เอาการ ไม่เอา(แต่)งาน


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 18 ธันวาคม 2548


เราส่วนใหญ่ต่างชื่นชอบและชื่นชมคนเอาการเอางานครับ โดยเฉพาะท่านที่อยู่ในสถานภาพหัวหน้าทีม ผู้บริหารและเจ้าของกิจการ ถ้าได้ลูกน้องลักษณะนิสัยการทำงาน “เอาการเอางาน” ไว้ร่วมงานแล้ว จะกำหนดภารกิจตั้งเป้าหมายอะไรไว้ย่อมมีโอกาสลุล่วงหรือดำเนินการสำเร็จไปได้

เอาการเอางาน เป็นสำนวนไทย พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.๒๕๔๒ ได้ให้ความหมายไว้ คือ “ตั้งใจทำงานด้วยความขยันขันแข็ง” คุณสมบัตินี้ย่อมเป็นที่ต้องการของบริษัท ห้างร้าน สถาบัน มูลนิธิ องค์กรต่างๆ แน่นอนครับ ถึงคราวสัมภาษณ์คัดเลือกพนักงานใหม่คราใด ก็มักจะพยายามวัดแววว่าเป็นคนเอาการเอางานดังว่านี้หรือเปล่า บ้างก็ถามผู้สมัครกันตรงๆ เลยว่า คุณเป็นคนขยันแค่ไหน? มาทำงานวันหยุดโดยไม่มีโอทีได้หรือไม่?

สำหรับตัวคนทำงานล่ะครับ? การเป็นคนเอาการเอางาน ขยันขันแข็ง ย่อมช่วยให้เรามีความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน ยิ่งถ้าทำกิจการส่วนตัวจะยิ่งเห็นประโยชน์ที่ได้รับจากความเอาการเอางานนี้เต็มๆ

แต่จะมีประโยชน์จริงๆ ไหมครับ หากเราต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ ชีวิตขาดสมดุล แล้วไร้ความสุข .. อย่างนี้ไม่ได้การครับ เพราะเราต้องทำงานไปพร้อมกับมีความสุขจากการทำงานด้วย

เรียกได้ว่า “เอางาน” และยัง “ได้การ” ด้วยครับ! การทำงานประเภทมุมานะสนใจแต่ตัวงานล้วนๆ ผมขอเรียกง่ายๆ ว่า “เอาแต่งาน” ครับ

เคยมีเพื่อนร่วมงานหรือเคยเป็นคนเอาแต่งานไหมครับ? คนที่ก้มหน้าก้มตาทำงาน ไม่เคยเลยที่จะสนทนาวิสาสะกับเพื่อนร่วมงานในเรื่องอื่น นอกจากการประสานงานตามลำดับขั้นตอน หรือหัวหน้าที่จะพูดกับลูกทีมเมื่อต้องการสั่งงาน ตำหนิ อธิบายงานเท่านั้น ส่วนลักษณะอาการเอาแต่งานที่หนักกว่านี้ก็อย่างเช่น มุ่งสร้างผลงานให้ตัวเองเป็นหลัก เรื่องจะช่วยเหลือเพื่อนร่วมงานอื่นนั้นแทบเป็นไปไม่ได้ ทำนองว่างานใครจะเป็นไงก็ช่าง งานฉันเสร็จเป็นพอ หากทำงานแบบนี้ถือว่าได้งาน แต่ท่าจะไม่ได้การละครับ โรคเครียดรุมเร้า ความสุขเตลิดหนี สุขภาวะทุกมิติก็ทรุดโทรมไปด้วย

โอกาสที่เราทำงานมาแล้วเกือบครบปีนี้ ผมจึงชักชวนเราให้ “เอาการ ไม่เอา(แต่)งาน” ครับ ยืนยันว่า “ไม่เอา(แต่)งาน” ไม่ใช่ชวนให้ไม่เอางานนะครับ เพราะผมไม่ได้ชี้ช่องให้โดดงาน เฉื่อยงาน แต่เชื้อเชิญให้เราเปิดให้มี “พื้นที่นอกงาน” (Non-work Space) อยู่ในชีวิตการทำงานประจำวันของเรากัน สร้างพื้นที่นอกงานนี้ให้พอเหมาะพอสมควรเป็นสัดส่วนพอดีกับงานประจำด้วยนะครับ ไม่เอาชีวิตหรือทั้งชีวิตไปผูกกับตัวงานตลอดเวลา

พื้นที่นอกงานนี้ ใช่มีความหมายเชิงกายภาพอันเป็นสถานที่เท่านั้นครับ แต่หมายรวมถึง ความนึกคิดของเรา กิจกรรมที่เราทำ ทั้งในและนอกสถานที่ทำงาน สำหรับแต่ละคนต่างมีพื้นที่นอกงานในแบบของตัวเองต่างกันออกไป เช่น พักกลางวันก็หยุดคิดกังวลเรื่องงานไปเพลิดเพลินกับอาหารกลางวันให้เต็มที่ ระหว่างเดินไปติดต่องานฝ่ายอื่นก็แวะไปไต่ถามสารทุกข์สุกดิบของเพื่อนต่างฝ่ายบ้าง การจัดเป็นโต๊ะกาแฟในสำนักงาน สร้างมุมหนังสือเล็กๆ ไว้ในออฟฟิศ

ตัวอย่างง่ายๆ กรณีหัวหน้าชวนลูกทีมไปทานข้าวกลางวัน โอกาสนี้ได้เปิดให้ถามความเป็นไปของกัน ได้ทราบว่าคนในทีมมีความสุขกับปริมาณงานที่มอบหมายให้หรือไร บรรยากาศความไม่เป็นทางการและอยู่นอกงานนี้แหละครับจะช่วยให้เผยความรู้สึกได้มากกว่า ถามคำถามเดียวกันในห้องผู้จัดการกับถามบนโต๊ะอาหารนั้น แม้เป็นประโยคเดียวกัน แต่ย่อมเจือน้ำเสียงและความรู้สึกต่างกัน แน่นอนครับว่าประการหลังจะมีความจริงใจและเปิดเผยกว่ามาก

การมีพื้นที่นอกงานร่วมกันในหมู่คนทำงาน ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้กันและกันผ่านกิจกรรมที่ไม่ใช่การทำงานครับ เปิดโอกาสให้เราได้เห็นมิติความเป็นเพื่อนเป็นพี่ ความเป็นมนุษย์ของหัวหน้าทีม เห็นความอ่อนโยนของผู้บริหาร เห็นความเป็นผู้นำของพนักงานระดับปฏิบัติการ สิ่งเหล่านี้หล่อหลอมเราให้มีความเข้าใจกันมากขึ้น เป็นพื้นฐานที่สำคัญและมั่นคงของการทำงานร่วมกันเป็นทีม (Teamwork) ที่เกื้อหนุนสอดประสานกันไป

พื้นที่นอกงานที่ผมสนับสนุนและลุ้นให้เราได้ทำเพราะเห็นว่าเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายคือ งานอาสาเพื่อส่วนรวมครับ เป็นกิจกรรมหรืออะไรก็ได้เล็กๆ น้อยๆ ทำด้วยใจ ให้ทุกคนมีจิตอาสา ทำในที่ทำงานหรือชุมชนละแวกใกล้ก็ได้ เริ่มจากบริจาคโลหิต ร่วมกันจัดกิจกรรมบริจาคเสื้อในช่วงฤดูหนาว ทำความสะอาดปลูกแต่งต้นไม้บริเวณทางเท้าหน้าอาคาร ไปจนถึงชักชวนพนักงานร่วมกันอ่านหนังสือให้คนตาบอด หรือแม้แต่สอนภาษาอังกฤษให้เด็กๆ ชุมชนใกล้ที่ทำงาน

ประโยชน์อย่างยิ่งคือ คนทำงานได้ใช้พื้นที่นอกงานยกระดับจิตใจ ได้ทำสิ่งดีๆ แก่ผู้อื่น ได้ตระหนักรับรู้ว่าเราสัมพันธ์เชื่อมโยงกับคนอื่นทั้งในที่ทำงานด้วยกัน อยู่ในอาคารเดียวกัน อยู่ร่วมสังคมเดียวกัน บริษัทองค์กรเองก็ได้ภาพลักษณ์ขององค์กร ดีกว่าพยายามสร้างภาพพจน์ให้ดีแต่สิ้นเปลืองงบประมาณประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อทีวีวิทยุ

ชวนกันมาสร้าง Happiness@Work มา “เอาการ ไม่เอา(แต่)งาน” โดยเปิดพื้นที่นอกงานกันครับ [ตัวอย่างเช่น บริษัทปูนซีเมนต์ไทย พาพนักงานร่วมกันทำความสะอาดเก็บขยะในแม่น้ำเจ้าพระยากับโครงการ “อาสาเพื่อในหลวง” (www.V4King.in.th) โดย สสส. และเครือข่ายจิตอาสา (volunteerspirit.org) ในวันอังคารที่ ๒๗ ธันวาคมนี้ สร้างความดีแก่สังคมถวายแด่พระองค์ท่านในวโรกาสจะทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปีครับ] :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 17 ธันวาคม 2548


ภายในโรงพยาบาลซินเตี้ยน มูลนิธิพุทธฉือจี้ เมืองไทเป มีป้ายประกาศปรัชญาของโรงพยาบาล สวยสง่า ท้าทายระบบทุนนิยมอยู่ ที่ป้ายมีประโยคเรียบง่ายว่า “The Mission to be a Humane Doctor.” (พันธกิจ คือ การเป็นแพทย์ที่มีความเป็นมนุษย์)

ใครที่รู้จักงานของสมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก “พระบิดาของวงการแพทย์ไทย” คงจะอึ้งทึ่งกับข้อความซึ่งช่างคล้ายคลึงกับข้อแนะนำที่ท่านเคยพระราชทานให้แก่แพทย์ไทยที่ว่า “ขอให้ท่านทั้งหลายที่จบการศึกษาเป็นทั้งแพทย์และมนุษย์เดินดิน” (I do not want you to be only a doctor, but I also want you to be a man.)

พันธกิจที่ติดไว้ก็ไม่ได้เป็นแค่คำพูดโก้ๆ มีไว้ประกอบการขอมาตรฐาน ISO แต่แสดงออกในทุกมิติของโรงพยาบาล ไม่ว่าจะเป็นตั้งแต่ คำกล่าวของ นพ.หูจื้อถัง ผู้อำนวยการโรงพยาบาลที่ว่า “แพทย์และพยาบาลเป็นบุคคลสำคัญ ที่ต้องลดตนเป็นคนเล็กๆ เพื่อที่จะทำภารกิจที่ยิ่งใหญ่” หรือคำพูด นพ. ไช่ซื่อชือ รองผู้อำนวยการที่ว่า “ต้องเคารพนับถือผู้ป่วยทุกคน เพราะถือว่าเป็นอาจารย์ของเรา” แพทย์ของที่นี่ยิ้มแย้มแจ่มใส ปฏิบัติต่อผู้ป่วยเสมือนญาติ บางครั้งยังเข็นรถเข็นผู้ป่วยออกมาส่งด้วยตนเอง

หากท่านเดินเข้าไปในโรงพยาบาลซินเตี้ยน ท่านก็คงจะแปลกใจกับบรรยากาศที่ไม่เพียงอบร่ำไปด้วยรอยยิ้มแต่ยังมีเสียงดนตรีจากแกรนด์เปียโนที่อาสาสมัครชาวฉือจี้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาเล่น ทั้งดนตรีคลาสสิกและดนตรีป๊อป ให้ผู้ป่วยและญาติได้ผ่อนคลายทุกวัน เมื่อก้าวเท้าเข้ามาในอาคารก็มีอาสาสมัครที่มารอรับด้วยรอยยิ้ม และคำขอบคุณ (ที่ทำให้พวกเขามีโอกาสได้บำเพ็ญตนรับใช้ท่าน) พร้อมช่วยเหลือพาท่านทำกิจกรรมต่างๆ จนเสร็จกระบวนการ

แต่ขอประทานโทษนะครับ งานอาสาเหล่านี้ไม่ใช่จะได้มาทำง่ายๆ นะครับ อาสาสมัครต้องผ่านการฝึกฝนก่อนและต้องรอคิวนานถึงเกือบปีจึงจะได้มีโอกาสมาทำกิจอาสาเพียง ๑ วัน เพราะอาสาสมัครเหล่านี้ถือเช่นเดียวกับที่ นพ.เจี่ยนฮุ่ยเถิง ที่กล่าวว่า “โรงพยาบาลเป็นทั้งสถานประกอบอาชีพและที่ปฏิบัติธรรม เป็นประโยชน์ต่อตัวเองและปูทางให้คนไข้เดินหน้าไปได้สะดวกขึ้น” งานประจำและงานจิตอาสาที่มีคุณค่าเหล่านี้คือ ความดีที่หล่อเลี้ยงชีวิต

โรงพยาบาลมาตรฐานชั้นหนึ่งระดับนานาชาติแห่งนี้ รับรักษาผู้ป่วยทุกคน ทุกระดับ ด้วยจิตบริการเสมอกัน โดยไม่เว้น แม้ว่าจะไม่มีเงิน หรือประกันสังคมก็ตาม ท่านอาจารย์สุมน สมาชิกจิตวิวัฒน์ที่ร่วมดูงาน (ที่จัดโดยศูนย์คุณธรรม) ถึงกับกล่าวว่าอยากเป็นคนไข้ที่นี่ เพราะรู้ว่าจะได้รับการปฏิบัติอย่างมีเกียรติ มีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์!

คณะที่เดินทางไปด้วยกันยังได้ไปดูเบื้องหลังความสำเร็จของโรงพยาบาลชั้นนำของไต้หวันแห่งนี้อีกด้วย คือ มหาวิทยาลัยพุทธฉื้อจี้ ที่เมืองฮั้วเหลียน มหาวิทยาลัยมีคำขวัญคือ “ฉือ เป่ย สี เสิ่ง” คือ พรหมวิหารสี่: เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา นั่นเอง (ข้าพเจ้าหวนนึกคำของพระบิดาของวงการแพทย์ไทยอีกที่ว่า “อาชีพแพทย์นั้นจำต้องยึดมั่นในอุดมคติ เมตตากรุณาคุณ”) ที่นี่นักศึกษาที่สอบเอนทรานซ์เข้ามาแม้คะแนนจะไม่สูงนัก แต่ยามจบเป็นบัณฑิต สอบใบประกอบโรคศิลป์กลับได้ลำดับต้นๆ ของประเทศ

มหาวิทยาลัยมีความโดดเด่นตรงการผสมผสาน กลมกลืน มิติของกาย จิต สังคม และจิตวิญญาณเข้าด้วยกัน มีการสอดแทรกเรื่องศิลปะ วัฒนธรรม จิตสำนึกอยู่ในชีวิตประจำวัน นักศึกษาได้ฝึกการภาวนา เจริญสติ นั่งสมาธิ เขียนพู่กันจีน ชงชา และจัดดอกไม้ เพราะเชื่อว่านักศึกษาสามารถเห็นดอกไม้แล้วเห็นความเป็นทั้งหมด ความเป็นหนึ่งเดียว เห็นความงามของจักรวาลได้ เป็นชุดประสบการณ์ที่ทำให้นักศึกษาเข้าใจจิตใจของคนไข้และญาติ เข้าถึงสุนทรียภาพ ความอ่อนโยน ละเมียดละไม เข้าใจธรรมชาติความเป็นคนไปพร้อมความวิทยาการเทคโนโลยีตะวันตก

ที่นี่มีวิชากายวิภาคศาสตร์ที่โดดเด่นเป็นที่หนึ่งของไต้หวัน นักศึกษาจะได้รู้จักประวัติของอาจารย์ใหญ่ (ศพที่บริจาคเพื่อการศึกษา) ได้ไปใกล้ชิดกับญาติของอาจารย์ใหญ่ จนราวกับเป็นครอบครัวเดียวกัน มีการประกอบพิธีกรรมอันงดงามร่วมกันทั้งก่อนและหลังเรียน เป็นการบ่มเพาะให้นักศึกษาเรียนแล้วเกิดสำนึกในบุญคุณของอาจารย์ใหญ่และผู้ป่วยอื่นๆ ในอนาคต

เป็นโรงเรียนแพทย์ที่บุกเบิกรณรงค์ให้ชาวไต้หวันบริจาคร่างกายเพื่อการศึกษา (เพราะขัดกับความเชื่อเดิมของชาวจีน) จากเดิมที่มหาวิทยาลัยทั่วไต้หวันไม่ค่อยมีจะเรียน ปัจจุบันมีชาวบ้านธรรมดาที่มีจิตใจที่ยิ่งใหญ่บริจาคกันมากจนมีเหลือเผื่อแผ่ไปยังที่อื่น อาจารย์ใหญ่ท่านหนึ่งป่วยเป็นมะเร็ง ถึงกับยอมไม่รักษาตัวเองด้วยเคมีบำบัด ยอมทนความเจ็บปวด ด้วยความปรารถนาที่จะได้ให้นักศึกษาเห็นเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนจริง มีความรู้เพื่อที่จะไปรักษาผู้อื่นมากที่สุด อาจารย์ใหญ่อีกท่านบอกว่า “เมื่อฉันตายไปแล้ว เธอจะใช้มีดกรีดฉันผิดกี่ครั้งก็ได้ แต่เมื่อพวกเธอจบออกไป ห้ามกรีดผิดแม้แต่ครั้งเดียว

ทั้งหมดเป็นการดูงานที่อุดมไปด้วยเรื่องราวที่เกิดปิติอย่างยิ่ง เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) เป็นระบบการศึกษาที่งดงามอย่างที่สุด ที่กลุ่มจิตวิวัฒน์และเครือข่าย (เช่น สถาบันอาศรมศิลป์ โรงเรียนสัตยาไส เสมสิกขาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล) กำลังสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการทำงานเป็นเครือข่ายทั่วประเทศ

จิตปัญญาศึกษา การศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนมีความเป็นเลิศทั้งเรื่องวิทยาการภายนอกและพัฒนาการภายใน รู้จักรู้ใจตนเอง เป็นการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียน สถาบันการศึกษา และสังคมโดยรวมเข้าสู่ความเป็นจิตวิวัฒน์ไปพร้อมกัน

ดังเช่นที่ ท่านอาจารย์ประเวศ เคยกล่าวในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ ในหัวข้อ “แผนที่ความสุข” ว่า “ที่สุดแล้วคนทุกคนน่าจะเชี่ยวชาญ 2 เรื่อง เรื่องแรกคือเชี่ยวชาญในอาชีพอย่างที่เป็นกันอยู่แล้ว กับอีกเรื่องหนึ่งคือ เชี่ยวชาญในการสร้างความสุขให้ตนเอง และช่วยให้เพื่อนมนุษย์สร้างความสุขได้

หรือคำของพระบรมราชชนกที่กล่าวไว้อีกเช่นกันว่า “ความสำเร็จมิใช่อยู่ที่การเรียนรู้ หากแต่เป็นการนำไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่เพื่อนมนุษย์” นั่นเอง


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 4 ธันวาคม 2548


เดือนธันวาคมมาถึงแล้วครับ! เดือนที่บรรยากาศอบอวลไปด้วยความสุข ด้วยว่าอุดมทั้งเทศกาลงานรื่นเริง วันหยุดชดเชย และวาระสำคัญต่างๆ ไล่เรียงมาเป็นลำดับนับแต่ วันพ่อ วันรัฐธรรมนูญ วันคริสต์มาส และวันสิ้นปี ยังไม่นับงานฉลองปีใหม่ของบรรดาบริษัทห้างร้านต่างๆ บางคนยังได้รับโบนัสปลายปีอีกด้วย

ช่วงเวลาแห่งความสุขนี้เราจะเห็นทุกคนต่างให้สิ่งดีๆ แก่กันและกันในหลากหลายแบบครับ นับแต่การน้อมใจภักดิ์ถวายพระพรแด่พระองค์ท่านจากใจชาวไทยทุกหมู่เหล่า การกราบเท้าและบอกรักคุณพ่อ (คุณแม่ และญาติผู้ใหญ่) ขอบพระคุณที่ท่านได้ให้กำเนิดอบรมเลี้ยงดูเรามา การเลือกสรรหาของขวัญที่มีคุณค่าทางจิตใจมอบให้แก่เพื่อน ให้แก่คนรัก สำหรับหลายคนได้ใช้ช่วงสิ้นปีนี้ทำบุญในศาสนสถาน ให้ทานคนยากไร้

และโดยเฉพาะวันที่ ๒๖ ธันวาคมปีนี้ เราคงลืมวาระครบรอบ ๑ ปีของหายนภัยสึนามิใน ๖ จังหวัดภาคใต้ไปไม่ได้ การสูญเสียจากอุบัติภัยที่ไม่คาดฝันนี้ ได้เกิดคลื่นสะท้อนกลับนำความรักความห่วงใยและน้ำใจหลากไหลสู่พี่น้องผู้ประสบภัยในพื้นที่ ปีนี้เราคงได้หวนระลึกว่าต่างได้เคยให้สิ่งดีๆ เพื่อเยียวยาใจกัน ทั้งสิ่งของเครื่องใช้ และร่วมลงมือลงแรงทำงานอาสาสมัครอย่างแข็งขันกันมาแล้ว

พลังน้ำใจที่มุ่งมั่นช่วยเหลือกันนับแต่เกิดหายนภัยนี้ เป็นปรากฏการณ์สำคัญยืนยันว่าโดยพื้นฐานแล้วทุกคนต่างมีจิตใจที่ดีงามภายใน พร้อมที่จะให้ พร้อมที่จะแบ่งปันแก่เพื่อนที่มีทุกข์ กล่าวได้ว่า วันที่ ๒๗ ธันวาคม ถัดจากวันที่สูญเสีย เป็น "วันจิตอาสา" วันปลุกกระแสอาสาสมัครของไทยและทั่วโลก วันสำคัญอีกวันหนึ่งซึ่งเราทุกคนจดจำและเป็นวันที่ได้ให้สิ่งดีๆ แก่กันอีกวันหนึ่งในเดือนธันวาคม

การให้และการได้รับนั้นต่างมีความสุขเช่นกันครับ ไม่ว่าจะเป็นการให้เพียงเล็กน้อย เช่น ของขวัญปีใหม่สำหรับมิตรสหาย หรือการให้เพื่อช่วยเหลือเกื้อกูลชีวิตเพื่อนพี่น้องชาวใต้ที่ประสบภัยธรรมชาติ เราเองต่างสามารถให้ได้มากน้อยตามกำลังและโอกาสของเราเอง หลายคนยืนยันชัดเจนครับว่าเขามีความสุขมากมายจากการได้อุทิศเพื่อคนอื่น และความสุขที่หลายคนได้รับกลับมานั้นก็ได้เปลี่ยนทัศนะต่อโลกและชีวิตของเขาไปโดยสิ้นเชิง

แต่ขณะเดียวกัน บางคนกลับยังไม่พบความสุขจากการให้ครับ บ้างยังรู้สึกว่าการให้สิ่งของไม่ก่อให้เกิดความยั่งยืนและไม่ส่งเสริมให้เขาช่วยเหลือตัวเองได้ บางคนหลังจากได้บริจาคทรัพย์แล้วความรู้สึกดีก็จืดจางลงอย่างรวดเร็ว บ้างถึงกลับเสียใจที่พบว่าผู้รับไม่ได้มีสีหน้ายินดีกับความช่วยเหลือของเขา พาลให้ตั้งคำถามต่อความสุขที่ได้จากการทำดี ความสุขจากการได้ให้ไปเสียเลย

ความสุขจากการให้คืออะไร? หลายวันที่ผ่านมาผมมีโอกาสได้ไปเยี่ยมชมงานของมูลนิธิพุทธฉือจี้ ที่ประเทศไต้หวัน ซึ่งศูนย์คุณธรรม (ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาพลังแผ่นดินเชิงคุณธรรม) ได้เอื้อเฟื้อการเดินทางครั้งนี้ ผมได้พบเห็นเรื่องราวดีๆ ต่างๆ มากมายที่เกิดจากแรงบันดาลใจ ความรักที่มีต่อเพื่อนมนุษย์และต่อโลก และผมพบว่าเหล่าอาสาสมัครจำนวนนับล้านของมูลนิธิฉือจี้นั้นมีความเชื่อมั่นต่อความสุขจากการให้เพียงไร

มูลนิธิฉื้อจี้ซึ่งนำโดยท่านธรรมจารย์เจิ้งเหยียนนั้น มีพันธกิจเพื่อเพื่อนมนุษย์ต่างๆ มากมายครับ สามารถก่อตั้งโรงเรียน มหาวิทยาลัย และโรงพยาบาล ตลอดจนมีอาสาสมัครจำนวนหกล้านกว่าคน ครอบคลุมหลายสิบประเทศทั่วโลก แต่สิ่งสำคัญที่น่าสนใจที่สุดมิได้อยู่ที่ความใหญ่โตของอาคาร หรือจำนวนอาสาสมัครครับ

สิ่งสำคัญที่ผมได้พบคือ ชาวฉือจี้ทุกคนถือว่าการไปช่วยเหลือผู้อื่นนั้น จะต้องไม่ถือว่าเขาอยู่ในสถานะที่ด้อยกว่าเรา แต่เราจะเคารพเขาซึ่งเป็นผู้รับอย่างนอบน้อมและจริงใจ คุณจะไม่พบหรอกครับว่าชาวฉือจี้ช่วยเหลือผู้ประสบภัยด้วยการโยนสิ่งของลงจากเฮลิคอปเตอร์ หรือส่งของให้โดยไม่มองหน้าผู้รับ แม้ว่าจะรีบเร่งหรือมีของจำนวนมากแค่ไหน แต่เขาจะพนมมือไหว้สวัสดีผู้รับอย่างจริงใจ ยื่นของให้ด้วยสองมืออย่างเคารพนบนอบ ด้วยเพราะเราถือว่าความทุกข์ของผู้ประสบภัยในฐานะผู้รับนั้น ได้เปิดโอกาสให้เราได้ให้ ให้เราได้สร้างกุศล ก่อบุญ และได้พัฒนายกระดับจิตใจของเรา ถือเป็นเนื้อนาบุญของเรา

กลับมาทบทวนนึกถึงเพื่อนๆ เราที่เขาไม่มีความสุขจากให้ หรือแม้แต่ตัวเราเองในบางครั้งที่ได้ให้ทานช่วยเหลือผู้อื่นแต่พบว่าไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงกันครับ ผมชักชวนให้เราลองเปลี่ยนมุมมองใหม่ในการให้ เรียนรู้จากแนวทางของชาวฉือจี้ มาสู่การให้ของเราที่ช่วยเขาด้วยความขอบคุณ และเคารพในตัวคนที่เป็นผู้รับ ในฐานะที่มีสถานภาพทัดเทียมกับเรา เพียงแต่ ณ เวลานี้ที่เขามีทุกข์ เป็นเหตุเป็นช่วงเวลาที่ได้เปิดโอกาสให้เราได้ทำดี ได้ขัดเกลาจิตใจของเราให้ได้มองออกไปพ้นจากตัวเอง

ไม่จำเป็นว่าการทำสิ่งดีๆ ให้คนอื่นนี้ต้องเป็นเรื่องช่วยเหลือผู้ประสบภัยเท่านั้นนะครับ แต่รวมถึงทุกวันในชีวิตของเรา ทั้งในบ้าน ในสถานที่ทำงาน สิ่งเล็กๆ น้อยในบ้านและที่ทำงานเราก็ทำเพื่อช่วยเหลือกันได้ เราช่วยเพื่อนร่วมงานพร้อมกับรู้สึกดีว่าเขาทำให้เราได้มีโอกาสทำดี เช่น เขาใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์บางอย่างไม่เป็น เราก็สอนเขา ทำให้เราได้ทบทวนความรู้ของเรา และเราก็รู้สึกเคารพเขาอย่างจริงใจ รู้สึกว่าไม่ใช่เพราะเขาด้อยกว่ารู้น้อยกว่าจึงต้องการฝีมือเราช่วย แต่เพราะครั้งนี้เขาต้องทำสิ่งที่ไม่ถนัด ไม่คุ้นเคย เปิดให้เราได้ช่วยเหลือ และเราได้รับเกียรติที่จะได้ช่วยครับ ง่ายๆ แค่นี้เราก็มีสุขจากการให้แน่นอนครับ

แถมอีกนิดครับ เรามาทำให้เดือนธันวาคม เดือนแห่งความสุขของเราเป็น เดือนแห่งความสุขจากการทำดีให้คนอื่น กันเถอะครับ ทาง สสส. (สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ) และเครือข่ายจิตอาสา (www.VolunteerSpirit.org) เองก็มี โครงการอาสาเพื่อในหลวง (www.V4King.in.th) ชักชวนพวกเราชาวไทยมีจิตใจจิตสำนึกอาสา ทำอะไรก็ได้มากน้อยแก่ครอบครัว แก่ที่ทำงาน แก่ส่วนรวม ถวายแด่ในหลวงในวโรกาสจะทรงครองราชย์ครบ ๖๐ ปี มาร่วมกันให้แก่คนรอบข้างอย่างเคารพและขอบคุณกันด้วยใจกันครับ :-)

สุขดี...ไม่มีหวัง


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 20 พฤศจิกายน 2548


ผมเพิ่งพบกับเพื่อนคนหนึ่งมาครับ เขาเล่าประสบการณ์น่าสนใจของเขาในช่วงเดือนที่ผ่านมาให้ฟังผมว่า เขาได้รับผิดชอบงานสำคัญโครงการหนึ่ง และให้เวลากับงานนี้วันละมากกว่า ๑๒ ชั่วโมง ทำงานทุกวันติดกันต่อเนื่องไม่ได้หยุดเลยแม้แต่วันเสาร์อาทิตย์ แต่ปรากฏว่า แม้จะทุ่มเทเวลาให้งานมากเท่าไหร่ ตัวเขาเองกลับทำงานช้า หรือไม่มีไอเดียดีๆ ออกมามากนัก เพราะคิดอยู่เสมอว่างานนี้ไม่ง่าย ต้องเกี่ยวข้องกับคนหลายฝ่ายหลายองค์กร บางองค์กรก็ไม่ถูกกัน กำหนดเส้นตายวันปิดโครงการก็ใกล้เข้ามาเรื่อยๆ

เขากังวลตลอดเวลาเลยครับว่างานจะไม่เรียบร้อย เพราะว่ากำหนดส่งงานจะมาถึงในอีกไม่ช้า เขากังวลมากจนถึงขั้นจินตนาการนึกภาพไว้ล่วงหน้าถึงวันกำหนดส่งงานได้เลยว่า การนำเสนองานต่อที่ประชุมในวันนั้นอาจจะล้มเหลวแน่ คณะกรรมการต้องให้เขาไปปรับแก้ และแย่กว่านั้นคือถูกหัวหน้าตำหนิแน่นอน เพื่อนของผมยอมรับว่า เขาคาดหวังไว้กับงานนี้มาก แต่ก็รู้สึกเป็นทุกข์มากเช่นเดียวกัน สุดท้ายถึงแม้งานจะเสร็จทันส่ง และไม่มีอะไรแย่อย่างที่คิด แต่เขาก็พบว่าทำงานด้วยความเครียดบนความกลัวมาตลอดทั้งเดือน ทั้งๆ ที่เป็นงานที่เขาชอบ

ไม่เพียงแต่เรื่องงานเท่านั้นครับ เหตุที่โครงการนี้ทำให้เขาต้องรีบมาแต่เช้าแล้วกลับบ้านดึกทุกวัน ทำให้เขามีพื้นที่และเวลาส่วนตัวลดลง โอกาสจะได้เจอกับคนรักก็หายไปด้วย ปรกติทั้งคู่จะนัดพบกันอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้งในวันหยุดสุดสัปดาห์ แต่นี่ทั้งเดือนไม่พบปะเห็นหน้าค่าตากันเลย หลังจากภารกิจงานสำคัญชิ้นนี้เสร็จลง เขาก็คิดว่าควรจะหาของขวัญให้กับเธอสักชิ้น สื่อความหมายนัยหนึ่งเพื่อเป็นการขอโทษที่ไม่ได้ใกล้ชิดเอาใจใส่ อีกทางหนึ่งเพื่อบอกว่าเขายังรักและห่วงใยเธอเหมือนเดิม เพื่อให้ได้ของขวัญที่ถูกใจเธอ เขาลงทุนซื้อน้ำหอมต่างประเทศ พนักงานขายก็ช่วยกุลีกุจอเลือกกลิ่นให้ เขาเองก็ถามแล้วถามอีกจนมั่นใจว่ากลิ่นนี้ ยี่ห้อนี้ ได้รับความนิยม น่าจะถูกใจแฟนที่เป็นคนรักสวยรักงามและทันสมัย

ปรากฏว่าเมื่อแฟนเขาแกะห่อของขวัญออกมาพบว่าเป็นน้ำหอมขวดราคาหลายพัน เธอก็ขมวดคิ้ว บอกเขาว่าซื้อยี่ห้อนี้มาทำไมกัน สิ้นเปลืองเปล่าๆ เธอใช้อีกยี่ห้อนึงเป็นประจำอยู่แล้ว แถมถ้าจะซื้อน้ำหอมต้องได้ลองกลิ่นก่อน เพื่อนผมได้เห็นสีหน้าได้ยินแฟนว่าดังนี้แล้วก็จ๋อยทันทีครับ รู้สึกน้อยใจ ผิดหวัง และรู้สึกแย่ที่ทำดีแล้วไม่ได้ดี นึกถึงวลีว่าทำคุณบูชาโทษขึ้นมาทันที แม้ว่าเย็นวันนั้นแฟนทำอาหารอร่อยๆ ให้ทาน แต่เขาก็ไม่รู้สึกถึงรสอาหาร ใจมันกลัดกลุ้มว่าไม่น่าซื้อน้ำหอมมาให้เป็นของขวัญเลย เขาพาลน้อยใจจนคุยอะไรก็ไม่สนุก ทั้งที่อุตส่าห์ได้เจอกันวันแรกในรอบหนึ่งเดือน

ผมเอาเรื่องเพื่อนมาเล่าสู่กันฟังในวันนี้เพื่อบอกเล่าเรื่อง ๒ ประเด็นครับ ประเด็นแรกคือการทำงาน เราเห็นได้ชัดเลยครับว่าเป็นเรื่องการคาดหวังที่ทำให้เกิดความกังวลในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น เพราะขณะที่เขากำลังทำงานใจก็คิดไปถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง ด้วยการจินตนาการ คาดเดา และคาดหวังไปต่างๆ นานา การทำงานที่มัวแต่กังวลถึงเรื่องเหล่านี้ เป็นการผูกติดความรู้สึกของเราไว้กับอนาคตครับ ขึ้นชื่อว่าเป็นอนาคตย่อมแน่นอนว่าเป็นสิ่งที่ยังมาไม่ถึง และเมื่อมาถึงแล้วอาจเป็นไปตามที่คาดหรือไม่ก็ได้ ฉะนั้น การคาดหวังและกังวลต่ออนาคตวันข้างหน้า เดือนหน้า ปีหน้า สิ่งที่เกิดขึ้นกับเราจะมีแต่ความเครียดและความกลัว

ประเด็นที่สองคือเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างคนรัก เรื่องที่เขาซื้อของขวัญให้กับแฟนก็ชัดเจนเช่นกันครับว่าเป็นเรื่องของความผิดหวัง เพราะหวังไว้ว่าผลจากการกระทำหรือจากการให้ของ น่าจะทำให้ผู้รับดีใจและชื่นชม แต่เมื่อผลกลับกลายไม่เป็นไปตามคิด เขาจึงผิดหวังเพราะไม่พอใจกับปฏิกิริยาของแฟน เรียกได้ว่าทำอะไรดีๆ ให้คนที่เรารัก แต่เขากลับทำตัวไม่น่ารักเท่าไหร่ ความผิดหวังก็พาลให้นึกไปถึงอดีตว่าถ้าย้อนเวลากลับไปได้ จะไม่ทำ จะไม่ซื้อของ หรือจะซื้ออย่างอื่นมาแทน ใจหมกมุ่นกับอดีตก็มีแต่ความเสียใจ และความโกรธ อะไรตรงหน้าที่ดีๆ ก็ไม่รับ ไม่มีความสุขกับอาหารที่แฟนทำให้

เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกไม่พึงประสงค์ทั้งหลายแหล่ ไม่ว่าจะเป็นความเครียด ความกลัว ความโกรธ เสียใจ เราหันมาแสวงหาความสุขกันดีกว่าครับ ในเมื่อความรู้สึกบ่อนทำลายจิตใจต่างๆ นี้ มีที่มาจากการคาดหวัง และการผิดหวังของเรา ผมจึงชวนให้พวกเรา “ไม่หวัง” กันครับ

ทั้งในที่ทำงานและที่บ้านเลยนะครับ เราสามารถทำงานที่ชอบ ทำงานที่สนุก และมีความสุขจากการได้ทำงานเหล่านั้น ไม่ต้องคาดหวังแล้วกลัวหรือกังวลในสิ่งที่ยังมาไม่ถึง สำหรับที่บ้าน สำหรับคนที่เรารัก เมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้ทำอะไรให้เขา เราควรมีความสุขที่ได้ทำให้โดยไม่คาดหวังว่าจะได้รับอะไรตอบแทน ไม่ว่าจะเป็นคำขอบใจ ยิ้มปลื้ม หรือหอมแก้มเป็นรางวัลสักฟอด

ไม่หวังในที่นี้ จึงเป็นการไม่คิดไปเองก่อน ทำดีที่สุดโดยไม่ลังเลว่าทำแล้วจะดีหรือไม่ ไม่นึกกังวลไปว่าทำแล้วจะเกิดอะไรขึ้น ไม่เสียใจในผลของการทำดีให้คนที่เรารัก แม้ว่าบางครั้งเขาจะทำตัวไม่ค่อยน่ารักสักเท่าไหร่ เอาเป็นว่าเราตั้งใจดีและมีความสุขกับสิ่งที่ทำ ณ เวลาปัจจุบัน ดีที่สุดแล้วครับ

ไม่หวังต่างจากไม่วางแผนหรือไม่ตัดสินใจนะครับ เพราะว่าในชีวิตแต่ละวันของเรานั้น เราได้พยายามเลือกสิ่งที่ดีที่สุด ณ เวลานั้นเสมอครับ ไม่มีใครหรอกครับที่จะเลือกสิ่งที่ดีกว่ารองลงไป ถ้าในเวลานั้นมีทางเลือกที่ดีกว่า เช่น ตัดสินใจซื้อน้ำหอมให้เป็นของขวัญเพราะข้อมูลที่มีเวลานั้นคือแฟนเราชอบ ตัดสินใจสั่งข้าวผัดแทนราดหน้าเพราะรูปในเมนูดูน่ากินกว่า

หาความสุขจากการทำงานที่รัก ได้ทำอะไรให้คนรักที่บ้าน ไม่ต้องคาดหวังผลตอบแทนหรือผิดหวังจากผลที่เกิดขึ้นหรอกครับ มีความสุขในปัจจุบันนี่แหละครับ เป็นความสุขที่แท้จริงและขึ้นอยู่กับตัวเราเองด้วยครับ เชิญชวนให้ลองไม่หวังกันดูนะครับ Happiness@Home และ Happiness@Work เกิดขึ้นได้เริ่มจากใจเราเองครับ :-)

สติดี - มีสุข


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2548


“นับวันการดำเนินชีวิตมีแต่จะเร่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ” ปีเตอร์ รัสเซลล์ เขียนประโยคข้างต้นไว้ในหนังสือ “รู้ตื่นให้ทันการณ์” (แปลจาก Waking Up in Time) เขาบอกเล่าว่าชีวิตปัจจุบันของเราถูกเร่งให้ใช้เวลาในการทำงานต่างๆ น้อยลง เทคโนโลยีที่ได้ก้าวหน้าพัฒนาขึ้นแทนที่จะช่วยให้เราทำงานง่าย สะดวก และมีเวลาเหลือมากกว่าก่อน การณ์กลับเป็นว่าเราถูกคาดหวังให้ทำงานเสร็จเร็วกว่าเดิม เพราะมีเครื่องทุ่นแรงทุ่นเวลามากมาย ยิ่งไปกว่านั้น พวกเราคงรู้ดีว่า ไม่เฉพาะความเร่งที่เพิ่มขึ้น เรายังต้องทำงานให้เสร็จหลายอย่างในเวลาเดียวกันอีกด้วย

โลกการทำงานของเราตอนนี้ พนักงานในสำนักงานไม่ได้มีหน้าที่อย่างเดียวอีกต่อไป คงจะหาคนที่ทำงานจำเพาะอย่างเดียวได้น้อยมากครับ เช่น ทำงานพิมพ์ดีดอย่างเดียว โทรศัพท์นัดหมายประชุมอย่างเดียว ทุกคนจะต้องทำงานได้หลายอย่าง ยิ่งไปกว่านั้น หลายๆ คนมีปริมาณงานมากจนไม่สามารถจัดการให้เสร็จได้ทันกำหนด ชีวิตที่คล้ายได้อัพเกรดจาก DOS เป็น Windows แม้ดูดีขึ้น แต่ก็เสี่ยงกับเครื่องแฮงค์บ่อยๆ

ในช่วงแรกเมื่อมีหน้างานต้องรับผิดชอบจำนวนหนึ่ง เป็นการเปิดศึก ๒ ด้าน เรายังอาจพอรับมือได้ แม้ปริมาณงานเพิ่ม เรายังพอไหว แต่สักระยะผ่านไป หากหน้างานเพิ่มทวีจำนวน กลายเป็นศึก ๑๐ ด้าน ปริมาณก็ทวีคูณ แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถทำให้ดีเท่าระดับเดิมไปให้ตลอดรอดฝั่งได้ หากงานไม่เรียบร้อยเหมือนก่อน ผลพลอยได้ที่อาจตามมาคือความเครียดและความทุกข์เกิดขึ้นกันถ้วนทั่วครับ ตื่นเช้าแต่ละวันบางคนอาจไม่อยากมาทำงาน พอมาถึงที่ทำงานก็ไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อนดี ครั้นทำไม่เสร็จ ทำไม่ดีก็กลัวหัวหน้าตำหนิ ฯลฯ

สถานการณ์ลักษณะนี้เป็นปัญหาที่ศาสตร์ด้านการบริหารจัดการพยายามหาแนวทางวิธีการเพื่อให้ผลของงานราบรื่น องค์กรได้ประโยชน์ และพนักงานมีประสิทธิภาพ แนวทางส่วนหนึ่งอาจกลับมาจัดระบบงานให้ดี ฝึกอบรมพนักงานให้เลือกทำงานตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง ดังเช่นการอบรมแนว Steven Covey คนเขียนหนังสือ "๗ อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลอย่างยิ่ง" (Seven Habits of Highly Effective People) แนะนำให้ลูกทีมและหัวหน้าทีมคุยกันเพื่อกำหนดความคาดหวังและแบ่งงานในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ต่างพยายามแก้ปัญหาที่ตัวระบบกลไกและเทคนิคการทำงานครับ

แต่สิ่งหนึ่งในงานที่ไม่อาจละเลยมองข้าม คือความสุขจากการทำงาน หรือ Happiness@Work ซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจเราเองครับ สภาวการณ์ที่เราเครียดจากการทำงาน รู้สึกเป็นทุกข์จากงานที่ไม่ได้ผลตามคาด หวาดหวั่นการถูกตามงานจากผู้บังคับบัญชา ความสุขจากการทำงานเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นมาจากตัวเราเอง วิธีที่ผมอยากจะแนะนำคือการ “เจริญสติ” ครับ

การเจริญสติ ไม่ได้หมายถึงการนั่งสมาธิหรือห้ามงีบหลับในเวลางานนะครับ แต่หมายถึงการรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ รู้สึกตัวขณะที่กำลังทำงาน ความคิดและจิตใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำตรงหน้า ตัวอย่างเช่น คุณสมชายโทรศัพท์ติดต่องาน พูดสายจนจบแล้ว แต่กลับนึกขึ้นได้ว่าลืมพูดไปอีกเรื่อง ต้องโทรศัพท์กลับไปอีกหน ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างที่โทรศัพท์ก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังถือหูด้วยมือข้างไหน กำลังอยู่ในอิริยาบถใด

การรู้ตัว รู้ตื่น มีสติ ทำให้เรามีความคิดที่แจ่มใส มีโอกาสพาตัวเองรอดจากอารมณ์เครียด กลับไปดูคุณสมชายอีกครั้งครับ คุณสมชายวุ่นวายกับงานทั้งวัน ระหว่างที่โทรศัพท์ก็พิมพ์งานคอมพิวเตอร์ไปด้วย ระหว่างที่ทำงานใจของเขาก็คิดโน่นคิดนี่ไม่ได้หยุดหย่อน บางทีนั่งอยู่ในท่าที่ทำให้ปวดหลัง บางทีก็วิตกกลัวงานไม่เสร็จพลอยทำให้ร่างจดหมายไม่ได้คิดไม่ออกเสียอีก

แต่หากคุณสมชายได้มีเวลาระหว่างวัน ช่วงไหนก็ได้ หยุดสักนิด ดูความรู้สึกของตัวเองว่ากำลังทำอะไร มีสติรู้ตัวขณะที่ทำงาน คุณสมชายอาจจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ยุ่งทั้งงาน ยุ่งทั้งความคิด พอความนิ่งในใจมาถึง จิตใจก็เตรียมพร้อมรับงานแทนที่จะลนลาน งานที่กำลังทำก็มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากจะดีต่องาน คนทำงานก็ “มีสุข” ครับ

การเจริญสติจะทำตอนไหนในระหว่างวันก็ได้ครับ ตัวอย่างเช่น ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส หรือสำนักสาขาทั่วโลก อันเป็นพุทธสถานนิกายเซ็น โดยท่านติช นัท ฮันห์ ที่นั่นเขาจะตีระฆังเป็นระยะตลอดวัน ใครที่ได้ยินเสียงระฆังนี้ จะต้องหยุดจากกิจกรรมที่ทำ และระลึกรู้สึกตัวว่าจิตใจกำลังคิดถึงอะไรอยู่ จดจ่ออยู่กับปัจจุบันหรือไม่ ถ้าใจกำลังกระวนกระวายเพราะคิดถึงเรื่องในวันพรุ่งนี้ ก็ให้กลับมาที่ปัจจุบันเวลานี้ ถ้าจิตใจกำลังลอยล่องนึกถึงเรื่องเมื่อวาน ก็ให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะนี้

เราเองก็ทำได้ครับ ลองหาสัญญาณอะไรก็ได้ที่เหมาะกับเราและงานของเราเอง เช่น ทุก ๑๓ นาฬิกาก่อนเริ่มงานภาคบ่าย ทุกๆ ต้นชั่วโมง หรือทุกครั้งเวลาเปิด/ปิดคอมพิวเตอร์ ลองให้เวลากับใจตัวเองได้เกิดสติสัก ๓ นาที หรือแม้แต่นาทีเดียวก็ยังดีน่ะ หยุดคิดถึงงานที่ยังเหลือ เลิกคิดถึงงานที่เคยทำผิดพลาด แต่เห็นงานตรงหน้า รู้ตัวว่ากำลังทำงานอะไรอยู่ จากนั้นก็ลงมือทำให้ดี ไม่มีความจำเป็นต้องไปห่วงงานที่ยังมาไม่ถึง คิดถึงไปก็ไม่สามารถเอาขึ้นมาทำได้ แถมงานที่กำลังทำก็ไม่ได้ผลดี เพราะจิตใจไม่ได้อยู่กับงานนี้เต็มร้อย เพียงเท่านี้ก็มีสุขได้ง่ายๆ ครับ เดี๋ยวนี้มือถือ ปาล์ม หรือพีดีเอบางรุ่น เขามีฟังก์ชันตั้งปลุกได้หลายๆ ครั้งในหนึ่งวัน ก็น่าใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สะดวกดีนะครับ

หรืออาจเริ่มด้วยเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นโทรศัพท์ก็ได้ครับ ทุกครั้งที่เสียงโทรศัพท์ดัง ให้เราหยุดคิดจากงานบนจอคอมพิวเตอร์ หยุดจากงานบนหน้ากระดาษ และไม่ต้องรีบร้อนรับสาย ปล่อยให้เสียงโทรศัพท์ดังสัก ๓ ครั้ง ระหว่างนั้นเราก็กลับมารู้ตื่น ว่ามีเสียงโทรศัพท์เรียกแล้วนะ เกิดสติว่าเรากำลังจะพูดสายกับคนที่โทรมา หยุดคิดเรื่องงานอื่นไว้ก่อน ระหว่างสนทนาเราก็มีสติพร้อม ตั้งใจจะพูดแต่คำจริง อิงอ่อนหวาน ถูกแก่กาล ผสานไมตรี และมีประโยชน์ ได้ยินและเข้าใจสิ่งที่ปลายสายพูดมากขึ้นแน่นอน เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เราสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอน มีความสุขจากการทำงานมากขึ้นด้วย

เชิญชวนให้ลองปฏิบัติกันดูนะครับ Happiness@Work เกิดขึ้นได้เริ่มจากในใจเราเองครับ :-)

Boon (บุญ) It Forward : ทำดี ทวีสุข


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2548


“คุณจะเปลี่ยนโลกของเราอย่างไรให้ดีขึ้น และจงลงมือทำ!”

