ตีพิมพ์ในคอลัมน์ มหาสมุทรแห่งปัญญา
หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ ฉบับประจำวันที่ 13 พฤษภาคม 2550


"จิตที่ยิ่งใหญ่ ถามคำถามที่ยิ่งใหญ่ (Great mind asks great questions.)" - ไมเคิล เกล์บ

มีคำถามมากมายที่เป็นการถามไปตามมารยาท สบายดีไหม? กินข้าวหรือยัง? หรือหากไม่ก็เป็นการถามตัวเองทุกวัน เช่น วันนี้แต่งชุดอะไรดี? เที่ยงนี้ไปกินกันที่ไหน? ปิดไฟหรือยัง? เปิดเพลงดังไปหรือเปล่า? ได้อ่านข่าวนั้นแล้วใช่ไหม? อะไรทำนองนี้

เรายังมีคำถามที่จัดว่าอยู่ในระดับสำคัญกลางๆ ขึ้นมาหน่อย เช่น จะปิดงบบัญชีงบดุลปีนี้ทันหรือเปล่า? จะดาวน์รถรุ่นนี้ดีไหม? จะย้ายบ้านใหม่ไปอยู่ละแวกไหนดี? เดือนนี้จะชักหน้าถึงหลังหรือเปล่า? ในสถานการณ์ที่มีคนในบ้านป่วยหรือเราป่วยเสียเอง ต้องไปหาหมอบ่อยๆ ก็อาจจะต้องถามว่า หมอคนนี้เก่งหรือเปล่า? รักษาดีไหม? ควรจะเปลี่ยนหมอ เปลี่ยนโรงพยาบาลดีไหม? หากมีลูกที่เริ่มโตแล้วก็ต้องถามว่าจะพาลูกเข้าโรงเรียนไหนดี? ลูกมีแฟนหรือดูเว็บโป๊แล้วจะให้คำแนะนำว่าอย่างไรดี? ซึ่งแน่นอนบางคนก็อาจบอกว่าคำถามกลุ่มนี้จริงๆ แล้วไม่ค่อยสำคัญ หรือบ้างก็ว่าสำคัญมากต่างหาก

เช่นเดียวกับคำถามอีกกลุ่มที่คนจำนวนหนึ่งคิดว่าสำคัญมาก สำคัญที่สุด ไม่เพียงแต่สำหรับเราที่เป็นมนุษย์คนหนึ่ง แต่สำหรับมนุษยชาติ สำหรับโลก และสำหรับจักรวาลด้วย แต่บางคนก็ว่าไม่เห็นจะสำคัญกว่าเรื่องปากท้องแต่ละวันเลย เช่น คำถามว่าเราคือใคร? เรามาจากไหน? เรากำลังจะไปไหน? เป้าหมายของชีวิตคืออะไร? ชีวิตหลังความตายมีไหม? หมดลมกันแล้วไปไหน? หรือว่าวันหนึ่งๆ มีเกือบแสนวินาที มีเวลาที่เรามีสติรู้เนื้อรู้ตัวมีอยู่เท่าไหร่? เป็นต้น

อันที่จริงแล้ว โลกของเราเปลี่ยนแปลงไปมากมายจากการตั้งคำถามของพวกเรานี่เอง โลกอาจพลิกเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น ที่ทำให้มนุษย์กับมนุษย์ และมนุษย์กับธรรมชาติอยู่ร่วมกันด้วยความรัก ความเมตตา ด้วยสันติสุข หรือทำให้โลกพลิกผันไปในทิศทางที่ย่ำแย่ลง ต่างคนต่างเห็นแก่ตัวกันมากขึ้น คอร์รัปชันกันมากจนเห็นกันจนชิน มีความรุนแรงเกิดขึ้นในทุกระดับ ทุกวงการ ต่างก็เกิดขึ้นสืบเนื่องจากถามคำถามหลายๆ คำถามครับ

คำถามโด่งดังของโลกที่เราแต่ละคนพอจะนึกออกกันได้อยู่บ้าง มาจากบุคคลผู้มีชื่อเสียงระดับโลกหลายคน สำหรับผมแล้ว คนแรกที่นึกถึงก็คือ พระพุทธเจ้า ท่านทรงถามว่า เหตุใดชีวิตนี้จึงเป็นทุกข์นัก? แล้วเราจักออกจากทะเลทุกข์นี้ได้อย่างไร? คำถามของท่านทำให้โลกที่หมุนไปก็ยังหมุนอยู่เช่นเคย แต่แตกต่างไปจากเดิมได้อย่างถึงที่สุด

ไอแซค นิวตัน นั่งใต้ต้นแอปเปิล เมื่อมองเห็นผลแอปเปิลตกลงมา (บางตำราว่าหล่นใส่ศีรษะตอนนอนเลยทีเดียว) เขาถามคำถามที่ทำให้เรารู้จักและเข้าใจเรื่องแรงโน้มถ่วงและการหมุนรอบตัวเองของโลก

อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ ยืนอยู่บนชานชาลามองดูรถไฟวิ่งเคลื่อนออกไป นึกถามว่าคนบนรถเมื่อมองออกมาจะเห็นอะไรต่อมิอะไร อย่างเดียวกับคนที่อยู่นิ่งๆ บนชานชาลาเห็นไหม? ทำให้เกิดความเข้าใจเรื่องเวลาที่หดหรือยืดได้ นำพามาซึ่งทฤษฎีสัมพันธภาพ

เคน วิลเบอร์ ผู้ศรัทธาในพระพุทธเจ้า สนใจและเชี่ยวชาญวิชาจิตวิทยา สาขาวิชาสำคัญอื่นๆ ของโลก เขาเห็นว่าหลายคนได้อธิบายเรื่องเดียวกันแตกต่างกัน ใครเป็นคนผิด เขาจึงตั้งคำถามว่าเป็นไปได้ไหมว่าอันที่จริงแล้วถูกต้องกันทุกคน เพียงแต่ในมุมที่จำกัด ทำให้เขาสามารถนำเอาความรู้หลักๆ ทั้งหมดโลกมารวมอยู่ในแผนที่ชิ้นเดียว และคิดทฤษฎีบูรณาการขึ้นมา

จอห์น เอฟ เคนเนดี้ ตั้งคำถามปลุกจิตสำนึกคนอเมริกันว่า "อย่าถามว่าประเทศได้ให้อะไรแก่คุณบ้าง จงถามว่าคุณล่ะได้ให้อะไรแก่ประเทศบ้าง" หรือ โรเบิร์ต เอฟ เคนเนดี้ ผู้น้องที่เป็นอัยการสูงสุดของประเทศ เขามีประโยคทองว่า "มีคนที่มองดูสิ่งต่างๆ ที่มันมีอยู่เดิม แล้วถามว่าทำจึงเป็นเช่นนั้น ส่วนผมฝันถึงสิ่งที่ยังไม่เคยมีมาก่อน แล้วถามว่าทำไมจะไม่มีล่ะ?"

ในขณะที่คำถามของบางคนกลับมีความมุ่งมั่นตั้งอกตั้งใจเป็นอย่างมาก ทว่าในคนละทิศทางกับเหล่าคำถามข้างต้น ดังเช่น เจ้าของบางบริษัทก็แน่วแน่กับคำถามว่าทำอย่างไรเขาจึงจะทำให้ทุกครั้งที่คนไทยออกจากบ้าน จะต้องจ่ายเงินให้บริษัทของเขาอย่างน้อยคนละ ๑ บาท

หลายๆ คำถามที่ทรงพลังสามารถเปลี่ยนชีวิตเราไปอย่างไม่มีวันหวนกลับเป็นอย่างเดิมอีก

ผมเองเคยได้พบกับคำถามเช่นนั้นมาบ้างแล้วเช่นกัน เมื่อเกือบ ๔ ปีที่แล้ว ในวันที่ ๒๓ กรกฎาคม ๒๕๔๖ อาจารย์ผู้ใหญ่ที่ผมเคารพมากที่สุดในชีวิตท่านหนึ่ง ได้กรุณาชวนผมไปทานข้าวด้วยกันสองคน ฝากบอกผ่านผู้ช่วยว่ามีเรื่องอยากจะคุยด้วย ผมออกจะงุนงงเล็กน้อยว่าท่านมีธุระสำคัญอันใดหรือไม่

ระหว่างที่การทานอาหารนั้น ท่านได้ถามด้วยน้ำเสียงของผู้ใหญ่ใจดีว่า "เอเชีย ... ผมมีคำถามสองข้อจะถามเอเชีย แต่ยังไม่ต้องรีบตอบตอนนี้ก็ได้นะ เก็บกลับไปคิดเล่นก่อนก็ได้" จากนั้นจึงเอ่ยปากว่า "ข้อแรกนะ เอเชียมีความฝันอะไรในชีวิต?"

ฟังดังนั้นแล้ว ผมเองยังงงๆ ก่งก๊งเล็กน้อย ในขณะนั้นผมยังไม่สามารถตอบอะไรท่านไปได้ ไม่เคยมีใครมาตั้งคำถามเช่นนี้มานานแล้ว พวกเราโตขึ้นมาพร้อมกับคำลวงอันโหดร้ายว่าความฝันนั้นเป็นของสำหรับเด็กเท่านั้น

หลังจากเว้นไปพักใหญ่ ท่านกรุณาถามต่อว่า "และอีกข้อนึง ในฐานะคนรุ่นเก่าแก่กว่า ผมจะช่วยเหลืออะไรได้บ้าง?"

ผมคิดว่าผมได้พบกับคำถามสองข้อที่พาตนเองเข้าไปใกล้ชิดกับกลุ่มคำถามอันสำคัญที่สุดในชีวิตของผม หลังจากกลับมาบ้าน นั่งนึก นอนคิดทบทวนอยู่นาน ได้กลับไปรื้อลิ้นชักความฝันที่เก็บเอาไว้ เปิดดูทีละช่องๆ อย่างตื่นเต้นราวกับเป็นเด็กๆ ได้ของเล่นชิ้นใหม่ บางลิ้นชักไม่ได้เปิดมานานจนเกือบจำไม่ได้ แต่ความฝันแต่ละเรื่องกลับยังคงความใหม่สดเสมอ

สองคำถามนี้ทำให้ผมได้คิด ... จากเดิมผมคิดว่าชีวิตนี้ก็มีข้อจำกัดไม่น้อย แม้ว่าผมยังคิดหาคำตอบให้คำถามสองข้อนี้ไม่เสร็จ แต่มันได้ทำลายกำแพง หรือกรอบความคิดที่ครอบหรือสวมทับเอาไว้จนมองเห็นแต่โลกแคบๆ เท่านั้น ลงไปได้อย่างไม่น่าเชื่อ สิ่งที่เคยคิดว่าเป็นข้อจำกัด ส่วนมากหรือทั้งหมดต่างเป็นสิ่งที่ผมคิดขึ้นมาเองเกือบทั้งสิ้น

จากที่เคยคิดว่าภายใต้ข้อจำกัดตำแหน่งภาระหน้าที่การงานที่ทำอยู่นี้คงไม่อาจทำอะไรได้มากนัก เมื่อมองไม่เห็นโอกาส ก็เสียความเป็นไปได้ เรื่องนี้ทำให้นึกถึงความจริงทางควอนตัมข้อหนึ่ง และข้อสอง ซึ่งใกล้เคียงกับที่หลวงปู่ดูลย์ อตุโล ที่ท่านเคยเทศน์ไว้ว่า "ที่เห็นนั้น เขาเห็นจริง แต่ที่ถูกเห็น ไม่จริง" การที่ผมเห็นว่าตำแหน่งเป็นข้อจำกัดนั้นคงจะจริง เพียงแต่ตัวข้อจำกัดที่ผมเห็นนั้น มันไม่จริง

ผมรู้สึกขอบพระคุณอาจารย์ผู้ใหญ่ท่านนั้นมาก เพราะเพียงคำถามสองข้อบนพื้นฐานของความจริงใจ ความเมตตากรุณา ทำให้ชีวิตดีขึ้น สนุกขึ้น เป็นอิสระมากขึ้น ถ้าสังคมเรามีการตั้งคำถามอะไรทำนองนี้บ่อยๆ คงจะดีไม่น้อย

โลกในแต่ละสมัยมีคำถามหลักของสังคมยุคนั้นอยู่ ย้อนกลับไปในสมัยพุทธกาล คนจำนวนมากทั่วโลก ตั้งถามว่า "ชีวิตคืออะไร? ทำอย่างไรจึงพ้นทุกข์?" ในขณะที่โลกปัจจุบัน ดูเหมือนว่าคนทั่วโลกจะมีคำถามไปทำนองเดียวกันว่า "ทำอย่างไรจึงจะรวยมากๆ รวยง่ายๆ และรวยเร็วๆ?" มากกว่า และคำถามนี้เองที่ผลักดันโลกสู่การแข่งขันกันสะสมสิ่งของ เสาะหาเทคนิคความรู้ที่ทำให้ได้เงินมากๆ คนวัยทำงานค่อนโลกใช้เวลาเกือบทั้งวันคิดว่าจะหาเงินได้อย่างไร

นากิบ มาฟูซ นักเขียนชาวอียิปต์ชื่อดัง ผู้พาวงการวรรณกรรมของอียิปต์เข้าสู่โลกสมัยใหม่และเจ้าของรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เพิ่งเสียชีวิตไปเมื่อกลางปีที่แล้ว ได้เคยกล่าวไว้ว่า

"คุณสามารถบอกได้ว่าคนผู้หนึ่งฉลาดหลักแหลมหรือไม่จากคำตอบของเขา แต่คุณสามารถบอกได้ว่าคนผู้หนึ่งมีปัญญาหรือไม่จากคำถามของเขา"

1 comments:

Nanachidtang said...

Nice article at a right time!

Thanks a lot for sharing those 2 questions