ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 24 เมษายน 2548


บทความนี้ไม่เกี่ยวกับทรงผม แฟชั่นหรือความสวยความงามจากภายนอกครับ แต่เป็นสิ่งที่ใกล้เคียงกันคือเป็นเรื่องของสมองและวิธีการมองโลกและความสวยความงามจากภายในครับ

คนเราแต่ละคนมีวิธีการเผชิญกับโลก เข้าใจโลก และแก้ปัญหาโลกต่างๆกันออกไป ในสถานการณ์แบบเดียวกันแต่ละคนย่อมมีการแสดงออก มีพฤติกรรมต่างกันไป

นักวิชาการและนักปฏิบัติ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องการเปลี่ยนแปลง (ทั้งในระดับบุคคล องค์กร และโลก) อธิบายว่าพฤติกรรมที่แสดงออกมาที่เราเห็นนั้น มีรากฐานสำคัญมาจากปัจจัยพื้นฐานที่สุดคือ รูปแบบทางความคิด (mental model) การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมเฉพาะเป็นกรณีๆ ไปนั้นไม่ได้ผลหรือมีประสิทธิภาพมากนัก ต่างกันกับการเปลี่ยนรูปแบบทางความคิด

รูปแบบทางความคิด เรียกง่ายๆ ก็คือ ความเข้าใจต่อโลกนั่นเอง เป็นสิ่งที่มีอิทธิพลต่อความเข้าใจในเรื่องต่างๆ ของเรา หมายรวมถึงความเชื่อ ทัศนคติของเราด้วย

ตัวอย่างการเปลี่ยนแปลงรูปแบบทางความคิดที่ชัดเจนที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตผมคือ การได้มีโอกาสสนทนาแลกเปลี่ยนกับท่านอาจารย์ระพี สาคริก ผู้เป็นที่เคารพนับถืออย่างยิ่งของผมท่านหนึ่ง เมื่อแปดปีที่แล้วคณะนักวิจัยได้ขอให้ผมพาไปเยี่ยมเยียนท่านเป็นของขวัญสำหรับการปิดโครงการวิจัยชิ้นใหญ่ของเรา บ้านท่านอาจารย์ที่บางเขนนั้นร่มรื่นไปด้วยต้นไม้และกล้วยไม้นานาพันธุ์ พร้อมอบอุ่นไปด้วยความเมตตากรุณาของครอบครัวเจ้าบ้าน

ระหว่างที่กำลังทานของว่างกันอยู่ นักวิจัยรุ่นน้องผมถามว่า "อาจารย์คะ ทำไมชีวิตอาจารย์ดูมีความสุขจังละคะ? อาจารย์มีหลักในการดำเนินชีวิต (หรือ "รูปแบบทางความคิด" นั่นเอง--ผู้เขียน) อย่างไรคะ?"

อาจารย์หัวเราะอย่างอารมณ์ดีแล้วเล่าสุดยอดวิชาให้เราฟังว่า "อ๋อ ... ผมแบ่งเรื่องราวในโลกนี้ออกเป็นสองจำพวก พวกแรกเป็นเรื่องของผม และอีกพวกเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของผม พวกแรกนั้นผมก็จัดการกับมันตามที่ผมควรจะทำ ส่วนเรื่องหลังนั้นผมก็วางใจ ไม่ไปเดือดร้อนกับมัน" อาจารย์ยกสองสามตัวอย่างประกอบการอรรถาธิบายด้วย

ไม่ทราบว่าใครในคณะที่ไปจะได้ยิน เข้าใจ หรือประทับใจอย่างไร แต่สำหรับผมแล้วสองสามประโยคนั้น "โดนใจ" สุดๆ นับเป็นการตกผลึกประสบการณ์อันงดงามหลายสิบปีของปราชญ์ของแผ่นดินไทย

หลังจากวันนั้นชีวิตผมสบายขึ้นมาก มีความสุขขึ้นมาก ไม่ค่อยได้ไปคอยเที่ยวแบกเรื่องชาวบ้านเป็นประจำเช่นเคย (ฮา)

หรือหนึ่งในท็อปทรีเรื่องปวดหัวยอดฮิตที่ทำงาน คือ โดนหัวหน้าต่อว่าหรือตำหนิ สัดส่วนความทุกข์ในที่ทำงานทั่วโลกจำนวนไม่น้อยคงเกิดจากสาเหตุนี้ ... เคยมีบ้างไหมที่เราทำผลงานเต็มความสามารถแล้ว หัวหน้ายังไม่พอใจ แล้วอารมณ์เสียใส่เรา?

ก่อนอื่นเลย ถ้าพิจารณาให้ดีจริงๆจะเห็นว่าใครก็ตามที่อารมณ์เสีย ปัญหาอยู่ที่คนนั้นแน่ๆ (หลักฐานที่ชัดเจนต่อหน้าต่อตา คือเขากำลังทุกข์ เพราะกำลังอารมณ์เสีย)

ต่อมา ... เป็นไปได้ไหมว่าอารมณ์ไม่จอยของหัวหน้านั้นเป็นเรื่องของเขา รวมถึงความผิดหวังของหัวหน้าด้วยก็เป็นเรื่องของเขา (ที่คาดหวังผิดๆ คาดว่าเราควรจะทำงานได้ดีกว่านั้น เพราะถ้าเราทำดีที่สุดแล้ว ไม่ว่าใครจะคาดหวังให้เราทำดีกว่านั้นก็เป็นไปไม่ได้ ดังนั้นเรื่องหรือปัญหาจึงอยู่ที่คนที่คาดหวังต่างหาก)

แต่เนื่องจากเราอยู่ในโลกของความสัมพันธ์ (แถมเขายังเป็นหัวหน้าเราอีกด้วย) มันก็ย่อมมีส่วนที่เป็นเรื่องของเรา เป็นไปได้ไหมว่าเรื่องของเราจริงๆ แล้วอาจเป็นว่าเราควรลองหาวิธีดูว่าเราจะทำงานให้ดีขึ้นได้อย่างไร (ถ้าดีที่สุดแล้วก็ไม่ต้องคิด) หรือลองดูว่าเราสามารถอธิบายให้หัวหน้าเข้าใจได้ไหม (โดยที่ไม่มีผลลบต่อเรา) ว่างานที่ได้นั้นดีที่สุดแล้ว ... ซึ่งทั้งหมดนี้เราควรจะสามารถทำได้โดยที่ไม่ต้องเป็นทุกข์ หรือต้องมีอารมณ์แย่ๆ ตามเจ้านาย (ผู้น่าสงสาร) ของเราไปด้วย

(แน่นอนว่ามีหัวหน้างานบางคนที่อาจรับไม่ได้ถ้าเราไม่ "แสดงท่าที" ว่าเป็นเดือดเป็นร้อนกับการว่ากล่าวของเขา กรณีนี้ก็ควรหาวิธีการที่เหมาะสมเฉพาะกรณีไปครับ)

หากเราแยกแยะเรื่องของเรา และเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา ออกจากกันได้ เราก็จะลดภาระที่ต้องไปเป็นทุกข์แบกเรื่องคนอื่น และมีเวลา มีสมอง มีปัญญามาคิดจัดการเรื่องที่เป็นเรื่องของเราจริงๆ มากขึ้นครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 10 เมษายน 2548


เมื่อไม่กี่วันมานี้รุ่นพี่ที่ผมเคารพรัก ชื่นชม และสนิทสนมอย่างยิ่งท่านหนึ่งได้สร้างวีรกรรมเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ให้กับองค์กรของเธอ

วันนั้นเป็นวันที่มีการประชุมระดับกรรมการสูงสุด และเนื่องจากมีประธานกรรมการเป็นคนใหม่ ทางองค์กรจึงได้เตรียมการนำเสนอข้อมูลเบื้องต้น รุ่นพี่ของผมคนนี้ได้รับมอบหมายให้เป็นตัวแทนทำหน้าที่ดังกล่าว ตอนเริ่มต้นบรรยากาศประชุมเคร่งเครียด อึมครึม มีความไม่เข้าใจกันอยู่สูง รวมถึงช่วงแรกของการนำเสนอ แต่หลังจากนั้นไม่นานสภาพการประชุมก็ดีขึ้น เธอสามารถอธิบายงานขององค์กรได้อย่างดี ตอบข้อสงสัยต่างๆ ได้อย่างเป็นมิตร สามารถสลายความรู้สึกในแง่ลบจากห้องได้ นำมาซึ่งความสามารถตกลงในประเด็นพิจารณาได้อย่างประสานประโยชน์ทุกฝ่าย หลังการประชุมสมาชิกได้ร่วมยินดีกับเธอที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี

ผมเองไม่แปลกใจหรือสงสัยในความสามารถของเธอ แต่ความสนใจอยากเรียนรู้จึงได้ถามถึงเบื้องหลังของความสำเร็จ เธอเล่าให้ฟังว่า "อ๋อ พี่รู้เลยว่างานนี้ไม่ง่าย ต้องใช้สติเป็นอย่างมาก พี่ใช้เวลา ๑๐ กว่านาทีก่อนเข้าห้องประชุมเจริญสติ นั่งสมาธิ ทำใจของพี่ให้นิ่ง พี่นึกถึงแต่เจ้าแม่กวนอิม นึกถึงพระโพธิสัตว์ ขอให้พี่มีปัญญา มีความรัก ที่จะไม่โกรธใคร ตอนเดินเข้าห้องประชุมเนี่ยะ รู้สึกว่าไม่มีตัวตนเลย คิดว่าเรามีแต่ความเมตตาให้ทุกคน"

เธอยังเล่าอีกว่า "ในขณะที่หลายๆ คนเครียดมากก่อนเข้าห้องประชุม แปลกนะพี่กลับรู้สึกผ่อนคลาย สบายดี"

"คือก่อนหน้านั้นพี่ใช้เวลาหลายชั่วโมงศึกษาเอกสารทั้งหมด และงานวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการประชุม ที่ทางทีม ทางน้องๆ เขาได้ช่วยเตรียมให้"

"นี่ดีนะที่เพิ่งจะทราบว่าต้องเป็นคน present เมื่อตอนเช้า เมื่อคืนเลยไม่เครียดมาก ได้นอนหลับพักผ่อนเต็มที่"

เห็นได้ชัดเลยว่าความสำเร็จของเธอไม่ใช่เรื่องไม่มีที่มาที่ไป แต่เป็นเพราะทำการบ้านมาเป็นอย่างดี ผมมาสรุปเอาเองว่าเกิดจากความมีสุขภาวะทั้งสี่มิติของเธอ คือ ๑. สุขภาวะทางจิตวิญญาณ ๒. สุขภาวะทางจิต ๓. สุขภาวะทางสังคม และ ๔. สุขภาวะทางกาย

ตอนที่เริ่มฟังเธอเล่านั้นผมจดบันทึกไว้ในใจว่า "อืมม์ สุขภาวะทางจิตวิญญาณ! ... ใช่เลยเจริญสติอีกแล้ว!" เรื่องของเธอตอกย้ำความสำคัญของการเจริญสติให้กับผม ชัดเจนเลยว่าสตินั้นเป็นฐานของความสำเร็จทั้งปวง เชื่อขนมทานได้เลยว่าแม้ว่าเธอจะเตรียมตัวมาดีเพียงใด หากตกใจ ประหม่า สิ่งที่เตรียมมาก็คงสับสนไปหมด ไม่สามารถจะเล่าด้วยความสุขุมนุ่มนวลอย่างที่ใจปรารถนา

ยิ่งเรื่องการข้ามพ้นความเป็นพวกเรา พวกเขาไปได้ ตรงกับหัวใจของความเป็น "วิทยาศาสตร์ใหม่" ที่พูดถึงการลดละอัตตาตัวตน สามารถก้าวข้ามและหลอมรวม (transcend and include) ความคิดเห็นที่แตกต่างได้ การโน้มนำบารมีพระโพธิสัตว์มาใช้ก็นับเป็นอุบายที่ถูกทั้งกาละและเทศะอย่างยิ่ง

ไม่น่าแปลกใจที่เธอจะมีสุขภาวะทางจิตที่ดี ผ่อนคลายไม่เครียด ยิ่งได้มีทีมงานที่ดีคอยเป็นกำลังใจ ทำงานสนับสนุนซึ่งกันและกันเป็นอย่างดี ช่วยเตรียมข้อมูล เตรียมเอกสารทุกอย่างอย่างเต็มที่ จะเห็นว่างานสำคัญหลายอย่างไม่สามารถที่จะทำได้คนเดียว คนที่จะเดินไปข้างหน้าย่อมมั่นใจหากรู้ว่ามีทีมที่พร้อมจะไปด้วยกัน พร้อมสนับสนุนส่งเสริมกันตลอด นี่ถือเป็นตัวอย่างการมีสุขภาวะทางสังคม

สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กัน คือ สุขภาวะทางกาย โดยวิธีง่ายๆ ที่พวกเรามักหลงลืมหรือไม่ก็ละเลยกันไป เช่น การรับประทานอาหารที่เหมาะสมและพอดี หรือการได้นอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอ เป็นหัวใจของการเข้าถึงสุขภาวะทางกายได้โดยไม่ต้องสิ้นเปลืองแต่อย่างใด

เป็นเรื่องที่ต้องภูมิใจและชมเชยเธอเป็นอย่างมาก เพราะสุขภาวะทั้งสี่นี้แม้จะมีวิธีเข้าถึงที่ง่ายๆ ไม่แพง และเข้าถึงได้ทุกคน แต่พวกเราส่วนใหญ่ก็มักจะละเลย ไม่ค่อยให้ความสำคัญกับมัน

การที่เธอมีความพร้อมของสุขภาวะทั้งสี่สำหรับงานสำคัญที่ผ่านมานั้นแน่นอนว่าไม่เพียงแต่ไม่ได้เกิดโดยบังเอิญ ที่สำคัญยังต้องให้เวลาหรือใช้เวลากับมันพอสมควรและทั้งสี่มิติเลยทีเดียว ดังกรุงโรมที่ไม่ได้สร้างเสร็จในวันเดียว

แต่ไม่ใช่เรื่องที่ต้องกังวล หรือคิดว่า "โอย! ไม่เอาหละเรื่องพวกนี้ยากเกินไปสำหรับฉัน แถมฉันยังไม่ค่อยมีเวลาอีกด้วย" เพราะเรื่องการสุขภาพในวิทยาศาสตร์กระบวนทัศน์ใหม่นั้นแปลก คือ ดูเหมือนยาก แต่ยิ่งทำยิ่งง่าย หรือดูเหมือนเสียเวลา แต่ยิ่งทำยิ่งได้เวลาเพิ่มขึ้น ... เรื่องนี้เป็นอย่างไรไว้มีโอกาสผมจะเล่าให้ฟังครับ


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 2 เมษายน 2548



"ยิ่งเราให้ความสนใจผู้อื่น ยิ่งเราเป็นห่วงเป็นใยในผู้อื่น
ดูเหมือนกับว่ามันจะยิ่งนำมาซึ่งความเข้มแข็งภายในของเราเอง"

ทาไล ลามะ


ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์มีประเด็นเกิดขึ้นว่า ทั้งที่ความทุกข์ของเพื่อนมนุษย์ที่เจอกันอยู่ทุกวันนี้มีมากมายนัก แต่ผู้คนในสังคมกลับหมกมุ่นอยู่กับการแสวงหาความสุขที่ฉาบฉวยให้กับตัวเอง ยังคงมุ่งหาความสุขด้วยการ "สร้างสุข" แทนที่จะเป็นการ "ขจัดทุกข์" ทำให้ละเลยความเป็นจริงของสังคมรอบข้างไป

ทำอย่างไรจึงจะทำให้สังคมได้รู้ถึงความทุกข์ของผู้อื่น แล้วทำให้เกิดคลื่นพลังน้ำใจเผื่อแผ่แก่ผู้อื่น ให้เปลี่ยนจากจิตเล็ก คิดถึงแต่ตนเอง ไปสู่จิตใหญ่ที่คิดที่ทำเพื่อผู้อื่น
ทางออกที่เป็นไปได้มาก คือ การสร้างโอกาสให้ผู้คนได้รับรู้ ได้ลองทำงานอาสาสมัครเพื่อผู้อื่น ปฏิบัติจริงด้วยตนเองจนได้รับผลเป็นความชุ่มเย็นในจิตใจ เกิดการปฏิวัติทางจิตสำนึก แล้วได้สื่อสารออกไปให้สังคมวงกว้างเห็นถึงประสบการณ์ยิ่งใหญ่ที่ตนได้รับ
----------------------------

สึนามิจะครบรอบหนึ่งร้อยวันในวันจันทร์นี้ เหตุการณ์นี้เป็นตัวอย่างที่ดีระดับโลก เพราะมนุษยชาติได้เห็นปรากฏการณ์การวิวัฒน์ทางจิตของคนเป็นล้านๆ คนพร้อมๆ กัน

เฉพาะในไทย ช่วงหลังจากเกิดเหตุ มีการระดมความช่วยเหลือต่างๆ เราได้เห็นอาสาสมัครที่เกิดขึ้นพร้อมคลื่นพลังน้ำใจเต็มแผ่นดิน มีอาสาสมัครจากทุกจังหวัดของประเทศอยู่ในหกจังหวัดภาคใต้เรือนแสน ไม่นับอาสาอีกเป็นล้านที่แม้ไม่สามารถเดินทางลงไปได้ก็พยายามทำทุกอย่างที่ช่วยได้ ไม่ว่าจะเป็นการบริจาคโลหิต บริจาคสิ่งของ ส่ง SMS ให้กำลังใจ และบริจาคเงินผ่านรายการต่างๆ โทรศัพท์ให้กำลังใจ บางรายไปไม่ได้ถึงขนาดส่งลูก ส่งญาติพี่น้องลงไป

ในช่วงปิดเทอมหนึ่งเดือนที่ผ่านมามีค่ายอาสาสมัครของน้องๆ เยาวชนจำนวนมากหลายสิบค่าย ไม่ว่าจะเป็นค่าย U Volunteer (นักศึกษาสายสาธารณสุข จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยการสนับสนุนหลักของสำนักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ สปสช.) ค่ายเยาวชนอาสาสมัคร We Volunteer (เยาวชนระดับมัธยมศึกษา โดยการสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.) ค่ายอาสาสมัครนิสิตนักศึกษาฟื้นฟูอันดามัน (นักศึกษาจากเครือข่ายเก้ามหาวิทยาลัย โดยใช้เงินที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับบริจาคช่วงเกิดเหตุการณ์) รวมกันกว่าห้าพันคน เป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะประเทศของเราไม่เคยเห็นการเสียสละของคนรุ่นหนุ่มสาวผ่านงานกิจกรรมค่ายอาสาในระดับขนาดนี้มาหลายสิบปีแล้ว

หลังจากเสร็จงานในพื้นที่แล้ว หลายกลุ่มยังคงมีการรวมตัวกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อพยายามสร้างกิจกรรมดีๆให้แก่สังคม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเยาวชนอาสาที่วัดย่านยาว หรือกลุ่มอาสาศูนย์อาสาสมัครสึนามิเขาหลัก เป็นต้น

อาสาสมัครสึนามิแต่ละคนมักจะมีเรื่องเล่าถึงประสบการณ์เสี้ยวเล็กๆ ที่ยิ่งใหญ่ในชีวิต ที่ได้ไปพบเห็น เรียนรู้ ได้อุทิศตนเพื่อ "ขจัดทุกข์" ให้ผู้อื่น พร้อมกับการเรียนรู้เติบโตภายใน เพราะลักษณะพิเศษตามธรรมชาติของงานอาสาสมัครเอง กล่าวคือ คนทำงานอาสาจะได้ยกระดับจิตใจตนจากการทำงาน ไม่ว่าจะตั้งใจหรือไม่ ไม่ว่าจะมีพื้นฐานอย่างไร

อาสาสมัครเหล่านี้เป็นประจักษ์พยานต่อศักยภาพของงานอาสาสมัครในการปฏิวัติทางจิตสำนึก (Consciousness revolution) จากจิตเล็ก ไปสู่จิตใหญ่ที่ไม่จำกัดคับแคบอยู่แต่ตนเอง

ท่ามกลางปัญหาสังคมที่ผู้หลักผู้ใหญ่กำลังปวดเศียรเวียนเกล้ากับปัญหาเยาวชน มีการออกมาตรการต่างๆ เพื่อบังคับควบคุม ที่มีฐานคิดอยู่บนกระบวนทัศน์เดิม เชื่อความรู้ที่ว่ามนุษย์มีจิตที่เห็นแก่ตัว มีกิเลส เด็กเยาวชนไม่สามารถจัดการตนเองได้ เราน่าจะได้มีการสร้างทางเลือกที่สร้างสรรค์ให้กับอนาคตของชาติ สร้างมาตรการส่งเสริมที่มีฐานคิดที่ว่าจิตเดิมแท้ของมนุษย์นั้นเป็นจิตใจที่ดีงาม เด็กเยาวชนทุกคนและทุกระดับสามารถเป็นองค์กรจัดการตนเองได้เช่นกัน

โดยเฉพาะเรื่องความรักในวัยเด็กเยาวชน ผู้ใหญ่ไม่ควรมองแต่หาวิธีห้ามปราม แต่ควรสร้างโอกาสการเรียนรู้ให้เห็นว่าความรักนั้นมิใช่มีแต่รักแบบหนุ่มสาว เป็นเจ้าข้าวเจ้าของ แต่ยังมีความรักความเมตตา รักที่ละวางอัตตารักสาธารณะ เพื่อผู้อื่น เพื่อสังคมอีกด้วย
เด็กเยาวชนที่อยู่ในช่วงเติบโตที่เต็มไปด้วยพลังชีวิต เกิดการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนต่างๆ อยากเรียนอยากรู้โลกกว้างภายนอก ควรส่งเสริมให้ได้รวมตัวกันเอง ทำกิจกรรมที่ท้าทายความคิดความสามารถในรูปแบบของงานอาสาสมัครเพื่อสังคม อาทิ โครงการตลาดประกอบฝัน ของกลุ่ม YIY ที่สนับสนุนเยาวชนได้คิดและทำโครงการเพื่อสังคม

ไม่เพียงแต่ได้สร้างความเปลี่ยนแปลงทางจิตสำนึกระดับบุคคลเท่านั้น เหตุการณ์สึนามิยังส่งผลถึงการเกิดจิตวิวัฒน์ระดับองค์กร กล่าวคือ การเห็นแก่สังคมส่วนรวมมากขึ้น หลายบริษัทมีนโยบายชัดเจนให้พนักงานสามารถทำงานอาสาสมัครโดยไม่นับเป็นวันลา เช่น ปตท. น้ำมันพืชไทย (น้ำมันพืชองุ่น) เอ็มเค ไทยพัฒน์ แพรนด้าจิวเวลรี่ เอสแอนด์พี บริษัทต่างประเทศ ก็เช่น เอเม็กซ์ จีอีแคปปิตอล เมิร์กซ์ ยูโนแคล รวมถึงหน่วยงานสาธารณประโยชน์ เช่น มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ มูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ เป็นต้น
----------------------------

บุคลากรและหน่วยงานด้านสื่อต่างมีบทบาทช่วยกันชี้ให้เห็นถึงความทุกข์ที่มีอยู่ในสังคมรอบตัวเช่นกัน ไม่เพียงแต่จากเหตุสึนามิ (หมายเหตุ: งานฟื้นฟูต่างๆ หลากหลายรูปแบบยังต้องการอาสาสมัครอีกจำนวนมาก แบบที่เรียกว่ารับได้ไม่จำกัด อาสาสมัครในพื้นที่ปัจจุบันจำนวนมากเป็นชาวต่างชาติ) เชื่อมโยงให้ถึงพลังน้ำใจของสังคมไทย ให้เห็นโอกาสมากมายที่ทุกคนสามารถอาสาช่วยงานสังคมได้ เมื่ออาสาสมัครได้มีประสบการณ์ตรงจากงานแล้ว ควรได้นำเสนอให้เป็นที่รับรู้ของสังคมวงกว้าง

แทนที่เช้ามาเปิดหนังสือพิมพ์ จะมีแต่ข่าวอาชญากรรม ข่าวไสยศาสตร์ ในหน้าหนังสือพิมพ์ เราน่าจะมีพื้นที่ข่าวของอาสาสมัครทั่วแผ่นดิน

แทนที่ทีวีจะมีแต่เกมโชว์ในแผงรายการ มีโฆษณากระตุ้นการบริโภค เราน่าจะมีพื้นที่สำหรับรายการส่งเสริมการทำความดีของคนเล็กคนน้อยจากทุกจังหวัด

แทนที่จะมีหนังสือพิมพ์ที่มีแต่ข่าวร้าย เริ่มวันใหม่แบบเศร้าๆ เราน่าจะมีหนังสือพิมพ์ข่าวดีกันบ้าง จะได้เริ่มวันใหม่แบบสดชื่น
ตัวอย่างของข่าวดีนั้นมีอยู่จริงและทำได้ หากอยากเห็น ลองแวะไปดูเว็บไซต์ www.budpage.com ที่นั่นมีคอลัมน์ "ข่าวคนดีมีทุกวัน"

ในวาระโอกาสครบรอบร้อยวันสึนามิ ผมขออนุญาตนำเอาชื่องานที่ศูนย์อาสาสมัครสึนามิเขาหลัก มูลนิธิกระจกเงา และจังหวัดพังงาร่วมกันเป็นเจ้าภาพ มาใช้เป็นชื่อบทความด้วยครับ