คุณๆ อ่านคำสั่งนี้แล้วคิดอะไรรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ? คิดว่าประโยคนี้มาจากหนังไอ้มดแดงแดนปลาดิบที่ได้รับภารกิจมาจากองค์กรลับปกป้องโลกจากสัตว์ประหลาดแหงๆ หรือไม่ก็สไปเดอร์แมนที่ได้ “พลังยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่” ให้พิทักษ์โลก หรือคุณบางคนคงคิดว่ามันเป็นแค่ประโยคปลุกใจเอาไว้ติดท้ายรถ

แต่ประโยคข้างต้นนี้คือการบ้านของเด็กๆ วัยมัธยม ๑ ครับ!

อ๊ะ อย่าเพิ่งอ้าปากค้าง หรือสงสัยว่าโรงเรียนประเภทไหนหนอถึงได้สั่งการบ้านอะไรพิเรนทร์อย่างนี้ เพราะผมกำลังจะเฉลยให้คุณฟังว่า ครูผู้จ่ายการบ้านนี้อยู่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องหนึ่งครับ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าเขาสั่งการบ้านอย่างนี้มาเป็นเวลา ๑๒ ปี ให้แก่เด็กนักเรียน ๑๒ รุ่นแล้ว (ก็เป็นหนังนี่นา)

การบ้านที่น้องๆ หนูๆ เอามาส่งตลอดสิบกว่าปีผ่านมาก็ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายครับ เก็บขยะ ช่วยแม่ล้างจาน แต่ทว่ามีน้องคนนึงครับที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปจริงๆ และผมกำลังจะชวนคุณๆ ให้เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกัน ไม่ต้องถึงขั้นเปลี่ยนโลกหรอกครับ เปลี่ยนสิ่งรอบๆ ตัวคุณก็พอ และเปลี่ยนได้จริงๆ

พระเอกตัวน้อยของเราชื่อเทรเวอร์ครับ พ่อหนูรับเอาการบ้านมาขยายผลเป็นระบบ MLM (การตลาดแบบมัลติเลเยอร์) น้องเทรเวอร์เขาคิดเป็นเรื่องเป็นราวน่าตื่นตาตื่นใจว่า โลกจะดีขึ้นได้แน่ๆ เพียงเราทำดีช่วยเหลือใครสักคนโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ขอแค่ว่าถ้าอยากทดแทนบุญคุณละก็ จงไปช่วยคนอื่นต่ออีก ๓ คน แล้วบอกต่ออย่างเดียวกันนี้สิ

กฎกติกามารยาทก็ง่ายดายครับ จะช่วยอะไรใคร หนึ่งนั้นต้องเป็นการช่วยเหลือกันอย่างแท้จริง สองคือต้องเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และสุดท้ายขอให้เขาช่วยคนอื่นต่อไปอีกสามคน

อย่าได้คิดเชียวว่านี่เป็นเพียงไอเดียบรรเจิดแต่ไม่มีวันเกิดขึ้นนะครับ เพราะผลของมันสะเทือนทั้งเมืองมาแล้ว เช่น รถคุณเกิดเสียเครื่องดับบนทางหลวง โทรศัพท์ก็ไม่มี พลันปรากฏบุคคลนิรนามตรงมาช่วยซ่อมจนรถใช้การได้ แต่แล้วเขาก็จากไปไม่เรียกร้องเงินทอง ขอแค่เมื่อไรที่คุณมีโอกาสที่จะช่วยใครได้ จงช่วยอีก ๓ คน เป็นการตอบแทนความดีที่คุณได้รับครั้งนี้

หนังเขาชื่อ Pay It Forward ครับ แต่ชักชวนคุณๆ กันแล้ว ถือว่าบอกบุญกันดีๆ นี่เองครับ ธรรมเนียมไทยๆ ตั้งชื่อกันใหม่ว่าชวนกันมา “Boon (บุญ) It Forward” ครับ การช่วยเหลือกันมากน้อยแค่ไหนพี่ไทยเราก็ถือว่าได้บุญ ทีนี้ผมเสนอให้ตั้งกติกาใหม่เอาแบบ user-friendly ขึ้น ประมาณว่าทำเองเมื่อไรที่ไหนก็ได้ ง่ายจัง

กติกาข้อหนึ่งเสนอเป็นช่วยใครในเรื่องอะไรก็ได้ที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของเรา ข้อสองเขาอาจจะช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่อันนี้ไม่เป็นไรครับ ดูแค่ว่ามีโอกาสให้เราได้ช่วยเขาไหม ข้อสุดท้าย ถ้าเขารู้สึกขอบคุณอยากตอบแทนเรา ก็ขอแค่ให้เขาได้ทำสิ่งละอันพันละน้อยนี้กับคนอื่นๆ บ้าง

ลองนึกถึงเวลามีใครมาช่วยอะไรคุณ คุณจะนึกถึงอะไรบ้างครับ ส่วนใหญ่ก็ต้องขอบคุณและอยากตอบแทนใช่ไหมละครับ ทีนี้ถ้าบอกขอบคุณไปแล้วมันก็ไม่เกิดประโยชน์โภคผลดอกบุญก็ไม่เบ่งบานเท่าที่ควรสิครับ มันต้องส่งต่อ

สิ่งสำคัญคืออย่าไปติดว่าบุญเป็นเรื่องทำในวัดนะครับ เพราะบุญเป็นเรื่องว่าด้วยความดี กุศล และความสุข เกิดจากการความประพฤติทั้งทางกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะทำที่ไหน ทำแล้วนอกจากจะดียังมีสุขด้วย สำหรับศาสนาพุทธเราถือว่าการช่วยคนอื่นนี้เป็นไวยาวัจจวัย หนึ่งในสิบวิธีทำบุญหรือบุญกริยาวัตถุ๑๐ คือการเสียสละเพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือคนอื่นเมื่อมีโอกาสนี่ล่ะครับ

ยกตัวอย่างตรงประเด็นชี้กันชัดๆ ไปเลย ในสถานที่ทำงานของเรานี่เองครับ มองไปรอบๆ จะมีโอกาสมากมายรอคอยฝีมือเราเข้าช่วยอยู่ เห็นใครถือของสองมือจะเรียกลิฟท์เราก็กดให้ เพื่อนไม่อยู่ที่โต๊ะแต่มีสายเข้าเราช่วยรับสายเขียนโน้ตให้ โอ้โห สารพัดโอกาสแสวงบุญรอบออฟฟิศทีเดียวเชียวละครับ

แต่ไม่ต้องรับคำขอบคุณด้วยรอยยิ้มแล้วจบนะครับ บอกเขาไปเลยว่า “Boon It Forward” ได้นะ ประมาณนี้ เริ่มต้นเราอาจจะยังไม่ต้องบอก เราก็ได้บุญแล้วครับ เพราะบุญมีคุณสมบัติพิเศษ ทำขึ้นมาแล้วไม่หายไปไหน อยู่กับตัวคนทำ มีอยู่มากมีอยู่น้อยขึ้นกับความขยันหมั่นทำของใครของมันครับ

ทำให้บ่อยให้มากขึ้น เราก็ชักชวนเพื่อนฝูงที่ทำงานให้ร่วมด้วยช่วยกันทำบ้าง ทำบุญช่วยกันในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญคือไม่ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายหรอกครับ ใครก็ได้ในออฟฟิศเรา จะเพื่อน รุ่นน้อง แม่บ้าน หรือพนักงานส่งเอกสาร มันต้องมีอะไรสักอย่างที่เราจะช่วยเขาได้บ้างแน่นอนครับ แค่นี้ก็ทวีความสุขกันถ้วนทั่วทั้งสำนักงานแน่ครับ

แถมอีกนิด ไม่ใช่แค่ที่ทำงานนะครับ Boon It Forward หรือทำที่บ้านด้วยก็ได้ ทำแล้วดี ทวีสุขเหมือนกัน :-)

เสวยสุข ด้วยสติ


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 9 ตุลาคม 2548


ล่วงเข้าวันที่เจ็ดของเทศกาลกินเจแล้วครับ คุณผู้อ่านได้มีส่วนร่วมในเทศกาลนี้บ้างหรือเปล่า?

สัปดาห์ที่ผ่านมา มองไปทางไหนก็เห็นแต่ธงสีเหลืองปักกันไสว เย้ายวนใจให้เข้าร่วมบริโภคบุญกินอาหารเจ ลดละการเบียดเบียนชีวิตสัตว์เพื่อนร่วมโลกของเรา ใครที่อยากจะทำบุญ ทำสิ่งดีๆ ให้กับโลกและตัวเอง ก็ได้ถือเอาโอกาสนี้ ถือเอากระแสเทศกาลกินเจ ละเว้นการบริโภคเนื้อสัตว์ไปด้วย เพราะนอกจากจะอิน
เทรนด์แล้ว ยังซื้อหารับประทานได้ง่าย ไม่เหมือนช่วงนอกเทศกาลที่จะหารับประสานก็ยุ่งยากวุ่นวายกว่า

แต่วันนี้ผมไม่ได้มาชักชวนคุณผู้อ่านทั้งหลายมาทานเจกันหรอกครับ อยากเชื้อเชิญให้ทุกท่านได้เสวยสุข บริโภคกันอย่างมีความสุข ตามจริตตามความชอบ และปัจจัยจำกัดของใครของมันกัน ไม่ว่าคุณจะทานเจหรือไม่ก็ตาม

เพราะเราทุกคนล้วนต่างเลือกบริโภคอาหารด้วยเหตุผลต่างๆ กันไป บ้างเลือกจากประโยชน์ บ้างเลือกจากราคา บ้างก็เลือกเพราะความอร่อย แต่ละคนมีความชอบในรสชาติอาหารแตกต่างกันออกไป ใช่ว่าทุกคนจะอิ่มเอมกับอาหารเจได้เท่าๆ กันใช่ไหมครับ? บ้างก็ชอบทานปลา บ้างก็ชอบทานผัก ฉะนั้น สำหรับคนที่ไม่ชอบผักแต่มักเนื้อ ก็คงจะรู้สึกทุกข์กับอาหารเจไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะถ้าเป็นคนมักเนื้อที่ตั้งใจไว้ว่าเทศกาลงานบุญจะอดทนรับประทานเจเพื่อให้ได้บุญ จึงมีโอกาสสูงมากที่จะกินเจไปเป็นทุกข์ไปด้วยไม่พึงพอใจกับรสชาติที่ไม่คุ้นลิ้น

ในอีกกรณี บางคนตั้งใจกินเจไปจนจบคอร์สเทศกาล แต่เริ่มทานไปได้ 5 วัน ดันมีเหตุให้เผลอทานเบเกอรี่อันมีส่วนประกอบของนมเนย เพียงเท่านั้นก็รู้สึกแย่ แถมพร่ำบ่นกับคนใกล้ตัวที่บ้านว่า “ว้า ไม่น่าเลย” อยู่อย่างนั้นทั้งวัน อย่างนี้ก็เป็นอีกกรณีที่บริโภคแล้วไม่มีสุขครับ ทั้งๆ ที่การเลือกที่จะกินอะไรนั้น ตัวเราเองนี่แหละที่เป็นคนตัดสินใจ จะมีใครมาบังคับก็หาไม่

แปลกไหมละครับ? ประสบการณ์การกินเจเหมือนกัน แต่กลับมีผลต่อคนต่างกัน ความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ต่างกันนี้ ล้วนมาจากประสบการณ์การกินเดียวกัน

ประเด็นของเรื่องก็คือ ใจของเราเองครับ คนที่ทานเจหรือไม่ทานเจ แต่ยังบริโภคอย่างมีความสุขได้ นั่นเพราะเขาเอาใจไปจับกับประสบการณ์ในเชิงบวก ความรู้สึกเป็นสุขก็เกิดได้ไม่ยาก

ในทางกลับกัน คนๆ เดิมถ้าเอาใจไปจับกับเรื่องเดิมในทางลบ กินเจแล้วคิดว่าไม่อร่อย รสชาติไม่ดี หรือมัวแต่นึกถึงบะหมี่หมูแดงเข้า อย่างนี้กินเจไปก็ไม่มีความสุขแน่ๆ ครับ เพราะใจมันไปเสียแล้ว ควบคุมใจตัวเองไม่ได้

กุญแจสำคัญของการเสวยสุข คือการควบคุมตัวเองครับ รู้จักรู้ใจตนว่ากำลังทำอะไร และกำหนดใจให้ยินดีกับสิ่งนั้นๆ ได้ ไม่ปล่อยให้ใจลอยล่องไปหาอาหารที่ไม่อยู่ตรงหน้า หรือจมจ่อมใจกับอาหารที่กำลังทานว่าน่าจะอร่อยหรือถูกปากมากกว่านี้ ความสุขจากการบริโภคไม่ได้ขึ้นอยู่กับรสชาติหรือหน้าตาของอาหารเท่านั้น แต่มาจากใจเราที่ไปจับเอาอาหารต่างหากครับ หากสามารถยินดีกับอาหารเจที่อยู่ตรงหน้า คุมใจได้ก็สบายใจไม่เป็นทุกข์

การควบคุมตัวเอง ควบคุมใจ อีกนัยหนึ่งคือการมีสติ รู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไร และที่สำคัญมากคือมีความสุขกับสิ่งนั้นนั่นเองครับ

ฉะนั้น แม้ว่าจะเป็นช่วง J-season แล้วเราเผลอไผลหรือมีเหตุให้ไปทานซูชิเข้า เราก็ควรรู้ตัวว่ากำลังทานซูชิด้วยสาเหตุใด และอยู่กับปัจจุบันขณะที่มีซูชิตรงหน้า มีความสุขกับการรับประทานซูชิ ดีกว่าทานไปใจก็รู้สึกผิด ตำหนิตัวเองว่าไม่น่าหลุดเจเลย ไม่เป็นผลดีหรอกครับ ใจจับสิ่งนี้เหตุการณ์นี้ในแง่ลบ ตัวเราก็รู้สึกไม่ดี อาหารตรงหน้าก็ไม่อร่อย สู้ยินดีกับอาหารไม่เจที่อยู่ตรงหน้าดีกว่า (โดยตั้งใจว่าคราวหน้าจะมีสติให้มากกว่านี้ ไม่หลุดอีก) หากทานไปกระวนกระวายใจไป จะเป็นการเสวยสุขได้อย่างไรครับ

การควบคุมใจให้เสวยสุขนี้ ยังนำไปประยุกต์ลองใช้กับสถานการณ์ต่างๆ นานาในชีวิตเราได้อีกมากมาย ให้เป็นการเสวยสุขทุกๆ วันได้ง่ายๆ ว่าด้วยการควบคุมใจ ปรับทัศนะ สร้างทัศนคติที่เหมาะสมต่อการดำเนินชีวิตครับ

ตัวอย่างอันหนึ่ง คือการออกนอกบ้านไปดูหนังช่วงสุดสัปดาห์ ถ้าเรารอนแรมเดินทางไปห้างสรรพสินค้าแล้วกลับพบว่าภาพยนตร์เรื่องดังที่หวังจะชมนั้น หน้าโรงคลาคล่ำไปด้วยฝูงชนรอซื้อตั๋วเข้าคิวยาวเหยียดร่วมร้อยเมตร เพราะเหตุนี้ถึงทำให้เราต้องเปลี่ยนแผนปรับนโยบายไปทานอาหารแล้วซื้อของใช้ในซูเปอร์มาร์เก็ตกลับเข้าบ้านแทน เราก็ไม่ควรก่นด่าสภาวการณ์หน้าโรงไว้ในใจให้รกและหนัก หันมาสนุกสนานกับการเลือกซื้อของกินของใช้ตรงหน้า เพราะสถานการณ์ที่เราอยู่ ณ ขณะนี้เป็นการจับจ่ายใช้สอย หาใช่การชมหนังนะครับ จะไปละล้าละลังคิดถึงมันไม่เลิกทำไม นอกจากจะทำให้เราเสียดาย รู้สึกแย่ที่อดดูแล้ว เราก็พลอยช็อปปิ้งไปอย่างแกนๆ อย่างไม่มีความสุขอีกด้วย

ลองดูเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตประจำวัน โดยเอาบทเรียนจากการเสวยสุขช่วงเทศกาลกินเจไปประยุกต์ทดลองใช้กับหลายๆ เรื่องดีไหมครับ? แล้วคุณจะพบว่า ความสุขง่ายๆ หาได้ใกล้ๆ ตัว ที่หัวใจคุณเอง :-)

เช็คอินกันก่อน


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 25 กันยายน 2548


สุดสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้เข้าร่วมการประชุมที่สวนแสงอรุณ จ.ปราจีนบุรี วงประชุมประกอบด้วยเพื่อนพ้องน้องพี่จากหลากหลายหน่วยงาน บรรยากาศที่ประชุมแวดล้อมด้วยธรรมชาติไร้การปรุงแต่ง ต้นไม้ใบหญ้าเติบโตตามฤดูกาล ไม่ถูกดัดตัดถางให้เกินงามตามความต้องการของคน พวกเรานั่งล้อมวงกับพื้น รอบด้านทั้งสี่ของอาคารไม่มีฝาผนังบดบังสายตาจากความเขียวชอุ่มและระลอกพลิ้วไหวในบึงน้ำ

การประชุมแทบทุกครั้งที่ผมเคยเข้าร่วม หากไม่เริ่มต้นด้วยกิจกรรมเคลื่อนไหวทำความรู้จักเพื่อนร่วมประชุม ละลายพฤติกรรมให้วงประชุมมีความเป็นกันเองมากขึ้น อีกรูปแบบแนวทางหนึ่งก็เริ่มเปิดการพูดคุยสนทนาหารือทันทีที่เห็นว่าผู้เข้าร่วมส่วนใหญ่มากันครบแล้ว แต่การประชุมในสุดสัปดาห์นี้ต่างออกไปครับ

คุณธนัญธร เปรมใจชื่น จากสถาบันขวัญเมือง เป็นกระบวนกรผู้ดำเนินกระบวนการประชุมครั้งนี้ เธอไม่ได้ตั้งต้นการประชุมด้วยทั้งสองรูปแบบที่ว่า แต่เริ่มด้วยการเช็คอิน (check in) ครับ คุณอ่านไม่ผิดหรอกครับเช็คอินคำเดียวกับที่เราใช้เวลาที่จะเข้าพักในโรงแรมนั่นล่ะครับ

การเช็คอินในที่นี้ คือการเปิดโอกาสให้เพื่อนร่วมวงประชุมทุกๆ คนได้พูดเรื่องอะไรก็ได้ที่กำลังอยู่ในใจของตัวเอง ในขณะที่แต่ละคนกำลังเล่าออกมา คนอื่นๆ ก็นั่งฟังรับรู้ไปตลอดจนครบทุกคน

ก่อนที่แต่ละคนจะเริ่มเช็คอินตัวเอง ความคาดหวังและบรรยากาศของที่ประชุมก็ไม่แตกต่างไปจากวงอื่นเท่าใดนัก บางคนยังสนใจสมุดบันทึกในมือ บ้างก็เตรียมประเด็นที่อยากจะพูดหารือกับที่ประชุมอยู่ในใจ ครั้นเมื่อความในใจของแต่ละคนเผยออกมา หลายคนถึงพบว่าบรรยากาศของการประชุมเปลี่ยนไป

เรื่องที่แต่ละคนเช็คอินเข้ามา มีทั้งอารมณ์ความรู้สึกในเช้าวันนั้น ทั้งอารมณ์แจ่มใส ขุ่นมัวเพราะกังวลว่าท้องผูก บางส่วนแสดงความคาดหวังอยากได้อะไรจากการพูดคุย บางส่วนเผยว่าการพักผ่อนยามวิกาลที่ผ่านมาเป็นไงบ้าง นอนไม่ค่อยหลับ รู้สึกพักไม่พอ อาจผล็อยหลับไปได้ทุกเมื่อ บางคนแทบไม่ได้นอนเพราะต้องจัดการดูแล เตรียนมอาหารให้คนที่บ้านก่อนต้องจากมาหลายวัน และมีจำนวนไม่น้อยเลยเผยว่าก่อนเดินทางมาร่วมประชุมนี้มีงานคั่งค้างในปริมาณระดับที่เยอะและยุ่ง จนถึงระดับเครียดมาก การมาครั้งนี้ต้องยอมปล่อยวางงานเอาไว้ ไม่พยายามเอาใจไปคิดถึง

ความรู้สึกร่วมของที่ประชุมเปลี่ยนไปทันทีครับ พวกเราเห็นใจและเข้าใจเพื่อนร่วมวงมากขึ้น คนที่ได้เล่าเรื่องหนักใจก็รู้สึกเบาสบายขึ้น เราต่างเห็นแง่มุมความเป็นมนุษย์และรับรู้สุขทุกข์ของกันและกัน บทสนทนาหารือจึงดำเนินไปอย่างราบรื่น ผ่อนคลาย และเอื้อเฟื้อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมเท่าที่ต้องการ ผมเชื่อว่าถ้าไม่เริ่มด้วยการเช็คอินนี้ บางคนก็ยังคงอึดอัดกับความไม่สบายกายเมื่อคืน บางคนก็ไม่เข้าใจและผิดหวังที่เห็นเพื่อนไม่ช่วยออกความเห็น การประชุมจะไม่สามารถมีคุณภาพอย่างเต็มที่ได้เลย

การเช็คอินไม่ใช่เครื่องมือสำหรับการประชุมเท่านั้นครับ แต่เรายังนำการเช็คอินมาใช้ได้กับชีวิตการทำงานในทุกๆ วัน ผมขอชวนให้เราเช็คอินกันในทุกเช้าที่พบหน้ากันในที่ทำงานครับ เพราะทำงานด้วยกันตลอดทั้งวันก็เหมือนพายเรือลำเดียวกัน จะพายเรืออย่างมีความสุข จะพายวนไปไม่ถึงไหน หรือบางคนอาจจะไม่พายเลยเอาเท้าราน้ำแทน ล้วนขึ้นกับเพื่อนร่วมงานของเราเอง

การเช็คอินมีหัวใจสำคัญสามประการครับ ประการแรกนั้น เราต้องได้ถามกันอย่างจริงจังและจริงใจ ในขณะที่ถามต้องเกิดออกมาจากความต้องการรับรู้ และพร้อมแบ่งปันรับเอาความรู้สึกของเพื่อนร่วมงานเข้ามาในใจเรา เราถามเพราะเราอยากรู้จริงๆ ว่าวันนี้เขาเป็นอย่างไรบ้าง ไม่ใช่เพียงแค่เดินผ่านเอ่ยทักว่าวันนี้เป็นไง แล้วเดินเลยผ่านกันไปไม่ได้คาดหวังจะให้เขาตอบอะไรมากไปกว่า ก็ดี ในสังคมอเมริกันปัจจุบันคำว่า ฮาวอาร์ยู? (How are you?) คุณสบายดีไหม? กลายเป็นคำที่แทบไม่มีความหมายอะไร เป็นแค่สร้อยคำเฉยๆ ยามเช้าคนทักกันว่า กู๊ดมอร์นิ่ง ฮาวอาร์ยู (Good morning. How are you?) แล้วเดินผ่านกันไปเฉยเลย ผมเองตอนแรกๆทักแล้วมักต้องยืนเอ๋อๆ งงๆ ว่า อ้าวไหงถามเราแล้ว พอเราจะตอบกลับเดินหลายไปกันหมด นึกว่าเป็นเพราะเราน่ารังเกียจหรือเปล่า พอสังเกตจึงได้เป็นว่ากลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติไปแล้ว

แต่อย่างไรก็ตามเวลาเราถามอะไรแล้วตั้งใจฟังคำตอบจริงๆ นี่ก็จะมีผลมากนะครับ หลายคนเซอร์ไพรซ์มาก บางทีตอบว่า "อ้าว อยากรู้จริงๆเหรอ นึกว่าถามไปงั้นๆ" พอเราอยู่ตรงหน้าเขาแบบเต็ม 100% ตั้งใจฟังสิ่งที่เขาพูดจริงๆ วินาทีที่อยู่ตรงหน้าก็กลายเป็นวินาทีแห่งความศักดิ์สิทธิ์ครับ สรุปคือหัวใจของการเช็คอินประการที่สองคือการรับฟังอย่างตั้งใจ ฟังอย่างลึกซึ้ง สนใจในสิ่งที่เพื่อนร่วมงานบอกออกมา และไม่เพียงแค่คำพูด แต่รวมถึงน้ำเสียง กริยาท่าทาง สีหน้าและอารมณ์ การฟังอย่างลึกซึ้งช่วยให้เราเปิดรับกัน และให้คนที่บอกเล่าได้พูดอย่างเปิดเผยหมดใจ

ประการสุดท้าย การเช็คอินได้ช่วยเปิดพื้นที่ให้มีเรื่องอื่นๆ เข้ามามากขึ้น ไม่จำกัดให้อยู่เพียงเรื่องงานเท่านั้น ลองนึกถึงสภาพที่ทำงานที่เช้ามาก็ถูกถามว่าทำรายงานเสร็จแล้วหรือยัง อย่าลืมนัดประชุมศุกร์นี้ แค่คิดก็เริ่มเครียดแล้วใช่ไหมครับ? การมีเรื่องนอกเหนือจากงานในหมู่เพื่อนร่วมงานทำให้เราได้เรียนรู้กันมากขึ้น ได้เห็นความสำคัญในแง่มุมต่างๆ ไม่จำกัดเฉพาะงานตรงหน้าอย่างเดียวครับ

เราไม่ต้องลงทุนลงแรงอะไรมากมายเพื่อทำเช็คอินกันครับ เริ่มได้ง่ายๆ ด้วยความจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ และเปิดใจรับทุกๆ เรื่อง

มาช่วยกันทำให้การเช็คอินทุกเช้าในที่ทำงานและก่อนการประชุมกลายเป็นธรรมเนียมปฏิบัติจนเป็นนิสัยกันเถอะครับ ไม่จำเพาะแต่เพื่อนนะครับ ต้องรวมถึงระหว่างหัวหน้าทีมและลูกทีมด้วย แล้วความสุขในการทำงานก็เกิดได้ แถมยังช่วยให้งานดีขึ้นอีกด้วยครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2550


งานประชุมสถาบันโนเอติกซายน์ (Institute of Noetic Sciences) ในมลรัฐเวอร์จิเนีย สหรัฐอเมริกา เมื่อกลางปีที่ผ่านมาเป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของคนที่สนใจเรื่องจิตวิวัฒน์ จำนวนมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก นักคิด นักปฏิบัติ นักวิจัย และผู้สนใจพันกว่าคนที่มาพบกันเพื่อนำเสนอความรู้ความเข้าใจล่าสุดเกี่ยวกับการปฏิวัติจิตสำนึก (consciousness revolution) สุขภาวะทางจิตวิญญาณ และกระบวนทัศน์ใหม่ บรรยากาศในงานเปี่ยมไปด้วยพลังอย่างยิ่ง เพราะมากไปด้วยความคิดปรารถนาดีต่อโลก

ความรู้สึกที่ดูเหมือนเป็นเอกฉันท์ คือ โลกกำลังตกอยู่ในภาวะวิกฤตอย่างรุนแรง โดยในขณะเดียวกันก็มีความพยายาม ความสร้างสรรค์จากทั่วทุกภูมิภาคของโลกในการแสวงหาทางออก แต่สิ่งที่ดูจะมีความคิดเห็นต่างกันคือคำตอบที่ว่า "โลกจะรอดวิกฤตครั้งนี้หรือไม่?"

ความรู้สึกของที่ประชุมคล้ายคลึงกับแนวของหนังสือ Waking Up in Time ที่ปีเตอร์ รัสเซลล์ ชวนให้ตั้งคำถามว่ามนุษยชาติทั้งหมดจะตื่นขึ้นทันกับสถานการณ์ไหม? (สวนเงินมีมา โดยการสนับสนุนของกลุ่มจิตวิวัฒน์จัดพิมพ์หนังสือเล่มนี้)

รัสเซลล์ที่มีดีกรีทางฟิสิกส์ทฤษฎีและจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ใช้ความรู้ทางวิชาการหลากหลายแขนง ทั้งชีววิทยา ฟิสิกส์ ปรัชญา ศาสนา ฯลฯ อธิบายปรากฏการณ์ปัจจุบันที่ทำให้เกิดการมองโลกในแง่มุมใหม่ๆ ดังนี้ ๑) วิถีการดำเนินชีวิตของมนุษย์ ที่นับวันจะดูเหมือนหมุนเร็วขึ้นไปๆ ทุกที ส่งผลให้เกิดผลกระทบอันไม่พึงปรารถนาในทุกระบบของสังคมและสิ่งแวดล้อม ๒) วิเคราะห์ว่ารากเหง้าของปัญหาที่แท้จริงคือ การมีจิตสำนึกไม่ถูกต้อง ๓) ทางออกของวิกฤตเบื้องหน้านั้นไม่ได้อยู่ที่การเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เครื่องยนต์กลไกภายนอก หากแต่ต้องเป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายใน เป็นการเปลี่ยนจิตสำนึกอย่างลุ่มลึก โดยท้ายสุด ๔) นำเสนอแนวทางรูปธรรมของการขยายจิตสำนึก จากจิตอันคับแคบส่วนตัวไปมีจิตใหญ่ มีจิตวิวัฒน์

ลำดับการเล่าเรื่องชวนให้นึกถึงนักคิด นักปฏิบัติคนสำคัญของโลกเมื่อสองพันกว่าปีที่แล้ว คือ พระสมณโคดม ท่านก็กล่าวไว้ทำนองนี้ พระพุทธเจ้าได้อธิบายถึงความทุกข์ของมนุษย์ ถึงเหตุที่มาคือสมุทัย ความสิ้นไปแห่งทุกข์นั้นคือนิโรธ และหนทางประเสริฐอันมีองค์แปดคือมรรค

ประเทศไทยนับถือคุ้นเคยกับพุทธแบบหีนยาน บางครั้งอาจมองการปฏิบัติ การบรรลุธรรม การแก้ปัญหาเป็นเรื่องปัจเจกบุคคล บางครั้งก็เข้าใจผิดเห็นความเมินเฉย ไม่ใส่ใจ ว่าเป็นอุเบกขา (ความวางใจเป็นกลาง) หนังสือของรัสเซลล์ชวนให้เรามองเรื่องอริยสัจสี่ในระดับมนุษยชาติหรือในระดับโลก เห็นทุกข์ของโลก สมุทัยของโลก นิโรธของโลก และมรรคของโลก

เรื่องนี้สอดคล้องกับทฤษฎีกายา (Gaia Theory) ที่พูดถึงโลกทั้งใบเป็นหนึ่งเดียวกัน และมีจิตของโลกด้วย โดยเราอาจเปรียบเทียบว่าถ้าตัวเราประกอบด้วยเซลต่างๆจำนวนมาก โลกก็อาจเป็นเหมือนอย่างเราคือประกอบด้วยมนุษย์เป็นจำนวนมาก

สุขภาพที่ดีของเราต้องมาจากสุขภาพที่ดีของเซลต่างๆ สุขภาพที่ดีของโลกก็ต้องมาจากสุขภาพที่ดีของมนุษย์ในโลก

การที่ในประเทศไทยและทั่วโลกเราพบผู้ที่เป็นมะเร็งมากขึ้น เซลของเราเติบโตขยายขนาดมากเกินไปและแบ่งตัวไม่รู้จักหยุดกลายเป็นมะเร็ง ชวนให้ตั้งคำถามว่านี่เป็นภาพสะท้อนของการที่มนุษย์เพิ่มประชากรไม่หยุด แถมแต่ละคนยังทั้งบริโภค ทั้งสะสมอย่างไม่รู้จักพอหรือไม่?

เซลมะเร็งนั้นขาดความเชื่อมโยงกับองคาพยพต่างๆของร่างกาย ไม่สามารถสื่อสารกับสมองและส่วนต่างๆได้ ทำให้โตแบบไม่รู้จักพอ โตจนเป็นอันตรายต่อสิ่งมีชีวิตที่เซลนั้นอาศัยอยู่

เป็นไปได้หรือไม่ว่าวิถีการดำเนินชีวิตและการเรียนรู้ทุกวันนี้ กำลังทำให้เราแปลกแยกจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆในโลกมากยิ่งขึ้น เป็นไปได้ไหมว่าการศึกษาที่เรียนแต่เรื่องนอกตัว แถมยังเป็นรายวิชา เป็นชิ้นๆ กล่องๆ ขัดกับโลกของความเป็นจริงที่ทุกอย่างล้วนเป็นความสัมพันธ์ ที่ไหลเลื่อนเคลื่อนที่ เชื่อมโยงกันทั้งหมด ทำให้เราไม่รู้จักตัวเองและไม่สามารถสื่อสารกับโลกได้ ท้ายสุดก็กลับมาเป็นผลร้ายต่อตัวเอง

หากเป็นเช่นนี้แล้ว มนุษย์ที่เป็นเหมือนเซลมะเร็งจะเรียนรู้ที่จะกลับมาสื่อสารกับโลกได้ไหม?

ตัวอย่างของคนที่เป็นมะเร็งแล้วหายได้โดยไม่ต้องผ่าตัดหรือทำเคมีบำบัด เป็นความหวังว่ามนุษย์น่าจะยังมีศักยภาพในการเรียนรู้นี้อยู่

น่าสังเกตที่นักปราชญ์ นักวิทยาศาสตร์ นักวิชาการชั้นนำทั่วโลก อย่างปีเตอร์ รัสเซลล์ (การปฏิวัติทางจิตสำนึก Consciousness Revolution) เคน วิลเบอร์ (ทฤษฎีบูรณภาพ Integral Theory) แดเนียล โกลด์แมน (ปัญญาทางอารมณ์ Emotional Intelligence-EQ) หรือ ฟราสซิสโก วาเรลา (ทฤษฎีซานติอาโก Santiago Theory) กำลังหันมาเห็นสมบัติล้ำค่าที่คนไทยมีอยู่แต่ไม่ค่อยได้ใส่ใจอย่างจริงจังกับมันมานาน หลายคนเดินทางมาฝึกถึงภูมิภาคตะวันออก ไม่ว่าจะเป็นทิเบต อินเดีย หรือจีน

คนเหล่านี้ รวมถึงสมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ เชื่อว่ามนุษยชาติมีศักยภาพในการสื่อสารกับโลกได้ มนุษยชาติทั้งหมดพ้นทุกข์ร่วมกันได้ ผ่านการเรียนรู้ร่วมกัน (Collective Transformative Learning) โดยประตูนั้นอยู่ที่การเปลี่ยนจิตสำนึก จากจิตเล็กอันคับแคบ แยกส่วน และบีบคั้น ไปสู่จิตใหญ่อันกว้างขวาง เชื่อมโยง และมีอิสรภาพ

ช่องทางหรือรูปธรรมของการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมีได้หลากหลาย เช่น การทำงานอาสาสมัคร กระบวนการทางศิลปะ-สุนทรียภาพ การบริหารการบริหารจิต เช่น โยคะ การเรียนรู้จากประสบการณ์เกี่ยวเนื่องกับความตาย องค์ความรู้ทางศาสนา รวมไปถึงการเรียนรู้แบบจิตปัญญาศึกษา (Contemplative Learning) ที่เป็นการเรียนรู้ด้วยใจอย่างใคร่ครวญ เชื่อมโยงกันในสามภาค คือ ภาคความรู้ ภาควิชาชีพ และภาคจิตวิญญาณ

แม้ว่าการปฏิวัติทางจิตสำนึกจะมีช่องทางที่หลากหลายมากมาย แต่ล้วนมีหัวใจหรือแก่นร่วมกัน คือ การตื่นรู้ที่จะอยู่กับปัจจุบันขณะ ปล่อยวาง ลดการยึดติดในอดีตและอนาคต

กลุ่มเซลมะเร็งมีศักยภาพที่จะกลับมาสื่อสารกับร่างกายอีกครั้ง

มนุษยชาติก็มีศักยภาพในการที่จะสื่อสารกับโลกอีกเช่นกัน

เพียงแต่พวกเราแต่ละคน และมนุษยชาติโดยรวม จะตื่น(รู้)ทันไหม?!

ทำซ้ำความสุข


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 11 กันยายน 2548


เราจะทำงานอย่างมีความสุขได้อย่างไร? เป็นคำถามที่คอลัมน์ Happiness@Work พูดถึงอยู่เสมอๆ โดยในหลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ผมได้พูดถึงการทำความดีโดยสะดวกใจ ไม่ต้องอ้างเหตุหรือหาโอกาส การเข้าใจและเชื่อมั่นในเพื่อนร่วมงานที่มีบุคลิกทัศนะแตกต่างกัน ตามแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศ ทั้งหมดนี้เป็นวิธีการหาความสุขโดยเชิญชวนให้เราเปลี่ยนมุมการมองโลกรอบตัวครับ

นอกจากรู้แนวทางแล้ว การฝึกมุมมองอย่างที่เราอยากให้เป็นบ่อยๆ ก็ทำให้เราสามารถมีมุมมองเช่นนั้นได้ง่ายๆ มากขึ้น เหมือนกับการฝึกออกกำลังกายหรือเล่นกีฬาครับ ยิ่งเล่นก็ยิ่งเก่ง ยิ่งมีทักษะ เรื่องการสร้างความสุขให้ตนเองก็เช่นกัน

ผมเรียกวิธีการฝึกนี้ว่า “การทำซ้ำความสุข” ครับ

เรื่องการทำซ้ำนี้ ศ.นพ.ประเวศ วะสี ท่านเคยได้กล่าวถึงไว้ในการประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์ อันเป็นกิจกรรมหนึ่งของแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ดำเนินการโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ สนับสนุนทุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ (spiritual health) ของสังคมไทย

การทำซ้ำดังที่ท่านได้กล่าวถึง คือสิ่งที่เราคิดและทำบ่อยๆ จนเคยเป็นนิสัย ทั้งโดยรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่เราไม่เคยได้นึกว่าพฤติกรรมคุ้นเคยของเรานี้จะมีผลอย่างไรใช่ไหมครับ? อาการที่ทำอะไรจนติดและชินนี้มิได้เป็นเพียงความเคยชินธรรมดาเท่านั้นครับ ทางวิชาการเราทราบกันแล้วว่าสมองส่วนที่ต้องใช้มากๆ หรือได้รับการฝึกนานๆ จะมีขนาดใหญ่ขึ้น

ตัวอย่างผลงานวิจัยยืนยันออกมาชัดเจน อาทิ งานของมหาวิทยาลัยลอนดอนที่ศึกษาสมองส่วน ฮิปโปแคมปัส (Hippocampus) ซึ่งมีหน้าที่เกี่ยวกับการทิศทางและความจำ นักวิจัยพบว่ากลุ่มคนที่ต้องเดินทางและจดจำทิศทางสถานที่ต่างๆ เช่น คนขับแท็กซี่นั้นสมองส่วนนี้จะใหญ่กว่าคนทั่วไป และยิ่งเป็นคนขับแท็กซี่ที่มีประสบการณ์ฮิปโปแคมปัสก็ยิ่งมีขนาดใหญ่ขึ้น

นั่นหมายความว่า หากเราเฝ้าวนเวียนคิดเรื่องอะไรหลายๆ ครั้ง ทำอะไรในรูปแบบเดิมๆ หลายหน เช่น กระดิกนิ้วชี้บ่อยครั้งเข้า สมองส่วนที่สั่งการจะผูกแบบแผนพฤติกรรมนี้ไว้ และมันพร้อมจะทำงานได้ง่ายและทันทีที่มีโอกาสเอื้ออำนวยครับ! เรียกได้ว่าเผลอเมื่อไรเป็นได้กระดิกนิ้วชี้ทุกที

ถ้าลองนึกถึงการเดินทางไปทำงานของเราในเช้าของแต่ละวัน เราพบกับสภาพจราจรจลาจลทุกวัน ไหนจะถูกคันอื่นปาดหน้า ไหนจะต้องติดรอไฟแดงนานๆ ถ้าทุกเช้าของเรามีแต่การสบถด่าเพื่อนบนถนนร่วมทาง พร่ำบ่นถึงความไร้มรรยาทของคนขับรถคันอื่น หรือเราเองที่ต้องเบียดซ้ายป่ายขวาแซงคันข้างหน้าเพื่อไปให้ทันเวลาทำงาน

สิ่งที่ทำ คิด และรู้สึกกับมันทุกเช้านี้ เป็นการทำซ้ำครับ ครั้งต่อๆ มาเมื่อเราขึ้นนั่งหลังพวงมาลัย เราก็พร้อมจะสบถ พร้อมจะอารมณ์เสียได้อย่างง่ายดาย แม้ว่าจะไม่ใช่วันที่รถติดเหมือนเช้าวันทำงานก็ตาม นี่แหละครับ การทำอะไรซ้ำๆ เหมือนการขุดร่องทีละน้อยทุกวัน ร่องอารมณ์นั้นก็ลึกลงเรื่อยๆ ในสมองของเราเอง

ความเครียดและอารมณ์เสียที่เกิดบ่อยครั้งนี้ทำให้เราเกิดร่องอารมณ์ที่เป็นทุกข์ครับ หากยังจำที่ผมเคยเล่าๆไว้ได้ สมองส่วนที่ควบคุมอารมณ์ขุ่นๆ ทั้งหลายนี้คือ อมิกดาลา (Amygdala) ครับ การเกิดร่องอารมณ์ทุกข์ที่ลึกขึ้น ก็คือการทำงานของอมิกดาลาที่เติบโตขึ้นนั่นเอง แล้วเราจะทำซ้ำเรื่องทุกข์ให้มันมีโอกาสเกิดได้มากขึ้นเพื่ออะไรล่ะครับ ?

กลับกันครับ ถ้าเราทำซ้ำในสิ่งที่เป็นความสุขละครับ แน่นอนครับ สมองของเราก็จะพัฒนาการสั่งงานและเอื้อให้ความคิดพฤติกรรมสร้างสุขนั้นเกิดง่ายขึ้น การคิดหรือทำอะไรซ้ำๆ ให้เกิดสุข ยังเป็นการเลี่ยงโอกาสที่ทำให้เรามีอารมณ์ขุ่นหมองและความเครียด เป็นความทุกข์ซึ่งเป็นขั้วตรงข้ามของกันครับ

สำหรับชีวิตการทำงานในแต่ละวัน ถ้าเราสร้างความคุ้นเคยด้วยการขอบคุณลูกทีมทุกครั้งที่เขาทำรายงานให้ แทนที่จะนึกว่าเขาทำตามหน้าที่ บอกตัวเองว่าโชคดีที่ได้เรียนรู้ทุกครั้งที่หัวหน้าทีมตักเตือนแนะนำ แทนที่จะคิดว่าถูกตำหนิ นั่นคือเรากำลังทำซ้ำความสุขครับ

วันต่อไปในชีวิตการทำงาน ไม่ว่าจะเกิดเหตุการณ์ใดที่สุ่มเสี่ยงให้เกิดความทุกข์ สมองส่วนที่เราฝึกปรือพัฒนาให้โน้มนำในทางที่คิดและทำให้เกิดสุขจะเข้ารับมือแทน

จากเดิมที่แต่ละเช้าต้องหงุดหงิดกับการเดินทาง พกจิตใจขุ่นมัวมาถึงที่ทำงาน จนตลอดทั้งวันก็พาลเครียดไปหมด เราอาจเปลี่ยนแปลงด้วยการร้องเพลง “เป็นสุขในปัจจุบัน” ของหมู่บ้านพลัม เพื่อมีสติแจ่มใส และกระตุ้นเตือนตัวเองว่าไม่ต้องรีบเร่ง กล่อมจิตใจให้ช้าลง อารมณ์ก็แจ่มใส มีสมองที่พร้อมรับเรื่องดีๆ ในที่ทำงาน ทำอย่างนี้ได้ทุกๆ ครั้ง สร้างความเคยชินให้กับความสุข ตลอดทั้งวันและวันต่อไปในที่ทำงานก็จะมีโอกาสเปิดรับความสุขมากขึ้นแน่นอนครับ

เราเปิดประตูรับความสุขให้กว้างขึ้นแล้ว เขาก็ไม่ได้ไปไหนครับ เพราะความสุขที่มาหาเรานี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับเราคนเดียว แต่ยังทำให้เพื่อนร่วมงานรับเรื่องดีๆ จากเรา เกิดเป็นความสุขใจให้แก่คนรอบข้างของเราด้วย สุขกันทั้งขึ้นทั้งล่องก็ว่าได้

หมั่นคิดในเชิงบวก พยายามให้เวลากับงานที่เรารักและสนุก หลีกเลี่ยงการคิดการทำอะไรที่เป็นทุกข์ มาทำซ้ำความสุขกันเถอะครับ! :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 28 สิงหาคม 2548


"ได้เรียนรู้จากกระบวนการค่าย ของ จิตอาสา ว่า เรามีจิตปัจเจก กันอยู่เยอะ ที่ทำให้ทั้งตัวเราเองก็ทุกข์ คนอื่นก็ทุกข์ มันจะเห็นชัดขึ้น ในค่ายอาสาฯ และสิ่งที่จะเยียวยาเปลี่ยนแปลงมันได้ มีสิ่งเดียว ก็คือ 'ความรัก' ค่ะ มันทำให้เราก้าวพ้นตัวเองไปทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้อย่างมีความสุข"

ข้อความข้างต้นนี้ อาจารย์น้อย ผู้ประสานงานกิจกรรม ปลูกต้นไม้ต่อลมหายใจให้โลก เขียนเล่าจากพื้นที่ปลูกป่ากับดาบวิชัยและหลวงพี่ไพศาส วิสาโล ในเวบไซต์ของเครือข่ายจิตอาสา (VolunteerSpirit.org) ไว้อย่างน่าประทับใจ

ทำไมต้องเป็นงานอาสา ? งานอาสามีความน่าสนใจหลายอย่างครับ ทุกคนที่อาสามาทำงานร่วมกันแม้จะมีที่มา อาชีพหรือฐานะต่างกัน แต่เมื่อมาเป็นอาสาทุกคนก็เท่าเทียมเสมอกัน พร้อมกันนั้นงานที่ทำก็เพื่อคนอื่นเพื่อส่วนรวม ไม่มีตัวเงินเป็นผลตอบแทน

การเริ่มมีจิตอาสาและเข้าสู่การเป็นอาสาสมัครนั้น เริ่มตั้งแต่มีใจที่เห็นคุณค่าของส่วนรวม มีความเมตตาต่อคนอื่น ผนวกกับความมุ่งมั่นต้องการมีส่วนร่วมลงมือทำ ไปจนถึงการได้เรียนรู้ระหว่างคนทำงานด้วยกัน และการเห็นความสำคัญของผลที่เกิดทั้งตัวงานและผลในใจของอาสาสมัครเอง เหล่านี้แหละครับคือกระบวนการอาสาสมัคร

ไม่ใช่คนที่มาทำงานอาสาต้องเป็น "คนดี" ที่ "บรรลุ" แล้วนะครับ หลายคนมาแบบไม่ได้คิดอะไรมาก มาเพราะ อยากสนุก เพื่อนลากมา หรือแค่รู้สึก "อยากให้" เฉยๆ ก็เท่านั้น

แต่ความน่าทึ่งของกระบวนการอาสาสมัครก็คือ มันเป็นกระบวนการที่ทั้งสนุก น่ารัก เซ็กซี่ และมีเสน่ห์ ในตัวมันเอง คนที่ได้มีโอกาสมาเข้าร่วมกิจกรรมแล้ว มักจะหลงรักมันไม่ลืม ราวกับ Love at first sight ปานนั้นเลย ยิ่งเดี๋ยวนี้มีกิจกรรมที่จ๊าบๆ เกิดขึ้นมากมายสำหรับทุกเพศ ทุกวัยด้วย

การทำงานอาสาเป็นกระบวนการที่ทำให้คนเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (fundamental transformation) ได้ การเปลี่ยนแปลงนี้ไม่ใช่แค่ชั่วครั้งชั่วคราวประเดี๋ยวประด๋าว แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงจากภายในครับ อาสาหลายคนบอกไว้ชัดเจนว่าการมาทำงานอาสาได้เปลี่ยนความคิดและการมองโลกของเขาและเธอ ดังเช่นที่เราได้อ่านความในใจของอาสาปลูกป่าว่า ความรักช่วยให้มองข้ามความเป็นตัวเราของเราไปสู่การร่วมทุกข์และทำอะไรเพื่อคนอื่น

ความรักและจิตอาสาเพื่อคนรอบข้างนี้ ไม่ใช่แค่ความรู้สึกหรือเรื่องที่คิดไปเองนะครับ เพราะฮัมเบอร์โต มาทูรานา นักชีววิทยาและนักปรัชญาชาวชิลี ผู้โด่งดังจากแนวคิดเรื่อง ออโตพอยเอซิส (Autopoiesis) และ ทฤษฎีซานติอาโก (Santiago Theory) อันเป็นทฤษฎีแรกทางวิทยาศาสตร์ที่เชื่อมโยงจิตกับสสาร เข้าด้วยกัน ได้กล่าวว่า "ความรักเป็นอารมณ์ที่ขยายขอบเขตปัญญา" ของมนุษยชาติ เพราะความรักนั้นเชื่อมโยงเราเข้าด้วยกัน

ความรักที่เชื่อมโยงเราทุกคนเข้าด้วยกันนี่แหละครับที่เป็นพื้นฐานของจิตอาสา ในช่วงต้นปีนี้ เราได้เห็นผู้คนจำนวนมากเดินทางลงใต้ไปทำงานอาสาช่วยเหลือผู้ประสบภัยสึนามิ อาสาสมัครกลุ่มต่างๆ ได้ร่วมใจกันทำงานอย่างแข็งขัน ไม่ว่าจะเป็นที่วัดย่านยาว ที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิ และที่อื่นๆ อีกมาก หลายคนได้เล่าว่า การเป็นอาสาสมัครทำให้ได้พบเห็นทุกข์ของคนอื่น ได้เข้าไปมีส่วนรับรู้อย่างเห็นใจและเข้าใจ เกิดความรักที่ไม่จำกัดแค่เรื่องเกี่ยวกับตัวเอง แต่เป็นความรักที่มีให้แก่ผู้คนรอบข้าง ทำให้เกิดความสุขราคาถูก ที่ทุกคนเข้าถึงได้ง่ายๆ

งานอาสาจึงส่งเสริมให้ทุกคนได้มีจิตอาสา ในการทำสิ่งดีๆ เพื่อสังคม หากคุณสนใจลองมาร่วมกิจกรรมอาสาสมัคร ... ตอนนี้เครือข่ายจิตอาสา ได้รวมตัวกัน "บอกบุญ" เนื่องในเทศกาลบุญใหญ่ของชาวไทย คือ เข้าพรรษา ในช่วงสามเดือนนี้ มีกิจกรรมให้ร่วมมากมาย อาทิ

๑) สืบสานคลื่นน้ำใจกู้ภัยสึนามิ งานฟื้นฟูสภาพแวดล้อมและที่พักอาศัย จ.พังงา
๒) ผ้าป่าเพื่อการพัฒนาเด็ก ปรับปรุงพื้นที่ดูแลเด็กแรกเกิดถึง 6 ขวบ กรุงเทพฯ
๓) แบ่งปันน้ำใจให้เพื่อนร่วมโลก ดูแลสุนัขและแมวร่วมกับป้าสำรวยผู้อาทร จ.นครนายก

นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมสร้างบ้านดิน นวดเด็กบ้านปากเกร็ด และปลูกป่า ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือสมัครได้เลยครับ ที่หมายเลข 02-866-2721-2 และ www.VolunteerSpirit.org ... ด่วนนะครับ เพราะบางกิจกรรมเริ่มเต็มแล้ว

จิตอาสา ยังเป็นกิจกรรมที่ทั้งครอบครัวสามารถมีส่วนร่วมด้วยกันได้ อย่างในงานปฐมนิเทศอาสารุ่นแรก เมื่อวันเสาร์ที่ 6 สิงหาคมที่ผ่านมา อาสาหลายคนบ้างก็พาแฟน พาครอบครัวมาด้วย ทั้งครอบครัวก็ได้เรียนรู้การทำงานเพื่อคนอื่นที่แตกต่างไปจากชีวิตการทำงานปกติ การมีความรักที่เผื่อแผ่ให้ผู้คนรอบข้าง แน่นอนว่าย่อมส่งถึงคนใกล้ตัวในครอบครัว และเสริมพลังรักให้กับคนที่บ้านได้มากขึ้น

ไม่เพียงแต่กิจกรรมจิตอาสานะครับ หากคุณมีเวลาจำกัดไม่สะดวกที่จะร่วมทางกับกิจกรรมต่างๆ ข้างต้น คุณอาจเริ่มพัฒนาความรักที่คุณมีให้กับคนรัก ความรักต่อพ่อแม่ ความรักกับเพื่อนฝูง ไปสู่การมีจิตอาสาทำสิ่งดีๆ เพื่อเขาเหล่านั้น โดยไม่ต้องรอโอกาส หรือเทศกาลพิเศษใดๆ แล้วจะพบว่า การก้าวพ้นตัวเองไปทำอะไรเพื่อผู้อื่นได้อย่างมีความสุข ดังที่อาจารย์น้อยกล่าวไว้ เป็น Happiness@Home ความสุขง่ายๆ ทำเองได้ที่บ้านทุกวันเช่นเดียวกัน

"วันนี้ คุณรักใครหรือยัง?" อาจารย์น้อยเขียนส่งท้ายบทความของเธอไว้ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 14 สิงหาคม 2548


ผมได้พาคุณไปรู้จักกับหมี จอม detail กระทิง นัก action และหนู ผู้ compromise ไปแล้ว หากคุณยังไม่พบว่าหัวหน้า เพื่อนร่วมทีม หรือแม้แต่ตัวของคุณเอง มีลักษณะสไตล์เข้าข่ายทั้ง ๓ ดังว่านี้เลย ลองมาทำความรู้จักกับเพื่อนอีกคนในครั้งนี้กันครับ

ย้อนกลับไปสักเล็กน้อย เมื่อ ๓ ครั้งที่ผ่านมา เราได้รู้จักเพื่อนที่มีสไตล์พื้นฐานความคิดแตกต่างกัน ๓ แบบ เทียบเคียงกับแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกัน ได้แก่ หมี บุคคลที่ชอบลงรายละเอียด สนใจข้อมูล และการทำงานเป็นขั้นตอน กระทิง ขาลุยผู้มุ่งมั่นและชิงลงมือทำงานโดยไม่ให้เสียเวลา และให้ความสำคัญกับการได้ลงมือทำงาน หนู ผู้ให้ความสนใจกับเพื่อนร่วมงาน ความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีม ความร่วมมือและปรองดองของคณะทำงาน

สำหรับเพื่อนคนที่ ๔ ของเรา เขาคือ อินทรี ผู้มาจากทิศตะวันออก และมีธาตุลมครับ อินทรี โดยธรรมชาติแล้วจะบินสูงและเห็นภาพกว้าง เพื่อนร่วมงานชาวอินทรีของเราก็มีลักษณะเช่นนั้น กล่าวคือ เขาจะเป็นคนที่สนใจงานในภาพรวม เห็นกระบวนการทำงานทั้งหมด มองการณ์ไกล เฉียบคม มีญาณทัศนะ (intuition) และมีความสนใจในสิ่งใหม่ๆ และแตกต่างออกไปเสมอ

อินทรี จึงเป็นคนที่มีความคิดสร้างสรรค์ และนำเสนอไอเดีย เปิดหน้างานใหม่ๆ ขึ้นมาอยู่เสมอ สมฉายาว่า อินทรี เจ้า project นั่นแหละครับ แถมเวลาใครมาชวนทำอะไรก็มักจะปฏิเสธไม่ค่อยเป็น คือเห็นมันสนุกไปหมด ชอบเป็นขาแจมกับเขาไปทั่ว

ถ้าตัวคุณเองเป็นอินทรี คุณย่อมไม่อดทนต่อการทำงานแบบเดิมๆ ซ้ำกันทุกวัน คุณคอยคิดถึงงานอื่นที่แปลกแตกต่างออกไปเสมอ หรือมิเช่นนั้น คุณก็ชอบทดลองทำงานเดิมด้วยวิธีการใหม่ อินทรีอย่างคุณจะอึดอัดมากถ้ารู้สึกว่าถูกบังคับ ไม่มีทางเลือก หรือถ้าไม่รู้ว่างานที่ทำอยู่ไปสัมพันธ์เกี่ยวข้องอย่างไรกับงานในกระบวนการทั้งหมด

ด้วยความที่สนใจในภาพรวมนี้เอง ทำให้อินทรีมองข้ามการทำงานในรายละเอียดไป เมื่ออินทรีนึกถึงงานชิ้นหนึ่ง เขาจะมองภาพงานที่เกี่ยวข้องกับฝ่ายต่างๆ และผลของงานจะนำไปสู่อะไร แต่อินทรีจะไม่รู้ว่าบางขั้นตอนของงานนั้นอาจขัดกับระเบียบหรือวิธีการทำงานขององค์กร กรณีอย่างนี้จึงขัดกับความเชื่อและอุปนิสัยของหมีที่ทำงานตามขั้นตอนและระเบียบอย่างเคร่งครัด

รวมไปถึงการบินสูงของอินทรี ยังอาจละเลยไม่ทันเห็นว่าเพื่อนร่วมงาน หรือลูกทีมบางคนกำลังมีปัญหา หรือบอบช้ำจากการทำงาน ในขณะที่หนูสังเกตเห็นและเข้าไปดูแลเพื่อนคนนั้นแล้ว

ความสำเร็จในทัศนะของอินทรีคือการได้คิดวิเคราะห์ เชื่อมโยง หรือออกแบบสร้างงานใหม่ แต่อินทรีไม่ใช่นักปฏิบัติที่ชอบลงมือทำอะไรด้วยตัวเอง ซ้ำๆ นานๆ แต่มีแนวโน้มจะคิดแล้วนำความคิดไปให้คนอื่นทำ ฉะนั้น เราจึงพบอินทรีได้ง่ายในหมู่อาชีพที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์และการวางแผน เช่น ครีเอทีฟ ผู้บริหารโครงการ และนักวิจัยและพัฒนาครับ

ความแตกต่างของ หมี กระทิง หนู และอินทรี ทั้ง ๔ นี้ ล้วนหนุนเสริมพลังความสนใจและพรสวรรค์เฉพาะของแต่ละคนได้อย่างกลมกลืนและสร้างสรรค์ครับ แทนที่ต่างฝ่ายจะยกเอาความสนใจที่ต่างกันมาติติง กลับสามารถเสริมจุดด้อยที่แต่ละคนมีได้ เช่น อินทรีช่วยให้ทีมเห็นลู่ทางใหม่ คาดการณ์ทำนายผลลัพธ์การทำงาน ส่วนหมีช่วยจัดการในรายละเอียดให้ถูกต้องเป็นระเบียบ กระทิงช่วยขับเคลื่อนงานไปข้างหน้า ส่วนหนูก็ดูแลและยึดโยงทุกคนในกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน อย่างนี้จึงจะเป็น team work และทำงานร่วมกันอย่างมีความสุข

งานที่สำเร็จลุล่วงในเวลาอันรวดเร็ว แต่ลูกทีมบางคนต้องเสียความรู้สึกดีๆ ต่อหัวหน้างานไป หรืองานราบรื่นเป็นระบบ แต่ทุกคนขาดความกระตือรือร้นค้นหาทดลองแนวทางใหม่ๆ อาจเรียกว่าเป็นงานที่ประสบความสำเร็จได้ แต่ไม่ใช่คำตอบทั้งหมดของการทำงานอย่างมีความสุขครับ งานนั้นไม่ใช่เพียงเนื้องาน เอกสาร หรือยอดขาย แต่งานยังหมายถึงพวกเราทุกคนที่เป็นคนขับเคลื่อนเฟืองจักรให้งานเดินไปสู่เป้าหมาย ความสุขจากการทำงานจึงควรเป็นความสุขของทุกคนที่เกิดขึ้นในระหว่างการทำงานและตลอดเวลาที่ได้ทำงานร่วมกัน ไม่น่าจะใช่แค่ความสุขที่ได้เห็นงานเสร็จ

เคล็ดลับการทำความเข้าใจ และใช้ความแตกต่างเป็นพลังหนุนเสริมกันในทีมนี่แหละครับ คือที่มาของความสุขในการทำงาน

แนวคิดสัตว์ ๔ ทิศนี้จะไม่เกิดประโยชน์เลยครับ ถ้าเรานำความแตกต่างที่ว่านี้มาตอกย้ำ ตีตราให้กัน และกล่าวโทษการประสานงานที่มีปัญหาว่าเป็นเพราะเราต่างกัน ความแตกต่างไม่ได้เป็นข้อกำหนดมาจำกัดความสามารถและศักยภาพของแต่ละคนเลยครับ ตรงกันข้าม กลับเป็นเครื่องบ่งชี้และนำทางให้เราเห็นความหลากหลาย และความงดงามของทุกคน

ในโลกการทำงานเราล้วนอยู่ท่ามกลางเพื่อนผู้มีที่มาหลากหลาย เราไม่สามารถบังคับให้ทุกคนคิดเหมือนกันได้ เช่นกันกับความแตกต่างหลากหลายบนโลกใบนี้ เมื่อเรามีความสุขได้ง่ายๆ จากการเรียนรู้เข้าใจกันในที่ทำงาน มันคงไม่ยากเกินไปที่เราจะเข้าใจโลกใบที่ใหญ่กว่า และนำพามาซึ่งความสุขและสันติภาพในทุกๆ คนครับ


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 31 กรกฎาคม 2548


ครั้งก่อนเราได้มุ่งไปตะวันตก และขึ้นเหนือ เพื่อทำความรู้จักกับเพื่อนร่วมงานทั้งสองแบบของเราคือ หมี จอม detail และกระทิง จอม action มาแล้ว ครั้งนี้เราจะล่องใต้กันครับ ไปรู้จักเพื่อนร่วมงานอีกแบบคือ หนูผู้compromise อยู่ในทิศใต้ มีธาตุน้ำ เป็นสัตว์ในที่ทำงานประเภทที่ ๓ ตามแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศของชนพื้นเมืองอเมริกัน ไม่แน่คุณอาจพบว่าคุณนั่นเองคือหนูผู้ compromise ก็เป็นได้




ลองนึกถึงในที่ทำงานขณะที่ทุกคนกำลังขะมักเขม้นทำงานหน้าดำคร่ำเครียด เมื่อถึงช่วงพักกลางวัน หนูจะเป็นคนแรกที่ชวนเพื่อนออกไปทานข้าว เข้าไปทักเพื่อนที่ทำงานลืมเวลาว่าพักเสียหน่อยนะ ไปหาอะไรอร่อยๆ ทานกันดีกว่า เมื่อไปถึงร้านอาหาร แน่นอนครับ หมีจะเลือกแล้วเลือกอีกว่าเมนูจานไหนดี ร้านนี้กินอะไรถึงเหมาะ ส่วนกระทิงนะหรือครับ ออเดอร์อาหารได้เป็นรายแรกหรือไม่ก็สั่งสมทบตามหลังเพื่อนที่สั่งข้าวกะเพราไข่ดาวว่า “กะเพราด้วย รวมเป็น ๒” แต่ในเวลาเดียวกัน หนูอีกนั่นแหละที่จะคอยสังเกตว่าเพื่อนคนไหนสั่งอะไรได้อาหารครบหรือไม่ ใครต้องการน้ำหรือพวงเครื่องปรุงบ้าง

ถ้าคุณรู้สึกว่าหมีและกระทิงต่างมุ่งมั่นกับชิ้นงานและผลลัพธ์เกินไป จอม detail อย่างหมีนั้นช่างเคร่งครัดกับระเบียบวิธีการและให้ความสำคัญกับความถูกต้องของข้อมูลมากกว่าความเชื่อใจในทีมงาน ส่วนรายกระทิงนั้นเล่าก็ลุยจัดการกับงานตรงหน้าจนไม่ดูว่าจะทำให้เพื่อนร่วมงานหรือลูกทีมน้อยใจหรือเปล่า ถ้ารู้สึกอย่างนี้ คุณอาจเป็นหนู เป็นคนที่ให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ระหว่างกันมากเป็นพิเศษครับ

หนูๆ ในที่ทำงานคือกลุ่มคนผู้สนใจตัวคนทำงานและวิธีการทำงานมากกว่าใครเพื่อนครับ ในกรณีที่หนูเป็นหัวหน้าทีมทำงานภายใต้ระเบียบขั้นตอนจุกจิกปลีกย่อยมาก หัวหน้าหนูก็มีแนวโน้มสูงจะยืดหยุ่นละเว้นกฎบางข้อ เพื่อให้ลูกทีมทำงานได้คล่องและลื่นไหลมากขึ้น หมีๆ ฝ่ายบัญชีหรือการเงินอาจจะระอาที่หัวหน้าหนูเซ็นต์อนุมัติเบิกจ่ายให้ลูกทีมทั้งที่เอกสารใบเสร็จรับเงินนั้นไม่เรียบร้อยสมบูรณ์ เพราะหัวหน้าหนูเห็นใจลูกทีมถ้าตีกลับเอกสารไปให้แก้ไข หรือถึงขั้นเกรงใจว่าลูกทีมอุตส่าห์สำรองเงินจ่ายไปก่อน จะไม่เซ็นต์ผ่านให้ได้อย่างไร

ส่วนหนูๆ เพื่อนร่วมงาน (ที่ไม่ใช่น้องๆ สาวๆ นะครับ) ของคุณนั้น เขาหรือเธอแทบจะไม่เคยปฏิเสธคำขอให้ช่วยจากเพื่อนเลย ไม่ว่าจะในทีมเดียวกัน หรือจากฝ่ายอื่นก็ตาม คุณจะไม่เห็นหนูบอกปฏิเสธไม่ยอมช่วยด้วยเหตุผลว่า “งานฉันยังไม่เสร็จเลย” หรือ “งานใครก็งานมันสิ” เลย เต็มที่ก็แค่แบ่งรับแบ่งสู้ อย่างน้อยก็ช่วยให้คำแนะนำอยู่ดี

ถ้าคุณไม่ใช่หนู แต่คุณเป็นหมีหนุ่ม กระทิงสาว คุณอาจรู้สึกว่า น้องหนูนี่ช่างน่ารำคาญเสียจริง ไม่ทุ่มเท ไม่ระมัดระวัง แถมยังมีนิสัยขี้น้อยใจ ช่างเกรงใจ และเอาใจใส่เพื่อนๆ มากกว่าตัวเนื้องานเสียอีก ถ้าคุณมีเพื่อนร่วมงานที่แตกต่างจากคุณอย่างนี้ ทำอย่างไรให้ทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขละครับ ?

พื้นฐานสำคัญของแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศ คือการพยายามทำความเข้าใจกันและกันครับ ไม่ใช่การจัดแบ่งคนในที่ทำงานออกเป็น ๔ ก๊กเพื่อแข่งกีฬาสี การที่ได้รู้ว่าเพื่อนหรือหัวหน้ามีการตัดสินใจ ใช้สไตล์การทำงานแบบนี้ ล้วนมีที่มาจากฐานความคิดต่างกัน อย่างกรณีของหนู พฤติกรรมช่างเกรงใจและการพยายามรักษาความสัมพันธ์ของเขาเป็นคุณลักษณะบนฐานใจ ทำให้หนูสนใจการอยู่ร่วมกันมากกว่าเรื่องอื่นๆ

แต่ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าหนูๆ ไม่ใส่ใจกับความสำเร็จหรือความเรียบร้อยของงานนะครับ เพราะทัศนะของหนู ความสำเร็จคือความสัมพันธ์ที่ดีในทีม ฉะนั้น หนูจะไม่ชื่นชมกับยอดขายทะลุเป้า แต่แลกมาด้วยความทุ่มเททำงานล่วงเวลาของทุกคนจนไม่มีเวลาแม้แต่จะมาคุยกัน หนูสนใจเพื่อนที่ดูเครียดจากงาน สังเกตว่าคนในทีมห่างเหินหมางเมินเพราะวุ่นกับงานที่ต้องแย่งกันทำยอด ในบรรดาคนในทีมงาน หนูจึงเป็นคนแรกที่สังเกตเห็นความผิดปกติในกลุ่มหรือในโครงสร้าง เราสามารถกล่าวได้ว่า หนูเป็นคนสำคัญที่ยึดโยงทุกคนไว้ในกลุ่ม ขณะที่หมีคอยจัดการรายละเอียด และกระทิงทำหน้าที่เป็นหัวรถจักร

แต่ทว่าความแตกต่างของคนเหล่านี้จะไม่เกิดประโยชน์อะไรเลย ถ้าเราเอาแต่พร่ำบ่นว่านิสัยของคนอื่นเป็นภาระ หรือตำหนิคนที่มีวิธีทำงานต่างจากเราว่าเป็นอุปสรรคทำให้งานช้า ถ้าเช่นนั้นแล้ว การแบ่งสัตว์ ๔ ทิศก็จะเป็นเพียงการขีดเส้นความเป็นพวกเขาพวกเราให้ชัดเจนขึ้น ไม่เกิดความพยายามทำความเข้าใจกัน

สัตว์ ๔ ทิศบอกว่าความแตกต่างระหว่างกัน ไม่ได้เป็นอุปสรรคสำหรับการทำงานเลยครับ แต่เป็นคำตอบต่อคำถามว่าเราจะทำงานร่วมกันอย่างมีความุสขได้อย่างไร เพราะความหลากหลายแต่หนุนเสริมกันและกันในหมู่เพื่อนร่วมงานนี่แหละคือสิ่งสำคัญที่ทำให้งานสำเร็จ และทุกคนมีความสุขจากการทำงานร่วมกัน

ถึงตรงนี้แล้ว ถ้าคุณยังไม่พบว่าตัวเองเป็นสัตว์ในทิศไหน อย่าลืมครับว่ายังมีครั้งต่อไป เราจะพบกับ อินทรี เจ้า project ผู้อยู่ในทิศตะวันออก และมีธาตุลม แล้วจะได้รู้กันว่าความแตกต่างของอินทรีมีคุณูปการอย่างไรต่อเพื่อนหมี กระทิง หนู และเพื่อนๆ ทั้ง ๓ จะช่วยหนุนเสริมเอาศักยภาพความสามารถของอินทรีมาช่วยให้ทีมทำงานสำเร็จลุล่วงอย่างมีความสุขได้อย่างไรบ้าง เตรียมพบกับอินทรีในตอนหน้า (14 ส.ค.) ครับผม :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 17 กรกฎาคม 2548


ยังจำหมี จอม detail ในตอนที่แล้วได้ใช่ไหมครับ ถ้าท่านเคยไปทำโอดี (organization development) ขององค์กร และวิทยากรนำกิจกรรรมเกมบางอย่าง คุณจะเห็นว่าเหล่าหมีเพื่อนร่วมงาน เขาใช้เวลาครุ่นคิดเก็บข้อมูลอย่างถี่ถ้วนก่อนตัดสินใจเลือกทำอะไรก่อนหลัง ขณะที่เพื่อนร่วมงานบางคนในกลุ่มเริ่มลุยลงมือไปตามเกมของวิทยากรเรียบร้อยแล้ว ครั้นเมื่อถึงช่วงทานพักอาหาร ระหว่างที่คุณกำลังเดินดูโต๊ะบุฟเฟ่ท์ให้ทั่ว ลังเลว่าจะตักอะไรมาทานดี บางคนก็มองหาที่นั่งที่ติดกันกับเพื่อนที่คุ้นเคย แต่เพื่อนร่วมงานจอมลุยคนนี้ของคุณได้ตรงดิ่งไปหยิบจานรอคิวตักอาหารเสียแล้ว

หรือในการทำงานร่วมกับหัวหน้าหมี คุณมักจะถูกสอบถามติดตามรายละเอียดทุกขั้นตอน แต่คุณเคยพบหัวหน้างานอีกประเภทไหมครับ? ประเภทที่ว่า ถ้าเขาได้รับเป้าหรือโจทย์จากที่ประชุมกรรมการแล้ว เขาแทบจะออกมาสั่งลูกทีมทันที มิหนำซ้ำยังคาดหวังให้ลูกทีมลงมือทำเดี๋ยวนั้นเลย เรียกได้ว่าไม่ต้องมาเสียเวลาพิจารณาว่าควรทำหรือไม่ การวางแผนไม่จำเป็นต้องใช้เวลามาก ถ้าหัวหน้าบอกต้องออกแอ็คชั่นเลยทันที




จากครั้งก่อนเราพูดถึงหมี จอม detail ผู้อยู่ทิศตะวันตก และมีธาตุดินไปแล้ว หัวหน้าหรือเพื่อนร่วมงานของคุณในครั้งนี้ผู้มีลักษณะข้างต้น ถ้าแนวคิดสัตว์ ๔ ทิศ อันเป็นความรู้จากชนพื้นเมืองอเมริกันมาจัดแบ่งกลุ่ม เขาก็คือ กระทิง จอม action ผู้อยู่ทิศเหนือ และมีธาตุไฟนั่นเองครับ (ส่วนอีก 2 กลุ่มที่เหลือได้แก่ หนู ในทิศใต้ ธาตุน้ำ และอินทรี ในทิศตะวันออก ธาตุลม ซึ่งจะเล่าสู่กันในตอนต่อไปครับ)

ในบรรดาบุคคลแวดล้อมในชีวิตการงานของคุณ กระทิงจะเป็นผู้ออกแอ็คชั่นเป็นหลักครับ ต้องแอ็คชั่น แอ็คชั่น และแอ็คชั่นครับ ทีนี้ถ้าหากเราเองไม่ใช่กระทิงล่ะ ถ้าเราเจอพวก action-oriented แบบนี้ในที่ทำงานแล้ว เราจะทำอย่างไรให้มีความสุขและสนุกครับ? เราจะทนอึดอัดกับการรู้สึกว่าเขาผลีผลามทำอะไรโดยไม่ยั้งคิด หรือเราจะหงุดหงิดรำคาญใจที่เขาทำงานไปก่อนโดยไม่ฟังเสียงเพื่อนร่วมทีม คำถามคือเราจะสร้างพื้นที่แอ็คชั่นสำหรับคนเหล่านี้ ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็นอย่างจริงใจ และชื่นชมเขาอย่างจริงจังได้อย่างไร?

เราต้องเข้าใจธรรมชาติของพวกกระทิงครับ ความสำเร็จในทัศนะของเขาคือการได้ลงมือกระทำ แม้ว่าทำเสร็จแล้วอาจไม่มีระบบ หรือสมาชิกในทีมจะรู้สึก "อิน" ไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร หรือแค่มีแผนการทำงานนั้นไม่พอ ต้องได้ทำได้ลงมือ เราจึงมักพบพวกกระทิงในกลุ่มนักกีฬา นักแสดง นักกู้ภัย ทหาร ตำรวจ พวกแอ็คชั่นทั้งหลายน่ะครับ

สิ่งที่คุณจะไม่ค่อยพบในพวกกระทิง คือ การนั่งคิด ใช้เวลาวางแผนครับ กระทิงจะคิดว่า "เสียเวลา" สุดๆ มักจะพูดว่า "โอ๊ย ... จะหมดเวลา/เสียโอกาส อยู่แล้ว" ยังจะต้องมาคิดว่าใครในทีมรู้สึกอย่างไรกับเรื่องนั้น และพวกกระทิงก็จะไม่ซีเรียสกับหลักการเท่าใดนัก โดยเฉพาะถ้าหลักการนั้นมันขัดขวางทำให้เขาได้ลงมือทำช้าลงไปอีก

พวก "หมี" ที่เน้นความเป็นระบบและข้อมูล ควรเข้าใจพวก "กระทิง" ว่า เขามีสไตล์การทำงานที่เน้นความเสี่ยงและท้าทาย ในทัศนะเขา ถ้ามัวแต่มาทำระบบจะทำให้พลาดโอกาสเสียก่อน หรือสำหรับบางคนที่เห็นความสำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างคนในทีม ก็ไม่ควรรู้สึกแย่ที่ดูเหมือนว่ากระทิงไม่แคร์เพื่อนๆ เลย ทั้งที่โดยแท้แล้วกระทิงแคร์นะครับ เพียงแต่ในโลกของเขา เขาเชื่อว่าการช่วยเหลือเพื่อนก็คือการรีบลงมือทำให้เสร็จนั่นเอง

ถ้าคุณเป็นกระทิงหนุ่ม กระทิงสาว ทั้งที่ "เปลี่ยว" และ "ไม่เปลี่ยว" (ฮา) คุณควรจะเข้าใจเข้าใจแรงผลักดันพื้นฐานของคุณและทีม การที่บางคนในทีมใช้เวลาวางระบบ กว่าจะเซ็นเช็คแต่ละฉบับต้องคิดแล้วคิดอีก ดูรายละเอียดต่างๆ ให้เรียบร้อย ก็ทำพื่อทีม การที่บางคนมีความคิด จินตนาการเยอะแยะ แม้หลายอย่างคิดเพ้อเจ้อไปบ้าง ทำจริงไม่ได้บ้าง ก็ทำเพื่อทีม หรือแม้กระทั่งบางคนที่ใช้เวลาไต่ถามทุกข์สุขและดูแลสุขภาพคนอื่นๆ ก็ทำเพื่อทีมเช่นกัน การมีองค์ประกอบเหล่านี้อย่างผสมผสานทำให้ทำงานกันเป็นทีมไปได้นาน ไม่ใช่ว่าทุกคนต้องลุยไปข้างหน้าพร้อมกับกระทิงอย่างคุณเสมอไป

หากเป้าหมายในชีวิตการงานของพวกเราไม่ใช่เรื่องเงิน (แต่เพียงอย่างเดียว) เป้าหมายเรายังเป็นเรื่องความสุขด้วยแล้ว เราจึงควรใช้ชีวิตการทำงานอย่างพร้อมจะเรียนรู้กันและกัน พร้อมจะเติบโตร่วมกับคนในทีมที่มีความหลากหลายเหล่านี้อย่างเข้าใจกันนั่นเองครับ

ตอนหน้าเตรียมกับพวก "หนู" (ผู้ compromise) ในทิศถัดไปครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 3 กรกฎาคม 2548


คุณเคยมีหัวหน้าทีมที่กำกับการทำงานของคุณในรายละเอียดไหมครับ ? หรือเคยมีเพื่อนร่วมงานที่เก็บตัวและทำทุกอย่างให้ถูกตามระเบียบทุกประการบ้างไหม ? เพื่อนคนหนึ่งของผมเล่าว่า หัวหน้าของเขาตรวจรายงานทุกชิ้นอย่างถี่ถ้วนมาก แทบทุกครั้งที่ส่งเอกสารรายงานถึงหัวหน้าจะต้องมีโน้ตคำถาม หรือพบจุดผิดพลาดในงานชิ้นนั้นเสมอ หนำซ้ำยังมีเพื่อนร่วมงานที่ยึดกฎระเบียบมากจนไม่ยอมยืดหยุ่นให้แม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ

คนเหล่านี้ต้องการข้อมูลครับ และหากเราไม่ใช่คนที่มีอุปนิสัยคล้ายกันนี้ เราก็จะอึดอัดและรู้สึกว่าไม่มีความคล่องตัวหรือประนีประนอมกันบ้างเลย ขณะเดียวกัน เราเองก็ไม่สามารถเลือกเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าได้ตามใจชอบ หรือเรียกร้องให้เขาเปลี่ยนแปลงความคิดวิธีทำงานให้เป็นไปตามใจเราได้ คำถามก็คือ จะทำงานกับคนประเภทนี้ให้มีความสุขได้อย่างไร ? เราจะอภิเชษฐ์ (ชื่นชมหรือ appreciate) คนเหล่านี้ได้อย่างไร ? และในทางกลับกัน เราเป็นคนประเภทไหน ? ทำอย่างไรจะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ?

ทุกท่านคงคุ้นเคยกับการจัดคนออกเป็นประเภทต่างๆ ตามราศีเกิด และยังมีอีกหลายแนวคิดที่อธิบายความต่างของคนแต่ละประเภทเอาไว้ ปกติแล้วผมเป็นคนไม่ค่อยเชื่อการแบ่งประเภทคน หรือจัดลงกล่องต่างๆ ตามตัวแบบที่ถูกลดทอนรายละเอียด แล้วคิดสรุปเอาเองว่า "คนอย่างเนี้ย มันก็เป็นอย่างเนี้ยะแหละ" เช่น บอกว่าคนเกิดวันอังคารมีนิสัยใจร้อน คนเกิดวันเสาร์เป็นคนขยัน

แต่แนวคิดหนึ่งซึ่งผมเห็นว่าน่าสนใจ คือชุดการแบ่งคนสี่แบบตามทิศทั้งสี่นี้ เพราะนอกจากจะกระตุ้นนำเราไปสู่การคิด ค้นหา ตรวจสอบ และยอมรับตนเองอย่างจริงใจได้แล้ว ยังทำให้เราได้คิด ค้นหา ตรวจสอบ และยอมรับผู้อื่นอย่างจริงใจด้วยเช่นกัน

การแบ่งคนตามสัตว์ ๔ ทิศนี้เป็นความรู้จากอินเดียนแดงชนพื้นเมืองอเมริกันครับ กล่าวไว้ว่า คนเรามีคุณลักษณะตามกลุ่มหลัก ๔ กลุ่ม แต่ละกลุ่มมีสัญลักษณ์แทนตัวด้วยสัตว์สี่ชนิด โดยมีฐานคำอธิบายจากทิศหรือธาตุทั้งสี่ ซึ่งมีลักษณะนิสัยและรูปแบบของตนต่างกันออกไป ได้แก่

๑. หมี (บางตำรา บางเผ่าก็ว่างู) อยู่ในทิศตะวันตก เป็นธาตุดิน
๒. กระทิง อยู่ในทิศเหนือ เป็นธาตุไฟ
๓. หนู อยู่ในทิศใต้ เป็นธาตุน้ำ
๔. อินทรี อยู่ในทิศตะวันออก เป็นธาตุลม

การรู้จักลักษณะของคนแต่ละกลุ่มตามสัตว์ทั้ง ๔ ทิศนี้มีประโยชน์อย่างยิ่งครับ สำหรับวันนี้ขอเริ่มแนะนำกลุ่มหมีซึ่งก็มีคุณลักษณะอย่างกลุ่มคนตามได้เกริ่นไว้ในตอนต้น เขาเหล่านี้เป็นพวกธาตุดินครับ เพราะฉะนั้นจึงมีลักษณะเชื่องช้า รักความมั่นคง เก็บตัว สันโดษ เจ้าระเบียบ เขาและเธอชอบลงรายละเอียด ชอบเสพข้อมูล ถึงขนาดบางทีหลงใหลได้ปลื้ม ตื่นอกตื่นใจไปกับมัน

นอกจากนั้นแล้ว หมียังเป็นพวกชอบการใช้หลักเหตุผล วิเคราะห์ที่มาที่ไป เห็นความถูกต้องและความยุติธรรมเป็นสิ่งสำคัญ เมื่อเปรียบกับกลุ่มอื่นแล้ว หมีจะเป็นคนตรงไปตรงมา บางทีมากจนเป็นการพูดแบบขวานผ่าซาก ลักษณะเด่นอีกประการหนึ่งคือ หมีสามารถทำงานที่เป็น routine ได้อย่างมีความสุข ไม่มองว่ามันเป็นงานซ้ำซากจำเจ เพราะชอบความเป็นระเบียบและทำงานอยู่กับข้อมูลเป็นหลัก

หากหมีได้รับมอบหมายให้ไปซื้อของสักอย่าง หมีจะค่อยๆ เปรียบเทียบสินค้านั้นจากผู้ขายแต่ละราย หรือห้างร้านแต่ละแห่งอย่างถี่ถ้วน เช็คแล้วเช็คอีกกว่าจะตัดสินใจได้ ทั้งยังไม่ได้คำนึงถึงแต่ราคาเพียงอย่างเดียว แต่หมีจะพิจารณาด้วยว่าสินค้าจากแหล่งไหนมีคุณสมบัติและบริการสมเหตุสมผลคุ้มค่ากับราคามากที่สุด หมีจึงจะตัดสินใจ

การรีบเร่งทำงานให้ลุล่วงจบไปโดยไม่สนใจรายละเอียดวิธีการจึงไม่ใช่ลักษณะของหมีเลยครับ เช่นเดียวกับอุปนิสัยการทำงานหลายอย่างที่คุณจะไม่พบในหมี ไม่ว่าจะเป็นการออกไอเดียใช้ความคิดสร้างโครงการใหม่ๆ การให้ความสำคัญหรือแคร์ต่อความอารมณ์ความรู้สึกของเพื่อนร่วมงาน หมีจึงดูเหมือนไม่ค่อยถนอมน้ำใจผู้อื่น และถือเอาหลักการและวิธีการเป็นที่ตั้ง

ความสำเร็จในสายตาของเหล่าหมีหนุ่ม หมีสาว จึงหมายถึงการมีระบบที่ชัดเจน เป็นระเบียบ โดยทั่วไปแล้ว คุณจึงจะพบเพื่อนร่วมงานที่เป็นหมีได้ง่ายในฝ่ายบัญชีและการเงิน แต่ก็มิใช่ว่าเจ้าหน้าที่บัญชีทุกคนจะต้องมีลักษณะเป็นหมีเสมอไปครับ

กลับไปที่คำถามตอนต้น ทำอย่างไรเราจึงจะทำงานร่วมกันอย่างมีความสุขได้ ? เมื่อรู้จักหมีแล้ว อยากให้คุณลองคิดในทางกลับกัน ถ้าคุณเป็นหมีเสียเอง คุณจะรู้สึกอย่างไรที่เห็นคนทำงานข้ามขั้นตอน เร่งทำงานให้เสร็จโดยไม่ทำเอกสารให้ครบถ้วน ? ทุกคนจะมีความสุขมากขึ้นไหม ? ถ้าเราเข้าใจและยอมรับในความแตกต่างของเพื่อนร่วมงาน

พบกันในตอนหน้า สำหรับพวก "กระทิง" ในทิศถัดไปครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2548


คุณเคยรู้สึกว่าคุณเป็นเทพกำลังขี่เมฆ ตามหาม้าเทวดาบ้างไหม? ไม่ว่าคุณจะเคยหรือไม่ วันนี้ผมรู้สึกว่ากำลังเดินทางค้นหาม้าเทวดา สิ่งมีชีวิตที่ไม่พบที่อื่นอีกในโลก นอกจากในป่าที่ผมกำลังอยู่เท่านั้น

ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้ อากาศรอบข้างผมช่างหนาวเหน็บ เมฆโรยตัวรายรอบล้อมผมราวกับกำลังขี่เมฆ ค้นหาม้าเทวดา หรือกวางผา goral สำหรับนักวิทยาศาสตร์ แม้ผมจะยังไม่เห็นมัน แต่ผมกลับได้พบกุหลาบพันปี หรือดอกไม้วงศ์กุหลาบซึ่งพบได้เฉพาะที่นี่ กำลังออกดอกเบ่งบานสะพรั่งอยู่ริมผา ใกล้ๆ กันมีกองมูลของเลียงผาที่มีเมล็ดเล็กๆ เท่าคลอเร็ตสีน้ำตาลกองเบ้อเริ่ม

ผมอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวงเชียงดาว แดนธรรมชาติอันงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คำว่าสวรรค์บนดินดูจะไม่เรียกเกินเลยไป บรรยากาศบริเวณเด่นหญ้าขัดในเขตอุทยาน อบร่ำไปด้วยตำนานล้านนา ว่าเขาแห่งนี้เป็นสถานที่สิงสถิตของเจ้าหลวงคำแดง เทพผู้เป็นประธานของเทพทั้งมวลในดินแดนล้านนา แม้น้ำสำหรับประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ประจำปีที่วัดพระธาตุดอยสุเทพยังต้องนำมาจากที่นี่




ผมเดินทางมากับคณะครูชาวไทยและอเมริกันสามสิบกว่าชีวิตเพื่อร่วมสร้างเครือข่ายของครู ชาวบ้าน และนักพัฒนาที่สนใจกระบวนการเรียนรู้แบบสืบค้นที่มีชุมชนเป็นหลัก เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน ระบบนิเวศ และโลก ในโครงการการเดินทางสำรวจโลก (Earth Expedition) โดยการร่วมมือกันในหลายประเทศที่มีธรรมชาติอันน่าทึ่ง ตื่นตาตื่นใจ และมีสัตว์สวยงามขนาดใหญ่เป็นตัวเดินเรื่อง

คอร์สในประเทศไทยครั้งนี้ที่ร่วมจัดโดยมูลนิธิโลกสีเขียว สถาบันขวัญเมือง มหาวิทยาลัยไมอามี่ สวนสัตว์ซินซิแนติ และแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มีความแตกต่างจากครั้งอื่นๆ เพราะเน้นการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในหัวข้อ พุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ อันว่าด้วยธรรมชาติกับการเรียนรู้ด้านใน กิจกรรมก็ล้วนส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์ตรง ผสมผสานระหว่างธรรมชาติของขุนเขา แมกไม้ และสายฝนอันงดงาม การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนของปกากญอและชุมชนท้องถิ่น และมิติทางจิตวิญญาณอันละเอียดอ่อน แต่สัมผัสได้จริง ผ่านการเจริญสติภาวนา และการอยู่กับธรรมชาติ ไม่เว้นกระทั่งฝรั่งผู้ไม่เคยฝึกฝนมาก่อน

หลวงพี่ไพศาล วิสาโล หนึ่งในวิทยากรครั้งนี้ ได้อธิบายความสัมพันธ์และประโยชน์ของธรรมชาติต่อมนุษย์ว่ามี ๔ ระดับ ระดับที่หนึ่งเป็นเรื่องทางวัตถุ (material) เพราะธรรมชาติคือที่มาของปัจจัยสี่ รวมถึงอากาศและน้ำบริสุทธิ์ที่เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต ระดับที่สอง เป็นเรื่องความงดงาม (beauty) ที่ธรรมชาติได้ให้ความรื่นรมย์แก่ประสาทสัมผัสของเรา เช่น ภาพอรุณรุ่งที่ผานกแอ่น แสงอาทิตย์อัศดงที่แหลมพรหมเทพ รสชาติละมุนนุ่มลิ้นของผลไม้ กลิ่นหอมเย้ายวนจากดอกไม้นานาพันธุ์ เสียงหรีดหริ่งเรไรยามค่ำคืน รวมถึงสัมผัสทางผิวกายจากการดำผุดดำว่ายในธารน้ำตก

ขณะที่ประโยชน์ระดับที่สองเป็นความรุ่มรวยของประสาทสัมผัสภายนอก ระดับที่สามซึ่งสูงกว่าเป็นความสงบหรือสันติ (peace) ที่เราสามารถเข้าถึงได้หากได้มีโอกาสพักดูแลใจตนเอง ให้เวลาและใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อยู่ในป่าเขาสงบสงัด ปราศจากการรบกวนของโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น mp3 เครื่องไอพอด บรรดาเหล่าเทคโนโลยีที่ทำให้จิตของเราสัดส่าย

ประโยชน์ระดับสูงสุดเป็นระดับของปัญญา (wisdom) เป็นสิ่งที่ยั่งยืนยิ่งกว่าความสงบ ปัญญาที่ได้จากธรรมชาติคือได้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต เห็นความเป็นทั้งหมดและเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชีวิตทั้งมวล เห็นสรรพสิ่งในโลกล้วนเชื่อมร้อยโยงใยกัน การได้เห็นความสัมพันธ์เกื้อกูลอาศัยกันของสิ่งต่างๆ ก็คือการได้รู้จักธรรมชาติ อันเป็นแหล่งของการเรียนรู้สู่การเข้าถึงความจริงของความเชื่อมโยงในสรรพสิ่งทั้งหลาย ธรรมชาติได้ให้ประโยชน์อันสูงสุดนี้แก่เรา

การเข้าถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งนี้มีความสำคัญต่อทั้งการอนุรักษ์และต่อความสุขของเรา

หากเราเปิดน้ำจากก๊อกแล้วเรารับรู้ถึงความสัมพันธ์ของน้ำนี้กับสายน้ำลำธาร เดินทางเชื่อมโยงย้อนกลับไปถึงเจ้าหลวงคำแดง ก้อนเมฆ และม้าเทวดาบนดอยเชียงดาว เราก็จะตระหนักและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดโดยไม่ต้องมีใครบอก

หากเราได้เข้าถึงความจริง เห็นถึงความเป็นทั้งหมดของทุกสิ่ง เราก็สามารถผูกโยงประสบการณ์ที่ดีจากผืนป่างดงามที่ยังไม่ถูกแผ้วทำลาย นำมาเทียบเคียงให้มองเห็นถึงความเป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ดาษดื่นทั่วไป แม้กระทั่งกระรอกที่วิ่งไปมา นกที่โผเกาะลงบนสายไฟฟ้าในเมือง กระถางต้นไม้หรือแจกันดอกไม้ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานของเรา แม้เพียงเห็นเราก็ได้สัมผัสธรรมชาติและสามารถเกิดความสุขได้

เปรียบดังต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดเขียวสดอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวแม้อยู่ท่ามกลางไอแดดร้อนแรงของฤดูแล้ง เพราะมันได้หยั่งรากลึกลงไปพบความฉ่ำเย็นของน้ำในใต้ดิน เราเองก็เช่นกัน เราสามารถดำรงชีวิตที่ดี ท่ามกลางความเร่งร้อนของชีวิตและการงานได้ เพราะเห็นความงดงามในความจริง สามารถดื่มด่ำและรับเอาความสุขอันผุดเกิดจากความชุ่มชื่นในจิตใจภายในของเราเอง :-)

ฝึกสติอย่างอ้ศวินเจได


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 5 มิถุนายน 2548


อดไม่ได้ที่จะต้องเขียนอะไรเกี่ยวกับ สตาร์วอร์ส เอพิโซด 3: รีเวนจ์ ออฟ เดอะ ซิธ / ซิธชำระแค้น ซะหน่อย

หลังจากรอคอยมา ๒๘ ปี เหล่าสาวกของสตาร์วอร์สก็ได้คำอธิบายว่าทำไมอัศวินเจไดอย่างอนาคิน สกายวอล์คเกอร์ถึงได้ปล่อยตัวปล่อยใจยอมพ่ายแพ้ เข้าสู่ด้านมืดของพลัง (dark side of the Force)!

เล่าให้ฟังสั้นๆ ละกันนะครับ (แน่ใจว่าไม่ได้เป็น spoiler เพราะป่านนี้คงรู้กันทั้งเมืองแล้ว) ว่าภาคนี้ คุณตาจอร์จ ลูคัส เฉลยว่าอนาคินเปลี่ยนข้างมาเป็นวายร้ายเพราะคู่รักของเขา วุฒิสมาชิกหญิงแพดเม่ อดีตราชินีอมิดาลา (Amidala) นั่นเอง พอมานึกว่าชื่ออมิดาลานี่พ้องกับชื่อส่วนของสมองที่เรียกว่า อมิกดาลา (amygdala) ก็รู้สึกว่าสมเหตุสมผลดีครับ ยิ่งคิดก็ยิ่งน่าทึ่ง ขอชมว่าคุณตาลูคัสผูกเอาไว้ดีเหลือเกิน

คืออย่างนี้ครับ อมิกดาลา เป็นส่วนเล็กๆ ของสมอง มีรูปร่างคล้ายเม็ดอัลมอนด์ อยู่ในสมองส่วนกลาง มีหน้าที่ควบคุมอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ในแง่ลบ ไม่ว่าจะเป็นความโกรธ ความเกลียด ความเศร้า ความกลัว ความกังวลกระวนกระวายใจ กลุ่มที่เป็นพลังในด้านลบน่ะครับ (อาฮ่า! ถึงบางอ้อแล้วใช่ไหม?)

ความรู้เรื่องสมองส่วนอมิกดาลานี่นักวิทยาศาสตร์เพิ่งจะไขความลับออกครับ โดยอาศัยคุณูปการของเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างหนึ่ง คือ เครื่องฟังก์ชันนอลเอ็มอาร์ไอ fMRI (Functional Magnetic Resonance Imaging) ซึ่งเป็นวิธีศึกษาว่าสมองส่วนใดถูกกระตุ้นเมื่อได้รับความรู้สึก เช่น รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส และอารมณ์ต่างๆ

เจ้าเครื่องนี้ทำให้เราเห็นเลยว่าสมองส่วนอมิกดาลานั้นทำงานอย่างมาก เวลาเรามีความโกรธ กลัว หรืออารมณ์บ่จอย โดยมันจะไปกดการคิดไตร่ตรอง การรับรู้ของเรา ทำให้เรารับข้อมูลแต่เพียงบางส่วน อมิกดาลานี่ฤทธิ์เดชใช่เล่นครับ พวกเราคงเคยได้ยินสำนวนที่ว่า "เห็นช้างตัวเท่าหมู" ใช่ไหม? ที่เราเห็นช้างมันตัวเท่าหมูไม่ได้เป็นแค่สำนวนพูดกันเล่นๆ เท่านั้น แต่มีที่มาจากความจริง เวลาเราโกรธนั้นสมองจะลดระดับการรับรู้ลง ทำให้เราได้ภาพความเป็นจริงที่บิดเบี้ยวไปจากปกติมาก ที่ตัวโตก็เห็นเป็นตัวเล็ก เห็นผิดเป็นชอบ เห็นกงจักรเป็นดอกบัวไปได้

ที่วัยรุ่นตีกัน ที่อนาคินยอมสวามิภักดิ์กับด้านมืด ก็มักเกิดจากอารมณ์ในแง่ลบ เพราะอมิกดาลาตัวดีนี่แหละครับ

แต่อย่างไรก็ตามเจ้าเครื่องฟังก์ชันนอลเอ็มอาร์ไอก็ยังทำให้เราเรียนรู้ถึงพลังอีกด้านหนึ่งด้วยครับ นักวิทยาศาสตร์รู้ว่าตอนที่เราอารมณ์ในแง่บวกนั้นสมองส่วนที่ทำงานมากคือ สมองชั้นนอกซีกซ้ายด้านหน้า (left pre-frontal lobe) ครับ สมองส่วนนี้เป็นส่วนควบคุมการรู้คิดเหตุผล ส่วนพุทธิปัญญา (intellect) ของเรา เวลาเรารู้สึกสบาย มีความรัก รู้สึกปลอดภัย พร้อมจะเรียนรู้สมองส่วนนี้จะเริงร่าทำงานมาก

การที่เราเข้าใจกระบวนการของพลังทั้งในแง่ลบและแง่บวกนี้เป็นประโยชน์มาก เรารู้ว่าสมองทั้งสองส่วนนั้นเป็นขั้วตรงข้าม ทำงานคุมกันและกัน เวลาเราโกรธ หรือกลัวนั้น สมองชั้นนอกซีกซ้ายด้านหน้าจะทำงานน้อย ในขณะเดียวกันอมิกดาลาจะทำงานมาก สั่งว่าฉันไม่ขอรับรู้อะไรมากนักหรอก เพราะฉันกำลังรู้สึกว่ากำลังอันตรายต้องใช้พื้นที่เมมโมรี่สมองเยอะๆ เอาไว้ต่อสู้ ไม่ว่าจะเป็นวัยรุ่นหรือถึงระดับเจไดอย่างอนาคินใครจะห้ามก็ไม่อยากจะฟัง อาจารย์อย่างโอบีวันก็ไม่เว้น เรียกว่าช้างมาฉุดก็ไม่อยู่ ว่าอย่างนั้นเถอะ เวลาเราเข้าไปอยู่ในความทุกข์ ไปเปิดวงจรลบของพลัง (dark side) นี่แล้วจะปิดยากครับ

แต่ก็ใช่ว่าพลังในแง่ลบจะชนะเสมอไปนะครับ เพราะหากว่าสมองชั้นนอกซีกซ้ายด้านหน้ามาทำงานมากขึ้น สมองส่วนอมิกดาลาจะลดการทำงานลง ดังนั้นเราจึงต้องฝึกฝนตัวเองให้ดีครับ ต้องฝึกส่วนที่บังคับตนเองนี่ให้คล่องแคล่วครับ (เหมือนกับที่โยดา ปรมาจารย์เจไดคอยพร่ำสอนเหล่าลูกศิษย์) ต้องรู้จักฝึกใช้สติ ใช้ปัญญาบ่อยๆ ครับ แบบว่าเรียกปุ๊บมาช่วยปั๊บทันทีอย่างนั้นเลย ตัวอย่างคนที่ฝึกได้เช่นนี้จริงๆ ก็มีนะครับ ลูกศิษย์ท่านดาไลลามะนี่ชัดเลยครับ เข้าเครื่องวัดนี่กราฟพุ่งเลย เรียกว่าพอจะโกรธท่านเรียกพลังบวกออกมาจัดการได้ทันทีทันควัน ท่านพิสูจน์ได้ว่าส่วนจิตวิญญาณแท้ที่จริงก็คือการฝึกจิต และการฝึกจิตนั้นสามารถเปลี่ยนสมอง นั่นคือเปลี่ยนพฤติกรรมได้ด้วย

เป็นอย่างไรบ้างครับ อ่านแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากไปฝึกเป็นอัศวินเจได ฝึกสร้างเสริมพลังในแง่บวก (ฝึกเจริญสติ ฝึกสมาธิวิปัสสนา) กับเขาบ้างหรือยัง?

ขอให้พลังจงอยู่กับคุณครับ! May the Force be with you! :-)

รถติดก็สุขได้ง่ายจัง


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 22 พฤษภาคม 2548


"เปิดเทอมวันแรกกรุงเทพฯ สุดโกลาหล สะพานต่างระดับรัชวิภา ห้าแยกลาดพร้าว และสะพานตากสินการจราจรติดขัดหนัก" พาดหัวข่าวออนไลน์ตัวใหญ่ของสำนักข่าวแห่งหนึ่งเมื่อวันจันทร์

สถานการณ์รถติดหนึบบนท้องถนน กับข่าวพาดหัวหลายฉบับชวนให้ตั้งคำถามกับคอลัมน์นี้ ซึ่งมีสองเวอร์ชั่น คือ Happiness@Home และ Happiness@Work มีคอลัมนิสต์หมุนเวียนแลกเปลี่ยนประสบการณ์การเชื้อเชิญความสุขเข้ามาในพื้นที่ชีวิตของเราทั้งที่บ้านและที่ทำงาน แต่ เอ ... แล้วสิ่งที่อยู่ระหว่าง home กับ work ล่ะ? เช่น ทำอย่างไรดีถ้าต้องติดอยู่ในรถระหว่างเดินทาง เราจะมี Happiness@Somewhere-between-Home-and-Work ได้อย่างไร?

สัปดาห์ที่ผ่านมาถือเป็นแบบฝึกหัดซ้อมมือสำหรับชาวกรุงเทพฯ ที่ต้องเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่จะยากขึ้นไปอีกเมื่อเดือนมิถุนายนมาถึงและมหาวิทยาลัยเปิดเรียน คนกรุงเทพฯ และชาวเมืองใหญ่อีกหลายแห่ง มีเหตุอันจำเป็นต้องพัฒนาคุณลักษณะพิเศษในการจัดการตัวเองขณะติดอยู่ในสภาพจราจรจลาจล

เมื่อเราเผชิญกับสถานการณ์รถติด เราควรทำอย่างไร? ...เคยมีผู้เสนอเทคนิคพื้นฐานต่างๆ เอาไว้มากมาย ทั้งเขียนและพูดบรรยายไว้ในหลายที่ โดยเฉพาะ อาจารย์หมอประเวศ วะสี และหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ตัวอย่างเช่น


  • หาวิธีให้ใจไปจดจ่อกับสิ่งอื่น (จะได้ไม่คิดเรื่องรถ) เช่น ฟังข่าว ฟังเพลง ฟังธรรมะ (แต่หลวงพี่ตั้งข้อสังเกตว่า เทปธรรมะสำหรับบางคน อาจทำให้จิตยิ่งฟุ้งซ่านขึ้นไปใหญ่ เช่นนี้ก็ควรรู้จักเลือกวิธีที่ใช้ได้กับตนเอง)
  • แผ่เมตตาให้กับตัวเอง ... ใช่ครับ ควรแผ่เมตตาให้กับตัวเอง ถ้าเรารัก เป็นห่วง สงสารตัวเอง เราก็จะไม่รำคาญฉุนเฉียว แม้รถจะเคลื่อนที่ด้วยความเร็วเข้าใกล้ศูนย์ เพราะทำให้ไม่สบายทางใจ ไม่สบายทั้งกาย ข้อมูลงานวิจัยทางการแพทย์พบว่า หากเราอารมณ์เสียภูมิคุ้มกันโรคบางตัวในร่างกายของเราจะลดลงนานถึง 6 ชั่วโมง ดีไม่ดีโรคกระเพาะ โรคความดัน จะถามหาอีกด้วย
  • ปล่อยวางกับปัญหา ในสถานการณ์ที่ทำอะไรไม่ได้ เพราะใช่ว่าการหงุดหงิดแล้ว จะทำให้รถแล่นได้ฉิวรึก็ไม่ อันที่จริงแบบฝึกหัดนี้หากทำได้จนคล่องแคล่วมีความชำนาญ ก็สามารถนำไปประยุกต์กับการเผชิญกับปัญหาที่ยุ่งและยากกว่าปัญหารถติดมากนัก (แม้กระทั่งความตายของตัวเองและคนที่เรารัก)


นอกจากสามวิธีนี้แล้ว ผมยังได้เจออีกทางเลือกหนึ่งจากการไปร่วมงานรีทรีท "ภาวนา ... สามัญวิถีแห่งความเบิกบาน : สร้างความรักฉันพี่น้อง ร่วมกันเดินทางดั่งสายน้ำเดียวกัน" จัดโดย หมู่บ้านพลัม กลุ่มสังฆะแห่งสติ กลุ่มวงล้อ เสมสิกขาลัย เครือข่ายพุทธิกา และกลุ่มจิตวิวัฒน์ ในงานเป็นการปฏิบัติภาวนาที่งดงามและเรียบง่ายตามสไตล์เซนของท่านติช นัท ฮันห์ แห่งหมู่บ้านพลัม ฝรั่งเศส ซึ่งมีภิกษุณีนิรามิสา (เป็นภิกษุณีคนไทยคนแรกและคนเดียวที่นั่น) และภิกษุณีติดตาม 2 รูป เป็นวิทยากร

งานรีทรีทครั้งนี้มีบรรยากาศสดใส เบาสบาย ด้วยกิจกรรมหลากหลาย ทั้งการเดินวิถีแห่งสติ ชมธรรมชาติ ผ่อนคลายอย่างสมบูรณ์ (Total Relaxation) และกิจกรรมเด่นของหมู่บ้านพลัม คือ การร้องเพลง!

และการร้องเพลงนี่เองคือ ทางเลือกที่ว่า ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้เผชิญชะตากรรมรถติดร่วมกันได้ดีนักแลครับ โดยเฉพาะเพลงที่ชื่อว่า 'เป็นสุขในปัจจุบัน' (Happiness Is Here and Now) เพลงร้องง่าย ติดหู ร้องสองสามรอบก็จำทำนองได้

เป็นสุขในปัจจุบัน Happiness Is Here and Now

เราเป็นสุขในปัจจุบัน Happiness is here and now
เราได้ปล่อยวางความกังวล I have dropped my worries
ไม่ไปที่ไหน Nowhere to go
ไม่มีงานใด Nothing to do
เราจึงไม่ต้องรีบเร่ง No longer in a hurry

เราเป็นสุขในปัจจุบัน Happiness is here and now
เราได้ปล่อยวางความกังวล I have dropped my worries
ต้องไปที่ไหน Somewhere to go
จะมีงานใด Something to do
เราก็ไม่ต้องรีบเร่ง But not in a hurry


เนื้อเพลงว่า ความสุขอยู่ที่นี่และตรงนี้เลย ไม่ต้องแบกอะไรไว้ ถ้าไม่ไปไหน ไม่ทำอะไรก็ไม่ต้องรีบ หรือถ้าต้องไปที่ไหน ต้องทำอะไร ก็ไม่ต้องรีบเหมียนกัลล์ เป็นการฝึกสติที่ผสมผสานเทคนิควิธีทางศิลปะดนตรี สุนทรียภาพมาเป็นอุบาย ทำให้ทั้งง่ายและสนุกได้มากทีเดียว

เดี๋ยวนี้ผมเลยมีของเล่นไว้ส่งเสริมความสุขของตนเองและคนรอบข้างเพิ่มขึ้นอีกอย่าง ตอนไหนที่รู้สึกว่าสติสตังไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ก็ได้อาศัยเพลงช่วยกล่อมให้ช้าลง และรู้ตัวมากขึ้น

หากเจอกับสถานการณ์รถติด ลองเลือกสักวิธีที่เหมาะกับตัวคุณดูบ้างสิครับ ได้ผล-ไม่ได้ผลเขียนมาเล่าให้ฟังกันบ้างครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 14 พฤษภาคม 2548


"ได้ฝึกการลดละความเป็นตัวตนของตนเองค่อนข้างมาก ได้ฝึกวิธีที่จะทำตามคำพูดของคุณหมอประเวศ คือทำตัวตนให้เล็กลง ทำจิตใจให้ใหญ่ขึ้น"
สุมน อมรวิวัฒน์


กลุ่มจิตวิวัฒน์ เป็นการรวมตัวกันของคนที่สนใจ นักคิด นักปฏิบัติ เรื่องจิตวิวัฒน์ การเกิดจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ (Spiritual Revolution) โดยการศึกษาค้นคว้าจากแหล่งต่างๆ ทั้งในและต่างประเทศ รวมถึงการปฏิบัติจริงของตนเองด้วย บนฐานความเชื่อที่ว่าร่างกายของมนุษย์นั้นจะไม่เปลี่ยนแปลงอะไรมากนัก ในขณะที่จิตมนุษย์สามารถพัฒนาไปได้อีกมาก ทางออกของปัญหาที่รุนแรง ยุ่งยากและซับซ้อนต่างๆ ในโลกล้วนไม่สามารถแก้ได้ด้วยวิธีทางเทคนิคเพียงอย่างเดียว แต่ต้องอาศัยการมีจิตใหญ่เป็นพื้นฐาน

จิตเล็ก คือความรู้สึกอันคับแคบ อึดอัดอยู่กับการเห็นโลกอย่างเป็นส่วนเสี้ยวและความเป็นตัวกูของกู ซึ่งขัดแย้งกับความเป็นธรรมชาติ ในขณะที่จิตใหญ่ หรือจิตสำนึกใหม่ เป็นความรู้สึกนึกคิดที่มีอิสระ มีความสุข มีความรักในเพื่อนมนุษย์และธรรมชาติ เนื่องจากก้าวข้ามความจำกัดของตัวเองด้วยเพราะเห็นความเชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ

มีหลักฐานเชิงประจักษ์จำนวนมากทั้งทางวิทยาศาสตร์และศาสนา ว่ามนุษย์นั้นมีศักยภาพในการก้าวข้ามจากจิตเล็กไปสู่จิตใหญ่ โลกเริ่มสะสมความรู้และประสบการณ์ในการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวมากขึ้น เพียงแต่ว่ามนุษยชาติจะเปลี่ยนผ่านได้ทันท่วงทีหรือไม่? นี้เป็นโจทย์สำคัญของจิตวิวัฒน์
----------------------------------------------

อีกสองเดือนกลุ่มจิตวิวัฒน์จะมีอายุครบสองขวบปีแล้ว ในการประชุมเดือนนี้จึงถือโอกาสระลึกย้อนกลับไป ประมวลประสบการณ์ ถอดบทเรียน และมองไปข้างหน้า ผู้เขียนขอยกตัวอย่างข้อคิดเห็นของสมาชิกบางท่านมาเล่าสู่กันฟัง

สิ่งที่สมาชิกทั้งหมดรู้สึกร่วมกันคือ จิตวิวัฒน์เน้นเรื่อง การเรียนรู้ภายใน (Contemplative Learning) สิ่งที่แลกเปลี่ยนในที่ประชุมทำให้เห็นความกว้างใหญ่ไพศาลของความรู้ในโลก และความรู้อันจำกัดของตน สมาชิกหลายท่านเป็นผู้ใหญ่ที่สังคมให้ความเคารพนับถือในวิชาความรู้ (และการปฏิบัติตน) มีทั้งที่เป็นพระ ปราชญ์ราชบัณฑิต และอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่สิ่งที่ท่านเหล่านี้พูดเป็นเสียงเดียวกันคือ การได้มาเรียนรู้ศาสตร์ต่างๆ ทั้งวิทยาศาสตร์ การแพทย์ มนุษย์ศาสตร์ สังคมศาสตร์ ศิลปะความงามอย่างมากมายนั้น ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตนเองโดยพื้นฐานและอย่างลึกซึ้ง โดยเฉพาะความอ่อนน้อมถ่อมตน ลดละอัตตา และความมีเมตตาต่อผู้อื่น

ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์ เล่าว่าท่านได้เรียนรู้ที่จะ "ละเว้นซึ่งความยึดมั่นถือมั่นในหลักการ จากที่ตลอดชีวิตเป็นคนยึดมั่นอย่างมากในหลักของความถูก-ผิด มีบางอย่างที่ผิดไม่ได้ แต่ ๑ ปีกว่ามานี้มีความผ่อนคลาย คือเห็นว่าไม่ควรยึดติดในหลักทฤษฎี หลักการของโลกและชีวิตมากเกินไป" อีกทั้งยังได้ "ฝึกการลดละความเป็นตัวตนของตนเองค่อนข้างมาก ได้ฝึกวิธีที่จะทำตามคำพูดของคุณหมอประเวศ คือทำตัวตนให้เล็กลง ทำจิตใจให้ใหญ่ขึ้น ได้เป็นประโยชน์แก่ชีวิตบั้นปลาย"

ท่านมีประโยคเด็ด คือ "เดี๋ยวนี้ดีจัง เวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้มีโอกาสขัดใจตัวเอง" แล้วอรรถาธิบายเพิ่มเติมว่าเวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้เจริญสติรู้ตัวว่ากำลังจะเกิดความคับข้องใจ เลยได้โอกาส "ขัด"ความขุ่นข้องหมองใจออกไป

ท่านอาจารย์เอกวิทย์ ณ ถลาง เสริมว่า "มาที่นี่แล้วรู้อะไรมากขึ้นเยอะ ยิ่งรู้ก็ยิ่งรู้สึกว่ารู้น้อยขึ้นทุกที เพราะสิ่งที่ไม่รู้มันมาก ทำให้ตัวตนเล็กลงๆ ว่าที่เราไม่รู้มันมหาศาลเหลือเกิน ทำให้ตัวเองไม่สำคัญเท่าไหร่ เป็นผงธุลีเล็กๆ ในจักรวาล ตรงนี้เองทำให้มีเมตตาจิตขึ้น เตือนสติให้ดีกว่าเดิม"

ท่านอาจารย์จุมพล พูลภัทรชีวิน ประเมินว่าสิ่งที่ได้คือ ปัญญาและความสุข "เป็นความสุขที่เกิดขึ้นภายใน ถ้าจะขยายความให้มากขึ้นคือ เราได้ความรู้ ได้ความจริง ได้ซึมซับความงาม ความคิดแต่ละคน ได้ความดีมากขึ้น"

ส่วนท่านอาจารย์ประสาน ต่างใจ เน้นย้ำถึงทั้งความสำคัญและความเร่งด่วนของการทำให้ทุกคนสนใจเรื่องจิตสำนึกใหม่ เพราะเป็นเรื่องความอยู่รอดของเผ่าพันธุ์มนุษย์ทั้งหมด "ผมพยายามจะแข่งกับจักรวาล เท่าที่ทราบมาเผ่าพันธุ์มนุษย์กำลังจะสิ้นสุดเร็วๆนี้ เพราะว่าเราทำลายตัวเอง ... ยังติดบ่วงอยู่ บ่วงวิทยาศาสตร์ บ่วงเทคโนโลยี บ่วงกายภาพ ทำให้เราไปไหนไม่ได้ ... อย่างน้อยเราก็ฝากจิตใจ ฝากความปรารถนาที่จะสร้างชุมชน เพื่อจะเอาชุมชนให้รอด ผมว่าจักรวาลเขาหมดหวังกับเราแล้ว ถ้าเราไม่เปลี่ยนแปลง ... ต้องเปลี่ยนกระบวนทัศน์กันไปเลย เราต้องเอาจริงเอาจังกับมัน ให้คนตื่นและเปลี่ยนแปลงให้ได้ ไม่ใช่แค่ change แต่เป็น transformation ... ถ้าตัวเองเปลี่ยนแปลง ใกล้ๆ ก็จะเปลี่ยนแปลงด้วย"

หลวงพี่ไพศาล วิสาโล แห่งวัดป่าสุคะโต เห็นว่า จิตวิวัฒน์ "เป็นประโยชน์ในการนำความคิดใหม่ๆ มาให้ และมีการนำเสนอภาษาหรืออุปมาอุปไมยใหม่ๆ ซึ่งบางทีมันมีพลัง เรื่องความคิดใหม่ๆ ถึงแม้ว่ายาก แต่ถ้าใช้ภาษาที่ดีก็สามารถสื่อได้ตรง"

ส่วนเรื่องที่ควรปรับปรุงหลวงพี่แนะนำว่า วิธีการเข้าสู่จิตวิวัฒน์ของกลุ่ม จะเน้นอยู่ที่วิทยาศาสตร์กับศาสนา ขาดทางด้านสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ซึ่งมีความรู้หลายอย่างให้ศึกษา ความรู้สังคมวิทยา มานุษยวิทยาชุดปัจจุบันที่แยกส่วนนั้นบั่นทอนศรัทธาในมนุษย์ ที่ผ่านมาด้านวิทยาศาสตร์ก็มี "วิทยาศาสตร์ใหม่" เข้ามาเสริม แต่ด้านอื่นยังไม่ค่อยเห็น ไม่ค่อยเป็นที่รู้จัก ควรได้ส่งเสริมกัน อีกทั้งกลุ่มนักคิด นักปฏิบัติที่เชิญมามักเป็นกลุ่มที่มีความคิดเห็นเหมือนกัน เป็นการมายืนยันความเชื่อเดิม น่าจะมีส่วนที่มาท้าทายความคิดของกลุ่มบ้าง ทำให้พลังในการไปเผชิญความท้าทายน้อยลง อาจทำให้ความคิดไม่แตกแขนง

คุณเดวิด สปิลเลน ชี้ให้เห็นว่ากลุ่มจิตวิวัฒน์มีลักษณะเป็นองค์กรจัดการตนเอง (Self-organizing) แต่ละคนรู้จักบทบาทของตน ไม่มีใครสั่งว่าใครต้องทำอะไร ทุกคนเรียนรู้ที่จะต่อยอดการฝึกจิตของกันและกัน มีความมั่นใจ ไว้วางใจให้กับชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข แม้ว่าบางทีไม่ทราบว่ามีเรื่องอะไรนำเสนอบ้าง ก็ไม่เป็นไร (คุณเดวิดได้บริจาคหนังสือภาษาอังกฤษเกี่ยวกับจิตสำนึกใหม่จำนวนหลายร้อยเล่มเพื่อประโยชน์แก่สาธารณะ หลายเล่มเป็นหนังสือหายาก ทางกลุ่มจิตวิวัฒน์จะได้นำไปทำสรุปย่อความเป็นภาษาไทย จัดระบบ และให้บริการแก่ประชาชนทั่วไปที่ห้องสมุดแสงอรุณ ถ.สาธร โดยจะแจ้งรายละเอียดในโอกาสต่อไป)

คุณศุภชัย พงศ์ภคเธียร เห็นว่าจิตวิวัฒน์ "เป็นคลังสมองจริงๆ ขณะเดียวกันที่ประชุมนี้ก็ได้ผู้เชี่ยวชาญจากศาสตร์ต่างๆ เห็นบูรณาการต่างๆ เห็นธรรมะที่อยู่ในวิถีชีวิตของอาจารย์ทั้งหลาย ออกมาในรูปของการปฏิบัติ ที่ทำให้เราแน่ใจว่าปฏิบัติได้ไม่ใช่อยู่แต่ในตำราหรือคัมภีร์ ผมคิดว่าการประชุมแบบนี้ถ้ามีการขยายขึ้นในอนาคตก็จะเป็นแสงสว่างในชุมชนนั้นๆ "

ภาพรวมของกลุ่มจิตวิวัฒน์ อาจสรุปได้ดังคำของท่านอาจารย์อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม ที่สะท้อนว่า การประชุมจิตวิวัฒน์แตกต่างไปจากการประชุมอื่นซึ่งท่านได้เคยเข้าร่วม และล้วนเป็นการประชุมทำงานที่มีความเครียดและแรงกดดัน ขณะที่จิตวิวัฒน์เป็นการประชุมที่มีบรรยากาศผ่อนคลาย ปราศจากความเครียด ผู้เข้าร่วมประชุมล้วนมีความอ่อนน้อมถ่อมตน พร้อมที่จะเรียนรู้ซึ่งกันและกัน อันเป็นการเรียนรู้เพื่อสุขภาวะอย่างแท้จริง
----------------------------------------------

กลุ่มจิตวิวัฒน์ ทำงานด้านความรู้ การใช้สติและปัญญา ยินดีที่จะส่งเสริมและร่วมมือกับผู้สนใจเรื่องจิตสำนึกใหม่กลุ่มอื่นๆ เพื่อช่วยกันสร้างเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ เพื่อการพัฒนาจิต นำไปสู่สุขภาวะทางจิตวิญญาณ (Spiritual Health) ของสังคมและโลก

ใจใสปิ๊ง เพราะถูกขัดใจ


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2548


คราวที่แล้วผมเขียนเล่าเรื่องปัญญาจากท่านผู้ใหญ่ที่ผมเคารพรักอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์ระพี สาคริก กับการเข้าถึงความสุขง่ายๆ ด้วยการเห็นความจริงว่าเรื่องราวต่างๆ นานารอบตัวเราที่ดูเหมือนยุ่งเป็นยุงตีกัน แท้จริงทำให้ง่ายได้ด้วยการมองเห็นว่ามันอาจแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ เรื่องของเรา และ เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูลงไปให้ดีก็จะเห็นว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่เราเที่ยวไปแบกกันเอาไว้เป็นเรื่องประเภท "เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา"

บ่ายวันนี้ผมก็ได้ทั้งชื่นชมกับปัญญาชุดเดียวกันนี้ แต่จากอาจารย์ผู้ใหญ่อีกท่านที่ผมเคารพรักเหมือนแม่ คือ ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์

ในที่ประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์* วันนี้มีการทบทวนตนเองของกลุ่มหลังจากได้พบกันมาปีเศษ อาจารย์สุมนกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่าการที่ได้มาร่วมประชุมทำให้รู้สึกว่าตนเองนั้นตัวเล็กลง รู้สึกว่าสิ่งที่ยังไม่รู้นั้นมีอีกมากนัก ได้เรียนรู้ที่จะลดละอัตตาลง บรรดาทฤษฎีต่างๆ ประดามีที่เคยยึดถือว่ามีถูก-มีผิดชัดเจนก็เห็นความไม่เที่ยง (ของความจริงเชิงสมมติ/สมมติบัญญัติ) มากขึ้น

ประโยคเด็ดของอาจารย์คือ "เดี๋ยวนี้ดีจัง เวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้มีโอกาสขัดใจตัวเอง" คนฟังออกจะงงๆ กับการเล่นคำของอาจารย์ ท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า ก็เวลามีคนมาขัดใจเรา เราก็ได้ฝึกการมีสติรู้ตัว เมื่อรู้ตัวก็มีโอกาสขัดใจตัวเอง คือ ขัดความขุ่นข้องหมองมัวออกไปจากจิตใจ (ว๊าว! เสียงจากที่ประชุมอุทานเบาๆ)

ผมทั้งทึ่ง ทั้งซึ้งกับความงามของราชบัณฑิตท่านนี้ งามทั้งภายนอก งามทั้งภายใน เป็นความงามที่แผ่ความอบอุ่น ความร่มเย็นสบายๆ ออกมา

ขณะที่นั่งฟังด้วยความอิ่มเอิบอยู่นั้น เทียบเคียงความรู้สึกเหมือนกับอยู่ใกล้ๆใครไม่มีผิด รู้สึกเหมือนกับได้อยู่ใกล้ๆ ท่านอาจารย์ระพีนั่นเอง ทั้งคู่เหมือนกับข้าวที่ออกรวงเต็มแล้วน้อมลง ถ่อมตัว ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภายใน (contemplative learning) อย่างชัดเจน ทำให้นึกถึงว่าสิ่งที่สองท่านนี้เชื่อและปฏิบัติก็เหมือนกัน พิสูจน์ได้ว่าปราชญ์ของแผ่นดินนั้นเจริญปัญญาไปในทิศทางเดียวกัน เรื่อง"เวลามีใครโกรธขัดใจยิ่งดีเลย ได้โอกาส 'ขัด' ใจของเรา คือขัดเอาความขุ่นข้องหมองใจออกไป" ก็คือเรื่องเดียวกันกับการที่คนอื่นมาทำให้ (หรือพยายามทำให้) เราเซ็ง แล้วเรามีสติรู้ตัว และมีปัญญารู้ทันว่ามีส่วนที่เป็นเรื่องของเราและไม่ใช่เรื่องของเรา
การที่เขาทำไม่ดีกับเรานั้นเป็นเรื่องของเขา เป็นปัญหาของเขา เรื่องของเราที่แท้จริงแล้ว คือการดูแลจิตใจตนเอง! หน้าที่ของเราแท้จริงคือการดูแลตนเองให้ดี! [ผมถึงบางอ้อทางสติและปัญญาอีกครั้ง!]

น่าเสียดายที่คนในสังคมส่วนใหญ่มักโทษ หรือโบ้ยปัญหาให้คนอื่นทั้งสิ้น วันไหนตื่นสายก็โทษคนที่บ้านว่าไม่ยอมปลุก คือถ้ามันลงตื่นสายไปแล้ว เซ็งหรือเกือบเซ็งไปแล้ว ก็น่าจะได้หยุดสักหน่อย พอให้มีสติแล้วคิดได้ว่า เขาลืมปลุกเราก็เรื่องของเขา เราอาจพยายามหาวิธีช่วยให้เขาไม่ลืมอีก แต่เรื่องสำคัญอยู่ที่เราจะจัดการกับความเซ็งหรือเกือบเซ็งตอนนั้นอย่างไรต่างหาก

ฝากใครทำงานอะไร แล้วเขาลืมทำให้เหมือนกันไม่มีผิด ใช่ล่ะ ... ถึงแม้เราจะมีอำนาจ "สั่ง" (หรือวาน) ให้ใครทำอะไรแล้วเขาลืมทำ เช่น วานแม่ให้ช่วยโทรศัพท์ สั่งแฟนให้ซื้อของ สั่งลูกให้ทำการบ้าน สั่งคนใช้รดน้ำต้นไม้ ถึงเวลาคนเหล่านั้นลืมทำ (ไม่ว่าจะลืมจริงหรือตั้งใจลืมก็ตาม!) ไม่มีประโยชน์ที่เราจะเสีย"ใจ" ใสๆของเราให้กับความโกรธหรือความเซ็ง อย่างไรซะมันก็เกิดขึ้นไปแล้ว สู้เอาสมองที่เคลียร์ๆคิดหาวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกดีกว่า

เวลาใครทำอะไรที่เขาไม่ควรทำ หรือไม่ได้ทำอะไรที่เขาควรทำนั้น พอเรากำลังจะก้าวเข้าสู่บรรยากาศมาคุ ที่สมองส่วนควบคุมความโกรธและเศร้า ที่เรียกว่า อะมิกดาลา (Amygdala) จะทำงานแล้ว ถ้ารู้จักเตือนตนเอง มีสติและมองให้เห็นว่าใครทำหรือไม่ทำอะไรนั้นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเราเรื่องหลักคือ การดูแลจิตใจ (หรือ "ขัด" ความขุ่นข้องหมองมัวออกจากจิตใจ) รับรองว่าโลกนี้จะสดใสขึ้นอีกเยอะ

วันๆ ไม่ต้องคอยกลุ้มนั่นกลุ้มนี่ เที่ยวปะ-ฉะ-ดะ กับเขาไปเรื่อย :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 24 เมษายน 2548


บทความนี้ไม่เกี่ยวกับทรงผม แฟชั่นหรือความสวยความงามจากภายนอกครับ แต่เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกันคือเป็นเรื่องของสมองและวิธีการมองโลกและความสวยความงามจากภายในครับ

คนเราแต่ละคนมีวิธีการเผชิญกับโลก เข้าใจโลก และแก้ปัญหาโลกต่างๆกันออกไป ในสถานการณ์แบบเดียวกันแต่ละคนย่อมมีการแสดงออก มีพฤติกรรมต่างกันไป

นักวิชาการและนักปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลง (ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และโลก) อธิบายว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมาที่เราเห็นนั้น มีรากฐานสำคัญมาจากปัจจัยพื้นฐานที่สุดคือ รูปแบบทางความคิด (mental model) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเฉพาะเป็นกรณีๆ ไปนั้นไม่ได้ผลหรือมีประสิทธิภาพมากนัก ต่างกันกับการเปลี่ยนรูปแบบทางความคิด

รูปแบบทางความคิด เรียกง่ายๆ ก็คือ ความเข้าใจต่อโลกนั่นเอง เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของเรา หมายรวมถึงความเชื่อ ทัศนคติของเราด้วย

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางความคิดที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตผมคือ การได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับท่านอาจารย์ระพี สาคริก ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งของผมท่านหนึ่ง เมื่อแปดปีที่แล้วคณะนักวิจัยได้ขอให้ผมพาไปเยี่ยมเยียนท่านเป็นของขวัญสำหรับการปิดโครงการวิจัยชิ้นใหญ่ของเรา บ้านท่านอาจารย์ที่บางเขนนั้นร่มรื่นไปด้วยต้นไม้และกล้วยไม้นานาพันธุ์ พร้อมอบอุ่นไปด้วยความเมตตากรุณาของครอบครัวเจ้าบ้าน

ระหว่างที่กำลังทานของว่างกันอยู่ นักวิจัยรุ่นน้องผมถามว่า "อาจารย์คะ ทำไมชีวิตอาจารย์ดูมีความสุขจังละคะ? อาจารย์มีหลักในการดำเนินชีวิต (หรือ "รูปแบบทางความคิด" นั่นเอง--ผู้เขียน) อย่างไรคะ?"

อาจารย์หัวเราะอย่างอารมณ์ดีแล้วเล่าสุดยอดวิชาให้เราฟังว่า "อ๋อ ... ผมแบ่งเรื่องราวในโลกนี้ออกเป็นสองจำพวก พวกแรกเป็นเรื่องของผม และอีกพวกเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของผม พวกแรกนั้นผมก็จัดการกับมันตามที่ผมควรจะทำ ส่วนเรื่องหลังนั้นผมก็วางใจ ไม่ไปเดือดร้อนกับมัน" อาจารย์ยกสองสามตัวอย่างประกอบการอรรถาธิบายด้วย

ไม่ทราบว่าใครในคณะที่ไปจะได้ยิน เข้าใจ หรือประทับใจอย่างไร แต่สำหรับผมแล้วสองสามประโยคนั้น "โดนใจ" สุดๆ นับเป็นการตกผลึกประสบการณ์อันงดงามหลายสิบปีของปราชญ์ของแผ่นดินไทย

หลังจากวันนั้นชีวิตผมสบายขึ้นมาก มีความสุขขึ้นมาก ไม่ค่อยได้ไปคอยเที่ยวแบกเรื่องชาวบ้านเป็นประจำเช่นเคย (ฮา)

หรือหนึ่งในท็อปทรีเรื่องปวดหัวยอดฮิตที่ทำงาน คือ โดนหัวหน้าต่อว่าหรือตำหนิ สัดส่วนความทุกข์ในที่ทำงานทั่วโลกจำนวนไม่น้อยคงเกิดจากสาเหตุนี้ ... เคยมีบ้างไหมที่เราทำผลงานเต็มความสามารถแล้ว หัวหน้ายังไม่พอใจ แล้วอารมณ์เสียใส่เรา?

ก่อนอื่นเลย ถ้าพิจารณาให้ดีจริงๆจะเห็นว่าใครก็ตามที่อารมณ์เสีย ปัญหาอยู่ที่คนนั้นแน่ๆ (หลักฐานที่ชัดเจนต่อหน้าต่อตา คือเขากำลังทุกข์ เพราะกำลังอารมณ์เสีย)

ต่อมา ... เป็นไปได้ไหมว่าอารมณ์ไม่จอยของหัวหน้านั้นเป็นเรื่องของเขา รวมถึงความผิดหวังของหัวหน้าด้วยก็เป็นเรื่องของเขา (ที่คาดหวังผิดๆ คาดว่าเราควรจะทำงานได้ดีกว่านั้น เพราะถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะคาดหวังให้เราทำดีกว่านั้นก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเรื่องหรือปัญหาจึงอยู่ที่คนที่คาดหวังต่างหาก)

แต่เนื่องจากเราอยู่ในโลกของความสัมพันธ์ (แถมเขายังเป็นหัวหน้าเราอีกด้วย) มันก็ย่อมมีส่วนที่เป็นเรื่องของเรา เป็นไปได้ไหมว่าเรื่องของเราจริงๆ แล้วอาจเป็นว่าเราควรลองหาวิธีดูว่าเราจะทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร (ถ้าดีที่สุดแล้วก็ไม่ต้องคิด) หรือลองดูว่าเราสามารถอธิบายให้หัวหน้าเข้าใจได้ไหม (โดยที่ไม่มีผลลบต่อเรา) ว่างานที่ได้นั้นดีที่สุดแล้ว ... ซึ่งทั้งหมดนี้เราควรจะสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ หรือต้องมีอารมณ์แย่ๆ ตามเจ้านาย (ผู้น่าสงสาร) ของเราไปด้วย

(แน่นอนว่ามีหัวหน้างานบางคนที่อาจรับไม่ได้ถ้าเราไม่ "แสดงท่าที" ว่าเป็นเดือดเป็นร้อนกับการว่ากล่าวของเขา กรณีนี้ก็ควรหาวิธีการที่เหมาะสมเฉพาะกรณีไปครับ)

หากเราแยกแยะเรื่องของเรา และเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา ออกจากกันได้ เราก็จะลดภาระที่ต้องไปเป็นทุกข์แบกเรื่องคนอื่น และมีเวลา มีสมอง มีปัญญามาคิดจัดการเรื่องที่เป็นเรื่องของเราจริงๆ มากขึ้นครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2548


เมื่อไม่กี่วันมานี้รุ่นพี่ที่ผมเคารพรัก ชื่นชม และสนิทสนมอย่างยิ่งท่านหนึ่งได้สร้างวีรกรรมเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กรของเธอ

วันนั้นเป็นวันที่มีการประชุมระดับกรรมการสูงสุด และเนื่องจากมีประธานกรรมการเป็นคนใหม่ ทางองค์กรจึงได้เตรียมการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้น รุ่นพี่ของผมคนนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนทำหน้าที่ดังกล่าว ตอนเริ่มต้นบรรยากาศประชุมเคร่งเครียด อึมครึม มีความไม่เข้าใจกันอยู่สูง รวมถึงช่วงแรกของการนำเสนอ แต่หลังจากนั้นไม่นานสภาพการประชุมก็ดีขึ้น เธอสามารถอธิบายงานขององค์กรได้อย่างดี ตอบข้อสงสัยต่างๆ ได้อย่างเป็นมิตร สามารถสลายความรู้สึกในแง่ลบจากห้องได้ นำมาซึ่งความสามารถตกลงในประเด็นพิจารณาได้อย่างประสานประโยชน์ทุกฝ่าย หลังการประชุมสมาชิกได้ร่วมยินดีกับเธอที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี

ผมเองไม่แปลกใจหรือสงสัยในความสามารถของเธอ แต่ความสนใจอยากเรียนรู้จึงได้ถามถึงเบื้องหลังของความสำเร็จ เธอเล่าให้ฟังว่า "อ๋อ พี่รู้เลยว่างานนี้ไม่ง่าย ต้องใช้สติเป็นอย่างมาก พี่ใช้เวลา ๑๐ กว่านาทีก่อนเข้าห้องประชุมเจริญสติ นั่งสมาธิ ทำใจของพี่ให้นิ่ง พี่นึกถึงแต่เจ้าแม่กวนอิม นึกถึงพระโพธิสัตว์ ขอให้พี่มีปัญญา มีความรัก ที่จะไม่โกรธใคร ตอนเดินเข้าห้องประชุมเนี่ยะ รู้สึกว่าไม่มีตัวตนเลย คิดว่าเรามีแต่ความเมตตาให้ทุกคน"

เธอยังเล่าอีกว่า "ในขณะที่หลายๆ คนเครียดมากก่อนเข้าห้องประชุม แปลกนะพี่กลับรู้สึกผ่อนคลาย สบายดี"

"คือก่อนหน้านั้นพี่ใช้เวลาหลายชั่วโมงศึกษาเอกสารทั้งหมด และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ที่ทางทีม ทางน้องๆ เขาได้ช่วยเตรียมให้"

"นี่ดีนะที่เพิ่งจะทราบว่าต้องเป็นคน present เมื่อตอนเช้า เมื่อคืนเลยไม่เครียดมาก ได้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่"

เห็นได้ชัดเลยว่าความสำเร็จของเธอไม่ใช่เรื่องไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นเพราะทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ผมมาสรุปเอาเองว่าเกิดจากความมีสุขภาวะทั้งสี่มิติของเธอ คือ ๑. สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ๒. สุขภาวะทางจิต ๓. สุขภาวะทางสังคม และ ๔. สุขภาวะทางกาย

ตอนที่เริ่มฟังเธอเล่านั้นผมจดบันทึกไว้ในใจว่า "อืมม์ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ! ... ใช่เลยเจริญสติอีกแล้ว!" เรื่องของเธอตอกย้ำความสำคัญของการเจริญสติให้กับผม ชัดเจนเลยว่าสตินั้นเป็นฐานของความสำเร็จทั้งปวง เชื่อขนมทานได้เลยว่าแม้ว่าเธอจะเตรียมตัวมาดีเพียงใด หากตกใจ ประหม่า สิ่งที่เตรียมมาก็คงสับสนไปหมด ไม่สามารถจะเล่าด้วยความสุขุมนุ่มนวลอย่างที่ใจปรารถนา

ยิ่งเรื่องการข้ามพ้นความเป็นพวกเรา พวกเขาไปได้ ตรงกับหัวใจของความเป็น "วิทยาศาสตร์ใหม่" ที่พูดถึงการลดละอัตตาตัวตน สามารถก้าวข้ามและหลอมรวม (transcend and include) ความคิดเห็นที่แตกต่างได้ การโน้มนำบารมีพระโพธิสัตว์มาใช้ก็นับเป็นอุบายที่ถูกทั้งกาละและเทศะอย่างยิ่ง

ไม่น่าแปลกใจที่เธอจะมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ผ่อนคลายไม่เครียด ยิ่งได้มีทีมงานที่ดีคอยเป็นกำลังใจ ทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ช่วยเตรียมข้อมูล เตรียมเอกสารทุกอย่างอย่างเต็มที่ จะเห็นว่างานสำคัญหลายอย่างไม่สามารถที่จะทำได้คนเดียว คนที่จะเดินไปข้างหน้าย่อมมั่นใจหากรู้ว่ามีทีมที่พร้อมจะไปด้วยกัน พร้อมสนับสนุนส่งเสริมกันตลอด นี่ถือเป็นตัวอย่างการมีสุขภาวะทางสังคม

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ สุขภาวะทางกาย โดยวิธีง่ายๆ ที่พวกเรามักหลงลืมหรือไม่ก็ละเลยกันไป เช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสมและพอดี หรือการได้นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นหัวใจของการเข้าถึงสุขภาวะทางกายได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองแต่อย่างใด

เป็นเรื่องที่ต้องภูมิใจและชมเชยเธอเป็นอย่างมาก เพราะสุขภาวะทั้งสี่นี้แม้จะมีวิธีเข้าถึงที่ง่ายๆ ไม่แพง และเข้าถึงได้ทุกคน แต่พวกเราส่วนใหญ่ก็มักจะละเลย ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมัน

การที่เธอมีความพร้อมของสุขภาวะทั้งสี่สำหรับงานสำคัญที่ผ่านมานั้นแน่นอนว่าไม่เพียงแต่ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ ที่สำคัญยังต้องให้เวลาหรือใช้เวลากับมันพอสมควรและทั้งสี่มิติเลยทีเดียว ดังกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล หรือคิดว่า "โอย! ไม่เอาหละเรื่องพวกนี้ยากเกินไปสำหรับฉัน แถมฉันยังไม่ค่อยมีเวลาอีกด้วย" เพราะเรื่องการสุขภาพในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นั้นแปลก คือ ดูเหมือนยาก แต่ยิ่งทำยิ่งง่าย หรือดูเหมือนเสียเวลา แต่ยิ่งทำยิ่งได้เวลาเพิ่มขึ้น ... เรื่องนี้เป็นอย่างไรไว้มีโอกาสผมจะเล่าให้ฟังครับ