ชีวิตเลือกได้



ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
*** ในฉบับตีพิมพ์ใช้ชื่อบทความว่า "เลือกเพื่อแม่" ***
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ

ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2555

“ทำให้แม่มึงเถอะ แม่มีคนเดียว”

หนุ่มนักศึกษา ปี 1 คนนี้เขาเล่าให้ผมฟังถึงคำพูดของเพื่อนที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนสายวิทย์ ทั้งๆ ที่ตนเองรักและอยากเรียนดนตรีถึงที่สุด

ผมมักจะทึ่งกับคนประเภทนี้เสมอๆ คนที่เลือกเรียนตามที่ผู้ใหญ่ขอ ด้วยตนเองนั้นนึกเทียบเคียงประสบการณ์ตรงไม่ค่อยออก เพราะที่บ้านนั้นสนับสนุนการตัดสินใจเรื่องการเรียนของผมอย่างเต็มที่ (แม้ว่าอาจมีสงสัยหรือไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง) ยิ่งคนที่เลือกใช้ชีวิตตามที่คนอื่นต้องการ เชื่อว่าจำนวนไม่น้อยคงเป็นคนที่เสียสละน่าดู

อย่างนักศึกษาคนนี้ ฐานะครอบครัวแต่ก่อนค่อนข้างลำบาก ต้องต่อสู้ไม่น้อยจึงจะอยู่ได้ เกิดมาเขาได้อยู่ในอ้อมอกแม่แค่สองเดือนก็ต้องย้ายไปอยู่กับยายและป้าที่หนองคาย ช่วงยังเด็กก็มีสงสัยตามประสาวัยเยาว์ว่าพ่อแม่รักเราหรือเปล่า เหตุใดจึงให้ไปอยู่เสียห่างไกล แต่พอโตมาก็เข้าใจว่าเพราะรักมาก จึงยอมอดทนสู้อุตส่าห์ทำงานหนัก เพื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชน เพื่อให้ได้รับการศึกษาที่เชื่อว่าดีที่สุด

การที่เขาชอบและรักดนตรีตั้งแต่เรียนมัธยม ทำให้อยากเรียนต่อด้านดนตรี ในขณะที่แม่อยากให้เรียนวิทยาศาสตร์ จึงเป็นโจทย์ยากของครอบครัว เป็นเหตุให้ได้ทะเลาะกันรุนแรงหลายครั้ง เมื่อเขายอมตัดสินใจเลือกและสอบเข้าได้คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล แม่ดีใจถึงขนาดบอกพ่อว่า “เราได้ลูกกลับคืนมาแล้ว”

เข้าปีหนึ่ง เขาได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกคณะประสานเสียง MU Choir ของมหาวิทยาลัย แต่การต้องไปซ้อมที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ชวนจินตนาการเห็นภาพตนเองที่เป็นนักดนตรี ทำให้เขากลับมาซึมเศร้าอีกครั้ง อีกทั้งการเรียนที่คณะวิทย์ก็ยากมากๆ สำหรับเขาเสียด้วย

วันหนึ่ง ผมมีโอกาสให้เขา “ระบาย” ให้ฟัง จึงได้รับรู้ ได้ยิน ถึงความอึดอัด ตัดสินตนเอง เกรงว่าตนจะไม่เหมาะไม่ดีพอ หรือไม่เข้ากับแบบพิมพ์ของคนส่วนใหญ่ในคณะ เป็นการต่อสู้ของคนที่อยากทำให้ได้ดี

ที่สำคัญ คือ อยากจริงแท้ต่อความรู้สึกตนเอง ไม่อยากทิ้งความฝันในชีวิตของตนเองไป

เราใช้เวลาอย่างมีคุณภาพในการถ่ายทอดบอกเล่า และฟังอย่างลึกซึ้ง เพียงไม่นาน เขาก็เข้าใจได้ด้วยตนเอง ถึงความสอดคล้องเข้ากันได้ของสองสิ่งที่ดูเหมือนจะขัดกัน แต่แท้จริงแล้วเกื้อกูลกัน

ในช่วงเวลาสั้นๆ เขาก้าวข้ามจากสภาวะหนึ่งสู่อีกสภาวะหนึ่ง แบบข้ามพ้นแต่ปนอยู่ (transcend and include) คือ มีคุณสมบัติใหม่ มีความเข้าใจใหม่ โดยไม่ได้ต้องทิ้งของเดิมไปแต่อย่างใด เป็นการเข้าถึงความหมายของการอยู่ร่วม ที่ไม่ใช่เพียงอยู่ให้รอดในการเรียนวิทยาศาสตร์ หรืออยู่ให้รอดจากการทิ้งความฝันตัวเอง แต่มีชีวิตอยู่เพื่อความฝันของแม่และยังมีความรักในดนตรี เป็นการอยู่ร่วมของความรัก ความฝัน และความสุข ในรูปแบบความเข้าใจของเขาเอง

นั่นทำให้เปิดความสามารถในการเลือกได้ด้วย คนส่วนใหญ่นั้นรับรู้และเชื่อว่าสิ่งที่เราเลือกได้ คือ เลือกทางกาย เลือกการกระทำของเรา แต่มักไม่ตระหนักว่าเราสามารถเลือกทางใจได้ด้วย ซึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเลือกที่จะอยู่โดยทุกข์หรือไม่ทุกข์

เมื่อวานนี้ เขาเขียนมาบอกกับผมว่าชีวิตนี้มีคุณค่าและความหมายอย่างไร “ที่นี่เป็นที่ๆ ผมอยู่แล้วมีความสุข เพราะได้ทำเพื่อแม่”

เขารู้และเลือกแล้วที่จะเรียนและอยู่ที่นี่อย่างไร

“นี่ก็คงเป็นตัวผมที่เป็นปัจจุบันที่สุดแล้วครับ” เขาเขียนส่งท้าย

ยินดีด้วยครับ!