ช็อกโกแลตอารมณ์ดี




ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับประจำวันที่ 19 เมษายน 2551


คุณแม่ของผมเป็นคนมีฝีมือและชอบทำกับข้าว เมื่อก่อนครอบครัวเราเคยมีร้านอาหารซึ่งขายดีมาก ปัจจุบันแม้จะเลิกขายไปแล้วแต่คุณแม่ยังชอบทำอาหารเลี้ยงเพื่อนของลูกๆ คุณแม่เป็นคนใจกว้าง เวลามีเพื่อนๆ ของผมมาเยี่ยมมักได้ของติดไม้ติดมือกลับไปฝากที่บ้านเสมอๆ

ผมมีเพื่อนรักคนหนึ่งที่สนิทกันตั้งแต่สมัยเรียนมหาวิทยาลัย เวลาเขามาเยี่ยมบ้านครั้งใด คุณแม่มักจะพิถีพิถันในการเลือกของฝากให้เป็นพิเศษ ด้วยว่านายคนนี้มีสัมผัสพิเศษ ของฝากธรรมดากินได้อร่อยดี ไม่มีปัญหา แต่หากเป็นของไหว้เจ้าหรือไหว้บรรพบุรุษ ซึ่งที่บ้านก็ไหว้อยู่เป็นประจำเสียด้วยแล้วละก็ เป็นได้ไม่สบาย ปวดท้อง หรือท้องเสีย ทั้งๆ ที่เจ้าตัวไม่รู้ว่าของอะไรไหว้แล้วหรือยังไม่ได้ไหว้บ้าง ที่น่าแปลกใจยิ่งขึ้นคือ หากว่าของนั้นเป็นของไหว้พระกลับไม่เป็นอะไรเสียนี่

พวกเราคิดว่าเรื่องนี้เป็นอย่างไรบ้างครับ? เราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรดี?

เป็นไปได้หรือที่พิธีกรรมหรือกระบวนการทางจิตนั้นจะสามารถทำให้วัตถุมีคุณสมบัติเปลี่ยนไปจากเดิม ไม่ว่าจะเป็นทางที่เราคิดว่าเป็นผลบวกหรือผลลบก็ตาม ในวัฒนธรรมท้องถิ่นในทุกทวีปทั่วโลกล้วนมีความเชื่อเหล่านี้ เช่น การเสกน้ำมนต์ ที่ดื่มแล้วหายเจ็บป่วย ให้ปลอดภัย ขับไล่ความเลวร้ายในชีวิต การเสกข้าวสาร ปังและเหล้าองุ่น

ฟังดูแล้วหลายคนคงคิดว่าเป็นเรื่องงมงายไร้สาระ แล้วถ้าเป็นเรื่องใกล้ๆ ตัวเราล่ะ เช่น กับข้าวที่แม่ของเราทำให้กินอร่อยกว่ากับข้าวตามร้านข้างนอกใช่ไหม? เป็นไปได้ไหมว่าอาหารแบบเดียวกันที่เตรียมโดยคุณแม่ของเราด้วยความรักความห่วงใยจะทำให้เราอารมณ์ดีหรือสุขภาพดีกว่าอาหารแบบเดียวกันเลย ถูกสุขอนามัยเหมือนกัน เพียงแต่ขาดส่วนผสม คือ ความรักความเมตตาจากคนปรุง?

หากเป็นไปได้ หากเป็นเช่นนั้นจริง เราจะอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างไรดี?

บางคนอาจจะคิดว่ามันเป็นเรื่องบังเอิญ หรือเป็นเรื่องของความเชื่อเฉพาะบุคคล อาจแถมท้ายเสียด้วยซ้ำว่า ไม่เชื่ออย่าลบหลู่ (ฮา) แต่ก็มีคนทำวิจัยศึกษาเรื่องทำนองนี้เอาไว้อย่างจริงจัง และใช้ระเบียบวิธีวิจัยทางวิทยาศาสตร์อย่างรัดกุมไว้แล้วครับ

งานดังกล่าวเป็นของ ดร. ดีน ราดิน แห่งสถาบันโนเอติกซายน์ส และคณะ เขาได้ตีพิมพ์งานวิจัยผลของช็อกโกแลตที่ได้รับการกระตุ้นด้วยความตั้งใจที่ดี ต่ออารมณ์ของผู้รับประทาน โดยการทดลองถูกออกแบบอย่างรัดกุม จัดกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมแบบสุ่ม โดยทั้งผู้ทดลองและผู้ถูกทดลองไม่ทราบว่าใครอยู่กลุ่มไหน (double-blind, randomized, placebo-controlled experiment)

อาสาสมัคร ๖๒ คนถูกแบ่งออกเป็นสี่กลุ่ม ทุกคนบันทึกอารมณ์ของตนเองในแต่ละวันเป็นเวลาหนึ่งสัปดาห์ด้วยแบบบันทึกทางจิตวิทยาที่ได้มาตรฐาน ในวันที่สาม สี่ และห้า แต่ละคนจะได้รับประทานช็อกโกแลตคนละประมาณสิบห้ากรัม กลุ่มควบคุมได้รับช็อกโกแลตปรกติ ขณะที่กลุ่มทดลองอีกสามกลุ่มได้รับช็อกโกแลตที่ผ่านกระบวนการหนึ่งสามแบบ คือ ก) ให้พระผู้ปฏิบัติภาวนามาอย่างยาวนาน ๒ รูปสวดแผ่ความปรารถนาดีใส่เข้าไป ข) เปิดเสียงสวดภาวนาด้วยความปรารถนาดีโดยพระ ๖ รูป อย่างต่อเนื่องตลอด ๕ วัน และ ค) ประกอบพิธีโดยพ่อหมอพื้นบ้านชาวมองโกเลีย

ผลปรากฏว่าหลังจากได้ทานช็อกโกแลตที่ผ่านกระบวนการไป ๓ วัน อารมณ์ของอาสาสมัครดีขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญทางสถิติเมื่อเทียบกับกลุ่มควบคุมที่ทานช็อกโกแลตปรกติ อาสาสมัครรายงานว่าการอ่อนเพลียน้อยลงและมีกำลังวังชาเพิ่มขึ้น และช็อกโกแลตที่ผ่านกระบวนการทั้งสามแบบล้วนให้ผลเช่นเดียวกัน

เราจะถือว่าผลการวิจัยนี้ได้ยืนยันปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในเรื่องอาหารไหว้เจ้าและกับข้าวฝีมือแม่ได้ไหม?

แม้ว่าอาจจะยังอธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้ว่าเกิดขึ้นจากอะไร แต่ผลการวิจัยก็ได้พิสูจน์แล้วว่าการเสกหรือประกอบพิธีใส่ความตั้งใจหรือจิตที่ดีงามให้อาหารนั้นอาจมีผลมากกว่าการเป็นแค่พิธีกรรมที่เราเห็นว่างมงาย แต่สามารถวัดผลได้ด้วย

งานวิจัยนี้ทำให้นึกถึงเรื่องของ ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา สมาชิกกลุ่มจิตวิวัฒน์ ท่านเล่าไว้เมื่อครั้งไปพูดคุยกับนักศึกษาในชั้นเรียนของผม อาจารย์เล่าว่าเมื่อครั้งยังสอนอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีการทดลองศึกษาพลังของความรักความเมตตา โดยปลูกต้นดาวกระจายสองแปลง แปลงหนึ่งให้นิสิตสวดภาวนา ส่งความรักความเมตตาความปรารถนาดีไปให้กับต้นไม้ ส่วนอีกแปลงปล่อยไว้ตามปรกติให้เป็นแปลงควบคุม ผลคือต้นดาวกระจายในแปลงที่ได้รับการสวดอวยพรนั้นมีอัตราการเจริญเติบโตสูงกว่าอย่างเห็นได้ชัด และมีดอกสวยงามทุกต้น ในขณะที่กลุ่มควบคุมไม่มีดอกเลย (อาจารย์ยังแถมท้ายอีกว่า มีต้นหนึ่งที่เหี่ยวเป็นพิเศษโดยไม่ทราบสาเหตุ ต่อมาจึงได้มีนิสิตมาสารภาพว่าได้ไปสาปแช่งต้นนั้น ทำให้ต้นไม้เฉาลง และภายหลังตนเองก็กลับป่วยด้วย)

ทั้งเรื่องต้นดาวกระจาย ของไหว้เจ้า กับข้าวฝีมือแม่ และช็อกโกแลตอารมณ์ดี ทุกเรื่องเหล่านี้เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นจริง และทุกคนเห็นว่าเป็นข้อเท็จจริง แต่บางคนอาจจะยากทำใจให้ยอมรับ หรือเป็นเพราะว่ายังไม่มีใครให้เหตุผลมาอธิบายปรากฏการณ์เหล่านี้ได้?

ศาตราจารย์ วิลเลียม เจมส์ นักจิตวิทยาและนักปรัชญาชื่อดัง ผู้บุกเบิกเรื่องจิตวิทยาของประสบการณ์ทางศาสนาและประสบการณ์ลี้ลับต่างๆ เคยเขียนไว้ว่า “ในศาสตร์ว่าด้วยจิตวิทยา สรีรวิทยา และการแพทย์นั้น เมื่อใดก็ตามที่การถกเถียงกันระหว่างผู้มีสัมผัสพิเศษ (the mystics) กับนักวิทยาศาสตร์ (the scientifics) ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนแน่นอน เรามักจะพบว่าผู้มีสัมผัสพิเศษนั้นเป็นฝ่ายถูกต้องในแง่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ขณะที่นักวิทยาศาสตร์มักจะเก่งกว่าในการใช้ทฤษฎีอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น”

อันที่จริงผลของพลังจิตหรือความตั้งใจต่อคุณสมบัติของสสารนั้นเริ่มมีการค้นพบ บันทึก และอธิบายอย่างชัดเจนมากขึ้นในการศึกษาด้านปฏิสัมพันธ์ระหว่างจิต-สสาร (Mind-Matter Interaction – MMI) ในปัจจุบันเราสามารถทดลองซ้ำได้อย่างง่ายดายเพื่อพิสูจน์ “ความพัวพันทางควอนตัม” (quantum entanglement) ว่า อนุภาคที่เคยสัมพันธ์กันยังคงส่งผลกระทบต่อกัน (เช่น เมื่อเราทำอะไรบางอย่างกับอนุภาคหนึ่ง อีกอนุภาคหนึ่งก็ได้รับผลด้วย) แม้ว่าจะอยู่ห่างจากกันไปแล้วก็ตาม โดยผลกระทบดังกล่าวก็เกิดขึ้นทันทีทันใด แสดงว่าอนุภาคทั้งสองโยงใยสัมพันธ์กัน สื่อสารรับรู้ถึงกันและกันได้ด้วยความเร็วยิ่งกว่าความเร็วของแสงเสียด้วย หรือแม้แต่ในระดับที่ใหญ่กว่าอิเล็กตรอนขึ้นมา ก็มีงานวิจัยหลายเรื่องตีพิมพ์ใน เนเจอร์ วารสารวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล

ถ้าเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นมีความสัมพันธ์และส่งผลต่อกันอย่างนี้แล้ว เป็นไปได้ไหมที่เราจะเชื่อสิ่งที่พิสูจน์ได้แล้วว่าเกิดขึ้นจริง แม้ว่าเราจะยังไม่รู้ว่ามันเกิดขึ้นได้อย่างไร?

หรือว่า ... เราควรเชื่อเฉพาะในสิ่งที่เรามีทฤษฎีอธิบายการเกิดขึ้นของมันได้อย่างแน่ใจแล้วเท่านั้นหรือ?