ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2550
แหม ... ใกล้เทศกาลวาเลนไทน์ มาตั้งชื่อบทความแบบนี้ หลายคนอาจคิดว่ากำลังจะเล่าเรื่อง “ชาวโฮโม” โดยเฉพาะ เปล่าครับ เรื่องนี้เกี่ยวข้องกับทั้งชาวรักร่วมเพศและชาวรักไม่ร่วมเพศ (ฮา) นะครับ
เรื่องมีอยู่ว่า เมื่อเร็วๆ นี้ผมได้มีโอกาสเข้าอบรม ทรานฟอร์เมชั่นเกม (The Transformation Game) ซึ่งเป็นเกมที่คิดค้นและพัฒนาขึ้นโดยมูลนิธิฟินด์ฮอร์น (Findhorn Foundation) ตั้งอยู่ในชุมชนชื่อเดียวกัน ทางตะวันออกเฉียงเหนือของสกอตแลนด์ ที่ทำงานบนพื้นฐานของการดูแลและการก่อประกอบโลกร่วมกับธรรมชาติ
กิจกรรมเปิดโอกาสให้เราได้รู้จักตนเองและเพื่อนร่วมการอบรมอย่างลึกซึ้ง อันเป็นก้าวแรกของการยอมรับและความสามารถที่จะเปลี่ยนแปลงตนเองโดยพื้นฐาน ขึ้นสู่ภาวะ สภาพ หรือคุณภาพใหม่ที่เราปรารถนา
พวกเราได้เรียนรู้เกี่ยวกับตัวเรา ทั้งในส่วนที่เป็นเหมือนเพื่อนเก่าเรารู้จักดี ส่วนที่เป็นคนรู้จักใหม่ที่ไม่คุ้นเคย หรือแม้กระทั่งส่วนที่คล้ายคนที่เราเหม็นขี้หน้ายากจะยอมรับว่าเป็นส่วนหนึ่งของเรา แต่ละคนได้รับโอกาสให้ทำการบ้านแก้โจทย์ชีวิตเท่าที่ตนเองยินดีและยินยอมพร้อมใจ
ด้วยความที่เราเป็นกลุ่มที่สนใจเรื่องการพัฒนาอย่างเป็นองค์รวม (หรือจิตตปัญญาศึกษา) จึงมีคนสนใจโจทย์การปฏิบัติภาวนา การค้นหาและก้าวข้ามอุปสรรคต่อการมีสันติในเรือนใจ หรือการเข้าสู่สภาวะศิโรราบอย่างสมบูรณ์ (total surrender) แต่ก็มีหลายคนที่สนใจเรื่องความรักและความสัมพันธ์ ไม่ว่าจะกับตนเอง กับเพื่อนร่วมงาน กับครอบครัว พ่อแม่ สามีภรรยา หรือกับลูกๆ กับคนที่เราแคร์เขา หรือคนที่เขาแคร์เรา รวมไปถึงความสัมพันธ์ต่อภาวะหรือสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่าเรา ไม่ว่าจะเรียกว่าพระเจ้า เทพ หรือกฎแห่งธรรมชาติก็ตาม
เราพบว่าหลายครั้งที่เราติดแหง็ก ติดหนึบอยู่กับปัญหา เพราะไม่ให้อภัยตนเอง เกลียดตนเอง รับตนเองไม่ได้เพราะรักตนเองไม่ได้ หรือรักตนเองไม่ได้เพราะรับตนเองไม่ได้ บ่อยครั้งเราไม่สามารถยอมรับตนเองได้ที่ตัดสินใจอะไรบางอย่างในอดีตที่ไม่ถูกต้อง ทำให้เป็นปมที่คอยดึงความสนใจและทำให้เราสูญเสียพลังที่จะใส่ใจกับเรื่องที่สำคัญจริงๆ ต่อชีวิตของเรา
ผมเองนั้นเชื่อพันเปอร์เซ็นต์ว่ามนุษย์ทุกคน ... ไม่เว้นแม้แต่คนเดียว เลือกสิ่งที่ตนเองคิดว่าเหมาะที่สุด ดีที่สุด สำหรับตัวเขา ณ ขณะที่ตัดสินใจเสมอ ทุกครั้ง ... ไม่เว้นแม้แต่ครั้งเดียว
นักสังคมศาสตร์ โดยเฉพาะนักเศรษฐศาสตร์อาจบอกว่าคล้ายคลึงกับแนวคิด Homo economicus ของพาเรโต นักสังคมและปรัชญาชาวอิตาเลียน ที่ว่ามนุษย์จะทำสิ่งที่มีผลให้ตนเองได้รับสวัสดิภาพหรือความพอใจสูงสุด บนพื้นฐานข้อมูลเกี่ยวกับโอกาสและข้อจำกัดต่างๆ ของความสามารถของตนเองที่จะบรรลุเป้าหมายนั้นๆ แนวคิดนี้เชื่อว่ามนุษย์ “มีเหตุมีผล” ในแง่ว่าจะเลือกทางไปถึงจุดหมาย ณ เวลานั้นๆ ได้ง่ายที่สุด แต่ก็มีนักสังคมศาสตร์หลายคนว่ามนุษย์เราไม่ได้ตัดสินใจอย่างที่อยากทำ โดยใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง โดยเจตจำนงอิสระเสมอไป เพราะยังมีแรงกดดันจากสังคม เช่นค่านิยมต่างๆ จึงเสนอว่าเราเป็น Homo sociologicus ต่างหาก อืมม์ ก็คิดต่อกันไปได้เรื่อยๆ นะครับ
จริงไหมครับที่ว่า เราตัดสินใจเลือกสิ่งที่เราเข้าใจ/เชื่อ/คิดว่าดีที่สุดสำหรับเรา ณ เวลาหนึ่งๆ เสมอ ถ้าไม่เชื่อลองนึกว่ามีครั้งไหนไหมที่ท่านเลือกทางที่ดีเป็นอันดับสองแทนที่จะเลือกทางที่ดีที่สุด? แม้กระทั่งสถานการณ์ที่เราแอบหรือนึกได้มาเปลี่ยนใจเลือกอีกอย่างหนึ่งในวินาทีสุดท้าย ไอ้ที่เราได้ตกลงปลงใจเลือกไปก็เพราะตอนนั้นเราคิดว่ามันดีที่สุดแล้ว
แน่นอน ใช่ว่าเลือกแล้วจะได้ผลที่เราคิดว่าดีที่สุดต่อเราเสมอไป ไม่ว่าจะเป็นต่อสุขภาพ ต่อสถานภาพทางการเงิน หรือต่อความสัมพันธ์ของเรา
มีประโยชน์อะไรที่เราจะไปติดอยู่กับอดีต คร่ำครวญ พิรี้พิไรรำพึงรำพันว่าโธ่ถัง รู้งี้ไม่ตัดสินใจทำอย่างนั้นดอก เพราะเราย้อนอดีตไปไม่ได้ และถึงย้อนไปได้เป็นคนเดิม ในสถานการณ์เดิม เราก็ยังจะเลือกอย่างเดิมอีกแหละ เพราะมันดีที่สุดแล้วตอนนั้น (นี่หว่า)
“ได้คิด” ดังนี้ พวกเราหลายคนที่ร่วมกิจกรรมก็ “คิดได้” และปลดปล่อยตนเองจากพันธนาการของการตัดสินใจที่ “คิดว่า” ผิดพลาดในอดีต และยกโทษให้ตนเอง จะบอกว่ายกโทษหรือให้อภัยตนเองก็คงจะไม่ถูกต้องนัก เพราะพอเรารู้ว่าเราได้ทำดีที่สุดแล้วตอนนั้น กลับไปอีก ก็ทำอย่างนั้นอีก เราก็เลิก “กล่าวโทษ” ตัวเราในอดีต จึงไม่ต้อง “ยกโทษ” ให้ใครเหมือนกัน และสามารถหันมาให้ความสำคัญกับสิ่งเดียวที่สำคัญที่สุด คือ ปัจจุบันขณะ
พอเราออกจากจองจำของอดีตได้ เราก็มีดวงตาที่แจ่มใสขึ้น สามารถมองเห็นโอกาสในการจัดการเลือกสิ่งที่ดีที่สุดสำหรับตนเองในปัจจุบันได้ โดยไม่ต้องไปเสียเวลามะงุมมะงาหรากับเรื่องของอดีต
บอกตัวเองว่าวาเลนไทน์นี้จะเริ่มเชื่อมั่นในตัวของเรา รักตัวเองให้เป็น อันจะทำให้รักคนอื่นๆ ได้ดียิ่งขึ้น สมกับเป็นมนุษย์ผู้มีปัญญา เพราะเราต่างก็เป็น โฮโมเซเปียนส์ (Homo sapiens) อันแปลตามอักษรว่า มนุษย์ผู้ฉลาด ด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าเราจะเชื่อหรือเป็นโฮโม อีโคโนมิคัส, โฮโม โซซิโอโลจิคัส หรือโฮโมอะไรก็แล้วแต่ :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
1 comments:
คิก..คิก.. คิดถึงวันนั้นที่ "รักตัวเองไม่เป็น"กัน แล้วก็รู้สึกขำๆ แต่วันนั้นเสียน้ำตาและทิชชูกันไปหลายตับอยู่นะ :-)
ได้ยินเสียงตัวเองตัดสินตัวเองมากๆ ก็จากวันนั้น และขอบคุณที่มี "กัลยาณมิตร" คนนี้เตือนให้ได้คิดว่า สิ่งที่เราทำไปแล้ว ก็ดีที่สุดสำหรับวันนั้น
ได้คิดอย่างนี้อีกที วันที่ไป dialogue กับตัวเองกลางป่าที่สบลาน ตอน vision quest เห็นน้ำไหลผ่านแก่ง ผ่านหิน และตกลงไปเป็นน้ำตกสูงชัน เห็นการ surrender ของสายน้ำ และได้ยินเสียงสายน้ำเรียกเราให้ free fall ไปกับชีวิตบ้าง
มันก็ไม่ถูกไม่มีผิดหรอก ณ ช่วงเวลาหนึ่งก็ต้องเป็นอย่างหนึ่ง มันก็เป็นของมันอย่างนั้นเองล่ะ..
we are loveable, we are cared for, we deserve happiness :-)
เอาไปแต่งเพลงมาร์ชกลุ่มดีมั้ยนี่
Post a Comment