ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 8 พฤศจิกายน 2552

ในชีวิตของคนเราล้วนเต็มไปด้วยคำถาม นับตั้งแต่ลืมตาตื่นขึ้นมาในเวลาเช้า เรานึกขึ้นในใจทันทีว่า “นี่มันกี่โมงแล้วนะ?” แม้ในระหว่างอาบน้ำแต่งตัวก็ยังไม่วายได้เกิดคำถามขึ้นมาว่า “วันนี้จะใส่เสื้อตัวไหนสีอะไรดี?” จนช่วงเพลินๆ ระหว่างการเดินทางไปทำงาน ในใจพลอยคิดไปแล้วว่า “งานที่ยังทำค้างอยู่จะเร่งให้เสร็จทันวันนี้ไหม?” “เช้านี้จะส่งลูกไปทันเวลาไม๊นะ?” ยิ่งช่วงนี้ใกล้จะสิ้นปี มักมีคำถามทำนองว่า “จะได้ขึ้นเงินเดือนสักเท่าไหร่?” หรือ “อนาคตการงานของเราจะไปได้ในในบริษัทนี้หรือเปล่า?” จนเย็นทำงานเลิกค่ำเรายังมีคำถาม “ทำงานหนักขนาดนี้ไปทำไมกัน?” หรือบางครั้งก็เป็นคำถามที่มาตามสถานการณ์แต่ละช่วงของชีวิต เช่น ตกลงจะซื้อบ้านดีไหม? โรคที่เป็นควรจะผ่าตัดหรือรักษาด้วยวิธีอื่น? ไปเรียนต่อดีไหม?



คำถามเหล่านี้ล้วนมีระดับความยากง่ายและความซับซ้อนของเรื่องราวต่างกันไป บางคำถามก็อยู่ในภาวะที่เราต้องตัดสินใจลงมือกับสถานการณ์ตรงหน้า บางคำถามเป็นแค่เรื่องที่ต้องคิดอย่างเป็นประจำทุกวัน เป็นคำถามที่ตัดสินใจตอบหรือเลือกแล้วก็จบกันไปในแต่ละครั้ง แต่ว่าบางคำถามกลับยังซุกซ่อนและวนเวียนในใจ และคำถามเช่นนี้ก็มีพลังในการผลักดันการตัดสินใจ การเลือกใช้ชีวิตของเราเอง

ในการฝึกอบรมด้วยกระบวนการแบบจิตตปัญญาซึ่งเน้นการมีสติ การเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ ผมและเพื่อนกระบวนกรมักจัดกิจกรรม “คำถามสำคัญ” ให้ผู้เข้าร่วมได้ลองทบทวนว่า อะไรคือคำถามสำคัญในการเดินทางของชีวิต อะไรคือคำถามที่ผลักดันหรือ drive ชีวิตเขา หรืออาจจะพูดได้ว่า ชีวิตของเขาที่ดำเนินอยู่นี้เป็นไปเพื่อตอบคำถามอะไร

เมื่อทุกคนได้แบ่งปัน อ่านคำถามของตนทีละคน เราได้ยินทั้งคำถามที่ดูเรียบง่าย เช่น “ทำงานไปเพื่ออะไร” มีคำถามที่เป็นเรื่องของครอบครัว เช่น “ฉันจะดูแลพ่อแม่ให้ดีที่สุดได้อย่างไร” “ลูกจะเป็นยังไงบ้างในตอนนี้” “ฉันจะหาสมดุลของชีวิตงานและชีวิตครอบครัวได้อย่างไร” ไปจนถึงคำถามที่พยายามสืบค้นหาความหมายของชีวิต เช่น “อะไรคือความสุขของชีวิต” “เราเกิดมาทำไม” “เป้าหมายที่แท้จริงของชีวิตเราคืออะไร”

คำถามหลากหลายเหล่านี้ล้วนถูกเอ่ยออกมาจากปากของผู้คนทุกแบบทุกระดับนับแต่ลูกจ้างชั่วคราว ครูอาจารย์ ไปจนถึงผู้บริหารผู้นำองค์กร แม้ถ้อยคำจะดูแตกต่างกันมาก แต่ก็แสดงให้เห็นว่าเราล้วนคล้ายคลึงกันเหลือเกิน สิ่งที่เราครุ่นคิดคำนึงถึงล้วนผูกพันกับชีวิตและการดำรงอยู่ของแต่ละคนอย่างยิ่ง

ช่วงเวลาการรับฟังคำถามสำคัญของเพื่อนร่วมองค์กร เพื่อนร่วมทางเดินชีวิตนี้ช่างเป็นช่วงเวลาแห่งความงดงาม ทรงพลัง และน่าทึ่ง เราต่างร่วมเป็นประจักษ์พยานในการเผยถึงคำถามสำคัญในชีวิตของตน

แม้ว่าการอบรมหลายครั้งจะมีผู้เข้าร่วมมาจากองค์กรเดียวกัน มีความคุ้นเคยกันดี แต่กระบวนการนี้กลับทำให้เราทุกคนได้รู้จักกันอย่างลึกซึ้งในมิติแง่งามที่หลากหลายต่างกันและทำให้เราได้ใกล้ชิดกันมากขึ้นไปทุกครั้ง ได้เข้าใจกันว่าทำไมแต่ละคนถึงเป็นเช่นนั้น และไม่เพียงรู้จักผู้อื่น เรายังได้รู้จักตัวของเรามากยิ่งขึ้น ลึกซึ้งยิ่งขึ้นจากคำถามสำคัญในชีวิตของเรานี้เอง

หลังจากนั้น ผมมักอ่านตัวอย่างคำถามสำคัญในชีวิตของนักศึกษาระดับปริญญาตรีจากชั้นเรียนที่ผมใช้กระบวนการจิตตปัญญาศึกษา ดังเช่น “จบแล้วทำอะไร ไปไหน?” “ทำไมถึงต้องมานั่งเรียนหนักขนาดนี้ ผลักดันตัวเองไปทำไม?” “สิ่งที่เราเลือกและทำจะเป็นที่พอใจของพ่อแม่รึป่าว?” “ทำอย่างไรชีวิตถึงจะมีความสุข?” เราเห็นร่วมกันอย่างชัดเจนไม่ว่าคำถามของคนในวัยทำงานหรือคำถามของนักศึกษาก็ไม่ต่างกัน ไม่มีคำถามไหนที่ผิด เล็กเกินไป ไม่มีความหมาย หรือไม่มีความสำคัญ ล้วนเป็นคำถามที่ “จริง” ทั้งสิ้น

การศึกษาจะเป็นการศึกษาที่มีความหมาย ผู้เรียนให้คุณค่า ตื่นเช้าขึ้นมาแล้วอยากไปโรงเรียน อยากไปมหาวิทยาลัย นักเรียนนักศึกษารักและตั้งใจในการเรียน ก็ต่อเมื่อการศึกษานั้นเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญในชีวิตของเขาได้ ไม่ใช่ทำให้เขาเพียงแค่เรียนเพื่อสอบ

งานจะเป็นงานที่มีความหมาย คนทำงานให้คุณค่า ตื่นเช้าขึ้นแล้วอยากไปที่ทำงาน ทำให้เขารักและตั้งใจในการทำงาน ก็ต่อเมื่องานนั้นเชื่อมโยงกับคำถามสำคัญในชีวิตของเขาเช่นกัน ไม่ใช่ทำให้เขาทำงานเพียงเพื่อหาเงินเท่านั้น

กระบวนการเรียนรู้และการทำงานแบบจิตตปัญญาที่มีความหมาย จึงต้องเป็นกระบวนการที่เข้าไปดูแล (address) มีความสัมพันธ์ (relate) เชื่อมโยง (connect) หรือทำความชัดเจน (clarify) ให้แก่คำถามสำคัญที่ผลักดันการดำเนินชีวิตของเรา ... แม้ว่าอาจจะยังไม่ได้ตอบคำถามสำคัญของเราในตอนนี้ก็ตาม

0 comments: