ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๒ ธันวาคม ๒๕๕๓

ช่วงหยุดยาววันพ่อ ผมนั่งละเลียดอ่านข้อเขียนที่ผู้เข้าร่วมสะท้อนการเรียนรู้ของตนเองในวันสุดท้ายของการอบรมหลักสูตร “พัฒนาจิตและเปลี่ยนแปลงชีวิต” ที่จัดให้กับเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ปปช.)

ก่อนเริ่มการอบรม หลายท่านสงสัยว่าจะเกิดการเปลี่ยนแปลงอะไรจริงหรือไม่ แม้ตัดสินใจมาแล้วก็ยังไม่แน่ใจ “เอ๊ะ! เราจะพัฒนาจิตได้หรือ อัตตาเราสูงนะ” บางท่านตั้งคำถามกึ่งท้าทายรอไว้ก่อนเลย “เราอยากรู้ว่าการอบรมที่สถาบัน [ป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ สัญญา ธรรมศักดิ์] จัดครั้งนี้ จะเปลี่ยนแปลงชีวิตพัฒนาจิตได้จริงไหม”

พวกเราใช้เวลาอยู่ด้วยกัน ๔ วัน ๓ คืน แม้ไม่ยาวนัก แต่ก็เพียงพอสำหรับการเรียนรู้ของหลายๆ คน ต่างบอกเล่าการเดินทาง ค้นพบ และเปลี่ยนแปลงตนเองที่น่าทึ่งในวิถีของตนเอง



“ก่อนที่จะมาอบรมในครั้งนี้ ... ฉันก็คิดว่าคงจะมีการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นบ้าง แต่ไม่ได้คิดว่าจะมากมายขนาดนี้ โดยเฉพาะตัวเอง ช่างแปลก เราก็ผ่านโลกนี้มานานสามสิบกว่าปีแล้ว แต่แทบจะน้อยนับครั้งได้ที่เราลุกขึ้นมาบอกกับตัวเองว่า เราต้อง ‘เปลี่ยน’ เปลี่ยนสิ่งเดิมๆ ที่เราเคยทำตัวแย่ๆ หรือทำร้ายความรู้สึกของคนรอบข้าง พอมาถึงที่เราได้เรียนรู้วิธีคิด วิธีรู้จักตนเองและผู้อื่น เรารู้สึกว่าอยากจะ ‘เปลี่ยน’ จริงๆ และต้องทำให้ได้ มันอาจดูไม่ง่าย แต่คงไม่ยาก เพราะว่าเราอยากใช้เวลาตัวเองในชีวิตที่เหลืออยู่ให้มีคุณค่า มีคุณภาพ และมีความสุขสงบอย่างแท้จริง เอาล่ะ เราจะเริ่มนับแต่วันนี้ หลังจากกลับจากการอบรม ไปถึงบ้าน เราจะรับฟังน้องชายให้มากขึ้น ฟังความรู้สึกของเขา มองเขาในเหตุผลของเขา เราจะใส่ใจแม่มากขึ้น รับฟังเรื่องเดิมๆ ที่แม่เคยพูดซ้ำๆ แต่มันมีความหมายว่ารักและห่วงใยเราเหลือเกิน เราต้องเปลี่ยนไปในทางที่ดีขึ้น เรามั่นใจ”

เพียงสะท้อนตนเองมาสั้นๆ แต่บอกอะไรมามากมาย ผมมองผ่านตัวหนังสือเข้าไป เห็นหญิงสาวที่งดงามผู้หนึ่ง เธอก็เหมือนพวกเราที่พยายามจะมีชีวิตที่มีความสุข คุณค่า และความหมายที่แท้จริง ในโลกที่สับสน เร่งรีบ และวุ่นวายใบนี้

ผมดีใจที่ในการอบรมนี้เธอได้เปิดใจ เปิดสัมผัสรับรู้ต่างๆ อย่างเต็มที่ ใช้ตนเองเป็นเครื่องมือในการเรียนรู้ ได้มีประสบการณ์กับชุดความรู้และกระบวนการที่หลากหลายของจิตตปัญญาศึกษา เช่น สุนทรียสนทนา จิตตศิลป์ การบริหารกายบริหารจิต การทำงานกับเงา (Shadow) หรือด้านมืดในตัวเราที่เรามองไม่เห็น เป็นต้น

ชอบที่เธอสรุปว่าสิ่งที่เธอได้เรียนคือ “วิธีคิด วิธีรู้จักตนเองและผู้อื่น” เพราะพื้นฐานความเข้าใจเช่นนี้จะช่วยทำให้เธอไปต่อยอดการเรียนรู้และแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง ส่วนมุมมองที่ว่า “มันอาจดูไม่ง่าย แต่คงไม่ยาก” คงจะทำให้โจทย์ของเธอไม่ง่ายจนไม่ท้าทาย แต่ก็ไม่ยากจนน่าท้อใจจนเกินไป

อดดีใจกับน้องชายและคุณแม่ไม่ได้ ดีใจกับน้องชายที่จะมีพี่สาวที่น่ารัก ผู้มีความสามารถในการรับฟัง ในการเข้าใจ เอาใจเขามาใส่ใจเรา ดีใจกับคุณแม่ที่จะมีลูกสาวที่อ่อนโยน ผู้มีคุณสมบัติพิเศษที่เหล่าบุพการีทั้งหลายต่างปรารถนาให้บุตรสาวบุตรชายของตนมี คุณสมบัติในการตระหนักรู้ถึงความรักอันไม่มีที่สิ้นสุดของพ่อแม่ที่มีให้กับลูก ผมเห็นบ้านที่ข้างในมีครอบครัวที่มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งหลัง เห็นที่ทำงานที่ข้างในมีเจ้าหน้าที่ที่มีความสุขเพิ่มขึ้นอีกหนึ่งแห่ง

ความจริงก็คือ ไม่มีใครไม่อยากเปลี่ยนแปลง เพราะไม่มีใครไม่มีความทุกข์ ชีวิตเราออกห่างจากสมดุล จากความสุขและความหมายมากขึ้นเรื่อยๆ

ในทางกลับกัน ผู้คนต่างโหยหาการเปลี่ยนแปลง เพราะเราทุกคนมีแรงจูงใจที่สำคัญมาก คือ ความสุขในชีวิต เราพร้อมจะเปลี่ยนเสมอ หากมันทำให้ชีวิตของเราดีขึ้น ขอให้เราพอจะเห็นทาง เห็นความเป็นไปได้เท่านั้น

สิ่งหนึ่งที่เราน่าจะได้เปิดโอกาสให้กับตนเองและคนรอบข้างเราอยู่เสมอ คือ การเข้าไปเรียนรู้และรู้จักตนเอง เมื่อมนุษย์ได้เห็นและรู้จักตนเองอย่างแท้จริง ศักยภาพในการเปลี่ยนแปลงตนเองของมนุษย์ก็จะเผยออกมาเองอย่างน่ามหัศจรรย์

0 comments: