ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 11 มีนาคม 2550


ผมแทบไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองต่อสิ่งที่เกิดขึ้นตรงหน้า อาจารย์สองท่านกำลังแนะนำนักศึกษาอยู่ ต่างคนต่างแนะนำกันคนละประเด็น นักศึกษาก็กำลังตอบ แต่ทุกคนพูดพร้อมกัน เสียงที่เริ่มจากระดับดังปกติก็ต้องเร่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะพูดพร้อมกันสามคน ทำให้ไม่ค่อยได้ยินแม้กระทั่งเสียงของตนเอง ผมนึกสงสัยขึ้นมา “เอ ... ถ้าคนเขาอยู่นอกห้องเขาได้ยินจะคิดว่าข้างในกำลังทะเลาะกันหรือเปล่านะ?”

สิ่งที่เกิดราวกับเป็นสถานการณ์คลาสสิก ... แต่จากหนังสือ “สถานการณ์ที่ไม่ควรเกิดในชั้นเรียน”

ผมได้อยู่ในเรื่องนี้เพราะผมเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของนักศึกษาปริญญาเอกคนหนึ่ง ขอสมมตินามเธอว่าแจงนะครับ เธอขอนัดพบผมเพื่อปรึกษาเรื่องความคืบหน้าของวิทยานิพนธ์ ผมเองก็อยากทราบเหมือนกัน เพราะไม่ได้ยินอะไรมาจากแจงนานมาก(ๆ)แล้ว หลังจากอ่านต้นฉบับอันน่าสับสนและงงงงของเธอ ผมก็เริ่มรู้สึกสับสนและงงงงจริงๆ ผมจึงขอให้เธอเตรียมนำเสนอสรุปงานแบบง่ายๆ ให้ผมฟังสักไม่เกินสามสิบนาที

พอถึงวันนัดแจงบอกว่ามีอาจารย์อีกสามท่านขอเข้าร่วมฟังด้วย เพราะอยากทราบความเป็นไปของงานเหมือนกัน ผมก็ไม่ขัดอะไร เพราะยิ่งมีคนช่วยคิด งานของเธอยิ่งดี

สภาพห้องประชุมเหมือนห้องเรียนมหาวิทยาลัยชั้นนำส่วนใหญ่ ติดแอร์เย็นฉ่ำ (สำหรับคนนำเสนออาจจะหนาวสะท้าน) มีอุปกรณ์ทันสมัยครบครัน แต่สำหรับผมแล้วไม่ทราบว่าเป็นอะไร หรือผมเคยตัว (ถูก spoiled) กับห้องที่มีหน้าต่าง มีแสงธรรมชาติ เห็นต้นไม้อยู่บ้าง ก็เป็นได้ ผมรู้สึกห้องมันแข็งๆ บีบคั้นๆ อย่างไรไม่ทราบ

แจงเริ่มนำเสนอ ด้วยทีท่าตื่นๆ เกร็งๆ และกระโดดๆ นิดหน่อย ใช่ล่ะส่วนหนึ่งเธอเองก็มีบุคลิกทำนองนี้อยู่เป็นพื้น แต่ก็อาจจะมีส่วนจากการที่มีอาจารย์ตั้งสี่คนฟังอยู่ แถมเก่งๆ ตั้งสามคนอยู่ด้วย (ขออนุญาตไม่นับตนเอง) ผมรู้ดีว่าเธอจะยิ่งตื่นเต้น สับสน ถ้ามีคนถามมากๆ จึงตั้งใจไว้ว่าจะจดคำถามเก็บไว้ถามตอนท้ายทีเดียว แต่ปรากฏว่าแต่ละท่านต่างซักถามอย่างละเอียดตามรายทางเกือบตลอดการนำเสนอ น่าสงสาร ผมคิดว่าขบวนความคิดของเธอต้องสะดุดกึกไปหลายรอบแหงมๆ

จบการนำเสนอ ผมว่าเธอดูตัวเล็กลงไปถนัดใจ แถมใจหนอใจคงตุ๊มๆต่อมๆว่าจะรอดงานนี้ไปไหมนะ ผมนั้นเตรียมประเด็นมาถามเยอะมาก เพราะวิทยานิพนธ์ฉบับร่างหมายเลข ๑ ของเธอนั้นสมกับเป็นร่างแรกจริงๆ มีหลายจุดที่ต้องถึงขนาดยกเครื่องใหม่ แต่พอดูสถานการณ์แล้วเธอคงไหวอีกไม่มาก ผมตัดสินใจว่าจะเก็บไว้ค่อยๆคุยกับเธอภายหลังดีกว่า ค่อยๆบอกให้เธอค่อยๆละเลียดคำถามที่ยากๆแต่สำคัญที่เธอต้องตอบให้ได้ถึงจะมีสิทธิสอบ (เรื่องจบนั้นต้องดูอีกทีหนึ่ง)

ผมเริ่มด้วยการบอกว่างานของเธอนั้น แม้จะเขียนเรียงตามลำดับบทที่มหาวิทยาลัยกำหนด แต่ก็ยังสับสน กระโดดไปกระโดดมา เดี๋ยวประเด็นใหญ่ เดี๋ยวประเด็นรอง เดี๋ยวคำถาม เดี๋ยวคำตอบ เดี๋ยวความคิดคนอื่น เดี๋ยวความคิดเธอเอง อ่านแล้วรับรองว่ามึน แต่ที่ผมมึนกว่าคือ การที่อาจารย์ท่านหนึ่งบอกว่า “ใช่เลย นั่นแหละ ปัญหามันอยู่ที่แจงนี่แหละ!” พร้อมสาธยายสิ่งที่แจงต้องแก้ไขอีกยาวยืด ผมนั้นเห็นด้วยกับสิ่งที่อาจารย์ท่านพูดหลายข้อเลยครับ อาจารย์ท่านก็เก่งจริงๆ แต่ผมเห็นว่าแจงผู้น่าสงสารที่บัดนี้ตัวเหลือเท่ามดแล้ว ข้อแนะนำดีๆ ที่บรรดาดอกเตอร์ระดมให้เธอนั้น เธอพยายามจดบันทึกแบบคร่าวๆ เป็นคำสำคัญๆ เป็นหลัก แต่ผมว่ามันอาจจะไม่เข้าหัวเธอแล้ว

หลังจากนั้นอีกสักพักผมแนะนำแจงว่าต้องพิจารณาโจทย์หรือปัญหาวิจัยให้ดี เพราะตอนนี้ในเอกสารมีหลายคำถามที่เธอต้องการจะตอบ แต่ละที่ก็เขียนปัญหาวิจัยไว้ไม่เหมือนกัน ผมได้รับการสนับสนุนอีกว่า ใช่อีกหละ “แจงนั่นแหละที่เป็นปัญหา!” มาถึงตรงนี้ผมชักงงๆ ก่งก๊ง แทนแจงแล้วครับ รู้สึกว่าเธอคงจะเสีย self ไปไม่น้อย ที่โดนเข้าไปหลายดอกอย่างต่อเนื่อง

ขณะที่ผมนำเสนอข้อคิดเห็นหลักๆของผมต่อ ผมเริ่มคิดว่าจะเปลี่ยนโทนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างไรดี พอดีมีระฆังช่วยครับ นักศึกษาอีกกลุ่มต้องใช้ห้องต่อ พวกเราต้องย้ายออก ผมจึงได้มีโอกาสคุยกับเธอตามลำพังว่าแม้งานของเธอนั้นต้องปรับปรุงอีกมาก การบ้านและการเดินทางของเธอนั้นจะยากมากๆ แต่ผมว่ามันมีความเป็นไปได้ และที่สำคัญที่สุด ผมไม่เชื่อว่าเธอนั้นเป็นปัญหา ผมบอกเธอไปว่าสิ่งที่ผมเชื่อคือ “คำตอบมันอยู่ที่แจงนี่แหละ” และ “แจงนั่นแหละที่เป็นคำตอบ”

เรื่องทั้งหมดเกิดจากการมีมุมมองต่อเรื่องต่างกัน จริงอยู่ที่วิทยานิพนธ์นั้นจะลุล่วงไปด้วยดีหรือไม่ ส่วนสำคัญที่สุดคือตัวนักศึกษาเจ้าของงานเอง แต่ถ้ามองว่าเธอคือบ่อเกิดทั้งหมดของปัญหาเสียแล้ว วิทยานิพนธ์คงไม่สามารถสำเร็จออกมาดีได้ คงไม่มีใครหรอกที่อยากจะทำงานออกมาแย่ๆ ให้อาจารย์ต้องแก้ต้องปรับเยอะๆ มันก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆของชีวิตครับ ถ้าคิดว่าเราเองเป็นตัวปัญหาเสียแล้ว เราก็มัวแต่สับสนและทุกข์ เอาแต่ก้มหน้างุดๆไปให้ถึงจุดหมาย พลาดโอกาสจะได้เรียนรู้พบเห็นอะไรดีๆระหว่างรายทาง

แม้ผมจะเชื่อว่าการทำให้คนตระหนักว่าเขาหรือเธอเป็น “ส่วนหนึ่ง” ของปัญหาเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหลายๆครั้งเราแก้ปัญหาไม่ได้ เพราะคนไม่เห็นหรือเห็นแต่ไม่เปิดใจยอมรับ แต่ระหว่างการทำให้คนยอมรับกับการทำให้คนเกิดแรงบันดาลใจที่จะเปลี่ยนนั้นต่างกัน หากจะให้เขารังสรรค์ พ้นจากปัญหา และก่อประกอบโลกใหม่ที่ดีกว่าเดิม คงต้องพาเขาไปสู่จุดที่เขาเห็นว่าตัวเขาเป็น “ส่วนสำคัญ” ของคำตอบ

ผมเชื่อว่าแจงนั้นพยายามทำอย่างดีที่สุดแล้ว และถ้าเธอก็พยายามต่อไป และปรับปรุงวิธีการเรียนรู้ในบางประเด็น ไม่เพียงแต่เธอจะได้ปริญญาในเวลาที่กำหนด (หรืออย่างมากก็ช้าไปหน่อย) กระบวนการทำวิทยานิพนธ์ยังจะช่วยสอนให้เธอได้เรียนรู้สิ่งดีๆทั้งแง่วิชาการและการจัดการตัวเองอันจะเป็นประโยชน์แก่ลูกศิษย์ของเธอในอนาคตด้วย :-)

0 comments: