ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์ ฉบับประจำวันที่ 15 มกราคม 2549


ในขณะที่หลายคนไม่ได้คาดหวังจะมีฝน หรือลมหนาวอีกซักเท่าไหร่ ฟ้าก็สั่งฝนตกลงมาพาเราแปลกใจได้ ตามด้วยลมหนาวในหลายจังหวัด รวมถึงกรุงเทพฯ เมืองที่หลายคนเชื่อกันว่าปีไหนไม่หนาวเลยก็ไม่แปลก ลมหนาวที่มาหลังคริสต์มาสและปีใหม่ดูเหมือนจะขาดมนต์เสน่ห์ของเทศกาลแห่งความรื่นเริงไป ลมหนาวในเดือนมกราคมเลยอาจทำให้คนรู้สึกเหงาๆ เศร้าๆ อยู่บ้าง

ตอนที่ผมไปอยู่ต่างประเทศใหม่ๆ รู้สึกถูก “ความเหงา” จู่โจมระยะประชิด อยู่อพาร์ทเมนต์กับชาวต่างชาติทั้งหมด บางวันแทบไม่ได้พูดอะไร ช่วงยังไม่ค่อยคุ้นเคยกับการอยู่คนเดียวก็หนีไปหลบอยู่กับ "ความยุ่ง" หางานทำเยอะๆ จะได้ไม่มีเวลาเหงา บางช่วงก็เผลอตัวเผลอใจไปนัวเนียกับความรู้สึก เข้าไปเสพอารมณ์เหงาโดยไม่รู้ตัว พอเริ่มรู้สึกเหงา แทนที่จะมีสติ แค่รู้แล้วถอน กลับถลำไถลไปลึก หยิบเพลงคิดถึงบ้าน (เดือนเพ็ญ) มาเปิด ยิ่งมีห้องที่บรรยากาศเป็นใจ หน้าต่างบานใหญ่ด้านทิศตะวันตก ฟ้าสีส้มแดง เมฆหลากหลายรูปแบบ พระอาทิตย์อัศดงลงมหาสมุทรแอตแลนติก ฉากหลังเป็นภูเขาสีแดง หน้าผาเกือบตั้งฉากกับพื้นโลก ฟังเพลงไปนั่งน้ำตาซึม

เวลาหิมะตกหนักๆ ไม่ออกจากบ้านหลายวัน ยกเว้นตอนไปสอนหนังสือ ต้องอยู่กับตัวเองอย่างยิ่ง บางครั้งความเหงามันแทรกเราเข้าไปเก่งกว่าความหนาวเย็นหลายเท่านัก ถึงขนาดเคยคุยติดตลกกับเพื่อนๆ ทางเมืองไทยว่า กลายเป็นผู้เชี่ยวชาญเรื่องความเหงาแล้ว รับจ้างเหงาทั่วราชอาณาจักร

แต่ ... การอยู่คนเดียวก็ไม่ได้มีมิติแบนๆ ไม่ซับซ้อน เพียงด้านเดียวนะครับ หากเราเฝ้าดู "การอยู่คนเดียว" มันนานพอ เราก็จะรู้จัก คุ้นเคย และเป็นมิตรกับการอยู่คนเดียวได้มากขึ้น

ผมเห็นเหมือนพอล ทิลลิช ที่ว่าภาษามนุษย์นั้นงดงามเสียเหลือเกิน มันช่วยให้เราสัมผัสถึงสองมิติของการอยู่คนเดียว เรามีคำว่า "เหงา (loneliness)" เพื่อแสดงถึงความเจ็บปวดของการอยู่คนเดียว แต่ขณะเดียวกันมนุษย์สร้างสรรค์คำว่า "สันโดษ (solitude)" เพื่อแสดงความสง่างามและยิ่งใหญ่ของการอยู่คนเดียวเช่นกัน

ช่วงเดือนที่ผ่านมาได้ข่าวรุ่นน้องที่รัก เคารพนับถือกันจะบวชถึงสองคน ก็รู้สึกพลอยยินดีกับเขาด้วย ยังจำความรู้สึกของการอยู่วิเวกของพระได้ดี ประสบการณ์ตรงกับตัวเองเลยว่าการเป็นพระทำให้อยู่กับตัวเองได้ดีขึ้น เป็นแบบฝึกหัดชีวิตที่สำคัญ ที่ส่งผลกระทบในเชิงบวกต่อชีวิตทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์

ไม่น่าแปลกใจว่าทุกศาสนาที่มุ่งเข้าสู่ความสุขที่ประณีตและแท้จริง ต้องมีการออกธุดงค์ อยู่วิเวก หรือเข้าเงียบ

ความยินดีในความวิเวก การอยู่คนเดียว เป็นความตื่นรู้ สงบ เมื่อใดที่เราอยู่คนเดียวแล้วสบายดีเราจะรู้สึกว่ามันเป็นแอททีฟว๊อยซ์ (active voice-กรรตุวาจก) เราเป็นประธานของประโยค เราได้เป็นผู้มีปฏิสัมพันธ์ต่อโลกอย่างเป็นมิตร อย่างเป็นสุข อย่างเต็มพร้อม พอดี มีเหลือแบ่งปันให้โลกด้วย

ความสันโดษเป็นการตัดสินใจที่จะ "กระทำการ" take action, take active role ในชีวิต แบบอยู่คนเดียว

ต่างจากขณะที่เราอยู่คนเดียวแล้วถูกกัดกินด้วยความเหงา เศร้าสร้อย เป็นความซึมเซื่อง เราวนอยู่ในความทุกข์ ไม่รู้เนื้อรู้ตัว คล้ายหลับๆ ฝันๆ ให้ความรู้สึกเหมือนเป็นแพสซีฟว๊อยซ์ (passive voice-กรรมวาจก) คือราวกับว่าเราเป็นกรรมของประโยค ถูกกระทำโดยโลก (ฮา)

ดังที่อลิซ โคลเลอร์ กล่าวไว้ว่า "การอยู่อย่างสันโดษ คือการอยู่คนเดียวอย่างงดงาม อบร่ำอยู่กับการตัดสินใจของตนเอง (ที่จะอยู่คนเดียว) ตระหนักรู้อยู่ในความเต็ม ความสมบูรณ์ของปัจจุบันขณะ แทนที่จะเป็นการตระหนักในความขาดหายหรือปราศจากคนอื่น"

หลายคนไม่คุ้นกับการอยู่คนเดียว พออยู่คนเดียวปุ๊บก็เหงาปั๊บ บางคนกลัวความเหงามาก โลกทุกวันนี้มีเครื่องมือ มีเทคโนโลยีต่างๆ เข้ามายึดครองพื้นที่การอยู่คนเดียวของเรา หลายคนกลับถึงบ้านก็ต้องเปิดทีวีวิทยุ แม้จะไม่ได้ดูไม่ได้ฟังก็ตาม ครั้นพอว่างก็ต้องโทรศัพท์หาเพื่อน ... เราเองอยู่กับตัวเอง อย่างสงบเย็น อย่างเบาสบายกันเป็นน้อยลงทุกที

การป้องกันอาการเหงาโดยหารีบหาเงินไว้ซื้อยาแก้ เช่น ไปดูหนัง โทรศัพท์คุยกับเพื่อน ชวนแฟนไปกินข้าวนอกบ้าน นั้นไม่ได้การันตีแต่อย่างใด อย่าประมาทคิดว่าเงินจะแก้ปัญหาได้ เพราะคนเรา "เสี่ยง" ต่อการต้องอยู่คนเดียวอยู่ตลอดเวลา คนสนิทใกล้ตัวเราอาจจากไปหมดเมื่อไรก็ไม่รู้ เราเองอาจเกิดอุบัติเหตุ เจ็บป่วย ต้องนอนอยู่บนเตียงคนเดียวเป็นแรมปี ไม่สามารถไปไหนมาไหนได้ เงินทองที่มีอาจมลายหายไปในพริบตา ... วิธีที่ยั่งยืนที่สุดคือการสร้างความสามารถภายในตัวของเราเองให้สามารถอยู่กับตัวเองได้อย่างมีความสุข

เวลาอยู่คนเดียวนั้นไม่มีคำว่า "ดี" หรือ "ไม่ดี" แต่เราสามารถดึงเอาสิ่งล้ำค่าออกมาได้ เพราะมันเป็นชั่วขณะที่ทำให้การดำรงอยู่ของตัวเราหรือจิตของเรานั้นชัดเจนยิ่งขึ้น เกิดความสงบในใจ และอาจเป็นจุดเริ่มต้นของความรู้สึกใหม่และความตระหนักรู้ใหม่ ทำให้เราสัมผัสถึงการดำรงอยู่ของเราและถึงผู้อื่นในระดับที่ลึกซึ้งอย่างยิ่ง

ท่านทะไลลามะบอกว่า ทัศนคติของเรามีผลต่อ "การอยู่คนเดียว" ของเราเป็นอย่างยิ่ง ถ้าเราไม่ไว้ใจคนอื่น ถึงแม้เราอยู่ท่ามกลางผู้คนมากมายก็ยังรู้สึกเปลี่ยวเหงา โดดเดี่ยว (นึกถึงเพลงที่ร้องว่า feeling lost in a crowd room รู้สึกโดดเดี่ยวในห้องที่คลาคล่ำไปด้วยผู้คน) แต่ถ้าทำจิตใจของเราให้มีความอบอุ่นต่อผู้อื่นและมีความจริงใจต่อกัน ถ้าเรายินดีในสุขของผู้อื่น มีความกรุณาเป็นห่วงเป็นใยต่อทุกข์ของคนอื่น และเราแบ่งปันมากที่สุดเท่าที่เราสามารถทำได้ นั่นแหละถึงจะเป็นยาขนานแท้ต่อความโดดเดี่ยวและความเหงา

อยู่คนเดียวแบบสันโดษได้ ก็สำเร็จปริญญา MBA อีกหนึ่งใบ เป็น Master of Being Alone ไงครับ :-)

0 comments: