ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับประจำวันที่ ๑๓ มีนาคม ๒๕๕๔
ขณะเดินลงจากศาลาวัดป่าบ้านตาด ด้านล่างมีรูปพ่อแม่ครูจารย์ หลวงตามหาบัว พร้อมคำพูดของท่าน “ชาตินี้เป็นชาติสุดท้ายของเรา เราจะไม่กลับมาเกิดอีกตลอดอนันตกาล” ใจที่รู้สึกอาลัย กลับรู้สึกฮึกเหิมขึ้นมาทันที ผมรู้ในใจทันทีว่านี่แหละคือที่สุด (peak) ของการเดินทางมาอุดรธานีในช่วงเวลาแค่ ๒๔ ชั่วโมงเที่ยวนี้
การได้ไปกราบลาพ่อแม่ครูจารย์ เป็นกิจหนึ่งในชีวิตที่ผมทำแล้วรู้สึกชื่นใจ สบายใจ ทำให้ใจมีพลัง เป็นกิจที่มีคุณค่าและความหมายสำหรับชีวิต
กิจที่ทำนี้มีคุณค่า เพราะเกี่ยวเนื่องด้วยครูบาอาจารย์ของเรา
กิจที่ทำนี้มีความหมาย เพราะมันชี้ว่าเราเป็นคนมีครู
การมีครูบาอาจารย์เป็นส่วนสำคัญในการเติบใหญ่ของเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งครูบาอาจารย์ทางด้านจิตวิญญาณนั้นมีคุณค่ามีความหมายต่อชีวิตมาก เพราะว่าท่านไม่ได้ทำให้เรามีแค่เพียงความรู้เท่านั้น
หากเฉพาะส่วนของความรู้ ผมนึกถึงคำกล่าวอันโด่งดังของชาวตะวันตกที่ว่า “ยืนอยู่บนบ่าของยักษ์” (Stand on the shoulders of giants) หากใครเคยไปยังเกาะอังกฤษอาจจะได้เห็นข้อความนี้เขียนอยู่บนเหรียญสองปอนด์สเตอร์ริงด้วย คำกล่าวนี้ถูกทำให้เป็นที่รู้จักแพร่หลายโดยเซอร์ไอแซค นิวตัน ผู้ค้นพบทฤษฎีแรงโน้มถ่วงและวางพื้นฐานของกลศาสตร์คลาสสิก มีหมายความว่าคนรุ่นหลังสามารถพัฒนาความรู้เพิ่มเติมได้มากขึ้นได้ก็เพราะมีความเข้าใจในงานและผลงานวิจัยอันเป็นผลงานที่มีมาก่อนหน้าจากนักคิดนักค้นคว้าในอดีต
แต่สำหรับครูบาอาจารย์นั้น ท่านไม่ใช่เพียงแค่ทำให้เรามีความรู้ ท่านยังเป็นแนวทางคำตอบให้เราด้วย บางครั้งเราเจอสถานการณ์รุนแรง ยากๆ ในชีวิต เมื่ออยู่ในวังวนของเหตุการณ์ อาจงงเป็นไก่ตาแตก นึกไม่ออก ไปไม่เป็น การมีครูบาอาจารย์คือโอกาสที่ได้ไปปรึกษา หรือถึงแม้ท่านไม่อยู่แล้ว ท่านก็ยังเป็นแรงบันดาลใจ เป็นช่องทางที่เราเข้าไปค้นหาคำตอบในตัวเรา เพียงแค่เรานึกว่า หากเป็นท่านล่ะ ท่านจะทำอย่างไร การนึกถึงครูบาอาจารย์ในสถานการณ์ยากลำบาก ทั้งทำให้เราสงบลง ให้เวลากับการใคร่ครวญพิจารณา และเป็นโอกาสทบทวนคำสอน และตัวอย่างการใช้ชีวิตของท่านซึ่งเราเคารพ
การระลึกได้ว่าเราเป็นคนมีครู ทำให้เราดำเนินชีวิตอย่างมีรากฐานที่เราเชื่อมั่นศรัทธา ไม่ว่าในช่วงเวลาสถานการณ์ใดที่เราได้เผชิญ ย่อมมีพลังโน้มนำให้เราละอายและเกรงกลัวต่อการกระทำที่ไม่ดีมากขึ้น
ความกตัญญูระลึกถึงบุญคุณของท่าน ก็อาจเป็นพลังที่มาช่วยชีวิตของเราได้ทันท่วงทีก็เป็นได้ เป็นพลังช่วยจรรโลงจิตใจและบ่มเพาะกุศลในจิต ไม่ให้ชีวิตเราตกไปสู่ที่ต่ำ
ความเป็นคนมีครู เป็นผู้ตระหนักในการมีรากของตนนั้น ทำให้เราเป็นผู้ที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตน ทำให้เราไม่หลงอหังการ์ ว่าไม่ใช่เราเก่งคิดเอง เหมือนอย่างที่ฝรั่งหรือเด็กสมัยใหม่ที่มั่นใจในตัวเองจัด จนมักคิดว่าฉันเก่ง ฉันคิดได้เอง หลงไปว่าการคิดวิเคราะห์และข้อสรุปของตนนั้นเป็นที่สุด
เมื่อไม่นานมานี้ ผมได้เล่าเรื่องความหมายของการมีครูบาอาจารย์ที่เราเคารพนับถือให้กับบรรดาลูกศิษย์และรุ่นน้องฟัง ใช้เวลาค่อยๆ อธิบายให้เขาเห็นว่าสายการปฏิบัติที่เขาได้มีประสบการณ์นั้น มีที่มาที่ไป เปรียบเหมือนคนที่อยู่ปลายน้ำได้ใช้น้ำที่สะอาดชื่นใจ เพราะมีตาน้ำบริสุทธิ์ใสให้กำเนิดเป็นต้นธารอยู่บนเขา
ถ้านับจากพ่อแม่ครูจารย์แล้ว พวกเขาอาจจะนับเป็นศิษย์รุ่นที่สี่แล้ว ในขณะที่ถัดขึ้นไปจากท่านก็มีพระอาจารย์มั่น และสามารถย้อนกลับไปถึงสองพันกว่าปี หรือมากกว่านั้นเสียด้วยซ้ำ
คนมีครูก็คล้ายดั่งต้นไม้มีราก ต้นไม้ที่มั่นคงสูงใหญ่ขึ้นไปเหนือพื้นดินเท่าใด ก็ยิ่งต้องมีส่วนที่หยั่งรากลงลึกมากขึ้นเท่านั้น
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
6 comments:
Completely agree
Spiritual teachers give spiritual light and life to the dying and dark souls. They lead the way.
Would you follow though? Would you open your ears and heart to listen? Would you practice wholeheartedly?
The rest of the answer is up to the students.
--chollada-noi
ครู...
ผมเหนื่อยครับ
เป็นอะไร / ทำอะไรมาล่ะครับ? :-)
อ่านบทความ "มีครูคือมีราก" ของท่านแล้วทำให้ผมมองย้อนกลับมาที่ตัวเอง ว่า ที่ผ่านมา...
ผมสู้ด้วยตัวเองมาตลอด...
ผมเริ่มจากศูนย์ ผมก้าวข้ามอะไรหลาย ๆ อย่างมาด้วยตัวเอง...
ผมเข้าใจผู้เริ่มต้น ผมเข้าใจผู้อยู่ระหว่างทาง
ผมมักบอกคนอื่นว่า "ท้ายที่สุดแล้วมันอยู่ที่ใจ"
การสู้ด้วยตัวเองของผมทำให้ผมมองอะไรได้เที่ยงแท้ยิ่งขึ้น หัวใจก็หนักแน่นยิ่งขึ้นเช่นกัน
ผมไม่ค่อยเชื่ออะไรง่าย ๆ ถ้าหากไม่เจอกับตัว
"เราจะสัมผัสกลิ่นของธรรมชาติจากรูปถ่ายได้เช่นไรหากเราไม่ไปที่นั่น"
แล้วก็มีคนมาบอกกับผมว่า ผมเหมือนชาล้นถ้วย...
-----
ผมเคยอ่านมูซาชิ ฉบับท่าพระจันทร์ของ ดร.สุวินัย
วิถีแห่งการต่อสู้นั้นแม้จะเป็นศาสตร์ที่ต่างกันแต่ก็เหมือนกันตรงที่ ใช้ ใจ...
ครับ ผมรู้สึกว่าผมคล้ายกันกับเขา...
มีฉากหนึ่งที่พระทากุอันจับมูซาชิได้โดยที่ไม่ต้องออกแรง... เพียงใช้ขลุ่ย และการสนทนา
มูซาชิร้องไห้ และยอมให้จับโดยดี
-----
ครับ ผมรู้สึกว่าผมเหนื่อย... และในบางครั้งผมก็อยากจะร้องไห้โดยไม่มีสาเหตุ
ช่วงที่ผ่านมาผมเริ่มหันมาสนใจเรื่องราวเกี่ยวกับจิตวิญญาณ
ผมเจอบังเอิญblogท่านก็จากความสนใจตรงนี้
ผมเห็นคำว่า เปิด = เปลี่ยน
ผมซาบซึ้งในความลึกซึ้งที่เรียบง่ายตรงนี้มากครับ
อืมม์... จะอ่านไล่เรียงทั้งหมดคงต้องใ้ช้เวลาหน่อยครับ หะหะ
การที่ผมพิมพ์เยอะแบบนี้เรียกว่า ชาล้นถ้วย รึเปล่าครับ หะหะ
เพราะผมเพิ่งรู้ตะกี๊ว่า "ผมแค่อยากขอบคุณในความเป็นมนุษย์ของท่าน เพราะสิ่งที่ท่านส่งมานั้นผมรับรู้ได้ถึงความเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์"
-----
รู้สึกถึงความเปราะบางเกี่ยวกับบทเรียนของคนที่เดินทางเรียนรู้ตัวเองและชีวิต
'ครู'เพิ่งบอกเราว่า การเดินทางสายนี้มันไม่มีหรอกคำว่า'หลงทาง'อยากจะรู้จักเข้าใจจิตของตัวเองก็ต้องแลกด้วยประสบการณ์ตรงของตัวเอง ตื่นเองรู้เอง
สรุป 'ครู' ไม่ได้บอกให้แก้ไขการปฏิบัติอะไร แค่บอกว่า อย่ากลัวหลงทาง ในเส้นทางที่มีแต่การเรียนและรู้
เด็กติดกรอบอย่างเรา เลยหลุดออกมาได้
'เด็กชายผู้ผ่านมา ที่เขียนมาก็งดงามและจริงแท้ ขอบคุณทุกท่านที่แบ่งปัน
ดีใจที่ได้อ่านค่ะ
Chollada-noi
แล้วที่เหนื่อยน่ะ เหนื่อยกาย หรือว่าเหนื่อยใจล่ะครับ
ความเหนื่อยกายไม่ใช่สิ่งที่เลวร้ายเสมอไป ยกตัวอย่าง เช่น เหนื่อยกายจากการทำงานอันควร ก็ทำให้หัวใจสูบฉีดเลือดได้ดี กล้ามเนื้อแข็งแรง เจริญอาหาร นอนหลับง่าย มีความสุขจากสารเอนดอร์ฟิน งานสำเร็จ เกิดความภาคภูมิใจและเห็นคุณค่าในตน รู้จักตนเองดีขึ้น เป็นที่รักของคนอื่น แถมเป็นประโยชน์ต่อโลก
แต่ดูเหมือนที่เล่ามาเป็นเหนื่อยใจเสียมากกว่า
เหนื่อยใจก็มีที่มาที่ไปเหมือนกัน ไหนๆ เหนื่อยไปแล้วก็ใช่ว่าจะไม่สามารถทำให้เกิดประโยชน์ได้ เราพอนึกออกบ้างไหมว่ามันมีอะไรได้บ้าง
นอกจากนี้
- ถึงเราจะสู้ด้วยตนเองมาตลอด ก้าวข้ามอะไรมาหลายอย่าง ก็ใช่ว่าเราจะไม่มีครู ชีวิตนักสู้ นักเดินทาง มิได้แร้นแค้นเช่นนั้นดอก
- คนร้องไห้ ด้วยเพราะมีสาเหตุทุกคน ... การร้องไห้ก็มิได้เป็นเรื่องน่าอับอายเสียหายเสมอไป หลายครั้งเป็นความกล้าหาญที่จะจริงแท้กับความรู้สึกเสียด้วยซ้ำ ที่มนุษย์ร้องไห้ได้ก็เป็นสิ่งมหัศจรรย์และงดงามอย่างหนึ่งของจักรวาล
ชาล้นถ้วยหรือไม่ ... "ท้ายที่สุดแล้วมันอยู่ที่ใจ" :-)
ขอบใจที่แบ่งปันเรื่องราวชีวิตให้ฟังนะครับ
:-)
Post a Comment