ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 9 เมษายน 2549


รถของผมซึ่งเคลื่อนที่ไปได้ด้วยความเร็วระดับเต่าวิ่งอยู่แล้ว แทบต้องลดเหลือระดับเต่าคลาน เพราะต้องขับผ่านผู้คนที่ออกมาร้องรำทำเพลงอยู่บนท้องถนน ทั้งหญิงทั้งชาย ทั้งหนุ่มทั้งสาว รวมไปถึงเด็กๆอีกด้วย ต่างออกมาโห่ร้องดีใจกับผลการเลือกตั้งที่ออกมาวันนี้ เปล่าครับ ผมไม่ได้หมายถึงผลการเลือกตั้งที่ผ่านมาของบ้านเรา แต่เป็นการเลือกตั้งท้องถิ่นของอินเดียครับ ผมเขียนต้นฉบับนี้ขณะอยู่ที่พุทธคยา ดินแดนที่พระพุทธเจ้าประสูติ

ผมทำใจอยู่นานพอควรที่จะไม่ได้อยู่เลือกตั้งครั้งสำคัญ ท่ามกลางความผันผวนทางการเมือง เพราะต้องเดินทางมาเป็นวิทยากรให้กับกับยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งได้รับปากไว้นานแล้ว

ประสบการณ์และข้อคิดดีๆ จากการตามรอยพระศาสดาผ่านสังเวชนียสถานทั้งสี่แห่ง คือ ลุมพินี คยา สารนาถ และกุสินารา จะทยอยเล่าให้ฟังตามโอกาสอันควรนะครับ ส่วนวันนี้ขอขี่กระแสการเมือง ยื่นข้อเสนอกับเขาบ้าง

ผมขอเสนอให้ทุกท่าน “วางใจทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข” ครับ! (ส่วนใครจะให้ใครวางมือหรือวางอะไรก็ตามก็เป็นเรื่องของท่านนะครับ) เพราะจะว่าไปแล้วจากมุมมองหนึ่ง ทุกคนมีทางเลือกในการมีส่วนร่วมทางการเมืองอยู่สองทางหลักๆ คือ มีส่วนร่วมแบบไม่มีทุกข์ และมีส่วนร่วมแบบมีทุกข์ หากท่านปรารถนาจะมีส่วนร่วมแบบไม่มีทุกข์ ก็แนะนำให้ท่าน “วางใจทางการเมืองอย่างไม่มีเงื่อนไข” ครับ

คนเรามีส่วนร่วมทางการเมืองแบบมีทุกข์ก็เพราะเราไป “อยาก” ให้มันเป็นอย่างที่เราอยากให้มันเป็น แต่เรื่องการเมืองหลายท่านว่าเหมือนลูกบอลกลมๆครับ ไม่รู้มันจะกลิ้งไปทางไหน หลายครั้งมันผลมันก็ออกมาไม่ค่อยตรงกับที่เรา “อยาก” ซะเท่าไหร่

แต่ถ้าเรามีส่วนร่วมทางการเมือง ตามที่เราเห็นว่า “ควร” ทำ โดยทำกิจต่างๆที่เราควรทำให้ดีที่สุด แล้วก็ปล่อยให้ที่เหลือเป็นเรื่องของธรรมจัดสรร เราก็จะมีความสุขได้โดยไม่ยาก ยิ่งถ้าเชื่อตามแนววิทยาศาสตร์ใหม่ว่า “ไม่มีเหตุบังเอิญในจักรวาล” เราก็เชื่อได้ว่าผลของมันย่อมออกมาตามที่ “ควร” ตามเหตุและปัจจัยแน่นอน ไม่มีทางไปมีผลเป็นเช่นอื่นเลย

ผมมีเพื่อนที่ทั้งไม่สนใจการเมืองโดยสิ้นเชิง เรียกว่าฟ้าจะถล่มดินจะทลายทางการเมืองฉันก็ไม่สนใจ กับเพื่อนทั้งที่หายใจเข้าหายใจออกเป็นการเมือง นั่งเช็คอินเตอร์เนทวันละหลายๆรอบ

ในบรรดาพวกที่สนใจการเมืองนั้นมีตัวอย่างที่น่าประทับใจหลายคนครับ เพื่อนสาวคนหนึ่งเธอสนใจการเมืองมาก เป็นนักข่าวเก่า แต่ช่วงที่ผ่านมาเธอไม่ค่อยได้ไปร่วมประชุมหรือชุมนุมอะไรกับเขาหรอก เธอว่าเธอต้องดูแลแม่ที่ไม่ค่อยสบายและมีกิจสำคัญหลายอย่างที่ต้องดูแล ผมก็เชื่อว่าคงจะจริง ไม่เช่นนั้นคอการเมืองอย่างเธอมีหรือจะพลาด ผมแอบดีใจในการวางใจของเธอ เธอดูมีความสุขดี ผมรู้เธออยากมีส่วนร่วมมากกว่านี้ และร่วมภาวนาให้สถานการณ์ดีขึ้น แต่ความเป็นจริงทำให้เธอทำได้เท่าที่ได้ทำแบบอยู่เบื้องหลังไปก่อน

ส่วนเพื่อนอีกคนไปร่วมชุมนุมอยู่ทุกบ่อย เรียกว่าเกือบจะทุกคืนก็ว่าได้ รายนี้ก็มีความสุขดี ไม่ว่าสถานการณ์จะขึ้นหรือลง (เพราะบางทีเซียนมวยอ่านดูก็ว่ามันขึ้นลง ชิงความได้เปรียบกันรายวันจริงๆ) เขาบอกว่า “ชนะแล้ว ชนะทุกวันเลย” เขาเชื่อว่าการไปร่วมกิจกรรมของเขาทำให้สังคมดีขึ้น โดยตัวของมันเอง

ผมว่าทั้งสองเป็นตัวอย่างของคนที่ “วางใจ” ทางการเมืองได้ดีมากทีเดียว (ซึ่งอาจแปลได้ว่าน่าจะวางใจกับชีวิตได้ดีด้วยก็เป็นได้) แต่เรื่องอย่างนี้ไม่ได้มามือเปล่าครับ เชื่อว่ากว่าจะทำได้ก็ต้องทำการบ้านกันอยู่นานพอสมควร

ทั้งสองคนเป็นเหตุให้ผมได้คิดว่า เราควรมีทีท่ากับการมีส่วนร่วมทางการเมืองของเราอย่างไร ผมจึงใจสบายและสบายใจกับการเดินทาง แถมยังได้บวชใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ ทำบุญให้ประเทศอีกด้วย

จาริกอินเดียรอบนี้ยังได้ไปเยี่ยมคารวะราชฆาต สถานที่เผาศพบิดาของประเทศอินเดีย คือ ท่านมหาตมะคานธี ผู้เป็นเสาหลักทางความคิดด้านอหิงสธรรม และการดื้อแพ่ง (Civil Disobedience) ที่อาจารย์ชัยวัฒน์ สถาอานันท์ นำมาเรียกใหม่อย่างน่าฟังว่า “อารยะขัดขืน” อันเป็นกระบวนการที่น่าจะทำให้ความสุขมวลรวมประชาชาติของคนไทยสูงขึ้น เนื่องจากเอาไปยึดโยงกับสำนึกแห่งความยุติธรรม

คำพูดของคานธีที่คนมักกล่าวขานถึงคือ “โลกมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับความจำเป็นของทุกๆคน แต่ไม่พอสำหรับของความโลภของคนๆเดียว”

แต่ที่ผมอยากจะพูดถึงคือการที่คานธีให้ความสำคัญกับกระบวนการเป็นอย่างมาก คานธีบอกว่ากระบวนการนั้นสำคัญพอๆกับเป้าหมาย โดยนัยหนึ่งสำคัญกว่าด้วย เพราะเป็นสิ่งที่เราควบคุมได้ เราจะไม่สามารถคุมเป้าหมายได้เลยหากเราไม่สามารถคุมกระบวนการได้

ดังนั้น สิ่งที่เราควรทำคือ อย่าไปสร้างเงื่อนไขความสุขของเรากับผล ที่ไม่ได้อยู่ในปัจจุบัน ให้ทำทุกสิ่งที่เราคิดว่าควร แล้วก็พอใจกับมัน

ส่วนสิ่งที่คิดว่าควรนั้นเป็นอย่างไร ก็มีผู้รู้หลายท่านมานำเสนอไว้มากมายอยู่แล้ว เช่น ท่านอาจารย์ประเวศ วะสี ที่สอนว่าหลักนั้นอยู่ที่การใช้ สัจจะ สันติ อหิงสา ปัญญา และมัชฌิมาปฏิปทา เป็นต้น

การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองหลายครั้งไม่ได้ใช้ระยะเวลาเพียงสั้นๆ เราไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดผลดังที่เราคาดหรือไม่ หรือเกิดเมื่อไหร่ หากแต่เราสามารถบอกได้ว่าเราจะขับเคลื่อนด้วยกระบวนการอย่างไร

นอกจากนี้ ไม่มีความจำเป็นจะต้องเร่งรีบ รวบรัด ตัดกระบวนการไปหาคำตอบเร็วเกินไปด้วย ถ้าเราเข้าใจเรื่องทฤษฎีไร้ระเบียบก็จะทราบว่าก่อนที่ระบบหนึ่งๆจะเปลี่ยนแปลงไปสู่คุณภาพใหม่จะต้องใช้พลังจำนวนมาก อาจต้องมีการสั่นไหวของระบบอย่างเพียงพอ เช่นการที่แม่จะคลอดลูกนั้น ฮอร์โมน สารเคมี อัตราการหายใจ เมตาบอลิซึ่มต่างๆ ต้องเปลี่ยนแปลงจากค่าปกติอย่างมาก ทั้งแม่และลูกต้องเสี่ยงชีวิต กว่าจะนำมาซึ่งความมหัศจรรย์ของชีวิตใหม่ เป็นไปได้หรือไม่ว่าการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองก็อาจเป็นเช่นนี้ด้วย

ดังนั้น ขอให้เราทุกคนวางใจทางการเมืองอย่างไม่เงื่อนไข และอย่าลืมนะครับว่า เราทุกคนมีศักยภาพที่จะมีความสุขกับการมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ และได้ทุกวันเสียด้วยสิ! :-)

0 comments: