เพ้อฝัน















ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ ฉบับประจำวันที่ 11 ตุลาคม 2552

เหมือนขึ้นรถไฟเหาะทางอารมณ์

จากใบประเมินที่ผมให้นักศึกษาปีหนึ่ง มหิดล หลายคณะ เขียนสะท้อน “อะไรก็ได้” โดยที่ไม่ต้องลงชื่อและไม่มีผลต่อคะแนน หลังจากจบชั่วโมงบรรยาย ๑๒ ชั่วโมงของวิชาชีววิทยาเบื้องต้น

“ไม่ทราบเหมือนกันว่าจะเขียนอะไรที่จะแทนความประทับใจ ความขอบคุณให้แก่อาจารย์ ... ไม่รู้จะพูดอย่างไรดี ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณ ขอบคุณครับที่มอบทางสว่าง ไม่สิ ขอบคุณที่ทำให้ผมเห็นจุดหมาย ก่อนมาที่นี่ ผู้คนมากมายถามผมว่ามาเรียนคณะวิทยาศาสตร์แล้วจะทำอาชีพอะไร ก็ตอบไปก่อนว่าเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัย แต่ในใจน่ะหรอ ไม่เลย ไม่รู้เลยจริงๆ” (อรรถพล อ.)

“เริ่มรู้สึกว่าการเรียนมหาลัยไม่ใช่เพื่อเป็นที่ 1 คณะ หรือได้คะแนนเกินมีนมาเยอะๆ แต่มันประกอบด้วยการมีศีลธรรม รู้จักผิดชอบชั่วดี รู้จักธรรมชาติ รู้จักการเอาใจใส่คนรอบข้าง เกรดก็สำคัญ แต่เกรดไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต มีอะไรให้ชีวิตเราค้นหามากกว่านั้น มันคือความสุขของชีวิต เมื่อเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ ไม่ต้องสนใจว่าสาขานี้เป็นสาขาที่ต้องการ มีรายได้ดี ขอบคุณอาจารย์มากๆ ครับที่สอนแนวคิดดีๆ ที่หาไม่ได้จากที่อื่นให้ผมครับ” (จิรพงศ์ บ.)

เมื่อเราเปิดพื้นที่ให้กับอารมณ์ ความรู้สึก ความเชื่อ และความรัก พลันสิ่งที่ปรากฏขึ้นในห้องเรียนอย่างเรียบง่ายและงดงามก็คือ ความเป็นมนุษย์ อันเรียบง่ายและงดงามเช่นเดียวกัน

นักศึกษาแบ่งปันบางส่วนของชีวิตที่มีทั้งความสุข ตื่นเต้น ในการเรียนรู้และความทุกข์ในการสอบ

จำนวนไม่น้อยระบายความอัดอั้นตันใจจากระบบการศึกษาที่ทำให้คนครึ่งหนึ่งรู้สึกโล่งอก เพราะคะแนนสอบกลางภาคผ่านมีน (คะแนนเฉลี่ย) ส่วนอีกร้อยกว่าคนรู้สึกเซ็งเป็ด พยายามเอาตัวรอดในระบบที่ต้องดิ้นรนเกือบตลอดเวลา เพียงเพื่อจะให้ไม่ “ตกมีนหัวแตกตาย”

บ้างโหยหาอ้อมกอดและความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ผู้อยู่แดนไกล เพราะต้องอยู่ห่างบ้านเป็นครั้งแรก

บ้างมีความรักให้ผู้อื่น แม้ตนเองจะเรียนในคณะที่คะแนนไม่สูงและไม่มั่นใจกับคุณค่าภายในของตนเอง “ผมขอให้อาจารย์ดูแลน้องของผมในปีหน้าดีๆ นะคร้าบ ผมเชื่อว่าอาจารย์ทำได้ เท่าที่ผมเรียนมาอาจารย์บางท่านท่านพูดออกมาเลยว่า ‘ไม่มีอาจารย์คนไหนอยากสอน [คณะของผม]’ แต่ผมว่าอาจารย์ไม่ได้รู้สึกอย่างนั้น จิงป่าวคราาบ” (สุทธิศักดิ์ ป.)

ความทุกข์ ความกังวลใจถูกระบายออกมาให้คนที่เขาเชื่อว่าฟังเขา โดยไม่ได้ตัดสินเขา แม้ว่าเพิ่งจะใช้เวลาอยู่ด้วยกันแค่สิบกว่าชั่วโมงในห้องบรรยาย อ่านไปร่วมสี่ร้อยแผ่นเล่นเอาผมน้ำตาซึม กับความสดใส ตรงไปตรงมาของพวกเขา กับความทุกข์-ความสุขของคนที่อยู่ในวัยแสวงหาและเติบโต กับความไว้วางใจที่เขามอบให้

อันที่จริงผมได้ลองพยายามผสานเอาแนวคิดจิตตปัญญา (Contemplative Learning /Education) เข้าไปในมิติต่างๆ ของชีวิต ทั้งที่บ้าน ที่ทำงาน การเรียนการสอน ทั้งวิชากึ่งปฏิบัติการชั้นปีสูงๆ และวิชาบรรยายชั้นปีหนึ่งห้องละ ๒๐๐ กว่าคน แล้วก็วิชาบรรยายเช่นนี้แหละที่ดูเหมือนจะท้าทายทั้ง ความหวังและจินตนาการอย่างยิ่ง

บางครั้งก็ต้องหยุดตั้งคำถามกับตนเอง เมื่อผู้หวังดีซึ่งมีประสบการณ์กับระบบการศึกษาไทยมายาวนาน ได้ช่วยประเมินเรื่องการเรียนรู้ด้วยใจที่ใคร่ครวญ เพื่อสร้างสมดุลของการรับรู้และเรียนรู้ทั้งตนเองและโลกภายนอกนี้ ให้อย่างสั้นๆ กระชับได้ใจความว่า “เพ้อผัน” ไม่มีหวังหรอกกับระบบและสถานการณ์โลกความเป็นจริงอย่างเช่นในปัจจุบัน

ผมพลันนึกถึงคำที่ สาทิศ กุมาร (หนังสือ มีเธอจึงมีฉัน: คำประกาศแห่งการพึ่งพา) ให้สัมภาษณ์ในหนังสือพิมพ์ The Guardian (๑๖ มกราคม ๒๐๐๘) ไว้ว่า “ดูผลงานที่พวกอยู่ในโลกความเป็นจริงทำกับพวกเราสิ เขานำเราไปสู่สงคราม การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ความยากไร้เกินจะคาดคิด และระบบนิเวศอันย่อยยับ มนุษยชาติครึ่งหนึ่งหลับไปพร้อมกับความหิวโหย เป็นเพราะบรรดาผู้นำที่ติดอยู่ในโลกความเป็นจริงเหล่านี้นี่แหละ ฉันบอกกับคนที่เรียกฉัน ‘เพ้อฝัน’ ให้ช่วยแสดงให้ดูด้วยว่าความเชื่อในโลกความเป็นจริงของเขานั้นมีผลอะไรบ้าง มันเป็นความเชื่อที่ล้าหลัง ถูกใช้จนเกินเลย และโอ้อวดจนเกินจริง”

บางทีคำว่าเพ้อฝันอาจเป็นคำชมว่าเราเป็นผู้มีความหวังและจินตนาการก็เป็นได้

“อาจารย์ ... อาจารย์ สิ่งที่อาจารย์ให้มันมากกว่าคำว่าความรู้ มากกว่าสิ่งที่เคยได้จากห้องเรียน ต่างจากที่เคยรู้สึกในทุกๆ วัน อาจารย์เชื่อไหมว่าเด็กคนหนึ่งที่ไม่เคยคิดชอบชีวะเลย ... คิดว่ามันน่าเบื่อ แต่ตอนนี้กลับอยากเข้าห้องเรียน อยากมานั่งฟัง รู้เรื่องบ้าง ไม่รู้เรื่องบ้าง ... มันสนุกนะ ถามว่าอะไรโดนเหรอคะ โดนตรงที่มันเปลี่ยนความคิดของคนได้ เนี่ยหล่ะโดนสุด” (ไม่ลงชื่อ)

ใช่หรือไม่ต้องเอาไปลองฝันดู :-)

2 comments:

bossa said...

อ.ครับ
ขอบคุณนะครับ
บทความนี้
ได้บอกผม
ให้กล้าต่าง
เหมือนที่เคยต่าง

ก่อนหน้านี้ชีวิตผมเปลี่ยนไปหลายๆอย่าง เพราะต้องการความยอมรับ ไม่ว่าจะกับครอบครัว หรือเพื่อน

ได้เปลี่ยนตัวเองไปมากมาย


เคยเป็นคนเพ้อฝัน
แต่กลับถูกมองจากคนรอบข้างดั่งตัวตลก

ดีจังนะครับ ได้เดินทางกับ อ.
ทำให้ผมเริ่มมั่นใจในการกลับมาเป็นตัวเอง

การเป็นตัวเอง มีความสุขมันง่ายกว่าเดิมเยอะเลย

Tuu said...

ยินดีจัง :-)