ตีพิมพ์ในคอลัมน์ จิตวิวัฒน์ หนังสือพิมพ์มติชน ฉบับประจำวันที่ 24 พฤศจิกายน 2555
เราท่านทั้งหลายคงเคยผ่านตาหนังสือประเภทสวรรค์มีจริง นรกมีจริง ชีวิตหลังความตายมีจริง มาแล้ว ยิ่งในระยะหลังหนังสือประเภทนี้ขึ้นอันดับต้นๆ บนแผงหนังสือตามร้านใหญ่ๆ หรือไม่พวกเราก็คงเคยได้ยินเรื่องราวทำนองนี้มาบ้าง ระดับของความน่าเชื่อถือก็แตกต่างกันไปตามแหล่งข้อมูลและองค์ประกอบรอบข้าง
เมื่อเดือนที่แล้ว มีนายแพทย์ชาวอเมริกันออกมายืนยันอีกรายว่า สวรรค์มีจริง! โดยตีพิมพ์ข้อค้นพบและหลักฐานสนับสนุนในหนังสือ Proof of Heaven: A Neurosurgeon's Journey into the Afterlife การบอกกล่าวว่าสวรรค์มีจริงครั้งนี้ต่างจากเรื่องอื่นๆ อยู่สองประการ หนึ่งคือตัวผู้บอกเล่า คือ ดร. Eben Alexander III เป็นศัลยแพทย์ระบบประสาทที่ได้ปริญญามาจากไอวีลีก ทำงานด้านนี้มากว่ายี่สิบห้าปี รวมถึงที่โรงเรียนแพทย์ของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดสิบห้าปี เดิมทีเขาเป็นผู้ที่ไม่เชื่อเรื่องชีวิตหลังความตายโดยสิ้นเชิง โดยใช้เหตุผลค้านจากความรู้และประสบการณ์ด้านวิทยาศาสตร์ของสมองและระบบประสาท
ความพิเศษประการที่สองคือ ลักษณะประสบการณ์ของผู้เล่า ในปี ๒๕๕๑ ดร.อเลกซานเดอร์ติดเชื้อแบคทีเรียที่ก่อให้เกิดอาการเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เชื้อนี้พบได้ยาก มักจะเป็นแต่กับเด็กเล็ก และอาการรุนแรงมาก หลังจากเริ่มมีอาการปวดศีรษะเพียงไม่กี่ชั่วโมง สมองส่วนคอร์เท็กซ์ก็หยุดทำงานโดยสิ้นเชิง โดยสมองส่วนนี้ทำหน้าที่ควบคุมทั้งความคิดและอารมณ์ความรู้สึก ว่าโดยง่ายเป็นส่วนที่ทำให้เราเป็นคนนั่นเอง และที่เขาทราบว่าสมองส่วนนี้หยุดทำงานก็ด้วยคุณหมอท่านนี้ทำงานในแผนกดังกล่าวอยู่แล้วจึงถูกติด ตรวจ และวัดด้วยเครื่องมือศึกษาการทำงานของสมองอย่างละเอียด ทางคณะแพทย์ผู้รักษาพบว่าเชื้ออีโคไลนั้นได้แทรกเข้าไปยังน้ำหล่อสมองไขสันหลังและเริ่มกินเนื้อเยื่อ ทำให้สมองตกอยู่ในอาการช็อกและหยุดทำงาน โอกาสรอดนั้นแทบจะไม่มีเลย
หลังจากนอนเป็นผักไม่ไหวติง ๗ วัน ในขณะที่คณะแพทย์กำลังคิดว่าจะหยุดเครื่องพยุงชีวิตนั้นเอง อาการของเขาก็ดีขึ้นและหายในที่สุด แต่เรื่องราวไม่ได้จบเท่านั้น เพราะเขาได้บอกเล่าประสบการณ์ในช่วงที่เขาอยู่ในอาการโคม่านั้นว่าเขาได้ไปยังดินแดนที่เขาเชื่อว่าคือสวรรค์
ดร.อเลกซานเดอร์ได้บรรยายถึงลักษณะของสถานที่ที่เขาเดินทางไปอย่างละเอียด มีนางฟ้าดวงตาสีฟ้าผู้เป็นมิตรที่สื่อสารกับเขาด้วยโทรจิต หมู่เมฆสีชมพูอ่อนเป็นปุยลอยอยู่ในท้องฟ้าสีน้ำเงินเข้ม ที่ล่องลอยอยู่เบื้องบนมิได้มีแต่เมฆ ยังมีอะไรบางอย่างที่คนไทยคงเรียกว่าเทวดาอยู่ด้วย เทวดาเหล่านั้นเปี่ยมด้วยปีติอย่างล้นเหลือจนต้องเปล่งเสียงแห่งความสุขออกมา ที่นั่นภาพและเสียงไม่ได้แยกออกจากกัน เฉกเช่นเดียวกับผู้สังเกตและสิ่งที่ถูกสังเกต อีกทั้งยังมีรายละเอียดอื่นๆ อีกมาก
ในอดีตมีคนนับร้อยที่เคยผ่านประสบการณ์ใกล้ตาย (หรือหลังตาย) มาก่อน แล้วกลับมาเล่าเรื่องสวรรค์ (หรือนรก) แต่นักวิทยาศาสตร์ทั่วไปมักเชื่อว่า เป็นสิ่งที่เกิดจากการทำงานของสมองซึ่งอยู่ในสภาพผิดปรกติ แต่ ดร.อเลกซานเดอร์ บอกว่าประสบการณ์ของเขาแตกต่างไป เพราะเขาเป็นคนแรกที่ตลอดระยะเวลาของการมีประสบการณ์นั้นมีหลักฐานชัดเจนว่าสมองส่วนคอร์เท็กซ์นั้นไม่ได้ทำงานเลย แสดงว่าสวรรค์ที่เขาไปพบมานั้นเป็นของจริง ไม่ใช่เป็นแค่การทำงานผิดพลาดของสมองตามที่มักเชื่อกัน แต่เป็นการรับรู้ เป็นประสบการณ์ที่อยู่นอกสมองไปโดยสิ้นเชิง
ไม่แปลกใจว่าหนังสือของเขาขึ้นอันดับหนึ่งของ New York Times Best Sellers และปัจจุบันก็ยังเป็นหนังสือขายดีอันดับหนึ่งของเว็บไซต์อเมซอนในหลายหมวด ผู้คนจำนวนมากที่ควักกระเป๋าหรือรูดบัตรซื้อหนังสือคงสงสัยอยากรู้ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ ลักษณะเป็นอย่างไร ตายไปแล้วฉันจะได้ไปไหม?
แต่จากมุมมองของจิตวิวัฒน์แล้ว เรื่องเหล่านี้เกี่ยวกับสวรรค์ว่ามีจริงไหม หน้าตาเป็นอย่างไรนั้น ยังไม่ใช่สาระ สิ่งที่ควรตั้งคำถามมากกว่า คือประสบการณ์ใกล้ตาย การได้พบดินแดนสวรรค์นั้นมีความหมายอย่างไรต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของคุณหมอ
ประสบการณ์ใกล้ตายหรือการได้ไปสวรรค์เป็นเพียงจุดเริ่มหรือประตูเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ไปสู่การปรับเปลี่ยนระดับจิตสำนึก (Consciousness) ซึ่งก็คือการเปลี่ยนมุมมอง โลกทัศน์ ความเข้าใจต่อตนเอง ชีวิต และโลกที่เราอาศัยอยู่
หากประสบการณ์ดังกล่าวเป็นเพียงจุดเริ่มต้นแล้วกระบวนการถัดมาคืออะไร
สถาบันไอออนส์ (Institute of Noetic Science) ตั้งอยู่ที่สหรัฐอเมริกา ทำงานวิจัยเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ในหนังสือ Living Deeply: The Art & Science of Transformation in Everyday Life พูดถึงงานชิ้นสำคัญของสถาบัน เป็นงานวิจัยที่ใช้เวลาหลายปี เก็บข้อมูลจากการสัมภาษณ์นักวิชาการ คุรุ นักปฏิบัติชั้นนำจำนวน ๕๐ ท่าน โดยคัดเลือกเพื่อให้เป็นตัวแทนของศาสนา สำนักปฏิบัติ และกระบวนการเคลื่อนไหวสมัยใหม่ ที่มีรากฐานจากทั้งวัฒนธรรมตะวันออก ตะวันตก และประเพณีชนเผ่าพื้นเมือง ร่วมกับข้อมูลจากแบบสอบถามจากผู้ที่เคยผ่านประสบการณ์การเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานมากกว่า ๙๐๐ คน ผลการวิจัยอธิบายถึงกระบวนการโดยสรุปดังนี้
๑. ประตูเข้าสู่ประสบการณ์ มากกว่าครึ่งหนึ่งของผู้ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนั้นเริ่มเข้าสู่เส้นทางจากการพบความทุกข์ความเจ็บปวดในชีวิต เรื่องนี้อาจไม่เป็นเรื่องแปลกสำหรับชาวพุทธ ดังเช่นที่ครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวว่า “ถ้าอยากสุข ให้เอาทุกข์เป็นทางเดิน” แต่สำหรับชาวตะวันตกแล้วเป็นเรื่องที่ไม่คุ้นเคยนัก แต่ความทุกข์ความเจ็บปวดก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ผู้คนจึงมีโอกาสที่จะได้พบเจอช่องทางเข้าทางนี้เสมอๆ ผ่านความเจ็บป่วยหรือประสบการณ์ใกล้ตายของตนเอง เช่นที่ ดร.อเลกซานเดอร์พบมา ผ่านความเจ็บป่วยหรือการสูญเสียของบุคคลอันเป็นที่รักที่มีความหมายในชีวิต และก็ไม่ใช่แค่ความเจ็บปวดภายนอกเท่านั้น หากประสบการณ์ความล้มเหลวหรือสูญเสียอาจจะเป็นเรื่องภายในก็ได้ เช่นคุณค่าความหมายของชีวิต
ประตูช่องอื่นๆ นั้นผ่านทาง ก) ประสบการณ์ที่รู้ได้เฉพาะตน เช่น เกิดจากการฝึกฝนปฏิบัติสมาธิภาวนา ข) การพบคุรุหรือครูบาอาจารย์ ในแง่นี้ครูมิใช่เป็นเรือจ้าง แต่เป็นเสมือนแผนที่การเดินทางเลยทีเดียว ค) เรื่องราวที่อาจดูเหมือนเล็กๆ ไม่สลักสำคัญอะไร แต่เป็นการปิ๊งแว้บอะไรบางอย่าง เช่นที่มาซาโนบุ ฟูกุโอกะ ผู้เขียนหนังสือปฏิวัติยุคสมัยด้วยฟางเส้นเดียว หรือ อ.ชัยวัฒน์ ถิระพันธุ์ ค้นพบ หรือจะมาจากการอ่านหนังสือพบเจอข้อคิดที่มีความหมายสำหรับเราก็ยังได้ ง) การอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ เป็นที่รู้กันดีในหมู่นักปฏิบัติว่าธรรมชาตินั้นมีพลังพิเศษบางอย่างที่ช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้มนุษย์เปิดรับกับประสบการณ์ความรู้บางอย่างได้ พระพุทธเจ้าจึงมักแนะนำให้สาวกในศาสนาไปฝึกฝนในป่า สำหรับสังคมวัฒนธรรมสมัยใหม่ กิจกรรมอย่างเช่น นิเวศภาวนา (Eco Quest หรือ Vision Quest) จึงเป็นทางเลือกสำหรับผู้สนใจแสวงหาประสบการณ์ดังกล่าว
แต่ผู้คนไม่น้อยที่พบประสบการณ์ดังว่า ได้มาถึงประตูนี้แล้ว กลับปฏิเสธ ไม่ยอมรับ หรือใช้ความเชื่อเดิมไปอธิบาย เท่ากับการละทิ้งกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานและไม่ได้เข้าสู่ลำดับขั้นต่อไป
๒. สำรวจค้นคว้า ผู้ที่ไม่ปฏิเสธประสบการณ์ที่เกิดขึ้นเปรียบเสมือนกับเมล็ดพืชที่พร้อมจะงอก หรือผีเสื้อที่พร้อมจะออกจากดักแด้ เขาต้องพร้อมที่จะเปราะบางและยอมรับการเปลี่ยนแปลง โดยอาจเริ่มจากความเชื่อเกี่ยวกับตนเองหรือเกี่ยวกับโลก ด้วยเพราะชุดความเชื่อเดิมเล็กเกินไปหรือไม่เพียงพอที่จะอธิบายสิ่งที่เกิดขึ้น การค้นหานั้นอาจนำไปสู่การค้นพบชุดคำสอน ชุดคำอธิบาย รวมถึงกระทั่งพบเจอการฝึกฝนที่ใช่สำหรับตน
๓. พบแนวปฏิบัติ เพื่อที่จะทำให้การเปลี่ยนแปลงนั้นยั่งยืน ผู้ที่ตั้งใจค้นหาต้องหมั่นฝึกฝนปฏิบัติอะไรบางอย่าง เรื่องแนวการปฏิบัตินี้มีให้เลือกมากมาย อาจจะเป็นแนวเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น ไทเก๊ก ชี่กง โยคะ เดินจงกรม หรือยกมือสร้างจังหวะ แนวอยู่นิ่ง เช่น การนั่งสมาธิภาวนา แนวผ่านกระบวนการเชิงสร้างสรรค์ เช่น สร้างงานจิตตศิลป์ แนวผ่านกระบวนการเชิงความสัมพันธ์ เช่น สุนทรียสนทนา การเขียนบันทึก การสะท้อนการเรียนรู้ แนวผ่านพลังพิธีกรรมศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีกรรมทางศาสนา หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น นิเวศภาวนา แนวผ่านกิจกรรมรังสรรค์ เช่น การสวดมนต์ หรือแม้กระทั่งแนวผ่านการทำกิจกรรมทางสังคม เช่น การเจริญสติในการทำงานในชีวิตประจำวัน หรือทำงานจิตอาสา เป็นต้น
๔. มีวิถีชีวิตเป็นหนึ่งเดียวกับการปฏิบัติ การฝึกฝนนั้นจะต้องไม่แยกออกจากชีวิต มิใช่ชีวิตตามปรกติเป็นแบบหนึ่ง ส่วนการปฏิบัติก็เป็นไปอีกแบบหนึ่งแยกหรือขัดแย้งกัน ซึ่งหมายถึงการเข้าใจถึงแก่นของการปฏิบัติมิใช่แค่รูปแบบภายนอกเท่านั้น เมื่อเป็นเช่นนี้ความแปลกแยกระหว่างการใช้ชีวิตทางโลกด้านนอกและการค้นหาความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นภายในก็จะลดน้อยลง ในระยะนี้มีข้อพึงระวังไม่ให้การปฏิบัติเป็นไปเพื่อตนเองเพียงอย่างเดียว
๕. จากฉันสู่เรา จากเดี่ยวสู่กลุ่ม เมื่อวิถีชีวิตกับการปฏิบัติเป็นหนึ่งเดียวกันแล้ว สิ่งที่เกิดขึ้นคือการเข้าถึงศักยภาพที่สูงขึ้นของตนเอง รวมถึงความรักความเมตตากรุณาที่มีให้กับผู้อื่นสิ่งอื่น การฝึกฝนจะช่วยให้เห็นความสัมพันธ์เชื่อมโยงของตนกับสังคมรอบข้าง เห็นโยงใยที่เกาะเกี่ยวทุกชีวิตเข้าด้วยกัน การฝึกฝนและการดำรงอยู่ของตนจึงเป็นไปเพื่อคนอื่นด้วย แต่ในทางกลับกัน จะต้องไม่สุดโต่งไปจนกระทั่งลืมที่จะมีวิถีชีวิตที่ดูแลโจทย์และเป้าหมายของตนเองพร้อมกันไป
๖. ชีวิตที่ลุ่มลึก ในท้ายที่สุด ชีวิตจะมีความสุขอย่างยิ่ง เพราะอยู่ในสมดุลระหว่างการเข้าใจโลกภายนอกและโลกภายใน ระหว่างการเห็นและดูแลประโยชน์ตนเองและผู้อื่น แบบแผนความคิดและการกระทำจะกลายเป็นส่วนหนึ่งส่วนใหม่ที่สำคัญของความเป็นตัวเรา ตัวเราที่ผ่านกระบวนการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน มีคุณภาพใหม่ที่มีบางส่วนของคุณภาพเดิม แต่ก็มิใช่คุณภาพเดิมแต่อย่างเดียว เป็นตัวเราที่พร้อมจะนำการเปลี่ยนแปลงนี้ไปสู่ชุมชนวงกว้าง และก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานแบบสมุหะและในระดับที่สูงขึ้นไป
ความรู้เกี่ยวกับกระบวนการจิตวิวัฒน์หรือการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐานนี้ ยืนยันให้เห็นว่าความสุขจากยกระดับจิตสำนึกนี้เป็นความสุขที่หาง่าย เข้าถึงได้ทุกคน เพราะราคาถูก ที่อาจารย์ประเวศ วะสีใช้คำว่า Happiness at low cost ไม่จำเพาะผู้ที่มีฐานะดีมีโอกาสมีเวลาไปเข้าสปาเข้าคอร์สภาวนาเท่านั้น
แต่ทั้งนี้และทั้งนั้น ต้องเริ่มจากการที่เราเปิดใจ เปิดโอกาสให้ตนเองได้เปราะบาง ได้ยอมรับประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นกับเรา ให้กรอบความคิด ชุดความเชื่อเดิมๆ ได้ขยายออก
ดังนี้แล้วคำถามสำคัญต่อเรื่องราวของ ดร.อเลกซานเดอร์ ที่ว่าสวรรค์มีจริง จึงอาจไม่ใช่แค่การตรวจสอบและพิสูจน์ว่าสวรรค์มีจริงหรือไม่ มีลักษณะเป็นอย่างไร ตายไปแล้วเราจะได้ไปไหม แต่เป็นคำถามที่ว่า ประสบการณ์บอกเล่าเรื่องแดนสวรรค์ที่ ดร.อเลกซานเดอร์ ได้ไปพบมานั้นมีความหมายอย่างไรต่อโลกทัศน์และการดำเนินชีวิตของตัวเราอย่างไร?
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
*** ในฉบับตีพิมพ์ใช้ชื่อบทความว่า "เลือกเพื่อแม่" ***
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 7 ตุลาคม 2555
“ทำให้แม่มึงเถอะ แม่มีคนเดียว”
หนุ่มนักศึกษา ปี 1 คนนี้เขาเล่าให้ผมฟังถึงคำพูดของเพื่อนที่ทำให้เขาตัดสินใจเลือกเรียนสายวิทย์ ทั้งๆ ที่ตนเองรักและอยากเรียนดนตรีถึงที่สุด
ผมมักจะทึ่งกับคนประเภทนี้เสมอๆ คนที่เลือกเรียนตามที่ผู้ใหญ่ขอ ด้วยตนเองนั้นนึกเทียบเคียงประสบการณ์ตรงไม่ค่อยออก เพราะที่บ้านนั้นสนับสนุนการตัดสินใจเรื่องการเรียนของผมอย่างเต็มที่ (แม้ว่าอาจมีสงสัยหรือไม่เห็นด้วยอยู่บ้าง) ยิ่งคนที่เลือกใช้ชีวิตตามที่คนอื่นต้องการ เชื่อว่าจำนวนไม่น้อยคงเป็นคนที่เสียสละน่าดู
อย่างนักศึกษาคนนี้ ฐานะครอบครัวแต่ก่อนค่อนข้างลำบาก ต้องต่อสู้ไม่น้อยจึงจะอยู่ได้ เกิดมาเขาได้อยู่ในอ้อมอกแม่แค่สองเดือนก็ต้องย้ายไปอยู่กับยายและป้าที่หนองคาย ช่วงยังเด็กก็มีสงสัยตามประสาวัยเยาว์ว่าพ่อแม่รักเราหรือเปล่า เหตุใดจึงให้ไปอยู่เสียห่างไกล แต่พอโตมาก็เข้าใจว่าเพราะรักมาก จึงยอมอดทนสู้อุตส่าห์ทำงานหนัก เพื่อส่งลูกเข้าโรงเรียนเอกชน เพื่อให้ได้รับการศึกษาที่เชื่อว่าดีที่สุด
การที่เขาชอบและรักดนตรีตั้งแต่เรียนมัธยม ทำให้อยากเรียนต่อด้านดนตรี ในขณะที่แม่อยากให้เรียนวิทยาศาสตร์ จึงเป็นโจทย์ยากของครอบครัว เป็นเหตุให้ได้ทะเลาะกันรุนแรงหลายครั้ง เมื่อเขายอมตัดสินใจเลือกและสอบเข้าได้คณะวิทยาศาสตร์ มหิดล แม่ดีใจถึงขนาดบอกพ่อว่า “เราได้ลูกกลับคืนมาแล้ว”
เข้าปีหนึ่ง เขาได้เข้าร่วมกิจกรรมเป็นสมาชิกคณะประสานเสียง MU Choir ของมหาวิทยาลัย แต่การต้องไปซ้อมที่วิทยาลัยดุริยางคศิลป์ ชวนจินตนาการเห็นภาพตนเองที่เป็นนักดนตรี ทำให้เขากลับมาซึมเศร้าอีกครั้ง อีกทั้งการเรียนที่คณะวิทย์ก็ยากมากๆ สำหรับเขาเสียด้วย
วันหนึ่ง ผมมีโอกาสให้เขา “ระบาย” ให้ฟัง จึงได้รับรู้ ได้ยิน ถึงความอึดอัด ตัดสินตนเอง เกรงว่าตนจะไม่เหมาะไม่ดีพอ หรือไม่เข้ากับแบบพิมพ์ของคนส่วนใหญ่ในคณะ เป็นการต่อสู้ของคนที่อยากทำให้ได้ดี
ที่สำคัญ คือ อยากจริงแท้ต่อความรู้สึกตนเอง ไม่อยากทิ้งความฝันในชีวิตของตนเองไป
เราใช้เวลาอย่างมีคุณภาพในการถ่ายทอดบอกเล่า และฟังอย่างลึกซึ้ง เพียงไม่นาน เขาก็เข้าใจได้ด้วยตนเอง ถึงความสอดคล้องเข้ากันได้ของสองสิ่งที่ดูเหมือนจะขัดกัน แต่แท้จริงแล้วเกื้อกูลกัน
ในช่วงเวลาสั้นๆ เขาก้าวข้ามจากสภาวะหนึ่งสู่อีกสภาวะหนึ่ง แบบข้ามพ้นแต่ปนอยู่ (transcend and include) คือ มีคุณสมบัติใหม่ มีความเข้าใจใหม่ โดยไม่ได้ต้องทิ้งของเดิมไปแต่อย่างใด เป็นการเข้าถึงความหมายของการอยู่ร่วม ที่ไม่ใช่เพียงอยู่ให้รอดในการเรียนวิทยาศาสตร์ หรืออยู่ให้รอดจากการทิ้งความฝันตัวเอง แต่มีชีวิตอยู่เพื่อความฝันของแม่และยังมีความรักในดนตรี เป็นการอยู่ร่วมของความรัก ความฝัน และความสุข ในรูปแบบความเข้าใจของเขาเอง
นั่นทำให้เปิดความสามารถในการเลือกได้ด้วย คนส่วนใหญ่นั้นรับรู้และเชื่อว่าสิ่งที่เราเลือกได้ คือ เลือกทางกาย เลือกการกระทำของเรา แต่มักไม่ตระหนักว่าเราสามารถเลือกทางใจได้ด้วย ซึ่งที่สำคัญที่สุดก็คือเลือกที่จะอยู่โดยทุกข์หรือไม่ทุกข์
เมื่อวานนี้ เขาเขียนมาบอกกับผมว่าชีวิตนี้มีคุณค่าและความหมายอย่างไร “ที่นี่เป็นที่ๆ ผมอยู่แล้วมีความสุข เพราะได้ทำเพื่อแม่”
เขารู้และเลือกแล้วที่จะเรียนและอยู่ที่นี่อย่างไร
“นี่ก็คงเป็นตัวผมที่เป็นปัจจุบันที่สุดแล้วครับ” เขาเขียนส่งท้าย
ยินดีด้วยครับ!
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 16 กันยายน 2555
ที่บ้านผมนั้นมีปลูกต้นไม้อยู่บ้าง แต่นอกจากที่หิ้งพระแล้ว ในตัวบ้านก็ไม่ค่อยมีไม้ตัดดอกใส่แจกันเอาไว้ ตอนเด็กนั้นไม่เคยคิดจะซื้อดอกไม้เข้าบ้านเลย รู้สึกว่าเรื่องแจกันดอกไม้เป็นเรื่องของผู้ใหญ่
มาเปลี่ยนไปก็เมื่อคราวไปเรียนต่างประเทศ วันที่ผมได้ไปเยี่ยมเพื่อนที่อพาร์ทเมนต์ เมื่อเปิดประตูเข้าไป โอ้โห ต้นไม้และดอกไม้เต็มห้องเลย เหมือนเดินเข้าไปในสวนพฤกษศาสตร์ หรือในฉากหนังมากกว่าห้องพัก เธอบอกว่าดอกไม้และต้นไม้เหล่านี้ช่วยเธอให้หายเครียดได้มาก
พอกลับบ้าน ผมเดินเลยไปที่โรงรถ ขับออกไปที่ Home Depot ซื้อดอกไม้ ทั้งที่บานแล้วในกระถาง และแบบยังเป็นหัว (bulb) มาปลูกทันที มีทั้งไฮยาซินท์ แดฟโฟดิล และอื่นๆ อพาร์ทเมนต์ผมก็เปลี่ยนไปในบัดดล รู้สึกเลยว่ามีแบบแผนของพลังของความอบอุ่นอ่อนโยนเพิ่มขึ้น
จากนั้นผมก็เริ่มซื้อดอกไม้มาปลูกและจัดแจกัน พร้อมกับการเริ่มสะสมแจกันที่นักศึกษาที่ย้ายหอแล้วไม่เอาไปด้วย ก็จะนำไปวางทิ้งไว้หรือขายราคาถูกเป็นพิเศษ
กลับมาเมืองไทย เมื่อมีโอกาสได้เรียนจัดดอกไม้แบบอิเคบานะกับหมู่เพื่อนชาวจิตตปัญญา ก็ทำให้ชีวิตเปลี่ยนไปอีกมาก ผมชอบและมีความสุขกับการจัดดอกไม้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล แถมไม่ต้องใช้ดอกเยอะๆ อีกต่อไป ดอกเดียว ก้านเดียวก็งามได้
แต่กระนั้นก็ยังช่างเลือกอยู่ไม่น้อย ผมจะนิยมดอกไม้ที่ตัดเองจากต้น หรือที่ร่วงหล่นเองตามพื้น ถ้าต้องซื้อ ก็ชอบไปเดินหาที่ปากคลองตลาดด้วยตนเอง ต้องเป็นดอกที่ไม่ค่อยธรรมดาหน่อย ไม่ต้องแพงหรือเป็นดอกไม้นอกก็ได้
ที่ผมไม่นิยมอย่างยิ่ง คือ กล้วยไม้ตามแผงลอย ที่แม่ค้ามาแบ่งและผสมกับใบเตยสักหน่อย ขายควบพวงมาลัยไหว้พระ ด้วยมีอคติส่วนตัวหลายอย่างที่แต่ก่อนก็ไม่ตระหนัก ไม่เคยอนุญาตให้ตนเองซื้อมาจัดเลย
วันก่อนอยากได้ดอกไม้มาไว้สำนักงานสักช่อ แต่หาไม่มีที่ถูกใจ เลยตัดใจซื้อกล้วยไม้สกุลหวาย (Dendrobium) มากำหนึ่งยี่สิบบาท ถึงที่ทำงานแกะออกดูก็ เอ๊ะ งามไม่น้อยนะนี่ แม้ว่าจากมุมมองคนทั่วไปอาจเห็นว่าเขาไม่สมบูรณ์ตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย แต่ค่อยๆ พิจารณา พอหมุนบ้าง ตัดบ้าง แต่งบ้าง ช่วยเลือกด้านที่เขางามที่สุดออกมา ก็ได้แจกันและแก้วใส่ดอกไม้ 5 อัน ที่งดงามไปคนละแบบ แบ่งให้เพื่อนร่วมงาน
เมื่อวานเย็นลงไปนั่งริมน้ำเจ้าพระยา ดูแสงอาทิตย์ที่ไล้ผิวน้ำค่อยๆ เปลี่ยนสี ตกมืดไปเดินเล่นจึงได้กล้วยไม้ราคาสิบห้าบาทขึ้นมาถวายพระหนึ่งกำ ถึงที่พักผมรีบแกะหนังยางออก เพราะสงสารเขาที่ถูกรัดแน่น พบว่าก้านหัก กลีบช้ำและขาดจำนวนมาก
หากเป็นเมื่อก่อน คงนึกบ่นแม่ค้า ผสมวิจารณ์ความหยาบกระด้างของสังคม คละปนไปกับความเสียดายที่ได้ดอกไม้ไม่สวยมา แต่ตอนนี้มีเครื่องมือจิตตปัญญา รู้จักที่จะดูใจระหว่างที่จัดไป จิตอยู่กับการจัด มากกว่าอยู่กับผลงานในอนาคตที่จะออกมา
ราวครึ่งชั่วโมงผ่านไป ได้แจกัน แก้ว ถ้วย ใส่ดอกไม้สำหรับจัดวางถวายพระและในห้องต่างๆ ถึง 8 แห่ง เป็นแบบกิ่งยาวหลายดอกบ้าง สองสามดอกบ้าง หรือแม้กระทั่งดอกเดียวก็มี
เช้าตื่นขึ้นมา สวัสดีวันพระ หากดอกไม้ยิ้มได้ พวกเขาคงส่งยิ้มให้กับเรา เพราะเขาได้พัก ได้ฟื้น ทุกดอกงดงามยิ่งกว่าเมื่อคืน ดอกตูมบางดอกก็ค่อยแย้มกลีบน้อยๆ หากเป็นเมื่อก่อนพวกเขาคงไม่ได้รับโอกาสให้เผยความสง่างาม และความแช่มบานให้ได้ชื่นชมเช่นนี้
คุณประภาส ชลศรานนท์ เขียนถึงผู้ใหญ่ที่ท่านเคยแนะนำว่าหากมีเงินสองบาท หนึ่งบาทให้ซื้อข้าว อีกบาทให้ซื้อดอกไม้
บัดนี้ ผมเดินทางมาจนเข้าใจด้วยตนเองแล้วว่าคำพูดนั้นหมายถึงอะไร
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 2 กันยายน 2555
ที่จอดรถช่วงเที่ยงวันธรรมดากลางสัปดาห์นั้นหาได้ไม่ยากนัก ไม่ต้องขับวนก็มีที่ จอดเสร็จพลางนึกในใจว่าวันนี้คงใช้เวลาไม่นาน เพราะอุตส่าห์เลือกมาเวลานี้
แต่เมื่อพลันก้าวเข้าไปในร้านตัดผม ก็ต้องแปลกใจเพราะว่ามีลูกค้านั่งรออยู่สองคน ขณะที่ช่างทั้งสามคนกำลังง่วนอยู่ ช่างประจำของผมยิ้มพร้อมผายมือให้ไปนั่งรอก่อน
ระหว่างนั่งรอเห็นช่างเขาหันมาทางผมบ่อยๆ พร้อมมีสีหน้ากังวลเล็กน้อย ผมมองไปรอบๆ จึงเห็นว่าหนึ่งในลูกค้าสองคนที่มาก่อนเป็นวินมอเตอร์ไซค์ สวมหมวกผ้าใบเล็กแนบศีรษะ ดูเหมือนผมก็ไม่ยาว ผมได้แต่เก็บความสงสัยไว้ในใจ
พอช่างของผมตัดเสร็จ เขาก็เริ่มพับผ้าคลุม ผ้าขนหนู หยิบกระเป๋าใบเล็กขึ้นมาแล้วหยิบผ้าใส่ลงไป พร้อมหยิบปัตตาเลี่ยนมาม้วนสายไฟเก็บอีก ผมทั้งงงทั้งสงสัยเข้าไปใหญ่ว่า อ้าว จะเก็บของไปไหนนี่ เก็บเสร็จเขาทำท่าทางขอโทษขอโพย ยกมือยกไม้เหมือนบอกเวลาว่าแป๊บเดียวไม่กี่นาที นั่นไม่ช่วยให้ผมเข้าใจอะไรมากขึ้นเลย แต่พอจะเอ่ยปากถาม หนุ่มวินมอเตอร์ไซค์ก็พาช่างผมออกไปจากร้านเรียบร้อยแล้ว
ช่างอีกคนคงเห็นเครื่องหมายคำถามเต็มใบหน้า มีน้ำใจบอกผมว่า "เดี๋ยวช่างเขาก็กลับมาครับ"
อ้อ แล้วผมจะต้องรอนานสักเท่าไหร่ละนี่? เอาเถิด ไหนๆ ก็มาแล้ว จะกลับไปก็เสียเที่ยว ทำใจสบายนั่งรอไปละกัน รีบไม่รีบก็เป็นสุขใจได้อยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องอึดอัดอะไร
สักพักใหญ่ ช่างประจำตัวก็เดินกลับเข้ามา เขากุลีกุจอเอาของออกจากกระเป๋า ปาดเหงื่อแล้ว ปัดเศษผมออกจากเก้าอี้ แล้วเชิญผมไปนั่ง
คำถามนั้นไม่เป็นสิ่งจำเป็น เขาเริ่มเล่าพลางเริ่มกระบวนการตัดที่คุ้นเคย ผมสังเกตว่าแม้ว่าดูเขาจะเหนื่อยมา แต่ละขั้นตอนก็ยังคล่องแคล่ว ว่องไว และปราณีตเช่นทุกครั้ง สมกับเป็นช่างฝีมือดีที่ผมไว้วางใจ
"ขอประทานโทษทีนะครับพี่" น้ำเสียงเขานอบน้อม เรียกผมเป็นพี่ทุกคำแม้ว่าจะผมจะอายุอ่อนกว่า "ไปตัดผมให้คุณลุงท่านหนึ่งแถวนี้มาน่ะครับ ให้คนมาเรียกผมหลายครั้งแล้ว แต่ผมคิวแน่นตลอด วันนี้แกเลยส่งลูกน้องมารอรับเลย"
คุณลุงที่เอ่ยถึงนั้นอายุอานาม 80 กว่า อยู่ซอยแถวนี้ ลูกหลานอยากให้ตัดผม แต่ไม่สามารถเดินมาด้วยตนเองได้
"ถือว่าไปดูแลญาติผู้ใหญ่น่ะครับ น่าสงสารคนเหล่านี้นะ แก่แล้วหลายก็ออกไปไหนมาไหนไม่ได้ เราลองเอาใจเขามาใส่ใจเรา ก็เลยยินดีไปครับ อีกหน่อยเราก็เองก็ต้องแก่เหมือนกัน"
โดยมากช่างมักไม่ค่อยชอบไปตัดผมตามบ้านให้คนมีอายุ เพราะมักมีปัญหาสุขภาพ "ฉี่อึรดที่นอนก็มี หรืออย่างสัปดาห์ที่แล้ว ผมไปตัดให้คุณลุงอีกคนแม้อายุไม่มากเท่า แต่เป็นเบาหวานต้องตัดขาทั้งสองข้าง นั่นก็ต้องไปช่วยอุ้มจากเตียงขึ้นมานั่ง ตัดก็ยากกว่าตัดปรกติครับ" เขาเล่าด้วยความตั้งใจ ไม่มีน้ำเสียงของการบ่นแต่ประการใด
"แต่ผมเข้าใจได้ คุ้นเคยดี แต่ก่อนตอนนู้นยังไม่มีครอบครัว ผมก็อาสาไปตัดให้พวกคนไข้ พวกทหารที่โรงพยาบาลทหารผ่านศึกเสมอๆ เห็นใจเขาครับ ใครๆ ก็อยากได้ตัดผมแต่ไม่มีช่าง เดี๋ยวนี้เสียดายผมไม่ค่อยได้ไปแล้ว ต้องดูแลที่บ้าน"
ผมนั่งฟังด้วยความซาบซึ้ง เกิดปีติมีขนลุกบ้างเป็นครั้งคราว แค่ครู่เดียวก็ตัดเสร็จ เพราะตัดง่าย ทรงเดียวกับที่ไว้มาตั้งแต่สมัยเรียนมัธยม
เรากล่าวขอบคุณซึ่งกันและกันเช่นทุกครั้ง แต่ครั้งนี้ผมตั้งใจขอบคุณเขามากเป็นพิเศษ รู้สึกโลกนี้งดงามน่าอยู่ไม่น้อย เดินออกมาจากร้านรู้สึกดีที่ได้เลือกที่จะนั่งรอเกือบชั่วโมงก่อนหน้านั้น
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 26 สิงหาคม 2555
ไม้อ่อนดัดง่าย ไม้แก่ดัดยาก
แต่ก่อนผมไม่ค่อยสนใจสำนวนไทยนี้สักเท่าใด ตอนเด็กๆ ครูสอนให้ท่อง เราก็ท่อง (เพื่อไปสอบ) แต่ผมไม่เคยสงสัยว่าจริงหรือไม่ และทำไมจึงเป็นเช่นนั้น ครั้นโตมาก็ได้ยินคนนำไปใช้อยู่เนืองๆ ประมาณว่าใช้กล่าวกระทบกระเทียบบรรดาผู้ใหญ่ที่ดื้อ คือ ไม่ค่อยจะยอมเปลี่ยนแปลง
คีย์เวิร์ดหรือคำสำคัญคือคำว่า 'ยอม' กระมัง?
ตอนยังเด็กเล็กๆ แต่ละคนจะมีช่วงเวลาที่เรายอมให้กันง่ายๆ อาจเป็นขนม ของเล่น บางทีก็เป็นโอกาสที่จะได้รับอะไรดีๆ เช่น ได้เล่นเครื่องเล่นหรืออ่านหนังสือการ์ตูนก่อน หรืออาจเป็นยอมให้อภัยคนที่ทำให้เราเจ็บช้ำน้ำใจ ทะเลาะกันวันนี้ พรุ่งนี้ก็กลับมาเล่นกันใหม่ ยังไงก็ยังเป็นพี่น้อง เป็นญาติ เป็นเพื่อนกันอยู่ดี
ครั้นเติบโตมา มีการมีงานเป็นหลักเป็นฐาน แค่การขอให้เพื่อนร่วมงานไปประชุมแทน หรือทำงานง่ายๆ ให้สักอย่าง พอเขาไม่ยอมตามที่ขอ ก็โกรธขุ่นข้องหมองใจ คนที่เป็นฝ่ายขอก็กลายว่ารู้สึกเสียหน้า พาลไม่พูดไม่ทักกันไปเป็นเดือน บางทีนานจนแทบจำไม่ได้ว่าโกรธกันด้วยเรื่องใด
แล้วอะไรหนอที่ทำให้เราดัดหรือยอมได้ยาก? อาจจะเป็นประสบการณ์ในการใช้ชีวิตของเรา โดยเฉพาะตอนที่เราต้องเผชิญกับโจทย์ชีวิตยากๆ ทำให้ต้องเป็นหรือต้องทำอะไรบางอย่างเพื่อที่จะอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นทางกายหรือทางจิตใจ แล้วเราก็บอกตัวเองว่าต้องเป็น ต้องทำแบบนี้ถึงจะโอเค ถึงจะปลอดภัย
ยิ่งโตขึ้น ความเชื่อเหล่านี้ยิ่งมากและยิ่งแข็งแรง เราพร่ำบอกและตอกย้ำว่าเราเป็นคนเช่นนั้นๆ อยู่เสมอๆ โดยเราไม่รู้ตัว บ่อยครั้งก็ด้วยการปลูกฝังความเกลียดชังหรือความเป็นอื่นให้กับคนที่มีคุณสมบัติที่เราไม่ชอบ
แต่ยิ่งเราเกลียดหรือถอยห่างจากคนที่ต่างจากเราแค่ไหน เรายิ่งไม่สามารถยอมให้เราเองมีคุณสมบัติเช่นคนนั้น (แม้ว่าบ่อยครั้งเราก็ต้องการคุณสมบัติเช่นนั้นบ้าง)
หากเราเกลียดคนที่ดูเหมือนว่าบ้าอำนาจ เราอาจจะยิ่งไม่สามารถยอมให้ตนเองเป็นคนที่กล้ารับผิดชอบและตัดสินใจคนเดียวอย่างเด็ดขาด
หากเราบอกตัวเองว่าเราไม่เก่งศิลปะ เรายิ่งไม่ยอมเปิดโอกาสให้ตนเองได้ลองสนุกกับเส้นสายลายสีได้อย่างวางใจ
ในงานอบรมจิตตปัญญาเพื่อพัฒนาศักยภาพกระบวนกรหรือผู้ออกแบบกระบวนการเรียนรู้ขององค์กรด้านจิตอาสา คำที่ผู้เข้าร่วมอบรมชอบกันมาก คือ คำว่า 'ยอมให้' ไม่ใช่ยอมให้คนอื่นคนไกลที่ไหน แต่ยอมให้ตนเอง คือ ยอมอนุญาตให้ตนเองเปลี่ยน เปลี่ยนไปเป็นคนที่ตนเองเคยบอกว่าเป็นไปไม่ได้ ฉันไม่ใช่คนเช่นนั้น
ชายหนุ่มหน้าเข้มเสียงเข้มหัวหน้าองค์กรชั้นนำของประเทศด้านการทำบ้านดิน แบ่งปันการเรียนรู้ในตอนท้ายของการอบรมว่า "ขอบคุณงานอบรมครั้งนี้ ที่ทำให้ผมได้เปิดตนเอง มีมิติด้านจิตใจมากขึ้น ได้ลองทำงานศิลปะ แต่ก่อนจะไม่กล้าเลย บอกตัวเองว่า 'เราวาดรูปไม่เก่ง' เพราะตอนเด็กๆ ครูมักให้คะแนนแค่ 5 จากเต็ม 15 คะแนน"
น่าประทับใจที่แค่การเรียนรู้ด้วยกันไม่กี่ครั้ง เขากลับ 'ยอม' ให้ตนเองเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่ง
"เรื่องจิตใจนี้ก็เปลี่ยนมาก เมื่อก่อนคุยก็จะใช้แต่เหตุผลล้วนๆ ใครไม่คุยเหตุผล ผมจะไล่ไปไกลๆ เลย และก็ไม่ให้ความสำคัญเรื่องอารมณ์ความรู้สึกคนอื่น ... เดี๋ยวนี้คุยกันก็ฟังกันมากขึ้น กลายเป็นคนอ่อนโยนขึ้นมากเลยครับ"
ฟังแล้วทำให้ผมชักไม่สนใจว่า ไม้จะแก่หรือจะอ่อน หรือจะดัดยากหรือดัดง่าย เพราะสำหรับผมแล้วทุกคนดัดได้เสมอ และไม่ใช่เพราะว่าการดัดนั้นต้องใช้วิธีอะไร แต่เพราะเรานี่แหละที่พร้อมยอมให้ดัดตัวของเราเอง
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 19 สิงหาคม 2555
เสียงเคาะประตูดังขึ้น ผมเงยหน้าขึ้นมาจากงานบนโต๊ะ เห็นลูกศิษย์ที่นัดไว้เปิดประตูเข้ามาหา เขาฉีกยิ้มกว้างแบบที่ผมจำได้แม่น
"สวัสดีครับอาจารย์ ผมมาลาอาจารย์ครับ"
"อ้าว!" ผมแปลกใจ วางงานลง พากันเดินมานั่งคุยที่โซฟาห้องโถง ไต่ถามความเป็นมาเป็นไปว่าจะลาไปไหน จึงได้ทราบว่า "ผมจะไปเรียนต่อปริญญาเอกครับ"
ความแปลกใจก็ยังไม่หาย เพราะเห็นเขาเพิ่งได้งานใหม่ที่สถาบันชื่อดังแห่งหนึ่งของรัฐ อีกได้ข่าวว่ากำลังสนุกกับการเดินทางไปทำวิจัยทั่วประเทศ เขาเล่าว่าพอดีมีโอกาสเรียนต่อเข้ามา ได้รู้จักกับอาจารย์ที่เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านที่สนใจ จึงตัดสินใจไปเรียน ด้วยว่าจะไปเรียนถึงมหาวิทยาลัยเชียงใหม่จึงมากราบลา
มาลัยดอกมะลิพวงงามที่เตรียมไว้ถูกหยิบออกมา เขาย่อตัวลงนั่งคุกเข่าที่พื้นห้อง พนมมือที่ถือพวงมาลัยกลิ่นหอมขึ้น ตอนนี้เพื่อนๆ ของเขาก็มานั่งใกล้ๆ ด้วย เขาขออนุญาตทำพิธีขออโหสิกรรม โดยออกตัวว่ารูปแบบและถ้อยคำที่จะกล่าวก็จำจากที่เห็นมา ไม่แน่ใจว่าจะถูกต้องครบถ้วนแค่ไหน
ชายหนุ่มนิสัยเรียบร้อยเอื้อนเอ่ยคำขออโหสิกรรมอย่างชัดถ้อยชัดคำ น้ำเสียงเต็มไปด้วยความมั่นใจ แฝงความอ่อนน้อมถ่อมตนอย่างยิ่ง
ทุกสิ่งทุกอย่างในห้องหยุดลง ความตั้งใจทั้งหมดทั้งมวลของทุกคนอยู่ที่กิจกรรมนี้ คุณภาพของความตั้งใจดังกล่าวทำให้พิธีกรรมเรียบง่ายศักดิ์สิทธิ์ขึ้นมาทันที
หลังจากคำอโหสิกรรม เขาเล่าถึงบางช่วงของการเส้นทางชีวิตตั้งแต่ได้เจอชั้นเรียนวิทยาศาสตร์ที่ผสมผสานกระบวนการจิตตปัญญาของเราว่ามันมีความหมายเช่นไร คำพูดเขาทำให้ผมย้อนระลึกถึงเด็กหนุ่มที่ก้าวเข้ามาเรียนในวิชาเลือกที่ผมสอนเมื่อ 5 ปีที่แล้ว เขาวันนั้นกับวันนี้เรียกได้ว่าต่างกันเป็นคนละคน
เด็กวันก่อนซึ่งก็ไม่ต่างกับเด็กเรียนทั่วไป ที่ขยัน เก่ง และรู้ว่าทำอย่างไรจึงจะสอบได้คะแนนเยอะ ทำผิดทำพลาดก็เคย ปัจจุบันได้กลายเป็นชายหนุ่มที่มีความสามารถในการรู้จักตนเอง เครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลายทางจิตตปัญญาทำให้เขาได้พัฒนาด้านหรือมิติที่ไม่เคยเห็นหรือยอมรับมาก่อนของตนเอง ทำให้เป็นคนที่มีความเป็นมนุษย์และรอบด้านมากขึ้น อีกทั้งความสัมพันธ์กับทุกคนที่บ้านก็ดีขึ้น ไม่ว่ากับคุณตา คุณยาย คุณพ่อ คุณแม่ น้า หรือพี่สาว กับความสัมพันธ์ยากๆ ที่แต่ก่อนเขานึกไม่ออกเลยว่าจะทำให้คลี่คลาย เปลี่ยนแปลงในทางที่ดีได้อย่างไร มาบัดนี้สมาชิกครอบครัวสามารถแสดงออกถึงซึ่งความรักความเข้าใจกันได้อย่างอิสระมากขึ้น เป็นที่พึ่งของเพื่อนร่วมงาน ช่วยทำให้บรรยากาศที่ทำงานเป็นมิตร ผู้คนใส่ใจให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์
"ผมตั้งใจจะทดแทนบุญคุณของอาจารย์ครับ แต่ต้องไปเรียนต่างจังหวัด ระหว่างนี้ผมจะขอทำความดี เป็นคนดี และน้อมนำเอาสิ่งที่อาจารย์สอนไปปฏิบัติเพื่อทดแทนคุณนะครับ"
ถ้อยคำที่กล่าวอย่างหนักแน่น ทำเอาผมตื้นตันอย่างมาก ย้อนระลึกถึงนับตั้งแต่วันที่ได้เริ่มมาเป็นครูแล้ว ก็ได้พบได้เจอประสบการณ์ดีๆ มาก็ไม่น้อย แต่ช่วงเวลาเช่นนี้ที่ได้เห็นการเติบใหญ่ของศิษย์ ไปสู่การเป็นมนุษย์ผู้มีความพร้อมในการดูแลตนเองและครอบครัว มีความเข้าใจในตนเองและโลก ช่างเป็นช่วงเวลาที่ยิ่งใหญ่และมีความหมายมากสำหรับความพยายามทั้งหมดที่ได้ทุ่มเทไปในฐานะครูคนหนึ่ง
ขอบพระคุณคุณพ่อ คุณแม่ ที่ได้ให้ชีวิต ขอบพระคุณครูบาอาจารย์ผู้อบรมขัดเกลา ทำให้ผมได้ทำงานนี้ งานที่ได้เป็นประจักษ์พยานการเปลี่ยนผ่านของศิษย์ เป็นงานที่เติมเต็มความหมายให้ชีวิต
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ 5 สิงหาคม ๒๕๕๕
ตรงนี้ได้คนหนึ่ง" พระอาจารย์ไพศาล วิสาโล พูดพร้อมกับชี้ไปยังพื้นที่ที่ดูค่อนข้างเหมาะ
ที่ว่าค่อนข้างเหมาะนั้นหมายถึงที่พื้นดูค่อนข้างเรียบและโล่ง แม้จะเป็นพื้นดินในป่าที่ค่อนข้างสมบูรณ์ แต่ก็ไม่มีพืชคลุมดินหรือไม้พื้นล่างที่ขึ้นหนาแน่นเกินไป เศษใบไม้ที่ร่วงหล่นและกำลังถูกย่อยสลายก็ไม่หนาจนอาจมีงูเงี้ยวเขี้ยวขอที่อาจเป็นอันตราย ผมเงยหน้ามองไปข้างบนต้นไม้ใหญ่ไม้เรือนยอดก็มีพอจะเป็นแนวบังแดดที่มีอยู่ให้ดูรำไร ไม่มืดจนน่ากลัว แต่ก็ไม่จ้าจนร้อน อากาศก็ดูถ่ายเทได้ดี ไม่อับ
ผมหันกลับไปแปลเป็นภาษาอังกฤษให้ฝรั่งที่เดินตามมาเป็นแถวเรียงหนึ่งทราบ พวกเขามองหน้ากันไปมาสักพักก็มีคนพยักหน้า ทำนองให้สัญญาณว่า "ฉันเลือกที่นี่แหละ" แล้วเดินตรงไปยังจุดดังกล่าว สำรวจไปรอบๆ หาตำแหน่งเหมาะๆ แล้วเอาเป้สัมภาระวางลง
พวกเราค่อยๆ หาตำแหน่งและปล่อยชาวต่างชาติเหล่านี้อยู่ในป่าภูกลาง อ.แก้งคร้อ จ.ชัยภูมิ ตามลำพังทีละคน แต่ละคนอยู่ห่างกันพอให้ไม่เห็นกัน ส่วนเราไปหยุดพักที่ริมผา สนทนากันสักครู่ ก็ได้เวลาพระท่านฉันเพล ผมรับประทานข้าวกล่อง ตั้งใจกินอย่างรู้เนื้อรู้ตัว จากนั้นก็แยกย้ายกันภาวนาหรือพักผ่อนตามอัธยาศัย
สองสามชั่วโมงถัดมา ได้เวลานัดหมาย พร้อมๆ กับสายฝนที่เริ่มโปรยปรายลงมา พวกเราเดินย้อนกลับไปทางเก่า ผ่านแต่ละจุดที่ปล่อยฝรั่งเหล่านั้นไว้ แล้วเดินกลับออกมาด้วยกัน
ที่ริมป่าพวกเราได้นั่งสนทนากันถึงช่วงเวลาการอยู่คนเดียวในป่าประมาณสี่ชั่วโมงที่ผ่านมา คุณครูสอนวิทยาศาสตร์ระดับมัธยมต้น จากเมาท์วอชิงตัน รัฐเคนตักกี้ สะท้อนว่านี่เป็นหนึ่งในประสบการณ์ที่สำคัญที่สุดของเธอ
"หลังจากเลือกที่ได้แล้ว ฉันวางของลง สาละวนกับการจัดที่ทางให้พร้อม จุดธูปไล่แมลง ทำนู่นทำนี่สารพัดอย่างค่อนข้างหงุดหงิดรำคาญ กว่าจะได้นั่งภาวนาก็พักใหญ่ มองนาฬิกาถึงได้รู้ว่าผ่านไปหนึ่งชั่วโมงกว่าแล้ว พอนั่งลงพักก็พบว่ามันสบายมากกับแค่กลับมารู้เนื้อรู้ตัว มันทำให้ฉันตระหนักว่าที่ผ่านมาฉันเองก็ใช้ชีวิตแบบนี้แหละ กระสับกระส่ายกับการจัดการเพื่อให้ฉันสบาย ทั้งๆ ที่มันง่ายๆ แค่การได้อยู่กับตัวเองอย่างแท้จริง"
เธอเป็นคนในหนึ่งในคณะของชาวอเมริกันราว 20 ชีวิต ประกอบด้วยครู นักการศึกษา นักสื่อความหมายธรรมชาติ ผู้จัดกระบวนการเรียนรู้ทั้งในระบบ นอกระบบ และการเรียนรู้ตามอัธยาศัย เขาเหล่านี้จ่ายเงินบินข้ามน้ำข้ามทะเลครึ่งโลกมาเรียนรู้เรื่อง "พุทธศาสนากับการอนุรักษ์ธรรมชาติ" ในโครงการ Earth Expeditions ซึ่งเป็นความร่วมมือของกลุ่มจิตตปัญญาวิถี อาจารย์จากมหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยไมอามี และสวนสัตว์ซินซิเนติ สหรัฐอเมริกา
พวกเขาได้ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้กับนักคิดนักปฏิบัติด้านจิตตปัญญาชาวไทย ถึงการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ผู้เรียนเกิดสมดุลของการเรียนรู้เนื้อหาเรื่องราวภายนอก ไปพร้อมๆ กับการรู้จักรู้ใจตนเอง สามารถเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ ทั้งเก่งและทั้งงามจากภายใน มีความอ่อนโยนต่อชีวิตและอ่อนน้อมต่อธรรมชาติ สามารถอยู่ร่วมกับคนอื่น สรรพชีวิต และธรรมชาติได้นั้นอย่างสอดคล้องสมดุล
ประสบการณ์ที่พวกเขาได้พบเป็นประสบการณ์จิตตปัญญาที่อยู่บนฐานวัฒนธรรมและภูมิปัญญาของไทย ในขณะเดียวกันก็มีความเป็นสากล และทำให้เราได้สะท้อนเห็นตัวเองชัดยิ่งกว่าบทเรียนตามตำรา
เธอผู้นี้กล่าวทิ้งท้ายถึงประสบการณ์สำคัญว่า "นี่คงเป็นครั้งท้ายๆ ในชีวิตแล้วที่ฉันจะเสียเวลากับการมัวจัดการกับสิ่งนอกตัวมากมายขนาดนี้"
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๒๔ มิถุนายน ๒๕๕๕
คุณครู : เดี๋ยวเดือนหน้า เราจะไปทัศนศึกษากัน
เด็กๆ : เฮ! จะได้ไปเที่ยวแล้ว
ตอนสมัยยังเป็นเด็กๆ มีคำอยู่ 3 คำ ที่ผมรู้สึกว่ามันมีความหมายคล้ายกัน หรือเหมือนกันมาก นั่นก็คือคำว่า ทัศนศึกษา ทัศนาจร และไปเที่ยว เวลาครูพูดถึงทัศนศึกษา สำหรับเด็กๆ นั้นหมายถึง “ไปเที่ยว” หรือ ทัศนาจร นั่นเอง
ปีไหนโรงเรียนวนกลับไปจัดทัศนศึกษายังสถานที่ที่เราเคยไปกันแล้ว จึงมักมีเสียงบ่นโอดโอยกันยกใหญ่ จะไม่ให้บ่นได้อย่างไร ในเมื่อเด็กๆ รู้สึกว่าเคยไปเที่ยวมาแล้ว และจะไม่ให้นักเรียนรู้สึกว่าไปเที่ยวได้อย่างไร ในเมื่อโรงเรียนจำนวนมากไม่ให้ความสำคัญกับมิติการเรียนรู้ในการไปทัศนศึกษา จนคุณครูอาจคิดในใจว่า โรงเรียนลูกจะพาไปเที่ยวอีกแล้วก็เป็นได้
ก็เพราะการไปทัศนศึกษาของโรงเรียนจำนวนมาก ไม่ได้มีการเตรียมครูก่อนไป ไม่มีการเตรียมนักเรียนก่อนไป ว่าการเรียนรู้ที่พวกเขาควรจะได้รับคืออะไร ที่ๆ จะไปมีความหมายสลักสำคัญอย่างไร เกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบทเรียนไหนบ้าง ช่วงอยู่นอกสถานที่ ครูก็ไม่ค่อยได้ชวนนักเรียนสังเกต ซักถาม หรือสะท้อน อย่างมากก็แจกใบงานให้นักเรียนไปคัดลอกข้อมูลมาส่ง พอมีต้นฉบับ นักเรียนที่เหลือก็ลอกตามๆ กันไป ทำให้ไม่ค่อยได้ใช้ศักยภาพของการเรียนรู้นอกสถานที่ หรือสภาพปกติอย่างที่สามารถ และควรจะเป็น
ดูไปก็คล้ายกับกิจกรรมจิตอาสาที่หลังๆ พบเห็นกันมากขึ้น เด็กเยาวชนที่มุ่งมั่นมาช่วยเหลือคนอื่นอย่างจริงจัง มีวินัย ตั้งใจทำงานตามที่ผู้ดูแลกิจกรรมแนะนำนั้นก็มีอยู่ แต่ก็ยังพบว่ามีไม่น้อยที่มาแบบทัศนาจร คือทำนิดๆ หน่อยๆ แล้วก็ถ่ายรูป อัพสเตตัส แชร์บนเฟซบุ๊ค แถมขอลายเซ็นต์คนจัดเพื่อไปเอาคะแนนจากโรงเรียนเสียอีกด้วย
แต่เรื่องราวมันก็ไม่จำเป็นต้องดำเนินไป และจบลงเช่นนี้ตลอดไปครับ
ธนาคารจิตอาสา เป็นโครงการที่รับ “ฝากเวลา” คือ เป็นสื่อกลางในการสร้างโอกาส ให้เราได้ใช้เวลามาช่วยเหลือกันในสังคม แสดงความตั้งใจที่จะทำประโยชน์เพื่อผู้อื่น โดยจะช่วยแนะนำงานอาสาที่เหมาะกับเวลาว่าง ความสนใจ และความถนัดของเรา ซึ่งขณะนี้ กำลังจัดฝึกอบรมกระบวนกรจิตอาสา หรือพี่เลี้ยงอาสาสมัคร (Training of Trainers หรือ ToT) เพื่อผสานความรู้ในงานจิตวิวัฒน์ จิตตปัญญาศึกษา เข้ากับงานจิตอาสา เป็นการหนุนเสริมให้ผู้ดูแลและจัดกิจกรรมจิตอาสา เพิ่มมิติด้านการเรียนรู้เข้าไปในงานอาสา ทำให้เกิดความมั่นใจและมีทักษะในการใช้เครื่องมือการเรียนรู้ที่หลากหลายสำหรับจัดกระบวนการ รวมถึงการสะท้อน และการถอดบทเรียน
ผมมีโอกาสสัมผัสคอร์สอบรมนี้โดยตรง ทำให้เห็นโอกาสและศักยภาพที่เหล่าผู้ดูแลองค์กรอาสาสมัคร จะช่วยให้บรรดาจิตอาสาเกิดการพัฒนา ไม่ใช่แค่เรื่องความคิด วิเคราะห์ และทักษะทางกายเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึง การรู้จักใจและเข้าใจตนเองอย่างแท้จริง การยอมรับผู้อื่น และการลดละอัตตาของตนเอง เป็นการยกระดับจิตวิญญาณของทุกคนในกระบวนการ
ที่กล้าเอ่ยเช่นนี้ เพราะได้เห็นบุคลากรเหล่านี้เริ่มก้าวออกจากพื้นที่คุ้นชิน ไปสู่พื้นที่ท้าทายที่ทำให้เกิดการเรียนรู้ใหม่ๆ เห็นพวกเขาสะท้อนตนเอง ให้การรับฟัง และสนับสนุนการสะท้อนบทเรียนของผู้อื่นแล้ว ก็ให้รู้สึกดีใจกับวงการจิตอาสาอยู่ไม่น้อย ที่จะมีกระบวนการทำให้อาสาสมัครเกิดการเปลี่ยนแปลงขั้นพื้นฐาน (Transformation) ได้มากยิ่งขึ้น
ดีไม่ดี อาจส่งผลทางอ้อมทำให้กิจกรรมทัศนศึกษาเป็นกิจกรรมที่มีมิติ ความหมาย และเกิดการเรียนรู้ขึ้นบ้าง ก็เป็นได้
ตีพิมพ์ในคอลัมน์จิตตปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ กายใจ
ฉบับวันที่ ๑๗ มิถุนายน ๒๕๕๕
พุทธชยันตี วิสาขบูชาปี 2555 วันเฉลิมฉลอง 2,600 ปีแห่งการเข้าถึงความจริงของมนุษย์คนหนึ่ง ผู้นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตคนจำนวนหลายล้าน วันนั้นหลายคนหลายองค์กรได้ร่วมกันจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ในหลากสถานที่และหลายรูปแบบ ส่วนตัวผมนั้น ผมเลือกที่จะกลับไปหาครู ณ วัดป่าแห่งหนึ่ง
ครูผู้เป็นลูกศิษย์ของบรมครู เป็นบุคคลผู้ทำให้เราเข้าใจมากขึ้นถึงสิ่งที่ถูกส่งทอดสืบต่อกันมานับเป็นพันปีตั้งแต่วันนั้น เป็นผู้ให้เรามากกว่าความรู้ ทั้งยังไม่ได้หวังสิ่งใดตอบแทนจากเรา
ในวันวิสาขบูชาปีนี้ ที่วัดไม่ได้จัดงานใหญ่หรือจัดอะไรเป็นพิเศษ ญาติโยมที่มางานก็มีจำนวนมากตามปรกติเหมือนวันพระใหญ่ทั่วไป ครูอยู่และเป็นอย่างเรียบง่าย และเหมือนเช่นทุกวัน เป็นสุดยอดตัวอย่างของความเสมอต้นเสมอปลาย อันเป็นคุณสมบัติพื้นฐานที่เรียบง่าย แต่ใช่จะหาได้ง่ายๆ ในโลกทุกวันนี้
เรื่องที่ครูสอนก็เป็นเรื่องที่ท่านเน้นย้ำเสมอ เรื่องการมีสัจจะ พูดคำไหนคำนั้น “เอาแค่เรื่องนี้เรื่องเดียวก็พอ” ท่านว่า
ระหว่างการเดินทางขากลับออกจากวัด ผมได้ฟังเรื่องเล่าจากรุ่นพี่ที่ผมนับถือ เขาเป็นศิษย์ใกล้ชิดของท่านมายาวนาน เขาเล่าว่า
“เมื่อไม่กี่ปีก่อน พี่มีโอกาสได้ตามไปอุปัฏฐากดูแลหลวงพ่อท่านเมื่อครั้งไปสังเวชนียสถานที่อินเดีย เมื่อไปถึงพุทธคยา สถานที่ต้นกำเนิดพุทธชยันตี คือใต้ต้นพระศรีมหาโพธิ์ หลวงพ่อบอกว่าจะปฏิบัติภาวนาข้ามคืนจนถึงรุ่งเช้า พี่ก็เรียนท่านว่าจะอยู่ปฏิบัติด้วย แต่พอถึงเวลาจริงๆ ก็ทนไม่ไหว ถอดใจ และล่าถอยกลับไปพักที่โรงแรมตั้งแต่ตอนสองทุ่ม”
ครั้นเมื่อถึงเวลาเช้า หลวงพ่อท่านเปรยทักว่า
“อายหมามันบ่ เว้าแล่วเฮ็ดบ่ได้” (อายหมามันบ้างไหม พูดแล้วทำไม่ได้น่ะ)
พี่เขาไม่ได้บอกว่าตอนนั้นเขารู้สึกอย่างไรในใจ แต่เล่าว่าเขานั่งเงียบตลอดการเดินทางที่เหลือจนกระทั่งมาถึงเมืองไทย เมื่อส่งหลวงพ่อขึ้นรถไปแล้ว เขาก็จัดการซื้อตั๋วเครื่องบินกลับไปที่อินเดีย มุ่งหน้าไปยังพุทธคยาทันที
ในที่สุด การกลับมาคราวนี้พี่เขาก็ได้ปฏิบัติบูชา ด้วยการเดินภาวนารอบองค์พระเจดีย์ และต้นพระศรีมหาโพธิ์เป็นจำนวน 108 รอบจนสำเร็จ พี่เขายอมรับว่า แม้การเดินจากเย็นไปยันเช้าจะทำให้ปวดเมื่อยราวขาแทบหลุด แต่ในใจนั้นเป็นสุขอย่างยิ่ง
“ผมได้ทำหน้าที่เสร็จแล้วนะครับ” เขาโทรศัพท์ไปรายงานหลวงพ่อเมื่อกลับมา
แทนที่พี่เขาจะเล่าเรื่องต่อว่าท่านตอบหรือแนะนำอะไรกลับมา เขากลับพูดเน้นย้ำประโยคที่เป็นเหมือนสรุปบทเรียนล้ำค่าที่ได้จากครู เขาว่า “ท่านยิ่งตียิ่งว่าเรา เรายิ่งเข้าใกล้ท่าน ... ชีวิตผมที่รอดมาได้ และเป็นผู้เป็นคนอย่างทุกวันนี้ ก็เพราะท่านนี่แหละ”
ได้ยินแล้วก็ทำให้ปลาบปลื้มปิตินัก ผมชื่นชมยินดีที่พี่เขามีทัศนคติที่ดีต่อการเรียนรู้และต่อครูบาอาจารย์ สิ่งที่เกิดขึ้นนี้ช่างชัดเจนมากเหลือเกินว่าที่ท่านเรียกไปสอนก็เพราะว่าท่านมีเมตตา และท่านเห็นว่าเรา “สอนได้”
ชีวิตก็เช่นนี้ หลายครั้งหลายทีเราต้องการครูที่กล้าและทักเราตรงๆ ไม่เช่นนั้นเราอาจพลาดไม่พบบทเรียนสำคัญสำหรับตัวเราไป เพราะเรามัวแต่มีข้ออ้างให้กับกิเลสตนเอง อ้อ ไม่ใช่สิ เป็นเพราะกิเลสที่สิงในตัวเรา มันมีข้ออ้างเสมอน่ะ แล้วเราก็ไม่มีสติพอที่จะทันมัน ก็เลยตกเป็นทาสมันตลอด
เสียทีที่ได้เกิดเป็นมนุษย์ แต่ใช้ชีวิตอย่างน่าอายหมา แม้ว่าเราเองก็ไม่รู้ตัว