เพ้อฝัน















ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2552

เหมือนขึ้นรถไฟเหาะทางอารมณ์

จากใบประเมินที่ผมให้นักศึกษาปีหนึ่ง มหิดล หลายคณะ เขียนสะท้อน “อะไรก็ได้” โดยที่ไม่ต้องลงชื่อและไม่มีผลต่อคะแนน หลังจากจบชั่วโมงบรรยาย ๑๒ ชั่วโมงของวิชาชีววิทยาเบื้องต้น

“ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่จะแทนความประทับใจ ความขอบคุณให้แก่อาจารย์ ... ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มอบทางสว่าง ไม่สิ ขอบคุณที่ทำให้ผมเห็นจุดหมาย ก่อนมาที่นี่ ผู้คนมากมายถามผมว่ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอาชีพอะไร ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในใจน่ะหรอ ไม่เลย ไม่รู้เลยจริงๆ” (อรรถพล อ.)

“เริ่มรู้สึกว่าการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อเป็นที่ 1 คณะ หรือได้คะแนนเกินมีนมาเยอะๆ แต่มันประกอบด้วยการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักธรรมชาติ รู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง เกรดก็สำคัญ แต่เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีอะไรให้ชีวิตเราค้นหามากกว่านั้น มันคือความสุขของชีวิต เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องสนใจว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องการ มีรายได้ดี ขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับที่สอนแนวคิดดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้ผมครับ” (จิรพงศ์ บ.)

เมื่อเราเปิดพื้นที่ให้กับอารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ และความรัก พลันสิ่งที่ปรากฏขึ้นในห้องเรียนอย่างเรียบง่ายและงดงามก็คือ ความเป็นมนุษย์ อันเรียบง่ายและงดงามเช่นเดียวกัน

นักศึกษาแบ่งปันบางส่วนของชีวิตที่มีทั้งความสุข ตื่นเต้น ในการเรียนรู้และความทุกข์ในการสอบ

จำนวนไม่น้อยระบายความอัดอั้นตันใจจากระบบการศึกษาที่ทำให้คนครึ่งหนึ่งรู้สึกโล่งอก เพราะคะแนนสอบกลางภาคผ่านมีน (คะแนนเฉลี่ย) ส่วนอีกร้อยกว่าคนรู้สึกเซ็งเป็ด พยายามเอาตัวรอดในระบบที่ต้องดิ้นรนเกือบตลอดเวลา เพียงเพื่อจะให้ไม่ “ตกมีนหัวแตกตาย”

บ้างโหยหาอ้อมกอดและความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้อยู่แดนไกล เพราะต้องอยู่ห่างบ้านเป็นครั้งแรก

บ้างมีความรักให้ผู้อื่น แม้ตนเองจะเรียนในคณะที่คะแนนไม่สูงและไม่มั่นใจกับคุณค่าภายในของตนเอง “ผมขอให้อาจารย์ดูแลน้องของผมในปีหน้าดีๆ นะคร้าบ ผมเชื่อว่าอาจารย์ทำได้ เท่าที่ผมเรียนมาอาจารย์บางท่านท่านพูดออกมาเลยว่า ‘ไม่มีอาจารย์คนไหนอยากสอน [คณะของผม]’ แต่ผมว่าอาจารย์ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น จิงป่าวคราาบ” (สุทธิศักดิ์ ป.)

ความทุกข์ ความกังวลใจถูกระบายออกมาให้คนที่เขาเชื่อว่าฟังเขา โดยไม่ได้ตัดสินเขา แม้ว่าเพิ่งจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันแค่สิบกว่าชั่วโมงในห้องบรรยาย อ่านไปร่วมสี่ร้อยแผ่นเล่นเอาผมน้ำตาซึม กับความสดใส ตรงไปตรงมาของพวกเขา กับความทุกข์-ความสุขของคนที่อยู่ในวัยแสวงหาและเติบโต กับความไว้วางใจที่เขามอบให้

อันที่จริงผมได้ลองพยายามผสานเอาแนวคิดจิตตปัญญา (Contemplative Learning /Education) เข้าไปในมิติต่างๆ ของชีวิต ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน การเรียนการสอน ทั้งวิชากึ่งปฏิบัติการชั้นปีสูงๆ และวิชาบรรยายชั้นปีหนึ่งห้องละ ๒๐๐ กว่าคน แล้วก็วิชาบรรยายเช่นนี้แหละที่ดูเหมือนจะท้าทายทั้ง ความหวังและจินตนาการอย่างยิ่ง

บางครั้งก็ต้องหยุดตั้งคำถามกับตนเอง เมื่อผู้หวังดีซึ่งมีประสบการณ์กับระบบการศึกษาไทยมายาวนาน ได้ช่วยประเมินเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ เพื่อสร้างสมดุลของการรับรู้และเรียนรู้ทั้งตนเองและโลกภายนอกนี้ ให้อย่างสั้นๆ กระชับได้ใจความว่า “เพ้อผัน” ไม่มีหวังหรอกกับระบบและสถานการณ์โลกความเป็นจริงอย่างเช่นในปัจจุบัน

ผมพลันนึกถึงคำที่ สาทิศ กุมาร (หนังสือ มีเธอจึงมีฉัน: คำประกาศแห่งการพึ่งพา) ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The Guardian (๑๖ มกราคม ๒๐๐๘) ไว้ว่า “ดูผลงานที่พวกอยู่ในโลกความเป็นจริงทำกับพวกเราสิ เขานำเราไปสู่สงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความยากไร้เกินจะคาดคิด และระบบนิเวศอันย่อยยับ มนุษยชาติครึ่งหนึ่งหลับไปพร้อมกับความหิวโหย เป็นเพราะบรรดาผู้นำที่ติดอยู่ในโลกความเป็นจริงเหล่านี้นี่แหละ ฉันบอกกับคนที่เรียกฉัน ‘เพ้อฝัน’ ให้ช่วยแสดงให้ดูด้วยว่าความเชื่อในโลกความเป็นจริงของเขานั้นมีผลอะไรบ้าง มันเป็นความเชื่อที่ล้าหลัง ถูกใช้จนเกินเลย และโอ้อวดจนเกินจริง”

บางทีคำว่าเพ้อฝันอาจเป็นคำชมว่าเราเป็นผู้มีความหวังและจินตนาการก็เป็นได้

“อาจารย์ ... อาจารย์ สิ่งที่อาจารย์ให้มันมากกว่าคำว่าความรู้ มากกว่าสิ่งที่เคยได้จากห้องเรียน ต่างจากที่เคยรู้สึกในทุกๆ วัน อาจารย์เชื่อไหมว่าเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดชอบชีวะเลย ... คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้กลับอยากเข้าห้องเรียน อยากมานั่งฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ... มันสนุกนะ ถามว่าอะไรโดนเหรอคะ โดนตรงที่มันเปลี่ยนความคิดของคนได้ เนี่ยหล่ะโดนสุด” (ไม่ลงชื่อ)

ใช่หรือไม่ต้องเอาไปลองฝันดู :-)

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับประจำวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๒

“ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่จะแทนความประทับใจ ความขอบคุณให้แก่อาจารย์ ทึ่งในตัวอาจารย์มาก ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มอบทางสว่าง ไม่สิ ขอบคุณที่ทำให้ผมเห็นจุดหมาย ก่อนมาที่นี่ ผู้คนมากมายถามผมว่ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอาชีพอะไร ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในใจน่ะหรอ ไม่เลย ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าตนเองต้องการเป็นแบบไหน” (อรรถพล อ.)




“ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” ผมนึกถึงสำนวนนิยายจีนของโกวเล้ง

ภาคการศึกษานี้ อาจจะเป็นภาคการศึกษาสุดท้ายของผมในการเลกเชอร์ให้กับนักศึกษาปีหนึ่งของมหิดล การสอนบรรยายให้นักศึกษาห้องละสองร้อยกว่าคน หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ เบื่อกันทั้งคนสอนและคนเรียน ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกนะ กับระบบการศึกษาที่ท่องไปเพื่อคะแนน เรียนไปเพื่อสอบ

แต่สำหรับผมแล้ว การไปสอนเลกเชอร์เป็นการเติมเต็มความหมายของชีวิต การได้เปลี่ยนบทบาทจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เคยนั่งหันหน้าหากระดานดำ เรียนบ้าง จดบ้าง คุยบ้าง หลับบ้าง แอบกินขนมบ้าง กลับมายืนหน้าห้องบรรยายห้องเดิม แต่ครั้งนี้หันหน้าไปทางหลังห้อง เหมือนมองย้อนกลับไปจนเห็นตนเองในอดีต มันเปรียบดั่งการจาริกไปสู่ต้นกำเนิดแห่งตัวตนของผมเอง

ไม่มีวันไหนแม้แต่วันเดียวที่ไม่อยากไปสอน ฝนตก แดดออก รถติด ถนนว่าง วันเดินทางไปศาลายาเป็นวันที่ตื่นเต้น อุดมไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้ ไม่มีสองวันไหนที่เหมือนกันเลย

ยิ่งปีสุดท้ายปีนี้ด้วยแล้ว เลกเชอร์แต่ละครั้งยิ่งมีความหมายกับผมอย่างมาก

ผมรู้ว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ไม่เคยรู้เลยว่าผลจะออกมาอย่างไร และการที่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรนี่ด้วยกระมังที่ทำให้มันน่าตื่นเต้นเข้าไปใหญ่





คืนก่อนหน้า ผมมักจะนั่งทำ PowerPoint อย่างบรรจง เตรียมเล่าข่าวสดๆ ทันเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหา เลือกรูป เลือกสไลด์ เลือกคลิปด้วยความพิถีพิถัน จนบางทีสงสัยว่าย้ำคิดย้ำทำเกินไปหรือเปล่า แต่เมื่อคิดว่ากับช่วงเวลาสั้นๆ ๖ สัปดาห์ สัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง แต่ละนาทีนับว่ามีความหมายไม่น้อย

อันที่จริง ๑๒ ชั่วโมง กับเนื้อหา ๑๑ บท ๑๙๘ หน้าแล้ว มันง่ายมากเลย ที่คนสอนอย่างเราๆ จะเดินทางเข้าสู่ร่องของการเรียนรู้ที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเราเป็นนิสิตนักศึกษาเอง เพราะลำพังแค่สรุปเนื้อหาในหนังสือมาสอนก็แทบจะไม่ทันแล้ว “ไม่ใช่แต่ พูดๆ ไปตามหนังสือ พอเสร็จ เด็กก็ไปคายๆๆ ในห้องสอบ ใครจำได้มากได้คะแนนมาก หนูรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่” (รหัส 520517X)

หรือว่าเราต้องเชื่อว่านักศึกษาเขาเรียนรู้เองได้ รับผิดชอบตนเองได้ หากว่าเขาต้องการ ถ้าเช่นนั้น ความท้าทายของเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่การพยายามอัดหรือยัดเนื้อหาให้ได้มากที่สุด แต่อยู่ที่การทำให้เขาเห็นคุณค่า ความหมาย ความสำคัญ ความน่าทึ่ง ในโอกาสและวิชาที่อยู่เบื้องหน้าเขา

หากเราเชื่อในเจตจำนงอิสระของมนุษย์แต่ละคน และสามารถโยงสิ่งที่เขาเรียนเข้ากับชีวิตของเขาได้ ก็คงไม่ต้องขู่เข็ญใครให้มาเข้าเรียน รวมไปถึงบังคับข่มขู่ด้วยระบบคะแนน

ผมสนุกกับการสร้างความหมายใหม่ให้กับวิชาชีววิทยา วิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ และการมีชีวิต ร่วมกันไปกับรุ่นน้องคณะ เชื้อเชิญอารมณ์ ความรู้สึก ความมีชีวิตชีวา ความเป็นมนุษย์กลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อีกครั้ง (โดยไม่ได้พูดถึงคำว่า จิตตปัญญาศึกษา, Contemplative Education หรือ Humanized Educare เลย) เชิญชวนให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียน วิธีการที่เขาเรียน และเป้าหมายของการเรียนของเขา (สไลด์แรกสุดคือคำถามว่า “จะเรียนไป ... ทำไม?”)

แน่นอน นักศึกษาจะรู้สึกงงๆ ในตอนต้น

“แรกๆ ผมก็โดด คิดว่าไปอ่านเองแล้วจะได้อะไรมากกว่า แต่หลังๆ ก็เริ่มเข้า [เรียน] ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าโดดเลย อาจารย์สอนอะไรมากกว่าในหนังสืออีก ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อเป็นที่ 1 คณะ หรือได้คะแนนเกินมีนมาเยอะๆ แต่มันประกอบด้วยการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักธรรมชาติ รู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง เกรดก็สำคัญ แต่เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีอะไรให้ชีวิตเราค้นหามากกว่านั้น มันคือความสุขของชีวิต เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องสนใจว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องการ มีรายได้ดี ขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับที่สอนแนวคิดดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้ผมครับ” (จิรพงศ์ บ.)

ทุกครั้ง ก่อนหมดคาบ ๑๐ นาที ผมให้ทุกคนเขียนสะท้อนว่า ๑) สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ หรือสิ่งที่เขารู้สึก “โดน” ที่สุดในวันนั้นคืออะไร และ ๒) เขามีอะไรที่อยากจะถาม/รู้/บอก/แนะนำ แต่ละสัปดาห์ผมจึงมีกระดาษสองร้อยกว่าแผ่นกลับบ้าน ผมอ่านทุกใบด้วยความสนใจใคร่รู้ อยากรู้จักแต่ละคน อยากเข้าใจในที่มาของแต่ละคน ผมคัดไว้จำนวนหนึ่งเพื่อมาอ่านตอนต้นชั่วโมงถัดไป ทั้งข้อคิดเห็น คำบ่น คำแซว คำชม โดยเฉพาะคำถาม ซึ่งผมมักตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง “อย่าฆ่าคำถามดีๆ ของเขา ด้วยคำตอบห่วยๆ ของเรา” ผมเตือนตนเอง

วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ผมชวนนักศึกษาทำ Intuitive Writing ให้เขาได้แบ่งปัน “อะไรก็ได้” เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจากชั้นเรียนที่ผ่านมา การเขียนนี้ไม่มีผลต่อคะแนน และไม่จำเป็นต้องลงชื่อ

คำแนะนำสั้นๆ ของผม คือ เขียนโดยไม่หยุด ไม่ยกปากกาขึ้น เขียนไปเรื่อยๆ หากนึกไม่ออก ก็เขียน “นึกไม่ออก นึกไม่ออก” สบายๆ ผ่อนคลาย ไปเรื่อยๆ เป็นเวลา ๑๐ นาที

สิบนาทีสั้นๆ ที่ยิ่งใหญ่ และมีความหมายสำหรับผม สัมผัสรับรู้ได้ว่าทำไมมีนักศึกษาหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

“At first, I thought that there was nothing interesting in sitting and studying in the room. Though it was freaking hard waking up in the morning, walking to the [Lecture Hall], but I did it with cheering ’cause it was Monday, the day I get to study Biology with you. ... There are lots of things out there waiting to be explored, but I just ... waste my time fooling around on the internet. Your words are like wake up calls to me. ... Thank you for everything. You’re such a heaven-sent. I’m honored.” (ภัทราวรรณ พ.)

“อาจารย์เชื่อไหมว่าเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดชอบชีวะเลย ... คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้กลับอยากเข้าห้องเรียน อยากมานั่งฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ... ถามว่าอะไรโดนเหรอคะ โดนตรงที่มันเปลี่ยนความคิดของคนได้ เนี่ยหล่ะโดนสุด” (ไม่ลงชื่อ)

“การได้เรียนรู้แนวการเรียนที่มันแตกต่างออกไป มันทำให้เราได้คิดย้อนกลับมามองตัวเองมากขึ้นว่าสิ่งที่เราเรียนเราเรียนไปเพื่ออะไร เพื่อเอาไปทำอะไร แล้วมันมีความสัมพันธ์กับชีวิตรอบตัวของเราอย่างไร ทั้งคน-สัตว์และพืช (สิ่งแวดล้อม) มีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น แต่เรากลับมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไป ทำให้เราไม่รู้จักพอ” (โฆษิต ฐ.)

“เป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นมาทดแทนได้ การเรียนชีววิทยาที่น่าตื่นเต้นในมุมมองของคนที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างผมนี้” (พิษณุ บ.)

“แท้จริงแล้วมนุษย์ก็เป็นส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติ แม้ว่าจะได้เจออาจารย์เพียงช่วงสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจและภูมิใจมากๆ ค่ะ ที่ได้เป็นศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ หนูจะใช้เวลาอีก 3 ปี+1 เทอมในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้มีคุณค่ามากที่สุดเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในห้องเรียน ก่อนออกไปเผชิญกับโลกภายนอกอย่างเต็มภาคภูมิ หนูสัญญาว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีเหมือนอย่างที่อาจารย์เป็น จะไม่เอาความรู้ที่เรามีไปเอาเปรียบใคร ... ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับการเรียนใน 6 ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจ และขอบคุณจากใจค่ะ” (520517X)

“ก็ไม่รู้สิ มีอะไรอยากบอกมากกว่านี้ตั้งมากมาย แต่ก็นะ บอกไม่หมดหรอก ขอบคุณล่ะกันครับ ความรู้สึกที่มากที่สุดตอนนี้คงเป็นคำว่า ขอบคุณ” (อรรถพล อ.)




ใช่เลย ความรู้สึกเด่นชัดที่สุดของผมขณะนี้ คือ ขอบคุณ ขอบคุณเหล่านักเดินทางรุ่นเยาว์เหล่านี้ พวกเขาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การเดินทางท่องไปในโลกใบกว้าง พร้อมๆ กับเดินทางเข้าไปในใจในกาย ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ น่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน ดังเช่นที่ สาทิศ กุมารเคยกล่าวไว้ “มีเธอ จึงมีฉัน”

ชวนให้ผมนึกถึงการเดินทางด้วยเท้าอันยิ่งใหญ่ในโลก โดยเฉพาะการเดินทางของคานธี ไปทำเกลือทะเลที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพของอินเดีย การเดินทางโดยปราศจากเงินแม้เพียงรูปีเดียว ของสาทิศ กุมารจากอินเดียไปยุโรปและอเมริกา เพื่อส่งมอบ “ชาสันติภาพ” แก่ผู้นำประเทศมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ รวมถึงการเดินทางของประมวล เพ็งจันทร์ อันเป็นที่มาของหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ”

การเดินทางเล็กๆ ในชั้นเรียน แม้จะไม่โด่งดังและยิ่งใหญ่เท่ากับการเดินทางเหล่านั้น แต่ก็ “จริง” อย่างยิ่งสำหรับบรรดาเหล่านักเดินทางรุ่นใหม่ เป็นดั่งคำเชื้อเชิญให้เปิดใจ เรียนรู้ และออกเดินทางสู่การตื่นรู้ ในวิถีที่ไม่แยกเป้าหมายทางวิชาชีพ (professional quest) ออกจาก เป้าหมายทางจิตวิญญาณ (spiritual quest)

ชั้นเรียนของเราอาจจะจบแล้ว แต่การเดินทางของเราอาจจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นก็ได้

ยินดีต้อนรับสู่การเดินทางบทใหม่ครับ :-)