ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๘ สิงหาคม ๒๕๕๓

เมื่อไม่นานมานี้ ผมไปร่วมจัดการเรียนรู้เรื่องสุนทรียสนทนา (Dialogue) ร่วมกับเพื่อนในกลุ่มจิตตปัญญาวิถีที่วิทยาลัยพยาบาลแห่งหนึ่งในหัวเมืองใหญ่ ได้พบและสนทนาจนคุ้นเคยกับอาจารย์พยาบาล แพทย์ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขหลายคน เราใช้เวลาในช่วงพักทานกาแฟและขนม รวมทั้งช่วงอาหารกลางวัน แบ่งปันแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในหลายเรื่อง

อาจเป็นเพราะทีมไปเป็นแขกรับเชิญในฐานะกระบวนกรผู้มีความรู้และความชำนาญในเรื่องสุนทรียสนทนาและจิตตปัญญาศึกษา ทำให้ลักษณะของการสนทนากันค่อนไปในทางถามตอบประเด็นปัญหาที่อาจารย์หลายท่านสงสัย ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบการจัดการเรียนการสอนที่เหมาะสมสำหรับชั้นเรียนที่มีจำนวนนักศึกษามากน้อยต่างกัน ไปจนถึงปัญหาการคุยกันในชั้นเรียนและวินัยของนักศึกษา

มีเรื่องหนึ่งซึ่งได้รับความสนใจจากทุกคนบนโต๊ะกาแฟมากไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเรื่องการจัดการเรียนการสอนเลย คือคำถามของอาจารย์แพทย์คนหนึ่ง เธอเป็นคนที่มุ่งมั่นพัฒนาตนเอง ใช้แนวธรรมะและธรรมชาติบำบัดจนสามารถอยู่ร่วมกับมะเร็งในกายด้วยจิตแจ่มใส ใจไม่ป่วย

คุณหมอมาขอปรึกษาเรื่องลูกสาวของเธอเอง เธอว่าลูกเพิ่งเริ่มงานกับบริษัทที่มีชื่อเสียงมั่นคงในกรุงเทพฯ มาได้ระยะหนึ่ง ปรกติเธอกับลูกก็จะโทรศัพท์คุยกันและได้ฟังปัญหาเกี่ยวกับที่ทำงานของลูกสาว แต่ครั้งหลังสุดนี้ ลูกสาวบ่นให้เธอฟังว่าเพื่อนร่วมงานไม่ให้ความเชื่อถือ

“หนูบอกพี่เขาแล้วว่าเรื่องนี้ต้องจัดการแบบนี้ แต่เขาก็ไม่สนใจเลย แล้วพอเขาไปถามรุ่นพี่คนอื่นนะ คนอื่นก็บอกให้ทำตามแบบที่หนูบอกไปทีแรกอยู่ดี” ลูกสาวมีน้ำเสียงโมโหฉุนเฉียวมาก

เธอรู้สึกว่าลูกจะต้องมีความเป็นผู้ใหญ่มากกว่านี้ อีกทั้งปัญหานี้ก็เป็นเรื่องเล็กน้อย จึงตอบไปว่า “หนูโมโหทำไมกับเรื่องแค่นี้ เราต้องอดทนได้นะ ทำงานยังจะต้องเจออะไรอีกมากมาย” แต่สิ่งที่ได้รับกลับมาคือลูกสาวโมโหมากขึ้นไปอีก และโทษว่าแม่ไม่เข้าข้าง หลังจากนั้นทั้งคู่ก็โทรศัพท์คุยกันน้อยลง

คำถามต่อเรื่องนี้ของเธอคือ “พี่ควรจะสอนเค้ายังไงดี เค้าถึงจะเข้าใจและมีสติรู้ตัวว่ากำลังโกรธอยู่”

ก่อนจะตอบ ผมขอถามกลับบ้าง ถามเธอว่าด้วยความที่เราเป็นแม่ เป็นผู้ใหญ่ที่ผ่านประสบการณ์ทำงานมามากกว่า เราจึงพอเข้าใจสถานการณ์และคาดเดาได้ว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไรใช่ไหม และสิ่งที่เราต้องการให้ลูกเรามีคือการมีสติและสามารถจัดการกับอารมณ์ใช่หรือไม่ เธอตอบว่าใช่

ผมยืนยันให้ความมั่นใจแก่เธอก่อนว่า สิ่งที่ทำลงไปนั้นไม่ได้มีอะไรที่ผิด หากแต่คำพูดที่เต็มไปด้วยความปรารถนาดีของแม่นั้นอาจไม่ได้ตรงกับความต้องการของลูก ในห้วงเวลาของความน้อยใจระคนโกรธ ลูกอาจอยากจะได้ระบายออกและต้องการการรับฟังจากคนที่เธอไว้ใจ ความปรารถนาดีที่เอ่ยไปจึงกลายเป็นคำสอนที่ผู้รับไม่ต้องการ เป็นยาขนานที่ผู้ป่วยไม่ยอมกิน

หากเราวางใจและไม่เร่งรีบกันนัก ลึกลงไปกว่าความโกรธฉุนเฉียวในถ้อยคำ เราย่อมจะได้ยินน้ำเสียงของอีกฝ่าย เขาหวังจะให้เราฟัง เขาต้องการความเข้าใจ และเขาอยากได้ความเห็นใจจากเรา มากไปกว่าคำสั่งสอนที่อาจจะทำให้เขารู้สึกแย่ลงไปอีก

ผมถามเธออีกครั้งว่า ตอนที่ได้ยินลูกสาวเล่าเรื่องนั้น พี่รู้สึกอะไรบ้าง เธอว่าสงสารลูก และรู้สึกเป็นห่วงลูกมาก ผมแนะนำเธอว่า แทนที่จะช่วยลูกด้วยการสอน พี่ยังสามารถช่วยเขาได้ด้วยการบอกว่าพี่รู้สึกอย่างไร บอกอย่างที่พี่บอกเมื่อครู่นี้แหละ แล้วเขาก็จะรู้ว่าพี่อยู่ข้างเดียวกัน เมื่อใจอยู่ใกล้กันหากมีเรื่องอะไรอีกเราก็จะเป็นคนที่เขาอยากเล่าอยากปรึกษาด้วย เมื่อเขาวางใจและเย็นลงแล้วคำสอนไหนของเราเขาก็รับ

ฉับพลันนั้นผมเห็นนัยน์ตาคู่สวยของเธอเป็นประกาย “ใช่เลย แต่ก่อนพี่อยากจะสอน มากกว่าอยากจะฟัง ขอบใจนะ เดี๋ยวพี่จะกลับไปฝึกที่จะฟังลูกสาวพี่ดูนะ”

ดีใจกับลูกสาวที่จะได้คุณแม่ที่น่ารักที่มีความสามารถในการรับฟังเพิ่มขึ้น

ดีใจกับคุณแม่ที่ได้เครื่องมือไว้ดูแลคนที่เธอรักที่สุดในชีวิต

ดีใจที่ได้มีโอกาสแบ่งปันเรื่องราวดีๆ เช่นนี้ครับ :-)

1 comments:

Halley said...

ขอบคุณที่แบ่งปันครับ

ช่วงนี้ผมก็รู้สึกน้องๆ เป็นทุกข์ และเป็นกังวลมากเลยเรื่องสอบมิดเทอม
บางคนถึงขั้นบ่นจะซิ่ล กลัว F ไปแล้วต่างๆ นาๆ

ผมก็...เรียกได้ว่า "สอน" ไปเยอะเหมือนกัน
จริงๆ ก็กังวลในใจเล็กๆ ถึงปานกลางว่าน้องๆ จได้รับสารที่ผมต้องการจะสื่อรึเปล่า

ขอบคุณสำหรับความเป็นไปได้ใหม่ๆ ที่เปิดให้ผมได้เห็นครับ :)