สติดี - มีสุข


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Work
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 6 พฤศจิกายน 2548


“นับวันการดำเนินชีวิตมีแต่จะเร่งเร็วขึ้นเรื่อยๆ” ปีเตอร์ รัสเซลล์ เขียนประโยคข้างต้นไว้ในหนังสือ “รู้ตื่นให้ทันการณ์” (แปลจาก Waking Up in Time) เขาบอกเล่าว่าชีวิตปัจจุบันของเราถูกเร่งให้ใช้เวลาในการทำงานต่างๆ น้อยลง เทคโนโลยีที่ได้ก้าวหน้าพัฒนาขึ้นแทนที่จะช่วยให้เราทำงานง่าย สะดวก และมีเวลาเหลือมากกว่าก่อน การณ์กลับเป็นว่าเราถูกคาดหวังให้ทำงานเสร็จเร็วกว่าเดิม เพราะมีเครื่องทุ่นแรงทุ่นเวลามากมาย ยิ่งไปกว่านั้น พวกเราคงรู้ดีว่า ไม่เฉพาะความเร่งที่เพิ่มขึ้น เรายังต้องทำงานให้เสร็จหลายอย่างในเวลาเดียวกันอีกด้วย

โลกการทำงานของเราตอนนี้ พนักงานในสำนักงานไม่ได้มีหน้าที่อย่างเดียวอีกต่อไป คงจะหาคนที่ทำงานจำเพาะอย่างเดียวได้น้อยมากครับ เช่น ทำงานพิมพ์ดีดอย่างเดียว โทรศัพท์นัดหมายประชุมอย่างเดียว ทุกคนจะต้องทำงานได้หลายอย่าง ยิ่งไปกว่านั้น หลายๆ คนมีปริมาณงานมากจนไม่สามารถจัดการให้เสร็จได้ทันกำหนด ชีวิตที่คล้ายได้อัพเกรดจาก DOS เป็น Windows แม้ดูดีขึ้น แต่ก็เสี่ยงกับเครื่องแฮงค์บ่อยๆ

ในช่วงแรกเมื่อมีหน้างานต้องรับผิดชอบจำนวนหนึ่ง เป็นการเปิดศึก ๒ ด้าน เรายังอาจพอรับมือได้ แม้ปริมาณงานเพิ่ม เรายังพอไหว แต่สักระยะผ่านไป หากหน้างานเพิ่มทวีจำนวน กลายเป็นศึก ๑๐ ด้าน ปริมาณก็ทวีคูณ แน่นอนว่าเราคงไม่สามารถทำให้ดีเท่าระดับเดิมไปให้ตลอดรอดฝั่งได้ หากงานไม่เรียบร้อยเหมือนก่อน ผลพลอยได้ที่อาจตามมาคือความเครียดและความทุกข์เกิดขึ้นกันถ้วนทั่วครับ ตื่นเช้าแต่ละวันบางคนอาจไม่อยากมาทำงาน พอมาถึงที่ทำงานก็ไม่รู้จะเริ่มทำอะไรก่อนดี ครั้นทำไม่เสร็จ ทำไม่ดีก็กลัวหัวหน้าตำหนิ ฯลฯ

สถานการณ์ลักษณะนี้เป็นปัญหาที่ศาสตร์ด้านการบริหารจัดการพยายามหาแนวทางวิธีการเพื่อให้ผลของงานราบรื่น องค์กรได้ประโยชน์ และพนักงานมีประสิทธิภาพ แนวทางส่วนหนึ่งอาจกลับมาจัดระบบงานให้ดี ฝึกอบรมพนักงานให้เลือกทำงานตามลำดับความสำคัญก่อนหลัง ดังเช่นการอบรมแนว Steven Covey คนเขียนหนังสือ "๗ อุปนิสัยสำหรับผู้ทรงประสิทธิผลอย่างยิ่ง" (Seven Habits of Highly Effective People) แนะนำให้ลูกทีมและหัวหน้าทีมคุยกันเพื่อกำหนดความคาดหวังและแบ่งงานในปริมาณที่เหมาะสม ทั้งหมดนี้ต่างพยายามแก้ปัญหาที่ตัวระบบกลไกและเทคนิคการทำงานครับ

แต่สิ่งหนึ่งในงานที่ไม่อาจละเลยมองข้าม คือความสุขจากการทำงาน หรือ Happiness@Work ซึ่งเป็นเรื่องภายในจิตใจเราเองครับ สภาวการณ์ที่เราเครียดจากการทำงาน รู้สึกเป็นทุกข์จากงานที่ไม่ได้ผลตามคาด หวาดหวั่นการถูกตามงานจากผู้บังคับบัญชา ความสุขจากการทำงานเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นมาจากตัวเราเอง วิธีที่ผมอยากจะแนะนำคือการ “เจริญสติ” ครับ

การเจริญสติ ไม่ได้หมายถึงการนั่งสมาธิหรือห้ามงีบหลับในเวลางานนะครับ แต่หมายถึงการรู้ตัวว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ รู้สึกตัวขณะที่กำลังทำงาน ความคิดและจิตใจอยู่กับสิ่งที่กำลังทำตรงหน้า ตัวอย่างเช่น คุณสมชายโทรศัพท์ติดต่องาน พูดสายจนจบแล้ว แต่กลับนึกขึ้นได้ว่าลืมพูดไปอีกเรื่อง ต้องโทรศัพท์กลับไปอีกหน ยิ่งไปกว่านั้น ระหว่างที่โทรศัพท์ก็ไม่รู้ตัวว่ากำลังถือหูด้วยมือข้างไหน กำลังอยู่ในอิริยาบถใด

การรู้ตัว รู้ตื่น มีสติ ทำให้เรามีความคิดที่แจ่มใส มีโอกาสพาตัวเองรอดจากอารมณ์เครียด กลับไปดูคุณสมชายอีกครั้งครับ คุณสมชายวุ่นวายกับงานทั้งวัน ระหว่างที่โทรศัพท์ก็พิมพ์งานคอมพิวเตอร์ไปด้วย ระหว่างที่ทำงานใจของเขาก็คิดโน่นคิดนี่ไม่ได้หยุดหย่อน บางทีนั่งอยู่ในท่าที่ทำให้ปวดหลัง บางทีก็วิตกกลัวงานไม่เสร็จพลอยทำให้ร่างจดหมายไม่ได้คิดไม่ออกเสียอีก

แต่หากคุณสมชายได้มีเวลาระหว่างวัน ช่วงไหนก็ได้ หยุดสักนิด ดูความรู้สึกของตัวเองว่ากำลังทำอะไร มีสติรู้ตัวขณะที่ทำงาน คุณสมชายอาจจะเห็นว่าก่อนหน้านี้ยุ่งทั้งงาน ยุ่งทั้งความคิด พอความนิ่งในใจมาถึง จิตใจก็เตรียมพร้อมรับงานแทนที่จะลนลาน งานที่กำลังทำก็มีคุณภาพมากขึ้น นอกจากจะดีต่องาน คนทำงานก็ “มีสุข” ครับ

การเจริญสติจะทำตอนไหนในระหว่างวันก็ได้ครับ ตัวอย่างเช่น ที่หมู่บ้านพลัม ประเทศฝรั่งเศส หรือสำนักสาขาทั่วโลก อันเป็นพุทธสถานนิกายเซ็น โดยท่านติช นัท ฮันห์ ที่นั่นเขาจะตีระฆังเป็นระยะตลอดวัน ใครที่ได้ยินเสียงระฆังนี้ จะต้องหยุดจากกิจกรรมที่ทำ และระลึกรู้สึกตัวว่าจิตใจกำลังคิดถึงอะไรอยู่ จดจ่ออยู่กับปัจจุบันหรือไม่ ถ้าใจกำลังกระวนกระวายเพราะคิดถึงเรื่องในวันพรุ่งนี้ ก็ให้กลับมาที่ปัจจุบันเวลานี้ ถ้าจิตใจกำลังลอยล่องนึกถึงเรื่องเมื่อวาน ก็ให้พาใจกลับมาอยู่กับปัจจุบันขณะนี้

เราเองก็ทำได้ครับ ลองหาสัญญาณอะไรก็ได้ที่เหมาะกับเราและงานของเราเอง เช่น ทุก ๑๓ นาฬิกาก่อนเริ่มงานภาคบ่าย ทุกๆ ต้นชั่วโมง หรือทุกครั้งเวลาเปิด/ปิดคอมพิวเตอร์ ลองให้เวลากับใจตัวเองได้เกิดสติสัก ๓ นาที หรือแม้แต่นาทีเดียวก็ยังดีน่ะ หยุดคิดถึงงานที่ยังเหลือ เลิกคิดถึงงานที่เคยทำผิดพลาด แต่เห็นงานตรงหน้า รู้ตัวว่ากำลังทำงานอะไรอยู่ จากนั้นก็ลงมือทำให้ดี ไม่มีความจำเป็นต้องไปห่วงงานที่ยังมาไม่ถึง คิดถึงไปก็ไม่สามารถเอาขึ้นมาทำได้ แถมงานที่กำลังทำก็ไม่ได้ผลดี เพราะจิตใจไม่ได้อยู่กับงานนี้เต็มร้อย เพียงเท่านี้ก็มีสุขได้ง่ายๆ ครับ เดี๋ยวนี้มือถือ ปาล์ม หรือพีดีเอบางรุ่น เขามีฟังก์ชันตั้งปลุกได้หลายๆ ครั้งในหนึ่งวัน ก็น่าใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สะดวกดีนะครับ

หรืออาจเริ่มด้วยเรื่องเล็กๆ อย่างเช่นโทรศัพท์ก็ได้ครับ ทุกครั้งที่เสียงโทรศัพท์ดัง ให้เราหยุดคิดจากงานบนจอคอมพิวเตอร์ หยุดจากงานบนหน้ากระดาษ และไม่ต้องรีบร้อนรับสาย ปล่อยให้เสียงโทรศัพท์ดังสัก ๓ ครั้ง ระหว่างนั้นเราก็กลับมารู้ตื่น ว่ามีเสียงโทรศัพท์เรียกแล้วนะ เกิดสติว่าเรากำลังจะพูดสายกับคนที่โทรมา หยุดคิดเรื่องงานอื่นไว้ก่อน ระหว่างสนทนาเราก็มีสติพร้อม ตั้งใจจะพูดแต่คำจริง อิงอ่อนหวาน ถูกแก่กาล ผสานไมตรี และมีประโยชน์ ได้ยินและเข้าใจสิ่งที่ปลายสายพูดมากขึ้นแน่นอน เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้เราสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพ และแน่นอน มีความสุขจากการทำงานมากขึ้นด้วย

เชิญชวนให้ลองปฏิบัติกันดูนะครับ Happiness@Work เกิดขึ้นได้เริ่มจากในใจเราเองครับ :-)

0 comments: