ไม่ถูก ไม่ผิด


ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 23 เมษายน 2549


ช่วงนี้ได้ยินแต่เรื่องโอเน็ต-เอเน็ต วนไปเวียนมาอยู่กับเรื่องคำถาม-คำตอบ ปรนัย-อัตนัย เป็นที่น่าปวดเศียรแทนทั้งคนสอบและคนตรวจ ผมเองก็ต้องออกข้อสอบอยู่ทุกเทอมและชอบออกเป็นอัตนัยมากกว่า แต่ถ้าเป็นปรนัยแล้วโดยส่วนตัวคิดว่าแบบหลายตัวเลือก ก-ข-ค-ง ทำง่ายกว่า แม้ว่าออกข้อสอบยากกว่าก็ตาม

แต่บรรดานักศึกษาก็ไม่ได้เห็นด้วยเหมือนกับผมเสมอไป หลายคนชอบแบบสองตัวเลือก คือ ถูก-ผิด มากกว่า ด้วยว่าข้อสอบแบบถูกผิดนั้นมีโอกาสตอบถูกถึงครึ่งหนึ่ง ผู้ตอบเองก็ตัดสินใจได้ง่าย ขณะที่ข้อสอบให้เลือกตอบแบบ ๔ ข้อ การตัดสินใจหรือเดาสุ่มก็มีทำได้ยากขึ้น โอกาสจะตอบถูกก็น้อยลง

สิ่งที่เหมือนกันของข้อสอบทั้งสองแบบคือคำถามต้องมีความชัดเจน ในกรณีแบบถูกผิด คำตอบที่ได้นั้นมีเพียงหนึ่ง ส่วนกรณีแบบสี่ตัวเลือก อาจมีคำตอบได้มากกว่าทางเดียว โดยรวมอยู่ในตัวเลือกจำพวก ถูกเฉพาะข้อ ก, เฉพาะข้อ ข, ถูกทุกข้อ หรือไม่มีข้อใดถูกเลย ข้อสอบทั้งสองแบบจะเปิดให้ผู้สอบตีความได้ในขอบเขตจำกัด ตามเงื่อนไขที่ได้ตั้งคำถามไว้ แต่จะไม่สามารถใช้ได้เลย หากต้องการทราบว่าผู้สอบมีทัศนะอย่างไร มีกระบวนลำดับวิธีการคิดอย่างไรบ้าง

ในชีวิตประจำวันของเราจะที่บ้านหรือในที่ทำงาน ถ้ามีเรื่องหรือปัญหาให้คิดตัดสินใจอันเข้าข่ายเหมือนข้อสอบถูกผิดแล้วล่ะก็ เรามักไม่เสียเวลาในการคิดหรือตัดสินใจนาน เช่น จะทานก๋วยเตี๋ยวหรือเปล่า จะดื่มกาแฟไหม เอกสารการเงินฉบับนี้ถูกต้องใช้ได้หรือใช้ไม่ได้

การตัดสินใจแบบเลือกว่าถูกหรือผิดจึงง่ายและสะดวก อาจจะง่ายไปจนบางครั้งเรารับเอาวิธีคิด “ถูก-ผิด” ไปใช้ในชีวิตแต่ละวันของเรามากจนเกินไป

ตัวอย่างเช่น ในช่วงที่ผ่านมา หลายคนได้รับคำถามเกี่ยวกับการเมืองที่ว่าคิดเห็นอย่างไรกับสถานการณ์บ้านเมือง เมื่อได้รับคำตอบบอกว่าไม่สนับสนุนคุณทักษิณ คำถามที่ตามมาติดๆ ก็กลายเป็นว่าอีกฝ่ายไม่เห็นจะดีตรงไหน เรียกได้ว่าถ้าไม่สนิทสนมและมีเวลาคุยกันอย่างเพียงพอ เราก็จะไม่รู้เลยว่าจริงๆ แล้วเขาคิดเห็นกันอย่างไรแน่

ครับ เรื่องราวส่วนใหญ่ในชีวิตเราไม่สามารถจัดวางเป็นสองด้าน แค่ถูกหรือผิด เท่านั้นครับ

หากยังจำกันได้ ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิลยู บุช แห่งสหรัฐอเมริกาเคยกล่าวไว้สองเดือนหลังจากเกิดเหตุถล่มอาคารเวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ ว่า “You are either with us or against us.” แปลได้ความว่า “ถ้าคุณไม่ใช่พวกเรา ก็ต้องเป็นฝ่ายตรงข้าม (ผู้ก่อการร้าย)” ฟังดูเด็ดขาดดีใช่ไหมครับ แต่อืมม์ คิดดูดีๆ แล้ว ตรรกะแบบนี้ก็มีกับเขาด้วยแฮะ แถมเป็นที่ยอมรับกันอีกแน่ะ เพราะลองนึกถึงตัวเราเองก็ได้ว่าเราก็ใช่ว่าจะเห็นดีเห็นงามตามอเมริกาต่อปฏิบัติการในอิรักทั้งหมด ในทางกลับกัน เราแน่ใจว่าเราไม่ใช่ฝ่ายของผู้ก่อการร้ายแน่นอน

การคิดอะไรให้จำกัดเหลือเพียงสองด้าน “ถูก-ผิด” นั้น เรียกได้ว่าเป็นการตกอยู่ในบ่วงครับ และคนเรามักจะตกบ่วงนี้บ่อยเสียด้วย

เหตุที่วิธีคิดแบบนี้เป็นบ่วง เพราะมันมีสภาพที่บีบคั้นบังคับ ย้อนกลับไปยังตัวอย่างคำถามเรื่องการเมือง หรือคำกล่าวของบุชก็ได้ เหตุที่เป็นบ่วงเพราะเมื่อเราเชื่อว่าถูก ทุกเรื่องก็ถูกไปทั้งหมด เมื่อคิดว่าผิด ก็ถือว่าผิดไปทั้งสิ้น ไม่ได้เผื่อทางเดินให้กับความคิด ไม่ได้เผื่อทางเลือกอื่นๆ ให้กับชีวิต

กลับไปที่ตัวอย่างเรื่องคุณทักษิณ เราพบเห็นการคิดแบบถูก-ผิดมากมาย เราเห็นบางคนรักคุณทักษิณจนหมดหัวใจ ตอนเว้นวรรค มีคนร้องห่มร้องไห้กันหลายคน ซึ่งผมก็เชื่อว่ามีเช่นนั้นจริงๆ (ไม่นับพวกเล่นปาหี่) ส่วนบางคนก็เกลียดคุณทักษิณจนหมดหัวใจเหมือนกัน ตอนขึ้นเวทีปราศรัยก็โจมตีเสียราวกับว่าไม่มีดีอะไรเลย นี่แหละครับที่ว่าเหมาถูกเหมาผิดไปทั้งหมด

วิธีคิดถูก-ผิดนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากระบบการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ตะวันตกเดิม ที่ทำให้เรามองความจริงแบบแยกส่วน เห็นแต่เพียงส่วนเสี้ยวของความจริง วิทยาศาสตร์ทำให้เราชี้ชัด ตัดสิน ในขณะที่วิทยาศาสตร์ใหม่ หรือทฤษฎีควอนตัม บอกว่าบางสิ่ง เช่น อนุภาคแสง มีคุณสมบัติเป็นสองสิ่งในเวลาเดียวกันได้ คือ เป็นทั้งสสารและพลังงาน ขึ้นอยู่กับผู้สังเกตและวิธีการสังเกต

ในทางพระพุทธศาสนา ยกตัวอย่างชาณุสโสณีสูตร ในพระไตรปิฎก พราหมณ์ชาณุสโสณี ถามพระพุทธเจ้าว่า สิ่งทั้งปวงมีอยู่จริงหรือ? พระพุทธเจ้าบอกว่า พูดเช่นนี้ก็เป็นส่วนสุดอย่างหนึ่ง พอพราหมณ์ถามอีกว่า ถ้าเช่นนั้นสิ่งต่างๆก็ไม่มีอยู่จริงน่ะสิ พระพุทธเจ้าตอบว่า พูดเช่นนี้ก็เป็นส่วนสุดอย่างหนึ่งเหมือนกัน แล้วสอนว่า “ตถาคตไม่เข้าใกล้ส่วนสุดทั้งสอง ตถาคตจะสอนทางสายกลาง เพราะสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงมี ... เพราะสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงไม่มี” ท่านยังสอนอีกด้วยว่า “ส่วนสุดทั้งสอง ภิกษุไม่ควรเสพ” (เทฺวเม ภิกฺขเว อนฺตา)

ด้วยว่าปรากฏการณ์หรือปัญหาต่างๆ เป็นกระแสของความต่อเนื่อง ของเหตุปัจจัยต่างๆ ไม่มีอะไรที่มันมี มันเป็น โดยตัวของมันเอง ลอยๆ โดดๆ ไม่เกี่ยวข้องกับอะไรอย่างอื่น ทางสายกลางจึงเป็นสิ่งที่ควรตระหนักและฝึกคิด ฝึกปฏิบัติไว้เสมอๆ

แต่ที่สำคัญทางสายกลางไม่ได้แปลว่าเฉลี่ย หรืออยู่มันตรงกลางๆ ระหว่างถูกกับผิด หรือขาวกับดำ หรือการไม่ตัดสินใจแล้วเพิกเฉย (ซึ่งก็คือตัดสินแล้วว่าจะเพิกเฉย) นะครับ

ดังนั้นถ้าย้อนไปหากรณีปัญหาทางการเมืองนั้น ฝ่ายที่เรียกร้องให้มีการตรวจสอบก็ควรจะสามารถทำได้โดยไม่ต้องมีความโกรธ-เกลียด ทางฝ่ายรัฐบาลรักษาการที่พูดเสมอว่ายึดมั่นในความถูกต้องก็ควรให้มีการทำความจริงให้ปรากฏโดยไม่ต้องมีความโกรธ-เกลียดเช่นกัน

ชักชวนให้เรามองอะไรให้มีทางเลือกมากขึ้น แทนที่จะมองและถามตนเองว่ามันเป็นเรื่องถูกหรือผิดเท่านั้น ก็อาจถามว่ามัน “ถูก - ผิด - ไม่ถูกไม่ผิด - ทั้งถูกทั้งผิด”

เวลาต้องตัดสินใจเลือกอะไร แล้วตัดสินใจไม่ได้สักที ทำนองรักพี่เสียดายน้อง ก็ทำให้ได้คิด (เลยอาจคิดได้) ว่าบางทีมันก็ไม่ได้เสียหายอะไรหรอก เลือกไปอย่างหนึ่งโลกมันก็เป็นไปแบบที่เราเลือกทางนั้น เลือกอีกอย่างโลกมันก็เป็นไปอีกอย่าง และวิถีแต่ละอย่างก็อาจไม่สามารถบอกได้ตรงๆว่าถูกหรือผิดทั้งหมด

ปลดปล่อยตัวของเราออกจากความบีบคั้นของบ่วง “ถูก-ผิด” แล้วชีวิตเราจะมีความสุขขึ้นแน่นอนครับ :-)

0 comments: