ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 13 ธันวาคม 2552

งานประชุมวิชาการประจำปีจิตตปัญญาศึกษา ครั้งที่ ๒ “ทางเลือก หรือ ทางรอดของสังคม?” โดย ศูนย์จิตตปัญญาศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นงานที่ใช้กระบวนกร/วิทยากรมากที่สุดงานหนึ่ง นับรายชื่อศิลปิน นักปฏิบัติ นักคิด นักวิชาการที่ขึ้นเวทีสุนทรียสนทนา ปาฐกถา นำเสนอผลงาน จัดกระบวนการ ขับขานดนตรี อ่านบทกวี ในสองวัน ได้มากกว่า ๙๐ คน ต่างมาร่วมแบ่งปันเป้าหมาย ความหมาย รายละเอียด วิธีการ และรสชาติของกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญาตามความเข้าใจ ตามการใช้ชีวิตของตนเอง

งานประติมากรรมทางสังคมที่เกิดจากการถักทอเชื่อมร้อยการเดินทางของคนเหล่านี้ มีลักษณะร่วมกันที่สำคัญ คือ การช้าลง เข้าไปสัมผัสปัจจุบันขณะตรงๆ ผ่านงานผ่านการใช้ชีวิต ด้วยใจที่เปิดรับ และแบ่งปันประสบการณ์นั้นๆ ร่วมกัน

หัวใจ คือ การไปพ้นจากความคิด




อาจารย์เสกสรรค์ ประเสริฐกุล ที่ระยะหลัง นานๆ จะปรากฏตัวต่อสาธารณะสักที มองเรื่องจิตตปัญญาผ่านมุมมองของวิภาษวิธี (Dialectic) เทียบเคียงกับความเชื่อทางพุทธ ว่าไม่ใช่เอา anti -thesis ไปท้าสู้กับ thesis แต่ต้องใช้ synthesis ซึ่งในตัวมันมีลักษณะที่ทั้งใช่และไม่ใช่ thesis และ anti-thesis อยู่ด้วยแล้ว

ต้องข้ามพ้นเครื่องมือเก่า คือ ความคิด ไปเสีย ดังนั้น “วิธีจัดการความขัดแย้งภายใน ไม่ได้ทำโดยการเอาความคิดเรื่องการไม่มีตัวตนไปสู้กับความคิดเรื่องการมีตัวตน หากเอา ‘การไม่คิด’ เข้าไปแทนที่ ‘การคิด’ เสียมากกว่า”

งานนี้จึงอุดมไปด้วยผู้ที่มานำเวิร์คชอป จัดกระบวนการมากมาย แบ่งปันตัวอย่างช่องทางการเข้าถึงสภาวะดังกล่าว ผ่านงานอันหลากหลายของแต่ละคนแต่ละกลุ่ม อาทิ การตระหนักรู้สู่การเปลี่ยนแปลงตน (โดยกลุ่มจิตตปัญญาวิถี สถาบันขวัญแผ่นดิน) การภาวนา (เสถียรธรรมสถาน) การจัดดอกไม้และใช้ชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ (มูลนิธิเอ็มโอเอไทย) จิตอาสา (เครือข่ายพุทธิกา มูลนิธิพุทธฉือจี้) การรักษาและฟื้นฟูความสัมพันธ์ (สถาบันปลูกรัก) และอื่นๆ อีกมาก

เวทีสุนทรียสนทนา หัวข้อ “กล้าที่จะเลือก” มีตัวอย่างของคนที่อยู่ทั้งในและนอกระบบ แต่ก็กล้าที่จะ “ขบถ” เลือกวิธีการเดินทางของตนเอง โดยเฉพาะเมื่อมันแตกต่างแปลกแยกจากมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็นมาตรฐานองค์กร มาตรฐานสังคม หรือแม้กระทั่งมาตรฐาน “สากล” ที่สถาบันต่างๆ มักวิ่งตามกันอยู่

“ยิ่งมีรายละเอียดในความคิดมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งมีความขัดแย้งในใจมากขึ้นเท่านั้น เมื่อผมออกจากความคิด ... มาอยู่กับตัวเองง่ายๆ ไม่มีความขัดแย้งในตัวเอง ไม่ขัดแย้งกับคนอื่น จึงไม่มีความขัดแย้งกับธรรมชาติ” อาจารย์ประมวล เพ็งจันทร์ ผู้เขียนหนังสือ เดินสู่อิสรภาพ สะท้อนประสบการณ์กล้าที่จะเลือก และกล้าที่จะหยุดเอาไว้ในวงสุนทรียสนทนานี้

แล้วชาวจิตตปัญญา กล้าที่จะเลือกหรือยัง?

ใน “ปัญญาสู่ทางรอด” เวทีสุนทรียสนทนาปิดงาน อาจารย์วรภัทร์ ภู่เจริญ อธิบายว่าปัญญาเพื่ออยู่รอดอย่างเดียวคงไม่พอ ต้องอยู่ร่วม และอยู่อย่างมีความหมายด้วย ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับฐานกาย (มวยจีน โยคะ ชี่กง) ฐานใจ (ความสัมพันธ์ อารมณ์ความรู้สึก) นอกเหนือไปจากฐานคิด

“คนเรามีสมอง ใจ กาย แต่ทุกวันนี้เราหมดเวลาไปกับการคิด การเรียน” อาจารย์ฟันธงเอาไว้อย่างตรงไปตรงมา

อาจารย์เสกสรรค์ อาจารย์ประมวล และอาจารย์วรภัทร์ อาจารย์ทั้งสามได้มาดำรงอยู่ร่วมกันในเวทีแห่งนี้ ต่างคนก็ราวกับว่ามีวิถีของชีวิตที่แตกต่างกันมากเหลือเกิน ทว่าลึกลงไปแล้วทั้งสามล้วนมิได้ผิดแผกแตกต่างกัน มีการเดินทางด้านในร่วมกัน ขณะเดียวกันก็เป็นการเดินทางที่เฉพาะตนไม่เหมือนกัน

ทุกคนล้วนเดินทางบนเส้นทางจิตวิญญาณ และหนทางสายนี้ได้เป็นทั้งเป้าหมายและวิธีการ (The path is the goal) อันมีหัวใจร่วมกัน

วันหน้าหากมีใครถามนิยามว่าจิตตปัญญาศึกษาคืออะไร ผมอาจจะตอบว่า “จิตตปัญญาเป็นวิชาสิ้นคิด” ไง :-)

9000600












ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 28 พฤศจิกายน 2552


ในโลกไซเบอร์ อินเทอร์เน็ตเชื่อมโยงกันด้วยอิเล็กตรอน มีฟังก์ชันต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นทวิตเตอร์ แชท เอ็ม บล็อก บอร์ด ดิ๊ก วิดีโอแชร์ริง และอื่นๆ ผู้คนกลายเป็นที่รู้จักโด่งดังกันในชั่วข้ามคืน

สาวใหญ่ หน้าตาธรรมดา ซูซาน บอยล์ (Susan Boyle) จากเมืองเล็กๆ ในสกอตแลนด์ กลายเป็นดาราดังจากการประกวดร้องเพลง คลิปในยูทูปของเธอมีคนดาวน์โหลดชมถึงร้อยกว่าล้านครั้งแล้ว เธอมีความปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะเป็นนักร้อง และเป็นดั่งตัวแทนของตัวแทนผู้คนทั่วไปที่ตามค้นหาความฝัน

นิก วูจิซิซ (Nick Vujicic) เกิดออกมามีอาการผิดปรกติแบบเตตร้าอมีเลีย คือไม่มีแขนและขาทั้งสี่ เคยคิดจะฆ่าตัวตายตั้งแต่อายุสิบขวบ แต่เขาก็พบว่าเขาเองไม่ใช่คนเดียวที่ประสบกับความทุกข์ยากลำบากในชีวิต เขาค้นพบว่าศรัทธาเป็นดั่งบ่อน้ำอันศักดิ์สิทธิ์ที่ทำให้เขามีความสุขในการใช้ชีวิต มีพลังไม่เพียงแต่จะมีชีวิตต่อ แต่ยังสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกต่อผู้คนไม่ว่าจะเป็นผู้พิการหรือครบสามสิบสองอีกเป็นจำนวนมาก คลิปการบรรยายอันน่าประทับใจของเขาถูกคนโหลดดูเป็นล้านครั้งเช่นกัน

แต่บางครั้งอินเทอร์เน็ตก็ทำให้บางคนกลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้เรียกร้องอะไรบางอย่าง ไม่ว่าจะด้วยความตั้งใจหรือเต็มใจของเขาคนนั้นหรือไม่ก็ตาม

ปลายเดือนตุลาคม ๒๕๕๒ ชายคนหนึ่งเขียนขอความช่วยเหลือจากชุมชนเว็บบอร์ดพันทิป ห้องมาบุญครอง (ที่พูดคุยเกี่ยวกับโทรศัพท์มือถือ อุปกรณ์เสริม และผู้ให้บริการระบบ) โดยตั้งหัวข้อกระทู้ว่าเบอร์โทรศัพท์ของตนถูกขโมยซึ่งๆ หน้าจากผู้ให้บริการมือถือรายใหญ่ที่สุดบริษัทหนึ่ง

เรื่องมีอยู่ว่าเบอร์ของเขาเป็นเบอร์สวย หมายเลข 08X9000600 (มูลค่าตลาดน่าจะเกินครึ่งแสน) อยู่สองหมายเลข เติมเงินใช้ได้ถึงปี ๒๕๕๓ แต่จู่ๆ ก็พบว่าเบอร์ของเขาไม่สามารถใช้งานได้ ศูนย์บริการแจ้งว่าเบอร์นี้ไม่มีในระบบ วันถัดมาไปติดต่อที่ศูนย์ใหญ่ก็พบว่าเบอร์ของตนถูกเปิดใช้บริการโดยคนอื่นไปเรียบร้อยแล้ว เจ้าของกระทู้บอกว่า “อยากได้เบอร์นี้คืนมากๆ เพราะมันมีความหมายกับผมมากๆ (ดูจากชื่อล็อกอินของผมก็ได้)”

เท่านั้นแหละครับ ปรากฏการณ์การเคลื่อนไหวเรียกร้องยุคดิจิตอลก็เกิดขึ้นเหมือนไฟลามทุ่ง ผู้คนทั้งทวิต บล็อก เอ็ม แชท ฟอร์เวิร์ดเมล และอื่นๆ มีคนเขียนลงหนังสือพิมพ์ เป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง กระทู้ถูกโหวตดันขึ้นให้เป็นกระทู้แนะนำของห้องอย่างรวดเร็ว บางช่วงกระทู้แนะนำของห้องเป็นกระทู้ที่เกี่ยวเนื่องกับกรณี 9000600 เกือบทั้งหมด หากนับรวมความคิดเห็นต่างๆ ก็คงเป็นจำนวนหลายพัน

ชายผู้มีล็อกอินว่า “#เก้าพันหกร้อย#” กลายเป็นสัญลักษณ์ของการต่อสู้ของคนเล็กคนน้อยกับบริษัทยักษ์ใหญ่ ที่คนเชื่อ (จากข้อมูลเท่าที่ได้รับมา) ว่าเอาเปรียบผู้บริโภค

มีการตั้งกระทู้โหวตว่าควรทำอย่างไร ผลออกมาว่าเกือบ ๘๐ เปอร์เซ็นต์ เห็นว่าควรฟ้องร้อง ในขณะกลุ่มที่คิดว่าควรรอจนได้เบอร์คืน หรือรับข้อเสนออื่น มีเพียงอย่างละสิบกว่าเปอร์เซ็นต์เท่านั้น

กลางเดือน พฤศจิกายน ๒๕๕๒ เหตุการณ์มาถึงข้อสรุปที่ว่า ทางคุณ #เก้าพันหกร้อย# ยอมรับข้อเสนอจากบริษัท เนื่องจากหมายเลขเดิมคงไม่สามารถใช้ได้อีก เพราะมีคนโทรเข้ามาเยอะมาก จึงเลือกรับเบอร์ใหม่ ซึ่งแม้จะไม่สวยเท่าเดิม แต่ก็พอใจ “ต้องยอมรับว่า ผมไม่มีความพร้อมที่จะดำเนินการฟ้องร้อง เนื่องด้วยภาระหน้าที่ในชีวิตประจำวัน เวลา และอื่นๆ” และลงท้ายว่า “สุดท้ายนี้ ผมขออภัยเพื่อนๆ ในบอร์ด ทุกๆ คนครับ หากการตัดสินใจของผมอาจจะไม่ถูกใจของใครหลายๆ คน ผมยอมรับคำตำหนิของทุกความเห็นครับ ผมจึงขออนุญาตจบเรื่องนี้แต่เพียงเท่านี้ครับ ขอขอบคุณทุกๆ ความคิดเห็น ทุกๆ กำลังใจ ทุกๆ คนที่ติดตาม และช่วยเป็นปากเป็นเสียงให้ผม ขอบคุณทุกๆ คนมากจริงๆ ครับ”

อนิจจา เหตุการณ์ยังไม่จบลงเพียงเท่านี้ แม้กองเชียร์ส่วนหนึ่งจะรู้สึกยินดีด้วยกับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ในขณะที่คนอีกจำนวนไม่น้อยกลับรู้สึกว่าตนเองถูกหลอกใช้ให้เรียกร้องต่อรองกับบริษัทเท่านั้น เรียกง่ายๆ ว่า “เซ็งเป็ด” เกิดกระทู้วิเคราะห์ วิพากษ์ วิจารณ์อีกมาก ด่าทอเจ้าของเบอร์อย่างรุนแรง โดยเฉพาะความเชื่อว่าเรื่องนี้อาจเป็นกรณีตัวอย่างสร้างบรรทัดฐานแย่ๆ สำหรับการเรียกร้องให้กับผู้บริโภค เพราะแทนที่บริษัทจะทำในสิ่งที่คนส่วนใหญ่คิดว่าถูกต้อง คือคืนเบอร์ให้กับเจ้าของ แต่กลับไปตกลงต่อรองยอมความกันเอง

ที่น่าตกใจ คือ ปรากฏการณ์ที่หลายคนบอกว่าหากในอนาคตเกิดเหตุการณ์เช่นนี้จะไม่ยอมไปร่วมเรียกร้องอะไรอีกแล้ว อยู่แบบตัวใครตัวมันดีกว่า หรือถ้าจะทำจริงก็ต้องคิดหลายตลบก่อน

กรณีนี้น่าสนใจ เพราะคงไม่ได้เป็นกรณีสุดท้ายแน่นอน

มีสิ่งดีงามมากมายเกิดขึ้นจากเหตุการณ์ครั้งนี้

คุณ #เก้าพันหกร้อย# ได้รับน้ำใจจากผู้คนจำนวนมาก ช่วยผลักดันให้เกิดทางออกที่เขายอมรับได้

บริษัทมือถือได้รับบทเรียนว่าการขโมยเบอร์ของผู้ใช้กลับไปไม่สามารถทำได้ง่ายๆ ผลประโยชน์อันใดที่ได้รับไม่คุ้มกับต้นทุนทางสังคมจำนวนมหาศาลที่เสียไปแน่นอน

กองเชียร์ทั้งหลายก็ได้เห็นถึงพลังของคนเล็กคนน้อยที่ช่วยกันเรียกร้องจนผู้เสียหายได้รับการตอบแทน

เราควรเรียนรู้และหาข้อสรุปที่สร้างสรรค์ของกรณีเช่นนี้ให้ดี อนาคตของเราและสังคมเราจะเป็นอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับจิต (consciousness) ของเรา จิตของเราเป็นอย่างไรขึ้นกับเราใส่เหตุอะไรเข้าไป

การเรียกร้องความยุติธรรมนั้นเป็นสิ่งที่ดี หากว่าเราทำควบคู่ไปกับการสะท้อนใคร่ครวญภายใน จนเราเข้าใจผู้อื่น เข้าใจตนเอง ลดละอัตตาและเท่าทันความคาดหวังของตนเอง ย่อมเป็นการเรียกร้องที่ยิ่งงดงามมากขึ้น

“ไม่มีใครทำให้คุณรู้สึกต่ำต้อย โดยปราศจากความยินยอมพร้อมใจของคุณ” (Eleanor Roosevelt) มิใช่หรือ

ความรู้สึกแย่ๆ ของเราเป็นสัดส่วนโดยตรงกับช่องว่างระหว่างคาดหวังกับความจริง ความคาดหวังของเราที่อยากจะให้ใครบางคน บริษัทบางแห่ง หรือเหตุการณ์บางอย่าง ได้เป็นไปตามที่เราต้องการ กับความเป็นจริงที่เราพบว่ามันกลับไม่เป็นเช่นนั้น

เราอาจเชียร์ให้คุณ #เก้าพันหกร้อย# เป็นตัวแทนหรือผู้นำการเปลี่ยนแปลงได้ (เพราะเป็นการตัดสินใจของเรา) แต่เราคงไม่สามารถบังคับให้เขาเป็นหรือทำดังใจเราต้องการได้ (เพราะเป็นการตัดสินใจของเขา) ความทุกข์ในใจเราอาจเกิดจากใจยังไม่ยอมรับความแตกต่างในข้อนี้ใช่หรือไม่

การแบ่งปันและร่วมกันสร้างการเรียนรู้ให้สังคมเช่นนี้มีความสำคัญ หากเราอุปโลกน์ให้ใครเป็นผู้นำ (ไม่ว่าโดยความตั้งใจหรือยินยอมหรือไม่) แล้วเขากลับไม่ทำตามใจเรา เราก็ด่าทอเขา สาดเสีย เทเสีย อนาคตจะมีใครยอมเป็นผู้นำเล่า หากถูกรัฐหรือบริษัทเอารัดเอาเปรียบ เขาอาจจะก้มหน้ายอมรับแล้วเฉยๆ ไป เพียงเพราะเกรงว่าเขาไม่อาจทำตัวได้เทียบเท่ากับความคาดหวังของกองเชียร์

สังคมที่หล่อเลี้ยงดูแลกันสร้างได้ด้วยการที่เราทุกคนกลับมาเริ่มที่ตนเอง ไม่ยกภาระการเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงทั้งจิตสำนึกและการกระทำไปให้ผู้อื่น ไม่ยอมให้ตนเองใช้การกระทำของผู้อื่นที่ไม่ตรงกับใจของเรามาเป็นเหตุผลในการที่เราจะไม่ทำในสิ่งที่เราควรทำ

เราสามารถประสบผลสำเร็จอันน่าทึ่งมากมาย หากว่าเราทำโดยไม่คาดหวังผล


เมื่อกลางปีที่แล้ว คุณรสนา โตสิตระกูล มาเล่าเรื่องแบ่งปันประสบการณ์การเดินทางของเธอให้กลุ่มจิตวิวัฒน์ฟัง (บันทึกการประชุมจิตวิวัฒน์ทั้งหมดสามารถหาอ่านได้ที่ sph.thaissf.org) เธอเล่าถึงประสบการณ์การทำงานร่วมสามสิบปีกับโครงการสมุนไพรเพื่อการพึ่งตนเอง (“ต้องเน้นคำว่าเพื่อการพึ่งตนเองนะ” เธอว่า) รู้สึกพอจะมีความสำเร็จอยู่บ้าง แต่เมื่อระบบประกันสุขภาพเข้ามา ประชาชนกลับเลิกพึ่งตนเอง หันไปพึ่งหน่วยงานรัฐเหมือนเดิม ทำให้เธอท้อแท้มาก

ภายหลังเธอนึกถึงหนังสือ ตำนานของซิเซฟัส (The Myth of Sisyphus) ของ อัลแบร์ กามู (Albert Camus) ที่พูดถึงซิเซฟัส ตัวละครในตำนานเทพปกรณัมกรีก ผู้ถูกสาปให้ทำงานที่ดูเหมือนจะไม่มีความหมาย คือเข็นก้อนหินขึ้นไปยอดเขา เพียงเพื่อให้มันไหลกลับลงมาอีก “วันหนึ่ง ขณะซิเซฟัสเข็นหินขึ้นภูเขา เขาได้พบดอกไม้เล็กๆ ที่บานสะพรั่งอยู่ริมทางแล้วพลันก็มีความสุข มนุษย์อาจจะเป็นอย่างนั้น” หรืออย่างในหนังสือของกามูจบลงตรงที่ว่า การต่อสู้โดยตัวมันเองแล้วก็เพียงพอที่จะเติมเต็มหัวใจของมนุษย์

อีกเรื่องหนึ่งที่สังคมไทยควรได้ร่วมรับรู้อย่างยิ่ง ก็คือกรณีการยับยั้งไม่ให้นำการไฟฟ้าฝ่ายผลิต (กฟผ.) เข้าตลาดหุ้น หลายคนไม่เห็นด้วยกับเธอที่จะต่อสู้ เธอพูดเล่นๆ ว่า “เธอไม่เคยฟัง ภาษิตจีนเหรอว่า ‘ความพยายามอยู่ที่คน ความสำเร็จอยู่ที่ฟ้า’ เรากำหนดไม่ได้หรอกว่าความสำเร็จจะมาได้อย่างไร แต่หน้าที่ของเราคือพยายามไปก่อน” หรือ “ประชาชนมีแต่กำไรกับเสมอตัวเท่านั้น ไม่มีอะไรขาดทุน”

ตอนศาลตัดสินยับยั้ง ผู้คนต่างตื่นเต้นยินดี นักข่าวมาสัมภาษณ์ว่าตอนที่ทำคาดหวังไหมว่าจะชนะ เธอว่าเปล่าเลย ไม่ได้คาดหวังว่าจะมันจะต้องชนะ

นักข่าวถามอีกว่า “ถ้าไม่คิดว่าจะชนะแล้วสู้ทำไม”

เธอตอบไปว่า “อ้าว ... มีแต่เรื่องที่ชนะเท่านั้นหรือที่คุณจะสู้?”

จริงสินะ หรือว่าชีวิตนี้มันดีตรงที่มันได้สู้ ได้ลงมือทำ ไม่ใช่แค่ตรงที่มันต้องได้ผลชนะเท่านั้น

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552

ในชีวิตของคนเราล้วนเต็มไปด้วยคำถาม นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาในเวลาเช้า เรานึกขึ้นในใจทันทีว่า “นี่มันกี่โมงแล้วนะ?” แม้ในระหว่างอาบน้ำแต่งตัวก็ยังไม่วายได้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “วันนี้จะใส่เสื้อตัวไหนสีอะไรดี?” จนช่วงเพลินๆ ระหว่างการเดินทางไปทำงาน ในใจพลอยคิดไปแล้วว่า “งานที่ยังทำค้างอยู่จะเร่งให้เสร็จทันวันนี้ไหม?” “เช้านี้จะส่งลูกไปทันเวลาไม๊นะ?” ยิ่งช่วงนี้ใกล้จะสิ้นปี มักมีคำถามทำนองว่า “จะได้ขึ้นเงินเดือนสักเท่าไหร่?” หรือ “อนาคตการงานของเราจะไปได้ในในบริษัทนี้หรือเปล่า?” จนเย็นทำงานเลิกค่ำเรายังมีคำถาม “ทำงานหนักขนาดนี้ไปทำไมกัน?” หรือบางครั้งก็เป็นคำถามที่มาตามสถานการณ์แต่ละช่วงของชีวิต เช่น ตกลงจะซื้อบ้านดีไหม? โรคที่เป็นควรจะผ่าตัดหรือรักษาด้วยวิธีอื่น? ไปเรียนต่อดีไหม?



คำถามเหล่านี้ล้วนมีระดับความยากง่ายและความซับซ้อนของเรื่องราวต่างกันไป บางคำถามก็อยู่ในภาวะที่เราต้องตัดสินใจลงมือกับสถานการณ์ตรงหน้า บางคำถามเป็นแค่เรื่องที่ต้องคิดอย่างเป็นประจำทุกวัน เป็นคำถามที่ตัดสินใจตอบหรือเลือกแล้วก็จบกันไปในแต่ละครั้ง แต่ว่าบางคำถามกลับยังซุกซ่อนและวนเวียนในใจ และคำถามเช่นนี้ก็มีพลังในการผลักดันการตัดสินใจ การเลือกใช้ชีวิตของเราเอง

ในการฝึกอบรมด้วยกระบวนการแบบจิตตปัญญาซึ่งเน้นการมีสติ การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ ผมและเพื่อนกระบวนกรมักจัดกิจกรรม “คำถามสำคัญ” ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทบทวนว่า อะไรคือคำถามสำคัญในการเดินทางของชีวิต อะไรคือคำถามที่ผลักดันหรือ drive ชีวิตเขา หรืออาจจะพูดได้ว่า ชีวิตของเขาที่ดำเนินอยู่นี้เป็นไปเพื่อตอบคำถามอะไร

เมื่อทุกคนได้แบ่งปัน อ่านคำถามของตนทีละคน เราได้ยินทั้งคำถามที่ดูเรียบง่าย เช่น “ทำงานไปเพื่ออะไร” มีคำถามที่เป็นเรื่องของครอบครัว เช่น “ฉันจะดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุดได้อย่างไร” “ลูกจะเป็นยังไงบ้างในตอนนี้” “ฉันจะหาสมดุลของชีวิตงานและชีวิตครอบครัวได้อย่างไร” ไปจนถึงคำถามที่พยายามสืบค้นหาความหมายของชีวิต เช่น “อะไรคือความสุขของชีวิต” “เราเกิดมาทำไม” “เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตเราคืออะไร”

คำถามหลากหลายเหล่านี้ล้วนถูกเอ่ยออกมาจากปากของผู้คนทุกแบบทุกระดับนับแต่ลูกจ้างชั่วคราว ครูอาจารย์ ไปจนถึงผู้บริหารผู้นำองค์กร แม้ถ้อยคำจะดูแตกต่างกันมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเราล้วนคล้ายคลึงกันเหลือเกิน สิ่งที่เราครุ่นคิดคำนึงถึงล้วนผูกพันกับชีวิตและการดำรงอยู่ของแต่ละคนอย่างยิ่ง

ช่วงเวลาการรับฟังคำถามสำคัญของเพื่อนร่วมองค์กร เพื่อนร่วมทางเดินชีวิตนี้ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความงดงาม ทรงพลัง และน่าทึ่ง เราต่างร่วมเป็นประจักษ์พยานในการเผยถึงคำถามสำคัญในชีวิตของตน

แม้ว่าการอบรมหลายครั้งจะมีผู้เข้าร่วมมาจากองค์กรเดียวกัน มีความคุ้นเคยกันดี แต่กระบวนการนี้กลับทำให้เราทุกคนได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้งในมิติแง่งามที่หลากหลายต่างกันและทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นไปทุกครั้ง ได้เข้าใจกันว่าทำไมแต่ละคนถึงเป็นเช่นนั้น และไม่เพียงรู้จักผู้อื่น เรายังได้รู้จักตัวของเรามากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากคำถามสำคัญในชีวิตของเรานี้เอง

หลังจากนั้น ผมมักอ่านตัวอย่างคำถามสำคัญในชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากชั้นเรียนที่ผมใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา ดังเช่น “จบแล้วทำอะไร ไปไหน?” “ทำไมถึงต้องมานั่งเรียนหนักขนาดนี้ ผลักดันตัวเองไปทำไม?” “สิ่งที่เราเลือกและทำจะเป็นที่พอใจของพ่อแม่รึป่าว?” “ทำอย่างไรชีวิตถึงจะมีความสุข?” เราเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนไม่ว่าคำถามของคนในวัยทำงานหรือคำถามของนักศึกษาก็ไม่ต่างกัน ไม่มีคำถามไหนที่ผิด เล็กเกินไป ไม่มีความหมาย หรือไม่มีความสำคัญ ล้วนเป็นคำถามที่ “จริง” ทั้งสิ้น

การศึกษาจะเป็นการศึกษาที่มีความหมาย ผู้เรียนให้คุณค่า ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอยากไปโรงเรียน อยากไปมหาวิทยาลัย นักเรียนนักศึกษารักและตั้งใจในการเรียน ก็ต่อเมื่อการศึกษานั้นเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญในชีวิตของเขาได้ ไม่ใช่ทำให้เขาเพียงแค่เรียนเพื่อสอบ

งานจะเป็นงานที่มีความหมาย คนทำงานให้คุณค่า ตื่นเช้าขึ้นแล้วอยากไปที่ทำงาน ทำให้เขารักและตั้งใจในการทำงาน ก็ต่อเมื่องานนั้นเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญในชีวิตของเขาเช่นกัน ไม่ใช่ทำให้เขาทำงานเพียงเพื่อหาเงินเท่านั้น

กระบวนการเรียนรู้และการทำงานแบบจิตตปัญญาที่มีความหมาย จึงต้องเป็นกระบวนการที่เข้าไปดูแล (address) มีความสัมพันธ์ (relate) เชื่อมโยง (connect) หรือทำความชัดเจน (clarify) ให้แก่คำถามสำคัญที่ผลักดันการดำเนินชีวิตของเรา ... แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ตอบคำถามสำคัญของเราในตอนนี้ก็ตาม

เพ้อฝัน















ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2552

เหมือนขึ้นรถไฟเหาะทางอารมณ์

จากใบประเมินที่ผมให้นักศึกษาปีหนึ่ง มหิดล หลายคณะ เขียนสะท้อน “อะไรก็ได้” โดยที่ไม่ต้องลงชื่อและไม่มีผลต่อคะแนน หลังจากจบชั่วโมงบรรยาย ๑๒ ชั่วโมงของวิชาชีววิทยาเบื้องต้น

“ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่จะแทนความประทับใจ ความขอบคุณให้แก่อาจารย์ ... ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มอบทางสว่าง ไม่สิ ขอบคุณที่ทำให้ผมเห็นจุดหมาย ก่อนมาที่นี่ ผู้คนมากมายถามผมว่ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอาชีพอะไร ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในใจน่ะหรอ ไม่เลย ไม่รู้เลยจริงๆ” (อรรถพล อ.)

“เริ่มรู้สึกว่าการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อเป็นที่ 1 คณะ หรือได้คะแนนเกินมีนมาเยอะๆ แต่มันประกอบด้วยการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักธรรมชาติ รู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง เกรดก็สำคัญ แต่เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีอะไรให้ชีวิตเราค้นหามากกว่านั้น มันคือความสุขของชีวิต เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องสนใจว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องการ มีรายได้ดี ขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับที่สอนแนวคิดดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้ผมครับ” (จิรพงศ์ บ.)

เมื่อเราเปิดพื้นที่ให้กับอารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ และความรัก พลันสิ่งที่ปรากฏขึ้นในห้องเรียนอย่างเรียบง่ายและงดงามก็คือ ความเป็นมนุษย์ อันเรียบง่ายและงดงามเช่นเดียวกัน

นักศึกษาแบ่งปันบางส่วนของชีวิตที่มีทั้งความสุข ตื่นเต้น ในการเรียนรู้และความทุกข์ในการสอบ

จำนวนไม่น้อยระบายความอัดอั้นตันใจจากระบบการศึกษาที่ทำให้คนครึ่งหนึ่งรู้สึกโล่งอก เพราะคะแนนสอบกลางภาคผ่านมีน (คะแนนเฉลี่ย) ส่วนอีกร้อยกว่าคนรู้สึกเซ็งเป็ด พยายามเอาตัวรอดในระบบที่ต้องดิ้นรนเกือบตลอดเวลา เพียงเพื่อจะให้ไม่ “ตกมีนหัวแตกตาย”

บ้างโหยหาอ้อมกอดและความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้อยู่แดนไกล เพราะต้องอยู่ห่างบ้านเป็นครั้งแรก

บ้างมีความรักให้ผู้อื่น แม้ตนเองจะเรียนในคณะที่คะแนนไม่สูงและไม่มั่นใจกับคุณค่าภายในของตนเอง “ผมขอให้อาจารย์ดูแลน้องของผมในปีหน้าดีๆ นะคร้าบ ผมเชื่อว่าอาจารย์ทำได้ เท่าที่ผมเรียนมาอาจารย์บางท่านท่านพูดออกมาเลยว่า ‘ไม่มีอาจารย์คนไหนอยากสอน [คณะของผม]’ แต่ผมว่าอาจารย์ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น จิงป่าวคราาบ” (สุทธิศักดิ์ ป.)

ความทุกข์ ความกังวลใจถูกระบายออกมาให้คนที่เขาเชื่อว่าฟังเขา โดยไม่ได้ตัดสินเขา แม้ว่าเพิ่งจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันแค่สิบกว่าชั่วโมงในห้องบรรยาย อ่านไปร่วมสี่ร้อยแผ่นเล่นเอาผมน้ำตาซึม กับความสดใส ตรงไปตรงมาของพวกเขา กับความทุกข์-ความสุขของคนที่อยู่ในวัยแสวงหาและเติบโต กับความไว้วางใจที่เขามอบให้

อันที่จริงผมได้ลองพยายามผสานเอาแนวคิดจิตตปัญญา (Contemplative Learning /Education) เข้าไปในมิติต่างๆ ของชีวิต ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน การเรียนการสอน ทั้งวิชากึ่งปฏิบัติการชั้นปีสูงๆ และวิชาบรรยายชั้นปีหนึ่งห้องละ ๒๐๐ กว่าคน แล้วก็วิชาบรรยายเช่นนี้แหละที่ดูเหมือนจะท้าทายทั้ง ความหวังและจินตนาการอย่างยิ่ง

บางครั้งก็ต้องหยุดตั้งคำถามกับตนเอง เมื่อผู้หวังดีซึ่งมีประสบการณ์กับระบบการศึกษาไทยมายาวนาน ได้ช่วยประเมินเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ เพื่อสร้างสมดุลของการรับรู้และเรียนรู้ทั้งตนเองและโลกภายนอกนี้ ให้อย่างสั้นๆ กระชับได้ใจความว่า “เพ้อผัน” ไม่มีหวังหรอกกับระบบและสถานการณ์โลกความเป็นจริงอย่างเช่นในปัจจุบัน

ผมพลันนึกถึงคำที่ สาทิศ กุมาร (หนังสือ มีเธอจึงมีฉัน: คำประกาศแห่งการพึ่งพา) ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The Guardian (๑๖ มกราคม ๒๐๐๘) ไว้ว่า “ดูผลงานที่พวกอยู่ในโลกความเป็นจริงทำกับพวกเราสิ เขานำเราไปสู่สงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความยากไร้เกินจะคาดคิด และระบบนิเวศอันย่อยยับ มนุษยชาติครึ่งหนึ่งหลับไปพร้อมกับความหิวโหย เป็นเพราะบรรดาผู้นำที่ติดอยู่ในโลกความเป็นจริงเหล่านี้นี่แหละ ฉันบอกกับคนที่เรียกฉัน ‘เพ้อฝัน’ ให้ช่วยแสดงให้ดูด้วยว่าความเชื่อในโลกความเป็นจริงของเขานั้นมีผลอะไรบ้าง มันเป็นความเชื่อที่ล้าหลัง ถูกใช้จนเกินเลย และโอ้อวดจนเกินจริง”

บางทีคำว่าเพ้อฝันอาจเป็นคำชมว่าเราเป็นผู้มีความหวังและจินตนาการก็เป็นได้

“อาจารย์ ... อาจารย์ สิ่งที่อาจารย์ให้มันมากกว่าคำว่าความรู้ มากกว่าสิ่งที่เคยได้จากห้องเรียน ต่างจากที่เคยรู้สึกในทุกๆ วัน อาจารย์เชื่อไหมว่าเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดชอบชีวะเลย ... คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้กลับอยากเข้าห้องเรียน อยากมานั่งฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ... มันสนุกนะ ถามว่าอะไรโดนเหรอคะ โดนตรงที่มันเปลี่ยนความคิดของคนได้ เนี่ยหล่ะโดนสุด” (ไม่ลงชื่อ)

ใช่หรือไม่ต้องเอาไปลองฝันดู :-)

ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์
ฉบับประจำวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๕๒

“ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่จะแทนความประทับใจ ความขอบคุณให้แก่อาจารย์ ทึ่งในตัวอาจารย์มาก ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มอบทางสว่าง ไม่สิ ขอบคุณที่ทำให้ผมเห็นจุดหมาย ก่อนมาที่นี่ ผู้คนมากมายถามผมว่ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอาชีพอะไร ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในใจน่ะหรอ ไม่เลย ไม่รู้เลยจริงๆ ว่าตนเองต้องการเป็นแบบไหน” (อรรถพล อ.)




“ไม่มีงานเลี้ยงใดไม่เลิกรา” ผมนึกถึงสำนวนนิยายจีนของโกวเล้ง

ภาคการศึกษานี้ อาจจะเป็นภาคการศึกษาสุดท้ายของผมในการเลกเชอร์ให้กับนักศึกษาปีหนึ่งของมหิดล การสอนบรรยายให้นักศึกษาห้องละสองร้อยกว่าคน หลายคนมองว่าเป็นเรื่องน่าเบื่อ เบื่อกันทั้งคนสอนและคนเรียน ก็น่าเห็นใจอยู่หรอกนะ กับระบบการศึกษาที่ท่องไปเพื่อคะแนน เรียนไปเพื่อสอบ

แต่สำหรับผมแล้ว การไปสอนเลกเชอร์เป็นการเติมเต็มความหมายของชีวิต การได้เปลี่ยนบทบาทจากเมื่อยี่สิบปีที่แล้ว เคยนั่งหันหน้าหากระดานดำ เรียนบ้าง จดบ้าง คุยบ้าง หลับบ้าง แอบกินขนมบ้าง กลับมายืนหน้าห้องบรรยายห้องเดิม แต่ครั้งนี้หันหน้าไปทางหลังห้อง เหมือนมองย้อนกลับไปจนเห็นตนเองในอดีต มันเปรียบดั่งการจาริกไปสู่ต้นกำเนิดแห่งตัวตนของผมเอง

ไม่มีวันไหนแม้แต่วันเดียวที่ไม่อยากไปสอน ฝนตก แดดออก รถติด ถนนว่าง วันเดินทางไปศาลายาเป็นวันที่ตื่นเต้น อุดมไปด้วยโอกาสและความเป็นไปได้ ไม่มีสองวันไหนที่เหมือนกันเลย

ยิ่งปีสุดท้ายปีนี้ด้วยแล้ว เลกเชอร์แต่ละครั้งยิ่งมีความหมายกับผมอย่างมาก

ผมรู้ว่าจะทำให้ดีที่สุด แต่ไม่เคยรู้เลยว่าผลจะออกมาอย่างไร และการที่ไม่รู้ว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไรนี่ด้วยกระมังที่ทำให้มันน่าตื่นเต้นเข้าไปใหญ่





คืนก่อนหน้า ผมมักจะนั่งทำ PowerPoint อย่างบรรจง เตรียมเล่าข่าวสดๆ ทันเหตุการณ์ที่เชื่อมโยงกับเนื้อหา เลือกรูป เลือกสไลด์ เลือกคลิปด้วยความพิถีพิถัน จนบางทีสงสัยว่าย้ำคิดย้ำทำเกินไปหรือเปล่า แต่เมื่อคิดว่ากับช่วงเวลาสั้นๆ ๖ สัปดาห์ สัปดาห์ละ ๒ ชั่วโมง แต่ละนาทีนับว่ามีความหมายไม่น้อย

อันที่จริง ๑๒ ชั่วโมง กับเนื้อหา ๑๑ บท ๑๙๘ หน้าแล้ว มันง่ายมากเลย ที่คนสอนอย่างเราๆ จะเดินทางเข้าสู่ร่องของการเรียนรู้ที่เราคุ้นเคยตั้งแต่สมัยเราเป็นนิสิตนักศึกษาเอง เพราะลำพังแค่สรุปเนื้อหาในหนังสือมาสอนก็แทบจะไม่ทันแล้ว “ไม่ใช่แต่ พูดๆ ไปตามหนังสือ พอเสร็จ เด็กก็ไปคายๆๆ ในห้องสอบ ใครจำได้มากได้คะแนนมาก หนูรู้สึกว่ามันไม่ค่อยแฟร์เท่าไหร่” (รหัส 520517X)

หรือว่าเราต้องเชื่อว่านักศึกษาเขาเรียนรู้เองได้ รับผิดชอบตนเองได้ หากว่าเขาต้องการ ถ้าเช่นนั้น ความท้าทายของเราอาจจะไม่ได้อยู่ที่การพยายามอัดหรือยัดเนื้อหาให้ได้มากที่สุด แต่อยู่ที่การทำให้เขาเห็นคุณค่า ความหมาย ความสำคัญ ความน่าทึ่ง ในโอกาสและวิชาที่อยู่เบื้องหน้าเขา

หากเราเชื่อในเจตจำนงอิสระของมนุษย์แต่ละคน และสามารถโยงสิ่งที่เขาเรียนเข้ากับชีวิตของเขาได้ ก็คงไม่ต้องขู่เข็ญใครให้มาเข้าเรียน รวมไปถึงบังคับข่มขู่ด้วยระบบคะแนน

ผมสนุกกับการสร้างความหมายใหม่ให้กับวิชาชีววิทยา วิทยาศาสตร์ การเรียนรู้ และการมีชีวิต ร่วมกันไปกับรุ่นน้องคณะ เชื้อเชิญอารมณ์ ความรู้สึก ความมีชีวิตชีวา ความเป็นมนุษย์กลับเข้ามาสู่การเรียนรู้อีกครั้ง (โดยไม่ได้พูดถึงคำว่า จิตตปัญญาศึกษา, Contemplative Education หรือ Humanized Educare เลย) เชิญชวนให้เขาตั้งคำถามกับสิ่งที่เขาเรียน วิธีการที่เขาเรียน และเป้าหมายของการเรียนของเขา (สไลด์แรกสุดคือคำถามว่า “จะเรียนไป ... ทำไม?”)

แน่นอน นักศึกษาจะรู้สึกงงๆ ในตอนต้น

“แรกๆ ผมก็โดด คิดว่าไปอ่านเองแล้วจะได้อะไรมากกว่า แต่หลังๆ ก็เริ่มเข้า [เรียน] ทำให้รู้สึกว่าไม่น่าโดดเลย อาจารย์สอนอะไรมากกว่าในหนังสืออีก ทำให้ผมเริ่มรู้สึกว่าการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อเป็นที่ 1 คณะ หรือได้คะแนนเกินมีนมาเยอะๆ แต่มันประกอบด้วยการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักธรรมชาติ รู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง เกรดก็สำคัญ แต่เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีอะไรให้ชีวิตเราค้นหามากกว่านั้น มันคือความสุขของชีวิต เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องสนใจว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องการ มีรายได้ดี ขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับที่สอนแนวคิดดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้ผมครับ” (จิรพงศ์ บ.)

ทุกครั้ง ก่อนหมดคาบ ๑๐ นาที ผมให้ทุกคนเขียนสะท้อนว่า ๑) สิ่งสำคัญที่สุดที่เขาได้เรียนรู้ หรือสิ่งที่เขารู้สึก “โดน” ที่สุดในวันนั้นคืออะไร และ ๒) เขามีอะไรที่อยากจะถาม/รู้/บอก/แนะนำ แต่ละสัปดาห์ผมจึงมีกระดาษสองร้อยกว่าแผ่นกลับบ้าน ผมอ่านทุกใบด้วยความสนใจใคร่รู้ อยากรู้จักแต่ละคน อยากเข้าใจในที่มาของแต่ละคน ผมคัดไว้จำนวนหนึ่งเพื่อมาอ่านตอนต้นชั่วโมงถัดไป ทั้งข้อคิดเห็น คำบ่น คำแซว คำชม โดยเฉพาะคำถาม ซึ่งผมมักตอบบ้าง ไม่ตอบบ้าง “อย่าฆ่าคำถามดีๆ ของเขา ด้วยคำตอบห่วยๆ ของเรา” ผมเตือนตนเอง

วันนี้วันสุดท้ายแล้ว ผมชวนนักศึกษาทำ Intuitive Writing ให้เขาได้แบ่งปัน “อะไรก็ได้” เพื่อสะท้อนสิ่งที่เกิดขึ้นจากชั้นเรียนที่ผ่านมา การเขียนนี้ไม่มีผลต่อคะแนน และไม่จำเป็นต้องลงชื่อ

คำแนะนำสั้นๆ ของผม คือ เขียนโดยไม่หยุด ไม่ยกปากกาขึ้น เขียนไปเรื่อยๆ หากนึกไม่ออก ก็เขียน “นึกไม่ออก นึกไม่ออก” สบายๆ ผ่อนคลาย ไปเรื่อยๆ เป็นเวลา ๑๐ นาที

สิบนาทีสั้นๆ ที่ยิ่งใหญ่ และมีความหมายสำหรับผม สัมผัสรับรู้ได้ว่าทำไมมีนักศึกษาหลายคนกลั้นน้ำตาไว้ไม่อยู่

“At first, I thought that there was nothing interesting in sitting and studying in the room. Though it was freaking hard waking up in the morning, walking to the [Lecture Hall], but I did it with cheering ’cause it was Monday, the day I get to study Biology with you. ... There are lots of things out there waiting to be explored, but I just ... waste my time fooling around on the internet. Your words are like wake up calls to me. ... Thank you for everything. You’re such a heaven-sent. I’m honored.” (ภัทราวรรณ พ.)

“อาจารย์เชื่อไหมว่าเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดชอบชีวะเลย ... คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้กลับอยากเข้าห้องเรียน อยากมานั่งฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ... ถามว่าอะไรโดนเหรอคะ โดนตรงที่มันเปลี่ยนความคิดของคนได้ เนี่ยหล่ะโดนสุด” (ไม่ลงชื่อ)

“การได้เรียนรู้แนวการเรียนที่มันแตกต่างออกไป มันทำให้เราได้คิดย้อนกลับมามองตัวเองมากขึ้นว่าสิ่งที่เราเรียนเราเรียนไปเพื่ออะไร เพื่อเอาไปทำอะไร แล้วมันมีความสัมพันธ์กับชีวิตรอบตัวของเราอย่างไร ทั้งคน-สัตว์และพืช (สิ่งแวดล้อม) มีความสัมพันธ์กันทั้งนั้น แต่เรากลับมองข้ามสิ่งเหล่านั้นไป ทำให้เราไม่รู้จักพอ” (โฆษิต ฐ.)

“เป็นประสบการณ์ที่ไม่สามารถหาจากที่อื่นมาทดแทนได้ การเรียนชีววิทยาที่น่าตื่นเต้นในมุมมองของคนที่จะศึกษาวิทยาศาสตร์กายภาพอย่างผมนี้” (พิษณุ บ.)

“แท้จริงแล้วมนุษย์ก็เป็นส่วนเล็กๆ ของธรรมชาติ แม้ว่าจะได้เจออาจารย์เพียงช่วงสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจและภูมิใจมากๆ ค่ะ ที่ได้เป็นศิษย์คนหนึ่งของอาจารย์ หนูจะใช้เวลาอีก 3 ปี+1 เทอมในมหาวิทยาลัยแห่งนี้ให้มีคุณค่ามากที่สุดเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในห้องเรียน ก่อนออกไปเผชิญกับโลกภายนอกอย่างเต็มภาคภูมิ หนูสัญญาว่าจะเป็นนักวิทยาศาสตร์ที่ดีเหมือนอย่างที่อาจารย์เป็น จะไม่เอาความรู้ที่เรามีไปเอาเปรียบใคร ... ขอบคุณมากๆ ค่ะ สำหรับการเรียนใน 6 ครั้งที่ผ่านมา แม้ว่าจะเป็นเพียงแค่ช่วงเวลาสั้นๆ แต่หนูก็ดีใจ และขอบคุณจากใจค่ะ” (520517X)

“ก็ไม่รู้สิ มีอะไรอยากบอกมากกว่านี้ตั้งมากมาย แต่ก็นะ บอกไม่หมดหรอก ขอบคุณล่ะกันครับ ความรู้สึกที่มากที่สุดตอนนี้คงเป็นคำว่า ขอบคุณ” (อรรถพล อ.)




ใช่เลย ความรู้สึกเด่นชัดที่สุดของผมขณะนี้ คือ ขอบคุณ ขอบคุณเหล่านักเดินทางรุ่นเยาว์เหล่านี้ พวกเขาเป็นส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่ทำให้การเดินทางท่องไปในโลกใบกว้าง พร้อมๆ กับเดินทางเข้าไปในใจในกาย ที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบ น่าอัศจรรย์ไม่แพ้กัน ดังเช่นที่ สาทิศ กุมารเคยกล่าวไว้ “มีเธอ จึงมีฉัน”

ชวนให้ผมนึกถึงการเดินทางด้วยเท้าอันยิ่งใหญ่ในโลก โดยเฉพาะการเดินทางของคานธี ไปทำเกลือทะเลที่นำไปสู่การประกาศอิสรภาพของอินเดีย การเดินทางโดยปราศจากเงินแม้เพียงรูปีเดียว ของสาทิศ กุมารจากอินเดียไปยุโรปและอเมริกา เพื่อส่งมอบ “ชาสันติภาพ” แก่ผู้นำประเทศมหาอำนาจทางนิวเคลียร์ รวมถึงการเดินทางของประมวล เพ็งจันทร์ อันเป็นที่มาของหนังสือ “เดินสู่อิสรภาพ”

การเดินทางเล็กๆ ในชั้นเรียน แม้จะไม่โด่งดังและยิ่งใหญ่เท่ากับการเดินทางเหล่านั้น แต่ก็ “จริง” อย่างยิ่งสำหรับบรรดาเหล่านักเดินทางรุ่นใหม่ เป็นดั่งคำเชื้อเชิญให้เปิดใจ เรียนรู้ และออกเดินทางสู่การตื่นรู้ ในวิถีที่ไม่แยกเป้าหมายทางวิชาชีพ (professional quest) ออกจาก เป้าหมายทางจิตวิญญาณ (spiritual quest)

ชั้นเรียนของเราอาจจะจบแล้ว แต่การเดินทางของเราอาจจะเพิ่งเริ่มต้นขึ้นก็ได้

ยินดีต้อนรับสู่การเดินทางบทใหม่ครับ :-)

(กรวย) จตุปัญญา


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 13 กันยายน 2552


เช้าวันแดดออกรำไรๆ สลับฝนพรำ หลังทานข้าวสุดอร่อยฝีมือคุณแม่ร่วมกันพร้อมพี่สาวและน้องชาย รู้สึกหนังท้องชักตึงหนังตาชักหย่อน ผมเลือกออกไปเดินเล่น ช่วยร่างกายย่อยอาหารและฝึกฝนจิตใจ เดินไปอย่างไร้จุดหมาย ผ่านโรงเรียนสมัยอนุบาลและประถมของผมเอง นึกตั้งคำถามว่าตอนเด็กๆ เราเรียนอะไรและอย่างไร

น่าช็อกว่าแต่ก่อนนั้นความรู้ที่ว่าการเรียนรู้ เหมาะสมกับการพัฒนามนุษย์ให้สมบูรณ์รอบด้านนั้นก็มีอยู่ แต่ผมกลับได้รับการศึกษาเหมือนผลิตปลากระป๋องในโรงงาน ทั้งๆ ที่โรงเรียนนี้ก็มีชื่อไม่น้อย พวกเราล้วนต้องแข่งขันกันเป็นปลาซาร์ดีนที่คุณภาพสูงสุด กระป๋องมันวาว ไม่บุบ และมีโอเมกา-3 โดยเฉพาะ DHA ที่ช่วยป้องกันโรคหัวใจและลดความเครียดได้ดีที่สุด ... แต่ลงเอยก็ยังคงเป็นแค่ปลากระป๋อง



แต่เช้ามาเราก็ได้เล่นนิดเดียว ครูมักมาเตือนให้รู้จักเล่นน้อยๆ หน่อย จากนั้นเข้าแถวเคารพธงชาติ ยืนเมื่อย ฟังครูเทศน์ เรื่องอะไรคิดว่าไม่มีใครจำได้เลย จำได้แต่ว่าพวกเราเบื่อและไม่เชื่อ (หรอก) แล้วเข้าห้องเรียน เรียนอะไรที่ตาดีได้ ตาร้ายเสีย บางครั้งก็สนุกดี บางทีก็น่าเซ็ง เที่ยงทานอาหารรสชาติไม่อร่อย บ่ายเข้าไปนั่งเรียนๆ หลับๆ ในห้องจนเย็น

แต่ที่น่าช็อกกว่าก็คือ ตารางการใช้ชีวิต (หรือฆ่าเวลา?) ของนักเรียนไทยส่วนใหญ่ก็ยังคงเป็นแบบนี้

หรืออาจเพราะเราเชื่อฝรั่งมากเกินไป เห็นเขาใช้กรวยประสบการณ์ (Cone of Experience) ของเอดการ์ เดล ในการออกแบบการศึกษา เราก็ใช้บ้าง ที่สำคัญคือเอามาไม่หมด เขาว่าให้จัดจากฐาน (ว่าด้วยการให้มีประสบการณ์ตรง) ให้ถึงยอด (ว่าด้วยเรื่องสัญลักษณ์ในภาษา) แต่เราก็มักน้อย เอาแค่แถวๆ ยอดกรวยก็พอ

น่าดีใจที่เดี๋ยวนี้องค์ความรู้เรื่องการจัดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี เรื่องกระบวนการเรียนรู้แบบจิตตปัญญา (Contemplative Education) นั้นเริ่มมีผู้สนใจและแพร่หลายมากขึ้น ไม่ถูกจำกัดอยู่แต่ในเฉพาะโรงเรียนทางเลือกหรูๆ แพงๆ ผู้คนเริ่มสร้างทางเลือกในการเรียนรู้ให้กับตนเอง (และลูกๆ หลานๆ) มากขึ้น บ้างก็เรียกชื่ออื่นๆ อีกมาก อาทิ การเรียนรู้เพื่อพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ (Humanized Educare) การเรียนรู้เพื่อจิตสำนึกใหม่ (Education for a New Consciousness) การเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformative Learning)

กรวยประสบการณ์แบบเดิมนั้น Out แล้วครับ ที่ In หรือ Hot ในปัจจุบัน คือ กรวยจตุปัญญา ที่เน้นการพัฒนาปัญญาทั้งสี่ด้าน อันได้แก่ ฐานคือ PQ (Physical Quotient) ความฉลาดทางด้านร่างกาย เช่น สร้างความเข้มแข็งและรักษาสุขภาพ IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางด้านความคิด หรือเชาว์ปัญญา เช่น ความสามารถในการคิด การคำนวณ EQ (Emotional Quotient) ความฉลาดทางด้านอารมณ์ เช่น ความสามารถในการจัดการกับอารมณ์ของตนเอง เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และมียอดคือ SQ (Spiritual Quotient) ความฉลาดทางด้านจิตวิญญาณ คือการแสวงหาเป้าหมายของชีวิต เข้าใจความหมายของการมีชีวิต

การจัดตารางเรียนก็แสนง่าย ไม่ยากแต่ประการใด ผมจะยกตัวอย่างของโรงเรียนลำปลายมาศพัฒนา จังหวัดบุรีรัมย์ ให้ดูนะครับ

เช้า เน้น EQ, SQ ตัวอย่าง: เล่นกับเพื่อนใต้ร่มไม้ พูดคุยกันกับครูที่เป็นกัลยาณมิตรอย่างเป็นกันเอง กิจกรรมจิตศึกษา

สาย เน้น IQ ตัวอย่าง: ลงมือปฏิบัติ ใช้จินตนาการและความคิด

บ่าย เน้น PQ ตัวอย่าง: ฝึกทักษะทางกีฬา ศิลปะ ดนตรี ละคร

ลองคิดดูเองว่ามันเข้าท่าไหมครับ ตรงตามสามัญสำนึกใช่ไหมครับ หากเป็นเรา เราอยากเรียนแบบนี้ไหม ดูๆ ไปมันก็ไม่ยากเกินไปที่จะจัดการเรียนรู้แบบนี้นี่นา

กรวยนี้ไม่ใช่แค่สำหรับสอนเด็กในโรงเรียนนะครับ ใช้ได้กับการศึกษานอกโรงเรียน การศึกษานอกระบบ การศึกษาตามอัธยาศัย โรงเรียนพ่อแม่ การศึกษาผู้ใหญ่ และการเรียนรู้ดีๆ ที่ไม่ต้องมีชื่อเรียกอื่นๆ ด้วย

หากมีโอกาสคงได้แบ่งปันเรื่องการบูรณาการองค์ความรู้ใหม่ล่าสุดด้านสมอง จิตวิวัฒน์ ศาสนา วิทยาศาสตร์ใหม่ องค์กร กับการพัฒนาความฉลาดทั้งสี่ด้านกันครับ :-)














ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชนรายวัน ฉบับประจำวันที่ 18 เมษายน 2552


มองดูดวงตะวันยิ้มแฉ่ง
ลองระบายสีแดงสวยสด
ป้ายสีฟ้าให้ฟ้าแต้มสีเขียวให้ป่า
สีรุ้งบางเวลาเราวาดเกินกว่าเจ็ดสี

...

งามยิ่งดูยิ่งงามในความรู้สึก
งามที่ลึกมีสีของฟ้าเจืออยู่
เขียวให้เขียวร่มไม้ร้ายใจร้ายโค่นป่า
ฟ้าสีฟ้า ถามว่าคนสีอะไร

ผมเริ่มฮัมเพลงนี้ขึ้นมาโดยอัตโนมัติหลังจากถูกน้องแซวว่าชอบยิ้มแฉ่ง ร้องเพลง “วาดฝัน” ของพี่จุ้ย ศุ บุญเลี้ยง นี้ไปได้ไม่กี่บรรทัด ก็สะดุดกึกกับประโยคสุดท้ายที่ถามว่า “คนสีอะไร?”

ที่เอะใจก็เพราะไม่ถึงชั่วโมงที่ผ่านมา ผมเพิ่งจะได้อ่านบทกวีของเพื่อนรุ่นน้อง จากอีเมล์ชื่อ “ความจริงไม่ใช่เหลืองไม่ใช่แดง” เป็นถ้อยคำงดงามถ่ายทอดระบายและสะท้อนความรู้สึกอัดอั้นที่อยู่ภายใน

ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่านี่เป็นเหตุบังเอิญของจักรวาลหรือเปล่า หรือว่า “ไม่มีเหตุบังเอิญในจักรวาล” ดังคำที่อาจารย์อาวุโสในกลุ่มจิตวิวัฒน์ท่านหนึ่งมักจะกล่าวประจำ

ขณะที่เขียนต้นฉบับนี้ แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการแห่งชาติ (นปช.) เพิ่งจะประกาศยุติการชุมนุมไปไม่กี่ชั่วโมง ความตึงเครียดเริ่มผ่อนคลายท่ามกลางสถานการณ์ที่คลี่คลายลง แม้ว่าจะยังมีกลุ่มผู้ชุมนุมกระจัดกระจายอยู่ตามจุดต่างๆ บ้าง

กลุ่มควันดำที่พวยพุ่งจากรถโดยสารและยางรถยนต์ที่ถูกเผาไหม้อาจจางหายไปแล้ว แต่สิ่งที่ยังคุกรุ่นอยู่อาจเป็นคำถามที่ยังค้างคาใจคนไทยส่วนใหญ่คือ แล้วเราจะมีความสามารถที่จะก้าวผ่านข้ามพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกันหรือไม่ ชาวสยามประเทศโดยรวมจะกลับมารักใคร่กลมเกลียวกัน เห็นคนอื่นเป็นคน เห็นคนอื่นเป็นญาติพี่น้องที่สืบสาวต้นตอกลับไปก็ล้วนเคยเกี่ยวดองเป็นญาติกัน เคยมีบรรพบุรุษร่วมกันทั้งสิ้น เราจะเห็นและเป็นดังนี้ได้อีกหรือไม่

ถามว่าพวกเราจะกลับมารักกันอีกหรือไม่ ผมนั้นไม่รู้

แต่ถ้าถามว่าพวกเรามีความสามารถจะทำเช่นนั้นหรือไม่นั้น ผมตอบได้ด้วยความมั่นใจว่า สามารถแน่นอน (คอนเฟิร์ม!)

เงื่อนไขสำคัญคือ สังคมไทยนี้มีความมุ่งมั่นและมีพันธะสัญญาร่วมกันที่จะกลับมารักใคร่ กลมเกลียว สามัคคีหรือไม่ต่างหาก

มีตัวอย่างหลายต่อหลายครั้งในประวัติศาสตร์โลกที่คนจำนวนมากเกิดการเปลี่ยนแปลงจากความจงเกลียดจงชังอย่างยิ่งถึงขนาดจะฆ่าจะแกงกัน มาเป็นความรัก ความเอื้ออาทร เป็นห่วงเป็นใยกัน ความเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงเล็กๆ เหมือนการเพิ่มของสิ่งเดียวกันให้มีมากขึ้นหรือน้อยลง เช่น จากมีเงินหนึ่งร้อยบาทเป็นมีหนึ่งร้อยสิบบาท หรือจากเกลียดมากเป็นเกลียดน้อย

การเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทย (และโลก) ต้องการเป็นการเปลี่ยนแปลงระดับขั้นพื้นฐานหรือทรานส์ฟอร์เมชัน (Transformation) เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดสิ่งใหม่ เกิดคุณภาพใหม่โดยสิ้นเชิง

การเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทย (และโลก) ต้องการนั้น เป็นการเปลี่ยนแปลงซึ่งมีลักษณะข้ามพ้นแต่ปนอยู่ (Transcend and Include) คือ แม้จะมีคุณลักษณะใหม่เกิดขึ้น แต่ก็ไม่ทอดทิ้งของเดิม เข้าใจและดูแลทุกส่วนและทุกฝ่ายโดยเข้าใจว่าล้วนเป็นส่วนหนึ่งของกันและกัน ไม่ใช่แค่รักกันได้เพราะเห็นเหมือนกันและไม่เคยทะเลาะกัน แต่รักกันได้ (คุณภาพใหม่) ทั้งๆ ที่เคยมีความหลัง บาดหมางไม่ลงรอยกันแต่เดิม (คุณภาพเก่า)

การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งเช่นนี้ ย่อมต้องการปัจจัยหลายอย่างที่เป็นหัวใจที่สำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งเช่นเดียวกัน สิ่งนั้นคืออะไร?

---------------------------------

ย้อนหลังกลับไปเมื่อหลายเดือนก่อน หลังจากเลิกประชุมจิตวิวัฒน์ ผมได้พูดคุยเรียนปรึกษาอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งว่า “อาจารย์ว่าจะทันไหมครับ?” คำตอบหลักต่อข้อถามของผมจะเป็นเช่นไร ขออนุญาตไม่เฉลยในตอนนี้ แต่สิ่งที่ท่านพูดต่อจากนั้นต่างหากที่ผมรู้สึกว่าสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่ง

ท่านว่า “ผมยังไม่เห็นวิธีไหนเลยที่จะช่วยได้ นอกจากชักชวนให้คนมาเจริญสติมากๆ”

หรือว่าสติ (และการเจริญสติ) เป็นหัวใจสำคัญของทรานส์ฟอร์เมชัน?

---------------------------------

หรือว่าจะจริง เพราะปัจจุบันโลกมีความรู้และเทคโนโลยีมากมาย สามารถเพิ่มอายุเฉลี่ยของมนุษย์ได้มาก ทำสิ่งเล็กๆ เช่น เอาอะตอมของซีนอนมาเรียงเป็นเป็นชื่อ หรือทำสิ่งใหญ่ๆ เช่น สร้างกระสวยอวกาศพามนุษย์ไปเดินเล่นนอกโลก หรือทำให้สภาพภูมิอากาศของโลกเปลี่ยนแปลงได้ มีอาวุธทำลายล้างอานุภาพสูงทำให้คนตายทีละเป็นล้านได้ แต่ความรู้เหล่านี้ไม่สามารถตอบโจทย์ได้ว่าเราจะป้องกันปัญหาคนในชาติเกลียดชังกัน ทำร้ายกันด้วยวาจา และลงไม้ลงมือกันได้อย่างไร

หรือว่าเป็นเพราะความรู้เหล่านี้ที่กลับทำให้เราคิดแบบแยกส่วน ที่สำคัญคือคิดเร็ว ทำเร็ว หรือ “คิดเปรี้ยง ทำเปรี้ยง” อย่างที่เรียกกัน ไม่มีเวลาสำหรับมาพินิจพิเคราะห์ไตร่ตรองกัน

หรือว่าความรุนแรงที่เกิดขึ้นในบ้านเราเป็นผลจากการที่เราไม่ค่อยทำการบ้านเรื่องการเจริญสติกันเสียนาน ทิ้งภูมิปัญญาที่มีมาแต่โบราณ ถึงแม้ว่าประเทศจะมีครูบาอาจารย์ผู้ปฎิบัติดีปฏิบัติชอบอยู่พอควร แต่เรากลับละเลย ไม่ศึกษา ไปหลงชื่นชมกับความรู้ทางโลกภายนอก เราจึงเห็นความจริงอย่างเป็นส่วนเสี้ยว

ธรรมชาติและความจริงนั้นเป็นไปได้มากมาย แต่เราไปจำกัดความเป็นไปได้เหล่านั้น เราจึงรู้สึกอึดอัด คับแคบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งอึดอัดกับความเป็นตัวตนของเรา

เมื่อเราเห็นความจริงบิดเบี้ยวไปตามความคิดปรุงแต่งของเรา แม้กระทั่งคนก็ยังต้องแบ่งเป็นสีๆ แถมมีให้เลือกไม่กี่สี ทำให้บีบคั้นอย่างยิ่ง มองเห็นสิ่งต่างๆ ก็มีให้เลือกแค่ต้องผิดอย่างเดียวหรือถูกอย่างเดียวเท่านั้น จึงไม่เป็นธรรมชาติและไม่เป็นธรรมด้วย

การมีสติทำให้เราไม่คิดเปรี้ยง ทำเปรี้ยง มีเวลาใคร่ครวญ สามารถมองเห็นความจริงตามธรรมดาธรรมชาติ ไม่เพียงแต่เห็นว่า “ความจริงไม่ใช่เหลืองไม่ใช่แดง” คือ ความจริงนั้นไม่ใช่ทั้งสีเหลืองและสีแดง แต่หมายรวมถึง “ความจริงนั้นไม่มีสี” คือ “สี” ที่เราคิดว่ามีนั้นมันก็ไม่มีด้วย เป็นไปตามความคิดปรุงของเราเองทั้งสิ้นเช่นกัน

หากมนุษย์เราเข้าใจความจริงพื้นฐานข้อนี้ก็จะเข้าถึงความงามและความดีไปพร้อมกัน เกิดความสุขโดยฉับพลัน สามารถให้ความรักกับทุกคน เพราะเข้าใจความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันของสรรพสิ่ง

แล้วเราจะไม่ลองเจริญสติกันทั้งประเทศหน่อยละหรือ ก็เห็นๆ กันแล้วว่าศาสตร์ต่างๆ ที่เราลองกันมาล้วนไม่ประสบผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นการสู้รบที่ไหน อิรัก อัฟกานิสถาน หรือบนราชดำเนิน

หากได้ลอง เราอาจจะพบว่าคำตอบมันไม่สำคัญ ไม่ว่าจะต่อคำถามที่ว่า “คนสีอะไร” หรือ “แล้วจะทันไหม”

:-)




ตีพิมพ์ในคอลัมน์ ณ พรมแดนแห่งความรู้
หนังสือพิมพ์โพสต์ทูเดย์ ฉบับประจำวันที่ ๔ มกราคม ๒๕๕๒


ข้าวต้มข้าวใหม่ร้อนๆ ควันฉุย น้ำข้าวหนืดๆ หน่อย เหนียวกำลังดี วางคู่กับข้าวง่ายๆ ไข่เจียวไชโป๊ว ผักกาดดอง ขิงดอง หมูหวาน ถึงคุณค่าทางโภชนาการจะไม่สูงนัก แต่ก็คุณค่าทางจิตใจก็สูงยิ่ง ไม่ใช่เพราะเป็นกับข้าวโปรดของคุณแม่เท่านั้น แต่เป็นเพราะความรักความเอาใจใส่ของท่านที่ลุกมาแต่เช้าและจัดแจงปรุงขึ้นด้วย แม้สำรับเรียบง่ายแต่ความประณีตบรรจง แบบไม่มีจริตจะก้านนั้นประจักษ์ชัดเจน กับข้าวมื้อแรกของปีถูกนั่งละเลียดสบายๆ กับสมาชิกในครอบครัว ตามด้วยผลไม้ไทยและเทศ กินแกล้มเสียงหัวเราะคิกคัก

ที่เขาว่าหนังท้องตึงหนังตาหย่อนคงจะจริง อากาศในห้องนอนอุ่นกว่าส่วนอื่นของบ้าน เตียงไม้ยังเย็นยะเยียบตั้งแต่เมื่อคืนที่อบร่ำด้วยลมหนาวจากจีนที่หอบเอาความรื่นเริงจากงานปาร์ตี้มาฝาก

เอนหลังได้สองสามนาที รู้สึกดีว่าได้ให้รางวัลกับตัวเองในวันหยุดนี้แล้ว บอกกับตัวเองว่าไปเดินเล่นดีกว่า ดีกับสุขภาพ จะได้ออกไปดูด้วยว่าข้างนอกเป็นอย่างไรกันบ้างด้วย

ถนนในซอยหน้าบ้านเงียบสงบ นานๆ จะมีแมงกะไซวิ่งช้าๆ ผ่านไปสักคัน สภาพต่างจากเช้าวันพฤหัสธรรมดาอื่นๆ อย่างไม่น่าเชื่อ บรรยากาศเหมือนเด็กๆ ขี้เซา เพิ่งเริ่มตื่น เงียบแต่ไม่เหงา คงเพราะเสียงหัวเราะและเสียงดนตรีที่ดังมาจากปากซอยทั้งสองข้างขับกล่อมทั้งคืน พร้อมกับแสงและเสียงจากพลุเฉลิมฉลองที่จุดกันดังสนั่น

แต่ที่บ้านไม่ได้ออกมาดูกับเขาหรอก เมื่อคืนเราเลือกนั่งสมาธิข้ามปีกัน ก็ไม่ได้มีเหตุผลอะไรมาก รู้สึกว่ามันโดนกับเรามากกว่าอย่างอื่นในปีนี้เท่านั้น ปีแรกๆ ที่นั่งกันก็ขัดเขินกันอยู่บ้างไม่รู้ว่าจะทำอะไรเมื่อไหร่ จะนั่งนานแค่ไหนดี เพราะบางคนนั่งนานขณะที่บางคนนั่งแป๊บเดียว ปีนี้ใครนั่งยาวกว่าก็เข้าไปนั่งในห้องพระก่อน ใครอยากไปนั่งเมื่อไหร่ก็ตามอัธยาศัย เรื่องบอกเวลาขึ้นปีใหม่นั้นไม่ต้องเพราะเขาส่งสัญญาณกันทั่วเมือง ได้ยินต่อเนื่องกันเป็นสิบนาที นึกๆ ดูก็ขำดี ตอนที่อยู่เงียบๆ สักพักก็เสียงพลุดังอยู่เป็นนาน แล้วก็กลับมาเงียบใหม่อีกครั้ง เดี๋ยวเงียบเดี๋ยวดัง คล้ายกันทั้งข้างนอกข้างใน

ผมออกเดินไปเรื่อยๆ ลมเย็นๆ ปะทะร่างกายให้ได้เตือนว่าอย่าลืมชื่นชมกับเหมันตฤดูที่แสนสั้นของเมืองกรุง ฤดูหนาวอีกแล้วสินะ จริงสิ ต้นโมกในบ้านหลายต้นเริ่มผลัดใบ แม้จะออกดอกตลอดปี หน้าหนาวโมกออกดอกไม่มาก จึงดูจะแต่งตัวแข่งกันเป็นพิเศษ รู้สึกขอบใจแสงแดดอุ่นๆ ที่ทำให้ได้ดอกขาวสะอาด ช่อดอกตูมเป็นกระเปาะน้อยๆ ห้อยย้อยน่ารัก ขอบใจสายลมที่ช่วยพาความหอมใสๆ เบาๆ ของดอกบานมาให้ชื่นชมแม้ยืนอยู่ไกลๆ

การได้มีช่วงเวลาอยู่กับตัวเองบ้าง ไปอย่างช้าๆ เรื่อยๆ ไม่เร่งรีบ เปรียบเสมือนคำเชิญชวนให้ได้สะท้อนถึงชีวิตและการเดินทางที่ผ่านมา

ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ดีที่สุดปีหนึ่งของชีวิต ได้มีกลุ่มกัลยาณมิตรที่ช่วยเตือนช่วยแนะนำส่งเสริมกัน ได้เป็นส่วนหนึ่งของทีมวิจัยที่มีความเชื่อร่วมกันว่า “การวิจัยเป็นดั่งชีวิต” ได้ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงาน ข้อสรุป และการนำเสนอผลงานในรูปแบบที่ทุกคนในทีมมีความเชื่อมั่นร่วมกันว่า “ใช่” ไม่ต้องยิ่งใหญ่ ไม่ต้องพิเศษเกินปรกติ ง่ายๆ แต่มีความหมาย

การเรียนรู้ร่วมกันกับกลุ่มนักศึกษาที่มหาวิทยาลัยก็น่าทึ่ง เพราะทุกคนต่างเห็นความสำคัญของสมดุลของการเรียนรู้วิชาชีพควบคู่กับการเรียนรู้ด้านในบนฐานของการมีสติ การรู้ลงไปเฉยๆ “ใจเป็นอย่างไร รู้ไปอย่างนั้น” อย่างที่เรามักเรียกเล่นกันอย่างทีเล่นทีจริง ทุกคนเป็นครูและศิษย์ของกันและกัน ต่างมุ่งมั่นที่จะ “เข้าใจตนเองและโลก ผ่านการน้อมเอาวิชาเข้ามาสู่ใจและชีวิต” การได้มีพื้นที่ปลอดภัยที่สามารถสุนทรียสนทนาหรือไดอะล็อกได้ทุกเรื่องนั้นเปรียบเสมือนพรอันประเสริฐ (ซึ่งก็คือมงคลชีวิต) อย่างหนึ่ง ต่างใช้กายและใจตนเองเป็นเครื่องมือเรียนรู้ แล้วร่วมแบ่งปันกันอย่างเปิดใจ ผลก็คือการเรียนรู้ที่เราเชื่อว่ามันใช่และมีความหมายสำหรับพวกเรา เพราะความสัมพันธ์ของทุกคนดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความสัมพันธ์กับกายและใจของเราเอง ความสัมพันธ์ระหว่างพวกเราด้วยกัน ระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างเรากับโลก และกับความจริงของชีวิต

ระยะหลังผมเดินไปปากซอยช้าลง ไม่ว่าจะเป็นช่วงเช้าหรือช่วงเย็น ส่วนหนึ่งเพราะรู้สึกดีทุกครั้ง เวลาเห็นอะไรใหม่ที่เราไม่เคยเห็น (อ้าว มันมีไอ้นี่อยู่ตรงนี้ด้วยเหรอ) ซึ่งก็มีให้เห็นได้ทุกครั้งไป อีกส่วนก็เพราะยังเจ็บเข่าอยู่นิดหน่อย อันที่จริงแล้วแค่การเดินได้และได้เดินนี่ก็เป็นพรอันประเสริฐไม่น้อย นึกถึงตอนที่ไม่สบายเจ็บขา เดินไม่ได้ ตอนนั้นแค่ขยับไปไหนในห้องแต่ละทีต้องคิดแล้วคิดอีกว่าคุ้มที่จะต้องออกแรง และแลกกับความเจ็บปวดไหม เราเองก็ไม่ค่อยได้ขอบคุณและชื่นชมร่างกายที่ช่วยให้เราเดินเหินไปไหนมาไหนได้สักเท่าไหร่นะ ตั้งใจว่าจะไม่ดูแคลนความเจ็บป่วยแม้เล็กน้อยของคนอื่น

เรื่องความเจ็บป่วยในปีผ่านมาที่น่าจะเป็นไฮไลท์คืออาการแผลร้อนในกว่าสิบแห่งในปากและเป็นอยู่นานเกือบเดือน ช่วงนั้นการกินอาหารแต่ละมื้อแค่คิดก็เหนื่อยและท้อแล้ว ทุกมื้อกินไปน้ำตาคลอไป บางครั้งถึงขนาดคิดว่ายอมอดดีกว่า เริ่มเข้าใจคนที่รับเคมีบำบัดเพื่อรักษามะเร็งแล้ว ว่าทำไมหลายคนจึงบอกว่าไม่เอาแล้ว ขอยอมตายดีกว่า นึกถึงคำพูดพี่ใหญ่ วิศิษฐ์ วังวิญญู ที่ว่าความทุกข์ของเราทำให้เราเข้าใจความทุกข์ของผู้อื่น คนที่เผชิญกับความทุกข์อย่างแสนสาหัสอาจจะเป็นผู้บำเพ็ญตนอยู่บนเส้นทางของพระโพธิสัตว์ก็เป็นได้

หนึ่งในสิ่งที่ประทับใจที่สุดในรอบปีคงต้องมีเรื่องการเห็นตนเองที่หลุดหรือเผลอ บางครั้งก็ทำบางอย่างที่ถ้าคิดโดยใช้เหตุผลก็ไม่ควรทำ แต่ก็ได้ทำลงไปแล้ว ได้เห็นช่วงเวลาที่เราอ่อนแอ ไม่ได้เข้มแข็งอย่างที่เราอยากจะเป็นทั้งในตอนนั้น และในตอนนี้ ที่น่าตื่นเต้นกว่าก็คือเห็นความอยากของเราที่จะไม่อ่อนแอนี่แหละ ตอนนั้นอาจจะไม่ค่อยทัน ก็เลยรู้สึกแย่กับตนเองมาก จัดการอย่างไรก็ไม่ได้ มาตอนนี้เริ่มเห็นบ่อยขึ้น พอปล่อยมันลงไป เราก็รับได้กับตัวเราทั้งด้านที่อ่อนแอและไม่อ่อนแอมากขึ้น รู้สึกสบายดีไม่ต้องไปแบกอีก แถมเข้าอกเข้าใจคนที่บางทีเขาก็หลุดเหมือนกับเรา พอเราเข้าใจ เห็นใจ ยอมรับ และยอมให้อภัยตัวเองได้ ใจก็เลิกคิดที่จะไปโทษใครต่อใครลงไปมาก ชีวิตนี้เบาขึ้นอีกอักโข

เดินไม่นานสักพักก็ถึงปากซอย ผมรู้สึกทันทีว่าวันนี้คลื่นดีเป็นพิเศษ ผู้คนยิ้มแย้มแจ่มใส หัวร่อต่อกระซิกกันให้ได้อบอุ่นแม้เพียงแค่มอง หรือจะส่งยิ้มแบบว่าขอมีส่วนร่วมก็ได้ ที่นี่มีร้านค้าแผงลอยขึ้นชื่อจำนวนมาก บรรดาพ่อค้าแม่ค้าเริ่มทยอยมาตั้งแผงเปิดร้าน สาวเจ้าของแผงคนหนึ่งขี่มอเตอร์ไซค์ทักทายมาแต่ไกล “สวัสดีปีใหม่จ้า โชคดีมีชัย ร่ำรวยกันหรือยัง?” เรียกเสียงฮาได้ดี ผมเองเคยอุดหนุนสินค้าดีๆ อร่อยๆ ของเธอและเพื่อนๆ เป็นประจำ นึกขอบคุณที่ช่วยดูแลให้ชุมชนเราอิ่มหนำสำราญ

หนึ่งในภารกิจเช้านี้คือไปซื้อกาแฟเจ้าโปรดให้พี่สาว ผมเดินข้ามถนนไปพร้อมกับขอบคุณความสัมพันธ์ของผมกับพี่สาวและกับทุกคนในบ้านที่ดีขึ้นอย่างยิ่ง ผมสามารถชื่นชมเธออย่างที่เธอเป็นได้มากขึ้น ดีใจที่เข้าใจว่าเรื่องราวที่ฝังหัวมาตั้งแต่เล็กมันเป็นเพียงแค่เรื่องราวการปรุงแต่งของผมเองอย่างไร ดีใจที่เราสนิทกันและเธอไหว้วานให้ผมช่วยทำนู่นทำนี่บ่อยขึ้น ผมขอบคุณชาวไร่ที่ปลูกกาแฟและอ้อย คนในฟาร์มที่เลี้ยงวัว และธรรมชาติที่สรรค์สร้างให้สิ่งเหล่านี้เป็นจริงขึ้นมาได้ และท้ายสุดร้านกาแฟที่เสกส่วนผสมเหล่านี้เป็นกาแฟแก้วโปรดที่เชื่อมสัมพันธ์ผมและพี่สาวเข้าไว้กับโลกใบน้อยและจักรวาลกว้างใหญ่นี้

ขากลับผมแวะซื้อพวงมาลัยสำหรับไหว้พระ และสำหรับพวกเราพี่น้องกราบคุณแม่ คุณอาทั้งสองที่บ้าน นึกชมคนร้อยพวงมาลัยว่าฝีมือคล่องแคล่วเหลือเกิน ดูแทบไม่ทัน ที่สำคัญเธอก็ช่างใจดี ยิ้มแย้มเหมือนแม่ค้าอื่นแถวนี้ ที่ไม่ได้บ่นหรือแสดงสีหน้าเวลาผมใช้เวลาเลือกอยู่นาน

ถึงกลางทางเจอทีมเจ้าหน้าที่สำนักงานเขตเก้าคนทั้งชายและหญิงกำลังตัดแต่งต้นไม้อย่างขะมักเขม้น ทั้งอโศกอินเดีย ประดู่กิ่งอ่อน และตะเบบูย่า-ชมพูพันธุ์ทิพย์ แหมขยันขันแข็งกันจัง ตั้งแต่ปีใหม่เชียว เห็นหลายคนเหงื่อไหลไคลย้อยเพราะแดดเริ่มออกแล้ว ผมเดินย้อนกลับไปหาซื้อน้ำผลไม้และน้ำอัดลมเย็นเจี๊ยบพอคนละขวดคนละกระป๋อง มอบให้พร้อมคำสวัสดีปีใหม่และคำขอบคุณที่ช่วยให้ถนนหนทางสวยงาม ไฟฟ้าไม่ดับเวลาพายุมา พนักงานสาวคนงามกล่าวขอบคุณและแซวพอให้ได้หัวเราะกัน

เดินผ่านบ้านของรุ่นพี่ที่รักและเคารพนับถือกัน ที่รั้วมีต้นและดอกพวงชมพูระย้าออกมาข้างนอก “เด็ดได้เลยนะ เมื่อไหร่ก็ได้” พี่เขาบอกพร้อมรอยยิ้มเมื่อคราวผมไปเยี่ยมเขาที่กลายเป็นเขยเชียงรายไปแล้ว ผมคุยกับบรรดาช่อดอกพวงชมพูที่ดูสวยทุกช่อ เอ่ยปากชักชวนในใจขอไปปักแจกันสักก้าน เด็ดไปก็ขอบคุณทั้งเจ้าพวงชมพูและเจ้าของไปพร้อมกัน ถึงบ้านก็เอาวิชาจัดดอกไม้แบบอิเคบานะที่ร่ำเรียนมาใช้ ได้แจกันง่ายๆ ที่ส่งรัศมีความสุขไปให้ทั้งห้อง

ตกบ่ายหลังจากไปเยี่ยมคุณอาพร้อมกินอาหารมื้อกลางวันที่จัดเตรียมด้วยความรักความเมตตาเช่นเดียวกับมื้อเช้า ผมก็มานั่งในสวนเขียนบทความ แดดร่มลมตกแล้ว ลมโชยเย็นๆ มีแมลงแปลกๆ ที่ผมไม่เคยเห็นแวะเวียนมาเยี่ยม พร้อมด้วยนกต่างๆ ที่เป็นขาประจำ ทั้งกางเขนบ้าน เขาชวา ปรอด กินปลี รู้สึกว่าช่างเป็นวันปีใหม่ที่งดงาม เรียบง่าย และรุ่มรวยจัง

นึกถึงเอสเอ็มเอสที่ได้รับเมื่อคืนจากกัลยาณมิตรนักเดินทางผู้เป็นครูโยคะอยู่ที่เกาะพงัน เธอส่งมาเป็นภาษาอังกฤษแปลความว่า “ชีวิตนั้นเบาสบาย ... สุขสันต์ปีใหม่ และขอให้ได้ใช้ชีวิตอย่างเบาสบาย” ขอบคุณครับ ขอบคุณ :-)