ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตวิวัฒน์
หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2550


การประชุมจิตวิวัฒน์เดือนมกราคมเปิดศักราชใหม่ปี ๒๕๕๐ นี้ เป็นครั้งที่ผมได้เรียนรู้มากที่สุดครั้งหนึ่ง พวกเราได้รับฟังและแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับวิทยากรสองกลุ่ม คือ รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี และคณาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล ผู้ร่วมกันผลักดันโครงการจัดตั้งศูนย์จิตตปัญญาศึกษา และอีกท่านหนึ่งคือ นพ.ประเสริฐ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ทั้งสองโครงการต่างมุ่งสู่การยกระดับจิตวิญญาณเช่นเดียวกัน หากงานแรกเน้นที่ระบบอุดมศึกษา ส่วนอีกงานนั้นเน้นสร้างรูปธรรมให้เกิดขึ้นในระบบบริการทางการแพทย์

สมาชิกจิตวิวัฒน์ล้วนแสดงความชื่นชมและให้ความเชื่อมั่นต่อโครงการทั้งสองว่าเป็นงานที่ดี เป็นงานที่งาม จะช่วยผลักดันให้เกิดสิ่งดีงามและการปฏิวัติทางจิตวิญญาณขึ้นในสังคมได้

หลายท่านยังแสดงความห่วงใยและให้ข้อแนะนำต่อกิจกรรมที่โครงการวางแผนไว้ว่าจะเคลื่อนให้บังเกิดผลต่อสังคมวงกว้าง หรืองานใหญ่ที่ต้องเร่งดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในเวลากำหนด ดังเช่นการจัดทำหลักสูตรและเปิดการเรียนการสอนในระดับปริญญาโท

ทว่าทัศนะการดำเนินการในเรื่องดังกล่าวของ นพ.ประสาน ต่างใจ ดูจะแตกต่างจากทัศนะของ อ.เอกวิทย์ ณ ถลาง ราวกับยืนอยู่กันคนละมุม

อ.เอกวิทย์ ท่านเน้นย้ำหลายครั้งว่า สำหรับงานที่ว่าด้วยการพัฒนาและบ่มเพาะชีวิตด้านในแล้วนั้น ทางคณะผู้ทำงานต้อง “คิดนอกกรอบ” เนื่องจากกรอบวิธีคิดทั่วไปที่เราใช้ในการเรียนการสอนและการบริหารงานนั้นอยู่บนคนละฐานกัน ที่สำคัญท่านได้แสดงความเป็นห่วงเป็นใยว่า “ระวังอย่าให้ขยายตัวเร็วเกินไป” พึงระแวดระวังจะเกิดเป็นเพียงปรากฏการณ์ไฟไหม้ฟาง เหมือนเรื่องดีๆ อื่นๆ ในประเทศไทย ที่ถูกจุดประกายขึ้นชั่ววูบและดับลับหายไปในโครงสร้างอำนาจและระบบราชการ

อาจารย์ท่านเปรียบเปรยไว้อย่างน่าฟังว่า “อย่าโตเร็วนัก” คือการรู้จักจำกัดตัวเอง เหมือนดั่งของดีหรือไม้แก่น ไม้เนื้อแข็งอื่นๆ ต้องผ่านการเคี่ยวกรำตนเองจนได้แก่นที่แข็งแรง ต่างจากไม้ที่โตเร็วแต่เปราะและหักโค่นง่าย การทำงานก็เช่นกัน เมื่อไม้ลงรากฝังลึกและมีแก่นแกนเข้มแข็งแล้วจึงขยายดอกออกผลไปสู่บ้านเมืองต่อไป

ส่วนท่านอาจารย์ประสานนั้น ท่านเห็นด้วยกับการผลักดันเรื่องจิตตปัญญาศึกษาอย่างยิ่ง แต่ท่านยืนยันว่าสิ่งที่เราได้เริ่มไว้นั้นคงไม่ทันเสียแล้ว ดังที่เห็นกันว่าวิกฤตสารพัดอุบัติขึ้นไม่เว้นแต่ละวัน ทั้งทางสิ่งแวดล้อมและทางสังคม นักวิชาการระดับโลกหลายคน เช่น เจมส์ เลิฟล็อค (ในหนังสือ The Revenge of Gaia) ต่างออกมายอมรับและทำนายถึงความเสียหายใหญ่หลวงที่จะเกิดขึ้นกับโลกในอนาคตอันใกล้ การแก้ไขปัญหาที่สั่งสมมายาวนานเช่นนี้ไม่อาจทำได้ในเวลาสั้นๆ ดังนั้น งานที่ทำนี้ต้องเร็ว สิ่งที่ต้องเร่งทำเป็นการด่วนคือ ต้องจิตวิวัฒน์อย่างรวดเร็ว สิ่งที่ต้องเกิดขึ้นโดยเร็วคือการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ ไม่ใช่แค่เพียงการบรรยายการสอนเรื่องคุณธรรมจริยธรรมในชั้นเรียน

ผมได้เรียนรู้อย่างมากจากการแลกเปลี่ยนในประเด็นนี้เอง

ในวงสนทนาดูราวกับการพูดคุยเกิดความแตกต่างระหว่างความคิดของอาจารย์ทั้งสองขึ้น หนึ่งนั้นบอกว่าให้ “ช้า” ทว่าอีกหนึ่งขอให้ “เร็ว” สมาชิกท่านอื่นๆ บ้างแสดงความเห็นคล้อยตาม บ้างก็เห็นค้านแย้ง บางท่านเห็นด้วยว่าควร “เร็ว” บางท่านเห็นด้วยว่าควร “ช้า”

หลังจากเฝ้ามองความคิดตนเองอย่างเนิ่นนาน ได้เกิดคำถามขึ้นในใจ “แต่เอ ... เป็นไปได้ไหมว่า ‘ช้า’ ของคนหนึ่งจะเร็วกว่า ‘เร็ว’ กว่าของอีกคนหนึ่ง หรือ ว่า ‘ช้า’ ของคนหนึ่งก็เท่ากับ ‘เร็ว’ ของอีกคนหนึ่ง?” คำว่าช้ากับคำว่าเร็วในที่นี้นั้นแท้ที่จริงมีความต่างกันสักเพียงไหน จะว่าไปแล้วทั้งสองคำต่างเป็นเพียงภาษาเพื่อใช้สื่อความคิดของอาจารย์ทั้งสอง “ช้า” แค่ไหนของอาจารย์เอกวิทย์จึงจะเท่ากับคำว่า “ช้า” ของอาจารย์ประสานได้ เราผู้ฟังไม่อาจรู้ได้เลย

แน่นอนว่าแม้ภาษาจะช่วยให้เราสื่อสารกันได้ แต่ในขณะเดียวกันภาษายังเป็นข้อจำกัดในการสื่อสารเช่นกัน อาทิ การพูดถึงสภาพหรือภาวะบางอย่างที่ยังไม่มีคำเรียกขานที่เป็นที่เข้าใจหรือยอมรับกัน

การใช้คำว่า “ช้า” หรือ “เร็ว” ที่จัดว่าเป็นคำที่เป็นคู่ตรงข้ามนี้ก็เช่นกัน หากพิจารณาอย่างผิวเผินแล้วย่อมเข้าใจไปได้ว่าคนที่เสนอให้ “ช้า” นั้นย่อมคิดต่างจากคนที่เสนอให้ “เร็ว” เป็นแน่

แต่สิ่งที่ผมได้รับรู้จากอาจารย์ทั้งสอง คือ ทั้งคู่ต่างมีความเห็นคล้ายคลึงกัน แทบจะไม่แตกต่างกันเลย สำหรับอาจารย์เอกวิทย์แล้ว การ “ไม่โตเร็วนัก” นั้นคือวิธีที่ “เร็วที่สุด” แล้ว หาก “ขยายตัวเร็วเกินไป” ก็จะพาลไม่เกิด ยิ่งแย่ ยิ่งช้าไปใหญ่ ส่วนท่านอาจารย์ประสานก็ไม่ได้ขัดต่อเรื่องการใช้เวลาอย่างเหมาะสม เท่าที่จำเป็นสำหรับการเปลี่ยนแปลงของคน และสำหรับการเติบโตของงาน เพียงแต่พอท่านหนึ่งใช้คำว่า “ช้า” อีกท่านใช้คำว่า “เร็ว” เราก็อาจรีบกระโดดไปตัดสินว่าอยู่คนละมุม ยืนคนละฝั่งกัน

สิ่งที่จะช่วยให้เราไม่ตกร่องของความคิดแบ่งขั้ว แยกถูก-ผิด ขาว-ดำ ไม่ด่วนจำแนกคุณค่าของเรื่องราวเหตุการณ์ คือ การเฝ้ามองอย่างเนิบช้าและเนิ่นนาน ชวนตัวเองให้ตั้งคำถามต่อสิ่งที่ปรากฏตรงหน้า ถือทุกอย่างเป็นสมมติฐาน ห้อยแขวนการตัดสินเอาไว้ก่อน

การที่บรรยากาศของการประชุมจิตวิวัฒน์ดำเนินไปอย่างไม่เร่งรีบนี้ก็ได้เปิดโอกาสให้ทุกๆ คนได้ละเลียดกับคำพูดของกันและกัน ช่วยให้เราสามารถมองเห็นความเชื่อมโยง สามารถสร้างพื้นที่ที่รองรับความคิดที่ดูเหมือนจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิงได้

กระบวนการคิดใคร่ครวญและตั้งคำถามต่อปรากฏการณ์ต่างๆ ตรงหน้านี้ แท้จริงแล้วคือการไต่ลงไปตามขาวตัวยู ตาม “ทฤษฎีตัวยู” ของอ๊อตโต ชาร์มเมอร์ ที่อธิบายว่าการใช้เวลากับการเฝ้ามองดูอย่างเนิ่นนาน โดยไม่ตัดสินนี้เป็นส่วนสำคัญของการเปลี่ยนแปลงกระบวนทัศน์และการปฏิวัติทางจิตวิญญาณ เพราะทำให้เราสามารถสืบค้นลงลึกไปในปรากฏการณ์ที่พบ จนถึง Mental Model ณ เบื้องก้นของตัวยู

0 comments: