ตีพิมพ์ในคอลัมน์ Happiness@Home
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2549
เมื่อไม่นานมานี้ วงสนทนาสองวงที่ผมไปร่วมด้วย หัวเรื่องการพูดคุยเลื่อนไหลไปถึงเรื่องที่กำลังเป็นกระแสเทศกาลอยู่ในตอนนี้
กลุ่มรู้สึกว่าโลกเราทุกวันนี้มีพื้นที่ให้พูดถึงเรื่องความรักในมุมที่จำกัด ยิ่งใกล้เทศกาลแห่งความรักแล้ว สิ่งที่ยกมาพูดถึงกันผ่านสื่อต่างๆ มักมีแต่แง่มุมของเซ็กซ์ ความรักของเราถูกลดทอนเหลือแค่มิติเพียงแค่เซ็กซ์
ในขณะเดียวกัน เมื่อพูดถึงเรื่องเซ็กซ์ สังคมปัจจุบันก็ให้คุณค่าและความหมายอันจำกัดอย่างยิ่ง คือ เห็นหรือเข้าใจว่าเซ็กซ์เป็นเรื่องของการตอบสนอง ให้ความสุขทางร่างกายเป็นหลัก
เราเข้าใจและให้ความสำคัญกับมิติทางด้านทางจิตใจ เรื่องของอารมณ์ ความรัก และมิติทางจิตวิญญาณ เรื่องของการเห็นความเชื่อมโยงของทุกสรรพสิ่งน้อยเกินไปหรือเปล่า?
อาจเป็นเพราะแนวคิดปัจจุบัน แนวคิดแบบวิทยาศาสตร์เก่า ให้ความสำคัญกับเรื่องกายภาพเป็นหลัก เน้นโลกของวัตถุที่มองเห็นได้ด้วยตา ที่หยิบจับและวัดได้ด้วยเครื่องมือภายนอก ชุดความคิดนี้มีความเข้าใจในเรื่องของจิตใจ และจิตวิญญาณน้อย หรือซ้ำร้ายอาจปฏิเสธการมีอยู่ของมิติด้านนี้เลย ทั้งๆที่ทุกคนก็เคยมีความรักมาก่อน และรู้ว่าความรักไม่ได้มีแต่มิติทางกายภาพ ไม่ได้เป็นเรื่องของปฏิกิริยาเคมี การไหลเวียนโลหิตในร่างกายอย่างรวดเร็วแต่เพียงอย่างเดียว
แต่ในโลกของวิทยาศาสตร์ใหม่ โลกที่เราทุกคนสัมผัสรับรู้อยู่ หาใช่โลกที่เป็นวัตถุที่เป็นอิสระไม่ขึ้นต่อการสังเกตของเราไม่ โลกที่แท้จริงของเรากลับเป็นโลกของพลังงาน โลกของคลื่น โลกของความสัมพันธ์ที่ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นเดี่ยวๆ แต่เป็นผลของโยงใยของเหตุปัจจัยและความสัมพันธ์ต่างๆ
ในแง่นี้ เซ็กซ์ในวิทยาศาสตร์ใหม่ก็สามารถเป็นเรื่องที่งดงามได้ เพราะเป็นเรื่องของการดูแลความสัมพันธ์ ไม่ใช่เรื่องของการตอบสนองร่างกายเท่านั้น เป็นเรื่องของการทำงานร่วมกันของสมองทั้งสามชั้น คือ สมองชั้นในที่ดูแลเรื่องการอยู่รอด เจตจำนง สมองชั้นกลางที่เป็นเรื่องอารมณ์ ความรู้สึก และสมองชั้นนอกที่เป็นส่วนที่พัฒนาปัญญาและจิตวิญญาณ
เป็นไปได้ไหมว่าที่บางคนใช้เงินตราแลกซื้อเซ็กซ์ เพราะรู้สึกโดดเดี่ยว ไม่เห็นถึงความเชื่อมโยง ความสัมพันธ์กับทุกๆคนและทุกๆสิ่งรอบตัว
เป็นไปได้ไหมว่าเพราะสังคมเน้นแต่มิติทางกาย สื่อจึงมักที่จะคอยจ้องนำเสนอข่าวสถิติว่าวาเลนไทน์ปีนี้มีอัตราการใช้โรงแรมสูงขึ้นเท่าไหร่ มีเด็กเยาวชนถูกจับกี่มากน้อย (ทั้งๆที่ดูเหมือนทุกฝ่ายก็จะเชื่อว่าหัวข้อการนำเสนอแบบนี้ไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาอะไรเสียเท่าไหร่ รังแต่จะทำให้เกิดความรู้สึกเป็นเรื่องธรรมดาและอยากลองมากขึ้น)
หรืออาจจะเป็นเพราะสังคมของเรามีรากฐานของพุทธนิกายเถรวาท ที่ค่อนข้างมีความเป็นอนุรักษ์นิยม เมื่อเปรียบเทียบกับความเชื่อในนิกายอื่นๆของพุทธศาสนา ทำให้เรามองเซ็กซ์เป็นเรื่องกิเลสตัณหาล้วนๆ เป็นเรื่องที่ผิด เลวร้าย และเป็นศัตรูของการหลุดพ้น เป็นเรื่องที่ต้องกดทับเอาไว้ เป็นอุปสรรคของการปฏิบัติของคนที่สนใจมิติจิตวิญญาณหรือมิติด้านใน
เป็นไปได้ไหมว่าเพราะเรามองเรื่องเซ็กซ์เป็นเรื่องที่ผิด ที่สกปรก เราจึงต้องห้าม ต้องปรามเด็กและเยาวชน ซึ่งดูเหมือนผู้หลักผู้ใหญ่จะลืมตอนเราเป็นเด็กกว่านี้ไปว่าสิ่งที่เยาวชนอยากทำก็คือการลองทำในสิ่งที่ผู้ใหญ่ห้าม คือ ยิ่งห้ามเหมือนยิ่งยุ ว่าอย่างนั้นเถอะ
ในขณะที่พุทธบางนิกาย พิจารณาว่าเซ็กซ์ก็เป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ การมีเซ็กซ์ถือเป็นหนทางไปสู่การเติบโตทางจิตวิญญาณได้ เช่น ตันตระของทางทิเบต
ดร. เรจจี้ เรย์ ธรรมาจารย์ของทางวัชรยาน ที่สอนในมหาวิทยาลัยต่างประเทศ เคยวิเคราะห์ไว้ว่า ประเทศที่นับถือพุทธบางประเทศในทวีปเอเชียมีทัศนะด้านลบต่อเซ็กซ์ เพราะได้รับอิทธิพลเรื่องบาปกำเนิดมาจากยุคตะวันตกล่าอาณานิคม
กัลยาณมิตรที่ผมนับถือผู้ฝึกฝนตันตระมาเป็นเวลานานเพิ่งแลกเปลี่ยนให้ฟังว่า เซ็กซ์นั้นเป็นเรื่องที่สวยงามอย่างยิ่ง เป็นประตูไปสู่การเรียนรู้และการปฏิบัติภาวนาได้ (แต่ก็ได้ทิ้งท้ายไว้ว่าแนวทางนี้ใช่ว่าจะเหมาะสำหรับทุกคนนะครับ!) ในขณะที่กัลยาณมิตรอีกคนกล่าวว่า “Sex itself is nothing evil.”
จะดีกว่าไหมถ้าเราทุกๆคน รวมถึงเด็กและเยาวชน เห็นความสุขทางจิต ทางสังคม และทางจิตวิญญาณ มากไปกว่าความสุขทางกาย เห็นว่าเซ็กซ์นั้นงดงามศักดิ์สิทธิ์ เห็นว่าพื้นฐานสำคัญของเซ็กซ์คือความรัก และมีศักยภาพในการพาให้เราเติบโตทางจิตวิญญาณ วิธีนี้อาจได้ผลมากกว่าการบังคับ ห้ามปราม หรือติดตั้งตู้ขายถุงยางอนามัยในโรงเรียนเสียอีก!
หากมีความสุขทางใจและทางจิตวิญญาณ เรามักจะพบว่านั่นก็เพียงพอแล้ว โดยไม่ต้องมีเซ็กซ์ เพราะ ความรักคือพลังของธรรมชาติ
สุขสันต์วันวาเลนไทน์นะครับ! :-)
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
0 comments:
Post a Comment