมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่นั่น 20 ครั้ง ซึ่งก็ดี เพราะทำให้ได้ใช้ชีวิตที่ช้าลง และละเอียดขึ้นในการสังเกต ทั้งสิ่งรอบตัวและสิ่งที่เกิดขึ้นในใจ
จะว่าไปภูเก็ตก็เป็นสถานที่ที่ผมเองได้เคยมาฝึกเรื่องการสังเกตอย่างจริงๆ จังๆ และในคอร์สอบรมเดียวกันกับที่ไปบรรยายนี่แหละ แต่ก็เมื่อสองทศวรรษผ่านมาแล้ว
ครั้งนั้นได้เข้าร่วมในฐานะนักศึกษา แต่ละคนต้องทำงานวิจัยชิ้นเล็กๆ ผมเลือกศึกษาพฤติกรรมการกินปะการังของปลาในแนวปะการังเกาะภูเก็ต ต้องพาเรือลำน้อยไปลอยในทะเลอยู่หลายวัน ดำน้ำลงไปตีกรอบพื้นที่ศึกษาใต้ทะเล แล้วลงน้ำนับชนิดปลา จำนวนปลา และจำนวนครั้งเฉลี่ยที่ปลาแต่ละตัวกัดปะการัง ลมและแดดเดือนพฤษภาคมพัดและย่างเสียแห้งเกรียม อีกทั้งน่วมจากการต้องกระโดดลงน้ำและปีนขึ้นเรือวันละเป็นสิบรอบ แต่ก็สนุกและมีความสุขกับการทำวิจัยมาก เพราะวันหนึ่งๆ ได้ลงไปอยู่กับบรรดาหมู่ปลา และสังเกตพฤติกรรมของเขาอยู่นานสองนาน
เป็นเรื่องปรกติธรรมดาและสนุกสำหรับผมไปเสียแล้ว เพราะชอบนั่งสังเกตสิ่งมีชีวิตตั้งแต่เด็กๆ เช่น จำได้ว่าสมัยเรียนประถมห้า คุณครูวิภาส คุณครูประจำห้องวิทยาศาสตร์อนุญาตให้รับผิดชอบดูแลตู้ไฮดราของโรงเรียน ผมจึงชอบไปโรงเรียนแต่เช้า เพื่อสังเกตพวกเขาที่แตกหน่อ เกาะอยู่บนก้อนหินในตู้ ลำตัวเล็กๆ บางๆ เหมือนเส้นด้าย มีสีเขียวอ่อนจากสาหร่ายที่อยู่ภายใน หนวดเล็กๆ จำนวนมากที่บริเวณปากด้านบน โบกไหวไปมา จับไรแดงกิน ผมนั่งดูได้เป็นชั่วโมงๆ โดยไม่เบื่อ ทักษะสังเกตเหล่านี้เองกระมังที่อาจจะติดตัวมาด้วย อยู่เฉยๆ ก็มีอะไรให้สังเกตได้เรื่อยๆ
อันที่จริง ทักษะการสังเกตทางวิทยาศาสตร์นี้ หากนำมาปรับนิดหน่อยก็ใช้นำไปใช้ให้เกิดประโยชน์อื่นๆ ได้ ซึ่งการสังเกตนั้นต้องอาศัยความอดทน ตั้งใจ ใส่ใจ และเวลา สิ่งเหล่านี้เป็นคุณสมบัติสำคัญที่นำไปสู่ความเข้าใจ
แต่กระบวนการจิตตปัญญามีเป้าหมายที่จะทำความเข้าใจต่างกับวิทยาศาสตร์ กล่าวคือ วิทยาศาสตร์ใช้เครื่องมือหลักคือตา (อาจบวกกับเทคโนโลยีเพิ่มประสิทธิภาพตา) ส่วนทางจิตตปัญญาใช้ใจ
วิทยาศาสตร์ศึกษาโดยการสังเกตโลกภายนอกเป็นหลัก ส่วนจิตตปัญญาเน้นศึกษาโลกที่เกิดขึ้นภายในตัวผู้สังเกต
ส่วนผล วิทยาศาสตร์สร้างความรู้เกี่ยวกับโลกนอกตัวผู้สังเกต ในขณะที่จิตตปัญญาสร้างความรู้เกี่ยวกับโลกภายในตัวผู้สังเกต
สิ่งที่ให้สังเกตทางวิทยาศาสตร์นั้นมีเยอะแยะมากมายนับไม่ถ้วน มีเรื่องใหม่ๆ สิ่งใหม่ๆ ให้สังเกตได้ไม่หมด ในขณะที่จิตตปัญญานั้นมีสิ่งที่ให้สังเกตไม่มาก หลักๆ ก็คือ กายและใจของผู้เรียนนั่นแหละ ใครที่ลองสังเกตทั้งสองแบบแล้ว คงเห็นว่าต่างมีแง่มุมน่าสนใจของตน แต่ละคนคงต้องตอบคำถามเองแล้วว่า เราจะให้ความสำคัญ ให้เวลา ให้ความใส่ใจกับการสังเกตสิ่งใดมากกว่ากัน
ท่านผู้อ่านล่ะมีคำตอบแล้วหรือยังครับ?