Boon (บุญ) It Forward : ทำดี ทวีสุข


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 ตุลาคม 2548


“คุณจะเปลี่ยนโลกของเราอย่างไรให้ดีขึ้น และจงลงมือทำ!”

คุณๆ อ่านคำสั่งนี้แล้วคิดอะไรรู้สึกอย่างไรกันบ้างครับ? คิดว่าประโยคนี้มาจากหนังไอ้มดแดงแดนปลาดิบที่ได้รับภารกิจมาจากองค์กรลับปกป้องโลกจากสัตว์ประหลาดแหงๆ หรือไม่ก็สไปเดอร์แมนที่ได้ “พลังยิ่งใหญ่ที่มาพร้อมกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่” ให้พิทักษ์โลก หรือคุณบางคนคงคิดว่ามันเป็นแค่ประโยคปลุกใจเอาไว้ติดท้ายรถ

แต่ประโยคข้างต้นนี้คือการบ้านของเด็กๆ วัยมัธยม ๑ ครับ!

อ๊ะ อย่าเพิ่งอ้าปากค้าง หรือสงสัยว่าโรงเรียนประเภทไหนหนอถึงได้สั่งการบ้านอะไรพิเรนทร์อย่างนี้ เพราะผมกำลังจะเฉลยให้คุณฟังว่า ครูผู้จ่ายการบ้านนี้อยู่ในภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดเรื่องหนึ่งครับ แต่ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อครับว่าเขาสั่งการบ้านอย่างนี้มาเป็นเวลา ๑๒ ปี ให้แก่เด็กนักเรียน ๑๒ รุ่นแล้ว (ก็เป็นหนังนี่นา)

การบ้านที่น้องๆ หนูๆ เอามาส่งตลอดสิบกว่าปีผ่านมาก็ไม่มีอะไรเหนือความคาดหมายครับ เก็บขยะ ช่วยแม่ล้างจาน แต่ทว่ามีน้องคนนึงครับที่ทำให้ทุกอย่างเปลี่ยนไปจริงๆ และผมกำลังจะชวนคุณๆ ให้เริ่มเปลี่ยนไปพร้อมกัน ไม่ต้องถึงขั้นเปลี่ยนโลกหรอกครับ เปลี่ยนสิ่งรอบๆ ตัวคุณก็พอ และเปลี่ยนได้จริงๆ

พระเอกตัวน้อยของเราชื่อเทรเวอร์ครับ พ่อหนูรับเอาการบ้านมาขยายผลเป็นระบบ MLM (การตลาดแบบมัลติเลเยอร์) น้องเทรเวอร์เขาคิดเป็นเรื่องเป็นราวน่าตื่นตาตื่นใจว่า โลกจะดีขึ้นได้แน่ๆ เพียงเราทำดีช่วยเหลือใครสักคนโดยไม่หวังสิ่งใดตอบแทน ขอแค่ว่าถ้าอยากทดแทนบุญคุณละก็ จงไปช่วยคนอื่นต่ออีก ๓ คน แล้วบอกต่ออย่างเดียวกันนี้สิ

กฎกติกามารยาทก็ง่ายดายครับ จะช่วยอะไรใคร หนึ่งนั้นต้องเป็นการช่วยเหลือกันอย่างแท้จริง สองคือต้องเป็นสิ่งที่เขาไม่สามารถทำได้ด้วยตัวเอง และสุดท้ายขอให้เขาช่วยคนอื่นต่อไปอีกสามคน

อย่าได้คิดเชียวว่านี่เป็นเพียงไอเดียบรรเจิดแต่ไม่มีวันเกิดขึ้นนะครับ เพราะผลของมันสะเทือนทั้งเมืองมาแล้ว เช่น รถคุณเกิดเสียเครื่องดับบนทางหลวง โทรศัพท์ก็ไม่มี พลันปรากฏบุคคลนิรนามตรงมาช่วยซ่อมจนรถใช้การได้ แต่แล้วเขาก็จากไปไม่เรียกร้องเงินทอง ขอแค่เมื่อไรที่คุณมีโอกาสที่จะช่วยใครได้ จงช่วยอีก ๓ คน เป็นการตอบแทนความดีที่คุณได้รับครั้งนี้

หนังเขาชื่อ Pay It Forward ครับ แต่ชักชวนคุณๆ กันแล้ว ถือว่าบอกบุญกันดีๆ นี่เองครับ ธรรมเนียมไทยๆ ตั้งชื่อกันใหม่ว่าชวนกันมา “Boon (บุญ) It Forward” ครับ การช่วยเหลือกันมากน้อยแค่ไหนพี่ไทยเราก็ถือว่าได้บุญ ทีนี้ผมเสนอให้ตั้งกติกาใหม่เอาแบบ user-friendly ขึ้น ประมาณว่าทำเองเมื่อไรที่ไหนก็ได้ ง่ายจัง

กติกาข้อหนึ่งเสนอเป็นช่วยใครในเรื่องอะไรก็ได้ที่ไม่เหลือบ่ากว่าแรงของเรา ข้อสองเขาอาจจะช่วยเหลือตัวเองได้หรือไม่อันนี้ไม่เป็นไรครับ ดูแค่ว่ามีโอกาสให้เราได้ช่วยเขาไหม ข้อสุดท้าย ถ้าเขารู้สึกขอบคุณอยากตอบแทนเรา ก็ขอแค่ให้เขาได้ทำสิ่งละอันพันละน้อยนี้กับคนอื่นๆ บ้าง

ลองนึกถึงเวลามีใครมาช่วยอะไรคุณ คุณจะนึกถึงอะไรบ้างครับ ส่วนใหญ่ก็ต้องขอบคุณและอยากตอบแทนใช่ไหมละครับ ทีนี้ถ้าบอกขอบคุณไปแล้วมันก็ไม่เกิดประโยชน์โภคผลดอกบุญก็ไม่เบ่งบานเท่าที่ควรสิครับ มันต้องส่งต่อ

สิ่งสำคัญคืออย่าไปติดว่าบุญเป็นเรื่องทำในวัดนะครับ เพราะบุญเป็นเรื่องว่าด้วยความดี กุศล และความสุข เกิดจากการความประพฤติทั้งทางกาย วาจา ใจ ไม่ว่าจะทำที่ไหน ทำแล้วนอกจากจะดียังมีสุขด้วย สำหรับศาสนาพุทธเราถือว่าการช่วยคนอื่นนี้เป็นไวยาวัจจวัย หนึ่งในสิบวิธีทำบุญหรือบุญกริยาวัตถุ๑๐ คือการเสียสละเพื่อส่วนรวม ช่วยเหลือคนอื่นเมื่อมีโอกาสนี่ล่ะครับ

ยกตัวอย่างตรงประเด็นชี้กันชัดๆ ไปเลย ในสถานที่ทำงานของเรานี่เองครับ มองไปรอบๆ จะมีโอกาสมากมายรอคอยฝีมือเราเข้าช่วยอยู่ เห็นใครถือของสองมือจะเรียกลิฟท์เราก็กดให้ เพื่อนไม่อยู่ที่โต๊ะแต่มีสายเข้าเราช่วยรับสายเขียนโน้ตให้ โอ้โห สารพัดโอกาสแสวงบุญรอบออฟฟิศทีเดียวเชียวละครับ

แต่ไม่ต้องรับคำขอบคุณด้วยรอยยิ้มแล้วจบนะครับ บอกเขาไปเลยว่า “Boon It Forward” ได้นะ ประมาณนี้ เริ่มต้นเราอาจจะยังไม่ต้องบอก เราก็ได้บุญแล้วครับ เพราะบุญมีคุณสมบัติพิเศษ ทำขึ้นมาแล้วไม่หายไปไหน อยู่กับตัวคนทำ มีอยู่มากมีอยู่น้อยขึ้นกับความขยันหมั่นทำของใครของมันครับ

ทำให้บ่อยให้มากขึ้น เราก็ชักชวนเพื่อนฝูงที่ทำงานให้ร่วมด้วยช่วยกันทำบ้าง ทำบุญช่วยกันในสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่สำคัญคือไม่ต้องเลือกกลุ่มเป้าหมายหรอกครับ ใครก็ได้ในออฟฟิศเรา จะเพื่อน รุ่นน้อง แม่บ้าน หรือพนักงานส่งเอกสาร มันต้องมีอะไรสักอย่างที่เราจะช่วยเขาได้บ้างแน่นอนครับ แค่นี้ก็ทวีความสุขกันถ้วนทั่วทั้งสำนักงานแน่ครับ

แถมอีกนิด ไม่ใช่แค่ที่ทำงานนะครับ Boon It Forward หรือทำที่บ้านด้วยก็ได้ ทำแล้วดี ทวีสุขเหมือนกัน :-)

0 comments: