จิตอาสาทัศนาจร



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ

ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕

คุณครู : เดี๋ยวเดือนหน้า เราจะไปทัศนศึกษากัน

เด็กๆ : เฮ! จะได้ไปเที่ยวแล้ว


ตอนสมัยยังเป็นเด็กๆ มีคำอยู่ 3 คำ ที่ผมรู้สึกว่ามันมีความหมายคล้ายกัน หรือเหมือนกันมาก นั่นก็คือคำว่า ทัศนศึกษา ทัศนาจร และไปเที่ยว เวลาครูพูดถึงทัศนศึกษา สำหรับเด็กๆ นั้นหมายถึง “ไปเที่ยว” หรือ ทัศนาจร นั่นเอง

ปีไหนโรงเรียนวนกลับไปจัดทัศนศึกษายังสถานที่ที่เราเคยไปกันแล้ว จึงมักมีเสียงบ่นโอดโอยกันยกใหญ่ จะไม่ให้บ่นได้อย่างไร ในเมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าเคยไปเที่ยวมาแล้ว และจะไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าไปเที่ยวได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญกับมิติการเรียนรู้ในการไปทัศนศึกษา จนคุณครูอาจคิดในใจว่า โรงเรียนลูกจะพาไปเที่ยวอีกแล้วก็เป็นได้

ก็เพราะการไปทัศนศึกษาของโรงเรียนจำนวนมาก ไม่ได้มีการเตรียมครูก่อนไป ไม่มีการเตรียมนักเรียนก่อนไป ว่าการเรียนรู้ที่พวกเขาควรจะได้รับคืออะไร ที่ๆ จะไปมีความหมายสลักสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบทเรียนไหนบ้าง ช่วงอยู่นอกสถานที่ ครูก็ไม่ค่อยได้ชวนนักเรียนสังเกต ซักถาม หรือสะท้อน อย่างมากก็แจกใบงานให้นักเรียนไปคัดลอกข้อมูลมาส่ง พอมีต้นฉบับ นักเรียนที่เหลือก็ลอกตามๆ กันไป ทำให้ไม่ค่อยได้ใช้ศักยภาพของการเรียนรู้นอกสถานที่ หรือสภาพปกติอย่างที่สามารถ และควรจะเป็น

ดูไปก็คล้ายกับกิจกรรมจิตอาสาที่หลังๆ พบเห็นกันมากขึ้น เด็กเยาวชนที่มุ่งมั่นมาช่วยเหลือคนอื่นอย่างจริงจัง มีวินัย ตั้งใจทำงานตามที่ผู้ดูแลกิจกรรมแนะนำนั้นก็มีอยู่ แต่ก็ยังพบว่ามีไม่น้อยที่มาแบบทัศนาจร คือทำนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ถ่ายรูป อัพสเตตัส แชร์บนเฟซบุ๊ค แถมขอลายเซ็นต์คนจัดเพื่อไปเอาคะแนนจากโรงเรียนเสียอีกด้วย

แต่เรื่องราวมันก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินไป และจบลงเช่นนี้ตลอดไปครับ

ธนาคารจิตอาสา เป็นโครงการที่รับ “ฝากเวลา” คือ เป็นสื่อกลางในการสร้างโอกาส ให้เราได้ใช้เวลามาช่วยเหลือกันในสังคม แสดงความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยจะช่วยแนะนำงานอาสาที่เหมาะกับเวลาว่าง ความสนใจ และความถนัดของเรา ซึ่งขณะนี้ กำลังจัดฝึกอบรมกระบวนกรจิตอาสา หรือพี่เลี้ยงอาสาสมัคร (Training of Trainers หรือ ToT) เพื่อผสานความรู้ในงานจิตวิวัฒน์ จิตตปัญญาศึกษา เข้ากับงานจิตอาสา เป็นการหนุนเสริมให้ผู้ดูแลและจัดกิจกรรมจิตอาสา เพิ่มมิติด้านการเรียนรู้เข้าไปในงานอาสา ทำให้เกิดความมั่นใจและมีทักษะในการใช้เครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลายสำหรับจัดกระบวนการ รวมถึงการสะท้อน และการถอดบทเรียน

ผมมีโอกาสสัมผัสคอร์สอบรมนี้โดยตรง ทำให้เห็นโอกาสและศักยภาพที่เหล่าผู้ดูแลองค์กรอาสาสมัคร จะช่วยให้บรรดาจิตอาสาเกิดการพัฒนา ไม่ใช่แค่เรื่องความคิด วิเคราะห์ และทักษะทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง การรู้จักใจและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง การยอมรับผู้อื่น และการลดละอัตตาของตนเอง เป็นการยกระดับจิตวิญญาณของทุกคนในกระบวนการ

ที่กล้าเอ่ยเช่นนี้ เพราะได้เห็นบุคลากรเหล่านี้เริ่มก้าวออกจากพื้นที่คุ้นชิน ไปสู่พื้นที่ท้าทายที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เห็นพวกเขาสะท้อนตนเอง ให้การรับฟัง และสนับสนุนการสะท้อนบทเรียนของผู้อื่นแล้ว ก็ให้รู้สึกดีใจกับวงการจิตอาสาอยู่ไม่น้อย ที่จะมีกระบวนการทำให้อาสาสมัครเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ได้มากยิ่งขึ้น

ดีไม่ดี อาจส่งผลทางอ้อมทำให้กิจกรรมทัศนศึกษาเป็นกิจกรรมที่มีมิติ ความหมาย และเกิดการเรียนรู้ขึ้นบ้าง ก็เป็นได้

ไม่อายหมา



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา

หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ

ฉบับวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๕

พุทธชยันตี วิสาขบูชาปี 2555 วันเฉลิมฉลอง 2,600 ปีแห่งการเข้าถึงความจริงของมนุษย์คนหนึ่ง ผู้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนจำนวนหลายล้าน วันนั้นหลายคนหลายองค์กรได้ร่วมกันจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในหลากสถานที่และหลายรูปแบบ ส่วนตัวผมนั้น ผมเลือกที่จะกลับไปหาครู ณ วัดป่าแห่งหนึ่ง

ครูผู้เป็นลูกศิษย์ของบรมครู เป็นบุคคลผู้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงสิ่งที่ถูกส่งทอดสืบต่อกันมานับเป็นพันปีตั้งแต่วันนั้น เป็นผู้ให้เรามากกว่าความรู้ ทั้งยังไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนจากเรา

ในวันวิสาขบูชาปีนี้ ที่วัดไม่ได้จัดงานใหญ่หรือจัดอะไรเป็นพิเศษ ญาติโยมที่มางานก็มีจำนวนมากตามปรกติเหมือนวันพระใหญ่ทั่วไป ครูอยู่และเป็นอย่างเรียบง่าย และเหมือนเช่นทุกวัน เป็นสุดยอดตัวอย่างของความเสมอต้นเสมอปลาย อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่เรียบง่าย แต่ใช่จะหาได้ง่ายๆ ในโลกทุกวันนี้

เรื่องที่ครูสอนก็เป็นเรื่องที่ท่านเน้นย้ำเสมอ เรื่องการมีสัจจะ พูดคำไหนคำนั้น “เอาแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็พอ” ท่านว่า

ระหว่างการเดินทางขากลับออกจากวัด ผมได้ฟังเรื่องเล่าจากรุ่นพี่ที่ผมนับถือ เขาเป็นศิษย์ใกล้ชิดของท่านมายาวนาน เขาเล่าว่า

“เมื่อไม่กี่ปีก่อน พี่มีโอกาสได้ตามไปอุปัฏฐากดูแลหลวงพ่อท่านเมื่อครั้งไปสังเวชนียสถานที่อินเดีย เมื่อไปถึงพุทธคยา สถานที่ต้นกำเนิดพุทธชยันตี คือใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หลวงพ่อบอกว่าจะปฏิบัติภาวนาข้ามคืนจนถึงรุ่งเช้า พี่ก็เรียนท่านว่าจะอยู่ปฏิบัติด้วย แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ทนไม่ไหว ถอดใจ และล่าถอยกลับไปพักที่โรงแรมตั้งแต่ตอนสองทุ่ม”

ครั้นเมื่อถึงเวลาเช้า หลวงพ่อท่านเปรยทักว่า

“อายหมามันบ่ เว้าแล่วเฮ็ดบ่ได้” (อายหมามันบ้างไหม พูดแล้วทำไม่ได้น่ะ)

พี่เขาไม่ได้บอกว่าตอนนั้นเขารู้สึกอย่างไรในใจ แต่เล่าว่าเขานั่งเงียบตลอดการเดินทางที่เหลือจนกระทั่งมาถึงเมืองไทย เมื่อส่งหลวงพ่อขึ้นรถไปแล้ว เขาก็จัดการซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไปที่อินเดีย มุ่งหน้าไปยังพุทธคยาทันที

ในที่สุด การกลับมาคราวนี้พี่เขาก็ได้ปฏิบัติบูชา ด้วยการเดินภาวนารอบองค์พระเจดีย์ และต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นจำนวน 108 รอบจนสำเร็จ พี่เขายอมรับว่า แม้การเดินจากเย็นไปยันเช้าจะทำให้ปวดเมื่อยราวขาแทบหลุด แต่ในใจนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง

“ผมได้ทำหน้าที่เสร็จแล้วนะครับ” เขาโทรศัพท์ไปรายงานหลวงพ่อเมื่อกลับมา

แทนที่พี่เขาจะเล่าเรื่องต่อว่าท่านตอบหรือแนะนำอะไรกลับมา เขากลับพูดเน้นย้ำประโยคที่เป็นเหมือนสรุปบทเรียนล้ำค่าที่ได้จากครู เขาว่า “ท่านยิ่งตียิ่งว่าเรา เรายิ่งเข้าใกล้ท่าน ... ชีวิตผมที่รอดมาได้ และเป็นผู้เป็นคนอย่างทุกวันนี้ ก็เพราะท่านนี่แหละ”

ได้ยินแล้วก็ทำให้ปลาบปลื้มปิตินัก ผมชื่นชมยินดีที่พี่เขามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และต่อครูบาอาจารย์ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ช่างชัดเจนมากเหลือเกินว่าที่ท่านเรียกไปสอนก็เพราะว่าท่านมีเมตตา และท่านเห็นว่าเรา “สอนได้”

ชีวิตก็เช่นนี้ หลายครั้งหลายทีเราต้องการครูที่กล้าและทักเราตรงๆ ไม่เช่นนั้นเราอาจพลาดไม่พบบทเรียนสำคัญสำหรับตัวเราไป เพราะเรามัวแต่มีข้ออ้างให้กับกิเลสตนเอง อ้อ ไม่ใช่สิ เป็นเพราะกิเลสที่สิงในตัวเรา มันมีข้ออ้างเสมอน่ะ แล้วเราก็ไม่มีสติพอที่จะทันมัน ก็เลยตกเป็นทาสมันตลอด

เสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ใช้ชีวิตอย่างน่าอายหมา แม้ว่าเราเองก็ไม่รู้ตัว