ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 4 พฤศจิกายน 2550
“ขอพระผู้เป็นเจ้าจงประทานพรให้ข้าได้มีความเยือกเย็นหนักแน่นในอันที่จะรับไว้ซึ่งสถานการณ์ที่ข้าไม่สามารถจะเปลี่ยนแปลงแก้ไขได้ ขอให้ข้าได้มีกำลังใจที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่ข้าสามารถจะเปลี่ยนแปลงได้ อีกทั้งขอให้พระองค์ได้ประทานปัญญาให้ข้าได้มองเห็นความแตกต่างระหว่างสองสภาวะนี้”
เมื่อสองสัปดาห์ที่แล้วเครือข่ายแผนงานพัฒนาจิตเพื่อสุขภาพ ที่บริหารจัดการโดยมูลนิธิสดศรี-สฤษดิ์วงศ์ และสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ได้พากันไปทำกิจกรรมจัดการความรู้ เพื่อถอดบทเรียนและรู้จักซึ่งกันและกันระหว่างคนทำงานส่งเสริมสุขภาวะทางจิตวิญญาณ
แม้ว่าพวกเราจะต้องฟังเรื่องเล่าต่อเนื่องแบบมาราธอนเก้าโครงการ สิบกว่าชั่วโมง (คล้ายๆ ได้ไปทัวร์ยุโรปเจ็ดวัน แปดประเทศอะไรทำนองนั้น) แต่ก็ได้รับรู้และเรียนรู้เรื่องราวดีๆ ไม่น้อย
หนึ่งในโครงการที่นำเสนอในวันนั้น คือ โครงการเผชิญความตายอย่างสงบ โดยเครือข่ายพุทธิกา พี่ธวัชชัย โตสิตระกูลกระบวนกรของโครงการ เล่าให้ฟังว่าเขาเข้ามาเกี่ยวข้องทำงานด้านนี้เพราะภรรยาเคยเข้าร่วมอบรมเรื่องการเผชิญความตาย ระหว่างอบรมเธอก็มี SMS หวานแหววมาหา กลับมาก็ตรงเข้ามากอดพร้อมกับบอกว่า “รักพี่จัง” และหลังจากนั้นความสัมพันธ์ของครอบครัวที่ดีอยู่แล้ว ก็ยิ่งดีขึ้นอีก เธอแนะนำให้เขาได้ลองไปอบรมดู นัยว่าอาจจะอยากได้รับ SMS จากเขาบ้าง (ฮา)
กิจกรรมในการอบรมนั้นมีอยู่หลายอย่าง แต่ละกิจกรรมถูกจัดเรียงเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้เข้าร่วมได้เข้าไปใกล้ชิด ทำความคุ้นเคย จนกระทั่งเห็นว่าการตายไม่เพียงเป็นส่วนหนึ่งของการมีชีวิต แต่ยังเป็น “นาทีทอง” (ดังที่ท่านอาจารย์พุทธทาสเรียก) อีกด้วย เพราะเป็นโอกาสอันเยี่ยม ให้ผู้ที่กำลังจะจากไปได้เกิดการยกระดับทางจิตวิญญาณอย่างมาก และหากจัดการได้ดี ผู้ที่อยู่รายรอบก็สามารถเรียนรู้ได้เช่นกัน ดังเช่นที่มีผู้กล่าวไว้ว่า “หากรู้ว่าอยากจะตายอย่างไร เราก็จะรู้ว่าต้องใช้ชีวิตอย่างไร”
ระหว่างการอบรมหลวงพี่ไพศาล วิสาโล ท่านเล่าสู่กันฟังว่าความตายที่ดี หรือที่เรียกว่า “ตายดี” นั้น ทางโลกกับทางพุทธเขาอธิบายว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไร มีการเขียนพินัยกรรม การได้คลี่คลายปมที่ตนเองเคยติดค้าง (เช่น คุณแม่บางคนลูกตายไปสิบกว่าปีแล้ว ยังไปปูผ้าปูที่นอนให้ลูกทุกคืน) กิจกรรมทดลองตาย กิจกรรมทดลองแจ้งข่าว (Break the news) ที่เรามักจะกระอักกระอ่วนใจว่าต้องพูดอย่างไร กิจกรรมทดลองเป็นผู้ป่วยระยะสุดท้าย เพื่อที่จะได้ทราบว่าคนป่วยนั้นเขารู้สึกอย่างไร เราจะได้มีความสามารถในการดูแลเขาเหล่านั้นอย่างเป็นองค์รวมในทุกมิติ รวมถึงกิจกรรมไปเยี่ยมผู้ป่วยระยะสุดท้ายจริงๆ ในโรงพยาบาล ซึ่งก็ได้รับประโยชน์กันอย่างเต็มที่ทั้งผู้ให้และผู้รับ เพราะแท้จริงแล้วต่างก็ได้ให้สิ่งสำคัญอย่างยิ่งแก่กันและกัน
ปัจจุบันพี่ธวัชชัย ลาออกจากงานครึ่งเวลา เพื่อจะมาทำงานนี้ โดยขอรับเงินเดือนเพียงครึ่งเดียว แต่หน่วยงานก็เห็นความสำคัญ ยินดีให้มาทำตามต้องการ พร้อมจ่ายเงินเดือนเต็มอีกด้วย
ผมกลับบ้านพร้อมความประทับใจ นำเรื่องมาเล่าและชวนคุณแม่กับพี่สาวที่เป็นหมอให้ไปร่วมการอบรมของโครงการเผชิญความตายอย่างสงบด้วย ปรากฏว่าทั้งคู่สนใจมากครับ ไปกลับมาก็ประทับใจมาก (แต่ไม่เห็นได้ส่ง SMS มา (ฮา)) แถมมีเรื่องราวมาเล่าให้ฟังเพิ่มเติมอีกไม่น้อย
สิ่งหนึ่งที่การอบรมช่วยให้ผู้เข้าร่วมได้เห็นคือ ความแตกต่างระหว่างสองสิ่งที่สำคัญมาก ดังเช่นที่อาร์กบิชอบเคนเนดี เขียนไว้ในบทสวดข้างต้น หรือที่เอพิกตีตัส (Epictetus) นักปรัชญาสายสโตอิก ชาวกรีก เขียนไว้ในหนังสือ Manual of Living ว่า “ความสุขและอิสรภาพเริ่มจากความเข้าใจอันแจ่มแจ้งถึงหลักการข้อหนึ่งที่ว่า บางสิ่งอยู่ภายในการควบคุมของเรา และบางสิ่งนั้นไม่ ต่อเมื่อคุณกล้าเผชิญกับบทบาทพื้นฐานและเรียนรู้ที่จะแยกแยะระหว่างสิ่งที่คุณสามารถและไม่สามารถควบคุมได้ ความสงบภายในและความมีประสิทธิภาพภายนอกจึงจะเป็นไปได้”
ชวนให้ผมนึกนิตยสาร Tzu Chi, Buddhism In Action ฉบับ Fall 2002 ที่ลงข้อความอันแสนจะเรียบง่ายแต่งดงามของลี เว่ย ฮวง (เรียบเรียงเป็นภาษาอังกฤษโดย เทเรซ่า จาง, แปลโดย อธิธัช สาทรกิจ) ชื่อ “ตัดสายป่าน” (Set the Kite Free)
เพราะเมื่อเรารู้ว่าชีวิตที่มีอยู่ในปัจจุบันนั้นมีค่าและเปราะบางเพียงใด เราก็จะใช้ทุกวินาทีของมันอย่างไม่ประมาทนั่นเอง :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment