ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 สิงหาคม 2547


ผมขอไม่แสดงความเห็นเรื่องว่า "ใครผิดใครถูก" ระหว่างคุณปุระชัย และคุณหมอประกิต กับกรณีโครงการของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

กรณีดังกล่าวการทำความจริงโดยรอบด้านให้ปรากฏนั้นมีความสำคัญ โดยทุกฝ่ายรวมถึงสังคมโดยรวมด้วย จะต้องข้ามความคิดแบ่งฝักแบ่งฝ่ายออกไป ก้าวให้พ้นแนวคิดแบบ "You are either with us, or against us" (หากคุณไม่อยู่ข้างเรา ก็ต้องเป็นศัตรูของเรา) เพราะความคิดเช่นนี้บีบคั้น อยู่ในข้อจำกัดว่าหากมีผู้ชนะก็ต้องมีผู้แพ้ ลดทอนความจริงที่มีหลายมิติหลายด้านให้เหลือเพียงถูก-ผิด ขาว-ดำ หรือ ดี-เลว

ควรกลับมาพิจารณาว่า การตั้งคำถามเช่นว่านี้เหมาะสมหรือไม่? ช่วยให้อะไรดีขึ้นอย่างไร? การตั้งคำถามอย่างไรจึงจะเป็นการสร้างสรรค์ ทำให้ทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้าหากัน และเอางาน เอาการทำความดีเพื่อสังคมเป็นตัวตั้ง? คำถามและคำตอบประเภทใดที่จะช่วยกันสร้าง "ระบบ" ที่เอื้อต่อการทำความดีของทุกฝ่ายได้?

แต่ประเด็นที่ผมเห็นว่ามีความสำคัญมาก ที่ผู้เกี่ยวข้องต้องพึงพิจารณาใคร่ครวญให้ดี คือ เรื่อง จุดมุ่งหมายของการทำความดี คำถามที่เวลานี้เราได้ยินมากที่สุดคำถามหนึ่งคือ "ทำดีได้ดีมีที่ไหน?" (บางทีมีสร้อยต่ออีกว่า "ทำชั่วได้ดีมีถมไป")

คำถามดังกล่าวนี้สำคัญ เพราะบอกถึงบรรยากาศการทำความดีของสังคม เป็นตัวชี้วัดวุฒิภาวะหรือพัฒนาการของสังคมต่อการทำความดี ซึ่งเป็นหัวใจของความเป็นมนุษย์และสังคมที่สงบร่มเย็น จึงควรที่จะมีการเปิดเป็นประเด็นสาธารณธ ให้มีการพินิจพิเคราะห์ให้ดี เชิญชวนผู้ทรงคุณวุฒิ ปราชญ์ของแผ่นดินออกมาแสดงความคิดเห็น เชื่อมโยงให้เกิดเป็น "ปัญญาใหญ่" ของสังคม ให้เกิดช่องทางปัญญาแก่สังคม เพราะสังคมไทย สังคมโลก ในมนุษยชาติจะอยู่รอดหรือไม่ มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงกับการทำความดีของมนุษย์

ผมเองไม่ใช่ผู้ทรงคุณวุฒิและยิ่งไม่ใช่ปราชญ์ แต่เห็นว่าคำถามนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง จึงขอลองเริ่มเปิดประเด็นเพื่อชักชวนให้มีการพูดคุยกัน

หากเป็นผมก็จะตอบแบบกวนๆนิดๆ (แต่จริงจัง) โดยเริ่มจากนิทานเซ็นที่ผมชอบมาก เป็นบทสนทนาระหว่างตันซาน พระเซ็นชื่อดังของญี่ปุ่นและสีกาท่านหนึ่ง

"หลวงพ่อคะ คนตายแล้วไปไหน?" สีกาปุจฉา พระตันซานเงียบไปครู่หนึ่ง แล้วหยิบเทียนที่ติดอยู่มาเป่าให้ดับ แต่ไม่กล่าวตอบอะไร หลังจากเงียบไปอีกพักใหญ่ สีกาผู้นั้นรู้สึกอึดอัดกระสับกระส่าย ตันซานจึงเอ่ยถามว่า "เธอพอใจกับคำตอบของเราหรือไม่?" สีกาตอบ "ไม่ค่ะ" ตันซานยิ้มแล้วบอกว่า "เราก็ไม่พอใจกับคำถามของเธอเหมือนกัน"

การทำความดีนั้น "ดี" โดยตัวมันเอง ไม่ต้องการการลงทะเบียน เทียบค่า ยอมรับ หรือประทับตราจากใคร หรือแม้กระทั่งการได้ทำความดีแล้วมีผู้เข้าใจผิด เห็นเป็นอื่น ก็ใช่ว่าจะทำให้การทำความดีนั้นมัวหมองไปได้ เป็นเช่นนั้นเอง เป็นธรรมดาของการทำความดี

คนที่ทำดีแล้วมีความสุข สุขเพราะรู้แจ้งว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและดีงาม (ไม่ว่าสังคมจะเห็นว่าเป็นอย่างไร เข้าใจถูกหรือผิด) นี่เรียกว่า เป็นคนที่มีสุขภาวะทางปัญญา คือมีสุขภาวะที่เกิดจากการมีจิตใจสูง

องค์กรที่ทำความดีแล้วมีความสุข สุขเพราะรู้แจ้งว่าสิ่งที่ทำนั้นถูกต้องและดีงาม (ไม่ว่าสังคมจะเห็นว่าเป็นอย่างไร เข้าใจถูกหรือผิด) นี่เรียกว่า เป็นองค์กรที่มีสุขภาวะทางปัญญา คือมีสุขภาวะที่เกิดจากการมีจิตใจสูง

หน้าที่ของสังคมโดยรวม และโดยเฉพาะ สสส. ในการส่งเสริมสุขภาวะทางปัญญา หากกล่าวอย่างง่ายก็คือ ส่งเสริมให้คนได้ทำความดี และให้คนได้มีความสุขจากการทำความดีนั้นด้วย

ถ้าให้ดียิ่งขึ้นก็แสดงให้เห็นด้วยว่า ทำได้อย่างไร?

หากส่งเสริมให้คนได้ทำความดีแล้ว คนนั้นยังไม่มีความสุข (ไม่ว่าจะเกิดจากไม่มีใครไปรับรู้ ไปยกย่อง หรือเกิดจากมีคนเข้าใจผิด หรือเหตุอื่นๆ)นี่แสดงว่ายังไม่ประสบความสำเร็จ อาจจะยัง "ติดดี" แสดงว่ายังขาดปัญญา ต้องช่วยกันทำให้เกิดปัญญา ให้เห็นว่าการทำดีนั้น ควรทำเพราะว่ามัน "ดี" โดยตัวมันเอง และเมื่อได้ทำดีแล้ว "ดี" เลย ไม่ว่าจะมีใครเห็น ไม่เห็น หรือเข้าใจเป็นอย่างอื่น

สสส. มีแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ที่ส่งเสริมให้สังคมมีสุขภาวะจากการมีจิตใจสูงทั้งประเทศ โดยการสร้างช่องทางที่ให้สมาชิกทุกคนได้มีประสบการณ์ตรง เข้าถึงความสุขอันประณีต ผ่านช่องทางที่มากมาย หลากหลาย และทั่วถึง

ความสุขอันประณีตนั้นอาจหมายถึง ความสุขที่ไม่ได้เกิดจากการเสพอย่างหยาบๆ จากการได้ จากการมีแบบโลกๆ แต่หมายถึง ความสุขจากการขัดเกลาตนเอง ทำให้เกิดปัญญา สงบเย็น เป็นประโยชน์ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น

แผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพส่งเสริมให้ผู้คนรู้จัก เข้าใจ มีประสบการณ์ตรงถึงการมีสุขภาวะทางปัญญา (เหมือนนิพพานชิมลองที่ท่านพุทธทาสว่า) อีกทั้งยังบอกเล่าได้ และสร้างโอกาสให้คนอื่นๆมีสุขภาวะจากการทำความดีกันให้มากๆได้ด้วย

การส่งเสริมสุขภาวะในมิตินี้ไม่เพียงแต่มีรูปธรรมชัดเจน ทำได้จริง ทั้งยังทำได้ง่ายด้วย เพราะทำได้ทุกคน ทุกเวลา ไม่จำกัดเพศ ชนชั้น อายุ สถานะทางสังคม เศรษฐกิจ และอื่นๆใดๆทั้งสิ้น ทำคนเดียวก็ได้ ทำเป็นกลุ่ม เป็นครอบครัว เป็นองค์กรก็ได้ เป็นสิ่งที่ทำได้และให้ผลได้ไม่จำกัดเวลา เป็นสุขภาวะประเภทที่ลงได้ทำแล้วก็ "ดี" ทุกครั้งไป แถมยังได้ผลทันทีด้วย จึงเป็นสิ่งที่ควรชวนผู้ที่ยังสงสัยให้มาพิสูจน์

ในวาระที่ "สุขภาวะทางปัญญา" กำลังถูกตั้งคำถามจากสังคม นี่เป็นโอกาสอันดีที่สุดโอกาสหนึ่งที่ สสส. จะได้สร้างความเข้าใจ และแสดงให้เห็นว่า ความสุขอันประณีต สุขภาวะจากการทำความดี สุขภาวะจากการมีจิตใจสูงนั้นเป็นอย่างไร และเข้าถึงได้อย่างไร