ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555

เราท่านทั้งหลายคงเคยผ่านตาหนังสือประเภทสวรรค์มีจริง นรกมีจริง ชีวิตหลังความตายมีจริง มาแล้ว ยิ่งในระยะหลังหนังสือประเภทนี้ขึ้นอันดับต้นๆ บนแผงหนังสือตามร้านใหญ่ๆ หรือไม่พวกเราก็คงเคยได้ยินเรื่องราวทำนองนี้มาบ้าง ระดับของความน่าเชื่อถือก็แตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลและองค์ประกอบรอบข้าง

เมื่อเดือนที่แล้ว มีนายแพทย์ชาวอเมริกันออกมายืนยันอีกรายว่า สวรรค์มีจริง! โดยตีพิมพ์ข้อค้นพบและหลักฐานสนับสนุนในหนังสือ Proof of Heaven: A Neurosurgeon's Journey into the Afterlife การบอกกล่าวว่าสวรรค์มีจริงครั้งนี้ต่างจากเรื่องอื่นๆ อยู่สองประการ หนึ่งคือตัวผู้บอกเล่า คือ ดร. Eben Alexander III เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทที่ได้ปริญญามาจากไอวีลีก ทำงานด้านนี้มากว่ายี่สิบห้าปี รวมถึงที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสิบห้าปี เดิมทีเขาเป็นผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายโดยสิ้นเชิง โดยใช้เหตุผลค้านจากความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองและระบบประสาท

ความพิเศษประการที่สองคือ ลักษณะประสบการณ์ของผู้เล่า ในปี ๒๕๕๑ ดร.อเลกซานเดอร์ติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อนี้พบได้ยาก มักจะเป็นแต่กับเด็กเล็ก และอาการรุนแรงมาก หลังจากเริ่มมีอาการปวดศีรษะเพียงไม่กี่ชั่วโมง สมองส่วนคอร์เท็กซ์ก็หยุดทำงานโดยสิ้นเชิง โดยสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมทั้งความคิดและอารมณ์ความรู้สึก ว่าโดยง่ายเป็นส่วนที่ทำให้เราเป็นคนนั่นเอง และที่เขาทราบว่าสมองส่วนนี้หยุดทำงานก็ด้วยคุณหมอท่านนี้ทำงานในแผนกดังกล่าวอยู่แล้วจึงถูกติด ตรวจ และวัดด้วยเครื่องมือศึกษาการทำงานของสมองอย่างละเอียด ทางคณะแพทย์ผู้รักษาพบว่าเชื้ออีโคไลนั้นได้แทรกเข้าไปยังน้ำหล่อสมองไขสันหลังและเริ่มกินเนื้อเยื่อ ทำให้สมองตกอยู่ในอาการช็อกและหยุดทำงาน โอกาสรอดนั้นแทบจะไม่มีเลย

หลังจากนอนเป็นผักไม่ไหวติง ๗ วัน ในขณะที่คณะแพทย์กำลังคิดว่าจะหยุดเครื่องพยุงชีวิตนั้นเอง อาการของเขาก็ดีขึ้นและหายในที่สุด แต่เรื่องราวไม่ได้จบเท่านั้น เพราะเขาได้บอกเล่าประสบการณ์ในช่วงที่เขาอยู่ในอาการโคม่านั้นว่าเขาได้ไปยังดินแดนที่เขาเชื่อว่าคือสวรรค์

ดร.อเลกซานเดอร์ได้บรรยายถึงลักษณะของสถานที่ที่เขาเดินทางไปอย่างละเอียด มีนางฟ้าดวงตาสีฟ้าผู้เป็นมิตรที่สื่อสารกับเขาด้วยโทรจิต หมู่เมฆสีชมพูอ่อนเป็นปุยลอยอยู่ในท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม ที่ล่องลอยอยู่เบื้องบนมิได้มีแต่เมฆ ยังมีอะไรบางอย่างที่คนไทยคงเรียกว่าเทวดาอยู่ด้วย เทวดาเหล่านั้นเปี่ยมด้วยปีติอย่างล้นเหลือจนต้องเปล่งเสียงแห่งความสุขออกมา ที่นั่นภาพและเสียงไม่ได้แยกออกจากกัน เฉกเช่นเดียวกับผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต อีกทั้งยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก

ในอดีตมีคนนับร้อยที่เคยผ่านประสบการณ์ใกล้ตาย (หรือหลังตาย) มาก่อน แล้วกลับมาเล่าเรื่องสวรรค์ (หรือนรก) แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปมักเชื่อว่า เป็นสิ่งที่เกิดจากการทำงานของสมองซึ่งอยู่ในสภาพผิดปรกติ แต่ ดร.อเลกซานเดอร์ บอกว่าประสบการณ์ของเขาแตกต่างไป เพราะเขาเป็นคนแรกที่ตลอดระยะเวลาของการมีประสบการณ์นั้นมีหลักฐานชัดเจนว่าสมองส่วนคอร์เท็กซ์นั้นไม่ได้ทำงานเลย แสดงว่าสวรรค์ที่เขาไปพบมานั้นเป็นของจริง ไม่ใช่เป็นแค่การทำงานผิดพลาดของสมองตามที่มักเชื่อกัน แต่เป็นการรับรู้ เป็นประสบการณ์ที่อยู่นอกสมองไปโดยสิ้นเชิง

ไม่แปลกใจว่าหนังสือของเขาขึ้นอันดับหนึ่งของ New York Times Best Sellers และปัจจุบันก็ยังเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของเว็บไซต์อเมซอนในหลายหมวด ผู้คนจำนวนมากที่ควักกระเป๋าหรือรูดบัตรซื้อหนังสือคงสงสัยอยากรู้ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ ลักษณะเป็นอย่างไร ตายไปแล้วฉันจะได้ไปไหม?

แต่จากมุมมองของจิตวิวัฒน์แล้ว เรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับสวรรค์ว่ามีจริงไหม หน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ใช่สาระ สิ่งที่ควรตั้งคำถามมากกว่า คือประสบการณ์ใกล้ตาย การได้พบดินแดนสวรรค์นั้นมีความหมายอย่างไรต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของคุณหมอ

ประสบการณ์ใกล้ตายหรือการได้ไปสวรรค์เป็นเพียงจุดเริ่มหรือประตูเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ไปสู่การปรับเปลี่ยนระดับจิตสำนึก (Consciousness) ซึ่งก็คือการเปลี่ยนมุมมอง โลกทัศน์ ความเข้าใจต่อตนเอง ชีวิต และโลกที่เราอาศัยอยู่

หากประสบการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแล้วกระบวนการถัดมาคืออะไร

สถาบันไอออนส์ (Institute of Noetic Science) ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในหนังสือ Living Deeply: The Art & Science of Transformation in Everyday Life พูดถึงงานชิ้นสำคัญของสถาบัน เป็นงานวิจัยที่ใช้เวลาหลายปี เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักวิชาการ คุรุ นักปฏิบัติชั้นนำจำนวน ๕๐ ท่าน โดยคัดเลือกเพื่อให้เป็นตัวแทนของศาสนา สำนักปฏิบัติ และกระบวนการเคลื่อนไหวสมัยใหม่ ที่มีรากฐานจากทั้งวัฒนธรรมตะวันออก ตะวันตก และประเพณีชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับข้อมูลจากแบบสอบถามจากผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมากกว่า ๙๐๐ คน ผลการวิจัยอธิบายถึงกระบวนการโดยสรุปดังนี้

๑. ประตูเข้าสู่ประสบการณ์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนั้นเริ่มเข้าสู่เส้นทางจากการพบความทุกข์ความเจ็บปวดในชีวิต เรื่องนี้อาจไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวพุทธ ดังเช่นที่ครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวว่า “ถ้าอยากสุข ให้เอาทุกข์เป็นทางเดิน” แต่สำหรับชาวตะวันตกแล้วเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยนัก แต่ความทุกข์ความเจ็บปวดก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ผู้คนจึงมีโอกาสที่จะได้พบเจอช่องทางเข้าทางนี้เสมอๆ ผ่านความเจ็บป่วยหรือประสบการณ์ใกล้ตายของตนเอง เช่นที่ ดร.อเลกซานเดอร์พบมา ผ่านความเจ็บป่วยหรือการสูญเสียของบุคคลอันเป็นที่รักที่มีความหมายในชีวิต และก็ไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดภายนอกเท่านั้น หากประสบการณ์ความล้มเหลวหรือสูญเสียอาจจะเป็นเรื่องภายในก็ได้ เช่นคุณค่าความหมายของชีวิต

ประตูช่องอื่นๆ นั้นผ่านทาง ก) ประสบการณ์ที่รู้ได้เฉพาะตน เช่น เกิดจากการฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนา ข) การพบคุรุหรือครูบาอาจารย์ ในแง่นี้ครูมิใช่เป็นเรือจ้าง แต่เป็นเสมือนแผนที่การเดินทางเลยทีเดียว ค) เรื่องราวที่อาจดูเหมือนเล็กๆ ไม่สลักสำคัญอะไร แต่เป็นการปิ๊งแว้บอะไรบางอย่าง เช่นที่มาซาโนบุ ฟูกุโอกะ ผู้เขียนหนังสือปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว หรือ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ค้นพบ หรือจะมาจากการอ่านหนังสือพบเจอข้อคิดที่มีความหมายสำหรับเราก็ยังได้ ง) การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักปฏิบัติว่าธรรมชาตินั้นมีพลังพิเศษบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้มนุษย์เปิดรับกับประสบการณ์ความรู้บางอย่างได้ พระพุทธเจ้าจึงมักแนะนำให้สาวกในศาสนาไปฝึกฝนในป่า สำหรับสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่ กิจกรรมอย่างเช่น นิเวศภาวนา (Eco Quest หรือ Vision Quest) จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้สนใจแสวงหาประสบการณ์ดังกล่าว

แต่ผู้คนไม่น้อยที่พบประสบการณ์ดังว่า ได้มาถึงประตูนี้แล้ว กลับปฏิเสธ ไม่ยอมรับ หรือใช้ความเชื่อเดิมไปอธิบาย เท่ากับการละทิ้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานและไม่ได้เข้าสู่ลำดับขั้นต่อไป

๒. สำรวจค้นคว้า ผู้ที่ไม่ปฏิเสธประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกับเมล็ดพืชที่พร้อมจะงอก หรือผีเสื้อที่พร้อมจะออกจากดักแด้ เขาต้องพร้อมที่จะเปราะบางและยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยอาจเริ่มจากความเชื่อเกี่ยวกับตนเองหรือเกี่ยวกับโลก ด้วยเพราะชุดความเชื่อเดิมเล็กเกินไปหรือไม่เพียงพอที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น การค้นหานั้นอาจนำไปสู่การค้นพบชุดคำสอน ชุดคำอธิบาย รวมถึงกระทั่งพบเจอการฝึกฝนที่ใช่สำหรับตน

๓. พบแนวปฏิบัติ เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นยั่งยืน ผู้ที่ตั้งใจค้นหาต้องหมั่นฝึกฝนปฏิบัติอะไรบางอย่าง เรื่องแนวการปฏิบัตินี้มีให้เลือกมากมาย อาจจะเป็นแนวเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ไทเก๊ก ชี่กง โยคะ เดินจงกรม หรือยกมือสร้างจังหวะ แนวอยู่นิ่ง เช่น การนั่งสมาธิภาวนา แนวผ่านกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ เช่น สร้างงานจิตตศิลป์ แนวผ่านกระบวนการเชิงความสัมพันธ์ เช่น สุนทรียสนทนา การเขียนบันทึก การสะท้อนการเรียนรู้ แนวผ่านพลังพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น นิเวศภาวนา แนวผ่านกิจกรรมรังสรรค์ เช่น การสวดมนต์ หรือแม้กระทั่งแนวผ่านการทำกิจกรรมทางสังคม เช่น การเจริญสติในการทำงานในชีวิตประจำวัน หรือทำงานจิตอาสา เป็นต้น

๔. มีวิถีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับการปฏิบัติ การฝึกฝนนั้นจะต้องไม่แยกออกจากชีวิต มิใช่ชีวิตตามปรกติเป็นแบบหนึ่ง ส่วนการปฏิบัติก็เป็นไปอีกแบบหนึ่งแยกหรือขัดแย้งกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าใจถึงแก่นของการปฏิบัติมิใช่แค่รูปแบบภายนอกเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความแปลกแยกระหว่างการใช้ชีวิตทางโลกด้านนอกและการค้นหาความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในก็จะลดน้อยลง ในระยะนี้มีข้อพึงระวังไม่ให้การปฏิบัติเป็นไปเพื่อตนเองเพียงอย่างเดียว

๕. จากฉันสู่เรา จากเดี่ยวสู่กลุ่ม เมื่อวิถีชีวิตกับการปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเข้าถึงศักยภาพที่สูงขึ้นของตนเอง รวมถึงความรักความเมตตากรุณาที่มีให้กับผู้อื่นสิ่งอื่น การฝึกฝนจะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนกับสังคมรอบข้าง เห็นโยงใยที่เกาะเกี่ยวทุกชีวิตเข้าด้วยกัน การฝึกฝนและการดำรงอยู่ของตนจึงเป็นไปเพื่อคนอื่นด้วย แต่ในทางกลับกัน จะต้องไม่สุดโต่งไปจนกระทั่งลืมที่จะมีวิถีชีวิตที่ดูแลโจทย์และเป้าหมายของตนเองพร้อมกันไป

๖. ชีวิตที่ลุ่มลึก ในท้ายที่สุด ชีวิตจะมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในสมดุลระหว่างการเข้าใจโลกภายนอกและโลกภายใน ระหว่างการเห็นและดูแลประโยชน์ตนเองและผู้อื่น แบบแผนความคิดและการกระทำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งส่วนใหม่ที่สำคัญของความเป็นตัวเรา ตัวเราที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพใหม่ที่มีบางส่วนของคุณภาพเดิม แต่ก็มิใช่คุณภาพเดิมแต่อย่างเดียว เป็นตัวเราที่พร้อมจะนำการเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่ชุมชนวงกว้าง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแบบสมุหะและในระดับที่สูงขึ้นไป

ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจิตวิวัฒน์หรือการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนี้ ยืนยันให้เห็นว่าความสุขจากยกระดับจิตสำนึกนี้เป็นความสุขที่หาง่าย เข้าถึงได้ทุกคน เพราะราคาถูก ที่อาจารย์ประเวศ วะสีใช้คำว่า Happiness at low cost ไม่จำเพาะผู้ที่มีฐานะดีมีโอกาสมีเวลาไปเข้าสปาเข้าคอร์สภาวนาเท่านั้น

แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ต้องเริ่มจากการที่เราเปิดใจ เปิดโอกาสให้ตนเองได้เปราะบาง ได้ยอมรับประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับเรา ให้กรอบความคิด ชุดความเชื่อเดิมๆ ได้ขยายออก

ดังนี้แล้วคำถามสำคัญต่อเรื่องราวของ ดร.อเลกซานเดอร์ ที่ว่าสวรรค์มีจริง จึงอาจไม่ใช่แค่การตรวจสอบและพิสูจน์ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร ตายไปแล้วเราจะได้ไปไหม แต่เป็นคำถามที่ว่า ประสบการณ์บอกเล่าเรื่องแดนสวรรค์ที่ ดร.อเลกซานเดอร์ ได้ไปพบมานั้นมีความหมายอย่างไรต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของตัวเราอย่างไร?