ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๔ ธันวาคม ๒๕๕๔

"น้ำที่มาที่ดอนเมืองเป็นแค่ทัพหน้า ทัพหลวงกำลังตามมา"

"ด่านเมืองเอกแตกแล้ว ชาวบ้านอพยพถอยร่นเข้ามาเรื่อยๆ"

"เปิดทางให้เขาลำเลียงทัพผ่านดีกว่า กั้นไว้ก็โดนล้อม คนในเมืองจะอดตายกันเอา"


เสียงผู้ประกาศข่าวดังมาเนื้อหาฟังคุ้นหู พอๆ กับที่เดินผ่านแผงหนังสือแล้วพาดหัวข่าวดูคุ้นตา ชวนให้นึกสงสัยว่าตอนที่น้ำท่วมปีก่อนๆ หน้า บรรดาสื่อเขารายงานข่าวน้ำท่วมด้วยภาษาแบบไหน แต่ว่าปีนี้ดูท่าภาษาทางทหารจะเป็นที่นิยม ใช้กันติดปากทั้งสื่อกระแสหลักและโซเชียลมีเดีย ไม่แน่ใจว่าสืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ทางการเมือง หรือว่าภาพยนตร์ซีรีส์พระนเรศวรมหาราชหรือทงอี

ชุดคำเหล่านี้ที่สื่อเลือกใช้ และเรารับมาใช้ต่อด้วยความไม่เท่าทัน จัดเงื่อนไขความสัมพันธ์ให้เราโดยที่เราและสื่อไม่รู้ตัว เป็นความสัมพันธ์แบบไม่อยากจะญาติดีกันแล้ว เพราะฝ่ายหนึ่งจ้องจะบุกเข้ามาทำลาย แถมชนะมาเรื่อย อีกคร่าชีวิตผู้คนมาตามรายทาง เหมือนกับจัดให้หมู่มนุษย์ต่อสู้กับมหันตภัยความชั่วร้ายระดับพระกาฬ

น่าชื่นชมความพยายามของหลายกลุ่มสร้างสัญลักษณ์และคำขึ้นมาเป็นตัวเลือก เช่น วาฬ หรือ น้องน้ำ ที่อยากกลับบ้าน (ทะเล) ทำให้ทีท่าผ่อนคลายลงไม่น้อย ไม่ใช่ตั้งท่าจะเอาชนะอยู่ท่าเดียว

ภาษาที่เราใช้นั้น สร้างโลกที่เราอาศัย ทั้งในแง่โลกในความคิดและโลกในทางวัตถุด้วย ว่าเราจะอยู่ด้วยกันระหว่างคนกับคน ระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างไร

ถ้าเราใช้แค่ชุดคำแบ่งฝักแบ่งฝ่าย ดี-เลว ถูก-ผิด เราย่อมยากที่จะยอมรับให้อีกฝ่ายเข้ามาอยู่ในเมืองของเรา มาอยู่ในสังคมของเรา ไม่ว่าจะเป็นน้ำหรือมนุษย์ก็ตาม

การศึกษาของเราตั้งอยู่บนฐานความเชื่อทางวิทยาศาสตร์ ที่แยกตัวผู้สังเกตของจากสิ่งที่สังเกต แยกมนุษย์ออกจากธรรมชาติ จึงไม่น่าแปลกใจที่เราใช้ชุดคำของการแบ่งแยกฝ่าย โดยเฉพาะการแบ่งเป็นฝ่ายมนุษย์และฝ่ายธรรมชาติ โลกของเราจึงเป็นส่วนๆ เสี้ยวๆ มีเขามีเราหลายฝ่าย เราจึงต้องเหนื่อยกับการปกป้องความเป็นเรา ไม่ว่า “เรา” ในบริบทนั้นจะหมายถึงตัวของเราเอง ครอบครัว บริษัท นิคมอุตสาหรรม ชุมชน จังหวัด ภาค ประเทศ พรรคการเมือง ไปจนถึงนามธรรมเช่นอุดมการณ์ทางการเมืองด้วย

หากไม่เรียนรู้ที่จะขยายโลกในความคิดความเข้าใจ เราจะอยู่ยากขึ้น เพราะโลกและธรรมชาติในความเป็นจริงนั้นซับซ้อนกว่าที่โลกอันคับแคบของเราจะรองรับ ยิ่งโลกในความคิดกับโลกตามความจริงห่างกันเท่าไหร่ความทุกข์ในใจและในสังคมของเรายิ่งมากขึ้นเท่านั้น

โดยวิธีที่จะขยับขยายโลกของเรา ไม่จำเป็นต้องทิ้งโลกตามแนวคิดทางวิทยาศาสตร์ทิ้งไปเสียทั้งหมด แต่ต้องขยายไปสองทาง ทางหนึ่งลงล่าง เพื่อยึดโยงเข้ากับราก เข้ากับฐานทางวัฒนธรรมของเรา การเรียนรู้ต้องไปเรียนจากของจริงจากชีวิตจริง อีกทางหนึ่งขึ้นบน เพื่อเข้าถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์กับธรรมชาติ เพื่อเข้าถึงสัจธรรมของโลกและธรรมชาติ

เมื่อนั้นพลังอันสร้างสรรค์ของวิทยาศาสตร์ก็จะถูกปลดปล่อยได้มากขึ้น เมื่อเราใช้ภาษาและตั้งคำถามที่เหมาะสม เช่นว่า แล้วประเทศไทยจะร่วมกันอย่างสงบสุขอย่างไร ในโลกที่สภาพภูมิอากาศแปรปรวนรุนแรงทำให้มีน้ำมากในฤดูน้ำหลากและน้ำน้อยในฤดูแล้ง

หากเราและสังคมได้สะท้อนตนเอง ได้มองพฤติกรรมที่ผ่านมาด้วยใจเป็นกลาง ไม่เข้าข้างตนเอง เมื่อนั้น ใจของเราที่เคยแต่อยากเอาชนะ อาจจะอยากขอขมาต่อสายน้ำที่หล่อเลี้ยงชีวิตเราขึ้นมาเอง

แล้วเราจะใช้ภาษาที่สื่อถึงใจที่อ่อนโยนต่อชีวิต อ่อนน้อมต่อธรรมชาติด้วยเช่นกัน

0 comments: