จิตตปัญญา ๑๐๑



ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 11 กรกฎาคม 2553

ด้วยความรู้จากงานวิจัยสำรวจรวบรวมองค์ความรู้จิตตปัญญาศึกษาทั่วโลก ที่สรุปได้เป็นองค์ความรู้ “โมเดลจิตตปัญญาพฤกษา” และงานวิจัยเชิงปฏิบัติการประยุกต์ใช้โมเดลกับชั้นเรียน ผนวกกับประสบการณ์การสร้างและทดลองใช้กระบวนการต่างๆ ในชั้นเรียนหลายแห่งและในชีวิตจริงร่วมสิบปี กลุ่มจิตตปัญญาวิถี (jittapanya.com) ได้ร่วมกันเปิดคอร์สอบรม แบบ in-house ให้กับสถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน องค์กรภาครัฐ บริษัทเอกชนจำนวนมาก

“จิตตปัญญา ๑๐๑” ที่เป็นคอร์สเปิดรับทั่วไปเป็นครั้งแรก คนสมัครมาเกินจำนวนที่ตั้งใจ เกินจำนวนที่ห้องจะรับได้ สามวันสบายๆ แม้จะสั้นและไม่ค้างคืน แต่ก็ตื่นตาตื่นใจไม่น้อย เห็นถึงศักยภาพการเรียนรู้อย่างยิ่งของมนุษย์ที่มีความใฝ่ใจ สนใจใคร่รู้ คอร์สเข้มข้นไปด้วยข้อมูลวิจัย เอกสารตัวอย่าง ประสบการณ์ เรื่องราว เรื่องเล่า อารมณ์ความรู้สึก คำถาม คำตอบของอาจารย์ที่เคยสอน นักศึกษาที่เคยผ่านกระบวนการ และผู้เข้าร่วมทั้งที่เคยและไม่เคยรู้จักจิตตปัญญามาก่อน

หลังจบคอร์ส ว่างเว้นจากการครุ่นคิดคำนึงถึงไปหลายวัน ผมใช้เวลาคุณภาพมาละเลียดอ่านสิ่งที่ผู้เข้าร่วมเขียนประเมินสะท้อน ได้เห็นอะไรหลายๆ อย่างที่อ่านผ่านตาไปรอบแรก ชื่นชมกับการเดินทางของเขา แม้ว่าบรรยายออกมาเป็นคำพูดไม่ได้

“ถ้าใครมาถามว่าได้อะไรบ้างจากคอร์สนี้ก็คงไม่สามารถบรรยายหรือถ่ายทอดออกมาได้หมด รู้เพียงแต่ว่ามันเกิดอาการถูกปลุกให้ตื่นจากการหลับใหล”

ผู้เข้าร่วมอยู่ในการเรียนรู้จนประจักษ์ด้วยตนเอง ไม่ใช่ด้วยการคิดนึกเอา แต่ด้วยการสัมผัสโดยตรงว่าจิตตปัญญาศึกษาเป็นเรื่องของการเรียนรู้ด้านใน เป็นเรื่องของการเรียนรู้ด้วยใจ

“การเรียนรู้ข้างในเพิ่งตื่น พร้อมที่จะก้าวเรียนต่อๆ ไป ... ช่วยส่งเสริมให้เรากล้ามากขึ้น ความกระจ่างมีความใสมากขึ้น กระจ่างในกรอบคิด กระจ่างในแนวปฏิบัติ กระจ่างในหนทางข้างหน้า ขอบคุณเหลือเกินที่ทุกๆ คนช่วยให้เกิดพลังนี้ขึ้นในตนเอง”

ไม่เพียงแต่คำตอบนั้นจะมาจากเรา แต่คำถามยังต้องมาจากเราด้วย การเรียนรู้จึงจะเป็นของเรา เป็นของผู้เรียนอย่างแท้จริง พร้อมกันนั้นก็ตระหนักถึงคุณค่าของชุมชนผู้ปฏิบัติ (Community of Practice) หรือกัลยาณมิตร และแนวคิดอื่นๆ ด้วย

“เป็นช่วงเวลาที่มีค่ายิ่งที่ทำให้ตัวเองได้ตระหนักรู้ถึง ‘สิ่งมีค่า’ ที่มีอยู่ในตนเอง ครอบครัว และสังฆะที่ดี ซึ่งมีอยู่แล้ว เป็นช่วงเวลาที่ผ่อนคลาย และทำให้ตนเองได้เติบโตและงอกงามในจิตใจขึ้นมา จะพยายามรักษาสภาวะเช่นนี้อย่างจิตใจที่เป็นกลาง ไม่คาดคั้น คาดหวัง ... ให้โอกาสตัวเองมีความกล้าหาญ ยืนหยัด ยืนยันในสิ่งที่จะทำอย่างเสมอต้น เสมอปลาย อย่างไม่เร่งรีบ ... แนวทางนี้น่าจะเหมาะกับตนเอง เพราะได้รู้ผ่านการปฏิบัติจริง ที่ไม่ต้องรอให้มีเวลาเข้าวัด มีเวลาเงียบจึงจะทำได้”

ก่อนเริ่มคอร์สผู้เข้าร่วมหลายคนสนใจมองหาเทคนิค อยากจะมาเรียน จะมาเห็น จะมาลอง จะมาจำเอาไปใช้ในชั้นเรียน ที่ทำงาน ที่บ้านของตน แต่กลับได้อะไรที่มากไปกว่าวิธีการ

“สร้างความมั่นใจมากขึ้น ได้แก้ไขข้อข้องใจหลายๆ อย่างเกี่ยวกับสิ่งที่ตัวเองทำ สิ่งที่ตัวเองเป็น มันเป็นการเรียนรู้ที่เชื่อมโยงทุกๆ สิ่งทุกๆ อย่าง ทั้งชีวิตเราเอง งาน ครอบครัว จินตนาการ ความใฝ่ฝัน ความมุ่งหมาย ได้จริงๆ คิดว่าสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นใน ๓ วันนี้ ได้เกินกว่าความคาดหมาย ... ได้มากกว่าคือได้ทบทวนสิ่งที่ค้างคาใจ สิ่งที่เป็นอุปสรรคขัดขวางการพัฒนาของเราจริงๆ ในส่วนลึกจริงๆ และยังทำให้เกิดความอยากที่จะเผยแพร่สิ่งดีๆ แบบนี้ต่อๆ ไป ให้กับคนที่เรารัก คนที่ไม่มีความสุขในชีวิต ไม่มีความสุขในที่ทำงาน”

1 comments:

สุพรทิพย์ said...

อ่านแล้วทำให้คิดถึงทั้ง 3 วันนั้นอยู่เลยค่ะ สิ่งที่ได้เรียนรู้โดยมีเราเป็นส่วนหนึ่งของบทเรียนช่างดีจริง ๆและยากที่จะลืม