สละของรัก


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 7 พฤษภาคม 2549


รุ่นพี่ที่ผมนับถือมากท่านหนึ่งกำลังจะเดินทางไปท่องเที่ยว-พักผ่อนต่างประเทศ "อยากได้อะไรบ้างไหม?" พี่เขาถาม แต่ผมนั้นไม่ค่อยอยากจะได้อะไร และพยายามจะไม่สะสมสิ่งของต่างๆ เอาไว้นัก

จากคำถามหาของฝาก และเรื่องสิ่งของที่อยู่ในความครอบครอง เราคุยกันไปถึงเรื่องกิจกรรม "สละของรัก" ที่พี่เขาเล่าให้ฟังว่าเพิ่งจะสละตุ๊กตาด้ายสามตัว เป็นตุ๊กตาที่ชาวอินเดียนแดงเอาไว้เล่าเรื่องที่ทุกข์ใจให้ฟังตัวละเรื่องก่อนเข้านอน (ทั้งนี้รุ่นพี่ไม่ได้อธิบายและผมก็ไม่ได้ถามว่าต้องเล่าให้ครบทุกตัวหรือเปล่า หรือถ้ามีมากกว่าสามเรื่องจะทำอย่างไรดี?)

แม้จบบทสนทนาไปแล้ว แต่คำว่า "สละของรัก" ยังติดทั้งหู ติดทั้งใจผมทั้งวัน รู้สึกเป็นคำที่ดี โดยส่วนตัวแล้วน่าจะช่วยให้ปลดระวางสิ่งที่ไม่จำเป็นในชีวิตได้ง่ายขึ้น อาจจะฟังดูแล้วขัดแย้งกัน เพราะโดยสามัญสำนึกทั่วไป คนเรามักมีความสุขเมื่อได้ครอบครองสิ่งของอันเป็นที่รัก แต่ในขณะเดียวกันเราก็ถูกผูกติดกับสิ่งที่ได้ชื่อว่าเป็นของรักไปโดยไม่ทันรู้ตัว

ดังเช่นเมื่อเราซื้อโทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่ทันสมัย รูปทรงงดงามหรูหรา สามารถถ่ายรูปได้เล่นเพลงได้ เราก็เพลิดเพลินและปลาบปลื้มกับมัน ใช้เวลาเล่นได้เป็นชั่วโมง เราค่อยๆ พัฒนาข้าวของเครื่องใช้นี้ขึ้นเป็น "ของรัก" มีความสุขที่ได้ครอบครองเป็นเจ้าของ ทว่าสิ่งของชิ้นนี้ก็ทำให้เราใจแป้วเอาได้ง่ายๆ เพียงเพราะมีรอยขีดข่วนเกิดขึ้น หรือออกอาการรวนทำงานไม่ปกติ ของที่ก่อนหน้านี้ไม่เคยมีอิทธิพลใดกับเรา ตอนนี้กลับทำให้ผู้เป็นเจ้าของต้องหงุดหงิด รำคาญใจ และทุกข์ใจ ห่างไกลจากความสุขไปเสียแล้ว

กรณีตัวอย่างอันโด่งดังที่แฟนภาพยนตร์ส่วนใหญ่น่าจะรู้จักกันดีคือ กอลลัม จากเรื่อง ลอร์ดออฟเดอะริงส์ กอลลัมเป็นผู้หนึ่งที่ได้เก็บแหวนแห่งอำนาจนั้นไว้ เรียกแหวนนั้นว่าเป็นของรักของตน (มาย ... พรีเชียยยยสสสสสส!) แต่ดังที่เราทราบกัน กอลลัมไม่ได้มีความสุขอย่างแท้จริงจากแหวนนี้เลย เขาเดือดร้อนทุกข์ใจจากการสูญเสียของรัก และตกอยู่ในห้วงของความทุกข์ที่ต้องพยายามทุกวิถีทางให้ได้แหวนกลับคืนมา ทั้งที่ก่อนจะพบแหวนนี้เขาเองมีความสุขและสุขสบายดีแท้ๆ

เราไม่ค่อยเห็นตัวละครในภาพยนตร์เรื่องไหนที่ได้สละของรักของตนบ่อยนัก ภาพยนตร์โดยมากมักจะเป็นดังข้างต้น คือเล่าเรื่องที่จะไปส่งเสริมการแย่งของรักของหวงของคนอื่นเสียมากกว่า หรือไม่ก็ตีโพยตีพายเวลามีคนรักตายจากไป ...

ครับ ของรักนี้ก็ใช่ว่าจะเป็นเพียงสิ่งของ แต่หมายความรวมไปถึงสถานที่ที่เราชอบไป หมายถึงสัตว์เลี้ยงน่ารักน่าเอ็นดูของเรา ผู้คน ญาติสนิทมิตรสหายที่แวดล้อม หรือแม้แต่ตัวของเราชีวิตของเราเองด้วย

นึกถึงว่าช่วงนี้ผมได้ข่าวพระนักปฏิบัติ อีกทั้งผู้หลักผู้ใหญ่ของบ้านของเมือง และของเพื่อนๆ หลายท่านมาก ต่างป่วยไข้ไม่สบาย เข้าโรงหมอกันเป็นแถว นับได้สิบกว่าท่าน เรียกว่าได้ข่าวกันรายสัปดาห์ก็ว่าได้ ที่ฮิตสุดเห็นจะเป็นโรคมะเร็งกับเนื้องอก มีทั้งที่ต่อมลูกหมาก ต่อมน้ำเหลือง ไขกระดูก แล้วยังมีไตวายอีก (ผมขออนุญาตไม่เอ่ยนาม เพราะท่านคงไม่อยากรบกวนญาติโยมและเด็กๆ ส่วนพวกเราก็ควรจะให้ท่านได้พักผ่อน ไม่ต้องลำบากลุกมารับสวัสดีและของฝาก)

เวลาได้ยินข่าวประมาณนี้ ผมมักถือโอกาสถามและเช็คตนเองว่าพร้อมไหม กับการสูญเสียหรือพลัดพรากจากคนที่เราเคารพ คนที่เรารัก ไม่ว่าจะเป็นเขาจากเราไป หรือเราเป็นฝ่ายเดินทางแบบตีตั๋วเที่ยวเดียวเอง

ถามตัวเองว่าพร้อมหรือไม่แล้วก็อยากชักชวนให้ มาลองฝึกสละของรักกันครับ

เริ่มที่สิ่งของเล็กน้อยที่เรารักเราหวงเป็นลำดับแรก เพื่อฝึกให้เราได้คุ้นเคยกับการสูญเสีย เมื่อแรกได้ของนั้นมา ก็ขอให้รู้ว่าต่อไปก็อาจจะถึงคราวจะต้องเสียมันไป ไม่มีของอะไรที่อยู่กับเราไปได้ตลอด พอรู้เท่าทัน เราก็จะเตรียมตัว ไม่ปล่อยให้ของรักนั้นจะผูกมัดให้ใจเรา ไม่ทำให้เราไปยึดติดคิดว่าเป็นสิ่งจำเป็น กลายเป็นพันธะ ที่ทำให้เป็นทุกข์มากกว่าจะมีความสุข อันที่จริงในชีวิตประจำวันเราก็ได้โอกาสฝึกอยู่เสมอๆ อาทิ ปากกาแสนรักหาย เล็บสวยๆ แตกหัก เพียงแต่เราไม่ทันรู้ว่านั่นเป็นการฝึกสละของรักเท่านั้นเองครับ

การฝึกสละของรักลำดับที่ยากขึ้นไปอีก คือ ของรักที่เป็นผู้คน ญาติมิตร หรือแม้แต่ชีวิตตัวเอง แต่ช้าก่อนครับ ใช่ว่าผมจะให้สละชีวิตนะ แต่เป็นการฝึกดูแลจิตใจของเรา และการเตรียมความพร้อมเผชิญหน้ากับสถานการณ์การสูญเสียบุคคลอันเป็นที่รัก หรือการเผชิญกับความตายนั่นเอง

ยิ่งระยะหลังผมได้ใกล้ชิดกับผู้เชี่ยวชาญที่ทำงานด้านนี้ ไม่ว่าจะเป็นหลวงพี่ไพศาล วิสาโล คุณพรรณี นัยสันทัด คุณกรรณจริยา สุขรุ่ง จากเครือข่ายพุทธิกา ท่านอาจารย์ประสาน ต่างใจ หรือพี่หมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ คุณราตรี ปิ่นแก้ว จากสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ ทำให้ได้รับความรู้ขึ้นอีกมาก พร้อมกับตระหนักว่าท่าทางเราเองอาจจะยังประมาทอยู่ และต้องเร่งทำการบ้านอีกมาก

สมัยวัยรุ่น เคยคิดว่าตนเองไม่(ค่อย)กลัวตาย(สักเท่าไหร่) ตอนอยู่มหาวิทยาลัยปีที่สอง เย็นวันหนึ่งทำกิจกรรม มีเพื่อนผู้หญิงคณะเดียวกันมาแซว ปัดโทรโข่งที่ถือตะโกนเรียกน้องๆอยู่ ทำให้โทรโข่งกระแทกจนฟันหน้าบิ่น ตอนนั้นตกใจมาก กลับมาบ้านส่องกระจกดูแล้วดูอีก คิดในใจว่าแย่จัง (ยิ่งหน้าตาไม่ผ่าน mean กับเขาด้วย) พอเห็นหน้าเศร้าของตัวเองในกระจกถึงนึกได้ว่า นี่หนอตัวเรา ไหนว่าคิดว่าไม่กลัวตายไง นี่แค่ฟันบิ่นทำเป็นเรื่องใหญ่ ตอนนี้นึกย้อนกลับไปรู้สึกดีว่าตอนนั้นไม่ได้กลับไปว่าเพื่อนให้ได้เสียใจ ส่วนฟันซี่ที่บิ่นนั้นก็ไม่ได้ให้หมอฟันซ่อมแต่อย่างใด เก็บไว้เป็นเครื่องเตือนใจ

ดังนี้แล้ว ผมจึงเห็นว่าการ "สละของรัก" เป็นการช่วยปลดระวางสิ่งของที่ไม่จำเป็นในชีวิตนั่นเอง การได้ตั้งใจปล่อยให้ของรักไปแก่ผู้อื่น หรือบริจาคเป็นทานออกไปให้คนที่เราเห็นว่ามีความจำเป็นต้องใช้มากกว่า ล้วนแต่ช่วยฝึกฝนตัวเราให้คุ้นเคย ช่วยให้เรารับรู้ถึงภาระที่เราเคยแบกเอาไว้และได้ปล่อยออกไป

ดังนั้นเวลาบริจาคทรัพย์เพื่อการกุศล หากจะเป็นการฝึกตนที่ดี ก็ควรได้ฝึกสละของดีๆ ที่เรารัก เราหวง ไม่ใช่เป็นโอกาสระบาย "ขยะแอบแฝง" ที่เราไม่อยากได้แล้วแต่อย่างเดียว (ฮา)

วันนี้ได้ฟังรุ่นพี่พูดให้ฟังเรื่อง "สละของรัก" ก็ดีใจ คิดว่าเราได้มีเครื่องมือใหม่ๆ ไว้ใช้พัฒนาความสุขอีกแล้ว :-)

0 comments: