ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม ๒๕๕๕
ตรงนี้ได้คนหนึ่ง" พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล พูดพร้อมกับชี้ไปยังพื้นที่ที่ดูค่อนข้างเหมาะ
ที่ว่าค่อนข้างเหมาะนั้นหมายถึงที่พื้นดูค่อนข้างเรียบและโล่ง แม้จะเป็นพื้นดินในป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ก็ไม่มีพืชคลุมดินหรือไม้พื้นล่างที่ขึ้นหนาแน่นเกินไป เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นและกำลังถูกย่อยสลายก็ไม่หนาจนอาจมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอที่อาจเป็นอันตราย ผมเงยหน้ามองไปข้างบนต้นไม้ใหญ่ไม้เรือนยอดก็มีพอจะเป็นแนวบังแดดที่มีอยู่ให้ดูรำไร ไม่มืดจนน่ากลัว แต่ก็ไม่จ้าจนร้อน อากาศก็ดูถ่ายเทได้ดี ไม่อับ
ผมหันกลับไปแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งที่เดินตามมาเป็นแถวเรียงหนึ่งทราบ พวกเขามองหน้ากันไปมาสักพักก็มีคนพยักหน้า ทำนองให้สัญญาณว่า "ฉันเลือกที่นี่แหละ" แล้วเดินตรงไปยังจุดดังกล่าว สำรวจไปรอบๆ หาตำแหน่งเหมาะๆ แล้วเอาเป้สัมภาระวางลง
พวกเราค่อยๆ หาตำแหน่งและปล่อยชาวต่างชาติเหล่านี้อยู่ในป่าภูกลาง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ตามลำพังทีละคน แต่ละคนอยู่ห่างกันพอให้ไม่เห็นกัน ส่วนเราไปหยุดพักที่ริมผา สนทนากันสักครู่ ก็ได้เวลาพระท่านฉันเพล ผมรับประทานข้าวกล่อง ตั้งใจกินอย่างรู้เนื้อรู้ตัว จากนั้นก็แยกย้ายกันภาวนาหรือพักผ่อนตามอัธยาศัย
สองสามชั่วโมงถัดมา ได้เวลานัดหมาย พร้อมๆ กับสายฝนที่เริ่มโปรยปรายลงมา พวกเราเดินย้อนกลับไปทางเก่า ผ่านแต่ละจุดที่ปล่อยฝรั่งเหล่านั้นไว้ แล้วเดินกลับออกมาด้วยกัน
ที่ริมป่าพวกเราได้นั่งสนทนากันถึงช่วงเวลาการอยู่คนเดียวในป่าประมาณสี่ชั่วโมงที่ผ่านมา คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมต้น จากเมาท์วอชิงตัน รัฐเคนตักกี้ สะท้อนว่านี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดของเธอ
"หลังจากเลือกที่ได้แล้ว ฉันวางของลง สาละวนกับการจัดที่ทางให้พร้อม จุดธูปไล่แมลง ทำนู่นทำนี่สารพัดอย่างค่อนข้างหงุดหงิดรำคาญ กว่าจะได้นั่งภาวนาก็พักใหญ่ มองนาฬิกาถึงได้รู้ว่าผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่าแล้ว พอนั่งลงพักก็พบว่ามันสบายมากกับแค่กลับมารู้เนื้อรู้ตัว มันทำให้ฉันตระหนักว่าที่ผ่านมาฉันเองก็ใช้ชีวิตแบบนี้แหละ กระสับกระส่ายกับการจัดการเพื่อให้ฉันสบาย ทั้งๆ ที่มันง่ายๆ แค่การได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง"
เธอเป็นคนในหนึ่งในคณะของชาวอเมริกันราว 20 ชีวิต ประกอบด้วยครู นักการศึกษา นักสื่อความหมายธรรมชาติ ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เขาเหล่านี้จ่ายเงินบินข้ามน้ำข้ามทะเลครึ่งโลกมาเรียนรู้เรื่อง "พุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ" ในโครงการ Earth Expeditions ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มจิตตปัญญาวิถี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยไมอามี และสวนสัตว์ซินซิเนติ สหรัฐอเมริกา
พวกเขาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักคิดนักปฏิบัติด้านจิตตปัญญาชาวไทย ถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมดุลของการเรียนรู้เนื้อหาเรื่องราวภายนอก ไปพร้อมๆ กับการรู้จักรู้ใจตนเอง สามารถเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งเก่งและทั้งงามจากภายใน มีความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น สรรพชีวิต และธรรมชาติได้นั้นอย่างสอดคล้องสมดุล
ประสบการณ์ที่พวกเขาได้พบเป็นประสบการณ์จิตตปัญญาที่อยู่บนฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทย ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นสากล และทำให้เราได้สะท้อนเห็นตัวเองชัดยิ่งกว่าบทเรียนตามตำรา
เธอผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายถึงประสบการณ์สำคัญว่า "นี่คงเป็นครั้งท้ายๆ ในชีวิตแล้วที่ฉันจะเสียเวลากับการมัวจัดการกับสิ่งนอกตัวมากมายขนาดนี้"
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment