ไม่ถูก ไม่ผิด


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 เมษายน 2549


ช่วงนี้ได้ยินแต่เรื่องโอเน็ต-เอเน็ต วนไปเวียนมาอยู่กับเรื่องคำถาม-คำตอบ ปรนัย-อัตนัย เป็นที่น่าปวดเศียรแทนทั้งคนสอบและคนตรวจ ผมเองก็ต้องออกข้อสอบอยู่ทุกเทอมและชอบออกเป็นอัตนัยมากกว่า แต่ถ้าเป็นปรนัยแล้วโดยส่วนตัวคิดว่าแบบหลายตัวเลือก ก-ข-ค-ง ทำง่ายกว่า แม้ว่าออกข้อสอบยากกว่าก็ตาม

แต่บรรดานักศึกษาก็ไม่ได้เห็นด้วยเหมือนกับผมเสมอไป หลายคนชอบแบบสองตัวเลือก คือ ถูก-ผิด มากกว่า ด้วยว่าข้อสอบแบบถูกผิดนั้นมีโอกาสตอบถูกถึงครึ่งหนึ่ง ผู้ตอบเองก็ตัดสินใจได้ง่าย ขณะที่ข้อสอบให้เลือกตอบแบบ ๔ ข้อ การตัดสินใจหรือเดาสุ่มก็มีทำได้ยากขึ้น โอกาสจะตอบถูกก็น้อยลง

สิ่งที่เหมือนกันของข้อสอบทั้งสองแบบคือคำถามต้องมีความชัดเจน ในกรณีแบบถูกผิด คำตอบที่ได้นั้นมีเพียงหนึ่ง ส่วนกรณีแบบสี่ตัวเลือก อาจมีคำตอบได้มากกว่าทางเดียว โดยรวมอยู่ในตัวเลือกจำพวก ถูกเฉพาะข้อ ก, เฉพาะข้อ ข, ถูกทุกข้อ หรือไม่มีข้อใดถูกเลย ข้อสอบทั้งสองแบบจะเปิดให้ผู้สอบตีความได้ในขอบเขตจำกัด ตามเงื่อนไขที่ได้ตั้งคำถามไว้ แต่จะไม่สามารถใช้ได้เลย หากต้องการทราบว่าผู้สอบมีทัศนะอย่างไร มีกระบวนลำดับวิธีการคิดอย่างไรบ้าง

ในชีวิตประจำวันของเราจะที่บ้านหรือในที่ทำงาน ถ้ามีเรื่องหรือปัญหาให้คิดตัดสินใจอันเข้าข่ายเหมือนข้อสอบถูกผิดแล้วล่ะก็ เรามักไม่เสียเวลาในการคิดหรือตัดสินใจนาน เช่น จะทานก๋วยเตี๋ยวหรือเปล่า จะดื่มกาแฟไหม เอกสารการเงินฉบับนี้ถูกต้องใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

การตัดสินใจแบบเลือกว่าถูกหรือผิดจึงง่ายและสะดวก อาจจะง่ายไปจนบางครั้งเรารับเอาวิธีคิด “ถูก-ผิด” ไปใช้ในชีวิตแต่ละวันของเรามากจนเกินไป

ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนได้รับคำถามเกี่ยวกับการเมืองที่ว่าคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมือง เมื่อได้รับคำตอบบอกว่าไม่สนับสนุนคุณทักษิณ คำถามที่ตามมาติดๆ ก็กลายเป็นว่าอีกฝ่ายไม่เห็นจะดีตรงไหน เรียกได้ว่าถ้าไม่สนิทสนมและมีเวลาคุยกันอย่างเพียงพอ เราก็จะไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเขาคิดเห็นกันอย่างไรแน่

ครับ เรื่องราวส่วนใหญ่ในชีวิตเราไม่สามารถจัดวางเป็นสองด้าน แค่ถูกหรือผิด เท่านั้นครับ

หากยังจำกันได้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้สองเดือนหลังจากเกิดเหตุถล่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ว่า “You are either with us or against us.” แปลได้ความว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา ก็ต้องเป็นฝ่ายตรงข้าม (ผู้ก่อการร้าย)” ฟังดูเด็ดขาดดีใช่ไหมครับ แต่อืมม์ คิดดูดีๆ แล้ว ตรรกะแบบนี้ก็มีกับเขาด้วยแฮะ แถมเป็นที่ยอมรับกันอีกแน่ะ เพราะลองนึกถึงตัวเราเองก็ได้ว่าเราก็ใช่ว่าจะเห็นดีเห็นงามตามอเมริกาต่อปฏิบัติการในอิรักทั้งหมด ในทางกลับกัน เราแน่ใจว่าเราไม่ใช่ฝ่ายของผู้ก่อการร้ายแน่นอน

การคิดอะไรให้จำกัดเหลือเพียงสองด้าน “ถูก-ผิด” นั้น เรียกได้ว่าเป็นการตกอยู่ในบ่วงครับ และคนเรามักจะตกบ่วงนี้บ่อยเสียด้วย

เหตุที่วิธีคิดแบบนี้เป็นบ่วง เพราะมันมีสภาพที่บีบคั้นบังคับ ย้อนกลับไปยังตัวอย่างคำถามเรื่องการเมือง หรือคำกล่าวของบุชก็ได้ เหตุที่เป็นบ่วงเพราะเมื่อเราเชื่อว่าถูก ทุกเรื่องก็ถูกไปทั้งหมด เมื่อคิดว่าผิด ก็ถือว่าผิดไปทั้งสิ้น ไม่ได้เผื่อทางเดินให้กับความคิด ไม่ได้เผื่อทางเลือกอื่นๆ ให้กับชีวิต

กลับไปที่ตัวอย่างเรื่องคุณทักษิณ เราพบเห็นการคิดแบบถูก-ผิดมากมาย เราเห็นบางคนรักคุณทักษิณจนหมดหัวใจ ตอนเว้นวรรค มีคนร้องห่มร้องไห้กันหลายคน ซึ่งผมก็เชื่อว่ามีเช่นนั้นจริงๆ (ไม่นับพวกเล่นปาหี่) ส่วนบางคนก็เกลียดคุณทักษิณจนหมดหัวใจเหมือนกัน ตอนขึ้นเวทีปราศรัยก็โจมตีเสียราวกับว่าไม่มีดีอะไรเลย นี่แหละครับที่ว่าเหมาถูกเหมาผิดไปทั้งหมด

วิธีคิดถูก-ผิดนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตะวันตกเดิม ที่ทำให้เรามองความจริงแบบแยกส่วน เห็นแต่เพียงส่วนเสี้ยวของความจริง วิทยาศาสตร์ทำให้เราชี้ชัด ตัดสิน ในขณะที่วิทยาศาสตร์ใหม่ หรือทฤษฎีควอนตัม บอกว่าบางสิ่ง เช่น อนุภาคแสง มีคุณสมบัติเป็นสองสิ่งในเวลาเดียวกันได้ คือ เป็นทั้งสสารและพลังงาน ขึ้นอยู่กับผู้สังเกตและวิธีการสังเกต

ในทางพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างชาณุสโสณีสูตร ในพระไตรปิฎก พราหมณ์ชาณุสโสณี ถามพระพุทธเจ้าว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริงหรือ? พระพุทธเจ้าบอกว่า พูดเช่นนี้ก็เป็นส่วนสุดอย่างหนึ่ง พอพราหมณ์ถามอีกว่า ถ้าเช่นนั้นสิ่งต่างๆก็ไม่มีอยู่จริงน่ะสิ พระพุทธเจ้าตอบว่า พูดเช่นนี้ก็เป็นส่วนสุดอย่างหนึ่งเหมือนกัน แล้วสอนว่า “ตถาคตไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ... เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี” ท่านยังสอนอีกด้วยว่า “ส่วนสุดทั้งสอง ภิกษุไม่ควรเสพ” (เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา)

ด้วยว่าปรากฏการณ์หรือปัญหาต่างๆ เป็นกระแสของความต่อเนื่อง ของเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่มีอะไรที่มันมี มันเป็น โดยตัวของมันเอง ลอยๆ โดดๆ ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรอย่างอื่น ทางสายกลางจึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักและฝึกคิด ฝึกปฏิบัติไว้เสมอๆ

แต่ที่สำคัญทางสายกลางไม่ได้แปลว่าเฉลี่ย หรืออยู่มันตรงกลางๆ ระหว่างถูกกับผิด หรือขาวกับดำ หรือการไม่ตัดสินใจแล้วเพิกเฉย (ซึ่งก็คือตัดสินแล้วว่าจะเพิกเฉย) นะครับ

ดังนั้นถ้าย้อนไปหากรณีปัญหาทางการเมืองนั้น ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบก็ควรจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีความโกรธ-เกลียด ทางฝ่ายรัฐบาลรักษาการที่พูดเสมอว่ายึดมั่นในความถูกต้องก็ควรให้มีการทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ต้องมีความโกรธ-เกลียดเช่นกัน

ชักชวนให้เรามองอะไรให้มีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะมองและถามตนเองว่ามันเป็นเรื่องถูกหรือผิดเท่านั้น ก็อาจถามว่ามัน “ถูก - ผิด - ไม่ถูกไม่ผิด - ทั้งถูกทั้งผิด”

เวลาต้องตัดสินใจเลือกอะไร แล้วตัดสินใจไม่ได้สักที ทำนองรักพี่เสียดายน้อง ก็ทำให้ได้คิด (เลยอาจคิดได้) ว่าบางทีมันก็ไม่ได้เสียหายอะไรหรอก เลือกไปอย่างหนึ่งโลกมันก็เป็นไปแบบที่เราเลือกทางนั้น เลือกอีกอย่างโลกมันก็เป็นไปอีกอย่าง และวิถีแต่ละอย่างก็อาจไม่สามารถบอกได้ตรงๆว่าถูกหรือผิดทั้งหมด

ปลดปล่อยตัวของเราออกจากความบีบคั้นของบ่วง “ถูก-ผิด” แล้วชีวิตเราจะมีความสุขขึ้นแน่นอนครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2549


รถของผมซึ่งเคลื่อนที่ไปได้ด้วยความเร็วระดับเต่าวิ่งอยู่แล้ว แทบต้องลดเหลือระดับเต่าคลาน เพราะต้องขับผ่านผู้คนที่ออกมาร้องรำทำเพลงอยู่บนท้องถนน ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งหนุ่มทั้งสาว รวมไปถึงเด็กๆอีกด้วย ต่างออกมาโห่ร้องดีใจกับผลการเลือกตั้งที่ออกมาวันนี้ เปล่าครับ ผมไม่ได้หมายถึงผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาของบ้านเรา แต่เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นของอินเดียครับ ผมเขียนต้นฉบับนี้ขณะอยู่ที่พุทธคยา ดินแดนที่พระพุทธเจ้าประสูติ

ผมทำใจอยู่นานพอควรที่จะไม่ได้อยู่เลือกตั้งครั้งสำคัญ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง เพราะต้องเดินทางมาเป็นวิทยากรให้กับกับยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับปากไว้นานแล้ว

ประสบการณ์และข้อคิดดีๆ จากการตามรอยพระศาสดาผ่านสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง คือ ลุมพินี คยา สารนาถ และกุสินารา จะทยอยเล่าให้ฟังตามโอกาสอันควรนะครับ ส่วนวันนี้ขอขี่กระแสการเมือง ยื่นข้อเสนอกับเขาบ้าง

ผมขอเสนอให้ทุกท่าน “วางใจทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข” ครับ! (ส่วนใครจะให้ใครวางมือหรือวางอะไรก็ตามก็เป็นเรื่องของท่านนะครับ) เพราะจะว่าไปแล้วจากมุมมองหนึ่ง ทุกคนมีทางเลือกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่สองทางหลักๆ คือ มีส่วนร่วมแบบไม่มีทุกข์ และมีส่วนร่วมแบบมีทุกข์ หากท่านปรารถนาจะมีส่วนร่วมแบบไม่มีทุกข์ ก็แนะนำให้ท่าน “วางใจทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข” ครับ

คนเรามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบมีทุกข์ก็เพราะเราไป “อยาก” ให้มันเป็นอย่างที่เราอยากให้มันเป็น แต่เรื่องการเมืองหลายท่านว่าเหมือนลูกบอลกลมๆครับ ไม่รู้มันจะกลิ้งไปทางไหน หลายครั้งมันผลมันก็ออกมาไม่ค่อยตรงกับที่เรา “อยาก” ซะเท่าไหร่

แต่ถ้าเรามีส่วนร่วมทางการเมือง ตามที่เราเห็นว่า “ควร” ทำ โดยทำกิจต่างๆที่เราควรทำให้ดีที่สุด แล้วก็ปล่อยให้ที่เหลือเป็นเรื่องของธรรมจัดสรร เราก็จะมีความสุขได้โดยไม่ยาก ยิ่งถ้าเชื่อตามแนววิทยาศาสตร์ใหม่ว่า “ไม่มีเหตุบังเอิญในจักรวาล” เราก็เชื่อได้ว่าผลของมันย่อมออกมาตามที่ “ควร” ตามเหตุและปัจจัยแน่นอน ไม่มีทางไปมีผลเป็นเช่นอื่นเลย

ผมมีเพื่อนที่ทั้งไม่สนใจการเมืองโดยสิ้นเชิง เรียกว่าฟ้าจะถล่มดินจะทลายทางการเมืองฉันก็ไม่สนใจ กับเพื่อนทั้งที่หายใจเข้าหายใจออกเป็นการเมือง นั่งเช็คอินเตอร์เนทวันละหลายๆรอบ

ในบรรดาพวกที่สนใจการเมืองนั้นมีตัวอย่างที่น่าประทับใจหลายคนครับ เพื่อนสาวคนหนึ่งเธอสนใจการเมืองมาก เป็นนักข่าวเก่า แต่ช่วงที่ผ่านมาเธอไม่ค่อยได้ไปร่วมประชุมหรือชุมนุมอะไรกับเขาหรอก เธอว่าเธอต้องดูแลแม่ที่ไม่ค่อยสบายและมีกิจสำคัญหลายอย่างที่ต้องดูแล ผมก็เชื่อว่าคงจะจริง ไม่เช่นนั้นคอการเมืองอย่างเธอมีหรือจะพลาด ผมแอบดีใจในการวางใจของเธอ เธอดูมีความสุขดี ผมรู้เธออยากมีส่วนร่วมมากกว่านี้ และร่วมภาวนาให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ความเป็นจริงทำให้เธอทำได้เท่าที่ได้ทำแบบอยู่เบื้องหลังไปก่อน

ส่วนเพื่อนอีกคนไปร่วมชุมนุมอยู่ทุกบ่อย เรียกว่าเกือบจะทุกคืนก็ว่าได้ รายนี้ก็มีความสุขดี ไม่ว่าสถานการณ์จะขึ้นหรือลง (เพราะบางทีเซียนมวยอ่านดูก็ว่ามันขึ้นลง ชิงความได้เปรียบกันรายวันจริงๆ) เขาบอกว่า “ชนะแล้ว ชนะทุกวันเลย” เขาเชื่อว่าการไปร่วมกิจกรรมของเขาทำให้สังคมดีขึ้น โดยตัวของมันเอง

ผมว่าทั้งสองเป็นตัวอย่างของคนที่ “วางใจ” ทางการเมืองได้ดีมากทีเดียว (ซึ่งอาจแปลได้ว่าน่าจะวางใจกับชีวิตได้ดีด้วยก็เป็นได้) แต่เรื่องอย่างนี้ไม่ได้มามือเปล่าครับ เชื่อว่ากว่าจะทำได้ก็ต้องทำการบ้านกันอยู่นานพอสมควร

ทั้งสองคนเป็นเหตุให้ผมได้คิดว่า เราควรมีทีท่ากับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเราอย่างไร ผมจึงใจสบายและสบายใจกับการเดินทาง แถมยังได้บวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำบุญให้ประเทศอีกด้วย

จาริกอินเดียรอบนี้ยังได้ไปเยี่ยมคารวะราชฆาต สถานที่เผาศพบิดาของประเทศอินเดีย คือ ท่านมหาตมะคานธี ผู้เป็นเสาหลักทางความคิดด้านอหิงสธรรม และการดื้อแพ่ง (Civil Disobedience) ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นำมาเรียกใหม่อย่างน่าฟังว่า “อารยะขัดขืน” อันเป็นกระบวนการที่น่าจะทำให้ความสุขมวลรวมประชาชาติของคนไทยสูงขึ้น เนื่องจากเอาไปยึดโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรม

คำพูดของคานธีที่คนมักกล่าวขานถึงคือ “โลกมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับความจำเป็นของทุกๆคน แต่ไม่พอสำหรับของความโลภของคนๆเดียว”

แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงคือการที่คานธีให้ความสำคัญกับกระบวนการเป็นอย่างมาก คานธีบอกว่ากระบวนการนั้นสำคัญพอๆกับเป้าหมาย โดยนัยหนึ่งสำคัญกว่าด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ เราจะไม่สามารถคุมเป้าหมายได้เลยหากเราไม่สามารถคุมกระบวนการได้

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือ อย่าไปสร้างเงื่อนไขความสุขของเรากับผล ที่ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ให้ทำทุกสิ่งที่เราคิดว่าควร แล้วก็พอใจกับมัน

ส่วนสิ่งที่คิดว่าควรนั้นเป็นอย่างไร ก็มีผู้รู้หลายท่านมานำเสนอไว้มากมายอยู่แล้ว เช่น ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ที่สอนว่าหลักนั้นอยู่ที่การใช้ สัจจะ สันติ อหิงสา ปัญญา และมัชฌิมาปฏิปทา เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งไม่ได้ใช้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดผลดังที่เราคาดหรือไม่ หรือเกิดเมื่อไหร่ หากแต่เราสามารถบอกได้ว่าเราจะขับเคลื่อนด้วยกระบวนการอย่างไร

นอกจากนี้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องเร่งรีบ รวบรัด ตัดกระบวนการไปหาคำตอบเร็วเกินไปด้วย ถ้าเราเข้าใจเรื่องทฤษฎีไร้ระเบียบก็จะทราบว่าก่อนที่ระบบหนึ่งๆจะเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่จะต้องใช้พลังจำนวนมาก อาจต้องมีการสั่นไหวของระบบอย่างเพียงพอ เช่นการที่แม่จะคลอดลูกนั้น ฮอร์โมน สารเคมี อัตราการหายใจ เมตาบอลิซึ่มต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงจากค่าปกติอย่างมาก ทั้งแม่และลูกต้องเสี่ยงชีวิต กว่าจะนำมาซึ่งความมหัศจรรย์ของชีวิตใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็อาจเป็นเช่นนี้ด้วย

ดังนั้น ขอให้เราทุกคนวางใจทางการเมืองอย่างไม่เงื่อนไข และอย่าลืมนะครับว่า เราทุกคนมีศักยภาพที่จะมีความสุขกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ และได้ทุกวันเสียด้วยสิ! :-)