ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 8 เมษายน 2550
ถ้าเป็นคุณ คุณจะตัดสินใจทำอย่างไรต่อไปครับ เมื่อพบว่าคู่ชีวิตที่ครองรักอยู่ร่วมกันมานานกว่าครึ่งชีวิตกำลังป่วยหนักด้วยโรคร้าย ถึงขั้นเกินเยียวยารักษาให้หายได้ คุณจะยอมละทิ้งงานมาอยู่เคียงข้างให้กำลังใจ หากว่างานนั้นมีความสำคัญและมีความหมายอย่างยิ่งล่ะ
กลับกัน ถ้าคุณพบเห็นใครที่อยู่ในสถานการณ์ข้างต้น ไม่ว่าเขาจะตัดสินใจทำงานสำคัญให้ลุล่วงก่อน หรือตัดสินใจวางมือจากภาระหน้าที่งานทุกอย่างเพื่ออยู่ดูแลคนรัก คุณจะรู้สึกอย่างไรครับ คิดไหมว่าทางเลือกที่ถูกต้องเหมาะสมนั้นควรเป็นอย่างไร
เขาคนนั้นคือจอห์น เอ็ดเวิร์ด อดีตสมาชิกวุฒิสภาและผู้สมัครตำแหน่งรองประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกาเรื่องของเขาเป็นที่พูดถึงกันอย่างกว้างขวาง ไม่ใช่เพียงเพราะว่าเขากำลังมีงานสำคัญคือรณรงค์หาเสียงสนับสนุนเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดี แต่เป็นเพราะในเวลาเดียวกันนี้เอง อลิซาเบธภรรยาของเขากำลังล้มป่วยด้วยมะเร็งเต้านม และโรคร้ายได้ลุกลามลึกถึงกระดูก อาการเจ็บป่วยของเธอรุนแรงถึงชีวิต
คุณอาจคิดว่าเขาช่างโชคร้ายเสียจริงเชียว คงต้องสละสิทธิถอนตัวเพื่อดูแลภรรยาแน่ หรือคุณอาจเป็นห่วงอลิซาเบธว่าเธอจะได้รับเวลาและความเอาใจใส่อย่างพอเพียงจากจอห์นสามีของเธอไหม แต่เปล่าเลยครับ เพราะในช่วงเวลาแห่งความยากลำบากนี้ สองสามีภรรยากลับออกมาแถลงข่าวยืนยันจะดำเนินกิจกรรมรณรงค์หาเสียงสนับสนุนลงเลือกตั้งต่อไป
การกระทำครั้งนี้ของทั้งคู่บ่งบอกถึงความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้า หรือว่าเป็นความบ้าคลั่งกันแน่ หรือนี่เป็นเกียรติยศที่สำคัญเหนือกว่าความรักความผูกพันระหว่างสามีภรรยาเชียวหรือ หลายคนงุนงงสงสัยว่าการตัดสินใจดังกล่าวมีที่มาอย่างไร ตัดสินใจบนพื้นฐานความเชื่ออะไร จนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวาง ในบทความที่นำเสนอเรื่องนี้ขึ้นมาโดยหนังสือพิมพ์ชื่อดังฉบับหนึ่งได้เก็บประมวลความเห็นจากการสัมภาษณ์ผู้คนในแวดวงต่างๆ จากหลากวัยและอาชีพ บ้างก็คับข้องใจ บ้างก็ชื่นชม
ดังเช่น หญิงคนหนึ่งบอกว่านี่แสดงถึงการกดขี่ทางเพศอย่างชัดเจนอีกแล้ว การที่ผู้หญิงต้องยอมเสียสละอย่างใหญ่หลวงเพื่อสนองตอบความทะเยอทะยานของฝ่ายชาย ส่วนพนักงานประชาสัมพันธ์คนหนึ่งกลับบอกว่าคำถามสำคัญที่สุด คือ คุณจะทำอะไรเพื่อคนที่คุณรัก เธอว่าถ้าสามีเธอลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดี เธอจะขอให้เขาสู้ต่อไป และเธอก็มั่นใจว่าสามีจะพูดอย่างเดียวกัน หากเธอเป็นฝ่ายลงแข่งขัน
แม้สามีภรรยาเองยังมีความเห็นต่อเรื่องนี้ต่างกัน ดังสามีภรรยาวัยเกษียณคู่หนึ่ง ฝ่ายภรรยามองว่านี่เป็นการตัดสินใจแบบเด็กๆ ที่ดื้อรั้นจะทำให้ได้โดยไม่คำนึงถึงคู่ชีวิตที่ป่วยอยู่ ขณะที่ฝ่ายสามีกลับมองว่าเป็นการตัดสินใจอย่างกล้าหาญที่จะทำงานต่อไป
หญิงผู้หนึ่งเธอรู้ว่าตัวเองป่วยเป็นโรคมะเร็งเมื่อ 5 ปีก่อน ขณะที่เธอทำงานอาสาสมัครในบอสเนีย-เฮอเซโกวีนา ครั้งนั้นครอบครัวไม่เห็นด้วย ขอให้เลิกล้มความตั้งใจ และกลับบ้านเสีย แต่จนบัดนี้ก็ยังมีชีวิตรอดอยู่ได้ เธอเชื่อว่าการที่เธอได้อุทิศตนอยู่ที่นั่นต่อเป็นสาเหตุที่เธอยังคงมีชีวิตรอด
ขณะที่อีกคนกลับมองเรื่องเดิมนี้ว่า จอห์น กำลังทำเพื่อภรรยาสุดที่รัก การที่เขาไม่ถอนตัวจากการแข่งขันหาเสียงเพียงเพื่อไม่ให้เธอรู้สึกเสียใจที่ตนเป็นต้นเหตุให้สามีพลาดโอกาสก้าวหน้าในวงการเมือง
คิดเห็นกันไปคนละทางสองทางใครกันแน่เป็นฝ่ายถูก เราเองก็มักเอาความคิดตนไปตัดสินคนอื่น หรือยอมให้คนอื่นมาตัดสินชีวิตเรา แต่ท้ายที่สุดต่างฝ่ายก็ต้องรับผิดชอบชีวิตตัวเราเอง
จริงอยู่ว่าสิ่งที่นักข่าวและนักเลือกตั้งทั้งหลายพยายามวิเคราะห์คือ จอห์นจะได้รับคะแนนเลือกตั้งมากขึ้นหรือน้อยลงแค่ไหน บางคนว่าคงมากขึ้นเยอะ เพราะได้แสดงความกล้าหาญ อดทนสู้ต่อ แม้ในภาวะที่ครอบครัวประสบเรื่องราวสำคัญและยากลำบาก บ้างก็ว่าคงลดลงมาก เพราะประชาชนคงไม่อยากเลือกประธานาธิบดีที่มีสุภาพสตรีหมายเลขหนึ่งกำลังป่วยหรือเจียนตาย
เอาเถอะครับ สิ่งที่ผมว่าสนใจกว่าคะแนนคือ จอห์นและอลิซาเบธคิดอย่างไร อะไรอยู่เบื้องหลังการตัดสินใจเช่นนั้น เห็นที่ผู้คนให้สัมภาษณ์ไหมครับ นานาจิตตัง แถมยังไม่แน่เสมอไปด้วยว่าคนให้สัมภาษณ์จะตัดสินใจอย่างที่พูด หากเหตุเกิดขึ้นกับตนเองจริงๆ ขึ้นมา ผมคิดว่าสิ่งสำคัญคือการที่ทั้งคู่ได้ตัดสินใจบนความมีสติ และคิดใคร่ครวญถี่ถ้วนรอบคอบแล้ว ว่านี่คือความสุขและความต้องการของทั้งสองเอง
ไม่จำเป็นต้องรู้สึกขัดใจหรือไปห่วงกังวลแทนเขาและเธอหรอกครับ เราไม่สามารถคิดแทนเขาหรือรับผิดชอบดูแลอะไรให้ชีวิตเขาได้จริง เป็นเรื่องส่วนตัวของเขา ในความหมายว่าแต่ละคนต่างมีหน้าที่ต้องดูแลรับผิดชอบเรื่องของตัวเอง ถ้าสิ่งที่ทั้งคู่ตัดสินใจทำนั้น มันไม่สร้างความเดือดร้อนให้กับผู้อื่นแล้ว มันก็เป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน
หากเราเป็นคนป่วย เราจะเลือกอะไรก็แล้วแต่ขอให้ได้เลือกเถอะ แล้วมั่นใจกับมัน แล้วก็ภูมิใจว่าได้เลือกสิ่งที่ดีที่สุดให้กับตัวเราเองแล้ว แต่หากเราเป็นคนที่อยู่ข้างๆ ก็จงเคารพในการตัดสินใจของคนป่วย แม้ว่าเราอาจจะไม่เห็นด้วยก็ตาม
ดูแลคนที่เรารักใน “วาระของเขา” ไม่ใช่แม้ว่าใกล้จะจากไปแล้วเรายังบังคับให้เขาใช้ชีวิตและรับการดูแลตามความต้องการของเรา (อีกแล้ว) บางทีการให้คนป่วยได้ทำในสิ่งที่เขาเลือกอาจเป็นสิ่งที่เหมาะสมที่สุดก็ได้ ไหนๆ เขาก็จะไปแล้ว ก็น่าจะได้ให้เขาชีวิตช่วงสุดท้ายอย่างมีเกียรติ มีคุณค่า และงดงาม ในความหมายของเขาเอง
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment