ปัญญาจาริก




ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๕๕

มาสิมาล้อมวง เรามานั่งลงใกล้ๆกันไว้

เธออย่าเพิ่งไปไหน มีอะไรจะเล่าให้ฟัง"

นักศึกษาหนุ่มในชั้นเรียนร้องเพลงของ ศุ บุญเลี้ยง ด้วยเสียงนุ่มๆ แต่โอดครวญ เพื่อนและทีมอาจารย์ผู้สอนนั่งฟังอย่างตั้งใจ

ทุกคนใช้สัปดาห์สุดท้ายของการเรียน แลกเปลี่ยน เพื่อสรุป สะท้อน ประเมินการเรียนรู้ของกลุ่มร่วมกัน ในวิชาสิ่งแวดล้อมศึกษา: ทฤษฎีและปฏิบัติ ของคณะวิทยาศาสตร์ มหิดล

เนื้อหาของวิชา ถูกนำมาศึกษาผ่านการฝึกฝนที่หลากหลาย เช่น สุนทรียสนทนา (Dialogue) การเช็คอิน-เช็คเอาท์ การภาวนา การอยู่วิเวกคนเดียวในสภาพธรรมชาติ การอ่านและวิจารณ์หนังสือที่เปิดโลกทัศน์ การเขียนบันทึก (Journal) รวมไปถึงการเรียนรู้จากตัวอย่างนักคิดนักปฏิบัติตัวจริงเสียงจริง ที่มีความสุขจากการทำงานที่มีความหมาย มีปัญญา มีจิตกว้างขวาง ไม่คับแคบ

วันนี้พวกเราใช้กระบวนการ จิตตศิลป์ (Contemplative Arts) ในการประเมิน เพื่อให้สามารถใช้ความคิดสร้างสรรค์และญาณทัศนะในการมองชั้นเรียนและชีวิตอย่างเป็นองค์รวม ใช้สมองซีกขวาควบคู่ไปกับสมองซีกซ้ายที่มหาวิทยาลัยฝึกให้ใช้จนเชี่ยวชาญ ในการคิดวิเคราะห์ อย่างเป็นเหตุเป็นผล อย่างเป็นวิทยาศาสตร์

เทคนิคการวาดภาพ Scribble ถูกนำมาใช้ ให้ทุกคนสร้างสรรค์งานสื่อถึงความเข้าใจใหม่ที่เกิดขึ้นในตัวเอง บอกเล่าการเรียนรู้หรือการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญที่เกิดขึ้นกับตนเอง ผลที่ได้มหัศจรรย์ ศิลปะกว่ายี่สิบผลงานล้วนไปพ้นจากภูเขาสองลูกและพระอาทิตย์หนึ่งดวงที่ครอบเรามาเกือบยี่สิบปี พร้อมทำลายอคติเดิมๆ ที่หลายคนบอกกับตนเองว่า "โอ๊ย เราวาดรูปไม่เป็นหรอก"

แม้บางรูป อารมณ์หรือโทน อาจจะคล้ายกัน ทว่าแต่ละชิ้นดูแตกต่าง ดูมีเอกลักษณ์เป็นของตนเอง ที่สำคัญ คือ งดงามในตัวมันเอง มันชัดเจนว่า "สวยทุกรูป" บอกไม่ได้เลยว่าชิ้นไหนสวยกว่ากัน

นี่เองกระมัง เลยทำให้นักศึกษาชายคนหนึ่งขออนุญาตร้องเพลง ที่เขารู้สึกอิน รู้สึกว่าใช่ ต้องแบ่งปัน ณ เวลานั้น บทเพลงเล่าถึงดาวดวงหนึ่งที่รู้สึกว่าตนเองไม่สวย ถูกกลั่นแกล้งโดยดาวที่สวยกว่าดวงอื่นจนอับอาย จึงละทิ้งท้องฟ้ามาอยู่ในท้องทะเล พบว่าปลาแต่ละตัวหน้าตาแตกต่างกันไป จึงกลายเป็นปลาดาวที่มีความสุขในที่สุด และลงท้ายว่า แม้เราจะแตกต่างจากคนอื่น อย่ากลัวว่าจะไม่เหมือนใคร แค่ให้เราเป็นตัวของเราเองก็พอ

เสียงเพลงและงานศิลปะที่งดงาม ช่วยเปิดและชี้ประเด็นการเปลี่ยนแปลงสำคัญที่เกิดขึ้น คือ การรู้จักตนเอง ที่นำไปสู่ความจริงใจ การยอมรับ และการโอบอุ้มดูแลทุกคนในชั้นเรียน

พวกเขาได้พูดสิ่งที่ผมอ่านในบันทึกของพวกเขาทุกสัปดาห์ คือ ความรู้สึกว่าตนเองแปลก ต้องพยายามให้เป็นที่ยอมรับ รู้สึกว่าชีวิตนั้นยาก และบ่อยครั้งก็โดดเดี่ยว ไม่มีใครฟัง ไม่มีใครเข้าใจ แต่พวกเขาก็ได้แต่เก็บความรู้สึกเช่นนี้ไว้คนเดียว แบบว่า "นึกว่าเราเป็นคนเดียว"

มาในชั้นเรียนนี้ ทุกคนฝึกที่จะฟังอย่างลึกซึ้ง ให้ความเคารพ ห้อยแขวนการตัดสิน ฝึกที่จะเปิดเผยตนเอง อย่างสด เปลือย เปราะบาง และชื่นชมความเงียบ สิ่งที่พวกเขาได้รับเองโดยไม่ผ่านการบรรยาย ก็คือมิตรภาพ คือความเข้าใจกัน ต่างบอกว่ารู้จักและสนิทสนมกันมากกว่าที่อยู่กันมาสามปีเสียอีก

ตอนท้าย พวกเราตั้งชื่อให้กับการเดินทางของตนเอง นักศึกษาชายหนุ่มที่สุภาพ เรียบร้อย พูดน้อยที่สุดของชั้นเรียน เลือกวลีที่ไพเราะมาก The Pilgrimage of Life เป็นการจาริกของชีวิต ไปยังดินแดนศักดิ์สิทธิ์ที่เราสร้างขึ้นมาร่วมกัน เพื่อเติบโตและค้นหาตนเอง

0 comments: