ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 28 พฤษภาคม 2549


“ทำไมคนไทยถึงไม่ค่อยให้เกียรติกับภรรยาคนไทยของผม และมักมองว่าเธอเป็นหญิงบริการ?” คือหนึ่งในคำถามที่ผมได้รับจากครูฝรั่งวัยกลางคนคนหนึ่งในกิจกรรมเสวนาเรื่องความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรม ที่เพื่อนสนิทของผมขอให้ไปช่วย

ในยุคที่ภาษาอังกฤษมีความสำคัญมากขึ้น อีพีโปรแกรม (EP-English Program) หรือหลักสูตรภาษาอังกฤษในโรงเรียนต่างๆ ทั้งประถม มัธยม รวมถึงมหาวิทยาลัย (มักเรียกโปรแกรมอินเตอร์) ทั้งรัฐและเอกชน ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด ส่วนหนึ่งเพราะเป็นแหล่งรายได้สำคัญของหลายโรงเรียน ความต้องการของตลาดมีมาก ผู้ปกครองจำนวนมากก็พร้อมจะจ่ายค่าเล่าเรียนที่สูงกว่าปกติ ถึงขนาดขับรถผ่านไปไหนก็เห็นป้ายติดหน้าโรงเรียนกันเป็นทิวแถว

โรงเรียนที่เปิดสอนอีพีโปรแกรมจะมีบางวิชาที่จัดการเรียนการสอนเป็นภาษาอังกฤษ ไม่ว่าจะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ สังคม หรือแม้กระทั่งพลศึกษา (ยกเว้นวิชาภาษาไทย) โรงเรียนหรือโปรแกรมที่ขึ้นหน้าขึ้นตามักจะวัดจากปริมาณครูชาวต่างชาติที่มี เรียกว่ายิ่งเยอะยิ่งดี หากเป็นระดับชั้นต้นๆ ก็หาง่ายหน่อย แต่พอระดับสูงๆ เช่น มัธยมปลาย ก็มักต้องชวนอาจารย์คนไทยที่สอนระดับมหาวิทยาลัยมาช่วยสอน

สมัยผมเรียนน่ะไม่มี อีพงอีพีอะไรกับเขาหรอกครับ จำได้ว่านานๆ จะมีครูหัวแดงมาสอนอยู่ในโรงเรียนอยู่บ้าง ราวว่าเป็นโครงการแลกเปลี่ยนอะไรทำนองนั้น ครูมีอยู่คนสองคนก็โอ๋กันทั้งโรงเรียนเป็นธรรมดา แถมชีวิตก็ต้องพึ่งครูไทยเป็นหลัก ชาวต่างชาติจำนวนน้อยๆ ต้องคอยถามเราบ่อยๆ ต้องยกมือไหว้ปะหลกๆ ครูไทยก็รู้สึกมีความสำคัญ เห็นว่าพวกนี้น่ารัก น่าเอ็นดูดี พร้อมจะแสดงยิ้มสยามวันละหลายๆ รอบ

แต่ปัจจุบันอีพีโปรแกรมหนึ่งๆ อาจมีครูต่างชาติถึงยี่สิบกว่าคน มาจากหลายทวีปด้วยกัน เป็นเรื่องขึ้นมาสิครับทีนี้ จากเดิมที่ครูต่างชาติต้องพึ่งพิงครูไทยมากก็ไม่ค่อยเรียกร้องอะไร (แค่เอาตัวรอดไปวันๆ ก็ยังลำบาก เพราะสื่อสารอะไรกับใครเขาไม่รู้เรื่อง) พอมีจำนวนเยอะๆ เข้า ก็คุยกันเองได้ กลับบ้านเองเป็น เกิดกิจกรรมร่วมกัน เกิดวัฒนธรรมกลุ่ม พึ่งตนเองได้ในระดับหนึ่ง (ซึ่งก็น่าจะเป็นเรื่องที่ดี)

แต่ในสายตาครูไทย ครูต่างชาติเหล่านี้ดูเหมือนจะน่ารักน้อยลง อาจด้วยเป็นเพราะไม่ต้องมาพึ่งพาเรานักประการหนึ่ง แถมชักจะมีข้อเรียกร้องต่างๆ นานามากขึ้นอีก ฝ่ายชาวต่างชาติก็รู้สึกว่าตนเองควรจะได้รับสิทธิอะไรเสมอภาคกับเขาบ้าง เพราะก็เป็นครู เป็นคนกะเขาเหมือนกัน แถมยังนำรายได้มาสู่โรงเรียนอีกมาก เรื่องราวความไม่เข้าใจในวัฒนธรรมที่แตกต่างกันก็อาจมีมากขึ้น ที่สำคัญคือการอะลุ้มอล่วยกันอาจจะน้อยลงอย่างฮวบฮาบ เซ็งกันไปตามๆ กัน ทั้งเทศ ทั้งไทย ร้อนถึงผู้บริหารที่อาจต้องจัดกิจกรรมปฐมนิเทศ ผสานวัฒนธรรมหรือสร้างความเข้าใจขึ้น

ผมได้รับเชิญให้ไปเป็นผู้ดำเนินรายการร่วมกับอาจารย์มหาวิทยาลัยอีกท่านหนึ่งในรายการดังกล่าวของอีพีโปรแกรมชั้นแนวหน้าแห่งหนึ่งของไทย ไม่ใช่เพราะเก่งกาจอะไรกับเขาหรอกครับ เพียงแต่สนิทกับผู้ดูแล และมีประสบการณ์ข้ามวัฒนธรรมกับเขานิดๆ หน่อยๆ

ผมให้ครูต่างชาติเขียนคำถาม สิ่งที่เขาอยากรู้หรืออยากชวนคุยมาก่อน ลองดูตัวอย่างคำถามนะครับ

“สังคมไทยถึงมีอคติ เลือกปฏิบัติ โดยให้โอกาสกับครูฝรั่ง มากกว่าครูชาวเอเชีย ทั้งๆที่ความสามารถใกล้เคียงกัน พูดภาษาอังกฤษเป็นภาษาแม่เหมือนกัน”
“คนไทยไม่พูดจาตรงๆ ตรงไหนถูกก็ว่าถูก ตรงไหนผิดก็ว่าผิด พูดอ้อมไปอ้อมมา ทำให้เสียการเสียงาน”
“ทำไมจึงมักมีการเปลี่ยนแปลงรายการโดยไม่แจ้งล่วงหน้าบ่อยนัก”

อ่านดูแล้วน่าเห็นอกเห็นใจครับ ทั้งครูต่างชาติผู้เป็นแขกและครูไทยเจ้าบ้าน ผมเองและเพื่อนพาทั้งหมดคุยกันด้วยความพยายามจะทำความเข้าใจกัน โดยบอกเล่าว่าพวกผมไม่ใช่ผู้จะมาชี้ถูก ชี้ผิด แก้ไข หรือให้คำตอบได้หมด สิ่งที่พวกเราพอทำได้ คือ ใช้ความรู้หรือทฤษฎีทางสังคมวิทยา-มานุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม อธิบายปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นบ้าง แต่ที่สำคัญคือ การช่วยให้ทุกคนมีท่าทีที่เหมาะสมในการใช้ชีวิตเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนที่นั่น

ผมได้เล่านิทานเรื่องหนึ่งให้ครูทั้งหลายฟังว่า มีชายคนหนึ่งผ่านไปเห็นสถานที่ก่อสร้างแห่งหนึ่ง ด้วยความสงสัยใคร่รู้จึงได้เข้าไปถามช่างก่อสร้างที่พบเป็นคนแรกว่าทำอะไรอยู่หรือ ช่างคนแรกตอบด้วยความเบื่อหน่ายว่า “กำลังก่ออิฐ” ต่อจากนั้นเขาก็เดินไปถามช่างคนที่สองด้วยคำถามเดียวกัน แต่ได้รับคำตอบเพียงว่า “กำลังทำกำแพง” ท้ายสุดจึงได้ถามช่างคนที่สาม ช่างก่อสร้างคนที่สามตอบอย่างหนักแน่นหน้าตาอิ่มเอิบแววตาเป็นประกายว่า “กำลังสร้างมหาวิหาร”

ช่างทั้งสามคนต่างกันอย่างไรหรือครับ? ทั้งที่ทำงานก่อสร้างในสิ่งปลูกสร้างเดียวกัน สิ่งที่นิทานต้องการจะบอกคือ การมองเห็นแค่สิ่งเฉพาะหน้าในกรณีนี้นั้นไม่ช่วยให้เรารู้สึกถึงความยิ่งใหญ่และความสำคัญในสิ่งที่เราทำ ดังเช่นช่างคนแรกบอกว่ากำลังก่ออิฐ ขณะที่ช่างคนที่สามกำลังทำสิ่งเดียวกัน แต่เขารู้ตัวดีกว่ากำลังทำสิ่งที่มีความหมายยิ่งใหญ่

ท่าทีที่ช่างทั้งสามคนมีต่องานต่างกันจริงไหมครับ แต่ท่าทีของช่างคนที่สามดูจะเป็นท่าทีที่เหมาะสมและทำให้เขามีความสุขและความภาคภูมิใจในงานที่ทำ ทั้งนี้เพราะการมองโลก หรือการมองเรื่องราวต่างๆ ในชีวิตที่ไม่เอาเรื่องเฉพาะหน้า หรือเอาปัญหามาเป็นตัวตั้ง

กรณีคำถามต่างๆ ของครูฝรั่งนั้น เกือบทุกคำถามสะท้อนให้เห็นว่าคุณครูทั้งหลายเห็นเป็นรายประเด็นปัญหา (ซึ่งอาจเกิดจากการตั้งวัตถุประสงค์ของกิจกรรม) แต่ถ้าเราลองคิดตามคำถามเหล่านี้ไปในทิศทางเดียวเท่านั้น เราอาจจะนึกไม่ออกเลยว่าจะแก้ไขอย่างไร ดูเหมือนปัญหาพันนัวเนียกันยุ่ง หากความคิดวนเวียนอยู่กับปัญหาระหว่างวัฒนธรรมมากเกินไป ครูจะไม่ได้เห็นเลยว่าเขาเองเป็นผู้ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างค่านิยม สร้างความเข้าใจระหว่างวัฒนธรรมที่ถูกต้อง การที่เขาได้ทำงานกับเด็กๆ นับเป็นจุดที่สามารถสร้างความเปลี่ยนแปลงได้มาก เขามีหน้าที่ยิ่งใหญ่และสำคัญต่อโลก ไม่ใช่เพียงแค่คนทำงานรับเงินเดือนเท่านั้น

ด้วยเหตุที่เรามองเรื่องราวในโลกแบบเอาปัญหาเป็นตัวตั้งและไม่ทำให้มีความสุข การเห็นปัญหาเพียงอย่างเดียวแล้วสรุปว่านั่นเป็นเรื่องใหญ่หรือเป็นเรื่องราวทั้งหมด ก็เหมือน “เข้าป่าแต่ไม่เห็นป่า เห็นแต่ต้นไม้” (Don't lose sight of the forest for trees) นั่นเอง ฉะนั้นแล้วลองมาเปลี่ยนมุมมองที่มีต่อเรื่องกันเถอะครับ มุมมองโลกในภาพรวมระยะยาวและคิดเชิงบวก อาจช่วยให้เราวางใจ มีความสุขกับงานได้ทุกวัน เพราะเข้าใจตำแหน่งแห่งที่และความหมายของสิ่งที่ทำ ใช่ว่าจะเห็นแค่ปัญหาเท่านั้นครับ :-)

หมายเหตุ: ในมงคลครบรอบ ๑๐๐ ปีวันล้ออายุ ขออุทิศบทความนี้เป็นอาจาริยบูชาแด่ท่านอาจารย์พุทธทาส และเป็นกำลังใจแก่ลูกศิษย์ลูกหาของท่านในการร่วมสานต่อปณิธาน ๓ สร้างมหาวิหารในในศาสนิกทุกคนครับ


ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 27 พฤษภาคม 2549



ถาม: ท่านทราบไหมว่าปี...
๑) ๒๕๔๘ ๒) ๒๕๔๑
๓) ๒๕๔๕ ๔) ๒๕๔๖
๕) ๒๕๔๔ และ ๖) ๒๕๔๐
มีความสำคัญอย่างไร ตามลำดับ?
(มีเฉลยอยู่ในบทความครับ)

สัปดาห์นี้คอลัมน์จิตวิวัฒน์ได้เดินทางคู่กันกับหนังสือพิมพ์ มติชนรายวัน ฉบับวันเสาร์ มาเป็นเวลาสองปีกับอีกสองเดือนพอดี แต่ละสัปดาห์สมาชิกจิตวิวัฒน์สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาบอกเล่าความสำคัญจำเป็นที่โลกจะต้องมี “จิตสำนึกใหม่” (New Consciousness)

เรื่องราวที่กลุ่มจิตวิวัฒน์ได้ถ่ายทอดผ่านพื้นที่แห่งนี้ นอกเหนือจากฐานความรู้และมุมมองต่อโลกของแต่ละท่านแล้ว ยังมาจากข้อมูลสาระจากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในกลุ่มทั้งในและนอกที่ประชุม ความรู้ทั้งหมดที่กลุ่มให้ความสนใจ เล่าสู่ข้อมูลข่าวสาร และร่วมเรียนรู้กันนั้น ได้แสดงให้เห็นชัดเจนอย่างสิ้นไร้ข้อสงสัยว่า โลกกำลัง “อยู่ใน” วิกฤต หาใช่กำลัง “เข้าสู่” วิกฤตดังที่บางคนเข้าใจไม่ ทั้งยังเป็นวิกฤตในรอบด้าน ไม่ว่าทางสิ่งแวดล้อม ทางการเมือง ไม่เว้นแม้แต่ศาสนา และอื่นๆ
ส่วนหนึ่งของข้อมูลสถิติและข้อเท็จจริงต่างๆ นั้น มีดังต่อไปนี้ครับ

  • ในรอบสิบปีที่ผ่านมา ธารน้ำแข็งในกรีนแลนด์ละลายเพิ่มมากขึ้นเป็นเท่าตัว ภายในเวลาไม่เกินห้าสิบปีนี้ ขั้วโลกเหนือจะไม่มีน้ำแข็งปกคลุมอีกต่อไป
  • ปริมาณของน้ำแข็งที่ละลายจากขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ อาจทำให้ระดับน้ำทะเลท่วมสูงขึ้นถึง ๖ เมตร
  • โลกมีทั้งฤดูแล้งและพายุฝนรุนแรงมากยิ่งขึ้น

เหตุการณ์พายุเฮอริเคนแคทรีนา เป็นตัวอย่างที่ทุกท่านคงไม่ลืม ซึ่งแท้จริงแล้วปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ประเทศสหรัฐอเมริกามีพายุมากถึง ๒๘ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒๑ ลูกในปี ๒๔๗๖) ในจำนวนนี้เป็นพายุเฮอริเคนถึง ๑๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๑๒ ลูก ในปี ๒๕๑๒) และเป็นพายุเฮอริเคนระดับห้า อันความรุนแรงสูงสุด ถึง ๕ ลูก (ทำลายสถิติเดิม ๒ ลูกในปี ๒๕๐๓)

บางส่วนของข้อมูลนี้ถูกถ่ายทำเป็นภาพยนตร์และกำลังเข้าฉายในสหรัฐอเมริกา ชื่อ An Inconvenient Truth (“ความจริงที่ทำใจลำบาก”) ภาพยนตร์เรื่องนี้บอกเล่าถึงความน่าสะพรึงกลัวของปัญหาภาวะโลกร้อนที่บางคนไม่เคยทราบข้อมูลข้างต้นมาก่อน และจะต้องประหลาดใจยิ่งขึ้น หากพบว่าเรื่องเหล่านี้ได้ผ่านหูผ่านตาอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันอยู่แล้วในสื่อต่างๆ ท่ามกลางกระแสข่าวสารสาระบันเทิงอันท่วมท้น บางทีการบอกเล่าด้วยเรื่องราว อาจเหมาะเจาะเหมาะสมกับวัฒนธรรมพูดจาเล่าเรื่องอย่างในสังคมไทย มากกว่าการอ่านเขียนก็เป็นได้

สิ่งที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือ บทให้สัมภาษณ์ของ อัล กอร์ เขาเล่าถึงการเสียชีวิตของพี่สาวจากโรคมะเร็งปอด ด้วยความที่เธอเป็นนักสูบบุหรี่มาตลอดชีวิต ในขณะที่ครอบครัวก็มีอาชีพปลูกยาสูบ และไม่ได้คิดจะเลิกปลูก จนกระทั่งเธอตายจากไป กอร์บอกว่านี่คงเป็นลักษณะทั่วไปของมนุษย์กระมังที่ยากจะเลิกนิสัยเดิมๆ ไม่ว่าจะเป็นการสูบบุหรี่ ปลูกยาสูบ หรือแม้แต่การมีวิถีชีวิตที่ทำลายสิ่งแวดล้อมอย่างทุกวันนี้

เรื่องนี้ตรงกับที่อาจารย์หมอประสาน ต่างใจ กล่าวในวงจิตวิวัฒน์เสมอๆ ว่า “มนุษย์นี้น่ะไม่เห็นโลงศพไม่หลั่งน้ำตา บางทีเข้าไปนอนในโลงแล้วยังไม่รู้สึก ต้องได้ยินเสียงตอกตะปูฝาโลงปังๆ น่ะถึงจะคิดได้”

อย่างไรก็ดี จิตวิวัฒน์หาได้เป็นผู้นำข่าวร้าย (ซึ่งที่จริงก็เป็นแค่ “ความจริง” เพียงแต่เป็นความจริงที่ “ทำใจลำบาก”) แต่ถ่ายเดียว จิตวิวัฒน์ยังพยายามสื่อสารบอกเล่าให้เห็นด้วยว่า นี่คือโอกาสของการเรียนรู้ของตัวเราและของสังคม ในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติก็มีผู้หลุดพ้นจากการร่ำเรียนจาก “ความทุกข์” ที่อยู่เบื้องหน้ามานักต่อนัก

กลุ่มจิตวิวัฒน์เชื่อว่ามนุษย์จะใช้ความคิด ความรู้ชุดเดิมๆ มาแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากชุดความคิดเดียวกันเป็นทำนองลิงแก้แหอย่างปัจจุบันนี้ไม่ได้ ทว่าต้องมี “จิตสำนึกใหม่” อันเป็นจิตใหญ่ ดังที่อาจารย์หมอประเวศ วะสี ได้อธิบายไว้ในบทความจิตวิวัฒน์ชิ้นแรกในคอลัมน์นี้เมื่อสองปีก่อนว่าจิตสำนึกใหม่เป็น “ความรู้สึกนึกคิดที่มีปริมณฑลกว้างขวาง เข้าถึงความเป็นทั้งหมด หรือความเป็นหนึ่งเดียวของธรรมชาติ หลุดพ้นจากความบีบคั้นจากความคับแคบ เป็นอิสระ มีความสุข เกิดมิตรภาพอันไพศาล รักเพื่อนมนุษย์ และรักธรรมชาติทั้งหมด”

หลังจากที่กลุ่มจิตวิวัฒน์พบเจอกันเป็นประจำมาทุกเดือนไม่เว้น จวบจนบัดนี้เป็นเวลาเกือบสามปีแล้ว ในการประชุมเดือนพฤษภาคมนี้ กลุ่มจึงได้มีการ “เหลียวหลัง แลหน้า” กัน และได้ข้อสรุปร่วมกันว่า โลกต้องมีความเข้าใจที่ถูกต้องว่าวิกฤตที่แท้นั้นเป็นวิกฤตภายในจิตใจของตน วิกฤตสิ่งแวดล้อมเป็นอาการของโรคที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น

ดังที่ท่านดาไลลามะองค์ปัจจุบันบอกว่า “โลกเป็นโรคขาดพร่องทางจิตวิญญาณ (spiritual deficiency)” ดังนั้นการพยายามไปหาทางออกด้วยวิธีการทางเทคนิคแต่เพียงอย่างเดียวจึงไม่สามารถนำพาโลกไปสู่ทางออกได้ การแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อม แก้ปัญหาการเมืองโดยการจัดการและวิทยาการอันเป็นบ่อเกิดปัญหาจึงเป็นการแก้ไขที่เปลือกนอก สิ่งที่ควรเร่งฟื้นฟูขึ้นคือสิ่งที่อยู่ภายในจิตใจคน

และด้วยเหตุที่วิกฤตเป็นเรื่องทางจิตวิญญาณ การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเกิดจากภายใน โดยคุณเดวิด สปิลเลน ได้สรุปโดยใช้คำของมหาตมะ คานธี ที่ว่า “เปลี่ยนโลก ต้องเริ่มจากตัวเองก่อน” (Be the change you want to see in the world.)

ที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น ผู้ที่เห็นวิกฤต เห็นปัญหา ควรลงมือแก้ไขอย่างเต็มที่ ทันที โดยเริ่มจากตนเองก่อน อีกทั้งยังต้องไม่ไปยึดติดกับความคาดหวังต่อผลอีกด้วย

การทำโดยไม่หวังผล ฟังดูเผินๆ อาจขัดกับแนวความคิดกระแสหลักที่เราคุ้นเคย โดยเฉพาะ “กรอบความคิด” การวัด-การประเมิน (ที่ “ตีกรอบ” ให้เราคิดแบบวนอยู่ในอ่างที่เดิม) ที่ทุกอย่างต้องตีค่าออกมาเป็นตัวเลขได้ ต้องใช้เครื่องมือวัดได้ โดยหารู้ไม่ว่า ชุดความคิดนี้เองคือที่มาของปัญหาต่างๆ

แท้ที่จริงแล้ว มนุษยชาติมีชุดความรู้ที่แตกต่างจากชุดความรู้ทางเทคนิคปัจจุบันและสามารถพาพวกเราไปรอดอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นพุทธศาสนา (ที่สอนให้เราไม่คาดหวังผล อย่างเช่นกรณีผู้ปฏิบัติธรรม หากยิ่งคาดหวังจะบรรลุ กลับยิ่งไม่ประสบผล) หรือวิทยาศาสตร์ใหม่ (ที่บอกว่าการวัดประเมินไปเสียทุกอย่างทุกครั้ง อาจไม่ได้ให้ผลที่เราอยากได้เสมอไป เช่น การทดลองเรื่องแมวของชโรดิงเจอร์) หรืออีกหลายชุดความรู้ เพียงแต่คนยังไม่ตระหนัก ไม่เชื่อ ถึงคุณค่า ความหมาย และการนำไปใช้ของมันเท่านั้น

สำหรับเฉลยคำถามข้างบนนี้ หกปีที่อยู่ในคำถามเป็นหกปีที่ร้อนที่สุดในประวัติศาสตร์มนุษย์ชาติตั้งแต่เคยบันทึกกันมา (นับตั้งแต่ปี ๒๔๓๓ หรือเมื่อกว่าหนึ่งร้อยยี่สิบปีมาแล้ว) เป็นอย่างไรบ้างครับ เมื่อเห็นข้อมูลว่าหกปีที่ร้อนที่สุดเท่าที่บันทึกมาอยู่ในรอบไม่เกินแปดปีที่ผ่านมานี้ ในยุคสมัยของเรานี่เอง ... เกิดอาการร้อนๆ หนาวๆ กันบ้างหรือเปล่า?

สละของรัก


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2549


รุ่นพี่ที่ผมนับถือมากท่านหนึ่งกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยว-พักผ่อนต่างประเทศ "อยากได้อะไรบ้างไหม?" พี่เขาถาม แต่ผมนั้นไม่ค่อยอยากจะได้อะไร และพยายามจะไม่สะสมสิ่งของต่างๆ เอาไว้นัก

จากคำถามหาของฝาก และเรื่องสิ่งของที่อยู่ในความครอบครอง เราคุยกันไปถึงเรื่องกิจกรรม "สละของรัก" ที่พี่เขาเล่าให้ฟังว่าเพิ่งจะสละตุ๊กตาด้ายสามตัว เป็นตุ๊กตาที่ชาวอินเดียนแดงเอาไว้เล่าเรื่องที่ทุกข์ใจให้ฟังตัวละเรื่องก่อนเข้านอน (ทั้งนี้รุ่นพี่ไม่ได้อธิบายและผมก็ไม่ได้ถามว่าต้องเล่าให้ครบทุกตัวหรือเปล่า หรือถ้ามีมากกว่าสามเรื่องจะทำอย่างไรดี?)

แม้จบบทสนทนาไปแล้ว แต่คำว่า "สละของรัก" ยังติดทั้งหู ติดทั้งใจผมทั้งวัน รู้สึกเป็นคำที่ดี โดยส่วนตัวแล้วน่าจะช่วยให้ปลดระวางสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตได้ง่ายขึ้น อาจจะฟังดูแล้วขัดแย้งกัน เพราะโดยสามัญสำนึกทั่วไป คนเรามักมีความสุขเมื่อได้ครอบครองสิ่งของอันเป็นที่รัก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ถูกผูกติดกับสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นของรักไปโดยไม่ทันรู้ตัว

ดังเช่นเมื่อเราซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ทันสมัย รูปทรงงดงามหรูหรา สามารถถ่ายรูปได้เล่นเพลงได้ เราก็เพลิดเพลินและปลาบปลื้มกับมัน ใช้เวลาเล่นได้เป็นชั่วโมง เราค่อยๆ พัฒนาข้าวของเครื่องใช้นี้ขึ้นเป็น "ของรัก" มีความสุขที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ทว่าสิ่งของชิ้นนี้ก็ทำให้เราใจแป้วเอาได้ง่ายๆ เพียงเพราะมีรอยขีดข่วนเกิดขึ้น หรือออกอาการรวนทำงานไม่ปกติ ของที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอิทธิพลใดกับเรา ตอนนี้กลับทำให้ผู้เป็นเจ้าของต้องหงุดหงิด รำคาญใจ และทุกข์ใจ ห่างไกลจากความสุขไปเสียแล้ว

กรณีตัวอย่างอันโด่งดังที่แฟนภาพยนตร์ส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดีคือ กอลลัม จากเรื่อง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ กอลลัมเป็นผู้หนึ่งที่ได้เก็บแหวนแห่งอำนาจนั้นไว้ เรียกแหวนนั้นว่าเป็นของรักของตน (มาย ... พรีเชียยยยสสสสสส!) แต่ดังที่เราทราบกัน กอลลัมไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงจากแหวนนี้เลย เขาเดือดร้อนทุกข์ใจจากการสูญเสียของรัก และตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ที่ต้องพยายามทุกวิถีทางให้ได้แหวนกลับคืนมา ทั้งที่ก่อนจะพบแหวนนี้เขาเองมีความสุขและสุขสบายดีแท้ๆ

เราไม่ค่อยเห็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่องไหนที่ได้สละของรักของตนบ่อยนัก ภาพยนตร์โดยมากมักจะเป็นดังข้างต้น คือเล่าเรื่องที่จะไปส่งเสริมการแย่งของรักของหวงของคนอื่นเสียมากกว่า หรือไม่ก็ตีโพยตีพายเวลามีคนรักตายจากไป ...

ครับ ของรักนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเพียงสิ่งของ แต่หมายความรวมไปถึงสถานที่ที่เราชอบไป หมายถึงสัตว์เลี้ยงน่ารักน่าเอ็นดูของเรา ผู้คน ญาติสนิทมิตรสหายที่แวดล้อม หรือแม้แต่ตัวของเราชีวิตของเราเองด้วย

นึกถึงว่าช่วงนี้ผมได้ข่าวพระนักปฏิบัติ อีกทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านของเมือง และของเพื่อนๆ หลายท่านมาก ต่างป่วยไข้ไม่สบาย เข้าโรงหมอกันเป็นแถว นับได้สิบกว่าท่าน เรียกว่าได้ข่าวกันรายสัปดาห์ก็ว่าได้ ที่ฮิตสุดเห็นจะเป็นโรคมะเร็งกับเนื้องอก มีทั้งที่ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก แล้วยังมีไตวายอีก (ผมขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เพราะท่านคงไม่อยากรบกวนญาติโยมและเด็กๆ ส่วนพวกเราก็ควรจะให้ท่านได้พักผ่อน ไม่ต้องลำบากลุกมารับสวัสดีและของฝาก)

เวลาได้ยินข่าวประมาณนี้ ผมมักถือโอกาสถามและเช็คตนเองว่าพร้อมไหม กับการสูญเสียหรือพลัดพรากจากคนที่เราเคารพ คนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นเขาจากเราไป หรือเราเป็นฝ่ายเดินทางแบบตีตั๋วเที่ยวเดียวเอง

ถามตัวเองว่าพร้อมหรือไม่แล้วก็อยากชักชวนให้ มาลองฝึกสละของรักกันครับ

เริ่มที่สิ่งของเล็กน้อยที่เรารักเราหวงเป็นลำดับแรก เพื่อฝึกให้เราได้คุ้นเคยกับการสูญเสีย เมื่อแรกได้ของนั้นมา ก็ขอให้รู้ว่าต่อไปก็อาจจะถึงคราวจะต้องเสียมันไป ไม่มีของอะไรที่อยู่กับเราไปได้ตลอด พอรู้เท่าทัน เราก็จะเตรียมตัว ไม่ปล่อยให้ของรักนั้นจะผูกมัดให้ใจเรา ไม่ทำให้เราไปยึดติดคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นพันธะ ที่ทำให้เป็นทุกข์มากกว่าจะมีความสุข อันที่จริงในชีวิตประจำวันเราก็ได้โอกาสฝึกอยู่เสมอๆ อาทิ ปากกาแสนรักหาย เล็บสวยๆ แตกหัก เพียงแต่เราไม่ทันรู้ว่านั่นเป็นการฝึกสละของรักเท่านั้นเองครับ

การฝึกสละของรักลำดับที่ยากขึ้นไปอีก คือ ของรักที่เป็นผู้คน ญาติมิตร หรือแม้แต่ชีวิตตัวเอง แต่ช้าก่อนครับ ใช่ว่าผมจะให้สละชีวิตนะ แต่เป็นการฝึกดูแลจิตใจของเรา และการเตรียมความพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือการเผชิญกับความตายนั่นเอง

ยิ่งระยะหลังผมได้ใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลวงพี่ไพศาล วิสาโล คุณพรรณี นัยสันทัด คุณกรรณจริยา สุขรุ่ง จากเครือข่ายพุทธิกา ท่านอาจารย์ประสาน ต่างใจ หรือพี่หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ คุณราตรี ปิ่นแก้ว จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ทำให้ได้รับความรู้ขึ้นอีกมาก พร้อมกับตระหนักว่าท่าทางเราเองอาจจะยังประมาทอยู่ และต้องเร่งทำการบ้านอีกมาก

สมัยวัยรุ่น เคยคิดว่าตนเองไม่(ค่อย)กลัวตาย(สักเท่าไหร่) ตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่สอง เย็นวันหนึ่งทำกิจกรรม มีเพื่อนผู้หญิงคณะเดียวกันมาแซว ปัดโทรโข่งที่ถือตะโกนเรียกน้องๆอยู่ ทำให้โทรโข่งกระแทกจนฟันหน้าบิ่น ตอนนั้นตกใจมาก กลับมาบ้านส่องกระจกดูแล้วดูอีก คิดในใจว่าแย่จัง (ยิ่งหน้าตาไม่ผ่าน mean กับเขาด้วย) พอเห็นหน้าเศร้าของตัวเองในกระจกถึงนึกได้ว่า นี่หนอตัวเรา ไหนว่าคิดว่าไม่กลัวตายไง นี่แค่ฟันบิ่นทำเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้นึกย้อนกลับไปรู้สึกดีว่าตอนนั้นไม่ได้กลับไปว่าเพื่อนให้ได้เสียใจ ส่วนฟันซี่ที่บิ่นนั้นก็ไม่ได้ให้หมอฟันซ่อมแต่อย่างใด เก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจ

ดังนี้แล้ว ผมจึงเห็นว่าการ "สละของรัก" เป็นการช่วยปลดระวางสิ่งของที่ไม่จำเป็นในชีวิตนั่นเอง การได้ตั้งใจปล่อยให้ของรักไปแก่ผู้อื่น หรือบริจาคเป็นทานออกไปให้คนที่เราเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้มากกว่า ล้วนแต่ช่วยฝึกฝนตัวเราให้คุ้นเคย ช่วยให้เรารับรู้ถึงภาระที่เราเคยแบกเอาไว้และได้ปล่อยออกไป

ดังนั้นเวลาบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล หากจะเป็นการฝึกตนที่ดี ก็ควรได้ฝึกสละของดีๆ ที่เรารัก เราหวง ไม่ใช่เป็นโอกาสระบาย "ขยะแอบแฝง" ที่เราไม่อยากได้แล้วแต่อย่างเดียว (ฮา)

วันนี้ได้ฟังรุ่นพี่พูดให้ฟังเรื่อง "สละของรัก" ก็ดีใจ คิดว่าเราได้มีเครื่องมือใหม่ๆ ไว้ใช้พัฒนาความสุขอีกแล้ว :-)