ใจใสปิ๊ง เพราะถูกขัดใจ


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 8 พฤษภาคม 2548


คราวที่แล้วผมเขียนเล่าเรื่องปัญญาจากท่านผู้ใหญ่ที่ผมเคารพรักอย่างยิ่ง คือ ท่านอาจารย์ระพี สาคริก กับการเข้าถึงความสุขง่ายๆ ด้วยการเห็นความจริงว่าเรื่องราวต่างๆ นานารอบตัวเราที่ดูเหมือนยุ่งเป็นยุงตีกัน แท้จริงทำให้ง่ายได้ด้วยการมองเห็นว่ามันอาจแบ่งเป็นสองกลุ่ม คือ เรื่องของเรา และ เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อดูลงไปให้ดีก็จะเห็นว่าเรื่องส่วนใหญ่ที่เราเที่ยวไปแบกกันเอาไว้เป็นเรื่องประเภท "เรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของเรา"

บ่ายวันนี้ผมก็ได้ทั้งชื่นชมกับปัญญาชุดเดียวกันนี้ แต่จากอาจารย์ผู้ใหญ่อีกท่านที่ผมเคารพรักเหมือนแม่ คือ ท่านอาจารย์สุมน อมรวิวัฒน์

ในที่ประชุมกลุ่มจิตวิวัฒน์* วันนี้มีการทบทวนตนเองของกลุ่มหลังจากได้พบกันมาปีเศษ อาจารย์สุมนกล่าวได้อย่างน่าสนใจว่าการที่ได้มาร่วมประชุมทำให้รู้สึกว่าตนเองนั้นตัวเล็กลง รู้สึกว่าสิ่งที่ยังไม่รู้นั้นมีอีกมากนัก ได้เรียนรู้ที่จะลดละอัตตาลง บรรดาทฤษฎีต่างๆ ประดามีที่เคยยึดถือว่ามีถูก-มีผิดชัดเจนก็เห็นความไม่เที่ยง (ของความจริงเชิงสมมติ/สมมติบัญญัติ) มากขึ้น

ประโยคเด็ดของอาจารย์คือ "เดี๋ยวนี้ดีจัง เวลามีคนมาขัดใจ ก็ได้มีโอกาสขัดใจตัวเอง" คนฟังออกจะงงๆ กับการเล่นคำของอาจารย์ ท่านอธิบายเพิ่มเติมว่า ก็เวลามีคนมาขัดใจเรา เราก็ได้ฝึกการมีสติรู้ตัว เมื่อรู้ตัวก็มีโอกาสขัดใจตัวเอง คือ ขัดความขุ่นข้องหมองมัวออกไปจากจิตใจ (ว๊าว! เสียงจากที่ประชุมอุทานเบาๆ)

ผมทั้งทึ่ง ทั้งซึ้งกับความงามของราชบัณฑิตท่านนี้ งามทั้งภายนอก งามทั้งภายใน เป็นความงามที่แผ่ความอบอุ่น ความร่มเย็นสบายๆ ออกมา

ขณะที่นั่งฟังด้วยความอิ่มเอิบอยู่นั้น เทียบเคียงความรู้สึกเหมือนกับอยู่ใกล้ๆใครไม่มีผิด รู้สึกเหมือนกับได้อยู่ใกล้ๆ ท่านอาจารย์ระพีนั่นเอง ทั้งคู่เหมือนกับข้าวที่ออกรวงเต็มแล้วน้อมลง ถ่อมตัว ให้ความสำคัญกับการเรียนรู้ภายใน (contemplative learning) อย่างชัดเจน ทำให้นึกถึงว่าสิ่งที่สองท่านนี้เชื่อและปฏิบัติก็เหมือนกัน พิสูจน์ได้ว่าปราชญ์ของแผ่นดินนั้นเจริญปัญญาไปในทิศทางเดียวกัน เรื่อง"เวลามีใครโกรธขัดใจยิ่งดีเลย ได้โอกาส 'ขัด' ใจของเรา คือขัดเอาความขุ่นข้องหมองใจออกไป" ก็คือเรื่องเดียวกันกับการที่คนอื่นมาทำให้ (หรือพยายามทำให้) เราเซ็ง แล้วเรามีสติรู้ตัว และมีปัญญารู้ทันว่ามีส่วนที่เป็นเรื่องของเราและไม่ใช่เรื่องของเรา
การที่เขาทำไม่ดีกับเรานั้นเป็นเรื่องของเขา เป็นปัญหาของเขา เรื่องของเราที่แท้จริงแล้ว คือการดูแลจิตใจตนเอง! หน้าที่ของเราแท้จริงคือการดูแลตนเองให้ดี! [ผมถึงบางอ้อทางสติและปัญญาอีกครั้ง!]

น่าเสียดายที่คนในสังคมส่วนใหญ่มักโทษ หรือโบ้ยปัญหาให้คนอื่นทั้งสิ้น วันไหนตื่นสายก็โทษคนที่บ้านว่าไม่ยอมปลุก คือถ้ามันลงตื่นสายไปแล้ว เซ็งหรือเกือบเซ็งไปแล้ว ก็น่าจะได้หยุดสักหน่อย พอให้มีสติแล้วคิดได้ว่า เขาลืมปลุกเราก็เรื่องของเขา เราอาจพยายามหาวิธีช่วยให้เขาไม่ลืมอีก แต่เรื่องสำคัญอยู่ที่เราจะจัดการกับความเซ็งหรือเกือบเซ็งตอนนั้นอย่างไรต่างหาก

ฝากใครทำงานอะไร แล้วเขาลืมทำให้เหมือนกันไม่มีผิด ใช่ล่ะ ... ถึงแม้เราจะมีอำนาจ "สั่ง" (หรือวาน) ให้ใครทำอะไรแล้วเขาลืมทำ เช่น วานแม่ให้ช่วยโทรศัพท์ สั่งแฟนให้ซื้อของ สั่งลูกให้ทำการบ้าน สั่งคนใช้รดน้ำต้นไม้ ถึงเวลาคนเหล่านั้นลืมทำ (ไม่ว่าจะลืมจริงหรือตั้งใจลืมก็ตาม!) ไม่มีประโยชน์ที่เราจะเสีย"ใจ" ใสๆของเราให้กับความโกรธหรือความเซ็ง อย่างไรซะมันก็เกิดขึ้นไปแล้ว สู้เอาสมองที่เคลียร์ๆคิดหาวิธีป้องกันไม่ให้มันเกิดขึ้นอีกดีกว่า

เวลาใครทำอะไรที่เขาไม่ควรทำ หรือไม่ได้ทำอะไรที่เขาควรทำนั้น พอเรากำลังจะก้าวเข้าสู่บรรยากาศมาคุ ที่สมองส่วนควบคุมความโกรธและเศร้า ที่เรียกว่า อะมิกดาลา (Amygdala) จะทำงานแล้ว ถ้ารู้จักเตือนตนเอง มีสติและมองให้เห็นว่าใครทำหรือไม่ทำอะไรนั้นเป็นเรื่องของเขา เรื่องของเราเรื่องหลักคือ การดูแลจิตใจ (หรือ "ขัด" ความขุ่นข้องหมองมัวออกจากจิตใจ) รับรองว่าโลกนี้จะสดใสขึ้นอีกเยอะ

วันๆ ไม่ต้องคอยกลุ้มนั่นกลุ้มนี่ เที่ยวปะ-ฉะ-ดะ กับเขาไปเรื่อย :-)

0 comments: