ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 19 มีนาคม 2549


นี่เป็นอีกหนึ่งในหลายๆครั้งที่ผมไม่แน่ใจว่าควรเรียกชื่อคอลัมน์นี้ว่า Happiness@Home หรือ Happiness@Work ดี เพราะสิ่งที่ทำให้ “อาจจะ” ทำให้เราไม่แฮปปี้นั้นมันแผ่กระจายไปทั้งที่บ้านและที่ทำงานครับ

ผลสำรวจภาคสนามของเอแบคโพลล์ เรื่อง “ผลกระทบของวิกฤติการณ์การเมืองปัจจุบันต่อความขัดแย้งของคนในครอบครัว” พบว่า เกือบทั้งหมดของกลุ่มตัวอย่าง คือ ร้อยละ ๙๕.๖ ระบุเหตุการณ์ทางการเมืองในช่วง ๓๐ วันที่ผ่านมาเป็นเรื่องที่สำคัญ โดยร้อยละ ๕๗.๖ หันมาติดตามข่าวสถานการณ์ทางการเมืองมากขึ้น ที่สำคัญทำให้เกิดความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในบ้านสูงถึงร้อยละ ๒๗.๗ ในขณะที่ผลวิจัยอีกชิ้นจากเอแบคโพลล์บอกว่าร้อยละ ๔๔.๙ ของกลุ่มตัวอย่างรู้สึกเครียดกับสถานการณ์การเมือง

ส่วนผลสำรวจจากโพลล์ของผมเอง (ที่ท่านไม่ควรนำไปอ้างอิงหรือตีความทางสถิติใดๆทั้งสิ้น) ที่ได้ทำมาตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา โดยการสังเกตแบบมีและไม่มีส่วนร่วม และการสุ่มสัมภาษณ์แบบเจาะลึกจากคนรู้จัก พบว่าเกือบทุกคนให้ความสนใจกับข่าวการบ้านการเมืองอย่างมาก และเกือบทั้งหมดมีเหตุให้ต้องปะทะสังสรรค์ทางความคิดระหว่างผู้ที่ไม่เห็นด้วยกับผู้ถูกสังเกตหรือสัมภาษณ์

เหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้นได้หลายรูปแบบและสถานการณ์ ไม่ว่าจะเป็นคู่หรือเป็นกลุ่ม ระหว่างคนในครอบครัว ระหว่างพ่อแม่ พี่ป้าน้าอา ญาติๆที่อยู่บ้านเดียวกันแท้ๆ แต่พอเห็นไม่ตรงกัน ก็พูดจากันไม่รู้เรื่อง หรือพาลไม่พูดกันเลย เพื่อนผมบางคนก็ล้มป่วยไม่สบาย สันนิษฐานว่าเกิดจากความเครียดและพักผ่อนไม่เพียงพอ หรืออาจเกิดในที่ทำงาน ระหว่างหัวหน้ากับลูกน้อง หรือระหว่างเพื่อนร่วมงานที่พลอยรู้สึกไม่ดีต่อกัน วันนี้เองก็ได้ยินว่าหมอที่โรงพยาบาลที่สนิทกันมากบอกกับอาจารย์หมอด้วยกันว่า “ขอเข้าห้องผ่าตัดก่อน เดี๋ยวจะออกมาเถียงต่อ”

ผู้ที่ต้องเดินทางสัญจรไปมาด้วยรถแท็กซี่ก็ลำบากใจ บรรยากาศในรถก็ดูอึมครึมไปหมด เพราะทั้งคนขับและผู้โดยสารต่างก็อึดอัด ไม่ไว้วางใจซึ่งกันและกัน

ไม่ว่าจะเป็นบนท้องถนนราชดำเนิน ถนนอื่นๆ หรือแม้แต่ information superhighway ก็ใช่ย่อย หากไปตามเว็บไซต์ต่างๆก็จะพบเห็นผู้คนทำร้ายกันด้วยวาจาผ่านกระทู้แรงๆอยู่มาก

แล้วเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานทางการเมืองแบบนี้จะมี Happiness@Home/Work ได้อย่างไร?

แท้ที่จริงตอนนี้บ้านเรารุ่มรวยทางปัญญา มีนักคิดนักเขียนหลายท่านที่น่าสนใจทั้งที่เป็นเพศบรรพชิตและฆราวาส ร่วมกันนำเสนอความคิดที่จะมีส่วนร่วมใน การสร้างสรรค์สังคมโดยใช้หลักคิดทางศาสนา (Socially Engaged Buddhism หรือ Socially Engaged Spirituality) ไม่ว่าจะเป็นหลวงพี่ไพศาล วิสาโล หลวงพี่ ว.วชิรเมธี อาจารย์สุลักษณ์ สิวลักษณ์ หรืองานแปลของหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ เป็นต้น

ต้นสัปดาห์หลวงพี่ ว.วชิรเมธี ได้นำเสนอ “คู่มือการเผชิญความขัดแย้ง (อารยวิวาทะ) อย่างสันติ” โดยเสนอว่าการดำเนินการต่างๆ ควรใช้ “สันติธรรม สันติวิธี สันติวาจา และสันติสุข” และหลักธรรมที่ควรเน้นคือ สันติ ขันติ เมตตา สุทธิ อหิงสา ปัญญา ปิยวาจา มัชฌิมาปฏิปทา และสติ

ส่วนหลวงพี่ไพศาล วิสาโล เครือข่ายพุทธิกา ก็เผยแพร่บทความ “อยู่กับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร ไม่ให้ทุกข์: วิถีแบบพุทธ” (ทั้งสองบทความหาอ่านได้จาก www.SpiritualHub.net) ซึ่งท่านอธิบายวิธีผ่อนคลายความเครียดที่เกิดขึ้นด้วยวิธีที่นำไปปฏิบัติได้จริงและง่ายๆ ๖ วิธี คือ

๑) เปิดใจกว้าง ไม่มองผู้ที่เห็นต่างจากเราเป็นศัตรู คนที่เขาเห็นไม่เหมือนกับเราไม่ใช่ว่าต้องเป็นคนไม่ดี สิ่งที่เขาเห็นเหมือนกับเราอาจมีมากกว่าสิ่งที่เขาเห็นต่างจากเราก็ได้ ผมเองนึกถึงคติธรรมของอาจารย์พุทธทาสที่ขึ้นว่า “จงทำกับเพื่อนมนุษย์ โดยคิดว่า ...” (เช่น เขาเป็นเพื่อนเกิด แก่ เจ็บ ตายของเรา ... เขาก็ตกอยู่ใต้อำนาจกิเลสเหมือนเรา ย่อมพลั้งเผลอเป็น เป็นต้น) ขึ้นมาทันที

๒) มองให้ไกล แล้วช่องว่างจะลดลง อย่าได้มองเห็นความขัดแย้งในเรื่องที่อยู่เบื้องหน้าว่าเป็นทั้งหมดของชีวิต ยิ่งบางคนเป็นสมาชิกในครอบครัวเดียวกับเรายังต้องอยู่ร่วมกับคนนั้นอีกนาน ให้คิดถึงความสัมพันธ์อันมีค่าของเราเอาไว้

๓) เอาคู่ตรงข้ามออกจากใจบ้าง ชีวิตเรายังมีเรื่องสำคัญอีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว การงาน สุขภาพและอื่นๆ อย่าปล่อยให้เรื่องราว ข่าวสารการเมือง ความบาดหมางบางเรื่อง มาครอบครองพื้นที่สมอง พื้นที่จิตใจของเราจนไม่เป็นอันจะทำอะไร

๔) แผ่เมตตาให้คู่ตรงข้ามบ้าง คนทั่วไปมักลืมว่าเวลาเราโกรธเกลียดใคร คนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงคนแรกคือเราเอง เพราะความรู้สึกเช่นนั้นจะเป็นผลลบต่อสุขภาพของเราในทุกมิติ วิธีที่ดีและตรงที่สุดคือใช้คุณธรรมที่เป็นคู่ตรงข้ามของโทสะ คือการมีจิตเมตตาให้กับทุกๆคน และที่ช่วยเราได้มากคือการฝึกเช่นนั้นกับคนที่เราไม่ชอบหรือไม่เห็นด้วย

๕) ผ่อนคลายด้วยลมหายใจ ลองฝึกไม่เป็นส่วนเดียวกับความรู้สึกลบๆ เครียดจัด หรืออึดอัด ด้วยการกลับมาอยู่กับตัวเอง วิธีที่ง่ายก็คือน้อมใจมาอยู่กับลมหายใจ นับทุกครั้งที่หายใจออก นับเริ่มจากหนึ่งถึงสิบ โดยจะทำกี่รอบก็ได้ หรือจะร้องเพลงแห่งสติของหมู่บ้านพลัมโดยหลวงปู่ติช นัท ฮันห์ที่ผมเคยเขียนถึงไปแล้วก็ได้

๖) พักผ่อนให้เต็มที่ สุขภาพกายเป็นพื้นฐานเกื้อหนุนสุขภาพใจ จิตวิญญาณ และสังคมที่ดีครับ

สิ่งสำคัญในข้อเสนอของท่านเหล่านี้ คือ การกระทำการที่เหมาะสม จากการมีโลกทัศน์เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียวของเราและโลก อันมีฐานจากการเจริญสติ

อย่าลืมนะครับว่า การจะมีประสบการณ์กับการว่างเว้นของทุกข์จากการเมือง (ลงไปบ้าง แม้บางขณะก็ยังดี) ไม่ได้เกิดจากการรู้จำ ท่องได้ จำได้ แต่เกิดจากการได้ลงมือปฏิบัติโดยตรง ลองทำกันดูนะครับ

หรือจะเอาไปเผื่อแผ่คนที่เขาไม่เห็นด้วยกับเราก็ยังได้ :-)

0 comments: