ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 14 มีนาคม 2553
“เราไม่สามารถแก้ไขปัญหาโดยใช้วิธีคิดแบบเดียวกับที่เราใช้สร้างมัน”
ไอน์สไตน์เคยพูดไว้ ซึ่งผมว่าจริงมากๆ เลย
แม้ช่วงนี้มีคนช่วยกันคิดว่าเราจะออกจากการเผชิญหน้าของบ้านเมืองนี้อย่างไร แต่ผู้คนจำนวนไม่น้อยก็ยังมักมองหาเทคนิควิธีง่ายๆ มันทำไม่ได้หรอกครับ เพราะทางออกง่ายๆ เหล่านั้นอยู่ในระดับวิธีคิดแบบเดียวกับปัญหาที่เขากำลังพยายามแก้
ดังนั้นเราอย่าเพิ่งเบื่อนะครับ ที่ปัญหาความขัดแย้งแดง-เหลืองนี้ยังไม่จบเสียที นั่นเพราะสังคมโดยรวมยังไม่ร่วมกันสร้างวิธีคิดที่ไปพ้นจากระดับความขัดแย้งเดิมๆ ได้
สังคมต้องยกระดับของการมองและเข้าใจปัญหา ต้องมีจิตสำนึกใหม่ (New consciousness) จึงจะสามารถสร้างทางออกที่สร้างสรรค์ มีผู้เปรียบสังคมไทยเปรียบเสมือนลูกเจี๊ยบอยู่ในเปลือกไข่ ที่โตเต็มที่แล้ว ต้องเจาะเปลือกไข่ออกมาถึงจะรอด
กิจกรรมดีๆ หลายอย่างที่จะมีส่วนช่วยให้สังคมเติบโตข้ามผ่านวิกฤตนี้ กลับไม่เกิดขึ้นเพราะผู้คนจำนวนมากรู้สึกว่าธุระไม่ใช่ ไม่สนใจ หรือรู้สึกว่าตนเองไม่มีอำนาจจะไปทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ดีได้
เราอาจจะไม่เห็นทางออกเพราะเราคิดถึงแต่โครงสร้างอำนาจแบบรวมศูนย์ คิดว่าความขัดแย้งนี้ขึ้นกับการต่อรองตกลงกันของผู้นำ ต้องเปิดโต๊ะเจรจาระดับชาติเท่านั้น นี่ก็คือความคิดแบบแยกส่วน ที่จะทำให้เราแก้ไขปัญหาไม่ได้นั่นเอง
หนึ่งในสิ่งที่จะช่วยได้คือ การคุยกันด้วยหัวใจ ซึ่งก็มีรูปธรรมหรือมิติที่หลากหลาย ในหลายชื่อ หลายจุดเน้น เช่น สุนทรียสนทนา ไดอะล็อก สานเสวนา การสื่อสารด้วยความกรุณา การสื่อสารอย่างสันติ เป็นต้น
การคุยกันด้วยหัวใจที่เปิดกว้าง ต้องการที่จะรับฟัง เข้าใจ และดูแลกันและกัน เป็นการแก้ไขปัญหาโดยใช้กระบวนทัศน์องค์รวม ไม่แยกส่วน เป็นระดับที่เหนือกว่าวิธีคิดที่สร้างปัญหาที่เราเผชิญอยู่ร่วมกัน เป็นการปฏิวัติจิตสำนึกที่เกิดได้ในการคุยกันของคนตัวเล็กๆ ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นในแผนก ในบริษัท ในหมู่บ้าน หรือแม้แต่ในครอบครัว
การคุยกันที่จะทำให้เกิดการเรียนรู้ที่ดี และนำไปสู่ทางออกของสังคมได้ ควรมีองค์ประกอบของคนที่หลากหลาย มาคุยกันโดยมีข้อตกลงร่วมกันชุดหนึ่ง (อาทิ ฟังกันอย่างลึกซึ้ง deep listening ห้อยแขวนการตัดสิน สด-เปลือย-เปราะบาง ชื่นชมวัฒนธรรมความเงียบ) ให้เวลาแต่ละครั้งอย่างเพียงพอ คุยกันอย่างสม่ำเสมอ โดยคนที่มาคุยกันนี้เป็นใครก็ได้ ไม่ใช่ว่าจะต้องเป็นผู้นำแต่ละฝ่าย เพียงเป็นคนกลุ่มเดิมที่มาคุยกันอย่างต่อเนื่อง แต่ละกลุ่มอาจมีขนาด ๑๐-๓๐ กว่าคน และควรให้มีหลายๆ กลุ่ม
ถ้าได้คุยกันเช่นนี้สักระยะ ผู้คนไม่ว่าจะอยู่ฝ่ายไหน จะเห็นว่าทางออกของสถานการณ์ความขัดแย้งนี้ไม่ได้ยากอย่างที่คิด กลุ่มจะมีลักษณะ transcend and include คือข้ามพ้นแต่ปนอยู่ คำตอบจะอยู่ในระดับที่มีความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่โจทย์และความต้องการของทุกฝ่ายจะได้รับการดูแล
กิจกรรมเช่นนี้ ไม่ต้องใช้เงินมากมาย เพียงอาศัยความมุ่งมั่นร่วมกันของทุกฝ่ายที่จะเรียนรู้กัน และร่วมแสวงหาทางออกอย่างสันติ
สิ่งสำคัญที่จะช่วยให้กลุ่มดำเนินไปได้ และเกิดทางออกได้ ก็คือ ความไม่คาดหวัง
เรื่องนี้เป็นสิ่งท้าทาย และเป็นความจริงคู่ขัดแย้ง (paradox) เหมือนกับการเดินทางและการปฏิบัติทางจิตวิญญาณ
หากมีความคาดหวังเป็นที่ตั้ง บางคนอาจจะไม่มา เพราะคิดว่าคุยไปก็ไม่เห็นจะมีอะไรเกิดขึ้นมา ระหว่างคุยก็จะมุ่งหาแต่ผลลัพธ์ ไม่ได้อยู่กับปัจจุบันอย่างแท้จริง แต่ถ้าบอกให้ไม่มีความคาดหวัง บางคนก็อาจจะบอกว่าแล้วจะมาคุยทำไมให้เสียเวลา
แต่วิกฤตสังคมครั้งนี้ ก็เป็นวิกฤตทางจิตวิญญาณจริงๆ
ผู้คนอาจจะไม่ยอมเชื่อ ไม่ยอมทำในสิ่งที่จะนำพาเขาออกจากความทุกข์ จนกระทั่งเขาเจอความทุกข์จริงๆ จังๆ จนทนไม่ไหวนั่นแหละ ความทุกข์นั้นเองที่จะนำพาให้เขามาลงมือปฏิบัติในสิ่งที่จะทำให้ความทุกข์นั้นจางคลายหรือหายไปในที่สุด
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
2 comments:
หากคนเรา "หันหน้าเข้าหากัน" คุยกันอย่างสุนทรียสนทนาบ้าง อาจจะเป็นทางออกทางหนึ่ง ก็เป็นได้ ขอแค่แสดงความคิดเห็น และขอร่วมภาวนาอย่างสันติด้วยคนคะ
ถ้าจะคุยกันด้วยหัวใจต้องมีความกล้าหาญทางจริยธรรม
Post a Comment