ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 2 ธันวาคม 2549


เดือนธันวามาถึงแล้วครับ มาพร้อมกับลมหนาวจากจีน-ไซบีเรีย แต่ฝนก็ยังไม่หยุดตก (รู้อะไรไหม? ปีนี้ฝนตกครบทุกเดือนตั้งแต่ มค. ถึง ธค.!) น้ำก็ยังไม่หยุดท่วม ความทุกข์ยากเดือดร้อนของชาวบ้านก็ยังไม่หมดไป

เดือนธันวามาถึงแล้ว พร้อมกับโอกาสที่จะทบทวนตนเองเพื่อเริ่มต้นใหม่ แต่มนุษย์ก็ยังไม่หยุดสะสมอาวุธ ฆ่าสัตว์ ตัดต้นไม้ ทำลายสิ่งแวดล้อม (และตนเอง) ขณะที่คนเริ่มเชื่อมากขึ้นว่าเราต้องเปลี่ยนทิศทางของโลก จากบริโภคนิยมไปสู่บุญนิยมหรือเศรษฐกิจพอเพียง แต่คนส่วนใหญ่ก็ยังเดินทางไปในทางเดิม มิหนำซ้ำยังเร่งเครื่องอีกต่างหาก

เดือนธันวามาถึงแล้ว พร้อมกับเทศกาลเลือกเหตุการณ์แห่งปีหรือบุคคลแห่งปีของเหล่านิตยสารหรือสถาบัน ที่ดังที่สุดเห็นจะเป็น Person of the Year หรือบุคคลแห่งปีของนิตยสารรายสัปดาห์ไทม์ นิตยสารดังกล่าวเลือกคนหรือกลุ่มคนที่สร้างผลกระทบต่อข่าวโลกในรอบปีมากที่สุด ดังนั้นไม่ต้องสงสัยเลยว่าบุคคลที่ได้รับเลือกมักเป็นคนดังและนักการเมือง เช่น ไอน์สไตน์, ประธานาธิบดีบุช ทั้งพ่อและลูก, บิล คลินตัน เป็นต้น

แต่เมื่อปีที่แล้วไทม์เลือก โบโน กับ บิลและเมลินดา เกตส์ ในฐานะผู้มีจิตอาสา ทำงานเพื่อผู้อื่นที่ด้อยโอกาสในโลก

โบโนนั้นนอกเหนือจากจะโด่งดังจากการเป็นนักร้องนำวงดนตรีจากไอร์แลนด์ “ยูทู” (เพลงดัง เช่น ไอวิลฟอลโลว์ และ อินเดอะเนมออฟเลิฟ) ยังที่เป็นที่รู้จักจากการเป็นผู้นำการเรียกร้องการปลดหนี้ให้กับประเทศแถบแอฟริกาและลดการติดเชื้อเอดส์ เขาร่วมจัดงานไลฟ์เอด เพื่อหาทุนช่วยภาวะทุพภิกขภัยในเอธิโอเปียที่มีผู้ชมทั่วโลกถึงพันห้าร้อยล้านคน

ส่วนสองสามีภรรยาตระกูลเกตส์ นั้นดังจากผลิตภัณฑ์ซอฟแวร์ของไมโครซอฟท์หรือระบบปฏิบัติการวินโดว์ที่คอมพิวเตอร์ส่วนใหญ่ในโลกใช้กัน บิล เกตส์นั้นเคยเป็นคนถือว่าเป็นตัวชั่วร้ายอย่างยิ่งในสายตาชาวโลก เพราะการที่สินค้าของเขาครองตลาดส่วนใหญ่และกลยุทธทำลายคู่แข่งทางการค้าต่างๆ แต่ปัจจุบันจากการสำรวจในยี่สิบประเทศทั่วโลก เขาเป็นผู้นำที่มีผู้ชื่นชมสูงสุดเป็นอันดับที่สอง (อันดับ๑-๖: เนลสัน แมนเดลา, บิล เกตส์, ดาไลลามะ, โบโน, บิล คลินตัน, โคฟี่ อานัน) ซึ่งเป็นผลมาจากงานของเขาและมูลนิธิบิลและเมลินดา เกตส์ ที่มีเงินก้นถุง ๑,๓๐๐,๐๐๐,๐๐๐,๐๐๐ บาท (อ่านว่า หนึ่งล้านสามแสนล้านบาทครับ) ที่เขาได้รับการยอมรับอย่างสูง ไม่ใช่เพราะมีเงินมาก หากแต่เป็นเพราะการทุ่มเทให้กับงานส่งเสริมบริการสุขภาพและลดความยากจนทั่วโลกอย่างจริงจังและต่อเนื่อง

แต่ทว่า ผู้เขียนไม่ตื่นเต้นกับข่าวคนดังอย่างโบโนกับสามีภรรยาตระกูลเกตส์สักเท่าไหร่ กลับรู้สึกสนใจข่าว “ซานตาคลอสปริศนา” มากกว่า

เพราะสำหรับผู้เขียนแล้ว บุคคลแห่งปีในปีนี้คือซานต้าปริศนาผู้นี้แหละ

ซานต้าปริศนาคนนี้มีชื่อว่า แลรี่ สจ๊วต ครับ ปัจจุบันมีอายุ ๕๘ ปี พำนักอาศัยในรัฐมิสซูรี ประเทศสหรัฐอเมริกา

แลรี่ หรือซานต้าปริศนาบริจาคเงินให้กับคนยากไร้ และคนที่เขาเห็นว่าทุกข์ยาก คนที่ต้องการความช่วยเหลือ โดยเขาไม่เคยเปิดเผยตัวว่าตัวเองเป็นใคร ทำงานที่ไหน และไม่ต้องการอะไรตอบแทนจากคนที่เขาหยิบยื่นเงินให้ แค่เดินออกไปตามที่ต่างๆ ในช่วงเวลาเทศกาลคริสต์มาส พบเห็นใครที่เขาจะช่วยได้ เขาก็แค่ยื่นเงินให้ ง่ายๆ เท่านั้น

และเขาก็ทำเช่นนั้นมา ทุกๆ ปี ติดต่อกันมาแล้วเกือบ ๓๐ ปี แม้จะมีสื่อมาถ่ายทำนำเสนอข่าวแต่เขาก็ยืนกรานไม่ขอเปิดเผยชื่อและเผยว่าตัวเองเป็นใคร

อะไรทำให้ผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งตัดสินใจทำสิ่งเหล่านี้?

เมื่อ ๒๖ ปีที่แล้วนั้น เขาเพิ่งถูกให้ออกจากงานเป็นครั้งที่ ๒ ในรอบสองปี และเป็นช่วงเวลาเดียวกัน คือเพียง ๑ สัปดาห์ก่อนหน้าวันคริสต์มาส วันเทศกาลแห่งความสุข ในคืนย่ำแย่ของชีวิต และยังเป็นคืนที่อากาศหนาวจัด เขาขับรถเข้าจอดในร้านอาหารแบบมีพนักงานมาบริการเสิร์ฟอาหารถึงที่รถ และพบว่าตนเองยังโชคดีมากมายนักเมื่อเทียบกับพนักงานหญิงตรงหน้า เพราะเธอไม่มีแม้แต่เสื้อโค้ทหนาพอให้ความอบอุ่น ซ้ำต้องเดินทำงานท่ามกลางอากาศหนาวเหน็บ แลกกับเงินเพียงน้อยนิด

เขาตัดสินใจยื่นธนบัตร ๒๐ เหรียญให้เป็นค่าอาหาร พร้อมบอกเธอว่าไม่ต้องทอน ทันใดนั้นเอง เขาเห็นริมฝีปากของเธอสั่นระริกและน้ำตาของเธอไหลเป็นสายอาบแก้ม "คุณคงไม่รู้ว่าเงินจำนวนนี้มีความหมายต่อชีวิตฉันแค่ไหน" เธอบอก

ชั่วนาทีนี้เองคือเหตุที่ทำให้ชายธรรมดากลายมาเป็นซานต้าปริศนา

หลังออกจากร้านอาหารแห่งนั้น เขาถอนเงินออกมาอีก ๒๐๐ เหรียญ และยื่นให้ใครก็ตามที่น่าจะต้องการความช่วยเหลือ แต่ละปีที่ผ่านไปเขาให้ธนบัตรใบละ ๕ เหรียญบ้าง ๑๐ เหรียญบ้าง มากขึ้นเพิ่มขึ้นตามฐานะรายได้ ในทุกๆ ปี เขาจะเดินทางไปตามร้านขายของราคาถูก แหล่งขายของเก่า ลาดจอดรถโทรมๆ มองหาคนที่กำลังยากลำบากและเงินของเขาจะช่วยคนเหล่านั้นได้ คนที่ไม่ร้องขอความช่วยเหลือ คนที่ไม่สามารถไปเข้าคิวรอ และคนที่ไม่อาจกรอกแบบฟอร์มเอกสารของราชการหรือองค์กรการกุศล สำหรับแลรี่แล้ว เขาคิดว่าสิ่งนี้แหละคือ “ของขวัญวันคริสต์มาสสำหรับตัวฉันเอง”

ด้วยรู้ดีว่าครั้งหนึ่งในชีวิตขณะที่อยู่ในภาวะสิ้นไร้หนทาง เขาเคยเดินไปที่โบสถ์เพื่อขออนุเคราะห์จากหญิงผู้หนึ่ง เธอบอกว่าคนดูแลเรื่องนี้กลับไปแล้ว พรุ่งนี้ให้มาติดต่อใหม่ เพียงสบตาหญิงผู้นั้น เขาก็หันหลังกลับและไม่คิดจะร้องขอความช่วยเหลืออีกเลย

เขาให้เพราะถือว่าเป็นการทำดีโดยสะดวกใจ ไม่มีพิธีระเบียบวิธีการที่เป็นทางการ และนับจากเงิน ๒๐ เหรียญให้หญิงสาวพนักงานเสิร์ฟคนนั้นจนถึงวันนี้ เขาสละเงินมอบให้ผู้คนจำนวนมากในวันคริสต์มาสไปแล้วกว่า ๕๒ ล้านบาท

จนกระทั่งวันนี้ วันที่เขากำลังเจ็บป่วยจากโรคมะเร็งร้าย ความเข้มแข็งหดหายจากการใช้เคมีบำบัด สุขภาพร่างกายโทรมทรุดลงจนเหลือเวลาในชีวิตไม่นาน แลรี่จึงได้เปิดเผยตัวต่อสื่อมวลชนว่า เขาคือซานต้าปริศนา คนที่สละทรัพย์ของตนเป็นโอกาสมอบให้ผู้ขาดไร้ในช่วงเทศกาลศักดิ์สิทธิ์ ไม่ใช่การเปิดเผยตัวต่อสาธารณะเพื่อเรียกร้องการยอมรับ หรือต้องการเสียงปรบมือแซ่ซ้อง แต่หวังเพียงว่าเรื่องเล็กๆ ของเขาจะสร้างแรงบันดาลใจ กระตุ้นให้ทุกคนตระหนักรู้ว่า เราต่างทำดีให้กันได้ง่ายๆ โดยสะดวกใจ

“เราทุกคนนั้นเกิดมาเพื่อช่วยเหลือกัน” เขาเชื่อเช่นนั้น

บุคคลแห่งปี ซานต้าปริศนา ไม่ได้มีเพียงคนเดียวครับ แต่มีมากมายกระจายอยู่ทั่วทุกหนทุกแห่ง เพียงไม่มีข่าวเขาเหล่านี้ออกผ่านสื่อ ก็ใช่ว่าจะขาดไร้ซึ่งความดีความมีเมตตาต่อกันระหว่างเพื่อนมนุษย์ เราเองต่างก็เป็นบุคคลแห่งปี เป็นคนผู้ทำความดีให้แก่ผู้คนรอบข้างได้ ใช่ว่าจะต้องเป็นนักร้อง นักการเมือง หรือนักธุรกิจชื่อดังเสียเมื่อไหร่

จะทำเมื่อไหร่ ทำที่ไหนไม่สำคัญ เพียงทำความดีโดยสะดวกใจ เท่านั้น


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ 18 มิถุนายน 2550


ในสถานการณ์หนึ่ง แต่ละคนจะเรียนรู้ได้เร็วช้าต่างกัน ทว่าหากสถานการณ์เก่าภาวะเดิมนั้นได้เปลี่ยนแปลงไปสู่ภาวะใหม่ อาจกลายเป็นว่าคนที่เคยเรียนรู้ได้ช้ากลับสามารถเรียนรู้ได้เป็นอย่างดี สาเหตุเพราะว่าเราแต่ละคนนั้นมีศักยภาพ มีความสามารถและรูปแบบในการเรียนรู้ได้แตกต่างกันในภาวะที่ต่างกันออกไป

การเรียนการสอนในห้องเรียนโดยปกติทั่วไป เรามักจะจัดแบบเหมาโหล เปรียบเทียบกับการตัดเย็บเสื้อผ้าก็คือ ตัดเสื้อขนาดเดียวแต่ให้ใช้สำหรับทุกคน หรือที่ฝรั่งเรียกว่าเป็นแบบที่ตัดคุ้กกี้ (Cookie cutter) เพราะมีพื้นฐานแนวคิดความเชื่อว่าผู้เรียนแต่ละคน (อันเปรียบเสมือนคุ้กกี้แต่ละชิ้นที่ผลิตออกมาจากที่ตัดอันเดียวกัน) เหมือนกันหมดทุกประการไม่ว่าจะเป็นความพร้อมทั้งทางร่างกายและจิตใจ ความสามารถ หรือความสนใจ

แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ อย่าว่าแต่สำหรับห้องเรียนใดห้องเรียนหนึ่งหรือนักเรียนกลุ่มหนึ่งเลย ลำพังเพียงเราแต่ละคนก็ยังมีความพร้อมไม่เหมือนกันในการเรียนเรื่องเดียวกันในเวลาต่างกัน

การเรียนการสอนในปัจจุบันโดยมากนั้นเป็นกระบวนการที่มีรูปแบบเดียว จึงต้องพยายามสร้าง “บทเรียน” อันมีลักษณะกลางๆ เหมือนกับสอนตรงค่าเฉลี่ย ให้ผู้เรียนส่วนใหญ่หรือผู้เรียนทั้งหมดในห้องเรียนพอจะรับได้ พอจะเข้าใจได้ บทเรียนหรือความรู้นั้นจึงต้องเป็นเรื่องราวเป็นชุดประสบการณ์ที่แบนๆ เรียบๆ ไม่ค่อยมีหลายมิติเท่าไหร่นัก ว่าด้วยเนื้อหาใจความสำคัญหลัก ทำให้รูปแบบของกระบวนการเรียนที่ปรากฏคือ มีผู้สอนยืนบรรยายเนื้อหาความรู้หน้าชั้น และผู้เรียนก็ได้รับประสบการณ์คล้ายๆ กัน คือนั่งตาปรือ ฟังรู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง

สถาบันการศึกษาทั่วไปมักเป็นการนำเสนอบทเรียนที่มีลักษณะกลางๆ เป็นเนื้อหาความรู้ว่าด้วยเทคนิควิชาอันเป็นเรื่องนอกตัวผู้เรียน แต่ละวันถูกนำเสนอโดยไม่สนใจว่าผู้เรียนอยู่ในภาวะเช่นไร จึงไม่เป็นที่น่าแปลกใจที่ผู้เรียนไม่รู้สึกว่าความรู้ที่ได้มีความสัมพันธ์และสำคัญกับตัวเองแต่อย่างไร

แต่นั่นคือปัจจุบันที่กำลังจะเป็นอดีต

ทิศทางและความก้าวหน้าในเรื่องการเรียนรู้ของโลกยุคปัจจุบันมุ่งไปสู่การพัฒนาสมดุลของการเรียนรู้ภายนอกตัวกับในตัว กล่าวคือ หลอมรวมความรู้นอกกายนอกตัวเข้ากับการเรื่องรู้กายรู้ใจตนเอง เป็นการเรียนรู้ที่ได้ชื่อว่าจิตตปัญญาศึกษา (Contemplative Education) โดยให้ความสนใจและให้ความสำคัญกับภาวะและพื้นที่ของแต่ละคน

หนึ่งในความเชื่อพื้นฐานของการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาคือ คนเราแต่ละคนมีการเรียนรู้ต่างกันในภาวะที่ต่างกัน และภาวะที่ต่างกันนี้ก็เป็นความต่างจากมุมมองของความคุ้นเคยหรือความปลอดภัยของแต่ละบุคคลด้วย ภาวะดังว่านี้อาจแบ่งออกเป็น ๓ ระดับ ได้แก่ พื้นที่สบาย (comfort zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกคุ้นเคย ให้ความรู้สึกผ่อนคลาย สบายและปลอดภัย (“พื้นที่การเรียนรู้” ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงแค่พื้นที่ทางกายภาพแต่อย่างเดียว อาจเป็นรูปแบบหรือลักษณะของกิจกรรมหรืออื่นๆ) ระดับต่อมาคือ พื้นที่เสี่ยง (risk zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกระแวดระวัง รู้สึกถึงความสุ่มเสี่ยง ไม่มีความคุ้นเคย แต่ยังถือว่าพอรับได้ และระดับสุดท้ายคือ พื้นที่อันตราย (danger zone) เป็นภาวะที่เรารู้สึกไม่มีความปลอดภัย


ในพื้นที่สบายนั้น ย่อมแน่นอนว่ามนุษย์เราสามารถเรียนรู้บางอย่างได้ดี แต่ก็มักจะเป็นความรู้คนละชุดกันกับความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ในพื้นที่เสี่ยงหรือพื้นที่อันตราย การมีสติอยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือในพื้นที่ที่ทำให้เรารู้สึกไม่มั่นคงนี้เองจะทำให้เรามีโอกาสการเรียนรู้มาก โดยเฉพาะการเรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา หรือความเป็นตัวเราเอง

ฉะนั้น สำหรับการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาศึกษาแล้ว สิ่งที่เป็นไปได้ไม่ยากนัก คือการจัดสภาพแวดล้อมหรือบทเรียนที่แม้จะเป็นรูปแบบเดียว แต่มีหลายมิติ สภาพการณ์ดังว่าจึงเป็นภาวะที่แตกต่างกันสำหรับแต่ละคน และภาวะที่ต่างกันทำให้มีความหมายต่อผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน โดยต่างคนก็สามารถออกแบบหรือจัดการเรียนรู้ที่เหมาะสมให้กับตนเองได้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น การฝึกอบรมของ Earth Expeditions ซึ่งมหาวิทยาลัยไมอามี่ ที่สหรัฐอเมริกา ได้ส่งครูชาวอเมริกันสิบกว่าคนมาเรียนรู้เรื่องพุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และทางผู้จัดในไทย (ได้แก่ สถาบันขวัญเมือง มูลนิธิโลกสีเขียว และมหาวิทยาลัยมหิดล) ได้ใช้กระบวนการเรียนรู้ทางจิตตปัญญา (Contemplative Learning) เพื่อสร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่เหมาะกับผู้เรียนแต่ละคน

กล่าวคือ ในกระบวนการทั้งหมดเราได้สนับสนุนเชื้อเชิญให้ผู้เรียนได้มีสติอยู่กับตัวเอง อยู่กับใจ อยู่กับความรู้สึกของตนเอง จากนั้นก็เชิญชวนให้แต่ละคนก้าวออกมาจากพื้นที่ที่คุ้นเคยเดิม ตามที่ตนเองได้มีโอกาสเลือกเอง ไม่ควบคุมบังคับ

หนึ่งในกิจกรรมเหล่านั้นคือการให้โอกาสแต่ละคนได้อยู่คนเดียวในป่าธรรมชาติที่ดอยเชียงดาว กิจกรรมนี้ได้เกิดผลต่อผู้เรียนแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนรู้สึกเป็นเรื่องง่ายๆ สบายๆ เรียกว่าอยู่กลางพื้นที่ปลอดภัยหรืออยู่ในภาวะสบายเลย ในขณะที่อีกหลายคนกลับรู้สึกว่าตนเองออกไปอยู่ในพื้นที่สุ่มเสี่ยงหรือภาวะเสี่ยงเต็มๆ เกือบจะพลัดเข้าไปสู่ภาวะอันตรายเสียด้วยซ้ำ แต่ละคนได้เลือกว่าออกไปไกลหรือนานเท่าใดจึงจะเป็นการออกจากภาวะหรือพื้นที่สบาย ไปอยู่ในพื้นที่เสี่ยง โดยไม่ใช่พื้นที่อันตราย (จนเกินไป)

ยิ่งกิจกรรมนี้ผนวกด้วยการเชิญชวนให้ไม่เอาอะไรไปทำในป่า เช่น ไม่เอาหนังสือไปอ่าน หรือไม่เอาบันทึกไปจด หรือไม่เอาอาหารไปกิน ... การอยู่ว่างๆโดยไม่ทำอะไรนี่ก็เช่นกัน เป็นเรื่องปอกกล้วยเข้าปากสำหรับบางคน แต่ถึงขนาดเข็นครกขึ้นภูเขาสำหรับคนอื่นๆ

สิ่งที่พบหลังจากแต่ละคนกลับออกมา หลายคนสะท้อนความเห็นออกมาอย่างไม่น่าเชื่อว่ากิจกรรมง่ายๆ เท่านี้จะทำให้เขาได้ค้นพบตัวเอง รู้จิตรู้ใจตัวเอง และเห็นศักยภาพของตนเองมากขึ้น

การเรียนรู้เหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งของเทคนิควิธีการเรียนรู้ที่จะนำพามาบอกเล่าในพื้นที่คอลัมน์นี้ (ที่จะพบกันทุกวันอาทิตย์) ว่าด้วยเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแวดวงของการเรียนรู้ทั้งไทยและเทศ เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่อยู่ที่พรมแดนความรู้ในเรื่องของการเรียนรู้ อาจเป็นเทคนิควิธีแบบใหม่และอาจเป็นการให้ความหมายใหม่กับเทคนิควิธีการเรียนการสอนแบบเดิม เพื่อขยายมุมมองของเราทำให้เราสามารถเรียนรู้ได้ดียิ่งขึ้น


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2549


“ทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยให้เกียรติกับภรรยาคนไทยของผม และมักมองว่าเธอเป็นหญิงบริการ?” คือหนึ่งในคำถามที่ผมได้รับจากครูฝรั่งวัยกลางคนคนหนึ่งในกิจกรรมเสวนาเรื่องความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม ที่เพื่อนสนิทของผมขอให้ไปช่วย

ในยุคที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากขึ้น อีพีโปรแกรม (EP-English Program) หรือหลักสูตรภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างๆ ทั้งประถม มัธยม รวมถึงมหาวิทยาลัย (มักเรียกโปรแกรมอินเตอร์) ทั้งรัฐและเอกชน ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายโรงเรียน ความต้องการของตลาดมีมาก ผู้ปกครองจำนวนมากก็พร้อมจะจ่ายค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าปกติ ถึงขนาดขับรถผ่านไปไหนก็เห็นป้ายติดหน้าโรงเรียนกันเป็นทิวแถว

โรงเรียนที่เปิดสอนอีพีโปรแกรมจะมีบางวิชาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม หรือแม้กระทั่งพลศึกษา (ยกเว้นวิชาภาษาไทย) โรงเรียนหรือโปรแกรมที่ขึ้นหน้าขึ้นตามักจะวัดจากปริมาณครูชาวต่างชาติที่มี เรียกว่ายิ่งเยอะยิ่งดี หากเป็นระดับชั้นต้นๆ ก็หาง่ายหน่อย แต่พอระดับสูงๆ เช่น มัธยมปลาย ก็มักต้องชวนอาจารย์คนไทยที่สอนระดับมหาวิทยาลัยมาช่วยสอน

สมัยผมเรียนน่ะไม่มี อีพงอีพีอะไรกับเขาหรอกครับ จำได้ว่านานๆ จะมีครูหัวแดงมาสอนอยู่ในโรงเรียนอยู่บ้าง ราวว่าเป็นโครงการแลกเปลี่ยนอะไรทำนองนั้น ครูมีอยู่คนสองคนก็โอ๋กันทั้งโรงเรียนเป็นธรรมดา แถมชีวิตก็ต้องพึ่งครูไทยเป็นหลัก ชาวต่างชาติจำนวนน้อยๆ ต้องคอยถามเราบ่อยๆ ต้องยกมือไหว้ปะหลกๆ ครูไทยก็รู้สึกมีความสำคัญ เห็นว่าพวกนี้น่ารัก น่าเอ็นดูดี พร้อมจะแสดงยิ้มสยามวันละหลายๆ รอบ

แต่ปัจจุบันอีพีโปรแกรมหนึ่งๆ อาจมีครูต่างชาติถึงยี่สิบกว่าคน มาจากหลายทวีปด้วยกัน เป็นเรื่องขึ้นมาสิครับทีนี้ จากเดิมที่ครูต่างชาติต้องพึ่งพิงครูไทยมากก็ไม่ค่อยเรียกร้องอะไร (แค่เอาตัวรอดไปวันๆ ก็ยังลำบาก เพราะสื่อสารอะไรกับใครเขาไม่รู้เรื่อง) พอมีจำนวนเยอะๆ เข้า ก็คุยกันเองได้ กลับบ้านเองเป็น เกิดกิจกรรมร่วมกัน เกิดวัฒนธรรมกลุ่ม พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง (ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี)

แต่ในสายตาครูไทย ครูต่างชาติเหล่านี้ดูเหมือนจะน่ารักน้อยลง อาจด้วยเป็นเพราะไม่ต้องมาพึ่งพาเรานักประการหนึ่ง แถมชักจะมีข้อเรียกร้องต่างๆ นานามากขึ้นอีก ฝ่ายชาวต่างชาติก็รู้สึกว่าตนเองควรจะได้รับสิทธิอะไรเสมอภาคกับเขาบ้าง เพราะก็เป็นครู เป็นคนกะเขาเหมือนกัน แถมยังนำรายได้มาสู่โรงเรียนอีกมาก เรื่องราวความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็อาจมีมากขึ้น ที่สำคัญคือการอะลุ้มอล่วยกันอาจจะน้อยลงอย่างฮวบฮาบ เซ็งกันไปตามๆ กัน ทั้งเทศ ทั้งไทย ร้อนถึงผู้บริหารที่อาจต้องจัดกิจกรรมปฐมนิเทศ ผสานวัฒนธรรมหรือสร้างความเข้าใจขึ้น

ผมได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกท่านหนึ่งในรายการดังกล่าวของอีพีโปรแกรมชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของไทย ไม่ใช่เพราะเก่งกาจอะไรกับเขาหรอกครับ เพียงแต่สนิทกับผู้ดูแล และมีประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรมกับเขานิดๆ หน่อยๆ

ผมให้ครูต่างชาติเขียนคำถาม สิ่งที่เขาอยากรู้หรืออยากชวนคุยมาก่อน ลองดูตัวอย่างคำถามนะครับ

“สังคมไทยถึงมีอคติ เลือกปฏิบัติ โดยให้โอกาสกับครูฝรั่ง มากกว่าครูชาวเอเชีย ทั้งๆที่ความสามารถใกล้เคียงกัน พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เหมือนกัน”
“คนไทยไม่พูดจาตรงๆ ตรงไหนถูกก็ว่าถูก ตรงไหนผิดก็ว่าผิด พูดอ้อมไปอ้อมมา ทำให้เสียการเสียงาน”
“ทำไมจึงมักมีการเปลี่ยนแปลงรายการโดยไม่แจ้งล่วงหน้าบ่อยนัก”

อ่านดูแล้วน่าเห็นอกเห็นใจครับ ทั้งครูต่างชาติผู้เป็นแขกและครูไทยเจ้าบ้าน ผมเองและเพื่อนพาทั้งหมดคุยกันด้วยความพยายามจะทำความเข้าใจกัน โดยบอกเล่าว่าพวกผมไม่ใช่ผู้จะมาชี้ถูก ชี้ผิด แก้ไข หรือให้คำตอบได้หมด สิ่งที่พวกเราพอทำได้ คือ ใช้ความรู้หรือทฤษฎีทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง แต่ที่สำคัญคือ การช่วยให้ทุกคนมีท่าทีที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่นั่น

ผมได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ครูทั้งหลายฟังว่า มีชายคนหนึ่งผ่านไปเห็นสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ด้วยความสงสัยใคร่รู้จึงได้เข้าไปถามช่างก่อสร้างที่พบเป็นคนแรกว่าทำอะไรอยู่หรือ ช่างคนแรกตอบด้วยความเบื่อหน่ายว่า “กำลังก่ออิฐ” ต่อจากนั้นเขาก็เดินไปถามช่างคนที่สองด้วยคำถามเดียวกัน แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า “กำลังทำกำแพง” ท้ายสุดจึงได้ถามช่างคนที่สาม ช่างก่อสร้างคนที่สามตอบอย่างหนักแน่นหน้าตาอิ่มเอิบแววตาเป็นประกายว่า “กำลังสร้างมหาวิหาร”

ช่างทั้งสามคนต่างกันอย่างไรหรือครับ? ทั้งที่ทำงานก่อสร้างในสิ่งปลูกสร้างเดียวกัน สิ่งที่นิทานต้องการจะบอกคือ การมองเห็นแค่สิ่งเฉพาะหน้าในกรณีนี้นั้นไม่ช่วยให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญในสิ่งที่เราทำ ดังเช่นช่างคนแรกบอกว่ากำลังก่ออิฐ ขณะที่ช่างคนที่สามกำลังทำสิ่งเดียวกัน แต่เขารู้ตัวดีกว่ากำลังทำสิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่

ท่าทีที่ช่างทั้งสามคนมีต่องานต่างกันจริงไหมครับ แต่ท่าทีของช่างคนที่สามดูจะเป็นท่าทีที่เหมาะสมและทำให้เขามีความสุขและความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ทั้งนี้เพราะการมองโลก หรือการมองเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตที่ไม่เอาเรื่องเฉพาะหน้า หรือเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง

กรณีคำถามต่างๆ ของครูฝรั่งนั้น เกือบทุกคำถามสะท้อนให้เห็นว่าคุณครูทั้งหลายเห็นเป็นรายประเด็นปัญหา (ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งวัตถุประสงค์ของกิจกรรม) แต่ถ้าเราลองคิดตามคำถามเหล่านี้ไปในทิศทางเดียวเท่านั้น เราอาจจะนึกไม่ออกเลยว่าจะแก้ไขอย่างไร ดูเหมือนปัญหาพันนัวเนียกันยุ่ง หากความคิดวนเวียนอยู่กับปัญหาระหว่างวัฒนธรรมมากเกินไป ครูจะไม่ได้เห็นเลยว่าเขาเองเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างค่านิยม สร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมที่ถูกต้อง การที่เขาได้ทำงานกับเด็กๆ นับเป็นจุดที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก เขามีหน้าที่ยิ่งใหญ่และสำคัญต่อโลก ไม่ใช่เพียงแค่คนทำงานรับเงินเดือนเท่านั้น

ด้วยเหตุที่เรามองเรื่องราวในโลกแบบเอาปัญหาเป็นตัวตั้งและไม่ทำให้มีความสุข การเห็นปัญหาเพียงอย่างเดียวแล้วสรุปว่านั่นเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นเรื่องราวทั้งหมด ก็เหมือน “เข้าป่าแต่ไม่เห็นป่า เห็นแต่ต้นไม้” (Don't lose sight of the forest for trees) นั่นเอง ฉะนั้นแล้วลองมาเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเรื่องกันเถอะครับ มุมมองโลกในภาพรวมระยะยาวและคิดเชิงบวก อาจช่วยให้เราวางใจ มีความสุขกับงานได้ทุกวัน เพราะเข้าใจตำแหน่งแห่งที่และความหมายของสิ่งที่ทำ ใช่ว่าจะเห็นแค่ปัญหาเท่านั้นครับ :-)

หมายเหตุ: ในมงคลครบรอบ ๑๐๐ ปีวันล้ออายุ ขออุทิศบทความนี้เป็นอาจาริยบูชาแด่ท่านอาจารย์พุทธทาส และเป็นกำลังใจแก่ลูกศิษย์ลูกหาของท่านในการร่วมสานต่อปณิธาน ๓ สร้างมหาวิหารในในศาสนิกทุกคนครับ


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2549



ถาม: ท่านทราบไหมว่าปี...
๑) ๒๕๔๘ ๒) ๒๕๔๑
๓) ๒๕๔๕ ๔) ๒๕๔๖
๕) ๒๕๔๔ และ ๖) ๒๕๔๐
มีความสำคัญอย่างไร ตามลำดับ?
(มีเฉลยอยู่ในบทความครับ)

สัปดาห์นี้คอลัมน์จิตวิวัฒน์ได้เดินทางคู่กันกับหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ มาเป็นเวลาสองปีกับอีกสองเดือนพอดี แต่ละสัปดาห์สมาชิกจิตวิวัฒน์สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบอกเล่าความสำคัญจำเป็นที่โลกจะต้องมี “จิตสำนึกใหม่” (New Consciousness)

เรื่องราวที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้ถ่ายทอดผ่านพื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือจากฐานความรู้และมุมมองต่อโลกของแต่ละท่านแล้ว ยังมาจากข้อมูลสาระจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มทั้งในและนอกที่ประชุม ความรู้ทั้งหมดที่กลุ่มให้ความสนใจ เล่าสู่ข้อมูลข่าวสาร และร่วมเรียนรู้กันนั้น ได้แสดงให้เห็นชัดเจนอย่างสิ้นไร้ข้อสงสัยว่า โลกกำลัง “อยู่ใน” วิกฤต หาใช่กำลัง “เข้าสู่” วิกฤตดังที่บางคนเข้าใจไม่ ทั้งยังเป็นวิกฤตในรอบด้าน ไม่ว่าทางสิ่งแวดล้อม ทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่ศาสนา และอื่นๆ
ส่วนหนึ่งของข้อมูลสถิติและข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น มีดังต่อไปนี้ครับ

  • ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ภายในเวลาไม่เกินห้าสิบปีนี้ ขั้วโลกเหนือจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมอีกต่อไป
  • ปริมาณของน้ำแข็งที่ละลายจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ อาจทำให้ระดับน้ำทะเลท่วมสูงขึ้นถึง ๖ เมตร
  • โลกมีทั้งฤดูแล้งและพายุฝนรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนา เป็นตัวอย่างที่ทุกท่านคงไม่ลืม ซึ่งแท้จริงแล้วปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีพายุมากถึง ๒๘ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒๑ ลูกในปี ๒๔๗๖) ในจำนวนนี้เป็นพายุเฮอริเคนถึง ๑๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๑๒ ลูก ในปี ๒๕๑๒) และเป็นพายุเฮอริเคนระดับห้า อันความรุนแรงสูงสุด ถึง ๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒ ลูกในปี ๒๕๐๓)

บางส่วนของข้อมูลนี้ถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์และกำลังเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ชื่อ An Inconvenient Truth (“ความจริงที่ทำใจลำบาก”) ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าถึงความน่าสะพรึงกลัวของปัญหาภาวะโลกร้อนที่บางคนไม่เคยทราบข้อมูลข้างต้นมาก่อน และจะต้องประหลาดใจยิ่งขึ้น หากพบว่าเรื่องเหล่านี้ได้ผ่านหูผ่านตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วในสื่อต่างๆ ท่ามกลางกระแสข่าวสารสาระบันเทิงอันท่วมท้น บางทีการบอกเล่าด้วยเรื่องราว อาจเหมาะเจาะเหมาะสมกับวัฒนธรรมพูดจาเล่าเรื่องอย่างในสังคมไทย มากกว่าการอ่านเขียนก็เป็นได้

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บทให้สัมภาษณ์ของ อัล กอร์ เขาเล่าถึงการเสียชีวิตของพี่สาวจากโรคมะเร็งปอด ด้วยความที่เธอเป็นนักสูบบุหรี่มาตลอดชีวิต ในขณะที่ครอบครัวก็มีอาชีพปลูกยาสูบ และไม่ได้คิดจะเลิกปลูก จนกระทั่งเธอตายจากไป กอร์บอกว่านี่คงเป็นลักษณะทั่วไปของมนุษย์กระมังที่ยากจะเลิกนิสัยเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ปลูกยาสูบ หรือแม้แต่การมีวิถีชีวิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างทุกวันนี้

เรื่องนี้ตรงกับที่อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ กล่าวในวงจิตวิวัฒน์เสมอๆ ว่า “มนุษย์นี้น่ะไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา บางทีเข้าไปนอนในโลงแล้วยังไม่รู้สึก ต้องได้ยินเสียงตอกตะปูฝาโลงปังๆ น่ะถึงจะคิดได้”

อย่างไรก็ดี จิตวิวัฒน์หาได้เป็นผู้นำข่าวร้าย (ซึ่งที่จริงก็เป็นแค่ “ความจริง” เพียงแต่เป็นความจริงที่ “ทำใจลำบาก”) แต่ถ่ายเดียว จิตวิวัฒน์ยังพยายามสื่อสารบอกเล่าให้เห็นด้วยว่า นี่คือโอกาสของการเรียนรู้ของตัวเราและของสังคม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็มีผู้หลุดพ้นจากการร่ำเรียนจาก “ความทุกข์” ที่อยู่เบื้องหน้ามานักต่อนัก

กลุ่มจิตวิวัฒน์เชื่อว่ามนุษย์จะใช้ความคิด ความรู้ชุดเดิมๆ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากชุดความคิดเดียวกันเป็นทำนองลิงแก้แหอย่างปัจจุบันนี้ไม่ได้ ทว่าต้องมี “จิตสำนึกใหม่” อันเป็นจิตใหญ่ ดังที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้อธิบายไว้ในบทความจิตวิวัฒน์ชิ้นแรกในคอลัมน์นี้เมื่อสองปีก่อนว่าจิตสำนึกใหม่เป็น “ความรู้สึกนึกคิดที่มีปริมณฑลกว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด หรือความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ หลุดพ้นจากความบีบคั้นจากความคับแคบ เป็นอิสระ มีความสุข เกิดมิตรภาพอันไพศาล รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด”

หลังจากที่กลุ่มจิตวิวัฒน์พบเจอกันเป็นประจำมาทุกเดือนไม่เว้น จวบจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ กลุ่มจึงได้มีการ “เหลียวหลัง แลหน้า” กัน และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า โลกต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าวิกฤตที่แท้นั้นเป็นวิกฤตภายในจิตใจของตน วิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นอาการของโรคที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น

ดังที่ท่านดาไลลามะองค์ปัจจุบันบอกว่า “โลกเป็นโรคขาดพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency)” ดังนั้นการพยายามไปหาทางออกด้วยวิธีการทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถนำพาโลกไปสู่ทางออกได้ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการเมืองโดยการจัดการและวิทยาการอันเป็นบ่อเกิดปัญหาจึงเป็นการแก้ไขที่เปลือกนอก สิ่งที่ควรเร่งฟื้นฟูขึ้นคือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจคน

และด้วยเหตุที่วิกฤตเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดจากภายใน โดยคุณเดวิด สปิลเลน ได้สรุปโดยใช้คำของมหาตมะ คานธี ที่ว่า “เปลี่ยนโลก ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน” (Be the change you want to see in the world.)

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เห็นวิกฤต เห็นปัญหา ควรลงมือแก้ไขอย่างเต็มที่ ทันที โดยเริ่มจากตนเองก่อน อีกทั้งยังต้องไม่ไปยึดติดกับความคาดหวังต่อผลอีกด้วย

การทำโดยไม่หวังผล ฟังดูเผินๆ อาจขัดกับแนวความคิดกระแสหลักที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะ “กรอบความคิด” การวัด-การประเมิน (ที่ “ตีกรอบ” ให้เราคิดแบบวนอยู่ในอ่างที่เดิม) ที่ทุกอย่างต้องตีค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ ต้องใช้เครื่องมือวัดได้ โดยหารู้ไม่ว่า ชุดความคิดนี้เองคือที่มาของปัญหาต่างๆ

แท้ที่จริงแล้ว มนุษยชาติมีชุดความรู้ที่แตกต่างจากชุดความรู้ทางเทคนิคปัจจุบันและสามารถพาพวกเราไปรอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา (ที่สอนให้เราไม่คาดหวังผล อย่างเช่นกรณีผู้ปฏิบัติธรรม หากยิ่งคาดหวังจะบรรลุ กลับยิ่งไม่ประสบผล) หรือวิทยาศาสตร์ใหม่ (ที่บอกว่าการวัดประเมินไปเสียทุกอย่างทุกครั้ง อาจไม่ได้ให้ผลที่เราอยากได้เสมอไป เช่น การทดลองเรื่องแมวของชโรดิงเจอร์) หรืออีกหลายชุดความรู้ เพียงแต่คนยังไม่ตระหนัก ไม่เชื่อ ถึงคุณค่า ความหมาย และการนำไปใช้ของมันเท่านั้น

สำหรับเฉลยคำถามข้างบนนี้ หกปีที่อยู่ในคำถามเป็นหกปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติตั้งแต่เคยบันทึกกันมา (นับตั้งแต่ปี ๒๔๓๓ หรือเมื่อกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบปีมาแล้ว) เป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อเห็นข้อมูลว่าหกปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกมาอยู่ในรอบไม่เกินแปดปีที่ผ่านมานี้ ในยุคสมัยของเรานี่เอง ... เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างหรือเปล่า?

สละของรัก


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2549


รุ่นพี่ที่ผมนับถือมากท่านหนึ่งกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยว-พักผ่อนต่างประเทศ "อยากได้อะไรบ้างไหม?" พี่เขาถาม แต่ผมนั้นไม่ค่อยอยากจะได้อะไร และพยายามจะไม่สะสมสิ่งของต่างๆ เอาไว้นัก

จากคำถามหาของฝาก และเรื่องสิ่งของที่อยู่ในความครอบครอง เราคุยกันไปถึงเรื่องกิจกรรม "สละของรัก" ที่พี่เขาเล่าให้ฟังว่าเพิ่งจะสละตุ๊กตาด้ายสามตัว เป็นตุ๊กตาที่ชาวอินเดียนแดงเอาไว้เล่าเรื่องที่ทุกข์ใจให้ฟังตัวละเรื่องก่อนเข้านอน (ทั้งนี้รุ่นพี่ไม่ได้อธิบายและผมก็ไม่ได้ถามว่าต้องเล่าให้ครบทุกตัวหรือเปล่า หรือถ้ามีมากกว่าสามเรื่องจะทำอย่างไรดี?)

แม้จบบทสนทนาไปแล้ว แต่คำว่า "สละของรัก" ยังติดทั้งหู ติดทั้งใจผมทั้งวัน รู้สึกเป็นคำที่ดี โดยส่วนตัวแล้วน่าจะช่วยให้ปลดระวางสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตได้ง่ายขึ้น อาจจะฟังดูแล้วขัดแย้งกัน เพราะโดยสามัญสำนึกทั่วไป คนเรามักมีความสุขเมื่อได้ครอบครองสิ่งของอันเป็นที่รัก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ถูกผูกติดกับสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นของรักไปโดยไม่ทันรู้ตัว

ดังเช่นเมื่อเราซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ทันสมัย รูปทรงงดงามหรูหรา สามารถถ่ายรูปได้เล่นเพลงได้ เราก็เพลิดเพลินและปลาบปลื้มกับมัน ใช้เวลาเล่นได้เป็นชั่วโมง เราค่อยๆ พัฒนาข้าวของเครื่องใช้นี้ขึ้นเป็น "ของรัก" มีความสุขที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ทว่าสิ่งของชิ้นนี้ก็ทำให้เราใจแป้วเอาได้ง่ายๆ เพียงเพราะมีรอยขีดข่วนเกิดขึ้น หรือออกอาการรวนทำงานไม่ปกติ ของที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอิทธิพลใดกับเรา ตอนนี้กลับทำให้ผู้เป็นเจ้าของต้องหงุดหงิด รำคาญใจ และทุกข์ใจ ห่างไกลจากความสุขไปเสียแล้ว

กรณีตัวอย่างอันโด่งดังที่แฟนภาพยนตร์ส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดีคือ กอลลัม จากเรื่อง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ กอลลัมเป็นผู้หนึ่งที่ได้เก็บแหวนแห่งอำนาจนั้นไว้ เรียกแหวนนั้นว่าเป็นของรักของตน (มาย ... พรีเชียยยยสสสสสส!) แต่ดังที่เราทราบกัน กอลลัมไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงจากแหวนนี้เลย เขาเดือดร้อนทุกข์ใจจากการสูญเสียของรัก และตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ที่ต้องพยายามทุกวิถีทางให้ได้แหวนกลับคืนมา ทั้งที่ก่อนจะพบแหวนนี้เขาเองมีความสุขและสุขสบายดีแท้ๆ

เราไม่ค่อยเห็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่องไหนที่ได้สละของรักของตนบ่อยนัก ภาพยนตร์โดยมากมักจะเป็นดังข้างต้น คือเล่าเรื่องที่จะไปส่งเสริมการแย่งของรักของหวงของคนอื่นเสียมากกว่า หรือไม่ก็ตีโพยตีพายเวลามีคนรักตายจากไป ...

ครับ ของรักนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเพียงสิ่งของ แต่หมายความรวมไปถึงสถานที่ที่เราชอบไป หมายถึงสัตว์เลี้ยงน่ารักน่าเอ็นดูของเรา ผู้คน ญาติสนิทมิตรสหายที่แวดล้อม หรือแม้แต่ตัวของเราชีวิตของเราเองด้วย

นึกถึงว่าช่วงนี้ผมได้ข่าวพระนักปฏิบัติ อีกทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านของเมือง และของเพื่อนๆ หลายท่านมาก ต่างป่วยไข้ไม่สบาย เข้าโรงหมอกันเป็นแถว นับได้สิบกว่าท่าน เรียกว่าได้ข่าวกันรายสัปดาห์ก็ว่าได้ ที่ฮิตสุดเห็นจะเป็นโรคมะเร็งกับเนื้องอก มีทั้งที่ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก แล้วยังมีไตวายอีก (ผมขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เพราะท่านคงไม่อยากรบกวนญาติโยมและเด็กๆ ส่วนพวกเราก็ควรจะให้ท่านได้พักผ่อน ไม่ต้องลำบากลุกมารับสวัสดีและของฝาก)

เวลาได้ยินข่าวประมาณนี้ ผมมักถือโอกาสถามและเช็คตนเองว่าพร้อมไหม กับการสูญเสียหรือพลัดพรากจากคนที่เราเคารพ คนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นเขาจากเราไป หรือเราเป็นฝ่ายเดินทางแบบตีตั๋วเที่ยวเดียวเอง

ถามตัวเองว่าพร้อมหรือไม่แล้วก็อยากชักชวนให้ มาลองฝึกสละของรักกันครับ

เริ่มที่สิ่งของเล็กน้อยที่เรารักเราหวงเป็นลำดับแรก เพื่อฝึกให้เราได้คุ้นเคยกับการสูญเสีย เมื่อแรกได้ของนั้นมา ก็ขอให้รู้ว่าต่อไปก็อาจจะถึงคราวจะต้องเสียมันไป ไม่มีของอะไรที่อยู่กับเราไปได้ตลอด พอรู้เท่าทัน เราก็จะเตรียมตัว ไม่ปล่อยให้ของรักนั้นจะผูกมัดให้ใจเรา ไม่ทำให้เราไปยึดติดคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นพันธะ ที่ทำให้เป็นทุกข์มากกว่าจะมีความสุข อันที่จริงในชีวิตประจำวันเราก็ได้โอกาสฝึกอยู่เสมอๆ อาทิ ปากกาแสนรักหาย เล็บสวยๆ แตกหัก เพียงแต่เราไม่ทันรู้ว่านั่นเป็นการฝึกสละของรักเท่านั้นเองครับ

การฝึกสละของรักลำดับที่ยากขึ้นไปอีก คือ ของรักที่เป็นผู้คน ญาติมิตร หรือแม้แต่ชีวิตตัวเอง แต่ช้าก่อนครับ ใช่ว่าผมจะให้สละชีวิตนะ แต่เป็นการฝึกดูแลจิตใจของเรา และการเตรียมความพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือการเผชิญกับความตายนั่นเอง

ยิ่งระยะหลังผมได้ใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลวงพี่ไพศาล วิสาโล คุณพรรณี นัยสันทัด คุณกรรณจริยา สุขรุ่ง จากเครือข่ายพุทธิกา ท่านอาจารย์ประสาน ต่างใจ หรือพี่หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ คุณราตรี ปิ่นแก้ว จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ทำให้ได้รับความรู้ขึ้นอีกมาก พร้อมกับตระหนักว่าท่าทางเราเองอาจจะยังประมาทอยู่ และต้องเร่งทำการบ้านอีกมาก

สมัยวัยรุ่น เคยคิดว่าตนเองไม่(ค่อย)กลัวตาย(สักเท่าไหร่) ตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่สอง เย็นวันหนึ่งทำกิจกรรม มีเพื่อนผู้หญิงคณะเดียวกันมาแซว ปัดโทรโข่งที่ถือตะโกนเรียกน้องๆอยู่ ทำให้โทรโข่งกระแทกจนฟันหน้าบิ่น ตอนนั้นตกใจมาก กลับมาบ้านส่องกระจกดูแล้วดูอีก คิดในใจว่าแย่จัง (ยิ่งหน้าตาไม่ผ่าน mean กับเขาด้วย) พอเห็นหน้าเศร้าของตัวเองในกระจกถึงนึกได้ว่า นี่หนอตัวเรา ไหนว่าคิดว่าไม่กลัวตายไง นี่แค่ฟันบิ่นทำเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้นึกย้อนกลับไปรู้สึกดีว่าตอนนั้นไม่ได้กลับไปว่าเพื่อนให้ได้เสียใจ ส่วนฟันซี่ที่บิ่นนั้นก็ไม่ได้ให้หมอฟันซ่อมแต่อย่างใด เก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจ

ดังนี้แล้ว ผมจึงเห็นว่าการ "สละของรัก" เป็นการช่วยปลดระวางสิ่งของที่ไม่จำเป็นในชีวิตนั่นเอง การได้ตั้งใจปล่อยให้ของรักไปแก่ผู้อื่น หรือบริจาคเป็นทานออกไปให้คนที่เราเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้มากกว่า ล้วนแต่ช่วยฝึกฝนตัวเราให้คุ้นเคย ช่วยให้เรารับรู้ถึงภาระที่เราเคยแบกเอาไว้และได้ปล่อยออกไป

ดังนั้นเวลาบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล หากจะเป็นการฝึกตนที่ดี ก็ควรได้ฝึกสละของดีๆ ที่เรารัก เราหวง ไม่ใช่เป็นโอกาสระบาย "ขยะแอบแฝง" ที่เราไม่อยากได้แล้วแต่อย่างเดียว (ฮา)

วันนี้ได้ฟังรุ่นพี่พูดให้ฟังเรื่อง "สละของรัก" ก็ดีใจ คิดว่าเราได้มีเครื่องมือใหม่ๆ ไว้ใช้พัฒนาความสุขอีกแล้ว :-)

ไม่ถูก ไม่ผิด


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 เมษายน 2549


ช่วงนี้ได้ยินแต่เรื่องโอเน็ต-เอเน็ต วนไปเวียนมาอยู่กับเรื่องคำถาม-คำตอบ ปรนัย-อัตนัย เป็นที่น่าปวดเศียรแทนทั้งคนสอบและคนตรวจ ผมเองก็ต้องออกข้อสอบอยู่ทุกเทอมและชอบออกเป็นอัตนัยมากกว่า แต่ถ้าเป็นปรนัยแล้วโดยส่วนตัวคิดว่าแบบหลายตัวเลือก ก-ข-ค-ง ทำง่ายกว่า แม้ว่าออกข้อสอบยากกว่าก็ตาม

แต่บรรดานักศึกษาก็ไม่ได้เห็นด้วยเหมือนกับผมเสมอไป หลายคนชอบแบบสองตัวเลือก คือ ถูก-ผิด มากกว่า ด้วยว่าข้อสอบแบบถูกผิดนั้นมีโอกาสตอบถูกถึงครึ่งหนึ่ง ผู้ตอบเองก็ตัดสินใจได้ง่าย ขณะที่ข้อสอบให้เลือกตอบแบบ ๔ ข้อ การตัดสินใจหรือเดาสุ่มก็มีทำได้ยากขึ้น โอกาสจะตอบถูกก็น้อยลง

สิ่งที่เหมือนกันของข้อสอบทั้งสองแบบคือคำถามต้องมีความชัดเจน ในกรณีแบบถูกผิด คำตอบที่ได้นั้นมีเพียงหนึ่ง ส่วนกรณีแบบสี่ตัวเลือก อาจมีคำตอบได้มากกว่าทางเดียว โดยรวมอยู่ในตัวเลือกจำพวก ถูกเฉพาะข้อ ก, เฉพาะข้อ ข, ถูกทุกข้อ หรือไม่มีข้อใดถูกเลย ข้อสอบทั้งสองแบบจะเปิดให้ผู้สอบตีความได้ในขอบเขตจำกัด ตามเงื่อนไขที่ได้ตั้งคำถามไว้ แต่จะไม่สามารถใช้ได้เลย หากต้องการทราบว่าผู้สอบมีทัศนะอย่างไร มีกระบวนลำดับวิธีการคิดอย่างไรบ้าง

ในชีวิตประจำวันของเราจะที่บ้านหรือในที่ทำงาน ถ้ามีเรื่องหรือปัญหาให้คิดตัดสินใจอันเข้าข่ายเหมือนข้อสอบถูกผิดแล้วล่ะก็ เรามักไม่เสียเวลาในการคิดหรือตัดสินใจนาน เช่น จะทานก๋วยเตี๋ยวหรือเปล่า จะดื่มกาแฟไหม เอกสารการเงินฉบับนี้ถูกต้องใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

การตัดสินใจแบบเลือกว่าถูกหรือผิดจึงง่ายและสะดวก อาจจะง่ายไปจนบางครั้งเรารับเอาวิธีคิด “ถูก-ผิด” ไปใช้ในชีวิตแต่ละวันของเรามากจนเกินไป

ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนได้รับคำถามเกี่ยวกับการเมืองที่ว่าคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมือง เมื่อได้รับคำตอบบอกว่าไม่สนับสนุนคุณทักษิณ คำถามที่ตามมาติดๆ ก็กลายเป็นว่าอีกฝ่ายไม่เห็นจะดีตรงไหน เรียกได้ว่าถ้าไม่สนิทสนมและมีเวลาคุยกันอย่างเพียงพอ เราก็จะไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเขาคิดเห็นกันอย่างไรแน่

ครับ เรื่องราวส่วนใหญ่ในชีวิตเราไม่สามารถจัดวางเป็นสองด้าน แค่ถูกหรือผิด เท่านั้นครับ

หากยังจำกันได้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้สองเดือนหลังจากเกิดเหตุถล่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ว่า “You are either with us or against us.” แปลได้ความว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา ก็ต้องเป็นฝ่ายตรงข้าม (ผู้ก่อการร้าย)” ฟังดูเด็ดขาดดีใช่ไหมครับ แต่อืมม์ คิดดูดีๆ แล้ว ตรรกะแบบนี้ก็มีกับเขาด้วยแฮะ แถมเป็นที่ยอมรับกันอีกแน่ะ เพราะลองนึกถึงตัวเราเองก็ได้ว่าเราก็ใช่ว่าจะเห็นดีเห็นงามตามอเมริกาต่อปฏิบัติการในอิรักทั้งหมด ในทางกลับกัน เราแน่ใจว่าเราไม่ใช่ฝ่ายของผู้ก่อการร้ายแน่นอน

การคิดอะไรให้จำกัดเหลือเพียงสองด้าน “ถูก-ผิด” นั้น เรียกได้ว่าเป็นการตกอยู่ในบ่วงครับ และคนเรามักจะตกบ่วงนี้บ่อยเสียด้วย

เหตุที่วิธีคิดแบบนี้เป็นบ่วง เพราะมันมีสภาพที่บีบคั้นบังคับ ย้อนกลับไปยังตัวอย่างคำถามเรื่องการเมือง หรือคำกล่าวของบุชก็ได้ เหตุที่เป็นบ่วงเพราะเมื่อเราเชื่อว่าถูก ทุกเรื่องก็ถูกไปทั้งหมด เมื่อคิดว่าผิด ก็ถือว่าผิดไปทั้งสิ้น ไม่ได้เผื่อทางเดินให้กับความคิด ไม่ได้เผื่อทางเลือกอื่นๆ ให้กับชีวิต

กลับไปที่ตัวอย่างเรื่องคุณทักษิณ เราพบเห็นการคิดแบบถูก-ผิดมากมาย เราเห็นบางคนรักคุณทักษิณจนหมดหัวใจ ตอนเว้นวรรค มีคนร้องห่มร้องไห้กันหลายคน ซึ่งผมก็เชื่อว่ามีเช่นนั้นจริงๆ (ไม่นับพวกเล่นปาหี่) ส่วนบางคนก็เกลียดคุณทักษิณจนหมดหัวใจเหมือนกัน ตอนขึ้นเวทีปราศรัยก็โจมตีเสียราวกับว่าไม่มีดีอะไรเลย นี่แหละครับที่ว่าเหมาถูกเหมาผิดไปทั้งหมด

วิธีคิดถูก-ผิดนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตะวันตกเดิม ที่ทำให้เรามองความจริงแบบแยกส่วน เห็นแต่เพียงส่วนเสี้ยวของความจริง วิทยาศาสตร์ทำให้เราชี้ชัด ตัดสิน ในขณะที่วิทยาศาสตร์ใหม่ หรือทฤษฎีควอนตัม บอกว่าบางสิ่ง เช่น อนุภาคแสง มีคุณสมบัติเป็นสองสิ่งในเวลาเดียวกันได้ คือ เป็นทั้งสสารและพลังงาน ขึ้นอยู่กับผู้สังเกตและวิธีการสังเกต

ในทางพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างชาณุสโสณีสูตร ในพระไตรปิฎก พราหมณ์ชาณุสโสณี ถามพระพุทธเจ้าว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริงหรือ? พระพุทธเจ้าบอกว่า พูดเช่นนี้ก็เป็นส่วนสุดอย่างหนึ่ง พอพราหมณ์ถามอีกว่า ถ้าเช่นนั้นสิ่งต่างๆก็ไม่มีอยู่จริงน่ะสิ พระพุทธเจ้าตอบว่า พูดเช่นนี้ก็เป็นส่วนสุดอย่างหนึ่งเหมือนกัน แล้วสอนว่า “ตถาคตไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ... เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี” ท่านยังสอนอีกด้วยว่า “ส่วนสุดทั้งสอง ภิกษุไม่ควรเสพ” (เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา)

ด้วยว่าปรากฏการณ์หรือปัญหาต่างๆ เป็นกระแสของความต่อเนื่อง ของเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่มีอะไรที่มันมี มันเป็น โดยตัวของมันเอง ลอยๆ โดดๆ ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรอย่างอื่น ทางสายกลางจึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักและฝึกคิด ฝึกปฏิบัติไว้เสมอๆ

แต่ที่สำคัญทางสายกลางไม่ได้แปลว่าเฉลี่ย หรืออยู่มันตรงกลางๆ ระหว่างถูกกับผิด หรือขาวกับดำ หรือการไม่ตัดสินใจแล้วเพิกเฉย (ซึ่งก็คือตัดสินแล้วว่าจะเพิกเฉย) นะครับ

ดังนั้นถ้าย้อนไปหากรณีปัญหาทางการเมืองนั้น ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบก็ควรจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีความโกรธ-เกลียด ทางฝ่ายรัฐบาลรักษาการที่พูดเสมอว่ายึดมั่นในความถูกต้องก็ควรให้มีการทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ต้องมีความโกรธ-เกลียดเช่นกัน

ชักชวนให้เรามองอะไรให้มีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะมองและถามตนเองว่ามันเป็นเรื่องถูกหรือผิดเท่านั้น ก็อาจถามว่ามัน “ถูก - ผิด - ไม่ถูกไม่ผิด - ทั้งถูกทั้งผิด”

เวลาต้องตัดสินใจเลือกอะไร แล้วตัดสินใจไม่ได้สักที ทำนองรักพี่เสียดายน้อง ก็ทำให้ได้คิด (เลยอาจคิดได้) ว่าบางทีมันก็ไม่ได้เสียหายอะไรหรอก เลือกไปอย่างหนึ่งโลกมันก็เป็นไปแบบที่เราเลือกทางนั้น เลือกอีกอย่างโลกมันก็เป็นไปอีกอย่าง และวิถีแต่ละอย่างก็อาจไม่สามารถบอกได้ตรงๆว่าถูกหรือผิดทั้งหมด

ปลดปล่อยตัวของเราออกจากความบีบคั้นของบ่วง “ถูก-ผิด” แล้วชีวิตเราจะมีความสุขขึ้นแน่นอนครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2549


รถของผมซึ่งเคลื่อนที่ไปได้ด้วยความเร็วระดับเต่าวิ่งอยู่แล้ว แทบต้องลดเหลือระดับเต่าคลาน เพราะต้องขับผ่านผู้คนที่ออกมาร้องรำทำเพลงอยู่บนท้องถนน ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งหนุ่มทั้งสาว รวมไปถึงเด็กๆอีกด้วย ต่างออกมาโห่ร้องดีใจกับผลการเลือกตั้งที่ออกมาวันนี้ เปล่าครับ ผมไม่ได้หมายถึงผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาของบ้านเรา แต่เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นของอินเดียครับ ผมเขียนต้นฉบับนี้ขณะอยู่ที่พุทธคยา ดินแดนที่พระพุทธเจ้าประสูติ

ผมทำใจอยู่นานพอควรที่จะไม่ได้อยู่เลือกตั้งครั้งสำคัญ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง เพราะต้องเดินทางมาเป็นวิทยากรให้กับกับยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับปากไว้นานแล้ว

ประสบการณ์และข้อคิดดีๆ จากการตามรอยพระศาสดาผ่านสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง คือ ลุมพินี คยา สารนาถ และกุสินารา จะทยอยเล่าให้ฟังตามโอกาสอันควรนะครับ ส่วนวันนี้ขอขี่กระแสการเมือง ยื่นข้อเสนอกับเขาบ้าง

ผมขอเสนอให้ทุกท่าน “วางใจทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข” ครับ! (ส่วนใครจะให้ใครวางมือหรือวางอะไรก็ตามก็เป็นเรื่องของท่านนะครับ) เพราะจะว่าไปแล้วจากมุมมองหนึ่ง ทุกคนมีทางเลือกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่สองทางหลักๆ คือ มีส่วนร่วมแบบไม่มีทุกข์ และมีส่วนร่วมแบบมีทุกข์ หากท่านปรารถนาจะมีส่วนร่วมแบบไม่มีทุกข์ ก็แนะนำให้ท่าน “วางใจทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข” ครับ

คนเรามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบมีทุกข์ก็เพราะเราไป “อยาก” ให้มันเป็นอย่างที่เราอยากให้มันเป็น แต่เรื่องการเมืองหลายท่านว่าเหมือนลูกบอลกลมๆครับ ไม่รู้มันจะกลิ้งไปทางไหน หลายครั้งมันผลมันก็ออกมาไม่ค่อยตรงกับที่เรา “อยาก” ซะเท่าไหร่

แต่ถ้าเรามีส่วนร่วมทางการเมือง ตามที่เราเห็นว่า “ควร” ทำ โดยทำกิจต่างๆที่เราควรทำให้ดีที่สุด แล้วก็ปล่อยให้ที่เหลือเป็นเรื่องของธรรมจัดสรร เราก็จะมีความสุขได้โดยไม่ยาก ยิ่งถ้าเชื่อตามแนววิทยาศาสตร์ใหม่ว่า “ไม่มีเหตุบังเอิญในจักรวาล” เราก็เชื่อได้ว่าผลของมันย่อมออกมาตามที่ “ควร” ตามเหตุและปัจจัยแน่นอน ไม่มีทางไปมีผลเป็นเช่นอื่นเลย

ผมมีเพื่อนที่ทั้งไม่สนใจการเมืองโดยสิ้นเชิง เรียกว่าฟ้าจะถล่มดินจะทลายทางการเมืองฉันก็ไม่สนใจ กับเพื่อนทั้งที่หายใจเข้าหายใจออกเป็นการเมือง นั่งเช็คอินเตอร์เนทวันละหลายๆรอบ

ในบรรดาพวกที่สนใจการเมืองนั้นมีตัวอย่างที่น่าประทับใจหลายคนครับ เพื่อนสาวคนหนึ่งเธอสนใจการเมืองมาก เป็นนักข่าวเก่า แต่ช่วงที่ผ่านมาเธอไม่ค่อยได้ไปร่วมประชุมหรือชุมนุมอะไรกับเขาหรอก เธอว่าเธอต้องดูแลแม่ที่ไม่ค่อยสบายและมีกิจสำคัญหลายอย่างที่ต้องดูแล ผมก็เชื่อว่าคงจะจริง ไม่เช่นนั้นคอการเมืองอย่างเธอมีหรือจะพลาด ผมแอบดีใจในการวางใจของเธอ เธอดูมีความสุขดี ผมรู้เธออยากมีส่วนร่วมมากกว่านี้ และร่วมภาวนาให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ความเป็นจริงทำให้เธอทำได้เท่าที่ได้ทำแบบอยู่เบื้องหลังไปก่อน

ส่วนเพื่อนอีกคนไปร่วมชุมนุมอยู่ทุกบ่อย เรียกว่าเกือบจะทุกคืนก็ว่าได้ รายนี้ก็มีความสุขดี ไม่ว่าสถานการณ์จะขึ้นหรือลง (เพราะบางทีเซียนมวยอ่านดูก็ว่ามันขึ้นลง ชิงความได้เปรียบกันรายวันจริงๆ) เขาบอกว่า “ชนะแล้ว ชนะทุกวันเลย” เขาเชื่อว่าการไปร่วมกิจกรรมของเขาทำให้สังคมดีขึ้น โดยตัวของมันเอง

ผมว่าทั้งสองเป็นตัวอย่างของคนที่ “วางใจ” ทางการเมืองได้ดีมากทีเดียว (ซึ่งอาจแปลได้ว่าน่าจะวางใจกับชีวิตได้ดีด้วยก็เป็นได้) แต่เรื่องอย่างนี้ไม่ได้มามือเปล่าครับ เชื่อว่ากว่าจะทำได้ก็ต้องทำการบ้านกันอยู่นานพอสมควร

ทั้งสองคนเป็นเหตุให้ผมได้คิดว่า เราควรมีทีท่ากับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเราอย่างไร ผมจึงใจสบายและสบายใจกับการเดินทาง แถมยังได้บวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำบุญให้ประเทศอีกด้วย

จาริกอินเดียรอบนี้ยังได้ไปเยี่ยมคารวะราชฆาต สถานที่เผาศพบิดาของประเทศอินเดีย คือ ท่านมหาตมะคานธี ผู้เป็นเสาหลักทางความคิดด้านอหิงสธรรม และการดื้อแพ่ง (Civil Disobedience) ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นำมาเรียกใหม่อย่างน่าฟังว่า “อารยะขัดขืน” อันเป็นกระบวนการที่น่าจะทำให้ความสุขมวลรวมประชาชาติของคนไทยสูงขึ้น เนื่องจากเอาไปยึดโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรม

คำพูดของคานธีที่คนมักกล่าวขานถึงคือ “โลกมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับความจำเป็นของทุกๆคน แต่ไม่พอสำหรับของความโลภของคนๆเดียว”

แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงคือการที่คานธีให้ความสำคัญกับกระบวนการเป็นอย่างมาก คานธีบอกว่ากระบวนการนั้นสำคัญพอๆกับเป้าหมาย โดยนัยหนึ่งสำคัญกว่าด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ เราจะไม่สามารถคุมเป้าหมายได้เลยหากเราไม่สามารถคุมกระบวนการได้

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือ อย่าไปสร้างเงื่อนไขความสุขของเรากับผล ที่ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ให้ทำทุกสิ่งที่เราคิดว่าควร แล้วก็พอใจกับมัน

ส่วนสิ่งที่คิดว่าควรนั้นเป็นอย่างไร ก็มีผู้รู้หลายท่านมานำเสนอไว้มากมายอยู่แล้ว เช่น ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ที่สอนว่าหลักนั้นอยู่ที่การใช้ สัจจะ สันติ อหิงสา ปัญญา และมัชฌิมาปฏิปทา เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งไม่ได้ใช้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดผลดังที่เราคาดหรือไม่ หรือเกิดเมื่อไหร่ หากแต่เราสามารถบอกได้ว่าเราจะขับเคลื่อนด้วยกระบวนการอย่างไร

นอกจากนี้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องเร่งรีบ รวบรัด ตัดกระบวนการไปหาคำตอบเร็วเกินไปด้วย ถ้าเราเข้าใจเรื่องทฤษฎีไร้ระเบียบก็จะทราบว่าก่อนที่ระบบหนึ่งๆจะเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่จะต้องใช้พลังจำนวนมาก อาจต้องมีการสั่นไหวของระบบอย่างเพียงพอ เช่นการที่แม่จะคลอดลูกนั้น ฮอร์โมน สารเคมี อัตราการหายใจ เมตาบอลิซึ่มต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงจากค่าปกติอย่างมาก ทั้งแม่และลูกต้องเสี่ยงชีวิต กว่าจะนำมาซึ่งความมหัศจรรย์ของชีวิตใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็อาจเป็นเช่นนี้ด้วย

ดังนั้น ขอให้เราทุกคนวางใจทางการเมืองอย่างไม่เงื่อนไข และอย่าลืมนะครับว่า เราทุกคนมีศักยภาพที่จะมีความสุขกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ และได้ทุกวันเสียด้วยสิ! :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 มีนาคม 2549


นี่เป็นอีกหนึ่งในหลายๆครั้งที่ผมไม่แน่ใจว่าควรเรียกชื่อคอลัมน์นี้ว่า Happiness@Home หรือ Happiness@Work ดี เพราะสิ่งที่ทำให้ “อาจจะ” ทำให้เราไม่แฮปปี้นั้นมันแผ่กระจายไปทั้งที่บ้านและที่ทำงานครับ

ผลสำรวจภาคสนามของเอแบคโพลล์ เรื่อง “ผลกระทบของวิกฤติการณ์การเมืองปัจจุบันต่อความขัดแย้งของคนในครอบครัว” พบว่า เกือบทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่าง คือ ร้อยละ ๙๕.๖ ระบุเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง ๓๐ วันที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยร้อยละ ๕๗.๖ หันมาติดตามข่าวสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ที่สำคัญทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในบ้านสูงถึงร้อยละ ๒๗.๗ ในขณะที่ผลวิจัยอีกชิ้นจากเอแบคโพลล์บอกว่าร้อยละ ๔๔.๙ ของกลุ่มตัวอย่างรู้สึกเครียดกับสถานการณ์การเมือง

ส่วนผลสำรวจจากโพลล์ของผมเอง (ที่ท่านไม่ควรนำไปอ้างอิงหรือตีความทางสถิติใดๆทั้งสิ้น) ที่ได้ทำมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการสังเกตแบบมีและไม่มีส่วนร่วม และการสุ่มสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากคนรู้จัก พบว่าเกือบทุกคนให้ความสนใจกับข่าวการบ้านการเมืองอย่างมาก และเกือบทั้งหมดมีเหตุให้ต้องปะทะสังสรรค์ทางความคิดระหว่างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ถูกสังเกตหรือสัมภาษณ์

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม ระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ญาติๆที่อยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ แต่พอเห็นไม่ตรงกัน ก็พูดจากันไม่รู้เรื่อง หรือพาลไม่พูดกันเลย เพื่อนผมบางคนก็ล้มป่วยไม่สบาย สันนิษฐานว่าเกิดจากความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดในที่ทำงาน ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนร่วมงานที่พลอยรู้สึกไม่ดีต่อกัน วันนี้เองก็ได้ยินว่าหมอที่โรงพยาบาลที่สนิทกันมากบอกกับอาจารย์หมอด้วยกันว่า “ขอเข้าห้องผ่าตัดก่อน เดี๋ยวจะออกมาเถียงต่อ”

ผู้ที่ต้องเดินทางสัญจรไปมาด้วยรถแท็กซี่ก็ลำบากใจ บรรยากาศในรถก็ดูอึมครึมไปหมด เพราะทั้งคนขับและผู้โดยสารต่างก็อึดอัด ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนนราชดำเนิน ถนนอื่นๆ หรือแม้แต่ information superhighway ก็ใช่ย่อย หากไปตามเว็บไซต์ต่างๆก็จะพบเห็นผู้คนทำร้ายกันด้วยวาจาผ่านกระทู้แรงๆอยู่มาก

แล้วเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานทางการเมืองแบบนี้จะมี Happiness@Home/Work ได้อย่างไร?

แท้ที่จริงตอนนี้บ้านเรารุ่มรวยทางปัญญา มีนักคิดนักเขียนหลายท่านที่น่าสนใจทั้งที่เป็นเพศบรรพชิตและฆราวาส ร่วมกันนำเสนอความคิดที่จะมีส่วนร่วมใน การสร้างสรรค์สังคมโดยใช้หลักคิดทางศาสนา (Socially Engaged Buddhism หรือ Socially Engaged Spirituality) ไม่ว่าจะเป็นหลวงพี่ไพศาล วิสาโล หลวงพี่ ว.วชิรเมธี อาจารย์สุลักษณ์ สิวลักษณ์ หรืองานแปลของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เป็นต้น

ต้นสัปดาห์หลวงพี่ ว.วชิรเมธี ได้นำเสนอ “คู่มือการเผชิญความขัดแย้ง (อารยวิวาทะ) อย่างสันติ” โดยเสนอว่าการดำเนินการต่างๆ ควรใช้ “สันติธรรม สันติวิธี สันติวาจา และสันติสุข” และหลักธรรมที่ควรเน้นคือ สันติ ขันติ เมตตา สุทธิ อหิงสา ปัญญา ปิยวาจา มัชฌิมาปฏิปทา และสติ

ส่วนหลวงพี่ไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา ก็เผยแพร่บทความ “อยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร ไม่ให้ทุกข์: วิถีแบบพุทธ” (ทั้งสองบทความหาอ่านได้จาก www.SpiritualHub.net) ซึ่งท่านอธิบายวิธีผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่นำไปปฏิบัติได้จริงและง่ายๆ ๖ วิธี คือ

๑) เปิดใจกว้าง ไม่มองผู้ที่เห็นต่างจากเราเป็นศัตรู คนที่เขาเห็นไม่เหมือนกับเราไม่ใช่ว่าต้องเป็นคนไม่ดี สิ่งที่เขาเห็นเหมือนกับเราอาจมีมากกว่าสิ่งที่เขาเห็นต่างจากเราก็ได้ ผมเองนึกถึงคติธรรมของอาจารย์พุทธทาสที่ขึ้นว่า “จงทำกับเพื่อนมนุษย์ โดยคิดว่า ...” (เช่น เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา ... เขาก็ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสเหมือนเรา ย่อมพลั้งเผลอเป็น เป็นต้น) ขึ้นมาทันที

๒) มองให้ไกล แล้วช่องว่างจะลดลง อย่าได้มองเห็นความขัดแย้งในเรื่องที่อยู่เบื้องหน้าว่าเป็นทั้งหมดของชีวิต ยิ่งบางคนเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกับเรายังต้องอยู่ร่วมกับคนนั้นอีกนาน ให้คิดถึงความสัมพันธ์อันมีค่าของเราเอาไว้

๓) เอาคู่ตรงข้ามออกจากใจบ้าง ชีวิตเรายังมีเรื่องสำคัญอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การงาน สุขภาพและอื่นๆ อย่าปล่อยให้เรื่องราว ข่าวสารการเมือง ความบาดหมางบางเรื่อง มาครอบครองพื้นที่สมอง พื้นที่จิตใจของเราจนไม่เป็นอันจะทำอะไร

๔) แผ่เมตตาให้คู่ตรงข้ามบ้าง คนทั่วไปมักลืมว่าเวลาเราโกรธเกลียดใคร คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคนแรกคือเราเอง เพราะความรู้สึกเช่นนั้นจะเป็นผลลบต่อสุขภาพของเราในทุกมิติ วิธีที่ดีและตรงที่สุดคือใช้คุณธรรมที่เป็นคู่ตรงข้ามของโทสะ คือการมีจิตเมตตาให้กับทุกๆคน และที่ช่วยเราได้มากคือการฝึกเช่นนั้นกับคนที่เราไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย

๕) ผ่อนคลายด้วยลมหายใจ ลองฝึกไม่เป็นส่วนเดียวกับความรู้สึกลบๆ เครียดจัด หรืออึดอัด ด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเอง วิธีที่ง่ายก็คือน้อมใจมาอยู่กับลมหายใจ นับทุกครั้งที่หายใจออก นับเริ่มจากหนึ่งถึงสิบ โดยจะทำกี่รอบก็ได้ หรือจะร้องเพลงแห่งสติของหมู่บ้านพลัมโดยหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้วก็ได้

๖) พักผ่อนให้เต็มที่ สุขภาพกายเป็นพื้นฐานเกื้อหนุนสุขภาพใจ จิตวิญญาณ และสังคมที่ดีครับ

สิ่งสำคัญในข้อเสนอของท่านเหล่านี้ คือ การกระทำการที่เหมาะสม จากการมีโลกทัศน์เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของเราและโลก อันมีฐานจากการเจริญสติ

อย่าลืมนะครับว่า การจะมีประสบการณ์กับการว่างเว้นของทุกข์จากการเมือง (ลงไปบ้าง แม้บางขณะก็ยังดี) ไม่ได้เกิดจากการรู้จำ ท่องได้ จำได้ แต่เกิดจากการได้ลงมือปฏิบัติโดยตรง ลองทำกันดูนะครับ

หรือจะเอาไปเผื่อแผ่คนที่เขาไม่เห็นด้วยกับเราก็ยังได้ :-)

มหกรรมความสุข


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 4 มีนาคม 2549


งานหลักของกลุ่มจิตวิวัฒน์คือ การร่วมกันทำการบ้าน ร่วมกันสร้างคำตอบต่อโจทย์วิกฤตการณ์ที่ซับซ้อนของสังคมไทยและสังคมโลก ซึ่งเชื่อว่าต้องผ่านการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ ไปสู่การมีจิตสำนึกใหม่ ไม่เห็นตัวเราแยกส่วนจากสังคม จากโลก และจากธรรมชาติ จึงจะนำพาสังคมที่ “อยู่ร้อน นอนทุกข์” ไปสู่สังคมที่ “อยู่เย็น เป็นสุข” ได้

สมาชิกจิตวิวัฒน์หลายท่านไม่เพียงแต่เป็นนักวิชาการ นักคิด หากยังเป็นนักปฏิบัติ หลายท่านได้นำเนื้อหาแนวคิดสิ่งที่แลกเปลี่ยนนำเสนอกันในวงจิตวิวัฒน์ไปปฏิบัติจริงตามความสนใจและความรับผิดชอบของตน ไม่ว่าจะในบริบททางการแพทย์ ศาสนา วิทยาศาสตร์ หรือการศึกษา

แนวคิดและเรื่องที่นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในจิตวิวัฒน์นั้นก็มักเป็น ปัญญาปฏิบัติ (practical wisdom) ผู้ที่มาร่วมแลกเปลี่ยนบางท่านสั่งสมประสบการณ์ยาวนาน หรือได้มีโอกาสรับใช้ใกล้ชิด เรียนรู้โดยตรงจากผู้ที่เป็นปรมาจารย์สำคัญในศาสตร์นั้นๆ ดังเช่น การเจริญสติตามแนวหมู่บ้านพลัม สุนทรียภาพในการจัดดอกไม้ ดนตรีภาวนา สุนทรียสนทนา และอีกหลายครั้งเช่นกันที่เป็นการสนทนาหารือเพื่อสร้างความชัดเจนก่อนนำไปสู่การขับเคลื่อนงาน ดังเช่นเรื่องการตายอย่างสันติ

และด้วยจิตวิวัฒน์เป็นส่วนสำคัญของแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ อันมีภารกิจในการส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ จิตวิวัฒน์จึงเป็นเสมือนองค์กรผลิตความคิด (think tank) ให้แก่แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ หลายโครงการได้กำเนิดจากการตกผลึกความคิดของวงจิตวิวัฒน์และมีผลิตผลเป็นรูปธรรม ไม่ว่าจะโครงการต่างๆ ในงานจิตอาสา แผนที่คนดี จิตวิญญาณการแพทย์ สื่อสร้างสรรค์ และการตายอย่างสันติ อีกนัยหนึ่งอาจกล่าวได้ว่า แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพเป็นภาคปฏิบัติการของจิตวิวัฒน์นั่นเอง

เมื่อครั้งหนึ่งท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ได้นำเสนอเรื่อง ศิลปะแห่งความสุข (The Art of Happiness) จากหนังสือชื่อเดียวกันนี้ของท่านดาไลลามะ โดยกล่าวถึงแผนที่ความสุข หรือ การสร้างสุขภาวะในทุกมิติ ทั้งทางกาย จิต สังคม และปัญญา/จิตวิญญาณ เรื่องราวและสาระคุณค่าในครั้งนั้นได้เป็นต้นธารนำไปสู่แนวคิดของกิจกรรมใหญ่ กิจกรรมที่ภาคีเครือข่ายงานพัฒนาจิตทุกฝ่ายได้ร่วมแรงร่วมใจ ช่วยกันนำเสนอแนวคิดจิตวิวัฒน์ออกสู่รูปธรรม และเปิดโอกาสเชื้อเชิญให้ทุกคนเข้าชิมลอง มีประสบการณ์ตรงกับ “ความสุขที่แท้

กลุ่มจิตวิวัฒน์และภาคีแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพได้ร่วมกันจัดงาน “มหกรรมความสุข” (Truly Happy Fest) โดยนำเสนอกิจกรรม การอบรม เวทีวิชาการหลากหลาย ที่ล้วนเป็นกิจกรรมในแนวจิตวิวัฒน์ คือ อยู่บนพื้นฐานของการเจริญสติ และมีเป้าหมายคือการรู้จักรู้ใจตัวเอง เห็นความสำคัญ ความเชื่อมโยงของชีวิตกับธรรมชาติ

หัวใจของงานมหกรรมความสุขว่าด้วยสุขภาวะองค์รวม มีสุขภาวะทางจิตวิญญาณซึ่งมีลักษณะเป็นองค์รวมบูรณาการทุกมิติเข้าด้วยกันเป็นแกน ตามแนวคิดแผนที่ความสุข งานจึงประกอบไปด้วยโซนต่างๆ ได้แก่ กาย (Happy Body) ใจ (Happy Mind) สังคม (Happy Society) และ จิตวิญญาณ/ปัญญา (Happy Soul)

สาระหัวข้อเรื่องหลายเรื่องที่พูดคุยกันในวงจิตวิวัฒน์ ได้ปรากฏเป็นกิจกรรมในงานมหกรรมความสุข ไม่ว่าจะเป็นจิตอาสา (ที่เป็นหัวเรื่องการประชุมเดือนล่าสุด) ศิลปะและสุนทรียภาพ (เช่น ทำสมุดบันทึกทำมือ เวิร์กชอปละครบำบัด และเสียงหัวเราะกับความสุข) การเจริญสติด้วยการบริหารกายบริหารจิต (เช่น โยคะ ไทเก็ก) หรือการค้นหาความหมายของชีวิตผ่านมรณานุสติในกิจกรรมเขียนพินัยกรรม “ต้นไม้แห่งชีวิต” และเวิร์กชอป “ทดลองตาย”

ในงานมีนิทรรศการ “โยงใยที่ซ่อนเร้น Hidden-Connections” (จากแนวคิดหนังสือเล่มดังของ ฟริตจอฟ คาปร้า และทฤษฎี Six Degrees of Separation ที่คุณหมอวิธานเอ่ยถึงในบทความนี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว) จัดแสดงโยงใยของภาพถ่าย “ความสุข” จากกล้องใช้ครั้งเดียว ๑๐๐ ตัวที่ถูกส่งออกไปทั่วโลก แล้วส่งต่อๆกันไป พร้อมนิทรรศการตู้หนังสือคนดัง อาทิ ท่าน ว.วชิรเมธี อาจารย์ ส. ศิวรักษ์ ศ.สุมน อมรวิวัฒน์

สมาชิกจิตวิวัฒน์หลายท่านก็ได้เป็นวิทยากรร่วมพูดคุยเสวนากันในงานนี้ ไม่ว่าจะเป็นปาฐกถาเรื่อง “อนาคตไม่ได้อยู่บนดาวอังคาร” โดย ดร.อาจอง ชุมสาย ณ อยุธยา การเสวนาในหัวข้อ “จักรวาลในเมล็ดทราย ถ้อยอธิบายแห่งความสุขอันศักดิ์สิทธิ์” โดย ศ.นพ.ประสาน ต่างใจ การเสวนาเรื่อง “ชีวิต ความตาย และความสุข” ที่มี นพ.โกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ร่วมเป็นวิทยากร และการสนทนาเรื่อง “สุขแล้วสวย” โดย นพ.วิธาน ฐานะวุฑฒ์

พร้อมรับแจก หนังสือ “แผนที่ความสุข” (จำนวนจำกัด) ที่เป็นฐานคิดในการจัดงาน รวบรวมบทความ บทสัมภาษณ์ของสมาชิกจิตวิวัฒน์ เช่น พระไพศาล วิสาโล ศ.นพ.ประเวศ วะสี ศ.นพ.อุดมศิลป์ ศรีแสงนาม และแบบทดสอบความสุขในสี่มิติ ให้ผู้อ่านร่วมเดินทางและตอบคำถาม คุณมีความสุข? คุณต้องการความสุข? ความสุขคืออะไร? และ ความสุขอยู่ที่ไหน?

เชิญร่วมกันมีประสบการณ์ตรงกับความสุขที่แท้จริง ที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองซื้อหา ที่เข้าถึงได้ทุกคน เกิดขึ้นได้เดี๋ยวนี้ และทุกขณะ ในงานมหกรรมความสุข Truly Happy Fest ได้ในวันเสาร์ที่ ๔ และอาทิตย์ที่ ๕ มีนาคมนี้ ที่อุทยานเบญจสิริ ข้างเอ็มโพเรียม ถ.สุขุมวิท (สนใจข้อมูลเพิ่มเติมค้นหาได้จาก www.SpiritualHub.net)

เซ็กซ์ รัก และความสัมพันธ์


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2549


เมื่อไม่นานมานี้ วงสนทนาสองวงที่ผมไปร่วมด้วย หัวเรื่องการพูดคุยเลื่อนไหลไปถึงเรื่องที่กำลังเป็นกระแสเทศกาลอยู่ในตอนนี้

กลุ่มรู้สึกว่าโลกเราทุกวันนี้มีพื้นที่ให้พูดถึงเรื่องความรักในมุมที่จำกัด ยิ่งใกล้เทศกาลแห่งความรักแล้ว สิ่งที่ยกมาพูดถึงกันผ่านสื่อต่างๆ มักมีแต่แง่มุมของเซ็กซ์ ความรักของเราถูกลดทอนเหลือแค่มิติเพียงแค่เซ็กซ์

ในขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ สังคมปัจจุบันก็ให้คุณค่าและความหมายอันจำกัดอย่างยิ่ง คือ เห็นหรือเข้าใจว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องของการตอบสนอง ให้ความสุขทางร่างกายเป็นหลัก

เราเข้าใจและให้ความสำคัญกับมิติทางด้านทางจิตใจ เรื่องของอารมณ์ ความรัก และมิติทางจิตวิญญาณ เรื่องของการเห็นความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่งน้อยเกินไปหรือเปล่า?

อาจเป็นเพราะแนวคิดปัจจุบัน แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่า ให้ความสำคัญกับเรื่องกายภาพเป็นหลัก เน้นโลกของวัตถุที่มองเห็นได้ด้วยตา ที่หยิบจับและวัดได้ด้วยเครื่องมือภายนอก ชุดความคิดนี้มีความเข้าใจในเรื่องของจิตใจ และจิตวิญญาณน้อย หรือซ้ำร้ายอาจปฏิเสธการมีอยู่ของมิติด้านนี้เลย ทั้งๆที่ทุกคนก็เคยมีความรักมาก่อน และรู้ว่าความรักไม่ได้มีแต่มิติทางกายภาพ ไม่ได้เป็นเรื่องของปฏิกิริยาเคมี การไหลเวียนโลหิตในร่างกายอย่างรวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว

แต่ในโลกของวิทยาศาสตร์ใหม่ โลกที่เราทุกคนสัมผัสรับรู้อยู่ หาใช่โลกที่เป็นวัตถุที่เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อการสังเกตของเราไม่ โลกที่แท้จริงของเรากลับเป็นโลกของพลังงาน โลกของคลื่น โลกของความสัมพันธ์ที่ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเดี่ยวๆ แต่เป็นผลของโยงใยของเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ต่างๆ

ในแง่นี้ เซ็กซ์ในวิทยาศาสตร์ใหม่ก็สามารถเป็นเรื่องที่งดงามได้ เพราะเป็นเรื่องของการดูแลความสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องของการตอบสนองร่างกายเท่านั้น เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันของสมองทั้งสามชั้น คือ สมองชั้นในที่ดูแลเรื่องการอยู่รอด เจตจำนง สมองชั้นกลางที่เป็นเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และสมองชั้นนอกที่เป็นส่วนที่พัฒนาปัญญาและจิตวิญญาณ

เป็นไปได้ไหมว่าที่บางคนใช้เงินตราแลกซื้อเซ็กซ์ เพราะรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เห็นถึงความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์กับทุกๆคนและทุกๆสิ่งรอบตัว

เป็นไปได้ไหมว่าเพราะสังคมเน้นแต่มิติทางกาย สื่อจึงมักที่จะคอยจ้องนำเสนอข่าวสถิติว่าวาเลนไทน์ปีนี้มีอัตราการใช้โรงแรมสูงขึ้นเท่าไหร่ มีเด็กเยาวชนถูกจับกี่มากน้อย (ทั้งๆที่ดูเหมือนทุกฝ่ายก็จะเชื่อว่าหัวข้อการนำเสนอแบบนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเสียเท่าไหร่ รังแต่จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาและอยากลองมากขึ้น)

หรืออาจจะเป็นเพราะสังคมของเรามีรากฐานของพุทธนิกายเถรวาท ที่ค่อนข้างมีความเป็นอนุรักษ์นิยม เมื่อเปรียบเทียบกับความเชื่อในนิกายอื่นๆของพุทธศาสนา ทำให้เรามองเซ็กซ์เป็นเรื่องกิเลสตัณหาล้วนๆ เป็นเรื่องที่ผิด เลวร้าย และเป็นศัตรูของการหลุดพ้น เป็นเรื่องที่ต้องกดทับเอาไว้ เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติของคนที่สนใจมิติจิตวิญญาณหรือมิติด้านใน

เป็นไปได้ไหมว่าเพราะเรามองเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องที่ผิด ที่สกปรก เราจึงต้องห้าม ต้องปรามเด็กและเยาวชน ซึ่งดูเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่จะลืมตอนเราเป็นเด็กกว่านี้ไปว่าสิ่งที่เยาวชนอยากทำก็คือการลองทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม คือ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ว่าอย่างนั้นเถอะ

ในขณะที่พุทธบางนิกาย พิจารณาว่าเซ็กซ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การมีเซ็กซ์ถือเป็นหนทางไปสู่การเติบโตทางจิตวิญญาณได้ เช่น ตันตระของทางทิเบต

ดร. เรจจี้ เรย์ ธรรมาจารย์ของทางวัชรยาน ที่สอนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ประเทศที่นับถือพุทธบางประเทศในทวีปเอเชียมีทัศนะด้านลบต่อเซ็กซ์ เพราะได้รับอิทธิพลเรื่องบาปกำเนิดมาจากยุคตะวันตกล่าอาณานิคม

กัลยาณมิตรที่ผมนับถือผู้ฝึกฝนตันตระมาเป็นเวลานานเพิ่งแลกเปลี่ยนให้ฟังว่า เซ็กซ์นั้นเป็นเรื่องที่สวยงามอย่างยิ่ง เป็นประตูไปสู่การเรียนรู้และการปฏิบัติภาวนาได้ (แต่ก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าแนวทางนี้ใช่ว่าจะเหมาะสำหรับทุกคนนะครับ!) ในขณะที่กัลยาณมิตรอีกคนกล่าวว่า “Sex itself is nothing evil.”

จะดีกว่าไหมถ้าเราทุกๆคน รวมถึงเด็กและเยาวชน เห็นความสุขทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ มากไปกว่าความสุขทางกาย เห็นว่าเซ็กซ์นั้นงดงามศักดิ์สิทธิ์ เห็นว่าพื้นฐานสำคัญของเซ็กซ์คือความรัก และมีศักยภาพในการพาให้เราเติบโตทางจิตวิญญาณ วิธีนี้อาจได้ผลมากกว่าการบังคับ ห้ามปราม หรือติดตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียนเสียอีก!

หากมีความสุขทางใจและทางจิตวิญญาณ เรามักจะพบว่านั่นก็เพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องมีเซ็กซ์ เพราะ ความรักคือพลังของธรรมชาติ

สุขสันต์วันวาเลนไทน์นะครับ! :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 29 มกราคม 2549


นึกย้อนกลับไปอาม่าเป็นบุคคลพิเศษที่สุดคนหนึ่ง สำหรับผมตอนเด็กๆ อาม่ามีขนมอร่อยๆเก็บเอาไว้ให้ผมเสมอๆ แถมที่สำคัญเป็นคนที่มีเวลามากที่สุดในโลกให้กับผม เวลาผมเล่าอะไรอาม่าก็ตั้งหน้าตั้งตารับฟังอย่างสนใจ อย่างไม่มีเงื่อนไข

สังคมไทยและโลกเปลี่ยนไปมาก แต่ก่อนเราอยู่กันเป็นครอบครัวขยาย ขนาดใหญ่ สมัยผมเรียนประถมที่บ้านอยู่ติดกันหลายหลัง มีคนที่อาศัยอยู่ด้วยกันแบบเต็มเวลาและบางเวลาสิบกว่าคน ตอนนี้เหลือน้อยลงมาก อยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

โครงเรื่องของหนังฝรั่งจำนวนมากได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงเทศกาลต่างๆ อาทิ คริสต์มาส วันขอบคุณพระเจ้าหรือเทศกาลอีสเตอร์ มักสะท้อนภาพของความอึดอัด ความลำบากใจของลูกหลานที่แยกไปเป็นครอบครัวเดี่ยว และปัญหานานาประการที่เกิดจากการกลับไปเยี่ยมครอบครัว มักจะเป็นทุกข์มาก

ชวนให้นึกว่าตรุษจีนในเมืองไทยก็เหมือนกัน บรรดาลูกหลานกลับมาเจอกัน แล้วมีปัญหาเหมือนในหนังฝรั่งไหม?

อีกคำถามคือ เดี๋ยวนี้สถานการณ์เหมือนแต่ก่อน ดีขึ้น หรือว่าแย่ลง? โดยส่วนตัวคิดว่าว่ามีทุกแบบ แต่สถานการณ์แย่ลงจะมากกว่า เพราะดูเหมือนคนรุ่นใหม่ “ฟัง” กันเป็นน้อยลง จะด้วยสภาพการณ์ที่เร่งรัดให้เราเร่งรีบทำงานให้ทันในเวลาจำกัด จนเหลือเวลาให้แก่กันน้อยลง หรือเป็นเพราะการเรียนในระบบสมัยใหม่แบบตะวันตกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ยึดถือและให้คุณค่ากับรายได้ก็ตาม

การทำงานหาเงิน สะสมเงินไว้เยอะแยะ เพื่อเราจะได้ให้ “อั่งเปา” ซองหนาๆ เสมือนหนึ่งการ redemption หรือไถ่บาป ชดเชยที่เราห่างเหินจากครอบครัวไป แม้เงินนั้นเราหาเพิ่มได้ สำหรับบางคนกล่าวได้ว่า “ไม่จำกัด” ทว่าสิ่งที่ทุกคนต่างมีจำกัดเช่นเดียวกัน คือ “เวลา” ถามตัวเองดูหน่อยดีไหม เราให้เวลากับอะไร?

จริงหรือเปล่าที่เราให้เวลากับคนที่เรารักมากที่สุด? สิ่งสำคัญและบุคคลสำคัญในชีวิตเรา เขาได้รับเวลาจากเราอย่างพอเพียงแล้วหรือยัง?

คำถามอาจจะไม่ได้อยู่ที่ให้หรือใช้เวลา “กับใคร” หรือ “เท่าไหร่” ... เท่ากับถามว่าเราใช้เวลาเหล่านั้น “อย่างไร” ต่างหาก

การ “ฟัง” และ “เวลา” มาเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันได้อย่างไร ... ผมเองเคยได้รับการอบรมและมีประสบการณ์เล็กน้อยในการให้คำปรึกษาในกระบวนการจิตบำบัด (Psychotherapy) ทั้งในฐานะผู้ให้และผู้รับ หัวใจของกระบวนการ คือ การยอมรับและรับฟังคนที่มาปรึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข ในสภาพการณ์ที่มีเวลาจำกัด การรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไขนี้ย่อมเป็นไปยากมาก

แต่ก่อนในสังคมบ้านเราก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่มาก แต่ปัจจุบันเห็นมีกันน้อยลงอย่างน่าใจหาย เรายอมรับ และรับ “ฟังกันเป็น” น้อยลงทุกที ... หรือเปล่า?

ตรุษจีนปีนี้มาช่วยกันทำให้เป็นตรุษจีนที่ได้พบกัน แล้วให้ได้ “อยู่ตรงนั้นร่วมกัน” จริงๆ เฉกเช่นเดียวกันกับชื่อของท่านทะไลลามะ อันมีความหมายว่า “ปัจจุบันขณะ” ไม่ใช่เป็นตรุษจีนที่เพียงกลับไปหาครอบครัวตามธรรมเนียมแค่ให้ได้ชื่อว่าพบกันพร้อมหน้าแล้ว

อาจใช้แนวคิดของ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ในเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังเพื่อฟัง ฟังโดยไม่ต้องหาข้อสรุป ฟัง “ทุกเม็ด” ฟังทั้งข้อความ น้ำเสียง สีหน้า แววตา อารมณ์ ความรู้สึกของคนที่เราอยู่ด้วย การฟังแบบนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะให้แก่คนที่เรารักและครอบครัวของเรา เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ได้ยินด้วยหู แต่ด้วยหัวใจของเรา

ภาพสะท้อนจากหนังฮอลลีวู้ดทำให้เราเห็นว่าฝรั่งเป็นทุกข์มาก เพราะใช้เวลาช่วงวันหยุดไม่เป็น ทั้งๆที่เป็น ฮอลิเดย์ ซึ่งมีรากศัพท์ มาจากคำว่า holy + day หมายถึงเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการ “ฟัง” กันและกัน

ตรุษจีนเป็นโอกาสทอง คนจีนเองก็ชอบอะไรทองๆอยู่แล้ว เป็นโอกาสที่ญาติผู้ใหญ่ได้พบเจอลูกๆหลานๆ และในทางกลับกัน สำหรับลูกหลานเองก็เป็นโอกาสที่จะได้มีพบเจอญาติผู้ใหญ่

Season’s greeting, Season’s healing! ใช้โอกาสทองนี้ในการเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ระหว่างสมาชิกต่างรุ่นต่างวัยในครอบครัว ... ใครจะไปรู้ตรุษจีนปีนี้ บางครอบครัวอาจได้เยียวยารักษาความสัมพันธ์ที่ห่างเหินให้กระชับแนบแน่นขึ้น หรือเราอาจได้พ่อ-แม่หรือลูกของเรากลับคืนมาก็ได้

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ “ฟังกันหน่อย” ดีมั๊ย ... ครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์ ฉบับประจำวันที่ 15 มกราคม 2549


ในขณะที่หลายคนไม่ได้คาดหวังจะมีฝน หรือลมหนาวอีกซักเท่าไหร่ ฟ้าก็สั่งฝนตกลงมาพาเราแปลกใจได้ ตามด้วยลมหนาวในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ เมืองที่หลายคนเชื่อกันว่าปีไหนไม่หนาวเลยก็ไม่แปลก ลมหนาวที่มาหลังคริสต์มาสและปีใหม่ดูเหมือนจะขาดมนต์เสน่ห์ของเทศกาลแห่งความรื่นเริงไป ลมหนาวในเดือนมกราคมเลยอาจทำให้คนรู้สึกเหงาๆ เศร้าๆ อยู่บ้าง

ตอนที่ผมไปอยู่ต่างประเทศใหม่ๆ รู้สึกถูก “ความเหงา” จู่โจมระยะประชิด อยู่อพาร์ทเมนต์กับชาวต่างชาติทั้งหมด บางวันแทบไม่ได้พูดอะไร ช่วงยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการอยู่คนเดียวก็หนีไปหลบอยู่กับ "ความยุ่ง" หางานทำเยอะๆ จะได้ไม่มีเวลาเหงา บางช่วงก็เผลอตัวเผลอใจไปนัวเนียกับความรู้สึก เข้าไปเสพอารมณ์เหงาโดยไม่รู้ตัว พอเริ่มรู้สึกเหงา แทนที่จะมีสติ แค่รู้แล้วถอน กลับถลำไถลไปลึก หยิบเพลงคิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) มาเปิด ยิ่งมีห้องที่บรรยากาศเป็นใจ หน้าต่างบานใหญ่ด้านทิศตะวันตก ฟ้าสีส้มแดง เมฆหลากหลายรูปแบบ พระอาทิตย์อัศดงลงมหาสมุทรแอตแลนติก ฉากหลังเป็นภูเขาสีแดง หน้าผาเกือบตั้งฉากกับพื้นโลก ฟังเพลงไปนั่งน้ำตาซึม

เวลาหิมะตกหนักๆ ไม่ออกจากบ้านหลายวัน ยกเว้นตอนไปสอนหนังสือ ต้องอยู่กับตัวเองอย่างยิ่ง บางครั้งความเหงามันแทรกเราเข้าไปเก่งกว่าความหนาวเย็นหลายเท่านัก ถึงขนาดเคยคุยติดตลกกับเพื่อนๆ ทางเมืองไทยว่า กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความเหงาแล้ว รับจ้างเหงาทั่วราชอาณาจักร

แต่ ... การอยู่คนเดียวก็ไม่ได้มีมิติแบนๆ ไม่ซับซ้อน เพียงด้านเดียวนะครับ หากเราเฝ้าดู "การอยู่คนเดียว" มันนานพอ เราก็จะรู้จัก คุ้นเคย และเป็นมิตรกับการอยู่คนเดียวได้มากขึ้น

ผมเห็นเหมือนพอล ทิลลิช ที่ว่าภาษามนุษย์นั้นงดงามเสียเหลือเกิน มันช่วยให้เราสัมผัสถึงสองมิติของการอยู่คนเดียว เรามีคำว่า "เหงา (loneliness)" เพื่อแสดงถึงความเจ็บปวดของการอยู่คนเดียว แต่ขณะเดียวกันมนุษย์สร้างสรรค์คำว่า "สันโดษ (solitude)" เพื่อแสดงความสง่างามและยิ่งใหญ่ของการอยู่คนเดียวเช่นกัน

ช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ข่าวรุ่นน้องที่รัก เคารพนับถือกันจะบวชถึงสองคน ก็รู้สึกพลอยยินดีกับเขาด้วย ยังจำความรู้สึกของการอยู่วิเวกของพระได้ดี ประสบการณ์ตรงกับตัวเองเลยว่าการเป็นพระทำให้อยู่กับตัวเองได้ดีขึ้น เป็นแบบฝึกหัดชีวิตที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อชีวิตทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

ไม่น่าแปลกใจว่าทุกศาสนาที่มุ่งเข้าสู่ความสุขที่ประณีตและแท้จริง ต้องมีการออกธุดงค์ อยู่วิเวก หรือเข้าเงียบ

ความยินดีในความวิเวก การอยู่คนเดียว เป็นความตื่นรู้ สงบ เมื่อใดที่เราอยู่คนเดียวแล้วสบายดีเราจะรู้สึกว่ามันเป็นแอททีฟว๊อยซ์ (active voice-กรรตุวาจก) เราเป็นประธานของประโยค เราได้เป็นผู้มีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกอย่างเป็นมิตร อย่างเป็นสุข อย่างเต็มพร้อม พอดี มีเหลือแบ่งปันให้โลกด้วย

ความสันโดษเป็นการตัดสินใจที่จะ "กระทำการ" take action, take active role ในชีวิต แบบอยู่คนเดียว

ต่างจากขณะที่เราอยู่คนเดียวแล้วถูกกัดกินด้วยความเหงา เศร้าสร้อย เป็นความซึมเซื่อง เราวนอยู่ในความทุกข์ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว คล้ายหลับๆ ฝันๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นแพสซีฟว๊อยซ์ (passive voice-กรรมวาจก) คือราวกับว่าเราเป็นกรรมของประโยค ถูกกระทำโดยโลก (ฮา)

ดังที่อลิซ โคลเลอร์ กล่าวไว้ว่า "การอยู่อย่างสันโดษ คือการอยู่คนเดียวอย่างงดงาม อบร่ำอยู่กับการตัดสินใจของตนเอง (ที่จะอยู่คนเดียว) ตระหนักรู้อยู่ในความเต็ม ความสมบูรณ์ของปัจจุบันขณะ แทนที่จะเป็นการตระหนักในความขาดหายหรือปราศจากคนอื่น"

หลายคนไม่คุ้นกับการอยู่คนเดียว พออยู่คนเดียวปุ๊บก็เหงาปั๊บ บางคนกลัวความเหงามาก โลกทุกวันนี้มีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามายึดครองพื้นที่การอยู่คนเดียวของเรา หลายคนกลับถึงบ้านก็ต้องเปิดทีวีวิทยุ แม้จะไม่ได้ดูไม่ได้ฟังก็ตาม ครั้นพอว่างก็ต้องโทรศัพท์หาเพื่อน ... เราเองอยู่กับตัวเอง อย่างสงบเย็น อย่างเบาสบายกันเป็นน้อยลงทุกที

การป้องกันอาการเหงาโดยหารีบหาเงินไว้ซื้อยาแก้ เช่น ไปดูหนัง โทรศัพท์คุยกับเพื่อน ชวนแฟนไปกินข้าวนอกบ้าน นั้นไม่ได้การันตีแต่อย่างใด อย่าประมาทคิดว่าเงินจะแก้ปัญหาได้ เพราะคนเรา "เสี่ยง" ต่อการต้องอยู่คนเดียวอยู่ตลอดเวลา คนสนิทใกล้ตัวเราอาจจากไปหมดเมื่อไรก็ไม่รู้ เราเองอาจเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ต้องนอนอยู่บนเตียงคนเดียวเป็นแรมปี ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ เงินทองที่มีอาจมลายหายไปในพริบตา ... วิธีที่ยั่งยืนที่สุดคือการสร้างความสามารถภายในตัวของเราเองให้สามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข

เวลาอยู่คนเดียวนั้นไม่มีคำว่า "ดี" หรือ "ไม่ดี" แต่เราสามารถดึงเอาสิ่งล้ำค่าออกมาได้ เพราะมันเป็นชั่วขณะที่ทำให้การดำรงอยู่ของตัวเราหรือจิตของเรานั้นชัดเจนยิ่งขึ้น เกิดความสงบในใจ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกใหม่และความตระหนักรู้ใหม่ ทำให้เราสัมผัสถึงการดำรงอยู่ของเราและถึงผู้อื่นในระดับที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง

ท่านทะไลลามะบอกว่า ทัศนคติของเรามีผลต่อ "การอยู่คนเดียว" ของเราเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราไม่ไว้ใจคนอื่น ถึงแม้เราอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายก็ยังรู้สึกเปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยว (นึกถึงเพลงที่ร้องว่า feeling lost in a crowd room รู้สึกโดดเดี่ยวในห้องที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน) แต่ถ้าทำจิตใจของเราให้มีความอบอุ่นต่อผู้อื่นและมีความจริงใจต่อกัน ถ้าเรายินดีในสุขของผู้อื่น มีความกรุณาเป็นห่วงเป็นใยต่อทุกข์ของคนอื่น และเราแบ่งปันมากที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ นั่นแหละถึงจะเป็นยาขนานแท้ต่อความโดดเดี่ยวและความเหงา

อยู่คนเดียวแบบสันโดษได้ ก็สำเร็จปริญญา MBA อีกหนึ่งใบ เป็น Master of Being Alone ไงครับ :-)


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 1 มกราคม 2549


เตียงไม้กระดานเรียบเย็น ช่วยให้ความรู้สึก รู้เนื้อรู้ตัวกลับมาแจ่มใสและไม่โอ้เอ้ เรื่อยเปื่อย ขี้เกียจ ขี้เซา แม้หลังจากผมขยับตัวครั้งแรก รู้สึกขอบคุณเตียงจัง หลายชั่วโมงกับการนอนหลับ การพักผ่อนที่สบาย ผ่อนคลาย ดิ่งลึก ไม่ฝันอะไรเลย ... เมื่อคืนไม่ได้ตั้งนาฬิกาปลุก ตั้งใจให้ร่างกายปลุกเราเองเมื่อพักผ่อนพอ นอนไม่มาก ไม่น้อยเกินไป มากไปก็อืดอาด เฉื่อยเนือย น้อยไปก็เพลีย

การหลับเป็นเหมือนของขวัญอันพิเศษของชีวิต เป็นส่วนสำคัญของการเดินทาง จำได้ว่าเมื่อคืนค่อยๆล้มตัวลงนอน บอกลาราตรีของกรุงเทพเมืองฟ้าอมรชั่วคราว ขณะบรรยากาศเย็นสบาย ค่อนไปทางหนาวนิดๆ พอได้รู้เนื้อรู้ตัว รู้สึกถึงแต่ละส่วนของร่างกายที่สัมผัสแผ่นไม้และผ้าห่ม รู้สึกถึงความมหัศจรรย์ของชีวิต ขอบคุณที่ได้ให้เรา “นอนได้” รู้สึกขอบคุณครูบาอาจารย์และร่างกายของเราเองนี้ที่สอนให้เรารู้จัก “นอนเป็น” (มั๊ง) จนต้องแอบยิ้มให้ตัวเองเล็กๆ

ตื่นขึ้นมาก็พบกับรอยยิ้มของท่านดาไลลามะ จากปกหนังสือ The Art of Happiness (ศิลปะแห่งความสุข) รอยยิ้ม สีหน้า และแววตาท่านใสๆ เหมือนเด็กๆ ผมเองอดยกมุมปากขึ้นน้อยๆ ตามท่านไม่ได้ พอได้ยิ้มสักหน่อย รู้สึกเหมือนมีใครไปเปิดสวิทช์วงจรความสุข จินตนาการเห็นวงจรทางชีวเคมีถูกเปิด ปลดปล่อยสารเอ็นดอร์ฟินในสมอง รู้สึกความสุขแผ่ซ่านไปเต็มห้อง

ตั้งใจว่าวันนี้จะใช้ชีวิตอย่างมีสติและปัญญา อย่างมีประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ไม่ได้คิดอะไรลงไปในรายละเอียดมากไปกว่านั้น เฝ้าดูว่าวันนี้จะเป็นไปอย่างไรบ้าง

นึกถึงคุณอา ไม่ได้ไปเยี่ยมท่านหลายวันแล้ว เหมือนอย่างทุกๆครั้งที่โทรไปหา ท่านชวนให้ไปทานอาหารเช้าที่บ้าน วันนี้หิ้วนมถั่วเหลืองที่คนนำมาให้และผลไม้ที่พี่สาวและแม่ไปไหว้พระติดมือไปฝากท่าน พร้อมหนังสืองานศพโยมพ่อหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ฮีโร่ตัวจริงของผมให้ท่านยืมอ่าน เป็นหนังสือการดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้ายและการตายอย่างสันติและสง่างาม

ผมละเลียดข้าวต้มข้าวใหม่ฤดูกาลนี้ มียางข้าวกำลังมัน เข้าคู่กันดีกับกับข้าวธรรมดาๆ แต่กลมกล่อมด้วยความรัก ความเอาใจใส่ กับฝีมือที่สั่งสมหลายสิบปี ทั้งผัดผักหลายสหาย ยำไข่เค็ม ไข่เจียว หมูผัดกระเทียมพริกไทย ขิงดอง ปิดท้ายด้วยผลไม้หลากชนิดที่ถูกบรรจงจัดเรียง หลังอาหารบทสนทนาสัมมาวาจา อิ่มเอมในถ้อยคำคิดถึงเป็นห่วงเป็นใย เป็นเหมือนน้ำเปล่า สะอาดชื่นใจ นับเป็นหนึ่งในกับข้าวมื้อที่เรียบง่ายและงดงามที่สุดในชีวิต

กลับบ้านมานั่งที่สวน ม้าหินยังสะสมความร้อนจากยามกลางวันไม่ได้มาก ยังเย็นยะเยือกยามนั่ง สายลมเหมันตฤดูพัดโบกมาพอให้ได้ขยับตัวไล่ความหนาวเย็น แสงแดดที่ลอดกอไผ่น้ำเต้าเป็นจุดๆ ดูอาร์ตๆดี รู้สึกวันนี้มีแมลงค่อนข้างน้อย แต่พวกนกกลับแอ็คทีฟมาก

รู้สึกถึงคลื่นพลังบวกในสวน ในชีวิต และในวันนี้มาก พาให้อ่านข่าว อ่านบทความ ตอบอีเมล์ด้วยความสดชื่นอย่างบอกไม่ถูก สายๆเริ่มมี SMS และโทรศัพท์เข้ามาเป็นระยะๆ จากเพื่อนๆ พี่ๆน้องๆ และลูกศิษย์ ส่ง :-) และความคิดถึง และเรื่องราวชีวิตที่งดงามของแต่ละคนที่มีกับครอบครัว เพื่อน อาจารย์/ลูกศิษย์ ทั้งในงานและที่บ้าน พอให้ได้ยิ้ม ได้ฮา ได้จรรโลงใจ

แผลบเดียวเวลาเที่ยงแล้ว ผมเลือกที่จะเดินไปทานอาหารแถวบ้าน เพราะนั่งมาเกือบครึ่งวัน เป็นวันที่สนุกมาก เห็นเมนูตั้งแต่รายการแรกจนรายการสุดท้ายน่าทานไปหมด ทานไปขอบคุณคนเตรียม คนคิดสูตร คนปรุงอาหาร และคนที่เสิร์ฟไป ทานเสร็จรู้สึกดีที่มีสติ ไม่สั่งเกินพอ กินเสร็จแล้วไม่อึดอัด เหลือที่สำหรับของหวานกำลังดี

ซื้อขนมฝากที่บ้าน ไอศกรีม ๒ กระปุก และทาร์ตเอแคลร์ ๑ ชิ้น กินกัน ๔ คน กับ คุณแม่ พี่สาว และหลานสาว เป็นความสุขเล็กๆ ที่ได้ปันกันกิน ได้กินหลายๆ อย่างโดยไม่มากเกินไป นี่หละนะเป็นข้อดีของการอยู่ร่วมกัน

มีโอกาสเล่าให้พี่สาวฟังถึง โครงการ Hidden Connections (โยงใยที่ซ่อนเร้น) ที่ได้ไอเดียจากครูอั๋น อาศรมศิลป์ ฟริตจอฟ คาปรา และหนัง Six Degrees of Separation โดยให้คน ๑๐๐ คนใช้กล้องถ่ายรูปแบบใช้ครั้งเดียว ถ่ายรูป “ความสุข” แล้วส่งต่อให้คนที่รู้จักต่อไปเรื่อยๆ จนครบ ภาพที่ได้จากสายสัมพันธ์ต่างกันจะเรียงร้อยเป็นส่วนหนึ่งของงาน “มหกรรมความสุข” (Truly Happy Fest) ที่สวนเบญจศิริ วันที่ ๔-๕ มีนาคมปีหน้า ดีใจที่พี่สาวแสดงความสนใจ ชวนให้ผมตื่นเต้นที่จะได้รู้ถึงโยงใยของตัวเราเอง ที่เราเองยังไม่รู้ผ่านทางพี่สาว

วันนี้เป็นวันหยุด วันธรรมดา ที่แสนพิเศษ เป็นวันง่ายๆ สบายๆ ไม่มีกำหนดการที่เร่งรีบให้ต้องทำนู่น ทำนี่ ทำนั่น ได้ค่อยๆ บรรจงละเลียดแต่ละอณู ทีละอณูของวัน รู้สึกเหมือนได้ทบทวน ได้ทำ AAR (after action review) ปีทั้งปีจบแล้ว โดยที่ไม่ต้องคิดด้วย วันนี้ใช้วิธีตั้งใจบอกตนเองว่า อยากจะทบทวนสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปี แล้วก็โยนมันเอาไว้ในสมอง ส่วนที่มันทำงานโดยเราไม่ต้อง “คิด”

สัมผัสได้ถึง ความศิโรราบ ความวางใจให้กับชีวิตอย่างไม่มีเงื่อนไข ที่มาพร้อมกับ สติ ความแจ่มใส ความสนุก กระตือรือร้นกับโอกาสอย่างเต็มเปี่ยมที่ชีวิตมีให้ รู้สึกถึงสมบัติล้ำค่าของชีวิตที่ได้มาด้วยการปล่อยวางลงบ้าง

คิดถึงเพื่อนที่กำลังทำงานวันนี้ ขอให้ได้มีความสุขจากการทำงาน และได้มีความสุขจากประโยชน์ที่เกิดจากงานนั้น อันจะเป็นของแถมให้ได้มีความสุขเต็มที่ยามที่ได้พักผ่อน

คิดถึงเพื่อนที่ได้พักผ่อนในวันนี้ ขอให้ได้มีความสุขกับการพักผ่อน ให้ได้ผ่อนพักทั้งกาย ทั้งใจ เกิดสติ เกิดปัญญา เกิดกำลัง เพื่อทำงานที่มีประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นในยามที่โอกาสมาถึง

สคส. ส่งความสุขปีใหม่ให้ทุกคนครับ! ;-)