ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 29 มกราคม 2549


นึกย้อนกลับไปอาม่าเป็นบุคคลพิเศษที่สุดคนหนึ่ง สำหรับผมตอนเด็กๆ อาม่ามีขนมอร่อยๆเก็บเอาไว้ให้ผมเสมอๆ แถมที่สำคัญเป็นคนที่มีเวลามากที่สุดในโลกให้กับผม เวลาผมเล่าอะไรอาม่าก็ตั้งหน้าตั้งตารับฟังอย่างสนใจ อย่างไม่มีเงื่อนไข

สังคมไทยและโลกเปลี่ยนไปมาก แต่ก่อนเราอยู่กันเป็นครอบครัวขยาย ขนาดใหญ่ สมัยผมเรียนประถมที่บ้านอยู่ติดกันหลายหลัง มีคนที่อาศัยอยู่ด้วยกันแบบเต็มเวลาและบางเวลาสิบกว่าคน ตอนนี้เหลือน้อยลงมาก อยู่กันเป็นครอบครัวเดี่ยวมากขึ้น

โครงเรื่องของหนังฝรั่งจำนวนมากได้บอกเล่าถึงเหตุการณ์ในช่วงเทศกาลต่างๆ อาทิ คริสต์มาส วันขอบคุณพระเจ้าหรือเทศกาลอีสเตอร์ มักสะท้อนภาพของความอึดอัด ความลำบากใจของลูกหลานที่แยกไปเป็นครอบครัวเดี่ยว และปัญหานานาประการที่เกิดจากการกลับไปเยี่ยมครอบครัว มักจะเป็นทุกข์มาก

ชวนให้นึกว่าตรุษจีนในเมืองไทยก็เหมือนกัน บรรดาลูกหลานกลับมาเจอกัน แล้วมีปัญหาเหมือนในหนังฝรั่งไหม?

อีกคำถามคือ เดี๋ยวนี้สถานการณ์เหมือนแต่ก่อน ดีขึ้น หรือว่าแย่ลง? โดยส่วนตัวคิดว่าว่ามีทุกแบบ แต่สถานการณ์แย่ลงจะมากกว่า เพราะดูเหมือนคนรุ่นใหม่ “ฟัง” กันเป็นน้อยลง จะด้วยสภาพการณ์ที่เร่งรัดให้เราเร่งรีบทำงานให้ทันในเวลาจำกัด จนเหลือเวลาให้แก่กันน้อยลง หรือเป็นเพราะการเรียนในระบบสมัยใหม่แบบตะวันตกที่เต็มไปด้วยการแข่งขัน ยึดถือและให้คุณค่ากับรายได้ก็ตาม

การทำงานหาเงิน สะสมเงินไว้เยอะแยะ เพื่อเราจะได้ให้ “อั่งเปา” ซองหนาๆ เสมือนหนึ่งการ redemption หรือไถ่บาป ชดเชยที่เราห่างเหินจากครอบครัวไป แม้เงินนั้นเราหาเพิ่มได้ สำหรับบางคนกล่าวได้ว่า “ไม่จำกัด” ทว่าสิ่งที่ทุกคนต่างมีจำกัดเช่นเดียวกัน คือ “เวลา” ถามตัวเองดูหน่อยดีไหม เราให้เวลากับอะไร?

จริงหรือเปล่าที่เราให้เวลากับคนที่เรารักมากที่สุด? สิ่งสำคัญและบุคคลสำคัญในชีวิตเรา เขาได้รับเวลาจากเราอย่างพอเพียงแล้วหรือยัง?

คำถามอาจจะไม่ได้อยู่ที่ให้หรือใช้เวลา “กับใคร” หรือ “เท่าไหร่” ... เท่ากับถามว่าเราใช้เวลาเหล่านั้น “อย่างไร” ต่างหาก

การ “ฟัง” และ “เวลา” มาเกี่ยวข้องเกี่ยวพันกันได้อย่างไร ... ผมเองเคยได้รับการอบรมและมีประสบการณ์เล็กน้อยในการให้คำปรึกษาในกระบวนการจิตบำบัด (Psychotherapy) ทั้งในฐานะผู้ให้และผู้รับ หัวใจของกระบวนการ คือ การยอมรับและรับฟังคนที่มาปรึกษาอย่างไม่มีเงื่อนไข ในสภาพการณ์ที่มีเวลาจำกัด การรับฟังอย่างไม่มีเงื่อนไขนี้ย่อมเป็นไปยากมาก

แต่ก่อนในสังคมบ้านเราก็มีสิ่งเหล่านี้อยู่มาก แต่ปัจจุบันเห็นมีกันน้อยลงอย่างน่าใจหาย เรายอมรับ และรับ “ฟังกันเป็น” น้อยลงทุกที ... หรือเปล่า?

ตรุษจีนปีนี้มาช่วยกันทำให้เป็นตรุษจีนที่ได้พบกัน แล้วให้ได้ “อยู่ตรงนั้นร่วมกัน” จริงๆ เฉกเช่นเดียวกันกับชื่อของท่านทะไลลามะ อันมีความหมายว่า “ปัจจุบันขณะ” ไม่ใช่เป็นตรุษจีนที่เพียงกลับไปหาครอบครัวตามธรรมเนียมแค่ให้ได้ชื่อว่าพบกันพร้อมหน้าแล้ว

อาจใช้แนวคิดของ สุนทรียสนทนา (Dialogue) ในเรื่องการฟังอย่างลึกซึ้ง (Deep listening) ฟังโดยไม่ตัดสิน ฟังเพื่อฟัง ฟังโดยไม่ต้องหาข้อสรุป ฟัง “ทุกเม็ด” ฟังทั้งข้อความ น้ำเสียง สีหน้า แววตา อารมณ์ ความรู้สึกของคนที่เราอยู่ด้วย การฟังแบบนี้เป็นสิ่งที่เราควรจะให้แก่คนที่เรารักและครอบครัวของเรา เพราะสิ่งที่สำคัญที่สุดนั้นไม่ได้ยินด้วยหู แต่ด้วยหัวใจของเรา

ภาพสะท้อนจากหนังฮอลลีวู้ดทำให้เราเห็นว่าฝรั่งเป็นทุกข์มาก เพราะใช้เวลาช่วงวันหยุดไม่เป็น ทั้งๆที่เป็น ฮอลิเดย์ ซึ่งมีรากศัพท์ มาจากคำว่า holy + day หมายถึงเป็นวันศักดิ์สิทธิ์ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะขาดการ “ฟัง” กันและกัน

ตรุษจีนเป็นโอกาสทอง คนจีนเองก็ชอบอะไรทองๆอยู่แล้ว เป็นโอกาสที่ญาติผู้ใหญ่ได้พบเจอลูกๆหลานๆ และในทางกลับกัน สำหรับลูกหลานเองก็เป็นโอกาสที่จะได้มีพบเจอญาติผู้ใหญ่

Season’s greeting, Season’s healing! ใช้โอกาสทองนี้ในการเยียวยาความสัมพันธ์ระหว่างกัน ระหว่างสมาชิกต่างรุ่นต่างวัยในครอบครัว ... ใครจะไปรู้ตรุษจีนปีนี้ บางครอบครัวอาจได้เยียวยารักษาความสัมพันธ์ที่ห่างเหินให้กระชับแนบแน่นขึ้น หรือเราอาจได้พ่อ-แม่หรือลูกของเรากลับคืนมาก็ได้

ซินเจียยู่อี่ ซินนี้ “ฟังกันหน่อย” ดีมั๊ย ... ครับ :-)

0 comments: