ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 มิถุนายน 2548


คุณเคยรู้สึกว่าคุณเป็นเทพกำลังขี่เมฆ ตามหาม้าเทวดาบ้างไหม? ไม่ว่าคุณจะเคยหรือไม่ วันนี้ผมรู้สึกว่ากำลังเดินทางค้นหาม้าเทวดา สิ่งมีชีวิตที่ไม่พบที่อื่นอีกในโลก นอกจากในป่าที่ผมกำลังอยู่เท่านั้น

ขณะที่กำลังเขียนต้นฉบับนี้ อากาศรอบข้างผมช่างหนาวเหน็บ เมฆโรยตัวรายรอบล้อมผมราวกับกำลังขี่เมฆ ค้นหาม้าเทวดา หรือกวางผา goral สำหรับนักวิทยาศาสตร์ แม้ผมจะยังไม่เห็นมัน แต่ผมกลับได้พบกุหลาบพันปี หรือดอกไม้วงศ์กุหลาบซึ่งพบได้เฉพาะที่นี่ กำลังออกดอกเบ่งบานสะพรั่งอยู่ริมผา ใกล้ๆ กันมีกองมูลของเลียงผาที่มีเมล็ดเล็กๆ เท่าคลอเร็ตสีน้ำตาลกองเบ้อเริ่ม

ผมอยู่ที่อุทยานแห่งชาติดอยหลวงเชียงดาว แดนธรรมชาติอันงดงามที่สุดแห่งหนึ่งของโลก คำว่าสวรรค์บนดินดูจะไม่เรียกเกินเลยไป บรรยากาศบริเวณเด่นหญ้าขัดในเขตอุทยาน อบร่ำไปด้วยตำนานล้านนา ว่าเขาแห่งนี้เป็นสถานที่สิงสถิตของเจ้าหลวงคำแดง เทพผู้เป็นประธานของเทพทั้งมวลในดินแดนล้านนา แม้น้ำสำหรับประกอบพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ประจำปีที่วัดพระธาตุดอยสุเทพยังต้องนำมาจากที่นี่




ผมเดินทางมากับคณะครูชาวไทยและอเมริกันสามสิบกว่าชีวิตเพื่อร่วมสร้างเครือข่ายของครู ชาวบ้าน และนักพัฒนาที่สนใจกระบวนการเรียนรู้แบบสืบค้นที่มีชุมชนเป็นหลัก เพื่อประโยชน์แก่นักเรียน ระบบนิเวศ และโลก ในโครงการการเดินทางสำรวจโลก (Earth Expedition) โดยการร่วมมือกันในหลายประเทศที่มีธรรมชาติอันน่าทึ่ง ตื่นตาตื่นใจ และมีสัตว์สวยงามขนาดใหญ่เป็นตัวเดินเรื่อง

คอร์สในประเทศไทยครั้งนี้ที่ร่วมจัดโดยมูลนิธิโลกสีเขียว สถาบันขวัญเมือง มหาวิทยาลัยไมอามี่ สวนสัตว์ซินซิแนติ และแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ มีความแตกต่างจากครั้งอื่นๆ เพราะเน้นการเรียนรู้ความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ ในหัวข้อ พุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ อันว่าด้วยธรรมชาติกับการเรียนรู้ด้านใน กิจกรรมก็ล้วนส่งเสริมให้ผู้เข้าร่วมได้มีประสบการณ์ตรง ผสมผสานระหว่างธรรมชาติของขุนเขา แมกไม้ และสายฝนอันงดงาม การจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนของปกากญอและชุมชนท้องถิ่น และมิติทางจิตวิญญาณอันละเอียดอ่อน แต่สัมผัสได้จริง ผ่านการเจริญสติภาวนา และการอยู่กับธรรมชาติ ไม่เว้นกระทั่งฝรั่งผู้ไม่เคยฝึกฝนมาก่อน

หลวงพี่ไพศาล วิสาโล หนึ่งในวิทยากรครั้งนี้ ได้อธิบายความสัมพันธ์และประโยชน์ของธรรมชาติต่อมนุษย์ว่ามี ๔ ระดับ ระดับที่หนึ่งเป็นเรื่องทางวัตถุ (material) เพราะธรรมชาติคือที่มาของปัจจัยสี่ รวมถึงอากาศและน้ำบริสุทธิ์ที่เป็นพื้นฐานการดำรงชีวิต ระดับที่สอง เป็นเรื่องความงดงาม (beauty) ที่ธรรมชาติได้ให้ความรื่นรมย์แก่ประสาทสัมผัสของเรา เช่น ภาพอรุณรุ่งที่ผานกแอ่น แสงอาทิตย์อัศดงที่แหลมพรหมเทพ รสชาติละมุนนุ่มลิ้นของผลไม้ กลิ่นหอมเย้ายวนจากดอกไม้นานาพันธุ์ เสียงหรีดหริ่งเรไรยามค่ำคืน รวมถึงสัมผัสทางผิวกายจากการดำผุดดำว่ายในธารน้ำตก

ขณะที่ประโยชน์ระดับที่สองเป็นความรุ่มรวยของประสาทสัมผัสภายนอก ระดับที่สามซึ่งสูงกว่าเป็นความสงบหรือสันติ (peace) ที่เราสามารถเข้าถึงได้หากได้มีโอกาสพักดูแลใจตนเอง ให้เวลาและใช้เวลาอยู่ใกล้ชิดกับธรรมชาติ อยู่ในป่าเขาสงบสงัด ปราศจากการรบกวนของโทรศัพท์มือถือ เครื่องเล่น mp3 เครื่องไอพอด บรรดาเหล่าเทคโนโลยีที่ทำให้จิตของเราสัดส่าย

ประโยชน์ระดับสูงสุดเป็นระดับของปัญญา (wisdom) เป็นสิ่งที่ยั่งยืนยิ่งกว่าความสงบ ปัญญาที่ได้จากธรรมชาติคือได้เห็นความไม่แน่นอนของชีวิต เห็นความเป็นทั้งหมดและเป็นหนึ่งเดียวระหว่างชีวิตทั้งมวล เห็นสรรพสิ่งในโลกล้วนเชื่อมร้อยโยงใยกัน การได้เห็นความสัมพันธ์เกื้อกูลอาศัยกันของสิ่งต่างๆ ก็คือการได้รู้จักธรรมชาติ อันเป็นแหล่งของการเรียนรู้สู่การเข้าถึงความจริงของความเชื่อมโยงในสรรพสิ่งทั้งหลาย ธรรมชาติได้ให้ประโยชน์อันสูงสุดนี้แก่เรา

การเข้าถึงความเชื่อมโยงของสรรพสิ่งนี้มีความสำคัญต่อทั้งการอนุรักษ์และต่อความสุขของเรา

หากเราเปิดน้ำจากก๊อกแล้วเรารับรู้ถึงความสัมพันธ์ของน้ำนี้กับสายน้ำลำธาร เดินทางเชื่อมโยงย้อนกลับไปถึงเจ้าหลวงคำแดง ก้อนเมฆ และม้าเทวดาบนดอยเชียงดาว เราก็จะตระหนักและใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างประหยัดโดยไม่ต้องมีใครบอก

หากเราได้เข้าถึงความจริง เห็นถึงความเป็นทั้งหมดของทุกสิ่ง เราก็สามารถผูกโยงประสบการณ์ที่ดีจากผืนป่างดงามที่ยังไม่ถูกแผ้วทำลาย นำมาเทียบเคียงให้มองเห็นถึงความเป็นธรรมชาติที่ปรากฏอยู่ดาษดื่นทั่วไป แม้กระทั่งกระรอกที่วิ่งไปมา นกที่โผเกาะลงบนสายไฟฟ้าในเมือง กระถางต้นไม้หรือแจกันดอกไม้ที่ตั้งอยู่บนโต๊ะทำงานของเรา แม้เพียงเห็นเราก็ได้สัมผัสธรรมชาติและสามารถเกิดความสุขได้

เปรียบดังต้นไม้ใหญ่ยืนหยัดเขียวสดอยู่ได้ ไม่หวั่นไหวแม้อยู่ท่ามกลางไอแดดร้อนแรงของฤดูแล้ง เพราะมันได้หยั่งรากลึกลงไปพบความฉ่ำเย็นของน้ำในใต้ดิน เราเองก็เช่นกัน เราสามารถดำรงชีวิตที่ดี ท่ามกลางความเร่งร้อนของชีวิตและการงานได้ เพราะเห็นความงดงามในความจริง สามารถดื่มด่ำและรับเอาความสุขอันผุดเกิดจากความชุ่มชื่นในจิตใจภายในของเราเอง :-)

0 comments: