ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2547
เวลาคุณได้ยินคำว่า "จิตวิวัฒน์" แล้วนึกถึงอะไร?
คุณนึกถึงอะไรที่ยากๆ หรือเป็นนามธรรมหรือเปล่า?
คุณคิดว่ามันคืออะไรที่ไม่น่าจะเกี่ยวกับคุณใช่ไหม?
หากคุณเคยมีความรัก กำลังตกหลุมรัก หรือหวังว่าจะพบรัก คุณก็น่าจะได้รู้จัก "จิตวิวัฒน์" เพื่อที่จะได้เข้าใจความรักของคุณมากขึ้น!
ในที่ประชุมจิตวิวัฒน์ครั้งหนึ่ง คุณเดวิด สปิลเลน ได้เล่าถึงการประชุมประจำปีของสถาบันโนเอติกไซนส์ (www.noetic.org) ที่ทำงานเรื่องการปฏิวัติจิตสำนึก (Consciousness Revolution) ว่ามีการพูดคุยกันอย่างกว้างขวางถึงความท้าทายทางสังคมและวัฒนธรรมที่มนุษยชาติกำลังเผชิญอยู่ คือ "การที่เราต้องเป็นที่พักสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายให้กับกระบวนทัศน์เก่าและเป็นหมอตำแยสำหรับกระบวนทัศน์ใหม่" (To become a hospice to the old and a midwife to the new paradigm)
กระบวนทัศน์เก่า (ที่คุณหมอประสาน ต่างใจ เรียกในคอลัมน์นี้เมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า กระบวนทัศน์ "สมัยใหม่" แต่ "เก่าเดิม")
เกิดพร้อมการปฏิวัติวิทยาศาสตร์เมื่อสามร้อยกว่าปีที่แล้ว นำมาซึ่งความเจริญก้าวหน้าทางเทคโนโลยีต่างๆ แต่เป็นความคิดความเข้าใจโลกที่มีลักษณะของโลกแบบแยกส่วน เน้นวัตถุ และเชื่อในความสามารถทำนายผลล่วงหน้าได้
ทำให้มนุษย์มีจิตเล็ก เข้าใจโลกอย่างแคบๆ
ส่วนกระบวนทัศน์ใหม่ที่กำลังเกิดขึ้นนั้นมองโลกอย่างเป็นองค์รวม ทำให้มนุษย์มีจิตสำนึกใหม่ (New Consciousness) หรือจิตที่ใหญ่ ที่ไม่บีบคั้น ไม่ขัดแย้งกับธรรมชาติ ก่อให้เกิดความเป็นอิสระ ความรัก และความสุข
สิ่งที่พวกเราทุกคนสามารถทำได้ก็คือ สร้างความเข้าใจในธรรมชาติของคำอธิบายโลกแบบเก่า ที่ใช้การไม่ได้ ต้องถูกแทนด้วยกระบวนทัศน์ใหม่
เราไม่ควรไปซ้ำเติม แต่ควรให้ความรัก และช่วยให้กระบวนทัศน์เก่าจากไปด้วยความมีศักดิ์ศรี
ในขณะเดียวกันก็ต้องพยายามเรียนรู้ เตรียมพร้อม และช่วยเหลือให้กระบวนทัศน์ใหม่หรือจิตสำนึกใหม่เกิดขึ้น
เรื่องที่คุณเดวิดเล่าเกี่ยวกับการดูแลการเกิด-การตายของกระบวนทัศน์ ชวนให้ผู้เขียนรู้สึกว่าเราเองต้องให้ความรักแก่กระบวนทัศน์เหมือนให้ความรักแก่คน ทั้งที่กำลังเกิดและกำลังจะตาย ผู้เขียนนึกถึงความรักรูปแบบต่างๆ ทั้งความรักที่เรามีให้แก่ผู้หลักผู้ใหญ่ คุณพ่อคุณแม่ (ยิ่งเพิ่งจะผ่านวันครอบครัวและวันผู้สูงอายุมาไม่นาน) รักที่เราให้มีกับแฟน (รวมทั้งแฟนคลับ) รวมรักที่มีให้แก่เด็กๆ และรักอื่นๆ อีกมากมายหลายเฉดสี
แล้ว "ความรักคืออะไร"
พอล เมย์คิช เพื่อนสนิทของผู้เขียนที่เป็นคริสเตียน นักคิด และหนอนหนังสือ เล่าให้ฟังว่า ชาวกรีกโบราณนั้นมีคำที่ใช้เรียกความรักถึงอย่างน้อยห้าคำ คือ storge, hybris, eros, philia และ agape
คำว่า storge (สตอร์เก้) เป็นคำเบาๆ ที่มีความหมายไปทาง "ชอบ" มากกว่ารัก
ส่วนคำว่า hybris (ไฮบริส) หมายถึงความรักตนเอง ที่เป็นฐานของความเย่อหยิ่ง
คำว่า eros (อีโรส) นั้นเป็นชื่อลูกของเทพอะโฟรไดท์ หรือวีนัส หรือที่คนมักรู้จักกันในชื่อ คิวปิดนั่นเอง คำคำนี้เป็นที่มาของคำว่าอีโรติกด้วย โดยทั่วไปหมายถึงความรักแบบโรแมนติก
อีกคำคือ philia (ฟิเลีย) เป็นความรักที่พบในมิตรภาพ ในหมู่เพื่อน ในครอบครัว รักพ่อรักแม่ หรือในมนุษยชาติ อย่างที่เมืองฟิลาเดลเฟียนั้น หมายถึงเมืองแห่งความรักของพี่น้องหรือภราดรภาพ
คำสุดท้ายคือ agape (อะกาเป้) ใช้ในความหมายถึงการได้รับ การให้ความเคารพ โดยมีนัยะถึงพระเจ้า ความรักแบบนี้ไม่ให้ความรู้สึกน่าทึ่ง อัศจรรย์ วูบวาบเหมือนรักแบบโรแมนติก หรือความรู้สึกอบอุ่นแบบฟิเลีย แต่กลับให้ความรู้สึกกลางๆ มีลักษณะไปทางจิตวิญญาณหรือจิตปัญญา ไม่มีสีสันไม่ปรุงแต่ง ไม่ติดยึด ไม่เรียกร้อง
ความรักแบบที่สี่และโดยเฉพาะแบบที่ห้านี้หรือเปล่าหนอ ที่ก่อให้เกิดความรักที่เป็นอิสระ ข้ามพ้นการแบ่งเขาแบ่งเรา แบ่งพรรคแบ่งพวก เป็นความรักแบบจิตใหญ่ที่แท้จริง
เรื่องความรักในการดูแลระยะสุดท้ายและทำคลอดกระบวนทัศน์ บวกกับเรื่องความรักห้าแบบของกรีก ทำให้ได้คิด ได้สัมผัสความลึกซึ้งและงดงามของความรักในรูปแบบต่างๆ
และที่น่าทึ่งคือทั้งสองเรื่องไม่ได้มีความหมายโดดๆ หรือขัดแย้งกัน แต่สอดประสาน ซ้อนเหลื่อม เสริมพลัง เหมือนกับให้ภาพที่ซ้อนชัดขึ้นๆ
ดังที่อาจารย์วิศิษฐ์ วังวิญญู อธิบายว่า เหมือนกลับมาที่เดิม ที่ไม่ใช่ที่เดิม เป็น spiral dynamic หรือแบบเกลียวสปริง เป็นการเรียนรู้ของสมอง ที่เป็นข่ายใย ไม่ใช่เชิงเส้น ทำให้เราเชื่อมโยงความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจต่างๆ ได้ดีขึ้น และในหลายบริบทมากขึ้น
ตัวอย่างเรื่องความรักนี้ยังทำให้ผู้เขียนได้สัมผัสชัดเจนขึ้นถึงถ้อยคำที่ว่ากระบวนทัศน์ใหม่นั้นไม่ได้ละทิ้งหรือปฏิเสธกระบวนทัศน์เก่า หากแต่ก้าวพ้นและครอบคลุม (transcend and include) คือ อธิบายของเดิมได้หมด
แถมยังอธิบายสิ่งอื่นได้เพิ่มอีกด้วย ดังเช่น การที่ความรักแบบอะกาเป้และฟิเลีย เข้าใจและโอบอุ้มความรักแบบอื่นๆ ไว้ได้หมด
ภายในประเทศของเราก็มีตัวอย่างรูปธรรมของกลุ่มคนที่พยายามเรียนรู้และประยุกต์ใช้ความรักและความรู้ในกระบวนทัศน์ใหม่เพื่อเข้าใจและแก้ไขปัญหาที่มีความซับซ้อนอยู่พอสมควร
อาทิ กลุ่มจิตวิวัฒน์ ที่ประกอบด้วยคณะผู้ทรงคุณวุฒิด้านจิตวิวัฒน์ กระบวนทัศน์ใหม่ และการสร้างเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ มีการพบปะกันทุกเดือนเพื่อศึกษาและเผยแพร่จิตสำนึกใหม่
กลุ่มเชียงราย-แพร่ เป็นเพื่อนๆ จากหลากหลายวิชาชีพ ที่ได้ลองเอาเรื่องราวความรู้เกี่ยวกับจิตใหญ่มาทดลองปฏิบัติกับตนเองในด้านต่างๆ ทั้งระดับบุคคลและองค์กร
หรือ กลุ่มปัญญาวิวัฒน์ (A Circle of Friends) ที่เริ่มก่อตัวจากเยาวชนไทยที่มีประสบการณ์ต่างประเทศ มีมุมมองหลากหลายจากสาขาวิชาต่างๆ ที่มีความรัก ความปรารถนาดี อยากสร้างสรรค์สิ่งดีๆ ให้กับประเทศและสังคมโลก
กลุ่มหลังนี้ตระหนักว่าปัญหาที่ท้าทายโลกยุคนี้แก้ด้วยจิตที่เล็กไม่ได้ จึงพยายามรวมตัวกันเรียนรู้ให้ข้ามพ้นความเป็นปัจเจก ความจำกัดของวิชาที่ตนเองเรียนมา และสร้างจิตใหญ่ร่วมกัน ล่าสุดกลุ่มนี้ก็ได้พยายามให้มีการใช้ "สุนทรียสนทนา" ในการเรียนรู้เข้าใจ และช่วยกันแก้ปัญหาในภาคใต้อีกด้วย
ตัวอย่างของกลุ่มที่มีความตั้งใจดี มีความรักเผื่อแผ่ถึงเพื่อนมนุษย์ พยายามเรียนรู้เพื่อขยายปริมณฑลของจิตให้กว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด มีจิตสำนึกใหม่ เช่นนี้ สังคมควรยกย่อง และส่งเสริมให้มีให้แพร่หลาย ทั้งกลุ่มเล็ก กลุ่มใหญ่ เชื่อมโยงกัน ดังที่อาจารย์ประเวศ วะสี ได้เสนอแนะไว้ ทั้งในระดับปัจเจกบุคคล-กลุ่ม-เครือข่าย (ปกค. หรือ INN:Individual-Node-Network)
เพราะจิตใหญ่นั้นนำมาซึ่งความรักและมิตรภาพอันไพศาล เป็นรากฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ทั้งระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติ
Subscribe to:
Posts (Atom)